พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 381


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๘๑

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๐


    ผู้ฟัง ก็เป็นประโยชน์มหาศาล สมัยก่อนที่ยังไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่รู้เรื่องเหล่านี้เลย ก็คงจะไม่ทิ้ง ไม่มีการล้มเหลวแน่นอน

    ท่านอาจารย์ แต่ถ้าเป็นผู้ละเอียด จะรู้ได้เลยว่า ยังหยาบ ไม่ว่ามีความเข้าใจเพิ่มขึ้น ละเอียดขึ้นจะรู้ว่า ยังหยาบ หยาบที่ว่าไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง แต่จริงๆ สภาพธรรมขณะนี้เกิดแล้วดับไปไม่กลับมาอีกเลยสักขณะเดียว ที่ฟังอย่างนี้เพื่อให้ละความติดข้องว่า ยังมีเรา ยังมีเรื่องราว ยังมีตน ให้รู้ว่าจริงๆ แล้วก็เป็นลักษณะของสภาพธรรมซึ่งใครก็เลือก หรือบังคับบัญชาให้เกิดขึ้นไม่ได้เลย มีปัจจัยก็เกิดแล้วดับไป เพราะฉะนั้นจะไม่มีการที่มีเราประยุกต์ หรืออะไรทั้งสิ้น นำไป เอาไป นี่ก็ยังเห็นความหยาบของการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเราว่าอีกมากมายแค่ไหน เพราะจริงๆ แล้ว ฟังแล้ว เข้าใจแล้ว ดับแล้ว อะไรจะเกิดก็คือเกิด ก็คือเป็นธรรม

    เพราะฉะนั้นเข้าใจความเป็นธรรมของสิ่งที่เกิดแล้วปรากฏ อันนี้จะค่อยๆ ละเอียดขึ้น และจนกระทั่งสามารถรู้ได้ว่า ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องไปอยากอะไรเลย ถ้าเหตุไม่สมควรแก่ผล แล้วอยากได้อย่างไร มีแต่ความเป็นเรา เพราะฉะนั้นก็จะเห็นความเป็นเราหนาแน่นมาก เมื่อปัญญาเห็นจึงค่อยๆ จางความเป็นเรา แต่ต้องรู้ว่า มีความเป็นเรา ที่ไหน เมื่อไร

    ผู้ฟัง ก็ขอขอบคุณอาจารย์ที่เตือนสติ เพราะจริงๆ แล้วก็รู้ว่า ไม่มีเรา

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์บอกว่า คำว่าธรรมถ้าเข้าใจว่าคืออะไร ก็เป็นพระอรหันต์ได้ ทีนี้ตามความเป็นจริงเมื่อศึกษาก็จะแบ่งอย่างหยาบๆ ว่าเป็นรูป เป็นนาม รูปก็มี ๒๘ นามก็มีจิต เจตสิก แล้วก็จะมีชาติของจิต ภูมิ กิจ วิถี เหมือนกับว่า เวลาเราศึกษาไป ในที่สุดแล้วต้องเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ทราบท่านอาจารย์จะขยายความ “จริงใจในการศึกษา” เพื่อให้เรารู้สิ่งเหล่านี้ และมาเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วไม่มีรูปแบบ แต่ให้เข้าใจว่า กำลังฟังธรรม คือ มีธรรมที่ปรากฏ ไม่ใช่ไม่ปรากฏแล้วไปฟังธรรม ขณะนี้มีธรรมปรากฏ ฟังเพื่อเข้าใจความจริงของธรรมที่กำลังปรากฏ อย่างนี้จะไม่ห่างจากตัวธรรมเลย แต่ถ้าฟังเรื่องราวของธรรม แล้วไม่รู้ว่า ขณะนี้เป็นธรรม ก็ห่างจากธรรมที่กำลังปรากฏ และบางคนก็ไม่รู้ด้วยซ้ำ ถึงแม้จะฟังเรื่องราวของธรรม ก็ไม่รู้ว่า ขณะนี้เป็นธรรม

