พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 393


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๙๓

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๐


    ท่านอาจารย์ ทำไมตระหนี่จึงเกิดกับโทสะ เห็นไหม ไม่ได้เข้าใจหาเหตุผล แต่อยากจะรู้เท่านั้นเองว่า สิ่งนั้นต่างกับสิ่งนั้น เพราะอย่างนั้น อย่างนี้ แต่ว่าตามความเป็นจริงก็ต้องมีเหตุผลด้วย เวลาตระหนี่เกิดขึ้นรู้ไหมว่า ทำไมขณะนั้นเกิดกับจิตที่เป็นโทสมูลจิต

    ผู้ถาม เพราะไม่อยากให้ของที่เป็นของเราไปเป็นของคนอื่น

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นความรู้สึกเป็นอย่างไร เวลาตระหนี่

    ผู้ฟัง ไม่สบายใจ

    ท่านอาจารย์ สามารถบอกได้จากความรู้สึกซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ต้องเกิดกับจิตทุกประเภท แล้วแต่ว่าความรู้สึกในขณะนั้นจะเป็นโสมนัส หรือโทมนัส หรือเฉยๆ อทุกขมสุข ขณะที่กำลังไม่สบายใจ ไม่อยากสละให้คนอื่น ขณะนั้นเป็นสภาพธรรมที่ตระหนี่ พอจะเข้าใจแล้วใช่ไหม หรือยัง

    ปกติโลภะเกิดเป็นประจำ แต่เวลาที่มีความรู้สึกเหมือนกับไม่สบายใจ ไม่อยากจะให้สิ่งนั้นสาธารณะกับบุคคลอื่น ให้เป็นของเรา สังเกตได้จากความรู้สึกขณะนั้น ถ้าเกิดความรู้สึกไม่สบายใจ ไม่ให้ ขณะนั้นเพราะตระหนี่ ไม่สามารถสละให้บุคคลอื่นได้

    วันนี้ตระหนี่ หรือยัง สภาพธรรมเพื่อให้เข้าใจถูก เห็นถูกในสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏ แต่ว่าโดยมากเราจะได้ยินชื่อกับเรื่องราว เช่น โลภะ สภาพที่ติดข้อง เหมือนไม่ปรากฏเลย ชีวิตปกติธรรมดา เกิดมาก็เป็นไป ต้องบริหารร่างกาย ต้องบริโภคอาหาร ต้องทำกิจธุระ มองไม่เห็นว่า ขณะนั้นเป็นจิตประเภทไหน

    ด้วยเหตุนี้การศึกษาธรรม เพื่อเข้าใจธรรมที่มีจริงๆ ซึ่งเกิดดับสืบต่อ แม้จะเร็วมากสักเท่าไร พระผู้มีพระภาคทรงประจักษ์ความจริงให้คนที่ได้ฟัง เริ่มมีความเข้าใจถูก จนสามารถประจักษ์แจ้งความจริงซึ่งเป็นธรรม ซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

    อ.วิชัย ที่ว่าไม่เข้าใจ ไม่เข้าใจอะไร

    ผู้ฟัง ไม่เข้าใจลักษณะของความตระหนี่

    อ.วิชัย เคยหวงแหนสิ่งของที่ไม่อยากจะให้เป็นสาธารณะแก่บุคคลอื่นไหม

    ผู้ฟัง ก็เคย

    อ.วิชัย ขณะนั้นเป็นลักษณะของความตระหนี่ ซึ่งเกิดกับโทมนัสเวทนา หรือความรู้สึกไม่สบายใจที่ของของเราจะสาธารณะกับบุคคลอื่น ไม่ว่าจะเป็นวัตถุสิ่งของ หรือที่อยู่อาศัย หรือผิวพรรณวรรณะชื่อเสียงต่างๆ ไม่อยากให้เป็นของทั่วไปแก่บุคคลอื่น ขณะนั้นก็เกิดความสบายใจ ซึ่งต่างกับความติดข้องยินดีซึ่งเกิดกับอุเบกขาเวทนาก็ได้ หรือโสมนัสเวทนาก็ได้ แต่ขณะใดที่ไม่สบายในเรื่องของที่เป็นที่หวงแหนของเรา และไม่อยากให้ของนั้นทั่วไปกับบุคคลอื่น ขณะนั้นก็เป็นความตระหนี่ที่เป็นมัจฉริยะ

