พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 364


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๖๔

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๐


    ท่านอาจารย์ ความลึกซึ้งของธรรมต้องอาศัยการฟังให้เข้าใจว่า แม้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาขณะนี้ปรากฏเพราะจิตเห็น แต่ต้องมีรูปที่สามารถกระทบรูปนี้โดยเฉพาะ ไม่กระทบรูปอื่นเลย แล้วจิตเกิดขึ้นเห็นรูปที่กำลังปรากฏ รูปนั้นเราใช้คำว่า จักขุปสาท ในภาษาบาลี แต่ภาษาไทยเราก็พูดคำว่า ตา เมื่อพูดถึงตาคนก็เข้าใจแต่ตามีหลายอย่าง ตาที่เป็นตาขาว ตาดำ ตาทั้งหมด เราก็เรียกว่า ตา เหมือนกัน แต่นี่เป็นตา หรือปสาท รูปที่สามารถกระทบสิ่งที่ปรากฏ ไม่ใช่สีขาว สีดำ หรือรูปตาทั้งหมด แต่รูปนี้ไม่มีใครมองเห็นเลย เพราะว่าไม่ใช่สีสันวัณณะ แต่จะมีอยู่แน่นอน ตรงกลางตา ซึ่งสามารถกระทบกับสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ แล้วจิตจึงเกิดขึ้นเห็น

    เพราะฉะนั้นรูปนั้นเป็นทาง หรือเป็นทวารในภาษาบาลี ที่จะทำให้มีจิตเห็นเกิดขึ้น แบบนี้พอที่จะเข้าใจไหม คือมุ่งที่จะให้เข้าใจธรรมว่าเป็นธรรม รูปเป็นรูป และรูปก็มีหลากหลาย เพราะเหตุว่าจักขุปสาทรูปเป็นรูปอีกรูปหนึ่งซึ่งไม่ใช่สี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่เรากล่าวถึงเมื่อครู่นี้ ๗ รูป ต่างกันแล้วใช่ไหม สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นทวาร หรือไม่ (ไม่เป็น) เสียงเป็นทวารไหม (ไม่เป็น) แต่จักขุปสาทรูปเป็นทวาร ถ้าไม่มีรูปนี้ ไม่มีการเห็นเลย อย่างไรๆ ก็เห็นไม่ได้ เพราะฉะนั้นรูปนี้จึงเป็นรูปที่เป็นทาง ในภาษาไทย ส่วนภาษาบาลี ก็คือเป็นทวาร เป็นทางที่จะให้จิตเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ จึงเป็นทวารรูป เมื่อพูดแค่ทางเดียว คุณเด่นพงศ์สามารถทราบถึงทวาร ๕ ได้ใช่ไหม ว่าหมายความถึงโสตปสาทรูป ฆานปสาทรูป ชิวหาปสาทรูป กายปสาทรูป

    เพราะฉะนั้นในรูป ๑๒ รูปที่เรากล่าวถึง คือ สิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ทั้งหมด ๗ รูป ส่วนปสาท เช่น ตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็เป็นอีก ๕ รูป รวมเป็น ๑๒ รูป ใน ๑๒ รูป รูปไหนเป็นทวาร ปสาท ๕ เป็นทวาร ก็ไม่สงสัยเลย ไม่สงสัยเพราะเข้าใจธรรม เพราะเข้าใจความจริงของสภาวะที่สามารถกระทบกับสิ่งที่สามารถกระทบได้ ไม่ใช่สิ่งที่ไม่สามารถจะกระทบได้ เช่น จักขุปสาทกระทบเสียงไม่ได้ กระทบกลิ่นไม่ได้ กายปสาทก็กระทบกลิ่นไม่ได้ กระทบสิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ได้ นี่คือความเป็นธรรมที่จะต้องเข้าใจ ไม่ใช่โดยจำคำ แล้วก็สงสัยแล้วสงสัยอีกว่า ทวารรูปคืออะไร หรือวิสยรูปคืออะไร โคจรรูปคืออะไร แต่ถ้ารู้ว่าจิตเกิดขึ้นต้องมีอารมณ์ และอารมณ์ที่เป็นรูปก็ปรากฏทางหนึ่งทางใดใน ๕ ทาง คือ ทางตา หรือหู หรือจมูก หรือลิ้น หรือกาย จึงใช้คำว่า “โคจรรูป” ต่างกับรูปอื่นซึ่งไม่ได้ปรากฏอย่างนี้ เพราะฉะนั้นชื่อนี้หมายความเฉพาะที่ปรากฏในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นอารมณ์ของจิต เมื่อจะมีรูปเป็นอารมณ์ ก็ไม่พ้นจากอารมณ์เหล่านี้เลย ส่วนทวาร หรือทางก็ไม่ใช่สิ่งต่างๆ เหล่านี้ แต่เป็นรูปที่สามารถกระทบที่จะให้จิตเหล่านั้นเกิดขึ้น ก็เป็นทวารรูป

