พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 369


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๖๙

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๐


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นธรรมมี แต่ต้องพิจารณาโดยละเอียด และโดยค่อยๆ เข้าใจขึ้น ถ้าเราข้ามตรงนี้ และอยากจะรู้ชื่อมากๆ รู้เรื่องเยอะๆ ทั้งๆ ที่ไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ได้ยินแล้ว และมีปรากฏด้วย แต่ว่าไม่ได้รู้ลักษณะจริงๆ จนกระทั่งสามารถที่จะเข้าใจว่า ไม่ว่าจะเป็นสภาพธรรมใดๆ ในพระไตรปิฎกทั้งหมด ที่จะปรากฏให้รู้ได้ก็ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง โดยมีลักษณะแต่ละอย่างปรากฏให้เห็นความจริง ว่าลักษณะนั้นๆ เป็นสภาพธรรมแต่ละลักษณะ

    ผู้ฟัง ในส่วนละเอียดของแต่ละสภาพธรรมมีอยู่แทบจะทุกลมหายใจเข้าออกเลย แต่ขาดการพิจารณา ไม่ทราบว่าเพราะอะไร

    ท่านอาจารย์ เพราะยังไม่มีความเข้าใจที่มั่นคงที่จะระลึกได้ว่า ขณะนี้เป็นธรรม แข็งเป็นธรรม ก็พูดไป และแข็งก็มี แต่ว่าปัจจัยที่จะรู้ตรงแข็ง หรือยัง ในขณะที่แม้กำลังฟังเรื่องนี้ หรือแม้แต่ขณะที่กำลังเห็น เห็นจริงๆ ก็เกิดแล้วดับแล้ว และแข็งก็ปรากฏได้ ไม่ใช่ว่าต้องไม่ปรากฏเลย เพราะว่าการสืบต่ออย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นจุดประสงค์ในการฟังธรรม คือ ให้เห็นว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา โดยรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ไม่ใช่ไปจำชื่อ จำเรื่อง จำหน้า จำบรรทัด จำเล่ม จำข้อความต่างๆ แต่ไม่รู้ว่าขณะนี้เป็นธรรม

    เพราะฉะนั้นการฟังแต่ละครั้งก็จะรู้ได้ว่า ทั้งหมดเพื่อให้เห็นความเป็นอนัตตา ไม่ว่าจะเป็นความละเอียดของธรรมประเภทใดก็ตาม เพื่อให้เข้าใจความเป็นอนัตตา แต่ไม่ใช่ขณะที่กำลังรู้ลักษณะ ซึ่งจะต้องเป็นอีกขั้นหนึ่ง ไม่ใช่เพียงฟังแล้วจำ แล้วก็เข้าใจได้เพียงขั้นฟังว่าเป็นอนัตตา แต่ขณะนี้ไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมใดๆ เลย ซึ่งเป็นอนัตตาทั้งหมด นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ฟังเรื่องสภาพธรรมแล้วก็ถามว่า ทำไมไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม

    ผู้ฟัง ส่วนละเอียดของสภาพธรรมคืออะไร

    ท่านอาจารย์ เห็น เกิดดับ ละเอียดไหม คิดนึก เกิดดับ ละเอียดไหม รูปแม้แต่เย็น ร้อน อ่อน แข็ง เกิดดับ ละเอียดไหม ยังไม่รู้ลักษณะของรูป แล้วจะรู้ได้ไหมว่า รูปนั้นเกิดจากสมุฏฐานอะไร ผู้รู้สามารถบอกได้ในความละเอียดยิ่ง แม้แต่ ๑ ขณะจิต

    อย่างเราพูดเรื่องโลก พูดเรื่องชีวิต มีทฤษฎีมากมาย แต่จะรู้จักชีวิต และรู้โลกจริงๆ เมื่อไร ตามตำราที่อ่านมาเล่มนั้นบ้าง เล่มนี้บ้าง หรือถ้าจะกล่าวถึงชีวิตแต่ละ ๑ ขณะจิตนั่นเอง ถ้าไม่มีสภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อแต่ละขณะจิต จะเป็นชีวิตได้อย่างไร ก็แสดงให้เห็นว่า ถ้าจะให้รู้จริงๆ ไม่ใช่เพียงฟังเรื่องชีวิต เกิดมาแล้วแก่ แล้วเจ็บ แล้วก็ตาย แล้วพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ประจวบกับสิ่งที่ไม่รัก แล้วกล่าวว่า นั่นคือชีวิต เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวสุข เดี๋ยวขึ้น เดี๋ยวลง เดี๋ยวได้ลาภ เดี๋ยวเสื่อมลาภ แล้วกล่าวว่านั่นคือชีวิต ยังไม่พอ จริงๆ คือทุกขณะที่สั้นแสนสั้นที่เกิดแล้วดับไป ผู้ที่รู้จักชีวิตจริงๆ ก็รู้ความจริงของสภาพนั้น ถึงสามารถกล่าวว่า นั่นคือชีวิต นั่นคือโลก สภาพธรรมที่เกิดดับ

