พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 375


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๗๕

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๐


    ท่านอาจารย์ ด้วยเหตุนี้ถ้าศึกษาวิปัสสนาญาณอย่างละเอียด จะเห็นคำที่แสดงความชัดเจนเพิ่มขึ้น เช่น นามรูปปริจเฉทญาณ ปัจจยปริคหญาณ สัมมสนญาณ ญาณทั้งหมดรู้แจ้งสภาพธรรมจึงเป็นวิปัสสนาญาณ แต่เป็นตรุณวิปัสสนา แสดงความต่างของขั้นตรุณกับขั้นที่ไม่ใช่ตรุณ และคนที่เพียงฟังแล้วยังมีความเป็นเราอย่างมากๆ เลย และอยากจะรู้ก็กั้นทันที ไม่ไปสู่การรู้ความจริง หรือความเข้าใจอย่างมั่นคงว่า ธรรมเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้นแต่ละคำที่ฟังแล้ว คือ ฟังซ้ำอีก เพื่อจะหยั่งลงไปถึงการที่จะเป็นอโมหมูล คือ ปัญญาเจตสิกซึ่งสามารถจะเจริญ และเข้าใจความจริงของสิ่งที่ปรากฏ แทนโมหมูล ความไม่รู้ซึ่งมีมานานแสนนาน และยังคงมีต่อไป ถ้าปัญญาไม่เจริญขึ้นก็ไม่สามารถรู้ความจริงของสภาพธรรม ถ้าไม่รู้ความจริง จะเห็นว่าเป็นภาระไหม

    อ.อรรณพ ไม่เห็น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นปัญญาจึงมีหลายระดับขั้นมาก

    อ.อรรณพ เกี่ยวเนื่องไปถึงข้อความเมื่อสักครู่ที่ว่า "วันคืนคือสิ่งที่มิใช่ประโยชน์เป็นไป" จริงๆ แล้วประโยชน์ก็มีหลายระดับ เพราะว่าในชีวิตประจำวันก็จะมีการทำประโยชน์ในการงาน สังคม แต่ที่ว่า “วันคืนมิใช่ประโยชน์เป็นไป” จะเป็นการปฏิเสธประโยชน์ที่ทำในปัจจุบัน หรือไม่

    ท่านอาจารย์ เพราะเป็นเรา เมื่อยังเป็นเรา เป็นประโยชน์ไหม ไม่ว่าจะทำอะไรทั้งสิ้น

    อ.อรรณพ เมื่อเป็นเราจะเป็นประโยชน์ไหม

    ท่านอาจารย์ ยังเป็นเรา เป็นประโยชน์ไหม ประโยชน์มี แต่ไม่ใช่ประโยชน์ที่แท้จริง ประโยชน์ของเรา และของเขา ของคนอื่น ของโน่นของนี่ แต่ว่าเป็นประโยชน์จริงๆ หรือไม่ กับใคร ก็เป็นความไม่รู้ในสังสารวัฏนั่นเอง ถึงจะเป็นประโยชน์อย่างไร ก็เป็นความไม่รู้ และความไม่รู้จริงๆ เป็นประโยชน์ หรือไม่

    อ.อรรณพ ความไม่รู้ไม่เป็นประโยชน์

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นถ้าเป็นอรูปพรหมภูมิ กุศลสูงสุด เหนือขั้นทาน ขั้นศีล ขั้นความสงบขั้นรูปฌาน เป็นประโยชน์ หรือไม่ในสังสารวัฏ

    อ.อรรณพ ก็เป็นกุศลที่แนบแน่น ทำให้ไม่ต้องอยู่ในภพภูมิที่ลำบากเดือดร้อน

    ท่านอาจารย์ เกิดแล้วดับ เกิดแล้วดับ เกิดแล้วดับ เกิดแล้วดับ ห้ามการเกิดดับไม่ได้ เป็นประโยชน์ หรือไม่