    ท่านอาจารย์ ไม่เรียกว่า “มัจฉริยะ” ได้ไหม ตระหนี่เกิดแล้ว แต่จำเป็นต้องใช้คำให้รู้ว่า หมายความถึงสภาพธรรมใด มิฉะนั้นสงสัยคำ พอได้ยินชื่อก็สงสัย แต่เวลาตระหนี่เกิดขึ้น ลักษณะนั้นชัดเจน โดยไม่ต้องเรียกชื่อเลย

    อ.ธิดารัตน์ อย่างพวกเราปกติส่วนใหญ่จะหวงของด้วย และมัจฉริยะด้วย ซึ่งก็เกิดสลับกันจนแยกไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นถึงได้ถามว่า วันนี้ตระหนี่ หรือยัง หรือวันนี้มีความติดข้องในสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เรื่องราวต่างๆ เพื่อที่จะให้เห็นความต่างของสภาพที่ติดข้องกับสภาพที่ตระหนี่ โดยตัวเอง ไม่ใช่ต้องอาศัยตำรา หรือชื่อ หรือคำแปล แต่ลักษณะของสภาพธรรมมีจริงๆ และก็ปรากฏด้วย แต่ว่าเกิดขึ้น และดับไปเร็วมาก จึงต้องอาศัยปัญญาของพระผู้มีพระภาคที่ทรงตรัสรู้ และทรงแสดงให้เราค่อยๆ เข้าใจความต่างกัน

    อ.ธิดารัตน์ จะตอบว่า คือต้องเข้าใจลักษณะของโลภะ และเข้าใจลักษณะของความตระหนี่ จึงจะสามารถรู้ได้ขณะที่มีสภาพธรรมนั้นปรากฏ เป็นสภาพธรรมอะไรบ้าง ตอนนี้ก็ศึกษา และค่อยๆ ทำความเข้าใจว่า โลภะกับมัจฉริยะ คนละชนิดกัน

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้คุณแสงธรรมรู้สึกอย่างไร เฉยๆ เป็นตระหนี่ หรือไม่ ไม่ใช่ รู้สึกสบายไหม

    ผู้ฟัง ก็สบาย

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ตระหนี่ ถ้าขณะใดรู้สึกไม่สบายแม้เพียงเล็กน้อย ให้ทราบว่าเป็นอกุศลที่เป็นโทสมูลจิต แต่จะมีสภาพธรรมใดเกิดร่วมด้วย ก็แล้วแต่ว่าสภาพธรรมนั้นปรากฏ หรือไม่ คุณแสงธรรมตระหนี่ของของคุณแสงธรรม ไม่อยากให้คนอื่น ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นลักษณะนั้นเป็นความตระหนี่ ตระหนี่ในลาภ ในวัตถุ ในสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ไม่ใช่แค่นั้นเลย ลักษณะของความตระหนี่ ยังตระหนี่ในอะไรอีก พอจะสังเกตได้ไหมเวลาที่ความรู้สึกไม่สบายเกิดขึ้น

    ผู้ฟัง ตระหนี่เพื่อนฝูง

    ท่านอาจารย์ ตระหนี่เพื่อนฝูงหมายความว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง อย่างเวลามีคนโทรมาหาเพื่อน ก็จะไม่พอใจว่า ใครโทรมาหาเพื่อนของเรา

