พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 371


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๗๑

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๐


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นการฟังธรรม ก็คือฟังเพื่อจะเข้าใจถูกในลักษณะของสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ จนกว่าเริ่มที่จะเข้าใจลักษณะ เพราะมีลักษณะจริงๆ อย่างเร็วมาก เห็นขณะนี้เกิดแล้วดับเร็วมาก ทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฎที่เกิดแล้วดับเร็วมาก จนยากที่จะรู้ได้ ต้องอาศัยการฟัง และค่อยๆ เข้าใจ ค่อยๆ พิจารณา เป็นความเห็นถูกในขั้นฟังอย่างมั่นคง จะเป็นพื้นฐานที่ทำให้สติสัมปชัญญะเกิด เราไม่ต้องใช้คำว่า “สติสัมปชัญญะ” ก็ได้ แต่ที่ใช้เพื่อให้รู้ความต่างของลักษณะของสติในขั้นฟังเรื่องราวของสภาพธรรมกับขณะที่มีสภาพธรรม แล้วความรู้ความเข้าใจจากการฟัง ก็เริ่มที่จะไม่ละเลยการที่จะรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เพราะขณะนี้ยากที่จะรู้ว่า ไม่มีการรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เพราะเหตุว่าดับแล้ว และมีการคิดนึก การจำสิ่งที่ปรากฏเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดมานานแสนนาน

    เพราะฉะนั้นกว่าจะลอก กว่าจะแกะ กว่าจะคลายความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อกันเป็นแต่ละลักษณะจริงๆ จึงจะรู้ได้ว่าไม่มีตัวตนเลยทั้งสิ้น แต่ถ้าปัญญายังไม่เจริญถึงขั้นนี้ ก็ยังมีความเป็นเราเพราะไม่รู้ ยังมีความเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดเพราะไม่รู้ความจริงว่าเป็นแต่เพียงลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งปรากฏได้เมื่อเกิดขึ้น และปรากฏได้แต่ละทาง แล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว อย่างนี้จะเป็นอะไรได้ นอกจากเป็นธรรม

    ผู้ฟัง ทุกวันนี้สภาพธรรมในชีวิตประจำวันมีอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่มีปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ แต่เหมือนกับไม่รู้ว่าความเป็นเราอยู่ตรงไหน

    ท่านอาจารย์ แล้วสิ่งที่กำลังปรากฏจะรู้ไหมว่าเป็นธรรม จะไปนั่งหาเราให้เจอ แต่สิ่งที่ปรากฏขณะนี้คือเห็นแล้วสิ่งที่ปรากฏทางตา เสียงแล้วก็ได้ยิน ไม่สนใจที่จะเข้าใจ จนกระทั่งรู้ว่า ไม่ต้องไปหาเราหรอก เพราะไม่มี แต่มีสิ่งที่ปรากฏเท่านั้นเอง ไม่มีอื่นจากนั้นที่เป็นเราได้

    ผู้ฟัง อย่างนั้นก็ควรใส่ใจในสภาพสิ่งที่มีจริง

    ท่านอาจารย์ ฟังเพื่อเข้าใจ ใครจะไปบังคับให้รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ โดยไม่มีความเข้าใจไม่ได้แน่นอน พยายามเท่าไรที่จะไปนั่ง ไปจ้องอย่างไร ก็ไม่สามารถไปรู้ความจริงของสภาพธรรมที่ปรากฏ แล้วเมื่อมีความเข้าใจแล้ว ก็รู้ว่าพระธรรมที่ทรงแสดงเป็นความจริง เพราะสามารถทำให้ผู้ฟังเข้าใจความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ จนกระทั่งสามารถแทงตลอด ประจักษ์แจ้งความจริงของสิ่งนั้นได้ เพราะความจริงเป็นอย่างนี้ ไม่เป็นอื่น ต้องฟังจนกระทั่งมีความเข้าใจ ไม่ต้องไปคิดถึงเราวันนี้เข้าใจเท่าไร ยังมีตัวตนอีกมากมายเหลือเกิน โน่นก็เรา นี่ก็ของเรา ไม่จำเป็นต้องคิดอย่างนั้น เพราะเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว แต่การที่จะอบรมความเห็นถูก ความเข้าใจให้รู้ถูกในสิ่งที่มีจริงๆ เป็นปกติที่จะค่อยๆ เจริญขึ้น ใครจะไปฝืนให้มีมากๆ ทันที เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

