พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 391


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๙๑

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๐


    ท่านอาจารย์ ขณะนี้ไม่รู้ว่า อวิชชาเกิดแล้ว หลังจากที่เห็นดับไป เกิดความติดข้องแล้ว หรือเกิดความขุ่นเคืองใจซึ่งเป็นอกุศลแล้วไม่รู้ เพราะฉะนั้นเวลาที่ฟังแล้วเข้าใจ และค่อยๆ เริ่มรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ก็โดยลักษณะเดียวกัน

    ผู้ฟัง แต่ในชีวิตประจำวัน

    ท่านอาจารย์ นี่คือชีวิตประจำวัน เดี๋ยวนี้ ไม่ใช่ขณะอื่น จะไปหาชีวิตประจำวันขณะอื่นได้อย่างไร

    ผู้ฟัง ในชีวิตประจำวัน แม้แต่เห็น หรือได้ยิน หรือกายกระทบโผฏฐัพพารมณ์ทั้งหลาย ก็ไม่รู้จักว่า จริงๆ แล้วมีลักษณะของปรมัตถธรรมปรากฏ แต่ว่ากลับไปพิจารณาถึงอารมณ์ของจิตที่กระทบใจจริงๆ ในชีวิตประจำวัน แล้วก็เป็นความคิดนึกตลอดทั้งวัน

    ท่านอาจารย์ เลือกไม่ได้ เป็นอย่างนั้นใช่ไหมคะ แต่จากการฟังก็รู้ว่า ละเลยการอบรมปัญญาที่จะเห็นถูกในสภาพธรรมจริงๆ ที่กำลังปรากฏขณะนี้ทางตา เพราะฉะนั้นจากการฟังอันนี้จะค่อยๆ เป็นปัจจัยที่จะทำให้ไม่หลงลืมที่กำลังฟังแล้วมีสิ่งที่ปรากฏ แล้วก็เริ่มค่อยๆ เข้าใจ เหมือนกับอกุศลซึ่งเกิดสะสมโดยไม่รู้ทีละเล็กทีละน้อย เพราะฉะนั้นขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏ แล้วยังไม่ทันได้นึกถึงสิ่งอื่น เพราะว่าขณะนั้นขณะใดที่เริ่มรู้ลักษณะที่ปรากฏ และค่อยๆ เข้าใจ นั่นคือสติสัมปชัญญะ เพราะว่ามีสิ่งที่มีลักษณะเป็นธรรมจริงๆ ปรากฏจริงๆ แล้วกำลังรู้ตรงลักษณะนั้นจริงๆ แต่กว่าจะค่อยๆ เข้าใจขึ้นก็ให้คิดถึงอวิชชา ซึ่งไม่เคยรู้มานานแสนนาน แล้วจะให้หมดไปโดยรวดเร็ว ให้ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมทันที เป็นไปไม่ได้

    แต่ถ้าไม่มีการฟังเรื่องสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ แม้ว่าจะไม่ชัดเจนเลยที่จะรู้ว่าเป็นธรรมอย่างหนึ่ง แต่สิ่งนี้ก็มีลักษณะที่เป็นธรรม เปลี่ยนไม่ได้เลย ให้ค่อยๆ เข้าใจขึ้น จึงต้องเป็นผู้ที่อดทน จะขาดบารมีหนึ่งบารมีใดไม่ได้เลย มั่นคง เข้าใจถูกว่าขณะนี้เป็นธรรม แต่ว่าเมื่อยังไม่รู้ ก็มีการระลึก หรือกำลังรู้ตรงลักษณะของธรรมเป็นปกติอย่างนี้ แล้วค่อยๆ เข้าใจขึ้นทีละเล็กทีละน้อยจริงๆ แค่นี้จะพ้นจากหนทางผิด ซึ่งพ้นยาก เพราะว่าโลภะชอบ อยากได้ผล แต่ผลที่โลภะอยากได้ ไม่ใช่การรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏเลย

    ผู้ฟัง เรียนท่านอาจารย์ เมื่อคิดว่าเวลาโกรธเกิดขึ้น เราจะเจริญสติปัฏฐานโดยพิจารณาธรรมในธรรม หรือพิจารณาเวทนาในเวทนา