    ท่านอาจารย์ อย่างนั้นเป็นตระหนี่อะไร คุณธิดารัตน์

    อ.ธิดารัตน์ จะรวมเข้าในกุลมัจฉริยะได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ได้ ไม่ใช่สิ่งของ แต่เป็นผู้ใกล้ชิด เพราะฉะนั้นเราจะมีความตระหนี่หลายอย่าง บางคนที่มีครอบครัววงศาคณาญาติเป็นที่รัก ก็ไม่อยากให้คนอื่นเหมือนจะมาแย่งไป เพราะฉะนั้นเวลาที่คุณแสงธรรมไม่ชอบเวลาที่ใครโทรศัพท์ถึงเพื่อนที่คุณแสงธรรมชอบ ก็คือไม่ปรารถนาที่จะให้เขาสนิทสนมคุ้นเคยกับบุคคลอื่น ก็หมายความว่าเป็นความตระหนี่ หมายความว่า ตระหนี่กุล วงศาคณาญาติ มิตรสหาย เพื่อนฝูง ดีไหมไม่เข้าใจเหมือนกันว่า ตระหนี่ทำไม มีเพื่อนเยอะๆ ไม่ดี หรือ

    อ.ธิดารัตน์ หมายถึงว่า ถ้าเป็นเพื่อนสนิทของเรา เราก็หวง ไม่อยากให้ไปสนิทกับคนอื่น อันนี้ก็เป็นเรื่องปกติของเด็กๆ สมัยก่อน

    ท่านอาจารย์ นี่คุณแสงธรรมก็โตแล้ว ยังตระหนี่อีก หรือ จะเห็นว่า ตระหนี่ไม่ได้จำกัดเลย นอกจากของของเรา สิ่งที่เราพอใจ ไม่สามารถจะให้คนอื่นร่วมบริโภคใช้สอยได้ ก็ยังตระหนี่ไปอีก ถึงกับตระหนี่เพื่อน ไม่อยากให้คนอื่นมาคุ้นเคยกับเพื่อนซึ่งเป็นผู้คุ้นเคยกับเรา ไม่น่าจะเป็นอย่างนั้นเลยก็เป็น

    เพราะฉะนั้นอกุศลมากมาย โดยที่ไม่รู้ตัวเลยว่า พระธรรมที่ทรงแสดงไว้ทั้งหมดก็คือชีวิตตามความเป็นจริง และทั้งหมดก็เพื่อให้มีความเห็นถูก มีความเข้าใจถูกว่าเป็นธรรม จนกว่าเมื่อไรไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา เป็นธรรมซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไปเท่านั้นเอง แค่นี้ ตระหนี่อะไร หวงแหนอะไร มากเรื่องมากราว เพราะว่าเป็นธรรมซึ่งเกิดบังคับบัญชาไม่ได้ แล้วก็ดับไป ไม่มีใครที่สามารถเป็นเจ้าของสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้เลย ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า แม้จิตแต่ละขณะซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป อย่างสิ่งที่ปรากฏทางตา มีใครเป็นเจ้าของ หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ ของเราอยู่ในกล่อง เก็บไว้อย่างดี หรือว่าอย่างไร สิ่งที่ปรากฏทางตา จริงๆ แล้วมีใครเป็นเจ้าของสิ่งนั้นได้ ในเมื่อสิ่งนั้นเป็นธาตุที่ปรากฏให้เห็น เพียงให้เห็น กี่ภพ กี่ชาติ จะไปติดมากมายสักเท่าไร เข้าใจว่าเป็นของเรา แต่ก็เพียงปรากฏให้เห็น เวลาที่เกิดแล้วดับแล้ว ก็ไม่เหลือเลย

    เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรม ก็จะทำให้เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริง เป็นปกติในชีวิตประจำวัน เพราะเหตุว่าการไม่รู้สภาพความจริงของธรรม แล้วการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรามากมาย ไม่ใช่เฉพาะชาตินี้ชาติเดียว ไม่ใช่เฉพาะทางตาที่เห็น แม้กำลังได้ยิน แม้กำลังคิดนึกทั้งหมดเป็นธรรม ซึ่งถ้าไม่มีพื้นฐานความเข้าใจที่ถูกต้องมั่นคง ไม่มีทางที่จะเห็นถูกต้อง แล้วก็ละความเห็นผิดได้ เพราะเหตุว่ายังคงมีเรา ไม่สิ่งนั้นก็สิ่งนี้ก็ยังเป็นเราอยู่

    ตระหนี่อะไรอีกไหม นอกจากเพื่อน น้อย หรือมากในชีวิตจริงๆ โดยที่ไม่รู้ เพียงแค่กิเลสอย่างเดียว และกิเลสไม่ได้มีเฉพาะตระหนี่ มีอย่างอื่นด้วยเยอะแยะ เริ่มเห็นตัวจริง ที่จริงก็คือเริ่มเข้าใจธรรม ว่าสะสมธรรมที่เป็นฝ่ายอกุศลมากมาย ซึ่งเริ่มจากการไม่รู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏนั่นเอง คุณอรรณพคิดว่า คุณแสงธรรมตระหนี่อย่างอื่นด้วยไหม หรือว่าตระหนี่เพียง ๒ อย่าง

    อ.อรรณพ ความตระหนี่ก็ตระหนี่ได้หลายอย่าง แม้ศึกษาธรรมก็ยังมีความตระหนี่ได้ นับอะไรกับการตระหนี่ในสิ่งที่เป็นที่อยู่อาศัยซึ่งเรายึดถือ ในเพื่อนพ้องวงศ์ตระกูลต่างๆ ในทรัพย์สมบัติ ในลาภที่ได้มา ในผิวพรรณวรรณะซึ่งก็เป็นผลของกรรมที่ดี ที่มีวัณณะอย่างนั้นๆ หรือคำชมต่างๆ

    ผู้ฟัง อาจารย์เคยบอกว่า อย่างเวลาเราเอาของไปซ่อน เป็นความตระหนี่ด้วย อยากให้อาจารย์ช่วยอธิบาย

    อ.ธิดารัตน์ นั่นก็เป็นอาการปรากฏของความตระหนี่ หรือมัจฉริยะ มีลักษณะที่ปกปิดสมบัติของตนไม่ต้องการให้ผู้อื่นเอามาใช้ อย่างเวลาเราเก็บของเพื่อไม่ให้คนอื่นมายุ่ง อาจจะเป็นของรักของหวงของเรา ติดข้องในของสิ่งนั้นด้วย และมีการปกปิดสมบัตินั้น เพราะกลัวคนอื่นจะเอาไปใช้ แม้กระทั่งของในบ้านก็ตาม นี่ก็เป็นลักษณะของมัจฉริยะ มัจฉริยะมีการปกปิดสมบัติของตนที่ได้ ไม่ต้องการให้ผู้อื่นเอาไปใช้เป็นลักษณะ

    ผู้ฟัง และถ้าเราเอาของไปซ่อนเพราะว่าไม่อยากให้คนในบ้านขโมยของของเรา

    อ.ธิดารัตน์ ขณะนั้นถ้าเราไม่ต้องการให้ของของเราเป็นสาธารณะกับบุคคลอื่น ทั้งหวงด้วย และมัจฉริยะด้วย ก็ติดข้องของนั้นด้วย ไม่ต้องการให้คนอื่นนำไปใช้ประโยชน์ ไม่สละนั่นเอง คือของนั้นเรายังสละไม่ได้ ติดข้องด้วย และไม่ต้องการให้คนอื่นนำไปใช้เป็นประโยชน์ ไม่ทราบท่านอาจารย์จะช่วยเพิ่มเติมไหม