    อ.อรรณพ เพราะฉะนั้น คนที่จะกล่าว ต้องปัญญาขั้นไหน แม้แต่เพียงขั้นฟัง ถ้าสามารถที่จะมีความเข้าใจ ย่อมน้อมไปสู่การเข้าใจถูกในสภาพธรรมที่ปรากฏจริงๆ เพิ่มขึ้น โดยมากเราหวังปัญญาว่า ปัญญาจะมาอย่างไร จะเกิดอย่างไร จะมากเมื่อไร จะฟังเท่าไร หรืออะไรอย่างนี้ แต่ไม่ได้รู้เลยว่า แต่ละขณะที่เข้าใจ เป็นสังขารขันธ์ ทุกขณะสืบต่อกันไม่ได้หายไปไหนเลย ค่อยๆ น้อมไปสู่ความเห็นที่ถูกต้อง จนกระทั่งสามารถเห็นความไม่เป็นประโยชน์ของการเกิด แต่กว่าจะถึงอย่างนั้นก็ต้องเป็นปัญญามีชีวิตเป็นไป แล้วก็เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง จนกว่าปัญญาจะเจริญจากปุถุชนสู่ความเป็นพระโสดาบัน จากพระโสดาบัน ไม่ใช่เท่านั้นเลย ไม่ใช่เพียงทรงแสดงธรรมเพื่อให้เป็นเพียงพระโสดาบันเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อให้ถึงความเป็นพระสกทาคามีเท่านั้น แต่ถึงความเป็นพระอรหันต์ มิฉะนั้นการเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่ได้เกื้อกูลโดยแท้จริง ถ้าไม่สามารถดับสังสารวัฏได้ อย่างที่พระองค์ได้บำเพ็ญแล้ว

    อ.อรรณพ ก็หมายความว่า สิ่งที่เป็นประโยชน์จริงๆ ต้องไม่เกิดดับ

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่เป็นประโยชน์จริงๆ คือ การรู้แจ้ง เห็นโทษของสภาพธรรมที่เกิดดับ แต่การเห็นโทษจะเห็นระดับไหน ถ้ายังไม่เห็นโทษของการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน โทษอื่นไม่เห็น เพราะแม้แต่โทษที่จะเห็นว่า ไม่ใช่เรา ก็หลงยึดถือว่าเป็นเรา ลองใช้คำว่า “ฉลาด” กับ “ไม่ฉลาด” นี่แค่ไหน ไม่ใช่เราเลย ก็หลงยึดถือมานานแสนนานในสิ่งที่เพียงเกิดขึ้นแล้วหมดไปว่า เป็นเรา เพราะฉะนั้นปัญญาก็ต้องตามลำดับด้วย

    อ.วิชัย จะตรงกับที่ท่านอาจารย์เคยแสดงในเรื่องปฏิสัมภิทามรรค เรื่องของจริยา ๓ คือ อัญญาณจริยา ญาณจริยา วิญญาณจริยา คือถ้าความเป็นไปของอัญญาณ คืออกุศลต่างๆ เหมือนกับก็เป็นไปอยู่ จนกว่าจะมีญาณจริยา คือขณะที่ปัญญาประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรม ถ้ายังไม่ถึงการประจักษ์แจ้ง ก็เป็นการเป็นไปของขันธ์ที่เป็นไปเรื่อยๆ เป็นการสืบต่อกัน

    ท่านอาจารย์ แล้วยังได้แสดงธรรมขั้นต่ำ ขั้นกลาง ขั้นสูง ขั้นต่ำคืออกุศล ขั้นกลางนี่ทั้งหมดเลยที่เราเคยเข้าใจว่าเป็นกุศล ก็คือขั้นกลาง แต่ขั้นที่รู้แจ้งแทงตลอดสถาพธรรมหมดกิเลสเป็นขั้นสูง