    เพราะฉะนั้น ไม่ว่าเราจะอ่าน หรือเราจะคิดเรื่องใดๆ ก็ตาม โดยทฤษฎี โดยความคิดเห็นของแต่ละบุคคล ก็ไม่สามารถรู้ความจริงของธรรมได้ ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมให้เข้าใจจริงๆ ซึ่งแม้แต่คำว่า ชีวิต แม้แต่เรา แม้แต่โลก แม้แต่โต๊ะ แม้แต่เก้าอี้ แม้แต่ต้นไม้ทั้งหมด ซึ่งเป็นสภาพธรรมซึ่งเล็ก ละเอียด เกิดแล้วก็ดับ ทั้งนามธรรมรูปธรรม แล้วอย่างนี้จะเป็นเราได้ หรือไม่ เพียงฟังแค่นี้ แล้วทำไมไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม เป็นไปไม่ได้เลย แค่ฟังเหมือนอุปกรณ์ที่ทำให้เวลาที่มีการรู้ลักษณะของสภาพธรรม ก็สามารถคลายความไม่รู้ คลายความยึดถือได้ อยากจะรับประทานแกงสักอย่างหนึ่ง ทำอย่างไร ทำไมไม่มีแกงให้รับประทาน หรืออย่างไร

    ผู้ฟัง ก็ต้องแสวงหา

    ท่านอาจารย์ หาอะไร

    ผู้ฟัง หาอุปกรณ์เครื่องปรุง

    ท่านอาจารย์ เครื่องใช้ เครื่องปรุงทุกอย่าง กว่าจะเป็นสภาพธรรมหนึ่งเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ทั้งหมดนี่การจะรู้ได้ว่า ไม่มีคำตอบอื่นนอกจากพระธรรมที่ทรงแสดงไว้ ที่จะกล่าวถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริงอย่างละเอียด ตรงตามความเป็นจริง ไม่คลาดเคลื่อนตั้งแต่ขั้นปริยัติจนถึงขั้นปฏิเวธ เมื่อแทงตลอดสภาพธรรมก็คืออย่างนี้ เดี๋ยวนี้ เป็นจริงอย่างนี้

    ผู้ฟัง อย่างนั้นสภาพธรรมไม่พ้นจากกายสี่เหลี่ยมนี้เอง ดูความคิดนึกถ้าออกไปพ้นจากนี้ ก็ยิ่งหาธรรมไม่เจอ หรือ

    ท่านอาจารย์ ถ้ามีแต่รูปธรรม ไม่มีนามธรรมเลย จะมีใครสักคนไหม อะไรจะปรากฏได้ไหม รูปทั้งหลายที่เกิดจากอุตุ ภูเขา แม่น้ำ ทะเลสาบ น้ำตก เกิดเพราะอุตุ เมื่อมีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลมเกิดดับสืบต่อ ก็เริ่มที่จะมีสภาพธรรมปรากฏเพิ่มขึ้นๆ ตามปัจจัย คือ ธาตุไฟ หรืออุตุนั่นเอง แต่ถ้าไม่มีธาตุรู้ คือ ไม่มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะมีใครรู้บ้างไหมว่า มีโลกอย่างนั้นๆ หรือมีสภาพธรรมอย่างนั้นๆ