    ท่านอาจารย์ จะเลือกก็ผิดแล้ว ก็เป็นเราที่เลือก ไม่ใช่สติ เกิดเมื่อไร สติเป็นสภาพที่ระลึกเอง เกิดแล้วก็รู้ลักษณะหนึ่งลักษณะใด ไม่ทันจะเลือก ถ้าเป็นสติเกิดแล้วก็ต้องรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมหนึ่ง

    ผู้ฟัง ขณะนั้นโกรธก็ยังติดต่อกันตลอดเวลา ก็พิจารณาธรรมในธรรม

    ท่านอาจารย์ ไปเรียกชื่อ ธรรมในธรรม เดี๋ยวนี้เห็นตลอดเวลา หรือไม่

    ผู้ฟัง เห็น

    ท่านอาจารย์ แล้วสติจะระลึกได้ไหม เมื่อสติเกิด เมื่อสติเกิด ไม่ใช่เมื่อเรามีสติ

    ผู้ฟัง เมื่อสติเกิด

    ท่านอาจารย์ สติเป็นสภาพที่รู้ รู้ลักษณะที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง ความต่างระหว่างพิจารณาธรรมในธรรม กับพิจารณาเวทนาในเวทนา จะต่างกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เวทนาคืออะไร

    ผู้ฟัง เวทนาคือความรับรู้ว่าเป็นสุข หรือเป็นทุกข์

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ เวทนาเป็นความรู้สึก ตัวรู้สึก สภาพที่รู้สึก

    ผู้ฟัง ความรู้สึก จะเป็นสุข หรือเป็นทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์

    ท่านอาจารย์ ก็มีจริงๆ เกิดแล้วดับไหม

    ผู้ฟัง เกิดแล้วดับ แต่ก็เกิดติดต่อไปใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้สภาพธรรมเกิดแล้วดับ แล้วก็เกิดแล้วดับสืบต่ออยู่ตลอดเวลา ทีละ ๑ ขณะจิต

    ผู้ฟัง ถ้ายังไม่หายโกรธ มันก็ยังเกิดดับสืบต่ออยู่ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ แล้วเดี๋ยวนี้ หายเห็น หรือยัง

    ผู้ฟัง ยังเห็นอยู่

    ท่านอาจารย์ ก็เหมือนกัน

    ผู้ฟัง อย่างเห็นไม่ดี หรือเสียงไม่ดีกระทบ มันคือพื้นฐานทั่วๆ ไปซึ่งเข้าใจได้ แต่จริงๆ แล้วตื่นขึ้นมาแล้วคิดเอง แล้วก็โกรธเอง อย่างนี้คืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ คุณสุกัญญาคิดถึงอะไร แล้วก็โกรธ

    ผู้ฟัง คิดถึงความดีกับความไม่ดี

    ท่านอาจารย์ คิดถึงความดีแล้วโกรธอะไร

    ผู้ฟัง คิดถึงความดีที่ทำไมต้องดี แล้วคิดถึงความไม่ดีที่ทำไมต้องไม่ดี

    ท่านอาจารย์ เช่น

    ผู้ฟัง ก็มีความคิดว่า ทำไมต้องทำดี

    ท่านอาจารย์ เมื่อตื่นขึ้นมาก็คิดว่าทำไมต้องทำดี แล้วก็โกรธ

    ผู้ฟัง โกรธ ก็มีความรู้สึกเหมือนเดือดร้อน จริงๆ แล้วถ้าความโกรธไม่ได้ออกมาอย่างชัดเจน

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าไม่อยากทำความดี หรือ

    ผู้ฟัง ก็ไม่ใช่ มีความรู้สึกเหมือนกับว่า ทำไมต้องโกรธ

    ท่านอาจารย์ ที่โกรธเพราะคิดอะไร คิดเรื่องดีๆ สนุกๆ โกรธไหม บางทีนึกถึงเรื่องอะไรที่น่าขัน ตลก บางทีแค่คิดก็ยิ้มแล้ว หัวเราะแล้ว แค่คิด เพราะฉะนั้นคิดอะไรที่ทำให้โกรธ ถ้าคิดเรื่องดีๆ ก็ไม่โกรธ