    ผู้ฟัง ถ้าได้ฟังน้อย ยึดอีกแล้วๆ พอฟังสิ่งที่เข้าใจ ก็อยากเก็บความเข้าใจนั้นไว้นานๆ เพราะไม่มีอะไรคลายได้ ถ้าไม่เข้าใจว่า ขณะนั้นสิ่งนั้นดับไปจริงๆ และพระธรรมก็ได้แสดงไว้ ถ้าเราเข้าใจว่า สิ่งต่างๆ ดับแล้วไม่เกิดอีกเลย โลภะติดได้ทุกอย่าง

    ท่านอาจารย์ และเห็นความไม่รู้ว่า มากแค่ไหน เวลาที่เราพูดถึงนามธรรม แค่คำว่า “นามธรรม” เหมือนเข้าใจ ไม่มีรูปใดๆ เจือปนได้เลยทั้งสิ้น ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส มองไม่เห็น แต่เกิดแล้วเป็นธาตุที่สามารถจะรู้ สามารถจำ สามารถคิด จะสุข จะทุกข์ได้ และถ้าลักษณะของธาตุนี้ปรากฏ การที่จะถึงนามรูปปริจเฉทญาณ เป็นการรู้รอบลักษณะของธรรม เพราะเหตุว่าธรรมอย่างเดียวนั้นปรากฏแก่ปัญญาทีละอย่าง จะสงสัยไหมในลักษณะของธาตุนั้น ซึ่งปรากฏชัดเจนเพียงแต่ละลักษณะ เวลาที่นามธาตุซึ่งเป็นธาตุรู้ปรากฏ ต้องตรงกับที่เคยได้ยินได้ฟังไหมว่า ไม่มีรูปใดๆ เจือปนเลยทั้งสิ้น

    เพราะฉะนั้นที่เคยเป็นทั้งโลก ไม่มี เรามีไหม ประเทศไทยมีไหม ที่ๆ เราอยู่มีไหม อะไรๆ ที่นั่นจะมีไหม ไม่มี นั่นคือการที่จะมีความเห็นถูกว่า ธรรมเป็นธรรม ไม่ใช่เพียงแต่ฟังแล้วก็เป็นธรรม ฟังแล้วก็เป็นนามธรรม แต่เวลาที่นามธรรมปรากฏต้องรู้ด้วย ต้องตรงกับจริง ไม่มีที่ใดๆ ซึ่งเป็นรูป ฉะนั้นการที่เราจะเคยยึดถือว่าเป็นเราตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า นั่งแล้วสภาพธรรมปรากฏ ก็ต้องรู้ว่า ขณะนั้นตราบใดที่ยังมีเราตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ยังเป็นเรา ไม่ใช่เป็นการปรากฏของสภาพธรรมซึ่งไม่มีอะไรอีกแล้ว นอกจากธรรมนั้นที่กำลังปรากฏ ก็จะเห็นได้ตามความเป็นจริงว่า การที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรม ต้องตรงตามที่ได้ศึกษาทุกอย่าง ไม่ได้ผิด หรือคลาดเคลื่อนจากความเข้าใจที่เคยได้ยินได้ฟัง แต่ว่าเป็นการประจักษ์แจ้ง เพราะฉะนั้นก็จะรู้ได้ว่า ไม่มีเรา ไม่มีอะไร เป็นธาตุ หรือเป็นธรรมซึ่งเกิดแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้นถ้ายังเกิดดับจะเป็นสาระไหม แล้วไม่กลับมาอีกด้วย หมดเลย

    ผู้ฟัง ไม่เป็น เพราะว่าพระธรรมแสดงหลายๆ นัยมากเลย ที่จะไม่ให้โลภะ หรือความเข้าใจผิดเข้าไปยึดอีก เข้าไปยึดอีก แม้ขั้นการฟัง