    สำหรับกายวิญญัติ และวจีวิญญัติ เช่น ขณะนี้นั่งเฉยๆ คิด มีเสียงไหม (ไม่มี) แต่เมื่อมีเสียง เสียงนั้นมีความหมายตามความประสงค์ของจิต จึงเป็นทวารที่จะทำให้มีคำพูดออกมา แล้วแต่ว่าจิตขณะนั้นเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล ก็เป็นทางของกุศลกรรม และอกุศลกรรม สำหรับผู้ที่เป็นพระอรหันต์ก็ไม่ใช่ทั้งกุศลกรรม และอกุศลกรรม แต่ก็ยังเป็นทางให้มีเสียงเกิดขึ้น ให้มีความหมายให้รู้ว่า ขณะนั้นสภาพของจิตเป็นอะไร พอจะจำได้ ส่วนกายวิญญัติก็เช่นเดียวกัน นั่งอยู่เฉยๆ คนข้างๆ รู้ไหมคิดอะไร เป็นกุศล เป็นอกุศล แต่ถ้ามีการช่วยเหลือกัน รู้ไหมว่าขณะนั้นจิตของผู้ที่ช่วยเหลือเป็นอะไร (เป็นกุศลจิต) ฉะนั้นการเคลื่อนไหวที่เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐาน ตามความประสงค์ของจิตที่จะให้รูปนั้นเป็นไป ก็เป็นรูปชนิดหนึ่งซึ่งปกติไม่มี แต่เมื่อไรจิตเกิดขึ้นประสงค์จะให้รูปนั้นเป็นแบบนั้น รูปนั้นก็เกิดขึ้นเป็นไปแบบนั้น ด้วยเหตุนั้นกายวิญญัติจึงเป็นทวารหนึ่งที่เป็นทางให้จิตเกิดขึ้นกระทำกรรม หรือกิจการงานต่างๆ

    ผู้ฟัง ครั้งก่อนที่ได้ฟังรายละเอียดของรูป ก็มีความรู้เพิ่มขึ้นว่า รูปอย่างน้อยต้องเกิดร่วมกันเป็นกลุ่ม ทีนี้ก็มีความสงสัยว่า ลักษณะของรูปที่เกิดรวมกันเป็นกลุ่ม แต่เวลาปรากฏทางหนึ่งทางใด จะปรากฏแต่ละลักษณะ

    ท่านอาจารย์ ธรรมที่จะเกิด ต้องอาศัยกัน และกันเกิด จะไม่มีสภาพธรรมเกิดเพียงอย่างเดียวโดดเดี่ยว แต่ต้องมีสภาพธรรมที่เกิดร่วมด้วย เช่น จิต ก็มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย สำหรับรูปก็เช่นเดียวกัน แม้รูปที่เป็นใหญ่ เป็นประธาน คือ มหาภูตรูป ก็มี ๔ รูปที่อาศัยกัน และกันเกิดขึ้น คือมีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ขาดธาตุหนึ่งธาตุใดไม่ได้เลย ตรงนี้พอเข้าใจ แต่นอกจากนั้นรูปไม่ได้มีเพียงธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม แต่ยังมีรูปอื่นๆ ด้วย แล้วรูปอื่นๆ นั้นอยู่ที่ไหน อยู่ลอยๆ ได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็ต้องอาศัยมหาภูตรูป เกิดกับมหาภูตรูป จึงใช้คำว่า “อุปาทารูป” หรือ “อุปาทายรูป” เมื่อได้ยินคำนี้ สงสัยอีกไหม ถ้าเข้าใจแล้วไม่สงสัย แต่เมื่อได้ยินคำ ไม่รู้คำแปล ไม่รู้ความหมาย จึงสงสัย แต่ถ้าเข้าใจลักษณะของรูป จะไม่สงสัยเลย คำว่า “อุปาทายรูป” ไม่ใช่มหาภูตรูป และรูปที่เป็นมหาภูตรูป มีเพียง ๔ รูป เพราะฉะนั้นรูปอื่นทั้งหมด จะมีจำนวนเท่าไรก็ตามแต่ ก็เป็นอุปาทายรูป พอเข้าใจใช่ไหม เสียงมองเห็นไหม

