พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 373


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๗๓

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๐


    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าไม่มีเรา อย่าลืม ฟังแล้วต้องไม่ลืม เป็นธรรม แล้วธรรมที่สามารถจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมก็คือปัญญา ณ บัดนี้มีปัญญาแค่ไหนที่จะพ้นจากการเป็นพื้นฐานที่จะทำให้แม้สติสัมปชัญญะเกิดรู้ลักษณะ ทั้งๆ ที่ลักษณะกำลังปรากฏ ก็ข้ามไปอยู่ตลอดเวลา เพราะว่าคิดเรื่องอื่น หรือไม่รู้ว่า แท้ที่จริงเรื่องทั้งหมดที่มี ก็เพราะมีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเพราะเกิดแล้วดับในขณะนี้สืบต่อ โดยไม่ปรากฏ เพราะว่าปัญญาไม่ได้อบรมถึงการประจักษ์แจ้งการเกิดดับของสภาพธรรม

    เพราะฉะนั้นถ้าฟังด้วยความเคารพจริงๆ คือ ไม่ได้คิดถึงเรื่องอื่นเลย ไม่ได้คิดถึงว่าเมื่อวานนี้เรามีโทสะบ้าง มีโมหะบ้าง มีปัญญาบ้าง คนนั้นทำอย่างนี้ คนนี้ทำอย่างนั้น นั่นคือไม่ได้เข้าใจธรรม เป็นเราทั้งหมดมานานแสนนาน และก็จะเป็นต่อไปอีกนานแสนนานด้วย แต่ว่าเมื่อมีโอกาสจะได้ฟังพระธรรม คิดดู ไม่ง่ายสำหรับการที่จะได้มีโอกาสได้ยินได้ฟัง แม้เพียงได้ยินได้ฟัง แต่ต้องเป็นผู้ที่ตรง ผู้ที่ละเอียด เป็นผู้ที่มั่นคงที่จะรู้ว่า การประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม ไม่ใช่ไปทำอย่างอื่น ว่าจะทำอย่างไร จะทำอย่างไร แต่เป็นเรื่องที่เริ่มเข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะฟังเรื่องอะไรก็ตาม ถ้าเป็นธรรมก็คือว่า สิ่งนั้นมีจริงกำลังปรากฏ เมื่อมีความเข้าใจแล้ว วันหนึ่งก็สามารถรู้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เราอีกต่อไป

    เพราะฉะนั้นสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง อย่าลืม พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรมด้วยภาษามคธ เป็นภาษาที่ดำรงรักษาพระศาสนา จึงใช้คำว่า ปาล หรือ ปาลี ภาษาบาลี เป็นภาษาที่ใช้สำหรับไม่มีการเคลื่อนย้ายไปสู่ภาษาอื่น ซึ่งอาจจะมีการคลาดเคลื่อนได้ แต่ว่าใครก็ตามที่จะเข้าใจธรรม แม้ไม่รู้ภาษาบาลี แต่สามารถเข้าใจธรรมในภาษาของตนได้ ซึ่งเมื่อมีความเข้าใจแล้วก็ตรง และสอดคล้องกับความหมายในภาษาบาลี ด้วยเหตุนี้ธรรมเป็นสิ่งซึ่งไม่ใช่ไปคำนึงถึงคำ แต่หมายความว่าคำนั้นส่องถึงสภาพที่มีจริง ซึ่งเป็นธรรมในขณะนี้ เดี๋ยวนี้ เพราะฉะนั้นการที่จะเข้าใจอะไร จะเข้าใจถูกต้องยิ่งขึ้นเมื่อใช้ภาษาอะไร ภาษาที่แต่ละคนใช้แล้วสามารถเข้าใจได้ แล้วแต่ว่าคนนั้นเป็นใคร

