พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 377


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๗๗

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๐


    ท่านอาจารย์ ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏทางตา ลืมว่าต้องมีธาตุรู้ ที่กำลังเห็น สิ่งนี้จึงปรากฏได้ ยังไม่ต้องไปถึงกุศล และอกุศลเลย เพียงแค่สิ่งที่ปรากฏทางตา และมีจิตซึ่งเห็น แล้วเราก็ใช้คำว่า “จิต” และเราใช้คำว่า “จิต” หมายความถึงธาตุรู้ หรือสภาพรู้ ได้ยินได้ฟังภาษาไหน ก็เข้าใจในความหมาย แต่ตัวจริงๆ ของธาตุรู้ สภาพรู้ซึ่งเกิดเห็นแล้วก็ดับไป ไม่ยั่งยืนเลย และยังมีสภาพของจิตประเภทอื่นๆ เกิดดับสืบต่อตลอดตั้งแต่เกิดจนตาย ก็ไม่เคยรู้ เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีความเข้าใจในสภาพธรรมที่ปรากฏ แม้เห็นมี กำลังเห็น ในขณะที่เห็นไม่มีวิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วย แล้วจะไปรู้ไหมว่า ขณะที่เห็นไม่มีวิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วย และเวลาที่จักขุวิญญาณคือจิตเห็นดับไป วิตกเจตสิกเกิดพร้อมกับจิตขณะต่อไป แล้วจะไปรู้วิตกไหม จะรู้ได้ไหม เห็นดับไปแล้ว จิตต่อไปมีวิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วย เป็นชาติวิบาก ยังไม่ถึงกุศล และอกุศล

    เพราะฉะนั้นแต่ละคำแสดงถึงภาวะที่มีจริงๆ ซึ่งต่างกัน กุศลก็ไม่ใช่อกุศล และไม่ใช่วิบาก แต่ไม่ใช่เพียงชื่อ ขณะนี้กำลังเป็นอย่างนั้นอย่างรวดเร็วด้วย เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรม พระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงแสดงเพียงให้ฟัง แต่ไม่ให้รู้จริงๆ นั่นไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เมื่อพระองค์ทรงประจักษ์ความจริงของสภาพธรรม ทรงพระมหากรุณาแสดงหนทางที่จะทำให้สามารถรู้จริง ประจักษ์ความจริงของสภาพธรรมได้ แต่ไม่ใช่บุคคลหนึ่งบุคคลใด เป็นปัญญา เพราะฉะนั้นต้องมีความเข้าใจสภาพของปัญญา ว่า ปัญญา หมายถึง ความเข้าใจถูก ความเห็นถูก แม้ในขณะที่ฟัง ถ้าฟังไม่เข้าใจ ก็ไม่มีทางเลยที่จะรู้ลักษณะของกุศล อกุศล หรือวิตก มีแต่ชื่อ ซึ่งขณะนี้เห็น ไม่มีวิตก หลังจากเห็นดับมีวิตก จะรู้ได้ไหม เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้นความเข้าใจที่ได้รับฟังเป็นความเข้าใจของตัวเอง ต้องไตร่ตรองว่า เมื่อฟังแล้วมีความเข้าใจในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง และก็รู้เองว่า เมื่อได้ฟังอย่างนี้แล้วสามารถที่จะรู้วิตกเจตสิกได้ไหม ก็เป็นเรื่องซึ่งมีความเข้าใจแล้ว ก็จะไม่ถามใครเลย และไม่ถามกันด้วยว่า แล้วคนโน้นรู้ได้ไหม แล้วคนนี้รู้ได้ไหม ไม่ใช่เรื่องเลย ที่จะไปคาดคะเน หรือจะไปคิดถึงคนอื่นว่า ใครจะรู้ได้ ใครจะรู้ไม่ได้ แต่สภาพธรรมเมื่อมีความเข้าใจเกิดขึ้น ก็เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมตามการสะสม ขณะนี้มีการได้ฟังว่า สิ่งที่ปรากฏขณะนี้เป็นธรรม ความละเอียดของธรรม ความลึกซึ้ง คัมภีรของธรรม ก็คือ เกิดแล้วดับ ยังไม่ประจักษ์ แต่มีหนทางที่จะประจักษ์ได้ เมื่อมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น แต่ไม่ใช่ด้วยการฟัง