    ท่านอาจารย์ คงไม่ลืมว่า การศึกษาธรรมเพื่อเห็นถูก ว่าสภาพธรรมขณะนั้นเป็นธรรมซึ่งไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นไม่ว่าคุณแสงธรรมจะเกิดตระหนี่ ขณะนั้นเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งเกิดแล้ว คุณแสงธรรมคิดว่าจะนึกถึงคำว่า “ตระหนี่” และจะมานั่งคิดว่า ขณะนั้นตระหนี่อะไร จะเป็นตระหนี่ลาภ หรือตระหนี่เพื่อนฝูง ญาติ ที่เป็นกุลมัจฉริยะ หรือตระหนี่คำสรรเสริญ หรือตระหนี่ธรรม ไม่ใช่อย่างนั้นเลย ทั้งหมดเกิดแล้ว มีจริง ลักษณะนั้นไม่เปลี่ยน ความตระหนี่จะเป็นอย่างอื่นไม่ได้ เกิดขึ้นเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งตระหนี่ในสิ่งที่ไม่ต้องการให้คนอื่นร่วมมี ร่วมใช้สอยสาธารณะกับคนอื่นๆ เลย ต้องการเก็บไว้เป็นของตนเองใช้แต่ผู้เดียว ขณะนั้นสภาพธรรมที่มีจริงเกิดแล้ว ไม่ใช่ให้ไปนึกถึงชื่อว่า ขณะนั้นชื่อ “มัจฉริยะ” แล้วเป็นมัจฉริยะประเภทไหน แต่จริงๆ แล้วเป็นธรรมซึ่งเกิดโดยที่บังคับบัญชาไม่ได้ ไม่มีใครอยากจะให้เกิดเลย ก็เกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวัน

    เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรม ไม่ใช่ให้รู้จักชื่อ แต่ธรรมอย่างนั้นเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เมื่อไม่ชื่นชม หรือไม่สามารถจะกล่าวคำสรรเสริญในคุณความดีของบุคคลอื่นได้ ขณะนั้นสภาพธรรมเกิดแล้วเป็นธรรมซึ่งไม่ใช่เรา และบังคับไม่ให้เกิดก็ไม่ได้ เมื่อเกิดแล้วจะไม่ให้ดับไปก็ไม่ได้

    เพราะฉะนั้นให้รู้ความจริงว่า ทั้งหมดเป็นธรรมที่มีอยู่ในชีวิตประจำวัน แต่เพราะไม่รู้ว่าเป็นธรรม แล้วไม่รู้ด้วยว่า ขณะนั้นเป็นธรรมฝ่ายดี หรือฝ่ายไม่ดี และไม่รู้ว่า ไม่สามารถจะบังคับบัญชาได้ อย่างจะไม่ให้มัจฉริยะเกิด เป็นไปไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้นหนทางเดียว สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เกิดแล้วปรากฏ มีความเห็นถูก มีความเข้าใจถูกในสภาพซึ่งเป็นธรรม จนกว่าจะชิน ศึกษาธรรมเพื่อรู้ว่า ขณะนี้เป็นธรรม ทุกสิ่งทุกอย่างมีลักษณะของธรรมแต่ละลักษณะเกิดขึ้น เป็นธรรมทั้งหมด ไม่มีใครสามารถไปยึดถือสิ่งที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ว่าเป็นเราได้

    เพราะฉะนั้นการศึกษาเรื่องราวของสภาพธรรมในพระไตรปิฎก ก็เพียงให้เห็นว่า ชีวิตจริงๆ ไม่ได้มีแต่ธรรมอย่างเดียวที่เกิดขึ้นเป็นไป แต่ธรรมแต่ละขณะที่เกิดขึ้น ไม่มีใครสามารถจะบังคับให้เกิด หรือไม่ให้เกิด มีปัจจัยก็เกิดขึ้น ให้รู้ว่า เป็นธรรม แต่เมื่อไม่มีการเข้าใจถูกต้องในขั้นการฟัง บางคนก็อาจจะหาวิธี ทำอย่างไรจะไม่โกรธ และพยายามจะไม่มีตัวตนที่จะเป็นกุศลธรรมต่างๆ แต่ไม่รู้ว่า ขณะนั้นเป็นธรรม เพราะฉะนั้นนั่นไม่ใช่หนทางที่จะดับกิเลส เป็นไปด้วยความเป็นเรา เป็นไปด้วยความเป็นตัวตน