    เพราะฉะนั้นเวลาที่ได้ยินคำหนึ่งคำใดในภาษาบาลี อย่าเพิ่งใช้คำนั้นโดยที่ยังไม่เข้าใจจริงๆ แล้วก็สงสัย แต่สำหรับเมืองไทยเราก็มีคำภาษาบาลีมาก แต่ขาดการศึกษาให้เข้าใจความหมายนั้นโดยชัดเจน เพราะฉะนั้นก็ใช้ในความหมายที่ว่า เป็นภาษาไทยไปแล้ว คือ เข้าใจคำนี้ว่าเป็นอย่างนั้น วันก่อนก็ได้ยินคำว่าแล้วแต่กรรมลิขิตทางโทรทัศน์ ปรากฏว่าวิทยากรบอกว่า ไม่ใช่กรรมลิขิต เพราะเขาเข้าใจว่า กรรมคือฝ่ายอกุศลอย่างเดียว เหมือนอย่างว่านี่เป็นกรรมของเขา ก็คิดว่าเป็นอกุศลกรรม โดยไม่รู้ว่า กรรมเป็นคำกลาง มีทั้งกุศลกรรม และอกุศลกรรม ก็แสดงให้เห็นว่า ถ้าเราไม่ได้ศึกษาธรรมด้วยความเคารพ เราก็มีทางเข้าใจผิดในธรรมได้ แล้วเราอยากจะเป็นอย่างนั้น หรือ เราอยากเป็นคนหนึ่งที่มีโอกาสได้ฟังธรรม แล้วก็เข้าใจผิดๆ หรือเมื่อมีโอกาสฟังแล้วก็ไตร่ตรองพิจารณาจนเป็นความเข้าใจ จนถึงรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เพราะทั้งหมดเป็นการแสดงความจริงของสภาพธรรมที่มีจริง ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เพราะฉะนั้นคุณแสงธรรมได้ยินคำว่า กุศล ได้ยินคำว่า อกุศล เข้าใจ ๒ คำนี้ไหม เวลาเข้าใจธรรม เข้าใจทีละคำ อย่าไปรวมกัน เพราะคำนี้เข้าใจแล้ว ไปคิดเองถึงความหมายของคำอื่น

    ผู้ฟัง เข้าใจว่า กุศลคือสภาพที่ดีงาม ส่วนอกุศลคือสภาพที่ไม่ดีงาม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นกุศล อกุศลมีจริงๆ เป็นเรา หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ เป็นอะไร

    ผู้ฟัง เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ เป็นธรรม มีจริง แต่ไม่ใช่เรา เป็นนามธรรม หรือเป็นรูปธรรม

    ผู้ฟัง เป็นนามธรรม

    ท่านอาจารย์ นี่คือก่อนจะถึงความเข้าใจอย่างมั่นคง บางทีตอนต้นๆ เราก็ลืมไปแล้วว่า เราจะต้องมีความรู้ความเข้าใจละเอียดแค่ไหนที่ลืมไม่ได้เลย กุศล อกุศลเป็นเห็น หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ เป็นได้ยิน หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นขณะที่เป็นกุศลที่ดีงาม ไม่ใช่เห็น ไม่ใช่ได้ยิน ถ้าศึกษาต่อไปจะทราบว่า จิตเกิดขึ้นแต่ละขณะทำกิจเฉพาะกิจของจิตนั้น ก้าวก่ายกันไม่ได้เลย ฉะนั้นเวลาได้ยินคำว่า “ชวนะ” หมายความว่า ขณะนั้นไม่ใช่ทัสนะ ไม่ใช่กิจเห็น ไม่ใช่สวนะ ไม่ใช่กิจได้ยิน แต่เป็นกิจหนึ่งของจิตหลังเห็นแล้ว หลังได้ยินแล้ว ซึ่งจิตทั้งหมดมี ๘๙ ประเภท และกิจทั้งหมดมี ๑๔ กิจ แล้วแต่ว่าจิตเกิดขึ้นแล้วจะทำกิจหนึ่งใน ๑๔ กิจ เพราะฉะนั้นกุศลไม่ได้ทำกิจเห็น ไม่ได้ทำกิจได้ยิน ไม่ได้ทำกิจปฏิสนธิ ไม่ได้ทำกิจที่กล่าวถึง แต่ทำชวนกิจ หมายความว่า ขณะนี้เห็น ๑ ขณะ ดับ จิตที่เกิดต่อทำทัสนกิจ หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ได้ทำ