    เพราะฉะนั้นสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ก็เป็นเพียงเรื่องราวเหมือนวิชาการอะไรๆ ก็ตาม ที่พอเข้าโรงเรียนแล้วก็มีประวัติศาสตร์ มีภูมิศาสตร์ มีวิทยาศาสตร์ เสร็จแล้วก็ลืม เพราะไม่รู้ลักษณะจริงๆ ของธรรมที่ปรากฏ ก็คงเหมือนกับวิชาการอื่นๆ แต่ถ้าขณะนี้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง นี่สำคัญที่สุดเลย ว่าขณะนี้เป็นธรรมแน่นอน มีจริงๆ กำลังปรากฏ ไม่ใช่ไปหลอกให้จำ ให้ท่อง ให้คิดเรื่องอื่น แต่สิ่งที่ปรากฏลึกซึ้ง สามารถมีความจริงที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยนัยประการต่างๆ ไม่จบ ที่จะทำให้คนฟังสามารถค่อยๆ เข้าใจขึ้น จนกว่าจะรู้ความจริงของสภาพธรรม ดับกิเลสเมื่อไร เมื่อนั้นก็คือได้รู้ความจริงของธรรม มิฉะนั้นก็เพียงแต่จำเรื่องราวของธรรม

    เพราะฉะนั้นขณะนี้อย่างที่คุณอรวรรณพูดเรื่องมีนามธรรมกับรูปธรรม พูดแล้วใช่ไหม เห็นขณะนี้เป็นอะไร ตอบได้ แต่ลักษณะนี้ต่างหากที่เป็นนามธรรม ไม่ใช่ชื่อ ลักษณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้เอง เป็นลักษณะของนามธรรม ไม่ใช่ชื่อนามธรรม ไม่ต้องเรียกว่า นามธรรม ลักษณะที่กำลังเห็นก็เห็น และกำลังเห็นด้วย ไม่ต้องเรียกอะไรเลยทั้งสิ้น เห็นกำลังเห็น

    เพราะฉะนั้นการที่จะเข้าใจแม้คำว่า นามธรรม ไม่ใช่ไปจำตามตัวหนังสือก่อน แต่หมายความว่า ถ้าเข้าใจถูกต้องว่า ทุกขณะเป็นธรรมที่ปรากฏ แม้จะเกิดดับอย่างรวดเร็ว สั้นมาก แต่ก็ปรากฏให้รู้ได้ว่า มีลักษณะที่ต่างกัน อย่างขณะนี้ กำลังเห็น ใครที่บอกว่า เห็นเป็นนามธรรม ก็จะรู้ว่า จำชื่อนามธรรม แล้วก็รู้ว่า นามธรรมไม่ใช่รูปธรรม ไม่มีรูปใดๆ เจือปนเลย แล้วก็จำว่า นามธรรมเป็นสภาพรู้ ถ้าสอบ ตอบก็ได้คะแนนเต็ม พูดไม่ผิด แต่ว่าขณะนี้ เห็นเป็นธรรม เริ่มมีความเข้าใจที่ถูกต้อง ไม่ใช่ของใคร ไม่ใช่ใคร เกิดที่ไหน ไม่จำเป็นต้องคิดถึงสถานที่ด้วย ในอากาศ บนฟ้า ใต้น้ำ บนบก หรือที่ไหนก็ตามแต่ ไม่จำกัดเลย ถ้าเกิดแล้วเป็นธาตุที่มีปัจจัยทำให้เกิดขึ้นเห็น แล้วก็ดับไป

    นี่คือธรรม และขณะนี้ก็กำลังเป็นธรรม แต่ไม่เคยฟังจนกระทั่งคลายการยึดถือว่าเป็นธรรม เพราะไปจำชื่อ เห็นเป็นนามธรรม สิ่งที่ปรากฏเป็นรูปธรรม แต่ถ้ามีความจริงใจ และมีความเข้าใจแล้ว ขณะนี้เองที่กำลังฟัง สามารถจะมีลักษณะของสิ่งที่กำลังเป็นในขณะนี้ คือ เป็นนามธรรมที่เห็น และเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ซึ่งมีลักษณะที่ต่างกัน ขณะนั้นไม่มีเรื่องราว ไม่มีเรา ไม่มีใครเลย มีธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ความจริงถึงการเกิดขึ้น และดับไป และก็ใช้คำหลากหลาย ในภาษาที่ชาวมคธในครั้งนั้นเข้าใจได้ คือใช้ภาษามคธี ซึ่งดำรงรักษาความหมายไว้ จึงใช้คำว่า “ปาลี” หมายความว่า ดำรงรักษาพระศาสนาด้วยคำที่ใช้นั้น แต่ว่าถ้าคนไม่รู้ภาษาบาลี ขณะนี้จักขุวิญญาณกำลังทำทัสนกิจ เห็นรูปารมณ์ มีความหมายอะไรไหม