    ผู้ฟัง ต้องเริ่มต้นจากการฟัง และมีความเข้าใจตรงถูกต้อง ว่าสภาพธรรมในชีวิตประจำวันมีจริงๆ และเป็นอย่างนั้นจริงๆ

    ท่านอาจารย์ คุณสุกัญญากำลังฟังอะไร

    ผู้ฟัง ฟังธรรม

    ท่านอาจารย์ แล้วเข้าใจจากการฟัง

    ผู้ฟัง เข้าใจทีละเล็กทีละน้อย

    ท่านอาจารย์ ก็ถูกต้องแล้ว

    ผู้ฟัง แต่ว่ายังไม่ได้ประจักษ์แจ้งลักษณะ

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ปัญญามี ๓ ระดับขั้น ข้ามขั้นได้อย่างไร

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์เคยกล่าวว่า ลักษณะของสภาพธรรมในชีวิตประจำวันนั้นมีจริง

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้มีจริงไหม

    ผู้ฟัง มีจริง แต่ว่าข้าม

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะว่าไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏซึ่งเกิดแล้วดับ ก่อนที่จะรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร

    ผู้ฟัง แล้วมันข้ามอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่รู้ว่าขณะนี้ไม่ใช่คุณสุกัญญา ไม่ใช่โต๊ะ ไม่ใช่เก้าอี้ แต่เป็นสิ่งที่สามารถปรากฏให้เห็นเฉพาะจักขุวิญญาณ ถ้าจิตเห็นไม่เกิดขึ้นเห็นขณะนี้ สิ่งที่ปรากฏขณะนี้ปรากฏไม่ได้เลยแม้มี เหมือนเสียง เสียงก็เป็นสิ่งที่มี แต่เสียงก็ปรากฏไม่ได้เลย ถ้าไม่มีจิตเกิดขึ้นได้ยินเสียงที่ยังไม่ดับด้วย นี่คือความลึกซึ้ง ความรวดเร็วของสภาพธรรม ซึ่งคนธรรมดาที่ไม่ได้ฟังธรรม ไม่สามารถจะรู้ได้เลย พื้นฐานไม่ใช่ให้ไปทำอย่างอื่น ฟังแล้วฟังอีก แล้วก็มีสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นก็สามารถรู้ได้ว่า ปัญญาจากการได้ยินได้ฟังเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน

    ผู้ฟัง สติกับจิตมีความเหมือน หรือต่างกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ต่างกัน เพราะเหตุว่าไม่ว่าจะกี่โลก กี่จักรวาล สภาพธรรมที่มีจริงก็คือว่า มีเพราะเกิดขึ้น แต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย เสียงเกิดแล้ว เสียงไม่รู้อะไร กลิ่นเกิดแล้ว กลิ่นก็ไม่รู้อะไร สิ่งที่ปรากฏทางตาก็ปรากฏให้เห็นได้ แต่ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏนั้นไม่รู้อะไร เพราะฉะนั้นสภาพที่มีจริง และไม่รู้ทั้งหมด ไม่ว่าจะมองเห็น หรือมองไม่เห็นก็ตาม สภาพธรรมนั้นเป็นรูปธรรม เพราะเหตุว่าไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น อันนี้ไม่สงสัยใช่ไหม แข็งเป็นธรรม หรือไม่ เป็นรูปธรรม หรือไม่ เพราะไม่รู้อะไร แต่ว่าถ้ามีแต่เฉพาะรูปธรรมเท่านั้น ไม่เดือดร้อนเลย แต่ว่าความจริงไม่มีใครสามารถไปยับยั้ง ไปกันไม่ให้มีอะไรเกิดขึ้น เมื่อมีเหตุปัจจัย