    ท่านอาจารย์ ทำกิจอื่น สัมปฏิจฉันนกิจ ภาษาบาลี ภาษาไทยก็คือเกิดสืบต่อรู้อารมณ์เดียวกัน ไม่ใช่ไปจำคำว่า สัมปฏิจฉันนะแล้วไม่รู้อะไร แต่หมายความถึงจิตที่เกิดต่อจากจักขุวิญญาณ แต่ไม่ได้ทำทัสนกิจทำสัมปฏิจฉันนกิจ แล้วจิตก็ดับเร็วมาก แล้วก็มีจิตซึ่งเกิดสืบต่อ และไม่ได้ทำสัมปฏิจฉันนกิจ ทำสันตีรณกิจ รับรู้พิจารณาแล้วก็ดับไป จิตอื่นเกิดต่อ ก็ไม่ได้ทำสันตีรณกิจ ถ้าเป็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็ทำโวฏฐัพพนกิจ ก็ไม่ใช่กุศล และอกุศล ถ้าเรามีความเข้าใจแบบนี้ เราจะไม่สนใจที่จะไปจำเพียงชื่อ และไม่รู้ว่าคืออะไร หลังจากโวฏฐัพพนะซึ่งเป็นจิตที่กระทำทาง หรือเกิดเป็นบาทเฉพาะสำหรับกุศล และอกุศล เพราะเหตุว่าหลังเห็นแล้วจะต้องเป็นกุศล หรืออกุศล สำหรับผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ จะให้เห็นแล้วไม่มีกุศล อกุศล เป็นไปไม่ได้เลย รวดเร็วมาก โดยที่เราไม่รู้เลยว่า ขณะนี้เป็นแล้ว แต่การศึกษาธรรมก็ทำให้เรารู้จักพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าไม่ทรงประจักษ์ความจริงอย่างนี้ จะไม่ทรงแสดงได้เลยถึง ๑ ขณะจิตซึ่งเกิดดับสืบต่อ

    เพราะฉะนั้นหลังจากที่โวฏฐัพพนะซึ่งเป็นจิตที่เกิดก่อนกุศลจิต และอกุศลจิต จึงทำโวฏฐัพพนกิจ หมายถึงเป็นบาทเฉพาะที่จะให้กุศล และอกุศลเกิดขึ้นได้ เพราะว่าหลังจากเห็นแล้ว กุศล อกุศลจะเกิดขึ้นทันทีไม่ได้เลย ก็มีจิตซึ่งเกิดขึ้นทีละ ๑ ขณะสืบต่อ จนถึงกาละที่โวฏฐัพพนะดับไปแล้ว ตามการสะสมซึ่งไม่มีใครไปบังคับบัญชา เพียงแต่กระทำหน้าที่ว่า จิตนี้เกิดก่อน เป็นบาทเฉพาะที่จะให้กุศล อกุศลเกิดขึ้นได้ตามการสะสม นี่คือโดยนัยของกิจ แต่ทรงแสดงความเป็นจริงโดยนัยหลายนัย โดยลักษณะของชาติ โดยลักษณะของภูมิ แม้ ๑ ขณะ ก็ทรงตรัสรู้ความจริงโดยประการทั้งปวง