    ผู้ฟัง แสดงว่าคิดเรื่องไม่ดี

    ท่านอาจารย์ คิดถึงสิ่งที่ทำให้โกรธ

    ผู้ฟัง บางครั้งก็ยังสงสัยเลยว่า มันมีทั้งความดี และความไม่ดี ตอนศึกษาใหม่ๆ ก็ไม่ได้รู้สึกอะไร

    ท่านอาจารย์ ความดีไม่ใช่ชื่อ ความไม่ดีก็ไม่ใช่ชื่อ แต่มีตัวจริงๆ เพราะฉะนั้นเวลาที่คิด คิดอะไรจึงโกรธ คงไม่โกรธเพราะตอนนี้คิดไม่ออก ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ขณะนั้นก็คิดออกมาอย่างที่กราบท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ แต่คิดอะไร คิดเรื่องอะไรจึงโกรธ

    ผู้ฟัง ตื่นขึ้นมาก็คิดว่า ทำไมต้องทำดีด้วย

    ท่านอาจารย์ แปลว่าไม่อยากทำดี จึงไม่พอใจกับคำที่ว่า “ทำดี” ไม่ถูกใจ ไม่เห็นประโยชน์ แต่คิดว่าถูกบังคับ หรือมีคนบอกให้ทำ โดยไม่อยากทำ

    ผู้ฟัง แต่จริงๆ ก็รู้ว่า สภาพของความดีกับความชั่ว เป็นสิ่งที่บังคับบัญชาไม่ได้

    ท่านอาจารย์ แต่ขณะนั้นไม่ได้เป็นความเข้าใจ เพราะฉะนั้นถึงได้ถามว่า คิดอะไรแล้วโกรธ ต้องรู้ว่าเรื่องที่คิดเป็นเรื่องที่เราพอใจ หรือไม่พอใจ ใครพูดอะไร ใครทำอะไร หรือว่าเห็นอะไร รสอะไร อร่อย หรือไม่อร่อย อย่างไรก็ตามแต่ คิดอะไรที่ทำให้โกรธ

    ผู้ฟัง แล้วความคิดอย่างนี้มันมาจากไหน

    ท่านอาจารย์ เคยเห็น หรือไม่เคยเห็น แล้วคิดเรื่องที่ไม่เคยเห็น หรือคิดเรื่องที่เคยเห็น ลองคิดถึงใครสักคนที่ไม่รู้จักสิ คิดอย่างไร

    ผู้ฟัง คิดไม่ออก

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเวลาคิดก็คิดถึงสิ่งที่เคยเห็น เคยได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัส และเคยคิดนึกมาแล้วในเรื่องนั้นด้วย

    ผู้ฟัง อย่างนี้ก็แสดงว่า เคยคิดมาก่อน

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่างต้องมีเหตุปัจจัยที่สมควรที่จะเกิดขึ้น ถ้าไม่เคยเลยก็ไปคิดถึงสิ่งที่ไม่เคยเห็น ไม่เคยได้ยิน ก็เป็นไปไม่ได้

    ผู้ฟัง แต่จริงๆ แล้วสภาพธรรมเป็นสิ่งที่บังคับบัญชาไม่ได้

    ท่านอาจารย์ อย่าลืม เพราะฉะนั้นคิดบังคับได้ไหม

    ผู้ฟัง คิด บังคับไม่ได้

    ท่านอาจารย์ โกรธ บังคับได้ไหม

    ผู้ฟัง โกรธก็บังคับไม่ได้ แต่ทำไมเมื่อความโกรธเกิดขึ้นเนื่องจากความคิด สามารถหาเหตุมาจนโกรธได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องหา มีแล้ว ทุกอย่างสะสมอยู่ในจิต จำก็จำแล้ว เรื่องที่จำนี่เยอะแยะมากมาย แล้วแต่ว่าจะคิดอะไรเท่านั้นเอง ทุกขณะนี่กำลังจำ ทุกครั้งที่เห็นก็จำ คิดก็จำ เพราะฉะนั้นก็แล้วแต่ว่าจะคิด คือ วิตก ตรึกถึงอะไร คิดถึงอะไร แต่ต้องเป็นสิ่งที่จำนี่แน่นอน