    ผู้ฟัง ที่ว่าฟังให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม เหมือนกับว่าที่ฟังอยู่จะเข้าใจเรื่องราวของสภาพธรรม ยกตัวอย่างว่า ก่อนหน้าที่เราจะฟังว่า เห็น เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ คุณอรวรรณบอกว่า ฟังเพื่อให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ใช่ไหม ให้เข้าใจสภาพธรรม ให้รู้ลักษณะของธรรม ถูกต้องไหม ไม่ใช่ฟังสิ่งที่ไม่มี เพราะฉะนั้นขณะนี้เมื่อมีธรรม แล้วมีลักษณะที่ต่างๆ กัน ก็ฟังธรรม คือฟังเรื่องของธรรม ที่กำลังมีจริงๆ ในขณะนี้ ไม่ใช่ไม่มี เพราะฉะนั้นไม่ใช่ไปฟังเรื่องของคนนั้นทำอย่างนั้น วันนี้เป็นอย่างนี้ แต่ว่าเป็นธรรมที่มีในขณะนี้ และฟังเพื่อเข้าใจธรรมที่กำลังมีในขณะนี้

    ผู้ฟัง คำว่า “เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม” หมายความว่าเริ่มต้นเราต้องเข้าใจเรื่องราวของลักษณะสภาพธรรมก่อน เพื่อนำไปสู่การเข้าถึงลักษณะของสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ เริ่มต้น คือ รู้ว่า ขณะนี้มีธรรม ขณะนี้เป็นธรรม ซึ่งถ้าไม่ฟังไม่รู้ว่าเป็นธรรม ไม่รู้ว่า ธรรมขณะนี้กำลังปรากฏ แต่ไม่รู้ว่าเป็นธรรม เพราะฉะนั้นก็อาจจะไปค้นคว้าหาธรรม ขณะนี้ก็มีกลุ่มบุคคลซึ่งกำลังค้นคว้าเรื่องจิต พยายามกันเหลือเกินที่จะให้มีคำอธิบายมากมายต่างๆ ไปค้นหามา แต่คำตอบมีอยู่แล้วในพระธรรมที่ทรงแสดง แต่เพราะเหตุว่าไม่เข้าใจความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประจักษ์แจ้งความจริงทั้งหมด ไม่ต้องมีใครไปคิดค้นหาอะไรด้วยตัวเองอีกต่อไป แต่ถ้าเป็นผู้ที่ได้ศึกษาธรรม ก็จะรู้ว่าทรงแสดงความจริงของธรรม ซึ่งคนอื่นไม่สามารถจะรู้ได้โดยตลอด หรือโดยสิ้นเชิง หรือโดยคาดคะเน

    เพราะฉะนั้นขณะนี้ธรรมมี แต่โดยมากเราไปเอาชื่อมาก่อน แต่ถ้าขณะนี้ แข็ง มี ทุกคนรู้แข็ง เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมก็คือว่า แข็ง ขณะที่ปรากฏเป็นแข็ง เป็นธรรม แต่แข็งไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย จริง หรือไม่ เสียงปรากฏ มี แต่เสียงก็ไม่สามารถจะคิด จะจำ จะสุขทุกข์ใดๆ เลยทั้งสิ้น เสียงมี มีปัจจัยให้เสียงเกิดขึ้น เสียงก็เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้นถ้ากล่าวถึงแข็ง หรือกล่าวถึงเสียง แม้ว่าสภาพลักษณะของเสียงไม่ใช่แข็งก็จริง แต่แข็งก็ไม่สามารถรู้อะไรได้ เสียงก็ไม่สามารถรู้อะไรได้ เพราะฉะนั้นทั้งเสียง และแข็งเป็นสภาพธรรมที่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้ คือศึกษาจากของจริงๆ ที่มี ไม่ใช่ไปจำว่า “รูปธรรม” ก่อน “นามธรรม” ก่อน แต่ลักษณะที่มีก็แสดงความเป็นรูปธรรม ไม่ใช่สภาพที่รู้อะไร จึงใช้คำว่า “รูปธรรม”