    เพราะฉะนั้นเมื่อโวฏฐัพพนะดับแล้ว กุศล อกุศลเกิด ไม่ได้ทำโวฏฐัพพนกิจเหมือนจิตขณะก่อน แต่เกิดดับสืบต่อรู้อารมณ์นั้นทำชวนกิจ หมายความว่า เสพ หรือ สืบต่อ จาก ๑ ขณะ แล้วก็เป็นอีก ๑ ขณะ แล้วก็เป็นอีก ๑ ขณะสืบต่อกัน ด้วยความรวดเร็วในอารมณ์นั้นที่สามารถจะปรากฏได้ เพราะว่าเกิดดับสืบต่อกัน ๗ ขณะ ขณะนี้เห็นแล้ว แม้มีกุศล หรือ อกุศล ๗ ขณะก็ไม่รู้ แต่จะรู้สัมปฏิจฉันนะ ๑ ขณะซึ่งเกิดต่อจากจักขุวิญญาณได้ไหม ยิ่งไม่ได้ ใช่ไหม เพราะฉะนั้นถ้าได้ยินอย่างนี้ หมายความว่า ไม่จำเป็นต้องใช้คำว่า “ชวนะ” ถ้าไม่กล่าวถึงกิจ

    ทุกคนรู้จักกุศล และ อกุศล และรู้ว่า กุศล และ อกุศลเป็นเหตุที่จะทำให้เกิดวิบาก เมื่อได้กระทำกรรมสำเร็จทางกาย หรือทางวาจา หรือทางใจ แต่ว่าขณะใดไม่ถึงขั้นกรรมบถ ที่จะทำให้เป็นกรรมที่ทำให้วิบากเกิด ขณะนั้นก็สะสมเป็นอุปนิสัย แล้วแต่ว่าจะชอบอะไร ไม่ชอบอะไร รสหวาน รสเค็ม อะไรทั้งหมด ไม่ได้ทำให้เกิดวิบากอะไรเลยทั้งสิ้น แต่สะสมที่จะเป็นอัธยาศัย ด้วยเหตุนี้การที่จิตเกิด ๑ ขณะ แล้วก็ดับไป ไม่ได้หมายความว่า ไม่มีผลอะไรเลย การดับนั้นแหละจะสะสมสืบต่อในจิตแต่ละขณะในแสนโกฏิกัปป์ที่จะเป็นปัจจัย เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย จากการสะสมในแต่ละขณะที่เกิดขึ้น สามารถจะมีกำลังที่จะทำให้จิตขณะหนึ่งขณะใดเกิดขึ้นเป็นไปตามการสะสม คุณแสงธรรมชอบสีอะไร

    ผู้ฟัง ชอบสีน้ำเงิน

    ท่านอาจารย์ ชอบสีน้ำเงิน คนอื่นชอบเหมือนกัน หรือไม่

    ผู้ฟัง คนอื่นอาจจะไม่

    ท่านอาจารย์ ขณะหนึ่งอาจจะชอบสีน้ำเงิน อีกขณะหนึ่งอาจจะชอบสีอื่นก็ได้ ไม่ตายตัว นี่แสดงให้เห็นถึงความวิจิตรในแสนโกฏิกัปป์ที่สะสมมา พร้อมที่อะไรจะเกิดก็ต้องเกิดเป็นไปอย่างนั้น ไม่ใช่ให้เราไปทำ แต่ให้รู้ตามความเป็นจริงว่า เป็นธรรมเกิดแล้วทั้งนั้น อย่างขณะนี้ใครคิดจะทำอะไร ไม่ต้องทำ มีแล้ว เกิดแล้ว ปรากฏแล้วแต่ไม่รู้ว่าเกิดแล้ว มีแล้ว เพราะเป็นธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

    เพราะฉะนั้นเวลาได้ยินคำว่า กุศล อกุศล เข้าใจ เวลาได้ยินคำว่า “ชวนะ” ถ้าไม่ศึกษาเรื่องกิจของจิต จะไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้นอย่าไปติดคำว่า กุศลชวนะ อกุศลชวนะ โดยไม่รู้เรื่องกิจ แต่เมื่อรู้เรื่องกิจแล้ว ไม่จำเป็นต้องใส่คำว่า กุศลชวนะ อกุศลชวนะ เพราะเหตุว่ากำลังพูดถึงสภาพธรรมที่เป็นกุศล หรืออกุศล ต่อเมื่อใดพูดถึงเรื่องกิจ อันนั้นจะมีกิจว่า ชวนกิจคืออะไร ได้แก่จิตอะไร เช่น จักขุวิญญาณ จิตเห็นทำชวนกิจไม่ได้ จิตแต่ละขณะเกิดขึ้นทำกิจเดียว ถ้าจักขุวิญญาณทำชวนกิจ อะไรจะเห็น ก็ไม่ได้ใช่ไหม