    เพราะฉะนั้นเมื่อมีเหตุปัจจัย ธรรม หรือธาตุอีกชนิดหนึ่ง ซึงไม่ใช่รูปธาตุ ไม่ใช่รูปธรรม มีจริงๆ ค่ะ เกิดแล้วในขณะนี้ เป็นธาตุรู้ เกิดเพราะเหตุปัจจัย เมื่อมีเหตุปัจจัยของธาตุรู้ประเภทไหน ธาตุรู้ประเภทนั้นจึงเกิดขึ้น ไม่มีใครไปยับยั้ง ไม่มีใครไปสร้างได้เลย เพราะฉะนั้นสภาพรู้ หรือธาตุรู้ คนไทยไม่คุ้นหูกับคำนี้ เพราะเหตุว่าเราคิดว่า รู้ ต้องเป็นเรื่องราว ต้องเป็นความรู้จากการเรียนวิชานั้นวิชานี้ ความจริงแล้วถ้ากล่าวถึงสภาพธรรมที่สามารถจะรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏ เช่น เห็น ถ้าไม่มีธาตุรู้เกิดขึ้นเห็น เราไม่พูดถึงเรา เราไม่พูดถึงคน แต่พูดถึงธรรมประเภทหนึ่ง ซึ่งสามารถเห็น และกำลังเห็นด้วย ลักษณะนั้นมีจริง เป็นธรรม เป็นธาตุ เพื่อแสดงความต่าง ซึ่งลักษณะจริงๆ ต่างกันแล้ว ก็ต้องใช้คำให้ต่างด้วย คือ ใช้คำว่า “นามธาตุ” หรือ “นามธรรม” ตรงกันข้ามกับรูปธรรม รูปธรรมเกิด มีจริงๆ แต่รู้อะไรไม่ได้เลย ส่วนนามธาตุมีจริงๆ เกิด ต้องรู้ ทุกครั้งที่เกิดเป็นธาตุที่ต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏให้รู้ เช่น เสียง ปรากฏให้รู้ว่ามีเสียง แล้วต้องเป็นเสียงนั้นด้วย เสียงที่กำลังปรากฏด้วย ไม่ใช่เสียงอื่น เพราะมีธาตุที่รู้ คือ ได้ยินเสียง

    เพราะฉะนั้น “รู้” ที่นี่ ไม่ใช่เป็นการรู้วิชาหนึ่งวิชาใด แต่หมายความถึงเป็นธาตุที่สามารถจะรู้ว่า มีสิ่งกำลังปรากฏให้รู้ สำหรับนามธาตุต่างกันเป็น ๒ ประเภท ทั้งๆ ที่เป็นนามธาตุ ลองคิดถึงความน่าอัศจรรย์ของธรรม รูปธาตุที่มองไม่เห็นก็ยังเป็นรูป อย่างกลิ่น เวลาที่กลิ่นปรากฏก็ต่างกับเสียงที่ปรากฏ มองไม่เห็นเสียง มองไม่เห็นกลิ่น แต่ก็เป็นรูปธรรม แต่ยังมีธาตุอีกชนิดหนึ่ง ไม่มีทางที่จะมองเห็นได้เลย ไม่มีรูปร่าง ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส แต่เป็นธาตุรู้ ซึ่งเมื่อเกิดขึ้น ไม่มีรูปใดๆ เจือปนทั้งสิ้น แต่เป็นธาตุซึ่งเมื่อเกิดแล้วเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ

    ขณะนี้ถ้าพูดถึงเห็น เป็นธรรมดา เห็นอะไรบอกได้ เพราะกำลังเห็นสิ่งนั้น จึงบอกได้ว่า สิ่งนั้นเป็นอะไร เพราะความจำ ได้ยินเสียง ไม่ต้องพูดเลย เสียงปรากฏ รู้ในลักษณะของเสียงนั้น โดยไม่ต้องพูด แต่ถ้าจะบรรยายว่า เสียงอะไร ก็ต้องมีคำมากมายที่อธิบาย เช่น เสียงดนตรี หลายเครื่องดนตรี ก็ต่างๆ กันไป เพราะฉะนั้นแต่ละรูปมีลักษณะที่เกิดแล้วดับไป ทุกอย่างที่เกิดแล้วดับ ไม่กลับมาอีกเลย นี่คือความเป็นอนัตตา ซึ่งไม่ใช่ของใคร เพียงปรากฏให้รู้ ให้เห็น ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ขณะนี้เห็นไหม