    สภาพธรรมทั้งหลายที่มีจะปรากฏให้รู้ว่ามีได้ ก็ต่อเมื่อมีสภาพรู้ หรือธาตุรู้ ที่ทุกคนขณะนี้รู้ว่า มีสิ่งที่ปรากฏทางตาเพราะจิตเห็นเกิดขึ้นเห็น เพราะฉะนั้นจิตเป็นธาตุที่สามารถรู้ (เห็น) โดยที่จิตเองไม่มีรูปร่างเลย เพราะฉะนั้นลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเกิดขึ้นรู้ ก็เป็นสภาพธรรมที่ต่างกับสภาพธรรมที่เกิดแล้วก็ไม่รู้อะไร นี่คือการศึกษาธรรม โดยเข้าใจความหมายว่า ที่ใช้คำว่า “รูปธรรม” หรือ “นามธรรม” ไม่ใช่ให้ไปจำชื่อ แล้วก็ไปหา ไปท่องว่า รูปธรรมมีอะไรบ้าง กี่รูป ปรากฏทางไหน กี่รูปอย่างไร แต่ลักษณะของธรรมที่ปรากฏนี่แหละ ให้มีความเข้าใจในความเป็นธรรม ซึ่งต่างกัน และขณะที่เข้าใจอย่างนี้ ความรู้ความเข้าใจก็จะค่อยๆ เพิ่มขึ้น

    ผู้ฟัง เหมือนกับว่า เมื่อเราศึกษา ท่านอาจารย์ก็อธิบายชัดเจนว่า ให้ศึกษาว่า ได้ยิน เห็น หรือแข็ง ก็เป็นธรรม และให้รู้ว่าเป็นธรรม พูด และฟังนับจำนวนครั้งไม่ถ้วน แต่ปัญญาขั้นฟังก็จะเข้าใจเรื่องราวเท่านั้น แล้วก็ลืมบ่อย

    ท่านอาจารย์ คุณอรวรรณบอกเข้าใจเรื่องราว ก็แข็งมีจริงๆ และแข็งก็ไม่รู้อะไร ไม่ใช่เพียงเรื่องราว แต่ลักษณะนั้นมีจริง ปรากฏความเป็นธรรม ซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ แต่เพราะไม่เคยระลึกรู้ในขณะที่สภาพธรรมนั้นปรากฏ จึงเหมือนกับฟังเรื่องราวของธรรม แต่ตัวจริงๆ ของธรรมมี กำลังฟังก็คือแข็ง ก็สามารถเข้าใจถูกต้องว่า แข็งที่มี ไม่สามารถรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น ศึกษาธรรมที่มี ที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่เพียงชื่อ แต่มีลักษณะจริงๆ ปรากฏให้เข้าใจได้ แต่ที่จำเป็นต้องใช้ชื่อ เพราะว่าสภาพธรรมก็หลากหลาย ถ้าเราไม่เอ่ยถึงชื่อ จะรู้ได้อย่างไรว่า แข็งไม่ใช่เสียง

    ผู้ฟัง ในการศึกษาเหมือนกับว่า ลักษณะก็มี เห็น ได้ยิน แล้วก็สีก็ปรากฏ เสียงก็ปรากฏ แต่การศึกษาเหมือนกับปัญญาเอาชื่อกับเรื่องไว้ตอนหนึ่ง และตัวลักษณะของสภาพธรรมก็ไม่ยอมมาเจอกัน

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องเข้าใจให้ถูกต้อง แม้ว่าสภาพธรรมมี ก็ไม่ใช่สามารถรู้ลักษณะนั้น เพราะอะไร

    ผู้ฟัง เพราะอวิชชา

    ท่านอาจารย์ เห็นไหม ต่อไปเราก็จะมีความเข้าใจขึ้น

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นปัญญาขั้นเข้าใจเรื่องราวกับชื่อของสภาพธรรม เช่น เห็น ได้ยิน ซึ่งก็เป็นชีวิตประจำวันนั้น ความเข้าใจที่ค่อยๆ มั่นคงมากขึ้น ก็จะนำไปสู่การเข้าใจลักษณะ