    เพราะฉะนั้นสภาพธรรมแต่ละอย่างเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ให้เข้าใจให้ถูกต้องในภาษาอะไรก็ได้ แต่เมื่อเข้าใจแล้วในภาษาไทย ก็ตรงกับภาษาบาลี ถ้าได้ยินได้ฟังเรื่องกิจของจิตก็จะเป็นภาษาบาลี แต่ถ้าแปลเป็นไทยธรรมดาๆ ก็จะใช้ได้ จิตเกิดขึ้นเห็นทำกิจเห็น จิตเกิดขึ้นได้ยินทำกิจได้ยิน จิตเกิดขึ้นเป็นกุศลทำกิจเสพอารมณ์ที่เป็นกุศล อารมณ์นั้นที่เป็นกุศลจิตมากกว่าจิตขณะอื่น เพราะว่าเกิดซ้ำกันถึง ๗ ขณะ เป็นการสะสมความชอบ ไม่ชอบ กุศล อกุศล หรือจะเป็นกรรมที่ทำให้เกิดวิบากในอนาคตได้ เพราะฉะนั้นความละเอียดก็คืออย่าคิดว่า จะใช้คำโดยไม่เข้าใจ แต่ถ้าเข้าใจแล้ว ไม่ต้องใช้ก็ได้ อย่างพูดถึงกุศล อกุศล เข้าใจไหมว่า เป็นชวนกิจ ถ้ากล่าวถึงชวนะ และถ้ากล่าวถึงชาติ ก็จะเข้าใจได้ด้วย จิตไหนเป็นชาติวิบาก จิตไหนเป็นเหตุคือกุศล อกุศล จิตไหนเป็นกิริยา คือไม่ใช่เหตุ และไม่ใช่ทั้งกุศล และอกุศล และไม่ใช่วิบากด้วย ก็เป็นกิริยาจิต

    นี่เป็นความละเอียดของชีวิต ซึ่งเป็นธรรมทั้งหมด แต่เพราะไม่รู้จึงยึดถือว่าเป็นเรา แล้วไม่มีทางเลยที่จะทำให้นามธาตุ และ รูปธาตุที่กำลังเกิดในขณะนี้ ไม่เป็นปัจจัยที่จะให้เกิดอีก ด้วยความไม่รู้ ถ้ายังคงไม่รู้ตราบใด จะไม่ให้จิตเกิดขึ้นสืบต่อแต่ละขณะ เป็นไปไม่ได้เลย ยังจะต้องเกิดขึ้นเป็นไปในสังสารวัฏ ซึ่งเมื่อวานนี้อะไรเกิดขึ้นบ้าง ล้วนเป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์ เพราะหมดแล้วทั้งนั้น แต่ก็เป็นแล้วทั้งนั้น แล้วก็หมดไปแล้วทั้งนั้น แล้ววันนี้ก็เหมือนเมื่อวานนี้ ก็เกิดขึ้น เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง กุศลบ้าง อกุศลบ้าง ก็เกิดตามเหตุตามปัจจัย พอถึงพรุ่งนี้ก็ไร้ประโยชน์ หมดแล้วไม่เหลือเลย ทุกวันเป็นอย่างนี้