    ผู้ฟัง มองไม่เห็น

    ท่านอาจารย์ กลาปของเสียง จะมีเสียงโดยที่ไม่มีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เมื่อมีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ต้องมีอุปาทายรูปอีก ๔ รูปขาดไม่ได้เลย รวมเป็น "อวินิพโภครูป ๘" หมายความว่ารูป ๘ รูป ไม่ได้แยกจากกันเลย เกิดพร้อมกัน และดับพร้อมกันด้วย ฉะนั้นสำหรับเสียงก็จะต้องมีที่ตั้งของเสียงจึงต้องมีมหาภูตรูป ๔ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม และต้องมีสี มีกลิ่น มีรส มีโอชาด้วย และเวลาที่มีเสียง ก็มีเสียงเพิ่มขึ้นอีก ๑ รูป เพราะฉะนั้นในกลาป หรือในกลุ่มของรูปที่เป็นเสียง ก็จะต้องมี ๙ รูป ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม สี กลิ่น รส โอชา และเสียง

    สำหรับโสตปสาทรูปเป็นรูปที่สามารถกระทบเสียง จะมีรูปอะไรอยู่ตรงนั้นไม่สำคัญเลย ปรากฏไม่ได้ เพราะไม่ได้กระทบกับปสาทที่จะสามารถปรากฏได้ ถ้าเป็นอ่อน หรือแข็ง ก็สามารถกระทบกับกายปสาท กลิ่นปรากฏได้ไหมคะ แม้ว่ามีกลิ่น ก็ไม่ได้ แม้ว่ามีรส รสปรากฏกับกายปสาทได้ไหม (ไม่ได้) เพราะเหตุว่ากายปสาทเป็นรูปที่สามารถกระทบเฉพาะลักษณะที่เย็น หรือร้อน อ่อน หรือแข็ง ตึง หรือไหวเท่านั้น ฉันใด เมื่อที่เสียงปรากฏ แม้ว่าจะมีรูปรวมกันที่นั่น ๘ รูปที่เป็นอวินิพโภครูป และเสียงอีก ๑ ก็ตามแต่ แต่โสตปสาทรูปสามารถกระทบเฉพาะเสียง เพราะฉะนั้นเสียงจึงปรากฏ อย่างอื่นไม่ปรากฏ แม้ว่าจะมีอยู่ในที่นั้น

    ผู้ฟัง โสตปสาทรูปก็ต้องมีอวินิพโภครูป ๘ เกิดร่วมด้วยใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง แปลว่ามีความเข้าใจแล้วว่า อย่างไรๆ ก็ตามต้องมีมหาภูตรูป ๔ และมีอุปาทายรูปอีก ๔ เป็น ๘ รูป เพราะฉะนั้นกลุ่มของรูปที่มีโสตปสาทรูป ก็มี ๘ รูปที่เป็นอวินิพโภครูป และมีโสตปสาทรูป ๑ และชีวิตินทรียรูปอีก ๑ เพราะเป็นรูปที่เกิดจากกรรม รูป รูปใดก็ตามที่เกิดจากกรรม จะเป็นรูปที่ต่างจากรูปอื่น อ่อน หรือแข็งที่เกิดจากอุตุ อย่างเช่นต้นไม้ใบหญ้า เวลาที่ไม่เป็นรูปที่เกิดจากกรรมจะไม่มีชีวิตินทรียรูป เพราะฉะนั้นกรรมทำให้รูปนั้นพิเศษต่างหากจากรูปอื่น รูปอื่นไม่ใช่รูปที่ทรงชีวิต หรือมีชีวิตเหมือนกับรูปที่เกิดเพราะกรรม ฉะนั้นกลุ่มใดของรูปก็ตามในร่างกายก็มีรูปบางกลุ่มที่เกิดจากกรรม บางกลุ่มเกิดจากจิต บางกลุ่มเกิดจากอุตุ (ความเย็นร้อน) และบางกลุ่มเกิดจากอาหาร เฉพาะกลุ่มของรูปที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐานเท่านั้นที่ต้องมีชีวิตินทรียรูปรวมอยู่ด้วย เพราะฉะนั้นในกลุ่มของโสตปสาทรูปจึงมี ๑๐ รูป เรียกว่า โสตทสกะ จากนี้เมื่อได้ยิน “โสตทสกะ” ก็ไม่สงสัยเลย ทสกะ หมายความถึงรูปที่มีโสตปสาทรูปในกลุ่มในกลาปนั้นมีทั้งหมด ๑๐ รูป