    เพราะฉะนั้นทรงแสดงว่า ใช้ภาษาชาวบ้านที่จะทำให้เข้าใจความจริงของสภาพธรรม ไม่สำคัญว่าเป็นคำอะไร สำคัญที่จะเข้าใจความหมาย หรือต้องไปพยายามออกเสียงให้ถูก ทรงอนุญาตไว้ ใช้ภาษาที่สละสลวย และเป็นภาษาที่ชาวเมืองสามารถเข้าใจได้ ด้วยเหตุนี้แม้แต่กำลังฟัง คนไทย สิ่งที่จะทำให้เข้าใจธรรมได้ ต้องเป็นภาษาไทย บางคนก็คิดว่า พอเป็นภาษาต่างประเทศเข้าใจซาบซึ้ง เป็นไปได้อย่างไร เป็นไปไม่ได้ อย่างไรๆ ก็ตาม จะสนทนากันด้วยภาษาไหน ก็ต้องเป็นภาษาที่เกิดมาใช้ภาษานั้น แล้วก็สามารถเข้าถึงความลึกซึ้งของภาษานั้นๆ ด้วย

    เพราะฉะนั้นในขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏแน่นอน ศึกษาธรรมเพื่อเข้าใจสิ่งที่ปรากฏจริงๆ ที่เกิดขึ้นปรากฏว่า เป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจที่คิดนึกก็เป็นธรรม เพราะว่าทุกคนคิด เข้าใจว่าเราคิด แต่มีเหตุให้คิดต่างๆ กัน แล้วคิดก็ดับไป ก็ไม่เหลืออะไรที่จะกลับมาได้เลย เข้าใจว่าธรรมเป็นธรรมเพิ่มขึ้น ในที่สุดก็สามารถดับกิเลสได้หมด "ละชั่ว" แรก คือ ความเห็นผิดที่ไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม และยึดถือธรรมว่าเป็นตัวตน ตราบใดที่มีเราละชั่วไม่ได้ ต้องมีความเข้าใจถูกต้อง ค่อยๆ ละความชั่วแรก คือความเห็นผิด ละความไม่รู้ และละความสงสัยในสภาพธรรมที่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้นบางคนก็ละชั่วด้วยศีล ๕ ศีล ๘ ละชั่ว แต่ว่าไม่ได้รู้ความจริงเลย เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ เข้าใจว่ามีศีล แต่บางกาละทำไมล่วงศีล เพราะเหตุว่ายังไม่ได้ดับความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน อย่างนี้จริงใจไหม เข้าใจเมื่อไรคือจริงใจเมื่อนั้น ไม่ได้อยากไปรู้สิ่งที่เราไม่ได้เข้าใจ และพยายามจะไปรู้นิพพาน หรือพยายามไปรู้ปฏิจจสมุปปาท ซึ่งขณะนี้ก็เป็น แต่ต้องเริ่มด้วยความเข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง นั่นหมายถึงว่า จริงใจในการฟัง คือ ฟังเข้าใจว่าในขณะนี้ว่าเป็นธรรม ถ้าฟังแล้วสัญญามั่นคงจริงๆ ก็จะน้อมไปที่จะเห็นว่า..

    ท่านอาจารย์ ไม่มีใครน้อม หวังอีกแล้ว สังขารขันธ์ ให้รู้ว่า สภาพธรรมเกิดแล้วดับ ไม่ให้เกิดต่อได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้ค่ะ

    ท่านอาจารย์ ไม่ให้เกิดเป็นอย่างนี้ได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ให้เกิดเป็นอย่างอื่นได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ พยายามให้เกิดได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เลือกให้เกิดได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ แต่สิ่งที่เกิดแล้ว เพราะปัจจัยที่สมควรแก่สิ่งใด สิ่งนั้นจึงเกิดขึ้น นี่คือการเข้าใจความจริง