    ผู้ฟัง แม้เรื่องเล็กๆ น้อยๆ

    ท่านอาจารย์ จำหมดเลย

    ผู้ฟัง แล้วก็สะสมๆ

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ไม่ได้ออกไปจากจิตเลย อยู่ในจิต สะสมอยู่ในจิต ทุกอย่างนานแสนนานก็อยู่ในจิตนั่นเอง

    ผู้ฟัง แล้วพอวันหนึ่งก็เกิดคิดขึ้นมา

    ท่านอาจารย์ ก็อยู่ในจิต ก็เป็นปัจจัยให้เกิดคิดถึงสิ่งที่ได้สะสมที่มีอยู่ ไม่ใช่ไปคิดถึงสิ่งที่ไม่มี ไม่เคยเห็น ไม่เคยได้ยิน

    ผู้ฟัง พอคิดขึ้นแล้วโกรธ จริงๆ แล้วก็ต้องหมดไป

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ คิดถึงอะไรถึงได้โกรธ ลองบอกมาสักเรื่อง ก็จะรู้ได้ว่า เพราะอย่างนั้นจึงได้โกรธ ทุกคนคิดออกใช่ไหม เรื่องที่จะโกรธ หรือลืมหมดแล้ว หรือไม่คิดเลย คิดถึงแต่เรื่องที่สนุกๆ อย่างเสียงนี้ (เสียงสัญญาณกันขโมยรถดังตลอดเวลา) ถ้าไม่ได้ยิน จะมีความรู้สึกอย่างขณะนี้ไหม ชอบ หรือไม่ชอบ

    ผู้ฟัง บางครั้งไม่รู้ด้วยซ้ำว่าชอบ หรือไม่ชอบ เป็นไปได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ไม่รู้อะไรเลย เพราะดับแล้ว หมด เร็วมาก เพียงปรากฏนิดเดียว แล้วดับแล้ว

    ผู้ฟัง มีทั้งชอบ และไม่ชอบสะสมอยู่ในจิต

    ท่านอาจารย์ ไม่พร้อมกัน ทุกอย่าง จะออกไปไหน ออกจากจิตได้อย่างไร หาวิธีทางที่อย่างหนึ่งอย่างใดที่สะสมมาออกไปสิ

    ผู้ฟัง อย่างนั้นทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นก็เพราะสะสมมาทั้งนั้นเลย

    ท่านอาจารย์ มีความไม่รู้ก็ไม่รู้ทั้งๆ ที่ได้ฟังก็ไม่รู้ เพราะสะสมความไม่รู้มามาก เอาความไม่รู้ออกไปได้อย่างไร

    ผู้ฟัง บางครั้งนั่งทำงานอยู่เฉยๆ ก็มีความรู้สึกโกรธขึ้นมา โดยที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า โกรธอะไร

    ท่านอาจารย์ ที่จริงต้องมีสิ่งที่ทำให้โกรธ เดี๋ยวนี้เป็นอย่างนั้น หรือไม่

    ผู้ฟัง เดี๋ยวนี้ไม่เป็น

    ท่านอาจารย์ เพราะไม่มีสิ่งที่ทำให้โกรธ

    ผู้ฟัง เป็นไปได้ หรือ ที่ไม่รู้ว่า มีสิ่งทำให้โกรธ

    ท่านอาจารย์ หมดแล้ว ดับแล้ว แต่ลักษณะความโกรธปรากฏ

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นต้องฟังให้เข้าใจอย่างนี้จริงๆ ก็จะเป็นเหตุปัจจัยให้เราทุกข์ใจน้อยลงไปตามความเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ก็เบาสบาย ไม่ว่าจะเห็นอะไร ได้ยินอะไร ก็ชั่วขณะ ยิ่งเป็นปัญญาที่สามารถจะรู้ลักษณะของธาตุ หรือธรรม ขณะนั้นก็รู้ว่า ไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาได้ ขณะนี้ทุกอย่างเกิดแล้วจึงปรากฏ ไม่มีใครทำ