    ผู้ฟัง เห็น

    ท่านอาจารย์ รูปธรรมเห็นได้ไหม

    ผู้ฟัง เห็นได้

    ท่านอาจารย์ รูป สภาพของรูป เป็นสภาพรู้ หรือเห็นได้ไหม

    ผู้ฟัง เห็นได้

    ท่านอาจารย์ รูปอะไรเห็นได้

    ผู้ฟัง สี

    ท่านอาจารย์ สีเป็นรูปธรรม เพราะไม่เห็น สีไม่ได้เห็นอะไรเลย รูปธรรมไม่รู้ ไม่เห็น ไม่คิด ไม่จำ ขณะนี้มีรูปปรากฏทางไหนบ้าง

    ผู้ฟัง ตา

    ท่านอาจารย์ ทางตา รูปนี้กำลังปรากฏใช่ไหม เพราะฉะนั้นต้องมีสภาพที่รู้ คือ เห็นถูกต้องไหม สภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ไม่ทำหน้าที่อื่นเลยทั้งสิ้น ทำหน้าที่เดียว เกิดเมื่อไร ก็รู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ธรรมดาๆ อย่างนี้ คือ เห็นนี่แหละเป็นจิต เป็นนามธรรม เป็นธาตุที่เป็นใหญ่ สามารถรู้เฉพาะลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏอย่างเดียว เวลาที่เสียงปรากฏ เสียงเป็นรูปธรรม หรือนามธรรม

    ผู้ฟัง เสียงเป็นรูปธรรม

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีนามธาตุที่ได้ยินเสียง เสียงปรากฏได้ไหมคะ

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ เพราะฉะนั้นสภาพที่เป็นใหญ่ในการรู้แจ้งลักษณะของเสียง เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ใช้คำว่า “เป็นใหญ่” เป็นใหญ่จริงๆ ไม่มีใครสามารถเป็นใหญ่ในการรู้แจ้งลักษณะของสิ่งนั้นได้ นอกจากธาตุนี้ เพราะฉะนั้นธาตุนี้เป็นมนินทรีย์ จะใช้คำว่า จิต หรือ มนะ หรือ มโน หรือ อะไรก็ได้ และจะใช้ภาษาไทยธรรมดา สภาพรู้ที่เป็นใหญ่ในการรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เวลารับประทานอาหารมีรสหลายรส เพราะว่าอะไร

    ผู้ฟัง เพราะว่ารู้

    ท่านอาจารย์ เพราะจิตรู้แจ้งในลักษณะของแต่ละรส จึงรู้ว่า แต่ละรสต่างกัน อาหารรสต่างกันไหม

    ผู้ฟัง ต่างกัน

    ท่านอาจารย์ เพราะจิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งลักษณะของรสที่ปรากฏ ธาตุที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งนั้นเป็นจิต เริ่มเข้าใจตลอดชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย มีสิ่งที่ปรากฏเพราะจิตเป็นสภาพรู้แจ้งในสิ่งที่ปรากฏ แต่ไม่ใช่เป็นปัญญา ไม่ใช่เป็นความเห็นถูก ไม่ใช่เป็นสติ ไม่ใช่เป็นธรรมอื่น เพียงแต่เป็นธาตุที่สามารถเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส คิดนึก เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏ แต่ว่าจิต นามธาตุ หรือรูปธาตุใดๆ ก็ตามไม่สามารถจะเกิดเพียงลำพัง ต้องมีสิ่งที่อาศัยกัน และกันเกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้นแม้นามธาตุคือจิต จะเกิดล้วนๆ จิตอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีนามธาตุซึ่งเกิดร่วมกัน อาศัยกัน และกันเกิด ธาตุนั้นไม่ได้เป็นใหญ่ เป็นประธาน แต่ว่าอาศัยเกิดกับจิต เกิดในจิต ดับพร้อมจิต รู้สิ่งเดียวกับจิต คือ รู้อารมณ์คือสิ่งที่จิตกำลังรู้ สภาพนั้นทั้งหมดเป็นเจตสิก ไม่ใช่จิต ด้วยเหตุนี้จึงต้องอาศัยความต่างของนามธรรม ซึ่งเป็นธาตุรู้ที่เกิดว่าต่างกันเป็น ๒ อย่าง และเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกันด้วย ในขณะที่นามธาตุ หรือจิตเกิดขึ้น ๑ ขณะ จะต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยหลายประเภท แต่จิต ๑ ขณะเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้สามารถพิจารณาต่อไปได้ โกรธมีไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ เป็นใหญ่ เป็นประธาน หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าต้องมีสิ่งที่จิตกำลังรู้ แล้วก็ไม่ชอบ ไม่พอใจในสิ่งที่ปรากฏในสิ่งที่จิตรู้ เพราะฉะนั้นสภาพลักษณะที่ขุ่นใจ ไม่พอใจ ไม่ใช่จิต แต่เป็นเจตสิกที่เกิดกับจิต ๑ ประเภทในบรรดาเจตสิกทั้งหมดที่เกิดกับจิต จะมีต่างกันเป็น ๕๒ ประเภท เพราะฉะนั้นจิตไม่ใช่เจตสิก สติเป็นจิต หรือไม่