    สงสัยไหม กุศล อกุศล และชวนะ ถ้าสงสัยต้องฟังอีกกี่ครั้ง จนกว่าจะไม่สงสัย จนกว่าจะเข้าใจ เพราะฉะนั้นฟังธรรมเพื่อเข้าใจ ลืมเรื่องที่จะปฏิบัติ ลืมเรื่องที่จะประจักษ์แจ้งสภาพธรรม ในเมื่อปัญญาไม่มี ฟังแล้วเป็นความเข้าใจขึ้นทีละเล็กทีละน้อย เริ่มเป็นปัญญาที่จะสะสมที่จะเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ อย่าลืม ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ถ้าไม่ใช่ปริยัติที่ถูกต้องจะไม่นำไปสู่ปฏิปัตติ คือ การที่จะถึงลักษณะที่เป็นธรรมของสิ่งที่กำลังปรากฏ ซึ่งไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่มีทางที่จะประจักษ์ คือ ปฏิเวธ ซึ่งสภาพธรรมขณะนี้ถูกปกปิดด้วยการเกิดดับสืบต่ออย่างเร็วมาก และด้วยการไม่รู้ และด้วยการทรงจำว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง มีโอกาสได้ฟังพระธรรม เริ่มรู้จักพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าบ้างไหม รู้จักถ่องแท้ไหม (ยัง) เข้าใจเท่าไร รู้จักเท่าที่เข้าใจ

    ผู้ฟัง เมื่อสักครู่ที่ฟังจากอาจารย์เข้าใจว่า ถ้าเป็นกุศล อกุศลเมื่อไร ก็คือว่าเป็นชวนกิจ

    ท่านอาจารย์ ทำชวนกิจ

    อ.วิชัย เพราะเหตุว่าโดยสภาพธรรมที่เป็นจิต และเจตสิกเกิดพร้อมกัน แต่ว่าจิตเป็นใหญ่เป็นประธาน ดังนั้นเมื่อจิตเกิดขึ้นก็ทำกิจ ขณะแรกของชาตินี้ก็คือ จิตที่เกิดขึ้นเป็นผลของกรรม ทำปฏิสนธิกิจ เราก็เรียกชื่อจิตนั้นว่าเป็นปฏิสนธิจิต ขณะที่ปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว ก็มีจิตที่เกิดสืบต่อ เพราะเหตุว่าโดยสภาพของจิตที่เกิดขึ้นแล้วดับไปแล้ว สามารถเป็นปัจจัยให้จิตประเภทอื่นเกิดสืบต่อ ก็คือจิตที่ทำกิจภวังค์เกิดขึ้นสืบต่อจากปฏิสนธิจิต ขณะชวนะ ก็หมายความถึงจิตที่เกิดขึ้นทำชวนกิจ คือ เกิดขึ้นซ้ำๆ กันใน อารมณ์ที่ปรากฏในขณะนั้น

    เพราะฉะนั้นขณะที่เป็นกุศล หรือขณะที่เป็นอกุศล จิตขณะนั้นเกิดขึ้นทำชวนกิจ เพราะเหตุว่ากุศลจิตไม่ได้ทำกิจเห็น ไม่ได้ทำกิจได้ยิน ไม่ได้ทำกิจได้กลิ่น ไม่ได้ทำกิจลิ้มรส ไม่ได้ทำกิจถูกต้องกระทบสัมผัส แต่ทำชวนกิจ ฉะนั้นถ้าจะพิจารณาว่า วันหนึ่งๆ ขณะใดก็ตามที่เป็นกุศลจิต หรือว่าเป็นอกุศลจิต ความติดข้อง ความขุ่นข้องใจต่างๆ ขณะนั้นจิตเกิดขึ้นทำชวนกิจ อันนี้เป็นเริ่มที่จะเข้าใจว่า สภาพธรรมมีจริง เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน และทราบจากการศึกษาให้รู้ว่า จิตขณะนั้นทำกิจชวนะ แต่การศึกษาเพื่อรู้สภาพธรรม ขณะที่ทราบก็เป็นการตรึกจากความทรงจำว่า นั่นเป็นชวนจิต แต่ที่สำคัญคือ การเริ่มค่อยๆ รู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่มี เพราะขณะนั้นเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้น และก็ดับไป ขณะนั้นสติสามารถเริ่มระลึกรู้ในลักษณะของธรรมที่ปรากฏได้