    ผู้ฟัง พ่อแม่กินเหล้าเมาสุรา เล่นการพนัน และลูกก็ไม่เรียนหนังสือ ไปเที่ยวเตร่ ไม่กลับบ้านกลับช่อง เราเตือนอย่างไรก็ไม่ฟัง เราเป็นคนหาสตางค์ให้เขา แล้วคนอื่นทำร้ายจิตใจเรา แล้วก็บอกว่าเป็นกรรมของเรา เป็นวิบากของเรา ปัญหาอย่างนี้ก็ไม่จบสิ้น แล้วเราก็ไม่หายโกรธ

    ท่านอาจารย์ อยากทราบว่า เขาสามารถทำร้ายใจเราได้อย่างไร เป็นไปไม่ได้เลย กายได้ แต่ใจ ไม่มีใครไปทำร้ายได้เลย คนอื่นไม่สามารถจะทำร้ายได้ นอกจากกิเลสของตัวเอง

    ผู้ฟัง ก็เหมือนเรื่องเมื่อวานนี้ พ่อแม่ไม่ทำอะไรให้ลูก ลูกก็ไม่ทำอะไรให้พ่อแม่

    ท่านอาจารย์ นี่คือเรากำลังทำร้ายใจของเรา ทุกคำพูด

    ผู้ฟัง แล้วผมจะทำอย่างไร ให้นั่งอยู่เฉยๆ หรือ

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เลย เข้าใจธรรม ไม่มีคุณเด่นพงศ์ ขณะใดที่เป็นอกุศล ก็เกิดเพราะความไม่รู้

    ผู้ฟัง ถ้าถึงขนาดนั้นก็จบแน่

    ท่านอาจารย์ ฟังธรรมของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่ฟังธรรมของคนไม่รู้อะไร ไม่ใช่ฟังธรรมของคนไม่ตรัสรู้ความจริง ทั้งปัจจุบัน อดีต และอนาคต โดยประการทั้งปวง เพราะฉะนั้นก็ต้องรู้ว่า ฟังผู้ที่มีปัญญาที่สามารถรู้ความจริงโดยละเอียด เพื่อจะได้เข้าใจธรรม เพราะความกรุณาของท่านผู้ได้รู้แล้ว ก็ทรงแสดงธรรมเพื่อให้คนอื่นได้รู้ตาม เพราะฉะนั้นกำลังฟังเพื่อเข้าใจตาม ไม่ใช่ไปหวังอะไรเลยทั้งสิ้น มีแต่สะสมความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ซึ่งไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล จนกว่าสติเจริญ ปัญญาเจริญ จนกระทั่งเป็นมรรคมีองค์ ๘ เจริญ จนกระทั่งความรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมเจริญ จนกระทั่งสามารถดับกิเลสได้หมด ไม่อย่างนั้นพระผู้มีพระภาคไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยจากการที่บำเพ็ญพระบารมี เพราะว่าผู้ฟังไม่ได้เข้าใจสิ่งที่พระองค์ทรงแสดง

    ผู้ฟัง คือผมฟังท่านอาจารย์ผมเคารพ แต่ธรรมก็ถูกต้อง แต่ว่าแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเดี๋ยวนี้

    ท่านอาจารย์ คุณเด่นพงศ์จะช่วยคนอื่นได้อย่างไร ถ้าเขามีกิเลส มีอกุศล แล้วคุณเด่นพงศ์จะช่วยอย่างไร

    ผู้ฟัง ก็ช่วยเท่าที่จะช่วยได้ คือ เตือนกันอยู่อย่างนั้น บอกกันอยู่อย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ แต่ถ้าปัญญาเขาไม่เกิด ช่วยได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นหนทางเดียว คือ แต่ละคนซึ่งมีกิเลส ถ้าไม่มีปัญญา กิเลสก็เจริญต่อไป เป็นของธรรมดา ไม่ใช่แต่เฉพาะครอบครัว เราคิดถึงคนในครอบครัว และคนอื่นล่ะ เหมือนกันไหม ก็เป็นอย่างนี้ทุกคน