    เพราะฉะนั้น ที่ว่าเป็นคุณสุกัญญา เพราะมีเห็น ๑ ขณะของชีวิตที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป เวลาที่มีได้ยินเกิดขึ้น ที่เป็นคุณสุกัญญาได้ยิน ก็คือ ๑ ขณะของชีวิต ซึ่งแตกย่อย ละเอียดมาก รวดเร็ว ถ้าไม่มีการเข้าใจตามลำดับในขั้นการฟัง ไม่มีทางที่จะประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรมได้ แต่เมื่อเป็นสิ่งที่มีจริงๆ และปรากฏ และเกิดดับด้วย ก็แสดงให้เห็นว่า อวิชชาเท่านั้นที่ไม่สามารถรู้ความจริง เมื่อเป็นอวิชชาแล้วจะเห็นสภาพธรรมถูกต้องตามความเป็นจริงไม่ได้เลย แต่เมื่อเป็นปัญญาที่ค่อยๆ เข้าใจขึ้น กว่าจะเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่ง ลองคิดดู ฟังกี่ชาติ เข้าใจเท่าไร มีการระลึกได้ที่จะเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ แต่ยังไม่ชิน ยังไม่เห็นว่า เป็นแต่เพียงธรรมแต่ละอย่าง จนกว่าเมื่อไรก็ตามที่เห็น ไม่มีความเห็นผิดใดๆ อีกเลย เพราะสามารถเข้าถึงความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมซึ่งกว่าจะประจักษ์การเกิดดับได้ ต้องชินที่จะรู้ในความเป็นธรรมของสภาพธรรม จนคลายความเป็นเรา หรือความติดข้อง ไม่ใช่ไปเข้าใจอย่างอื่น ไม่ใช่ไปรู้อย่างอื่น ไม่ใช่ประจักษ์แจ้งอย่างอื่น แต่สิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ตามปกติ

    อ.วิชัย ขอสนทนากับคุณสุกัญญา เมื่อสักครู่นี้ที่ฟังท่านอาจารย์ ความเข้าใจของแต่ละบุคคลก็แตกต่างกัน บางบุคคลก็ฟังเข้าใจบ้าง บางบุคคลก็เข้าใจมากบ้าง น้อยบ้างตามการสะสม ฉะนั้นให้เห็นถึงกุศลจิตที่เป็นไปพร้อมกับความเข้าใจว่ามีความแตกต่างกัน ฉะนั้นบุคคลที่เคยสะสมปัญญามาที่สามารถเข้าใจในสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมาก ก็แสดงว่ามีการสั่งสมมาที่จะเข้าใจในสิ่งนั้นมากขึ้น ค่อยๆ เจริญขึ้น ฉะนั้นแต่ก่อนที่เริ่มฟังใหม่ๆ กับขณะที่ฟังนานแล้วก็แตกต่างกัน ในขณะจิตที่เป็นไปแม้จะคิดเรื่องของคำถามก็ตาม ก็มีการปรุงแต่งแล้ว มีการเกิดขึ้นแล้วที่จะให้มีการคิด การพิจารณา การไตร่ตรองถามออกมาในสิ่งที่ต้องการจะเข้าใจสิ่งที่ถูกต้อง จะเห็นถึงความเป็นไปของสภาพธรรมทั้งหมดเลย ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มฟังในสิ่งที่มีจริงๆ เพราะเหตุว่าความละเอียดของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเป็นสิ่งที่ลึกซึ้ง แต่ความรู้ความเข้าใจที่เจริญขึ้นนั้นเองจะค่อยๆ เข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ขณะนี้ คือ ความจริงก็ไม่เปลี่ยนแปลง แต่การสั่งสมความเข้าใจค่อยๆ เพิ่มขึ้น ก็จะเห็นความละเอียดของสภาพธรรมมากขึ้น

    เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นว่า การเกิดขึ้นของจิตเป็นไปเป็นอนัตตาทั้งหมด บังคับไม่ได้ให้เข้าใจมากๆ หรือห้ามความเข้าใจไม่ให้เกิดขึ้นก็เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นตามเหตุปัจจัยที่สั่งสมมาที่จะเข้าใจ ค่อยๆ เจริญขึ้นในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง โดยมากก็จะหลงลืมว่า ธรรมเป็นอนัตตา จะมีความคิดเรื่องราวต่างๆ อย่างเช่น คิดถึงเรื่องของสภาพธรรมไม่พ้นไปจากตัวเราเอง ฉะนั้นสิ่งที่มีจริงๆ ที่จะให้ปัญญาเข้าใจได้ ก็หมายความว่าเป็นสิ่งที่กำลังปรากฏอยู่ขณะนี้ ไม่ใช่รู้ในสิ่งที่ไม่ปรากฏ ฉะนั้นจะเข้าใจมากขึ้นก็คือในขณะนี้นี่เอง แต่ปัญญาที่จะเกิดขึ้นเข้าใจถูกเจริญขึ้น ก็ต้องอาศัยการฟังเรื่องของความละเอียดของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ขณะนี้ จนกว่าปัญญาจะค่อยๆ เจริญขึ้น ที่จะน้อมไปรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ จากสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง เพราะฉะนั้น การฟังก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยปรุงแต่งให้ปัญญาเกิดขึ้น เริ่มเข้าใจในธรรมที่มีจริงๆ กำลังปรากฏ บุคคลนั้นก็สามารถสั่งสมความเข้าใจถูกได้ว่า ขณะนั้นเป็นขั้นของความเข้าใจขั้นการฟัง โดยเริ่มรู้ และเข้าใจในสิ่งที่กำลังปรากฏมากขึ้น

    ผู้ฟัง คือคำถามวันนี้ก็เนื่องจากเมื่อวานนี้ในเรื่องความเห็นถูกกับความเห็นผิด เพราะว่าเดิมทีสงสัยว่าความเห็นผิดคืออะไร ความเห็นถูกคืออะไร จะสงสัยในจุดนี้อยู่ตลอดเวลา และรู้สึกว่ามีความเห็นผิดตลอดเวลา ไม่ใช่ความเห็นถูก และอีกอย่างหนึ่งเหมือนกับมีความไม่เชื่ออยู่ตลอดเวลาว่า จะต้องศึกษาธรรมในส่วนละเอียด เพราะว่าธรรมเป็นของยาก ทั้งเรื่องวิถีจิต และธรรมในส่วนละเอียด และไม่เชื่ออยู่ตลอดเวลาว่า ธรรมส่วนละเอียดจะเกื้อกูลปัญญาให้มีความเข้าใจในเรื่องสภาพธรรมเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ศึกษา และฟังเข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง พอตอนหลังๆ เมื่อจะเข้าใจก็เข้าใจขึ้นมาเอง โดยที่ไม่มีความตั้งใจที่จะเข้าใจ ก็เข้าใจได้ ถึงมีความรู้สึกว่า ความเป็นอนัตตามีจริงๆ และบทที่จะเข้าใจก็เข้าใจเอง โดยที่วันหนึ่งก็เข้าใจขึ้นมาได้ โดยที่ไม่รู้ว่า ทำไมถึงเข้าใจ ก็เลยมีความรู้สึกว่า เป็นสิ่งที่มีจริงๆ แล้วก็ใช่จริงๆ ส่วนเรื่องของความเห็นถูกกับความเห็นผิดก็ยังติดค้างอยู่ในใจ ก็เลยต้องมาถามจากเมื่อวานนี้ แล้ววันนี้ยังถามท่านอาจารย์อยู่

    อ.วิชัย คงไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ แต่ต้องเกิดจากการสั่งสม และพร้อมด้วยเหตุปัจจัยที่จะให้ความเข้าใจเกิดขึ้น ถ้าไม่เคยได้ยินได้ฟังพระธรรมมาก่อนเลย ความเข้าใจที่จะเกิดขึ้นก็ไม่ใช่ฐานะที่จะเป็นไปได้ แสดงว่ามีการสั่งสมที่เคยได้ยินได้ฟังมาแล้ว ได้สั่งสมความเข้าใจมาแล้ว จึงมีปัจจัยที่จะให้ปัญญาเกิดขึ้น เข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมากขึ้น

    ผู้ฟัง ในขณะที่กราบเรียนถามท่านอาจารย์ ก็มีความเป็นตัวตนที่อยากรู้ อยากถาม และสงสัย

    ท่านอาจารย์ คุณสุกัญญาเป็นพระอริยบุคคล หรือยัง

    ผู้ฟัง ไม่ได้เป็น

    ท่านอาจารย์ ก็ยังมีความสงสัยอยู่แน่นอน

    ผู้ฟัง แต่ก็มีความรู้สึกว่า ความเป็นตัวตนที่อยากรู้ หรือสงสัยก็เป็นมิจฉาทิฏฐิ

    ท่านอาจารย์ อะไรเป็นตัวตน

    ผู้ฟัง อะไรเป็นตัวตน

    ท่านอาจารย์ คุณสุกัญญาบอกว่า ขณะที่ถามมีความเป็นตัวตนอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นอะไรที่เป็นตัวตน