    เพราะฉะนั้นแต่ละคำ เป็นผู้ละเอียด "ธรรม" ได้ยินแล้ว ทราบความหมายแล้ว รู้แล้วว่าไม่ใช่ตัวตน ธรรมอยู่ที่ไหน ขณะนี้มีธรรมแน่นอน ไม่มีใครพ้นจากธรรมได้ เพราะถ้าไม่มีเห็น จะมีคุณแสงธรรมไหม ถ้าไม่มีได้ยิน จะมีคุณแสงธรรมไหม ถ้าไม่มีการคิดนึก จะมีคุณแสงธรรมไหม แต่ทั้งหมดนั่นเป็นธรรม ซึ่งเพราะไม่รู้จึงเข้าใจว่าเป็นเรา และตราบใดที่ไม่รู้ว่าเป็นธรรม เมื่อนั้นก็จะมีแต่อกุศลที่เพิ่มขึ้น และรู้แต่ชื่อ รู้แต่เรื่อง และไม่รู้ว่า แท้ที่จริงแล้วพระธรรมที่ทรงแสดงไว้มากมายในพระไตรปิฎก ก็เพื่อให้เริ่มเข้าใจถูก ปัญญาคือสิ่งที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงด้วยพระมหากรุณาให้คนอื่นมีความเห็นถูก มีความเข้าใจถูก ซึ่งก็เป็นปัญญา

    เพราะฉะนั้นไม่ใช่ถามว่า นี่เป็นอย่างนี้ใช่ไหม นั่นเป็นอย่างนั้นใช่ไหม ไม่ใช่ศึกษา ฟังเพื่อจะตัดสิน แต่เดี๋ยวนี้เป็นธรรม มัจฉริยะมี หรือไม่ ถ้าไม่ใช่มัจฉริยะ ขณะนี้อะไรปรากฏ และจะรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏว่าเป็นธรรมได้อย่างไร นี่คือการค่อยๆ เริ่มเข้าใจลักษณะที่เป็นธรรม จึงจะเป็นการศึกษาธรรม เพราะมีตัวธรรมที่ปรากฏ ให้ฟัง ให้เข้าใจ ให้เห็นว่าเป็นธรรม จนกว่าจะแทงตลอดความเป็นธรรมได้

    ผู้ฟัง ถ้าเกิดเป็นความหวงแหนคือเป็นมัจฉริยะใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เรียกชื่อ หรือว่าขณะนั้นลักษณะนั้นเป็นอย่างนั้น

    ผู้ฟัง แม้ว่าจะหวงแหนสมบัติของเรา

    ท่านอาจารย์ เกิดแล้ว แล้วทำไมต้องเรียกชื่อ ตอนนี้คุณแสงธรรมเห็น หรือไม่

    ผู้ฟัง เห็น

    ท่านอาจารย์ ต้องเรียกจักขุวิญญาณไหม ต้องเรียกว่าเห็น หรือไม่ แต่เห็นมีจริงๆ แต่ไม่รู้สภาพที่เห็นว่าเป็นธรรม