    ผู้ฟัง คือกระผมเข้าใจว่า เราเรียนธรรมเพื่อจะเข้าใจธรรม ให้เข้าใจปัญหาเหล่านี้

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ จนกว่าจะรู้ว่าเป็นธรรม ทั้งหมดเป็นธรรม ย่อยออกไปหมดแล้วเป็น ๑ ขณะจิต ซึ่งเกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป บังคับบัญชาไม่ได้เลย เปลี่ยนไม่ได้ ธรรมเป็นธรรม

    ผู้ฟัง มันก็เป็นอภิธรรม แต่แก้ปัญหาครอบครัวผมไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะมีกิเลสต่างหาก

    ผู้ฟัง มันเหมือนเส้นผมบังภูเขา

    ท่านอาจารย์ ไม่อย่างนั้นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงแสดงธรรมกับทุกบุคคล ทุกประเภทไหม ที่เขาสามารถฟัง ไตร่ตรอง แล้วเข้าใจได้ ไม่ว่าผู้นั้นเป็นใคร

    ผู้ฟัง คือถ้าผมคิดว่า เรียนก็เรียนไป ฟังธรรมก็ฟังไป แล้วเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ปัญหาที่เกิดขึ้นก็ให้มันไปอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ เข้าใจว่าเป็นธรรม ซึ่งเคยเป็นคน เป็นครอบครัว เป็นอะไรทุกอย่าง ก็คือเป็นธรรม เรียนธรรมแล้วไม่ใช่เอาไปทิ้ง แต่เข้าใจขึ้นในสิ่งที่มี ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง หมายความว่าให้เห็นปัญหานั้นเป็นปัญหาธรรม ลูกเป็นอย่างนั้นก็เป็นธรรม อย่างนั้นใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ คุณเด่นพงศ์เข้าใจธรรมว่าเป็นธรรม หรือไม่

    ผู้ฟัง ผมก็คิดว่าผมเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นทุกอย่างเป็นธรรมแต่ละลักษณะ

    ผู้ฟัง มันก็ยังตะหงิดๆ อยู่

    ท่านอาจารย์ เพราะเป็นตัวคุณเด่นพงศ์ ยังไม่ใช่เป็นธรรม

    ผู้ฟัง โอ้โฮ

    ท่านอาจารย์ ถึงต้องฟัง ขณะไหนที่เข้าใจ ขณะนั้นพ้นจากความไม่รู้

    ผู้ฟัง แก้ปัญหาผมไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ฟัง ไม่ใช่เพื่อแก้ปัญหา ถ้าฟังเพื่อแก้ปัญหา ผิด จะไปแก้อย่างไรกิเลสของคนอื่น ปัญหามาจากกิเลส ถ้าไม่มีกิเลส ไม่มีปัญหา ถ้าเป็นกุศล ก็ไม่มีปัญหา เพราะฉะนั้นก็รู้ว่า จริงๆ แล้ว ปัญหาก็คืออกุศล ซึ่งเกิดเพราะความไม่รู้ แล้วหมดไปไม่ได้เลยถ้ายังคงไม่รู้อยู่ ก็ยังต้องเป็นอย่างนี้

    ผู้ฟัง ยิ่งเรียน ยิ่งเห็นอกุศลมากมาย

    ท่านอาจารย์ ของเรา หรือไม่

    ผู้ฟัง ของเราก็เห็น ของผู้อื่นก็เห็น

    ท่านอาจารย์ เป็นธรรม หรือไม่

    ผู้ฟัง เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ ตอบตรงนี้ ตอนนี้ว่าเป็นธรรม แต่เวลาสภาพธรรมนั้นเกิดไม่ได้เป็นธรรม