    ผู้ฟัง ก็ตัวโลภะที่อยาก

    ท่านอาจารย์ โลภะเป็นคุณสุกัญญา หรือว่าเป็นธรรม

    ผู้ฟัง จริงๆ ก็เป็นธรรมอย่างหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ แล้วจะว่าเป็นคุณสุกัญญาได้อย่างไร นี่คือขั้นเข้าใจ แต่เวลาเกิดขึ้นเพราะไม่รู้ความจริง จึงเข้าใจว่าโลภะนั้นเป็นเรา ด้วยเหตุนี้โลภะเป็นอะไรกันแน่ เป็นคุณสุกัญญาจริงๆ หรือเป็นสิ่งที่มีจริง เป็นธรรม ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อมีเหตุปัจจัย ก่อนอื่นต้องเป็นผู้ตรงที่จะมีความเข้าใจถูกแม้ในขั้นการฟัง โลภะเป็นคุณสุกัญญาจริงๆ หรือว่าเป็นธรรมอย่างหนึ่ง

    ผู้ฟัง โลภะจริงๆ ก็ต้องเป็นโลภะ

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่คุณสุกัญญา

    ผู้ฟัง แต่ว่ามันแนบสนิทกับตัวเรา

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ถ้าเริ่มมีความเข้าใจถูกต้องว่า โลภะไม่ใช่คุณสุกัญญา ถ้าโลภะไม่เกิด จะมีการยึดถือว่าโลภะนั้นเป็นตัวคุณสุกัญญาได้ไหม แต่เพราะโลภะเกิดแล้วไม่รู้ อะไรก็ตามเป็นเราหมด ไม่ว่าเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึกเรื่องราวต่างๆ ก็เป็นเรา เป็นตัวตน จนกว่าจะมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น นี่ยังไม่ถึงขั้นประจักษ์แจ้ง เพียงแค่การฟังที่จะให้มีความเห็นถูก ในขั้นพิจารณาถูก เข้าใจถูก สัมมาสังกัปปะ ได้ยินคำนี้บ่อย วิตก การตรึก หรือความคิดถูก เกิดไม่ง่าย เพราะว่าเคยคิดผิดมามาก เคยเป็นตัวตน เคยเป็นเรา กว่าจะมีความเข้าใจถูกว่า ไม่ใช่เรา ถ้ามีความรู้ว่าเป็นธรรม พูดถูกขึ้น คิดถูกขึ้น ทำถูกขึ้น เพราะรู้ว่าไม่มีตัวตน แต่มีธรรมที่เป็นเหตุ และมีธรรมที่เป็นผลแน่นอน

    เพราะฉะนั้น ทั้งหมดที่เป็นความเห็นถูกก็จะค่อยๆ เข้าใจถูกขึ้นตามลำดับขั้น แต่ไม่ใช่หมายความว่าเพียงเท่านี้แล้วจะไม่มีตัวตน ถ้าเพียงฟังแล้วเป็นพระโสดาบันได้ เพราะว่ารู้สภาพธรรมขณะนี้ตามความเป็นจริง ก็ไม่ต้องมีการอบรมอะไร ไม่มีปัญญาหลายๆ ขั้นซึ่งกว่าจะถึงการดับกิเลสได้ ถึงความเป็นพระโสดาบันได้ ปัญญาต้องเจริญขึ้นอีกมาก

    ผู้ฟัง ขอเรียนถามอาจารย์อรรณพ วิการรูปรู้ได้ทางใจ อยากให้อธิบายว่า “รู้ได้ทางใจ” มีความหมายอย่างไร