    ท่านอาจารย์ ถ้าศึกษาชื่อธรรม โดยไม่รู้ว่า ขณะนี้เป็นธรรม ก็จะไม่มีการจะรู้ว่าเป็นธรรมได้เลย แต่รู้ว่าชื่อทั้งหลายก็หมายความถึงลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งมีจริงๆ พิสูจน์ได้ ปรากฏได้ เข้าใจได้ ไม่ใช่ไปท่องคำว่า รูปธรรม นามธรรม แต่สามารถเข้าใจว่า สภาพที่มี ที่ไม่ใช่สภาพรู้นั้น จะใช้คำว่า “รูปธรรม” หรือไม่ใช่ ลักษณะนั้นก็เป็นสภาพที่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้ เมื่อใช้คำ ก็ต้องหมายความให้ตรงให้ถูกต้อง

    ผู้ฟัง ก็ทราบว่า จิตเห็นเขาก็รู้สีที่ปรากฏทางตา

    ท่านอาจารย์ กำลังเห็นทำหน้าที่เห็น ไม่ใช่หน้าที่อื่น จิตเกิดขึ้นแต่ละขณะทำกิจของจิตนั้นๆ ไม่มีเรา

    ผู้ฟัง จิตได้ยินรู้เสียง กายวิญญาณรู้กระทบสัมผัส

    ท่านอาจารย์ จิตเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่แล้วก็ดับไปๆ ไม่ยั่งยืน ไม่เป็นของใคร มีปัจจัยก็เกิดขึ้นทำกิจตามภาวะความเป็นธาตุนั้นๆ ซึ่งเป็นอย่างนั้นแล้วก็ดับ

    ผู้ฟัง คือถามท่านอาจารย์เรื่องนี้เมื่อไรก็จะจบลงที่ว่า ยากมาก ต้องฟังบ่อยๆ ฟังไปอีก

    ท่านอาจารย์ นี่ขั้นเพียง ๒ คำ ใช่ไหม นามธรรม รูปธรรม แต่หนทางที่จะรู้ความจริง จะละเอียด และลึกซึ้ง และเห็นยากอีกแค่ไหน แต่มีหนทางแน่นอน

    ผู้ฟัง จะเรียนถามท่านอาจารย์ ๒ ข้อ ข้อเเรก คือ สภาพธรรมที่ปรากฏ บางขณะสิ่งที่ปรากฏ เช่นกลิ่นที่ปรากฏอยู่ในสถานที่เดียวกัน ปรากฏกับบุคคลอื่น แต่กับตัวบุคคลมีความต่างกันในสถานที่เดียวกัน กราบเรียนถามท่านอาจารย์ อันนี้เป็น สิ่งที่ความเป็นอนัตตาปรากฏ หรือ ซึ่งมีความต่างกัน

    ท่านอาจารย์ ก็ถูกต้อง

    ผู้ฟัง ถ้าไม่ปรากฏก็คือไม่ใช่สภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ พูดถึงอะไรที่ไม่ปรากฏ

    ผู้ฟัง กลิ่น

    ท่านอาจารย์ กลิ่นปรากฏ มีจริงๆ เมื่อมีสภาพที่รู้กลิ่น ซึ่งเกิดแล้วยังไม่ดับ เฉพาะกลิ่นนั้นเท่านั้น ไม่ใช่กลิ่นอื่น

    ผู้ฟัง แล้วเป็นสภาพเฉพาะบุคคลใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีสภาพที่รู้กลิ่น จะมีบุคคลใดได้ไหม แต่เพราะธาตุรู้เกิดขึ้นรู้กลิ่น ด้วยความไม่รู้ว่าเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ความไม่รู้นั้นก็ทำให้ยึดถือว่า เป็นเรากำลังรู้กลิ่น

    ผู้ฟัง ในสถานที่เดียวกัน กลิ่นบางกลิ่นรู้ได้ คือ จิต ๑ ขณะเกิดขึ้นก็รู้กลิ่นนั้น

    ท่านอาจารย์ แน่นอน

    ผู้ฟัง ในขณะเดียวกัน นี่พูดในสถานการณ์ที่ยังมีบุคคล ตัวตนอยู่ ว่าในบุคคลอื่นก็ไม่ได้กลิ่นๆ นี้ มีบุคคลคนเดียวที่ได้กลิ่นนี้