    ท่านอาจารย์ ขณะที่ธาตุรู้ปรากฏ มีใครนั่งอยู่ หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ จะเข้าใจความหมายของ “เพิกอิริยาบถ” ไหม

    ผู้ฟัง เข้าใจ ถ้ารู้จักนามธรรม

    ท่านอาจารย์ ถ้ายังมีอิริยาบถอยู่ ก็เรานั่ง

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์แสดงพยัญชนะที่ชัดเจนขึ้นเกี่ยวกับอนัตตสัญญา ถ้าไม่ใช่เป็นวิปัสสนาญาณที่รู้ทีละอย่าง ซึ่งต่างจากผู้ที่เริ่มเจริญเป็นสติปัฏฐานที่ยังน้อยมาก ปะปนกัน แล้วก็ยังไตร่ตรองอยู่ ก็ยังไม่มีทางเป็นอนัตตสัญญา

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นฟังธรรมนั้นเพื่อเข้าใจเท่านั้น แล้วปัญญาก็จะเจริญขึ้นตามลำดับขั้น ไม่ต้องกังวลอะไรเลยทั้งสิ้น

    ผู้ฟัง ขอให้ท่านอาจารย์อธิบายคำว่า “อนัตตสัญญา”

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้คุณแก้วเห็นอะไร

    ผู้ฟัง เห็นท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ นั้นคือ อัตตสัญญา หรืออนัตตสัญญา

    ผู้ฟัง แต่ปกติอย่างในชีวิตประจำวัน จากการที่เราศึกษาธรรมมาแล้ว บางสิ่งบางอย่างก็ทำให้เราคิดขึ้นมาได้ว่า นี่แหละคือความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมนั้นๆ

    ท่านอาจารย์ แต่ยังไม่ได้ประจักษ์อนัตตลักษณะเลย ไม่ใช่เพียงพูดว่า อนัตตา แต่ "อนัตตลักษณะ" ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นอนัตตาอย่างที่กล่าวถึงเมื่อสักครู่นี้ ลักษณะของนามธรรมไม่ได้ปะปนกับรูปธรรมเลย แยกขาดจากกัน ธาตุรู้เกิดเมื่อไรไม่ต้องไปคำนึงถึงรูป เพราะว่าเป็นธาตุที่กำลังเป็นสภาพรู้ เพราะฉะนั้นจะไม่มีความสงสัยในความเป็นอรูปพรหมภูมิ ไม่ต้องมีรูปเลย เพราะว่าธาตุรู้มีปัจจัยเกิดก็เกิด แล้วแต่ว่าจะเกิดที่ไหน เกิดในภูมิที่มีรูป หรือไม่มีรูป ก็แล้วแต่ แต่รูปธรรมไม่ใช่นามธรรมโดยประการทั้งปวง เพราะว่ารูปธรรมไม่สามารถรู้อะไรได้เลย ฉันใด นามธรรมก็ไม่ได้เกี่ยวกับที่เป็นรูปหนึ่งรูปใดเลย แม้ว่าจะเกิดพร้อมกัน หรืออาศัยกันเกิดก็ตามแต่ แต่ก็เป็นธาตุคนละอย่าง คุณแก้วฟังอย่างนี้ เป็นอนัตตสัญญา หรือยัง หรือเพียงแต่จำคำนี้ไว้ โดยสภาพที่เป็นอนัตตาไม่ได้ปรากฏให้จำได้