    ท่านอาจารย์ คิดเกิดก่อนเห็นได้ไหม ตื่นขึ้นมาเห็นก่อน หรือคิดก่อน

    ผู้ฟัง ตื่นขึ้นมาบางทีก็คิดก่อน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจะคิดก่อนเห็นก็ได้ เห็นแล้วก็คิดได้ เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ คิดทั้งวัน สลับด้วยสิ่งที่ปรากฏทางตานิดเดียว ทางหูนิดเดียว ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายน้อยมาก สั้นมาก นอกจากนั้นคิดทั้งหมด โลกทั้งโลกเป็นโลกของความคิดของแต่ละคน หลังเห็น หลังได้ยิน ถึงแม้ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ก็จำแล้วก็ยังคิด เป็นคุณแสงธรรม หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ รู้จักใครตั้งหลายคนในห้องนี้ เป็นธรรมทั้งนั้น ตามการสะสมของแต่ละคน

    ผู้ฟัง การฟังธรรมให้เข้าใจ อะไรเป็นสาเหตุให้ผู้ฟังธรรมสามารถเข้าใจในระดับต่างๆ กัน บางคนก็ฟังแล้วก็เข้าใจได้ง่าย บางคนฟังแล้วก็เข้าใจยาก มีอะไรมาปิดบัง หรือไม่ มีเรื่องกรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง หรือไม่ กราบเรียนถามอาจารย์

    ท่านอาจารย์ กำลังได้ยินแล้วจะคิดถึงสาเหตุ คงไม่ลืมว่ากำลังทำอะไร ฟังธรรม แน่นอน ฟังธรรม ไม่ใช่คิดเรื่องอื่น ฟังธรรมแล้วก็เข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง นั่นเองที่เป็นเหตุที่จะทำให้เข้าใจต่อไปได้

    ผู้ฟัง ก็คือเป็นการสะสม ฟังไปเรื่อยๆ

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องไปนึกเป็นเรื่องเป็นราว สาเหตุมาจากไหน ชาติไหนอย่างไร แต่ขณะนี้ฟังธรรม แล้วก็มีธรรมปรากฏให้เข้าใจด้วย เพราะฉะนั้นฟังสิ่งที่ได้ฟัง รู้ว่ากำลังฟังเพื่อเข้าใจสิ่งที่กำลังมีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง ทำไมเห็นก็มีอยู่อย่างนี้ ได้ยินก็มีอยู่อย่างนี้ และก็ฟังแล้วยังเป็นเรื่องของเห็น เรื่องของได้ยิน

    ท่านอาจารย์ เห็นมีจริง เป็นเรา หรือไม่

    ผู้ฟัง ถ้าตามความเป็นจริงก็ยังเป็นเราเห็น แต่จริงๆ เป็นธรรม แต่ตัวเราเข้าใจว่าเป็นเรา

    ท่านอาจารย์ แล้วเมื่อไรจะรู้จริงๆ

    ผู้ฟัง เมื่อปัญญาถึงขั้น

    ท่านอาจารย์ แล้วจะสงสัยอะไร

    ผู้ฟัง เมื่อสักครู่มีอีกคำถามที่ว่า ไม่ต้องทำอะไรเลย ฟังให้เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้ใครทำอะไร