    ท่านอาจารย์ ถ้าเอาชื่อออก มีเห็น เมื่อมีปัจจัย เห็นจึงเกิดขึ้น มีได้ยิน เมื่อมีปัจจัย ได้ยินจึงเกิดขึ้น เมื่อมีปัจจัยจิตได้กลิ่นก็เกิดขึ้นได้กลิ่น เท่านั้นเอง นี่คือธรรมทั้งหมดเลย เอาชื่อออกหมด เอาบ้านเรือนออกหมด เอาทุกอย่างออกหมด ก็มีธาตุที่กำลังรู้กลิ่น กำลังรู้กลิ่นในประเทศไทย หรือไม่ คิดเองใช่ไหม แต่ธาตุรู้กลิ่นเกิดแล้วดับ จะอยู่ที่ไหนก็ตาม ในสวรรค์มีกลิ่นไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ มี ขณะที่ธาตุรู้กลิ่นเกิดขึ้น อยู่ในสวรรค์ หรือไม่ ถ้าไม่คิดก็ไม่มีอะไร เป็นธาตุรู้เกิดแล้วก็ดับไป เหมือนกันหมดเลยไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน นี่คือธรรม

    ผู้ฟัง สภาพธรรมปรากฏในชีวิตประจำวัน คือ เห็น แล้วก็มีสิ่งที่ปรากฏทางตา อันนี้ชัดเจน แต่ในขณะฝันคืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ เป็นอย่างไร ฝัน

    ผู้ฟัง ก็มีสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ท่านอาจารย์ จริง หรือ แล้วจะเรียกว่า “ฝัน” ได้อย่างไร

    ผู้ฟัง ที่จะกราบเรียนถามท่านอาจารย์คือสิ่งนี้ ในขณะฝัน แม้แต่รสอาหารที่อยู่ในฝันก็เหมือนจริงมาก

    ท่านอาจารย์ แต่ไม่มีการลิ้มรสเลย

    ผู้ฟัง แต่ก็อร่อย

    ท่านอาจารย์ จำใช่ไหม ถ้ารู้ว่าสภาพธรรมเกิดดับสืบต่อเร็วสุดที่จะประมาณ เวลาที่มีการรู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใด จะเป็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็ตามแต่ แม้ดับไปแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่นแล้ว มโนทวารวิถีจิตก็เกิดขึ้นรู้สิ่งเดียวกัน แยกไม่ออกเลย เพราะความรวดเร็ว เพราะฉะนั้นเวลาที่ลิ้มรสทางชิวหาทวารดับไปแล้ว ยังอร่อยไหม แข็งขณะนี้ปรากฏทางกายทวาร สั้นมากเลยค่ะ อายุของรูปเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะนี้แสนเร็ว ดับไปแล้วมีภวังค์คั่น มโนทวารวิถีจิตก็เกิดขึ้นรู้รูปแข็งนั่นแหละสืบต่อ แยกไม่ได้ ว่าขณะนี้เป็นกายทวาร หรือมโนทวาร แล้วสงสัยอะไร