    ผู้ฟัง สมมติว่า อะไรที่ปรากฏ มันก็เหมือนกับความจำได้ในสภาพตรงนั้น แต่ไม่ใช่ลักษณะ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ การฟังธรรม ต้องไม่ลืม ฟังเพื่อเข้าใจ ถ้าสงสัยก็ฟังต่อไปจนกระทั่งค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    ผู้ฟัง เมื่อเราไม่รู้เคยรู้จักอนัตตสัญญา ปกติทุกคนก็จะเป็นอัตตสัญญาชัดเจน ทีนี้จะเปลี่ยนจากอัตตสัญญาเป็นอนัตตสัญญา หมายความว่าต้องอบรมปัญญาขั้นเข้าใจขั้นฟังว่า จริงๆ แล้วทุกอย่างเป็นอนัตตา แต่เมื่อปัญญายังไม่พอ ก็จะมีความจำว่าเป็นอัตตสัญญา เพราะฉะนั้นเราต้องฟังให้เข้าใจมั่นคงในขั้นฟังจริงๆ ว่า เป็นอนัตตสัญญา ปัญญาที่เป็นอนัตตสัญญาจริงๆ ถึงจะเกิดได้

    ท่านอาจารย์ แม้แต่คำว่า “อัตตสัญญา” ก็เป็นคำที่เราใช้ แต่เราเข้าใจคำนี้ในภาษาของเรา ในชีวิตจริงๆ เมื่อไร

    ผู้ฟัง ก็เมื่อจำว่า ทุกอย่างเป็นสิ่งของ ตัวตน ทั้งๆ ที่จริงๆ เขาไม่ได้เป็นอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นวันนี้จะมีทางจะเป็นอนัตตสัญญาไหม

    ผู้ฟัง ไม่มีทาง

    ท่านอาจารย์ จนกว่าวิปัสสนาญาณจะเกิดเมื่อไร เป็นความรู้ตามลำดับขั้น โดยไม่ต้องไปกังวลถึงชื่อ อย่างขณะนี้เห็นเป็นอะไร เราก็บอกนั่นเป็นกล้วยไม้ ไม่ต้องใช้คำว่า อัตตสัญญา แต่เมื่อใช้ สัญญาว่าเป็นอะไร ว่าเป็นกล้วยไม้ มันก็เป็นสิ่งที่จำว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นจากการไม่รู้ความจริงในลักษณะที่เป็นอนัตตา แต่ว่าจำด้วยความไม่รู้ในสิ่งซึ่งแท้ที่จริงเกิดดับอย่างเร็วมาก ก็เลยมีความจำว่า สิ่งนั้นเที่ยง จะได้ยินได้ฟังว่า เป็นอนัตตาเกิดดับก็คือการสะสมว่ามีปัญญาอีกระดับหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่เพียงเข้าใจสิ่งที่ปรากฏ และการที่จะเข้าใจสิ่งที่ปรากฏ ก็เป็นสิ่งที่ละเอียดด้วย ข้ามไม่ได้เลย แม้แต่คำเดียว อย่างในพระไตรปิฎกจะพูดถึง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สภาพธรรมที่ปรากฏแต่ละทาง สลับกันไม่ได้ ใช่ไหมคะ ถ้าพูดถึงจักขุวิญญาณเป็นธาตุที่รู้โดยอาศัยจักขุ คือ เห็น เห็นอะไร เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ แค่นี้ข้าม หรือยัง

    วันนี้กำลังรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ด้วยความค่อยๆ เข้าใจขึ้น หรือไม่ว่า เพียงปรากฏเท่านั้นเอง ไม่ใช่ของใครด้วย "เพียงปรากฏ" เกิดปรากฏแล้วก็หมดไป แล้วต้องปรากฏกับจักขุวิญญาณด้วย เราอยู่ที่ไหน เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปติดคำหนึ่งคำใด แต่ให้รู้ตามความเป็นจริงว่า ปัญญาขั้นฟังเข้าใจ แต่ก็ต้องสามารถถึงกาละที่ประจักษ์แจ้งได้ เพราะเหตุว่าเป็นสัจธรรม แล้วก็เห็นประโยชน์ด้วย ชาตินี้จะเอาประโยชน์อะไรดี เอาทรัพย์สมบัติดีไหม