    อ.อรรณพ คือรูปที่เป็นรูปละเอียด สุขุมรูป ถ้าจะปรากฏก็ปรากฏทางใจ เพราะว่ารูปที่ปรากฏทางตามีรูปเดียว คือ สี รูปที่ปรากฏทางหูมีรูปเดียว คือ เสียง รูปที่ปรากฏทางจมูกมีรูปเดียว คือ กลิ่น รูปที่ปรากฏทางลิ้นมีรูปเดียว คือ รส รูปที่ปรากฏทางกายมี ๓ รูป คือ ธาตุดิน คือสภาพอ่อน หรือแข็ง ไฟ คือ เย็น หรือร้อน ลม คือ ตึง หรือไหว เพราะฉะนั้นมีรูป ๗ รูปที่ปรากฏทางปัญจทวาร ส่วนรูปที่เป็นปสาทรูป คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย คือ จักขุปสาท โสตปสาท ชิวหาปสาท ฆานปสาท กายปสาท แม้จะเป็นรูปหยาบ แต่ปรากฏทางใจ ส่วนรูปที่ละเอียด คือ สุขุมรูปก็ปรากฏทางใจ ถ้าจะปรากฏกับปัญญาของผู้ใด ก็ต้องปรากฏทางใจ จะไปปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ไม่ได้ แต่รูปที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็ปรากฏทางใจได้ อย่างรูปารมณ์ สี ปรากฏทางปัญจทวาร คือ ทางจักขุทวาร แล้วสืบต่อลักษณะปรากฏทางมโนทวารได้ แต่มิได้หมายความว่า รูปใดที่ท่านแสดงว่าปรากฏทางใจได้ ปรากฏได้เฉพาะทางใจ อย่างเช่น ปสาทรูป ๕ สุขุมรูป ๑๖ ไม่ใช่หมายความว่าจะต้องปรากฏ แต่ถ้าจะปรากฏก็ต้องปรากฏทางใจ เพราะไม่ใช่โคจรรูป หรือวิสยรูป ๗

    ผู้ฟัง แต่ที่หมายความว่า ปรากฏทางใจ ไม่ได้หมายความว่าจากการนึกคิดใช่ไหมคะ

    อ.อรรณพ ไม่ใช่ความคิดนึก แต่ความจริงความคิดว่า เป็นรูปโน้น ความคิดว่าเป็นรูปนี้ ขณะนั้นเป็นจิตที่กำลังคิดถึงเรื่องที่เคยศึกษา เรื่องที่เคยเรียนมาเท่านั้นเอง ไม่ต้องไปพูดถึงรูปละเอียด สุขุมรูป และไม่ต้องพูดถึงปสาทรูปซึ่งแม้หยาบ แต่ก็ไม่ปรากฏทางปัญจทวาร แม้รูปที่ปรากฏทางตาอยู่นี่ รู้ลักษณะ หรือยัง หรือเพียงคิดว่า รู้สีแล้วนะ รู้เสียงแล้วนะ สติปัฏฐานเกิดขึ้นรู้กลิ่น รู้รส รู้เย็น รู้ร้อน รู้อ่อน แข็ง ตึง ไหว เป็นคิดนึกที่คิดว่ารู้แม้กระทั่งโคจรรูปนี่ก็ได้ แต่ก็ไม่ใช่ปัญญาจริงๆ ที่ประจักษ์ในลักษณะของโคจรรูป

    ผู้ฟัง พูดถึงลักษณะของการปฏิบัติ แม้กระทั่งการปฏิบัติกัมมัฏฐานที่ได้ยินมาว่า ถ้าทำถูกก็เหมือนกับมีวิการรูป คือ จะรู้สึกเบา อ่อน ควรแก่การงาน

    ท่านอาจารย์ ไม่ทราบว่า เห็นว่าธรรมเป็นเรื่องลึกซึ้ง หรือว่าเป็นเรื่องง่ายๆ

    ผู้ฟัง เป็นเรื่องลึกซึ้งมาก

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เวลาที่ได้ยินได้ฟังต้องไตร่ตรองให้เป็นความเข้าใจจริงๆ และต้องหลายที่มาด้วย ไม่ใช่เฉพาะที่มาเดียว อย่างที่กล่าวว่า วิการรูปไม่เกิดกับกัมมชรูปใดๆ เลยทั้งสิ้น กรรมไม่ได้เป็นสมุฏฐานให้เกิดวิการรูป วิการรูปคือลักษณะที่วิการของมหาภูตรูป คือ เบา หรืออ่อน หรือควรแก่การงาน ถ้าไม่มีสมุฏฐาน คือ จิต หรืออาหาร หรืออุตุ ก็ไม่มีวิการรูปเกิดได้ อันนี้ถูกต้องไหม

    ผู้ฟัง ถูก

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นกัมมชรูปซึมซาบอยู่ทั่วตัว หรือไม่