    ผู้ฟัง ก็เป็นสภาพธรรมฟังธรรม

    ท่านอาจารย์ ให้เข้าใจว่าไม่มีเรา นี่คือความถูกต้อง เพราะฉะนั้นยังไม่เห็นว่าเป็นเรา ก็เป็นความจริง เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมเพื่ออะไร เพื่อให้เห็นต่อไปว่า เป็นเรา หรือเพื่อให้เข้าใจได้ถูกต้องขึ้นจนกระทั่งรู้ว่าเป็นธรรม ซึ่งไม่ใช่เรา จริงๆ นี่คือสัจธรรม จึงต้องรู้จุดประสงค์ แม้การทรงแสดงพระธรรมว่า ทรงแสดงเพื่ออะไร เพื่อให้เห็นถูก เข้าใจถูกในอะไร ในสิ่งที่มีจริง เมื่อไร เมื่อกำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ เพราะฉะนั้นฟังธรรม คือ ฟัง มีสิ่งที่กำลังปรากฏให้รู้ว่าเป็นสิ่งที่มีจริง เกิดขึ้นได้อย่างไร เกิดแล้วเที่ยง หรือไม่ แล้วเป็นเรา หรือไม่ บังคับบัญชาได้ไหม จนกว่าจะรู้ว่าเป็นธรรมซึ่งไม่ใช่เรา

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นเข้าใจขั้นฟังก็จะเห็นว่า ความเป็นเราในขั้นฟังก็จะน้อยลงกว่าที่ยังไม่ได้ฟัง

    ท่านอาจารย์ ความเป็นเรารู้สึกว่าไม่ยอมที่จะหายไปเลย มีเราตามไปตลอด ฟังแล้วเราเข้าใจแค่ไหน ฟังแล้วเมื่อไรจะไม่มีความเป็นเราอีกต่อไป แต่จริงๆ ฟังแล้วเข้าใจว่าเป็นธรรมนั่นแหละ คือการหมดการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา เห็นกำลังของโลภะไหม เหนียวแน่น มาตลอดในรูปต่างๆ

    ผู้ฟัง เหมือนกับไม่ชินความเป็นอนัตตา แต่ชินกับการประเมินผล วัดผล ในทางธุรกิจว่าได้เป้า หรือไม่ มันไม่ชินกับความเป็นอนัตตา

    ท่านอาจารย์ ในครั้งพุทธกาลผู้ไปเฝ้าฟังพระธรรมมีหลายอัธยาศัย หลายการสะสม ปัญญาหลายระดับ ถ้ายังคิดอย่างนี้ จะหมดกิเลสไหม เวลาฟังจะสามารถรู้สภาพธรรมในขณะนั้นได้ไหม กำลังนั่งวัดผล แทนที่จะเข้าใจว่า ขณะนี้เห็นอย่างนี้แหละ เป็นธรรมที่ยังไม่รู้ จนกว่าจะค่อยๆ เข้าใจขึ้น ใช้คำว่า “ค่อยๆ เข้าใจขึ้น” เพราะอะไร เพราะวันนี้ก็ไม่รู้ เมื่อวานนี้ก็ไม่รู้ ต่อไปก็ไม่รู้ แต่วันหนึ่งรู้ได้ ว่าเป็นธรรม

    อ.วิชัย พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องของขันธ์ว่าเป็นภาระอย่างยิ่ง ในส่วนของรูปขันธ์ก็เข้าใจว่า เป็นสภาพที่ต้องบำรุงดูแลมาก คือต้องรับประทานอาหาร ต้องชำระ ต้องทำภาระต่างๆ มากเกี่ยวกับรูป ในส่วนของเวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ที่ทรงแสดงว่าเป็นภาระคืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีนามธรรม

    อ.วิชัย ก็ไม่เดือดร้อน เพราะไม่มีความรู้สึกใดๆ ทั้งสิ้น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วอะไรเป็นภาระ

    อ.วิชัย คือโดยสภาพธรรม เขาก็เกิดดับมีเหตุปัจจัยเป็นไปอยู่อย่างนี้

    ท่านอาจารย์ ต้นไม้ข้างนอกเป็นรูปเกิดดับมีภาระอะไรสำหรับเรา หรือเปล่า ถ้าไม่มีนามธรรมเลย

    อ.วิชัย ก็ไม่มี

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นอะไรแน่ที่เป็นภาระ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 168
    10 ม.ค. 2567