    ผู้ฟัง แต่รูปที่สามารถกระทบเสียงก็มีเพียง ๑ รูป

    ท่านอาจารย์ แน่นอน

    ผู้ฟัง การศึกษา และเข้าใจถูกต้องในส่วนละเอียด จะเกื้อกูลอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เป็นคุณสุกัญญา หรือว่าเป็นธรรม

    ผู้ฟัง เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ โสตปสาทรูปเป็นคุณสุกัญญา หรือเป็นธรรม

    ผู้ฟัง เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ อ่อนแข็งเป็นคุณสุกัญญา หรือเป็นธรรม

    ผู้ฟัง เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นพระธรรมทั้งหมดทรงแสดง ๔๕ พรรษา จากการที่ทรงบำเพ็ญพระบารมี ๔ อสงไขยแสนกัป เพื่อรู้ความจริงของธรรมว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล การศึกษาทั้งหมดเพื่อรู้ธรรมตามความเป็นจริง เพื่อที่จะได้เห็นความเป็นอนัตตา แต่ไม่ได้หมายความว่า ปัญญาของเราสามารถจะรู้ได้ทุกอย่างที่ได้ฟัง แม้แต่ขณะนี้เอง สิ่งที่ปรากฏทางตาแท้ๆ กำลังปรากฏ รู้ หรือไม่

    ผู้ฟัง ยังไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ ยังไม่รู้ เพราะฉะนั้นจุดประสงค์เพื่อให้เห็นความเป็นอนัตตา ไม่ใช่ไม่ให้เราศึกษา และไม่ใช่ให้เราไปอ่านให้หมดโดยไม่รู้เรื่อง แต่หมายความว่า สิ่งที่ได้ยินได้ฟังต้องไตร่ตรอง เพื่อจะเป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง และความเข้าใจนั้นจึงจะเจริญยิ่งขึ้น ถ้ายังไม่มีความเข้าใจที่ชัดเจน ถูกต้องในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง หรือได้อ่านก็จะผสมปนเปกับความไม่รู้ไปเรื่อยๆ และประโยชน์คืออะไร เมื่อไม่สามารถเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมแม้เพียงในขั้นฟัง หรือขั้นพิจารณาไตร่ตรองได้

    ด้วยเหตุนี้การศึกษาธรรมต้องรู้ว่า ศึกษาอะไร ไม่ใช่อยากจะฟังชื่อมากๆ อ่านมากๆ แล้วไม่เข้าใจอะไรเลย แต่ศึกษาธรรม เพราะว่าธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง เป็นชีวิตประจำวัน ไม่เคยรู้ ไม่เคยเข้าใจมาก่อน แล้วก็หลงยึดถือว่าเป็นเรา เป็นเขา เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดมานานแสนนานด้วยความไม่รู้ กว่าจะมีโอกาสได้ยินได้ฟังพระธรรม คำจริง สัจธรรมที่จะทำให้สามารถเข้าใจจริงๆ ว่า ลักษณะแท้จริงของสภาพธรรมนั้นเป็นอะไร เพราะเหตุว่าแต่ละคนมีความยึดถือในสิ่งที่ปรากฏมากมายทั้งวันที่ผ่านมาแล้ว ไม่รู้ตัวเลยว่ามากแค่ไหน เพราะฉะนั้นมีความไม่รู้ และก็ยึดถือว่า สิ่งที่เกิดแล้วดับนั้นไม่ได้ดับไปเลย ยังเที่ยง ยังเป็นเรา ยังเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ยังต้องการ ยังแสวงหา แม้ว่าโดยทางทุจริต ก็ด้วยความต้องการที่จะให้ได้มา นี่ก็แสดงให้เห็นว่า เพราะความไม่รู้จึงทำให้จิตเศร้าหมอง เป็นอกุศล ด้วยการยึดถือสภาพธรรมนั้นมากมายจนสามารถจะเป็นอกุศลประเภทต่างๆ ได้