    ผู้ฟัง อย่างนั้นแปลว่า การอบรมปัญญาก็คือเป็นการสร้างเหตุปัจจัยให้เข้าใจความจริง

    ท่านอาจารย์ สร้างอีกแล้ว เป็นปัจจัยแน่นอน ไม่มีเรา

    ผู้ฟัง การอบรมเจริญปัญญาเป็นปัจจัย

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่างเป็นปัจจัย ให้ทราบว่า เมื่อเป็นธรรมแล้วยังเป็นปัจจัยด้วย ไม่ต้องไปหาปัจจัยที่ไหนเลยทั้งสิ้น ตัวสภาพธรรมนั้นเองเป็นปัจจัย แม้แต่จิตเกิด ไปหาปัจจัยที่ไหน หรือไม่ ในเมื่อจิตดับเมื่อไร เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อ ไม่มีระหว่างคั่นเลย จะไปหาปัจจัยที่ไหน จะไปทำ หรือจะไปสร้างปัจจัยที่ไหน แต่เข้าใจให้ถูกต้องว่า ปัจจัยก็คือสภาพธรรมด้วย

    ผู้ฟัง เกิดแล้วดับแล้ว แล้วเกิดใหม่

    ท่านอาจารย์ ก็มีปัจจัยที่จะเกิด เป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น ห่วงอะไร ดับแล้วหมด ดับจริงๆ ไม่เหลือเลย แต่ก็มีสิ่งที่เกิดสืบต่อ แล้วไม่สนใจที่จะเข้าใจ มัวไปทำ มัวไปสร้าง มัวไปเตรียม ก็เลยไม่สามารถเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมขณะนี้ซึ่งเกิดแล้วดับแล้ว จนกว่าปัญญาจะค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมเพิ่มขึ้น ละเอียดขึ้น จึงคลายความสงสัย และความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งทั้งวันเป็นธรรม

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ก็ย้ำมาตลอด แต่สัญญายังฟังไม่มากพอที่จะจำสิ่งที่ท่านอาจารย์พูด ก็เลยยังต้องฟังต่อไปจนกว่าจะ

    ท่านอาจารย์ ต้องจริงใจในการฟังด้วย เพื่อรู้ เพื่อเข้าใจถูก แล้วทั้งหมดก็คือสังขารขันธ์ปรุงแต่ง ไม่มีใครไปสร้าง ไปทำให้ปัญญาเกิดขึ้นมาได้เอง แต่ต้องมีเหตุปัจจัย

    ผู้ฟัง เพราะจริงๆ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะมีโอกาสได้ฟังว่า เห็น ได้ยิน ขณะนี้ก็เป็นลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เพียงแต่ปัญญาจะรู้ หรือไม่รู้เท่านั้นเอง อวิชชารู้ไม่ได้ ซึ่งถ้าพิจารณาไตร่ตรองก็จะเห็นว่า เป็นอะไรที่ใช่เลย เพียงแต่ว่า ปัญญาจะเข้าใจ หรือยังเท่านั้นเอง

    ผู้ฟัง สภาพธรรมที่กำลังปรากฏเป็นรูปธรรม และเป็นนามธรรมด้วย หรือไม่

    ท่านอาจารย์ นามธรรมไม่ใช่รูปธรรม และรูปธรรมไม่ใช่นามธรรม เป็นอย่างหนึ่งอย่างใด

    ผู้ฟัง สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ท่านอาจารย์ สภาพธรรม เป็นนามธรรมที่เป็นสภาพรู้ ไม่ใช่รูปธรรม และสภาพธรรมที่ไม่รู้อะไร เป็นรูปธรรมไม่ใช่นามธรรม

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์กำลังบรรยายเพื่อลดละบัญญัติใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ให้เข้าใจให้ถูกต้องว่า ขณะนี้ไม่มีใครเลย

    ผู้ฟัง เข้าใจเฉพาะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ท่านอาจารย์ กำลังปรากฏ เพราะไม่เคยเข้าใจถูกต้อง