    ผู้ฟัง ใช่ค่ะ

    ท่านอาจารย์ แล้วไม่ใช่มีแต่เฉพาะกัมมชรูปด้วย มีจิตชรูป มีอุตุชรูป มีอาหารชรูปด้วย เพราะฉะนั้นในขณะที่แข็งกำลังปรากฏ จะรู้วิการรูปไหม ในเมื่อที่นั้นก็มีกัมมชรูป ซึ่งไม่มีวิการรูปรวมอยู่ด้วย เพราะฉะนั้นไม่ใช่สิ่งที่เราคิดว่า ลักษณะที่ปรากฏ ที่เบา ที่อ่อน ที่ควรแก่การงาน เราคิดว่าเป็นอย่างนั้น แต่ลักษณะของมหาภูตรูปอ่อนก็มี อ่อนมากก็มี แต่ก็คือลักษณะของธาตุดินนั่นเอง ไม่ใช่อาการที่วิการที่สามารถจะปรากฏเป็นโคจรรูป หรือวิสยรูป เมื่อมีการกระทบสัมผัส นี่ก็แสดงให้เห็นว่า การที่จะเข้าใจธรรม เราก็ต้องศึกษาให้ละเอียดลึกซึ้งขึ้น ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏที่เคยยึดถือว่า เป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของกาย อ่อน หรือแข็ง เรารู้วิการรูป หรือไม่ เพราะขณะนั้นก็มีกัมมชรูปซึ่งไม่มีวิการรูปเกิดร่วมด้วยเลย เพราะฉะนั้นจะกล่าวง่ายๆ ว่า ลักษณะที่อ่อน หรือแข็งเป็นวิการรูปไม่ได้ แต่จะต้องรู้ว่า ปัญญาที่จะเกิดขึ้นสามารถจะรู้ความต่างของทางปัญจทวาร และทางมโนทวาร เมื่อนั้นวิการรูปก็ปรากฏให้รู้ได้ทางมโนทวาร ไม่ใช่ทางปัญจทวาร

    เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมจะนำไปสู่การเข้าใจถูก เห็นถูก เมื่อเป็นผู้ไม่คำนึงว่า สิ่งที่ได้ยินได้ฟังมาจากไหน โดยใคร แต่ถ้ามาจากพระไตรปิฎก ก็ไม่ควรหยุดเพียงคำแปล ควรที่จะกลับไปสอบทานถึงภาษาบาลี ความหมายเดิม รวมทั้งอรรถจริงๆ ของความหมายนั้นด้วย เพราะว่าแต่ละศัพท์ก็แปลได้หลายอย่าง อย่างภาษามคธซึ่งเป็นภาษาที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ที่ใช้คำว่า ภาษาบาลี เพราะดำรงรักษาพระศาสนาที่ทรงแสดงเป็นภาษามคธี ก็เป็นภาษาชาวบ้านสำหรับคนมคธที่เขาพูดกัน เพราะฉะนั้นความหมายก็มีตั้งแต่ธรรมดา จนกระทั่งถึงความหมายถึงสภาพธรรมที่ลึกซึ้ง เช่น คำว่า “นิโรธ” ธรรมดาก็แปลว่า ดับ แต่ว่านิโรธมีความหมายถึงลักษณะของนิพพาน นี่ก็แสดงให้เห็นว่า การศึกษาไม่ใช่เราจะศึกษานิดๆ หน่อยๆ โดยไม่คำนึงถึงความละเอียดของธรรม ซึ่งถ้าได้เข้าใจแล้วจะรู้ได้เลยว่า สิ่งที่เราได้ยินได้ฟัง แม้มีจริง แต่เมื่อรู้ต้องเป็นปัญญา ไม่ใช่ระดับเผินๆ เพียงอ่าน แล้วก็จำ แล้วก็คิด แล้วก็เข้าใจว่า ถูกต้อง เช่น ลักษณะที่อ่อน จะเข้าใจว่าเป็นลักษณะของวิการรูปไม่ได้ จะต้องรู้ถึงความต่างกันจริงๆ และอีกประการหนึ่ง ธรรมเป็นเรื่องที่เมื่อเข้าใจแล้ว จะละความสงสัย และความไม่รู้ แต่ไม่เป็นสมุจเฉท เพราะว่าไม่ใช่ปัญญาระดับขั้นที่ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมจนกระทั่งถึงความเป็นพระโสดาบัน


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 168
    16 ม.ค. 2567