    ผู้ฟัง ในความเข้าใจสติปัฏฐานก็คือระลึกรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีสติระลึกรู้ปัจจุบัน เท่าที่ฟังมา คือระลึกอยู่แค่นี้ยังไม่มากกว่านี้

    อ.วิชัย การศึกษาเรื่องรูป เกื้อกูลแก่สติปัฏฐานอย่างไรบ้าง

    ผู้ฟัง คิดว่าในการปล่อยวาง คือ ไม่ยึดติด และสุดท้ายก็คงเป็นแค่สี กลิ่น รส โอชาแค่นี้

    อ.วิชัย ที่ว่าปล่อยวาง ปล่อยวางโดยอย่างไร

    ผู้ฟัง ปล่อยวางโดยความมีปัญญารู้ว่า มันไม่ใช่ครับ

    อ.วิชัย ไม่ใช่ตัวตน เพราะว่าขณะนี้มีความสำคัญว่าเป็นเรา เนื่องจากเห็นก็เป็นเราเห็น ได้ยินก็เป็นเราได้ยิน แต่โดยการศึกษามีจิตที่เป็นนามธรรมรู้ เกิดขึ้นรู้ แล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งความจริงอย่างนี้ แต่การสั่งสมความไม่รู้มาเนิ่นนานก็ไม่สามารถรู้ตามความเป็นจริงได้ ดังนั้นจึงต้องอบรมในขั้นการฟัง เป็นการเริ่มความเข้าใจ แต่ความเข้าใจขั้นนั้นยังไม่ใช่ปัญญาที่รู้ในลักษณะของสภาพธรรม

    ผู้ฟัง สมถภาวนากับวิปัสสนาภาวนามีความแตกต่างกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ คำว่า “ภาวนา” คืออะไร ขอเชิญคุณคำปั่น

    อ.คำปั่น คำว่า “ภาวนา” เป็นการอบรม เป็นการเจริญ หรือกระทำให้มีขึ้น ให้เจริญขึ้น ซึ่งมี ๒ ประการ คือ สมถภาวนากับวิปัสสนาภาวนา

    ท่านอาจารย์ แล้วเวลาที่คุณณรงค์ภาวนา ภาวนาว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง ต้องอ้อนวอนขอ

    ท่านอาจารย์ ภาวนาแรกๆ นั้นอ้อนวอนขอ หรือว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง ประมาณนั้น สมัยเด็กๆ โตมาก็ไม่

    ท่านอาจารย์ แสดงให้เห็นว่า ถ้าเราไม่มีความเข้าใจ เราอาจจะคิดว่า ขอได้ ตั้งใจขอเลย ภาวนาเลยว่า ขอให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ โดยที่ไม่รู้เหตุว่าจะเป็นไปได้ หรือไม่ ใช่ไหม แต่เมื่อที่ศึกษาแล้วก็ต้องเข้าใจว่า ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด อย่าข้าม แล้วอย่าคิดว่า เรารู้แล้ว เข้าใจแล้วโดยตลอด แม้แต่คำว่า “ภาวนา” เป็นการอบรม จะอบรมสิ่งที่ดี หรือไม่ดี

    ผู้ฟัง ต้องอบรมสิ่งที่ดี

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น สิ่งที่ดีที่มีเกิดขึ้นบ้างแล้วให้เจริญขึ้น แต่ทำไมต่างกันเป็น ๒ อย่าง คือ สมถภาวนากับวิปัสสนาภาวนา ไม่ใช่ต่างกันโดยชื่อ แต่ “สมถะ” คืออะไร “วิปัสสนา” คืออะไร นี่เป็นสิ่งที่ต่างกัน ตอนนี้ทราบ หรือยังว่า สมถะ คืออะไร