    เพราะฉะนั้นทั้งหมดไม่มีใครไม่หวง หวง เกิดขึ้นเมื่อไหร่ ขณะนั้นลักษณะนั้นเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไม่ได้เลย เปลี่ยนเป็นเมตตา เปลี่ยนเป็นความขยัน เปลี่ยนเป็นสภาพธรรมอื่นๆ ซึ่งเป็นเจตสิกแต่ละชนิดซึ่งมีจริงในชีวิตประจำวัน เมื่อสภาพธรรมนั้นเกิดแล้วเพื่ออะไร เพื่อให้เป็นตัวตนหาทางที่จะไม่เกิด พยายามทุกอย่าง แต่นั่นไม่ใช่หนทางที่พระผู้มีพระภาคทรงประจักษ์แจ้งความจริง และทรงแสดงหนทางว่า ธรรมใดๆ ก็ตามที่ปรากฏขณะนี้เพราะเกิดแล้ว เป็นธรรมชนิดนั้นซึ่งเปลี่ยนไม่ได้ เพื่อรู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ ไม่ใช่ให้ไปนึกถึงชื่อ หรือว่าไม่ให้ไปทำอย่างอื่น

    ผู้ฟัง คือตอนแรกคิดว่าเป็นกุศล แต่คงเป็นอกุศล

    ท่านอาจารย์ อะไรเป็นกุศล เห็นไหม ทุกคำที่พูด พูดด้วยความเข้าใจ หรือไม่ หรือเพียงแต่เรียกชื่อไปอย่างนั้นเอง ขอถามว่าอะไรเป็นกุศล เพราะบอกว่าทีแรกเข้าใจว่าเป็นกุศล

    ผู้ฟัง คือหวงแหนสมบัติตัวเองเป็นอกุศล

    ท่านอาจารย์ แล้วคิดว่า เป็นกุศล หรือ

    ผู้ฟัง ถ้าหวงแหนเงินของตัวเองเพื่อไม่ให้น้องขโมยไป เพราะรู้ว่าน้องชอบขโมย ตอนที่หวงแหนเป็นอกุศล แต่ขณะต่อไปเป็น

    ท่านอาจารย์ เป็นอะไร เป็นอะไรก็เป็น แต่ไม่รู้ว่าเป็นธรรมใช่ไหม แล้วก็ดับแล้วด้วย ทุกอย่างเป็นธรรมที่มีลักษณะต่างๆ เกิดแล้วปรากฏ แล้วดับไปอย่างเร็วมาก จึงต้องอาศัยพระธรรมที่ทรงแสดงโดยละเอียด แม้ขณะนี้สภาพธรรมที่เป็นจิต เจตสิกก็เกิดแล้วดับแล้ว นับไม่ถ้วน แสดงให้เข้าใจถูกต้องว่า จิตเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งสิ่งที่กำลังปรากฏ จิตจะเกิดขึ้นตามลำพังไม่ได้ มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ทั้งหมดดับแล้วอย่างรวดเร็ว แต่ค่อยๆ เข้าใจความเป็นธรรมซึ่งไม่ใช่เรา จนกว่าสภาพธรรมแต่ละอย่างปรากฏ ถึงแม้ปรากฏแต่ไม่มีปัญญา ก็ไม่สามารถเข้าใจได้ว่าเป็นธรรม อย่างแข็งอย่างนี้ ปรากฏไหม

    ผู้ฟัง ปรากฏ แต่ไม่รู้

    ท่านอาจารย์ ปรากฏแต่ไม่รู้ แล้วแข็งเป็นธรรม หรือไม่

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ ชื่อเรียกถูก แต่ลักษณะแข็งมีจริงๆ และความจริงก็คือเกิดแล้วปรากฏแล้วก็ดับด้วย เพราะฉะนั้นปัญญาขั้นฟังก็คือฟังตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง จนกว่าความเห็นถูกในสิ่งที่ปรากฏค่อยๆ เพิ่มขึ้น เพื่อละความไม่รู้ และความเห็นผิด แต่ไม่ใช่ไปเรียกชื่อ แข็งเป็นอะไรบ้างถ้าเรียกชื่อ