    ผู้ฟัง ที่เราติดมาแต่ไหนแต่ไรก็ติดบัญญัตินี่แหละ ติดเอามากๆ

    ท่านอาจารย์ ก็ฟังจนกระทั่งสามารถรู้ว่า ขณะนี้เป็นธรรม

    ผู้ฟัง การศึกษาธรรม หรือการฟังธรรมให้เข้าใจ สติจะระลึกถึงอธิบดี หรืออินทรีย์ หรือถึงพละ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ถ้ายังไม่รู้ถึงลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ จะรู้ไหมว่า จิตเป็นมนินทรีย์ ได้ยินคำไหน อย่าเพิ่งไปเก็บจำนวน แล้วใช้ แต่ถ้าได้ยินคำว่า นามธรรมเป็นธาตุรู้ จริงๆ แล้วรูปธรรมไม่สามารถรู้ได้เลย เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ สามารถเข้าใจลักษณะของสภาพรู้ได้ สภาพใดที่ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่เสียง ไม่ใช่กลิ่น ไม่ใช่รส ไม่ใช่เย็น ไม่ใช่ร้อน ไม่ใช่อ่อน ไม่ใช่แข็ง ไม่ใช่ตึง ไม่ใช่ไหว ในชีวิตประจำวัน สภาพอื่นนอกจากนี้ทั้งหมดเป็นนามธรรม เพราะว่ารูปธรรมแม้มองไม่เห็น แต่เมื่อไม่ใช่สภาพรู้ก็เป็นรูป จะเป็นนามธรรมไม่ได้ ธรรมไม่เปลี่ยนตามความคิดของใคร แต่เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ความจริง ก็ทรงแสดงความจริงตามสภาพของธรรมนั้น

    เพราะฉะนั้นในขณะนี้ได้ยินคำว่า “ธรรม” สภาพที่ไม่รู้ขณะนี้มีแน่นอน แข็งไม่ใช่สภาพรู้ มีจริงๆ สภาพธรรมใดที่ไม่ใช่สภาพรู้ สภาพนั้นเป็นรูปธรรม เสียงมองไม่เห็น แต่เสียงก็ไม่คิดอะไร ไม่ปวด ไม่เจ็บ ไม่จำ เพราะฉะนั้นเสียงปรากฏให้รู้ลักษณะที่เป็นเสียง ในขณะที่จิตได้ยินเกิดขึ้น มีหลายเสียง แต่เสียงก็หลากหลาย เกิดแล้วก็ดับ เป็นแต่ละขันธ์ คือ สภาพธรรมที่เกิดดับ บางครั้งก็เป็นเสียงที่น่าฟัง บางครั้งก็เป็นเสียงที่น่าตกใจ อะไรก็ตามเเต่ ทั้งหมดก็เป็นรูปธรรม

    ส่วนนามธรรมก็มี ๒ อย่าง คือ สภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ กับสภาพธรรมที่เกิดด้วยกัน ดับพร้อมกัน แต่จำบ้าง หรือชอบบ้าง ไม่ชอบบ้าง เพราะฉะนั้นลักษณะที่ต่างกันก็คือ สภาพธรรมที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ ทรงบัญญัติใช้คำว่า จิตตัง หรือจิต หรือมโน ก็แล้วแต่ แต่หมายความถึงขณะนี้ สิ่งใดปรากฏ ปรากฏกับจิตที่กำลังรู้สิ่งนั้น เช่น สีสันวัณณะในห้องนี้เป็นอย่างนี้ ไม่เป็นอย่างอื่น จิตจะเกิดขึ้นเห็นเป็นอย่างอื่นได้ไหม ไม่ได้ เพราะฉะนั้นในขณะนี้ ที่สิ่งที่มีปรากฏอย่างนี้แหละ เพราะจิตเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้นเนื่องจากจิตเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้สิ่งที่ปรากฏ จึงเป็นอินทรีย์ เพราะฉะนั้นเวลาได้ยินคำว่า “อินทรีย์” คำไหนก็ตาม ต้องรู้ด้วยว่า หมายความถึงอะไร เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ต่อไปก็จะมีอินทรีย์อื่นๆ แต่เมื่อเข้าใจความหมายของอินทรีย์ว่า เป็นสภาพที่เป็นใหญ่ ขณะนี้จิตเป็นใหญ่ในอะไร ในการรู้ เสียงที่ปรากฏ สิ่งที่ปรากฏทางตา หรือกลิ่น หรือรส หรืออะไรก็ตามแต่ ขณะนี้เป็นลักษณะของจิตซึ่งเป็นใหญ่ เป็นประธาน เป็นมนินทรีย์ในการรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ

    ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ เข้าใจ แต่ไม่ใช่ไปท่อง อินทรีย์ทั้งหมดมี ๒๒ มี ๒ อินทรีย์ไม่เป็นปัจจัย หรืออะไรอย่างนั้นก็แล้วแต่ คือ ไปจำคำ แต่จริงๆ แล้วไม่ได้ทำให้เข้าใจลักษณะที่ต่างกันของแม้นามธรรมที่เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกันในขณะนี้ ทั้งๆ ที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการเห็น ก็ยังไม่รู้ว่า นั่นคือลักษณะของอินทรีย์ เพราะฉะนั้นขอให้ศึกษาด้วยความเข้าใจทุกคำ ไม่ใช่โดยจำนวน แต่โดยลักษณะความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ

    ผู้ฟัง และจากการฟังไปเรื่อยๆ อย่างนี้ จะลดละกิเลสได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ฟังแล้วเข้าใจไหม

    ผู้ฟัง มีส่วนเข้าใจ และมีส่วนที่ไม่เข้าใจบ้าง

    ท่านอาจารย์ ขณะที่เข้าใจนั้นละความไม่รู้ หรือไม่

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ นี่คือคำตอบของคำถาม

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์อธิบายเกี่ยวกับอินทรีย์ ๕ พละ ๕ ในโพธิปักขิยธรรม มีหลายคนเขาอาจจะฟังแล้วไม่เข้าใจในสิ่งที่อธิบายต่างๆ แต่ก็ฟังไป เขาไม่เข้าใจ ฟังไปเรื่อยๆ ในลักษณะอย่างนี้คงจะไม่เสียเปล่า ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วก็คือฟังแล้วเข้าใจ เข้าใจแค่ไหน แล้วเราจะเปลี่ยนให้เข้าใจอย่างอื่นมากกว่านั้นได้ไหม ขณะที่กำลังเข้าใจ ส่วนที่เข้าใจเป็นความจริง แต่เราจะหวังให้เข้าใจมากกว่านั้น ลึกซึ้งกว่านั้น ให้ประจักษ์แจ้งได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นของธรรมดา คือสภาพธรรมเกิดขึ้นเป็นอย่างไร ก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดอย่างนั้น แต่ความเป็นผู้ละเอียดกับความเป็นผู้ตรง ก็จะทำให้เราพิจารณา และมีความเข้าใจที่มั่นคงขึ้น ไม่ใช่เพียงแต่จำ หรือว่าหวังรอ แต่ขณะใดก็ตามที่มีความเข้าใจทีละเล็กทีละน้อย แล้วก็พิจารณาให้ละเอียด ความเข้าใจก็เพิ่มขึ้น เหมือนอย่างเรื่องของอินทรีย์ จักขุปสาทเป็นอินทรีย์ หรือเปล่า เป็นทวาร หรือไม่ (เป็น) กำลังหลับสนิท จักขุปสาทเป็นอินทรีย์ เป็นทวาร หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่เป็น

    ท่านอาจารย์ แต่เมื่อไรที่ทำหน้าที่ หรือมีกิจการงาน เมื่อนั้นจะไม่ให้เป็นอินทรีย์ได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ แล้วจะให้อื่นมาเป็นจักขุนทรีย์ได้ไหม ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วการฟังธรรมเข้าใจ แต่ก็ต้องไตร่ตรองให้ละเอียดขึ้นด้วย มิฉะนั้นเราก็จำไว้แค่นั้น แล้วก็คิดว่าเป็นแค่นั้น จริงๆ แล้วการฟังธรรม เราพยายามมุ่งไปที่ตัวหนังสือ พยายามจะไปรู้ว่า ขณะนี้เป็นระดับไหน ขั้นไหน แต่ตามความจริงก็คือว่า เราได้ยินคำไหน ขั้นฟังเข้าใจ แต่ต้องรู้ว่า ยังไม่รู้จักลักษณะของสภาพธรรมนั้นจริงๆ

    เพราะฉะนั้นผู้ที่เข้าใจประจักษ์แจ้งโดยตลอด โดยประการทั้งปวง ก็ทรงแสดงความจริงของสภาพธรรมโดยละเอียด โดยประการทั้งปวง แต่ผู้ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงโดยประการทั้งปวง ก็เท่าที่สามารถเข้าใจได้ และเป็นผู้ที่ตรงด้วยว่า ถ้ามีสิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วเราไปพยายามคิดถึงจักขุนทรีย์ หรือจะไปคิดถึงเวทนินทรีย์ หรืออะไรอย่างนี้ โดยมนินทรีย์ โดยขณะนั้นก็ไม่รู้ว่า สามารถเข้าใจ แต่ไม่ใช่เรา แต่เพราะสติสัมปชัญญะ ซึ่งเกิดเมื่อมีเหตุปัจจัย คือ ความเข้าใจที่มั่นคงเป็นสัจจญาณ จึงเป็นปัจจัยให้สติเกิด เป็นสติอีกระดับหนึ่ง ไม่ใช่เพียงขั้นฟัง