    ผู้ฟัง ใช่เลย

    ท่านอาจารย์ แล้วคุณสุกัญญาหวังอะไร หรือไม่

    ผู้ฟัง หวังก็ไม่รู้ว่าหวัง

    ท่านอาจารย์ พอโทสะเกิด แล้วไม่รู้ว่าเป็นธรรม ขณะนั้นหวังอะไรอย่างหนึ่งอย่างใด โดยที่คุณสุกัญญาก็ไม่ทราบ

    ผู้ฟัง แล้วรู้ดีกว่าไม่รู้ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ คงต้องตอบเอง

    ผู้ฟัง คือตอนนี้ก็ยังไม่มีปัญญาที่จะตอบคำถามนี้ได้ด้วยตัวเอง เพราะว่าบางครั้งเหมือนกับคิดเข้าข้างตัวเองว่า ถ้าเราไม่รู้เสียเลย บางทีอาจจะดีกว่านี้ อย่างนี้

    ท่านอาจารย์ ดีอย่างไร ไม่รู้

    ผู้ฟัง ก็ไม่ทุกข์

    ท่านอาจารย์ แน่ใจ หรือ

    ผู้ฟัง ก็ไม่แน่ใจ

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นเรื่องที่เราคิดๆ ๆ ตามเรื่องตามราว แต่จริงๆ แล้วถ้าเราฟัง แล้วมีธรรมที่ปรากฏ แล้วค่อยๆ ไตร่ตรอง ให้รู้ว่าเป็นธรรม นี่คือจุดประสงค์ของการฟัง เพราะว่าถ้าฟังแล้วไม่รู้ว่าเป็นธรรม ฟังอีกกี่ชาติก็ไม่รู้ว่าเป็นธรรม ก็ยังคงเป็นเราจะฟังเพื่อสิ่งหนึ่งสิ่งใด

    ผู้ฟัง เรื่องโกรธนี่ ถ้ายึดถือว่าเป็นเรามาก ก็โกรธมาก ยึดถือเป็นเราน้อย ก็โกรธน้อย เป็นอย่างนี้ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ตามกำลังของกิเลส หรือไม่

    ผู้ฟัง ตามกำลังของกิเลส คือ โลภะ หรือโทสะ

    ท่านอาจารย์ ก็แล้วแต่ มานะก็ได้

    ผู้ฟัง ก็ในเมื่อถ้าพระโสดาบันท่านละความเห็นผิดว่าเป็นเราแล้ว แต่ท่านก็ยังมีความโกรธอยู่

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร

    ผู้ฟัง ในเมื่อไม่ได้ยึดถือว่า อะไรก็เป็นของเรา แต่ก็ยังมีความโกรธอยู่

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร

    ผู้ฟัง เพราะยังมีเชื้อที่จะให้โกรธอยู่ แต่ว่าเชื้อนั้นมาจากไหน

    ท่านอาจารย์ ฟังไปตั้งไกล ก็ลืมว่าเป็นธรรม

    ผู้ฟัง เพราะท่านยังลืมว่าเป็นธรรม หรือ

    ท่านอาจารย์ มิได้ ตัวธรรมก็เป็นธรรม ซึ่งใครก็บังคับบัญชาไม่ได้ พระโสดาบันไม่หลงผิดว่า ท่านเป็นพระอนาคามีบุคคล

    ผู้ฟัง แต่ท่านก็ไม่มีความยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวเราแล้ว

    ท่านอาจารย์ แต่ท่านรู้ไหมว่า ท่านไม่ใช่พระอนาคามีบุคคล

    ผู้ฟัง รู้ ที่จริงความโกรธ เวลาเกิดขึ้นไม่ได้เกิดกับทิฏฐิเจตสิกเลยใช่ไหม ไม่ได้เกิดขึ้นกับการยึดถือว่าเป็นตัวตนเลย แต่ความยึดถือว่าเป็นตัวตนนั้นเป็นเชื้อ หรือ ที่ทำให้โกรธมาก โกรธน้อย