    ผู้ฟัง สมถะ คือ สงบจากอกุศล

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นขณะใดที่จิตเป็นกุศล ขณะนั้นสงบไหม

    ผู้ฟัง สงบครับ จิตอ่อน ควรแก่การงาน

    ท่านอาจารย์ นิดๆ หน่อยๆ พอไหม

    ผู้ฟัง ถ้าได้มากๆ ก็ดี

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจว่า ผู้ที่จะเจริญความสงบให้มั่นคงขึ้น ต้องเห็นโทษของอกุศล ไม่ใช่อยากได้ นี่คือความต่างกัน ถ้าใครต้องการทำความสงบ เพราะอยากสงบ ไม่มีทางสงบ เพราะแม้ขณะนั้นก็อยากซึ่งไม่สงบ ไม่มีปัญญาเลย ต้องเข้าใจว่า เรื่องของธรรมซึ่งเป็นฝ่ายกุศลเป็นเรื่องละโดยตลอด แล้วแต่ว่าจะละระดับไหน ละทุจริตกรรมทางกาย ทางวาจาอย่างหยาบ หรือละสภาพของจิตซึ่งไม่สงบด้วยโลภะ โทสะ โมหะ แต่ต้องมีปัญญาจึงจะเห็นโทษ มิฉะนั้นแล้วก็ไม่สามารถสงบขึ้นได้ โดยการไม่รู้แล้วอยากสงบ เป็นไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นถ้าได้ยินคำว่า “สมถภาวนา” จะเข้าใจว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง ก็เข้าใจว่า การอบรมเจริญกุศลให้มีขึ้นกับตัวเอง

    ท่านอาจารย์ ให้มีความสงบมั่นคง เพราะกุศลสงบ เล็กๆ น้อยๆ ในวันหนึ่ง แล้วก็ไม่สงบอีกแล้ว ใช่ไหม ให้ทานนิดหนึ่งก็หมดไปแล้ว แล้วก็ไม่สงบอีกแล้ว ฉะนั้นถ้ามีกุศลมั่นคงขึ้น ความสงบก็เพิ่มขึ้น แต่มีปัญญาที่จะรู้ไหมว่า ขณะไหนเป็นกุศล ขณะไหนไม่ใช่กุศล ถ้าไม่มีปัญญา จะเจริญความสงบได้ไหม นี่เป็นสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกัน ทั้งหมดต้องเป็นเรื่องของปัญญา ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ไม่รู้อะไรเลย ก็จะไปทำสงบ หรือจะไปทำวิปัสสนา เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นตอนนี้พอที่จะเข้าใจความหมายของคำว่า “ภาวนา” ความหมายของ “สมถะ” คือสงบจากอกุศล แต่สำหรับ “วิปัสสนาภาวนา” “วิ” แปลว่า แจ้ง “ปัสสนา” แปลว่า เห็น เห็นแจ้งด้วยปัญญา คือความเห็นถูกต้องตามความเป็นจริงของสภาพธรรม

    เพียงเท่านี้ก็แสดงแล้วว่า ผู้ที่เข้าใจวิปัสสนาภาวนา คือผู้ที่รู้ว่า แม้สภาพธรรมปรากฏก็ไม่ได้รู้แจ้ง เพราะฉะนั้นจึงต้องอบรมโดยขั้นฟังให้เข้าใจก่อน เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีความเข้าใจในขั้นฟัง แล้วจะรู้แจ้งอะไร ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย ด้วยเหตุนี้ปัญญาจึงต้องเจริญขึ้นตามลำดับ ข้ามขั้นไม่ได้เลย พระธรรมที่ทรงแสดงไว้ ตั้งแต่ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ไม่ใช่ปฏิเวธ แล้วปฏิบัติ แล้วปริยัติ เพราะบางคนที่ไม่เข้าใจก็จะกล่าวว่า ฟังแล้วไม่สามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้ ต้องไปปฏิบัติ ถูก หรือผิด