    ผู้ฟัง ไม่ดี ก็ฟังธรรมให้เข้าใจขึ้นเรื่อยๆ

    ท่านอาจารย์ มีทรัพย์สมบัติ มียศถาบรรดาศักดิ์ มีตำแหน่ง มีเพื่อนฝูง มีมิตรสหายเยอะแยะ แต่ไม่เข้าใจธรรม ชาตินี้ทั้งชาติเป็นอย่างไร

    ผู้ฟัง เป็นโมฆบุรุษ

    ท่านอาจารย์ สะสมความติดข้อง มีโมหมูล โลภมูล โทสมูล ส่วนอโมหมูลไม่มี แล้วหวังอะไรที่จะรู้อริยสัจธรรม

    อ.ธิดารัตน์ ท่านอาจารย์กล่าวถึงว่าจะต้องเป็นปัญญาระดับวิปัสสนา ที่จะมีลักษณะของความเป็นอนัตตา ซึ่งเป็นอนัตตลักษณะจริงๆ อย่างนี้ก็หมายความว่า แม้กระทั่งวิปัสสนาญาณขั้นต้นๆ ที่ยังไม่มีลักษณะของไตรลักษณะปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นวิปัสสนาญาณแล้ว ลักษณะของสภาพธรรมต้องปรากฏโดยความเป็นอนัตตา จึงจะเป็นวิปัสสนาได้

    อ.ธิดารัตน์ แล้วหมายถึงว่า แม้นามรูปปริจเฉทญาณยังไม่รู้ลักษณะที่เป็นอนัตตลักษณะจริงๆ แต่ปัญญาในระดับนั้น

    ท่านอาจารย์ ต้องรู้ เพราะฉะนั้น อนัตตา หมายความถึง ธาตุ หรือธรรมซึ่งไม่ใช่ตัวตน

    อ.ธิดารัตน์ แล้ววิปัสสนาญาณที่มีไตรลักษณ์เป็นอารมณ์ก็จะชัดเจน

    ท่านอาจารย์ ก็แล้วแต่ว่าจะถึงระดับขั้นไหนของวิปัสสนาญาณ

    อ.ธิดารัตน์ ขั้นที่ ๓ สัมมสนญาณก็เริ่ม

    ท่านอาจารย์ มีความต่างกันไหมของญาณที่ ๒

    อ.ธิดารัตน์ หมายความว่าเข้าใจเพิ่มขึ้น

    ท่านอาจารย์ ประจักษ์แจ้งเพราะปัญญานั้นได้อบรมจนสามารถจะละคลายเพิ่มขึ้น เพราะว่าจริงๆ แล้ว ทุกคนฟังเข้าใจ แน่ๆ ตอนนี้ ว่าสภาพธรรมเกิดดับ ใช่ไหม โดยเหตุผล โดยประการทั้งปวงที่ได้ฟังมา ก็รู้ว่า ขณะนี้สภาพธรรมเกิดดับ แล้วก็จริงๆ ด้วย นี่เห็น นั่นได้ยิน นี่คิดนึก ใช่ไหม ก็เป็นเครื่องยืนยันอยู่แล้วว่า สภาพธรรมเกิดดับ แต่ไม่ประจักษ์การเกิดดับ นี่คือความต่างกันของปัญญาขั้นฟัง ปัญญาขั้นคิด กับปัญญาที่ได้อบรมจนกระทั่งประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งต้องตรงตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้นโดยขั้นฟัง ไม่ปฏิเสธเลยว่า สภาพธรรมเกิดดับ แต่ไม่ประจักษ์

    เพราะฉะนั้นวิปัสสนาญาณแต่ละขั้นก็เช่นเดียวกัน สภาพธรรมปรากฏโดยความเป็นธาตุแต่ละลักษณะ แต่ประจักษ์การเกิดดับในญาณแรกได้ไหม ในเมื่อเพิ่งจะเห็นความเป็นอนัตตา ที่ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคลเลย แค่นั้นก็ไม่เคยเห็นมาก่อน ใช่ไหม แล้วปัญญายังไม่ถึงขั้นที่สามารถแทงตลอดการเกิดของสภาพธรรมอย่างหนึ่ง แล้วดับไป แล้วสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งจึงเกิด เพราะว่าปัญญาต้องมีการละคลายการที่เคยยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนอย่างมาก