    ผู้ฟัง สติไม่ใช่จิต คิดว่าน่าจะเป็นเจตสิกมากกว่า

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่น่าจะ เป็นนามธรรมแน่ๆ เพราะมีจริง และเกิดกับจิต สภาพนามธรรมทั้งหมดที่เกิดกับจิต เป็นเจตสิก ไม่เว้นเลย เป็นเจตสิกทั้งหมด ความโลภ ความติดข้องมีไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ เป็นรูป หรือเป็นนาม

    ผู้ฟัง เป็นนาม

    ท่านอาจารย์ เป็นจิต หรือเจตสิก

    ผู้ฟัง เป็นเจตสิก

    ท่านอาจารย์ ก็หมดความสงสัยว่า สติก็ต้องเป็นเจตสิก ไม่ใช่จิต

    ผู้ฟัง เจตสิกจะมีทั้งมิจฉาเจตสิกด้วยไหม

    ท่านอาจารย์ เจตสิกก็แบ่งเป็น ๓ ประเภท ประเภทที่เกิดกับจิตทั่วๆ ไป และเจตสิกที่เป็นอกุศลเท่านั้น กับเจตสิกที่เป็นฝ่ายดี เป็นโสภณ เมื่อเกิดเมื่อไร จิต และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยก็เป็นโสภณ

    ผู้ฟัง สมมติว่า เรารู้ว่า รสนี้หวาน ถ้าเราจะบอกว่า รสนี้หวานเกินไป อันนี้เป็นมิจฉาสติไหม

    ท่านอาจารย์ ยังไม่ต้องไปถึงว่าเป็นอะไร แต่ว่ามีจริงๆ พื้นฐานว่าเป็นเรา หรือไม่ หรือว่าเป็นธรรม

    ผู้ฟัง เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ เป็นจิต หรือเจตสิกที่รู้ลักษณะที่หวาน จะหวานมาก หวานน้อยก็ตาม สภาพหวานยังต่างกันเลย แล้วอะไรเป็นธาตุที่สามารถรู้แจ้งในความต่างของความหวานมาก หวานน้อย อะไรที่รู้แจ้งในลักษณะนั้น

    ผู้ฟัง จิตรู้

    ท่านอาจารย์ เป็นจิต แต่ชอบไหมหวานมากๆ หรือหวานน้อยๆ

    ผู้ฟัง แล้วแต่

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นก็คือเจตสิก ชอบ หรือไม่ชอบก็เป็นเจตสิก แต่จิตจะเป็นสภาพที่รู้แจ้งลักษณะนั้นเท่านั้นอย่างเดียว อย่างอื่นเป็นเจตสิกทั้งหมด ซึ่งแต่ละเจตสิกละเอียด และบางครั้ง บางเจตสิกก็คล้ายกัน ต้องอาศัยการศึกษาเพิ่มขึ้น การเข้าใจเพิ่มขึ้น แต่ไม่ใช่สามารถบอกได้ว่า นี่เป็นมิจฉา หรือสัมมาโดยชื่อ แต่ต้องเป็นความเข้าใจธรรม การศึกษาธรรมที่สามารถรู้ว่า ไม่ใช่ตัวตนได้ ก็ต่อเมื่อเข้าใจธรรมที่กำลังปรากฏ ในครั้งพุทธกาลคนที่ไปเฝ้าฟังพระธรรม มีธรรมที่กำลังปรากฏขณะนั้น ไม่ใช่ไปกล่าวถึงอนันตรปัจจัย สมันตรปัจจัย หรืออะไร แต่กล่าวถึงลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ที่สามารถจะรู้ในความเป็นธรรมแต่ละอย่างได้