    ผู้ฟัง ผิด ต้องฟังให้เกิดปัญญาก่อน

    ท่านอาจารย์ แล้วปฏิบัติรู้อะไร ในเมื่อไม่ได้เข้าใจอะไรมาก่อนเลย ก็ไม่ประกอบด้วยเหตุผล ผู้ที่ฟังพระธรรม ไม่ใช่เพียงฟัง แต่ไตร่ตรอง พิจารณาจนกระทั่งเป็นความเห็นถูกในแต่ละขั้น ด้วยเหตุนี้วิปัสสนาภาวนา การรู้แจ้ง เห็นแจ้ง เข้าใจถูก เข้าใจอะไรถูก ต้องมีเรื่องที่จะต้องเข้าใจให้มั่นคงขึ้นตามลำดับ วิปัสสนารู้อะไร

    ผู้ฟัง ก็คือต้องเห็นแจ้งสภาวธรรม

    ท่านอาจารย์ เมื่อไร

    ผู้ฟัง ทุกขณะ

    ท่านอาจารย์ สภาวธรรมอะไร

    ผู้ฟัง เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส

    ท่านอาจารย์ ที่ปรากฏในชีวิตประจำวันเพราะเกิดแล้ว เกิดแล้วดับแล้วด้วย เพราะฉะนั้นจะต้องกังวลถึงสิ่งที่ดับไปแล้วไหม หรือว่าขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏให้ฟัง ให้เข้าใจ ในขณะนั้นก็เป็นสติขั้นหนึ่งในขณะที่เข้าใจ เพราะว่าขณะใดก็ตามที่มีปัญญา หรือความเห็นถูก ขณะนั้นต้องมีสติ ถ้าไม่มีสติไม่เป็นกุศล ขณะที่ฟัง เข้าใจไม่ได้เลย เผลอไปแล้ว คิดเรื่องนั้นแล้ว คิดเรื่องนี้แล้ว คิดอย่างอื่นแล้ว ก็ไม่สามารถเข้าใจได้ หรือกำลังฟังเรื่องนี้ แต่คิดเรื่องอื่น ก็ไม่ได้ยินคำที่ได้ฟัง และไม่สามารถเข้าใจได้ เพราะฉะนั้นการฟังก็คือการฟัง แล้วก็ไตร่ตรอง เป็นความเข้าใจถูก หรือผิดในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง

    เมื่อรู้ว่า การเห็นแจ้ง ไม่ใช่เห็นแจ้งอื่น นอกจากธรรมที่กำลังปรากฏ โดยมีความเข้าใจจริงๆ ในขั้นการฟังว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เรา ยากไหม แม้ในขั้นการฟังที่จะรู้ว่าเป็นธรรม เช่นสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นธรรม แค่ฟังให้เข้าใจว่า มีจริงๆ แล้วยังไม่รู้เรื่องของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาเลยว่าเป็นธรรม เพราะเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดตลอดเวลา

    เพราะฉะนั้นการฟังให้เข้าใจ ก็จะทำให้รู้ว่า ปัญญาจากการฟัง เมื่อมีความเข้าใจมั่นคงขึ้นในสิ่งที่กำลังปรากฏ ก็จะมีการระลึกเกิดขึ้น คือ ขณะนั้นรู้ลักษณะที่กำลังปรากฏ ลักษณะที่เป็นธรรมซึ่งเกิดดับเร็วมาก สลับกันจนกระทั่งไม่ปรากฏว่า ลักษณะของสภาพธรรมอย่างหนึ่งเกิดแล้วดับไป เช่นขณะนี้เสมือนว่ามีทั้งเห็น และได้ยิน ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ ก็เป็นความไม่รู้ และความเป็นเรา ความเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด จะหมดความเป็นตัวตนได้อย่างไร ในเมื่อยังไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมแต่ละลักษณะ ซึ่งเกิดแล้วดับจริงๆ

    เพราะฉะนั้นการที่เคยเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่รวมกันตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า เป็นคน เป็นเรา หรือว่าจะเป็นวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามแต่ ก็รวมกันแล้ว ไม่ได้รู้ความจริงว่า แท้ที่จริงแล้ว ลักษณะของสภาพธรรมทั้งหมดเลยเกิดปรากฏทีละอย่าง ไม่ปะปนกัน แล้วก็สามารถประจักษ์ความจริงแบบนี้ได้


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 168
    22 ธ.ค. 2566