    ผู้ฟัง แข็งเป็นรูปธรรม

    ท่านอาจารย์ แข็งเป็นอารมณ์ ซึ่งใช้คำว่า “โผฏฐัพพารมณ์” โผฏฐัพพารมณ์คืออารมณ์ที่สามารถกระทบกาย กายปสาท แล้วจิตเกิดขึ้นจึงรู้แข็ง หรือไม่รู้แข็ง ก็รู้อ่อน ไม่รู้แข็งรู้อ่อน ก็รู้ร้อน หรือรู้เย็น ไม่รู้ร้อน หรือรู้เย็น ก็รู้ตึง หรือไหวที่ปรากฏให้รู้ได้ทางกาย ไม่ได้มีความเข้าใจอย่างนี้ จึงต้องฟัง เพื่อจะได้ไม่หลงลืม ฟังธรรมแต่ละครั้งก็คือการสะสมความเข้าใจว่า สิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏเป็นธรรมแต่ละลักษณะ ซึ่งสามารถปรากฏได้แต่ละทางเท่านั้น แล้วก็ดับไป ไม่ยั่งยืนเลย อย่างสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา กำลังปรากฏ ไม่ใช่เสียง ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางหู แต่ไม่รู้ความจริงว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาขณะนี้ปรากฏได้เพราะเกิด ถ้าไม่เกิด จะไม่มีอะไรปรากฏเลยทั้งสิ้น แม้แต่เสียง เวลาเสียงไม่เกิด ไม่กระทบกับโสตปสาท จิตได้ยินไม่เกิด เสียงไม่มีทางจะปรากฏว่ามีเสียง หรือเป็นเสียงได้เลย เพราะฉะนั้นก็เป็นธรรมทั้งหมด

    ผู้ฟัง มีคำถามจากท่านผู้ฟัง เป็นเรื่องราว บอกว่ามีคน ๒ คน คือ นาย ก. ซึ่งเป็นนายจ้างของนาย ข. นาย ก. มีของกิน แต่ไม่ให้นาย ข. พอของกินทิ้งไว้หลายวันแล้วจะเสีย ถึงได้นำของกินนั้นมาให้นาย ข. ลูกจ้าง พอนาย ข. มีของกินบ้าง ก็ไม่อยากให้นาย ก. นาย ก. ก็ไม่พอใจ ถามว่าที่ถูกนาย ข. ลูกจ้างควรจะทำอย่างไรดี

    ท่านอาจารย์ นาย ข. เป็นธรรม หรือไม่ นาย ก. เป็นธรรม หรือไม่ ไม่รู้เลย ก็มีทั้งนาย ก. และนาย ข. เวลาที่ความตระหนี่เกิดขึ้น ก็เป็นนาย ก. ตระหนี่ หรือนาย ข. ตระหนี่ แต่ว่าสภาพธรรมที่ตระหนี่เป็นธรรมที่มีจริง เป็นธรรม ซึ่งใครก็บันดาลให้เกิดขึ้นไม่ได้ จะไม่ให้เกิดไม่ได้ มีจริงๆ เกิดแล้ว ควรรู้ว่าเป็นธรรม หรือว่ามีตัวเราซึ่งจะทำ

    การศึกษาธรรมต้องทราบ เราไม่ได้ศึกษาเพียงขั้นศีล หรือธรรมทั่วๆ ไป แต่ศึกษาพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดง เพื่ออะไร ไม่ใช่เพื่อให้ทุกคนมีแค่ศีลธรรม ใช่ไหม แต่เพื่อให้มีความเห็นถูก มีความเข้าใจถูกในสิ่งที่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน ซึ่งถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงบำเพ็ญพระบารมีที่จะตรัสรู้ ไม่ทรงพระมหากรุณาที่จะทรงแสดง ใครจะรู้ว่า ขณะนี้เป็นธรรม ทุกขณะเป็นธรรมซึ่งมีลักษณะต่างๆ กัน เพราะฉะนั้นพระพุทธประสงค์ที่ทรงแสดงพระธรรม เพื่อให้เข้าใจถูก เห็นถูก


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 168
    11 ม.ค. 2567