    ผู้ฟัง คือสงสัยสภาพธรรมที่เกิดตามความเป็นจริง

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องแยก กายทวารไม่ใช่มโนทวาร แต่มโนทวารสามารถที่จะรับรู้ต่อจากทางปัญจทวาร ทวารหนึ่งทวารใดทุกวาระ อย่างรวดเร็วสืบต่อ เพราะฉะนั้นถ้ามีความเข้าใจจริงๆ ว่า ทางตามีสิ่งที่กำลังปรากฏ และสัญญา (จำ) คิด หลายวาระมาก จนกระทั่งเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะฉะนั้นทันทีที่เห็นจะไม่รู้เลยว่า จิตเกิดดับหลายวาระ เพราะจำได้ทันที แต่ต้องแยกว่า ขณะใดก็ตามที่มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ไม่ใช่ขณะที่กำลังรู้ว่า สิ่งนั้นเป็นอะไร เพราะว่าทางตาก็จะมีจิตซึ่งเห็นสิ่งที่ยังไม่ดับ รูปที่ยังไม่ดับ แต่ขณะนี้ เราเห็นเป็นดอกไม้ ถูกต้องไหม ทางไหนที่ว่าเป็นดอกไม้ เพราะจำใช่ไหม ทางใจ เป็นดอกไม้ คืนนี้ฝันถึงดอกไม้ได้ เพราะความจำที่มั่นคงมาก ที่สามารถแม้ไม่เห็นก็จำรูปร่างสัณฐานได้ ปรากฏเป็นความฝัน เพราะคิด และจำในสิ่งที่เคยเห็นแล้ว และสามารถรู้ด้วยว่า ฝัน ไม่ใช่ตื่น เพราะว่าขณะที่ตื่นมีสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แม้แต่คิดนึกตามสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็ในสิ่งที่ปรากฏจริงๆ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่เมื่อคิดนึกไม่มีสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เลยทั้งสิ้น แต่เพราะความจำก็คิดถึงทุกอย่าง คิดถึงรถยนต์ได้ไหม เห็นไหม ไม่ได้เห็นเลย ฝันถึงได้ไหม ก็ได้ นั่นคือความจำที่มั่นคงในอัตตสัญญา เพราะฉะนั้นกว่าจะรู้ว่าเป็นอนัตตา แต่ละลักษณะเกิดแต่ละทาง ไม่ปะปนกันเลย เกิดทางใดก็ดับทางนั้น จึงสามารถจะละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นอัตตา หรือเป็นเรา หรือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้

    คุณสุกัญญาหายสงสัยเรื่องฝัน หรือยัง ตอนนี้ไม่ฝัน แต่คิดเรื่องอื่นได้ไหม

    ผู้ฟัง ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่เห็นก็คิดได้ใช่ไหม แต่ขณะนี้มีสภาพที่ปรากฏทางตา หรือทางหู สลับ ทางกายสลับ แต่ในฝัน ไม่มีการรู้อารมณ์ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่ทางใจก็คิดถึงสิ่งที่จำได้

    ผู้ฟัง จริงๆ อยากจะกราบเรียนถามท่านอาจารย์ถึงเรื่องความคิดนึก แต่ว่าถามทีไรก็ไม่ประจักษ์แจ้งสักที

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่คุณสุกัญญา แต่เป็นปัญญาที่สามารถประจักษ์แจ้งระดับนั้นได้

    ผู้ฟัง ก็เลยมีความรู้สึกว่า ความคิดนึกน่าจะเทียบเคียงได้กับความฝัน ก็เลยยกความฝันขึ้นมากราบเรียนถามท่านอาจารย์ว่า ลักษณะของความฝันก็เหมือนกับความไม่จริง ซึ่งในชีวิตประจำวัน ความคิดนึกก็เหมือนกับความไม่จริงเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ คุณสุกัญญาคิดถึงรถยนต์ จริงไหม รถยนต์จริงไหม ที่จะว่าฝันไม่จริง ยังคงเป็นรถยนต์ทั้งในฝัน และไม่ได้ฝัน เพราะจำว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะฉะนั้นเวลาที่เห็นแล้วจำได้ เห็นเพื่อน และรู้จักชื่อ และรู้ว่าเขานั่งอยู่ตรงไหน นี่คือขณะที่เห็น และจำทันที และเวลาที่ฝันอาจจะเห็นอย่างนั้นก็ได้ แต่ว่าไม่มีสิ่งที่ปรากฏทางตา จึงสามารถรู้ได้ว่า ขณะไหนฝัน และขณะไหนไม่ฝัน

    ผู้ฟัง อย่างนั้นในวันหนึ่งๆ ถ้าเรายึดถือความคิดของเรา ความคิดนึกไม่ใช่สิ่งที่จริงเลยใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ คิดจริง