    ท่านอาจารย์ ท่านรู้ทุกอย่างที่ธรรมมีปรากฎเพราะเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย เพราะฉะนั้นไม่ใช่ไปบังคับ ไม่ให้ความโกรธไม่เกิด แต่รู้ตามความเป็นจริงว่า ท่านไม่ใช่พระอนาคามีบุคคล ไม่หลงผิดเลยว่าไม่มีความโกรธอีกแล้ว แล้วก็รู้ด้วยว่า สภาพธรรมแม้แต่ความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะก็เกิดตามเหตุปัจจัย เพราะท่านไม่ใช่พระอนาคามีบุคคล ท่านรู้ตามความเป็นจริงว่า ยังไม่ได้ดับความพอใจในในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เพียงแต่ดับความสงสัย ความไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมซึ่งเกิดดับ

    ผู้ฟัง โลภะที่มีมีทิฏฐิยึดถือความเป็น บุคคล ตัวตน กับโลภะที่ไม่มีทิฏฐิร่วมกัน จะต่างกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ คุณวรศักดิ์กำลังเห็นอะไร

    ผู้ฟัง เห็นดอกไม้ เห็นท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ ชอบไหม

    ผู้ฟัง ดูไปก็ชอบอยู่

    ท่านอาจารย์ ขณะที่ชอบเป็นโลภะ หรือไม่

    ผู้ฟัง ก็เป็น

    ท่านอาจารย์ มีทิฏฐิยึดถือสิ่งหนึ่งสิ่งใดในขณะนั้น หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็เป็นโลภะที่ไม่มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วย ไม่เปลี่ยนคำพูดใช่ไหม

    ผู้ฟัง แล้วอย่างพระโสดาบันที่ไม่มีทิฏฐิเกิดขึ้นเลย

    ท่านอาจารย์ ก็เหมือนคุณวรศักดิ์กำลังชอบดอกไม้นี่ แต่ไม่มีการที่ทิฏฐิจะเกิดขึ้นอีกได้เลย เพราะดับอนุสัยกิเลสที่เป็นการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เพราะปัญญาประจักษ์ความจริงของสภาพธรรมแล้ว

    ผู้ฟัง แล้วโลภะที่มีทิฏฐิเกิดร่วมด้วยเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ นี้คือที่พระโสดาบันไม่มี คุณวรศักดิ์ยังมีเลย เพราะฉะนั้นเวลาที่คุณวรศักดิ์บอกว่า เห็นดอกไม้ชอบ แต่ไม่มีทิฏฐิเกิดร่วมด้วย พระโสดาบันเห็นดอกไม้ก็ชอบ และไม่มีทิฏฐิเกิดร่วมด้วย ต่างกับคุณวรศักดิ์ เพราะว่าไม่มีแม้อนุสัยกิเลส แต่คุณวรศักดิ์ขณะนั้นไม่มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ยังไม่ได้ดับทิฏฐานุสัย

    ผู้ฟัง ซึ่งอาจจะมีภายหลังได้ แต่ขณะนี้ไม่ปรากฏ อาจจะอีกนานกว่าจะปรากฏก็ได้

    ท่านอาจารย์ มีเหตุปัจจัยก็เกิด ไม่มีเหตุปัจจัยก็เกิดไม่ได้ นี่คือธรรม

    ผู้ฟัง ฟังดูบางครั้งก็แปลก อย่างเช่นนางวิสาขาที่ท่านละความยึดถือว่าเป็นตัวตน แต่ท่านก็ยังเห็นหลานว่าเป็นหลานของท่านอยู่

    ท่านอาจารย์ ท่านไม่ใช่พระอนาคามี ท่านไม่หลงผิดคิดว่า ท่านเป็นพระอนาคามีบุคคล

    ผู้ฟัง หรือท่านลืมสภาพธรรมว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ก็เลยยึดถือว่า

    ท่านอาจารย์ ท่านรู้ทุกอย่างเกิดเพราะยังมีเหตุปัจจัยที่จะให้เกิด ยังมีความติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ก็เป็นปัจจัยให้เกิดโทสะได้ จะเปลี่ยนสภาพธรรม ให้พระโสดาบันเป็นพระอนาคามีบุคคล หรือเป็นพระอรหันต์ได้ไหม


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 168
    11 ม.ค. 2567