    เพราะฉะนั้นปัจจยปริคหญาณ ใช่คำว่า “ฐิติญาณ” กำกับ เป็นปัญญาที่รู้ความเกิด จากการที่สภาพธรรมปรากฏทีละอย่าง ให้รู้ความเป็นอนัตตา แต่ก็ไม่ได้คำนึงถึงการเกิดของสภาพธรรมนั้นๆ เลย จนกระทั่งมีความเข้าใจ เพราะเหตุว่าเมื่อวิปัสสนาญาณเกิดแล้ว ความรู้ของผู้ที่ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมต่างกับความที่เคยเข้าใจขั้นฟัง และผู้ที่ยังไม่ประจักษ์แจ้ง จึงมีคำว่า “ปริญญา” ญาตปริญญา คือ ความรู้รอบในลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดจากวิปัสสนาญาณ เมื่อรู้แล้วจะลืมไหม ฉะนั้นความรู้ของผู้ที่สามารถที่จะมีอนัตตสัญญา กับผู้ที่เพียงฟังเรื่องอนัตตสัญญาก็ต้องต่างกัน

    เพราะฉะนั้นแม้แต่เริ่มจากการเพียงฟัง สติสัมปชัญญะไม่ได้เกิดเลย ฟังแล้วฟังอีกก็รู้ว่า เป็นธรรม ทางตาก็เป็นธรรม ทางหูก็เป็นธรรม คิดนึกก็เป็นธรรม ก็นี่ขั้นพื้นฐาน ใช่ไหม ที่กว่าจะเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งยิ่งขึ้น เพราะอาศัยการฟังเข้าใจขึ้น จนกว่าสติสัมปชัญญะจะเกิด ผู้นั้นรู้ว่า ขณะนั้นไม่หลงลืม เพราะสติกำลังรู้ลักษณะ เช่นแข็งเราก็พูดไป มีเห็น มีได้ยิน มีได้กลิ่น มีลิ้มรส มีรู้สิ่งที่กระทบปรากฏทางกาย ขณะกำลังได้ยินอย่างนี้ มีขณะไหนที่กำลังรู้ลักษณะแข็ง มี หรือไม่มี ถ้ามี ไม่ใช่เรา สติรู้ เกิดรู้ตรงนั้น ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิด แม้ลักษณะนั้นมีก็ผ่านไป เหมือนขณะนี้ สิ่งที่ปรากฏทางตามีก็ไม่รู้ ก็ผ่านไปอยู่เรื่อยๆ นี่คือความไม่รู้ เพราะฉะนั้นกว่าจะรู้ จนสามารถจะรู้ว่า ไม่มีใครบันดาลได้เลย สภาพธรรมทั้งหมดเริ่มคลายการที่จะทำ การที่จงใจอะไรทั้งหมด เพราะรู้ว่าเป็นธรรมซึ่งเกิดเมื่อมีเหตุ ถ้าไม่มีเหตุที่จะทำให้ธรรมนั้นเกิด ไม่มีทางเลยที่จะเกิดขึ้นมาได้