    ผู้ฟัง แต่เรื่องราวที่คิด

    ท่านอาจารย์ เกิดแล้วดับไหม

    ผู้ฟัง คิดนี่เกิดแล้วดับ แต่เรื่องราวที่คิด จริงๆ แล้วเป็นสภาพไม่เหมือนสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจึงต้องเข้าใจสัญญาขันธ์ มิฉะนั้นก็จะยึดสัญญานั้นว่าเป็นเรา ขณะที่เห็น และขณะที่เคยจำได้ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นคนนั้นคนนี้ ขณะนั้นเป็นอัตตสัญญา ไม่ได้จำความเป็นสภาพที่เพียงปรากฏ ซึ่งเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้นการที่จะเข้าใจว่า สิ่งที่ปรากฏขณะนี้เป็นธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย ยังไม่ถึงกาละที่จะจำอย่างนั้น เพราะเหตุว่าเคยจำมาแล้วว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดมาโดยตลอด เพราะฉะนั้นถ้าเริ่มเข้าใจขึ้นทีละเล็กทีละน้อย จนกระทั่งถึงสามารถรู้จักสัญญาได้ว่า ขณะที่เห็นก็เป็นขณะหนึ่ง และขณะที่จำ ขณะนั้นก็ไม่ใช่ขณะที่เห็น ขณะที่จำว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด มิฉะนั้นแล้วการเป็นพระอริยบุคคลก็จะไม่สามารถละสัญญาวิปลาสในความไม่เที่ยง เข้าใจว่าเที่ยง ในความไม่ใช่ตัวตนว่าเป็นตัวตน ในความที่ไม่งามว่างาม ในความที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข หมดเลยไม่มีเหลือ

    ผู้ฟัง ไม่ค่อยเข้าใจเรื่องเสียงที่ว่ามีสมุฏฐานให้เกิด ๒ อย่าง จากอุตุ จากจิต ถ้าจากจิตก็หมายความว่าเสียงนั้นเป็นเสียงจากสิ่งที่มีชีวิต แต่ฟังเทปบอกว่า เสียงที่เกิดจากจิต สมมติท่านอาจารย์พูด หรือหนูพูดให้ท่านอาจารย์ได้ยิน คือ คนที่ได้ยิน ไม่ได้ยินเสียงที่เกิดจากจิต แต่รูปเป็นอุตุชรูปแล้ว ฟังไม่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ เสียงมีอายุเท่าไร

    ผู้ฟัง ๑๗ ขณะจิต

    ท่านอาจารย์ เร็วแค่ไหน

    ผู้ฟัง เร็วมาก

    ท่านอาจารย์ เมื่อพูดเสร็จก็ดับเลย หรือไม่

    ผู้ฟัง พูดเสร็จก็ดับเลย

    ท่านอาจารย์ เสียงที่เกิดสืบต่อก็จากอุตุ เคยฟังวิทยุ เคยดูโทรทัศน์ ไม่เห็นสงสัยเลย เสียงมาจากไหน มาได้อย่างไร แต่มาถึงตรงนี้สงสัย

    ผู้ฟัง แล้วปุถุชนอย่างพวกเราที่มาสนใจฟังธรรม จะมีธรรมเครื่องอยู่อะไรที่ทำให้เข้าใจพระธรรมมากขึ้น มีปัญญามากขึ้น

    ท่านอาจารย์ ก็อยู่ตามความเป็นจริงทุกวัน ตามเหตุตามปัจจัย เราไม่สามารถรู้ขณะต่อไปได้เลยว่า อะไรจะเกิดขึ้น ถึงจะพูดอย่างไรๆ แต่สภาพธรรมจริงๆ ที่จะเกิดแต่ละขณะ มีปัจจัยที่ทำให้เกิดเป็นอย่างนั้น โดยที่ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ล่วงหน้าว่า ขณะต่อไปสภาพธรรมอะไรจะเกิด

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นที่ท่านอาจารย์บอกว่า อยู่อย่างชีวิตประจำวันทุกวัน วนเวียนอยู่ ๓ อย่าง วิบาก กรรม กิเลส อยู่ในวัฏฏะ คำว่า ในชีวิตประจำวัน ของคนที่เป็นปุถุชน ตื่นมาก็ดูแลร่างกาย ถ้าเสาร์อาทิตย์ก็มาฟังธรรม วันธรรมดาก็ไปทำธุระเท่าที่มี ซึ่งเป็นชีวิตประจำวันที่เป็นธรรม อภิธรรม จะมีชีวิตประจำวันที่ต่างไปจากนี้ หรือไม่


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 168
    10 ม.ค. 2567