    เพราะฉะนั้นปัญญาต้องตามลำดับ ไม่ใช่ไปพูดถึงสิ่งที่เรายังไม่เข้าใจ และทั้งๆ ที่กำลังปรากฏ ก็ยังไม่รู้สภาพที่เป็นจริงๆ แต่จะไปกล่าวถึงปัจจัยหลากหลาย ก็ต่อเมื่อเราเริ่มเข้าใจตามลำดับขั้น เพียงพอที่จะกล่าวถึงให้เข้าใจขึ้นทีละเล็กทีละน้อย แต่ต้องเป็นการกล่าวเพื่อเข้าใจความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น

    ผู้ฟัง ศึกษาพระธรรมอย่างไรถึงจะได้ชื่อว่า ศึกษาพระธรรมโดยที่ไม่ได้เป็นเรื่องของชื่อ หรือเรื่องของพระธรรม

    ท่านอาจารย์ ศึกษาเพื่อรู้จักถูกต้องว่า ธรรมคืออะไร ไม่ได้เป็นชื่อที่เราเรียกโดยไม่มีลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ที่ศึกษาเพราะไม่รู้ ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ ถ้ารู้แล้วไม่ต้องศึกษาเลย เพราะฉะนั้นการศึกษาเพื่อเข้าใจขึ้นจนกระทั่งรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ ทุกคนรู้ว่า การศึกษาธรรมมี ๓ ระดับ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ กำลังฟังก็อยากจะถึงปฏิเวธ เมื่อไรจะรู้แจ้งแทงตลอดลักษณะของสภาพธรรม เป็นไปไม่ได้เลย หรือว่าน้อยกว่านั้น ฟังแล้วเมื่อไรสติจะเกิด เป็นสติปัฏฐาน เป็นปฏิปัตติ แม้ว่าไม่ใช่ขั้นปฏิเวธก็ขอให้เป็นขั้นที่สติกำลังรู้สิ่งที่ปรากฏ ก็เป็นไปไม่ได้อีก เพราะอะไร เพราะอยาก เพราะติด เพราะต้องการ เพราะหวัง แล้วจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้อย่างไร