    เพราะฉะนั้นความใส่ใจก็มีความเข้าใจชัดเจนเพิ่มขึ้น เพื่อคลายการที่ไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่ขณะนี้เกิดแล้ว แม้ว่ายังไม่ได้มีการรู้ความเกิดขึ้นก็ตาม แต่ก็เป็นการรู้ความจริงเป็นพื้นฐานที่จะทำให้ไม่ไปทำอะไร เพราะเกิดแล้วทั้งนั้น คิดว่าจะทำ (คิด) ก็เกิดแล้วดับแล้ว (จะ) เกิดแล้วดับแล้ว (ทำ) เกิดเเล้วดับเเล้ว ทุกอย่างเป็นธรรมที่เกิดแล้วทั้งหมด แต่ก็ยังไม่ถึงกาละที่ประจักษ์การเกิดดับ เพราะฉะนั้นวิปัสสนาญาณจึงต้องเจริญขึ้นตามลำดับ กว่าจะสามารถดับความยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตนได้ เพราะลึก และเหนียว แน่น มั่นคง เหมือนต้นไม้ต้นใหญ่ กว่าจะทำลายได้ ก็ต้องอาศัยปัญญาที่รู้จริงๆ

    อ.ธิดารัตน์ หมายความว่าถ้าเป็นปัญญาระดับที่เป็นวิปัสสนาญาณ แม้กระทั่งขั้นที่ ๑ คือ ความชัดเจนที่สามารถแยกขาดนามธรรมกับรูปธรรม คือ ความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม เขามีปรากฏกับปัญญาอยู่แล้ว

    ท่านอาจารย์ รู้เลยว่า ขณะไหนเป็นวิปัสสนาญาณ ขณะไหนไม่ใช่

    อ.ธิดารัตน์ และถ้าเป็นวิปัสสนาญาณขั้นที่แม้กระทั่งสัมมสนญาณที่เห็นความเกิดดับอย่างรวดเร็ว หมายถึงว่า ตอนนั้นไม่ได้รู้แค่ความเป็นอนัตตา ยังเห็นความไม่เที่ยงที่เกิดแล้วดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วด้วย จึงรู้ลักษณะที่เป็นไตรลักษณะ

    ท่านอาจารย์ ธรรมทั้งหมดที่ทรงแสดงเพื่อละ ละความไม่รู้ บางคนอาจจะเข้าใจว่า ฉลาดมาก มีปัญญามาก จริง หรือไม่ ในเมื่อไม่รู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ จะชื่อว่า ฉลาด และมีปัญญาได้อย่างไร รู้อื่น รู้เพียงชื่อ และเรื่องจากความคิดนึก แต่สภาพธรรมจริงๆ ทั้งๆ ที่ปรากฏก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า การที่เราจะเข้าใจธรรมจริงๆ เป็นเรื่องที่อาศัยการฟังเข้าใจตามลำดับขั้น ขณะนี้ก็มีความเข้าใจเรื่องราวของสภาพธรรม เพราะมีจริงๆ คนตาบอดก็ไม่เห็น ไม่มีปัจจัยที่จิตเห็นจะเกิดขึ้น ก็ฟังไปถึงความละเอียดต่างๆ แต่นั่นก็ไม่ใช่วิปัสสนาญาณ เพราะเหตุว่าจะไปหวัง รอวิปัสสนาญาณได้ไหม เพราะเป็นเรื่องละ อยากจะรู้เมื่อไร ปิดกั้นทันที จะทำเมื่อไร ปิดกั้นทันที เพราะอะไร โพธิปักขิยธรรม ธรรมที่เป็นฝ่ายของการตรัสรู้เจริญ เป็นสิ่งที่อบรมเจริญ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ใครจะไปทำให้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นสติจะเจริญ หรือเราจะไปทำให้สติเกิดเจริญ ผิดแล้วเห็นไหม ไม่มีความเข้าใจเลยว่า แม้สัมมาสติ ซึ่งเป็นสภาพที่สามารถเกิดรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏได้แน่นอน ต้องอาศัยการฟังเข้าใจ แล้วรู้ว่า บังคับบัญชาไม่ได้ ขันติอดทนไหม สัมมาสติ บังคับไม่ได้เลย

    ผู้ฟัง ต้องอดทน

    ท่านอาจารย์ พออดทน ก็เมื่อไรจะรู้ นั่นคือไม่อดทนแล้ว


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 168
    10 ม.ค. 2567