    ผู้ฟัง อินทรีย์ต้องเป็นขณะจิตใช่ไหม สติปัฏฐานเกิด สติจึงเป็นสตินทรีย์ ขณะที่เห็นก็ต้องเป็นจักขุนทรีย์วันยังค่ำ

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร

    ผู้ฟัง เพราะขณะนั้นเห็นแล้ว

    ท่านอาจารย์ เพราะเป็นรูปที่รูปารมณ์กระทบได้ รูปารมณ์กระทบธาตุดินไม่ได้ รูปารมณ์กระทบธาตุไฟไม่ได้ รูปารมณ์สามารถกระทบเฉพาะจักขุปสาท เพราะฉะนั้นในขณะนั้นเป็นใหญ่ โดยหน้าที่ที่สามารถให้รูปารมณ์กระทบได้

    อ.วิชัย เรื่องของปัจจัยที่ทรงแสดงเรื่องของอินทรียปัจจัย ทรงแสดงถึงความเป็นอินทรีย์ อุปการะแก่จิตเห็นที่เป็นวัตถุในขณะนั้น

    ท่านอาจารย์ มีผลเป็นปัจจยุปบัน

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนี้หมายความว่า ท่านทรงแสดงนัยของอินทรีย์ ปัจจัย หรืออะไรที่เราเรียนๆ จริงๆ แล้วก็คืออธิบายสภาพธรรมโดยนัยต่างๆ แต่เราต้องเข้าใจ ณ ขณะนี้ดูเหมือนเป็นเรื่องของปัจจัย เรื่องของอินทรีย์ เราต้องเข้าใจไปด้วยทีเดียว หรืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ ความรู้ตามลำดับขั้นนะคะ ฟังเรื่องจิต เรื่องเจตสิก เรื่องรูป เรื่องนามธรรม รูปธรรม แต่ไม่ใช่ฟังโดยไม่รู้ว่า ขณะนี้เป็นจิต เป็นเจตสิก เป็นรูป เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม ถ้าฟังแล้วไม่เข้าใจอย่างนี้ การฟังก็เป็นโมฆะ คือไม่สามารถรู้ว่า ขณะนี้เป็นธรรมที่กำลังเป็นจริงตามที่ได้ยินได้ฟัง หรือไม่ เป็นการเข้าใจด้วยตนเอง ไม่ใช่เพียงแต่เชื่อคำที่ได้ยินได้ฟัง หรือโดยการอ้างตำรา มีปรากฏอย่างนั้นอย่างนี้ ตำราต้องถูก เมื่อเป็นคำที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดง แต่ว่าการเข้าใจความละเอียดของแต่ละคำ ก็ต้องรู้ด้วย ไม่ใช่เพียงรวบรัด หรือเพียงแต่จำชื่อ จำเรื่องราว แต่ทั้งหมดไม่ใช่เพียงให้จำ เพื่อให้เข้าถึงความเข้าใจ เห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แม้วันนี้เราไม่สามารถจะเกิดความรู้ชัดในความที่สิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน สิ่งใดเลยทั้งสิ้น ความจริงก็คือเป็นธาตุที่มีจริง ที่ต้องกระทบจักขุปสาท แล้วจิตเห็นต้องเกิด ธาตุนี้จึงปรากฏให้เห็นอย่างเร็วมาก น้อยมาก แล้วก็ดับไปนี่คือการฟัง การไตร่ตรองให้รู้ว่า ความจริงเป็นอย่างนี้ในขั้นการฟัง

    เพราะฉะนั้น ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏ ก็รู้ได้ว่า ยังไม่ถึงการประจักษ์แจ้งความจริงของธาตุรู้ ซึ่งเป็นใหญ่ เป็นประธาน รูปที่ปรากฏในขณะนี้จึงปรากฏเป็นอย่างนี้ได้ เพราะฉะนั้นขณะที่กำลังฟัง ก็เริ่มเข้าใจสิ่งที่ปรากฏ อย่าทิ้ง ไม่ใช่ไปเข้าใจคำในหนังสือ และไม่เข้าใจสิ่งที่ปรากฏ แต่สิ่งที่ปรากฏเข้าใจยากมาก


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 168
    10 ม.ค. 2567