    เพราะฉะนั้นถ้ามีความเข้าใจจริงๆ ว่า ความไม่รู้มาก แล้วที่จะรู้ขึ้นได้ ไม่ใช่เราเลย แต่เป็นปัญญา ซึ่งเริ่มต้นจากการฟัง ไตร่ตรอง ให้เข้าใจลักษณะของสิ่งที่มีจริง แล้วแต่จะเข้าใจมากน้อยแค่ไหน เมื่อฟังแล้วมีความเข้าใจถูกเพิ่มขึ้น ไม่ต้องไปหวังว่า สติสัมปชัญญะจะเกิด หรือว่าแทงตลอดลักษณะของสภาพธรรม ตราบใดที่ความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมยังไม่ได้เพิ่มขึ้น เพราะเหตุว่าความไม่รู้มีมาก ปกปิดลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรม ยิ่งมีความต้องการก็ยิ่งฉาบทาไว้จากที่ปกปิด ให้ไม่มีทางรู้ได้เลย เพราะฉะนั้นถ้ามีความเข้าใจก็ละความต้องการ และละความไม่รู้ จนกว่าสภาพธรรมจะสามารถปรากฏโดยสติสัมปชัญญะรู้ความเป็นจริงในลักษณะที่ได้ฟังมาตั้งแต่ต้นว่าเป็นธรรม แค่นี้ ทั้งๆ ที่ขณะนี้ก็เห็น แล้วก็มีสิ่งที่ปรากฏ ก็ยังไม่ได้เป็นการรู้ความเป็นธรรมของทั้งเห็น และสิ่งที่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้นฟังอย่างไร เริ่มเขว จะทำ ให้ฟังอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ฟังแล้วเข้าใจในความเป็นสภาพธรรม ค่อยๆ เข้าใจขึ้นละเอียดขึ้น ก็จะเห็นความเป็นจริงว่า เป็นธรรมจริงๆ แม้แต่การเกิดก็ละเอียดมาก ที่จะรู้ว่า ไม่ได้เกิดขึ้นตามความต้องการ แต่มีเหตุปัจจัยที่ทำให้สภาพธรรมนั้นเกิด และอีกประการหนึ่งก็คือว่า ต้องเป็นผู้ไม่ประมาทในพระธรรม ไม่คิดว่าง่าย ไม่คิดว่าเข้าใจแล้ว ไม่คิดว่ารู้แล้ว ฟังเรื่องนามธรรมรูปธรรมมานานแล้ว เหมือนกับไม่ต้องฟังอะไรอีกแล้ว นั่นไม่ถูกต้อง เพราะว่าจริงๆ แล้วต้องเป็นผู้ที่ละเอียด อย่างได้ยินคำว่า นามธรรมกับรูปธรรม ต้องไม่มีการสับสน ถ้ายังไม่เข้าใจชัดเจน ต่อไปก็จะไม่เข้าใจข้อความในพระไตรปิฎก ซึ่งแสดงโดยหลากหลายนัย เพราะบางแห่งคำว่า “รูป” รวมทั้งนามธรรมด้วย ก็งงใช่ไหม ถ้ามีความเข้าใจตามลำดับจริงๆ จะรู้ว่า เฉพาะข้อความนั้นเป็นอย่างนั้น เพราะอะไร ทำไมจึงใช้คำนั้น

    นี่เป็นสิ่งที่ละเอียดที่จะต้องเข้าใจแต่ละคำ ไม่ผ่าน ไม่เผิน อย่างเช่นได้ยินคำว่า “อินทรียรูป” ไม่ได้มีคำว่า “ชีวิต” รวมอยู่ด้วย หมายความถึงอะไรก่อน รูปที่เป็นใหญ่ ยังไม่ได้บอกว่ารูปอะไรบ้าง แต่เริ่มเข้าใจว่า ในบรรดารูปทั้งหลาย รูปที่เป็นใหญ่ก็มี รูปที่ไม่เป็นใหญ่ก็มี และเป็นใหญ่เมื่อไร โดยสถานะใด นี่คือความละเอียดที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมให้ถูกต้องชัดเจนขึ้น เพื่อที่จะได้เป็นธรรม ไม่ใช่เรา พอถึงคำว่า “ชีวิตินทรีย” มีชีวิตเพิ่มขึ้นมาอีก ไม่ได้หมายความถึงรูปอื่นๆ ที่เป็นอินทรีย์ แต่หมายความเฉพาะสิ่งที่เป็นอินทรีย์ ที่เป็นใหญ่ ที่เป็นชีวิต ก็มีทั้งที่เป็นนาม และเป็นรูป จึงมีชีวิตินทรียที่เป็นนาม และชีวิตินทรียที่เป็นรูป

    เพราะฉะนั้นถ้าเข้าใจว่านามกับรูปต่างกัน จะไม่ปนกันเลย จะไม่เอาเรื่องนั้นมาปนกับเรื่องนี้ จะมีชีวิตยืนยาว เพราะมีรูปนั้นดำรงรักษาอยู่ นั่นคือไม่ได้เข้าใจแต่ละรูป แต่เป็นเรื่องที่คิดนึกขึ้นมา แล้วก็เอาความหมายมาคิดเอง แต่ว่าตามความเป็นจริงจะต้องรู้จริงๆ ว่า แม้แต่คำว่า “ชีวิตินทรีย” ซึ่งเป็นใหญ่ที่เป็นรูปก็ต้องเป็นรูป จะเป็นนามธรรมไม่ได้ และที่เป็นนามธรรมก็เป็นนามธรรม จะเป็นรูปไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้ามีความรู้เป็นพื้นฐานที่มั่นคง ไม่ไขว่เขว แต่ว่าค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกต้องยิ่งขึ้น


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 168
    21 ธ.ค. 2566