พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 390


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๙๐

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๐


    ผู้ฟัง การที่จะเข้าใจถูก เข้าใจง่ายๆ

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวก่อน ใครอยากให้เข้าใจง่ายๆ ไม่เห็นตัวนี้เลย อยู่ตลอดเวลาทั้งคิด อะไรต่อไปอีก แสวงหาก็ด้วยโลภะ

    ผู้ฟัง ต้องปล่อยวาง คือไม่ใช่เป็นเรา

    ท่านอาจารย์ ใครปล่อยได้

    ผู้ฟัง ก็ยังคิดว่าตัวเองปล่อยอยู่นั่นเอง

    ท่านอาจารย์ ถูก หรือผิด

    ผู้ฟัง ผิด

    ท่านอาจารย์ ก็ฟังแล้วว่าธรรมเป็นธรรม จนกว่าจะตรงว่าเป็นธรรม

    อ.กุลวิไล อาจารย์นิภัทรช่วยขยายความว่า “ธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง” อย่างไร

    อ.นิภัทร ก็มีจริงอย่างนี้ เพราะว่า”ธรรม” แปลว่าสิ่งที่มีอยู่จริง ก็ตัวเราทั้งแท่งนี่เอง เป็นรูปแบบของธรรม เป็นพื้นฐานของธรรม เป็นพื้นฐานของพระอภิธรรม แต่ก็หลง ก็ถูกความโง่ ความไม่เข้าใจปิดบังไว้ ก็เห็นรูปทั้งแท่งว่าเป็นเรา ส่องกระจกกันวันละหลายหนกว่าจะมามูลนิธิได้ เราก็ไปคิดว่า ตาของเรา จมูกของเรา ปากของเรา หูของเรา หูก็ต้องมีอะไรใส่หน่อย ตุ้งติ้งๆ ปากก็ต้องเอาอะไรทาหน่อยให้มันแดง คิ้วก็เขียน เราทั้งนั้นเลย ทั้งๆ ที่เขาก็ไม่ได้บอกให้เราทำเสียหน่อย เราก็ทำ เพราะเราเข้าใจผิดในสิ่งที่มีอยู่จริงๆ แต่เราเข้าใจผิดว่าเป็นเรา เป็นเขา เป็นของเรา เป็นของเขา เป็นอะไรต่ออะไรต่างๆ นานา ก็เปลี่ยนแปลงไปตามความคิดของเรา รูปแบบของเขามีอยู่ คือ เขามีอยู่อย่างนั้น

    ธรรม แปลว่า สิ่งที่มีอยู่จริงอย่างนั้น สิ่งที่รักษาลักษณะของเขาไว้คงที่ ไม่เปลี่ยนแปลง เป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น เห็นก็เห็น เมื่อมีตาก็ต้องเห็น ได้ยินก็ต้องได้ยิน มีกลิ่น ก็ต้องได้กลิ่น มีรส ก็ต้องรู้รส ถูกต้องสัมผัสก็มีอยู่ตลอดเวลา คิดนึกก็มีอยู่ตลอด แต่เราก็ยังไม่เห็นว่าเป็นธรรม ยังเห็นว่า เป็นเราเห็น เราได้ยิน เราได้กลิ่น เรารู้รส เราถูกต้องสัมผัส เราคิดนึก ก็มีเราอยู่ตลอด ก็ปิดบังไม่ให้เห็นตัวจริงของธรรม สิ่งที่มีอยู่ ถูกอวิชชาปิดบังไว้ไม่ให้เห็น หรือชื่อต่างๆ ก็ปิดบัง ท่านบอกว่า นามัง สัพพัง อันธภวิ ชื่อต่างๆ ปิดบังสิ่งทั้งปวง สิ่งทั้งปวงที่จะปิดบังนอกไปจากชื่อนี้ไม่มี สิ่งทั้งปวง คือ ทุกสิ่งทุกอย่างก็เป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่ง คือ ชื่อ เพราะฉะนั้นชื่อปิดบังหมด ถ้าความเข้าใจของเราไม่มี เราจะไปบีบเค้นอย่างไร มันก็ไม่มี เพราะฉะนั้นเราจะต้องศึกษา ต้องฟังธรรมให้เข้าใจ ฟังธรรม ไม่ใช่ฟังชื่อต่างๆ จนกว่าเราจะแยกแยะให้ได้ว่า อะไรคือธรรม ถ้าไม่อย่างนั้นมันรวมกันอยู่ ก็เป็นตัวเราทั้งหมด ถ้ารู้ธรรมแต่ละทวารๆ คือ แต่ละอย่างๆ ทางตาอย่าง ทางหูอย่าง ทางจมูกอย่าง ทางลิ้นอย่าง ทางกายอย่าง มันไม่หนี

    อ.ธิดารัตน์ จริงๆ ก็เป็นเรื่องยาก เมื่อวานก็มีการสนทนากันว่า การพิจารณาที่ถูกต้องที่จะไม่พิจารณาโดยความเป็นตัวตน หรือว่าเจาะจง หรือต้องการผลเจือปน ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมาก มีหลายท่านที่สนทนาแล้วก็บอกว่า ยังมีความเป็นเรา หรือความต้องการแอบแฝงอยู่ตลอดเวลา และการที่จะค่อยๆ รู้ลักษณะของโลภะในลักษณะต่างๆ ก็เป็นเรื่องยาก และไม่มีหนทางอื่นเลย นอกจากฟังให้เข้าใจ แม้จะฟังให้เข้าใจ ขณะฟังก็ยังสลับกับอกุศลที่ต้องการจะเข้าใจอีก ซึ่งต้องสู้รบกับโลภะตรงนี้เยอะมาก ไม่ทราบว่าท่านอาจารย์จะให้กำลังใจอย่างไรบ้าง

    ท่านอาจารย์ ใครท้อถอยบ้าง ท้อถอย อยากจะรู้ธรรมวันนี้ หรืออย่างไร แล้วรู้ไม่ได้จึงท้อถอย หรือท้อถอยเพราะอะไร

    ผู้ฟัง ที่ว่า “ท้อถอย” เพราะเป็นสิ่งที่รู้ยากมากๆ และทุกครั้งที่มีความรู้สึกว่าเราต้องการ มันถอยไปเริ่มต้นใหม่ และบางครั้งไม่รู้ว่า จะเริ่มได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ มีสภาพธรรมปรากฏ ไม่รู้ ก็ฟังให้เข้าใจเท่านั้นเอง ไม่เดือดร้อนเลย จะทำอะไรกับธรรม ก็ธรรมเกิดแล้ว ไปเดือดร้อนกับสิ่งที่เกิดแล้ว จะเดือดร้อนอย่างไรกับสิ่งที่เกิดแล้ว

    ผู้ฟัง บางครั้งปัญญาก็มีแค่เล็กน้อย หรือแทบจะไม่มีเลย

    ท่านอาจารย์ มีกิเลสมากไหม

    ผู้ฟัง มาก

    ท่านอาจารย์ มาทีเดียวมากๆ หรืออย่างไร หรือมาเรื่อยๆ ทีละเล็กทีละน้อย

    ผู้ฟัง มาเรื่อยๆ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นถ้าจะมีปัญญามากๆ จะมาในลักษณะไหน

    ผู้ฟัง ก็ต้องฟัง

    ท่านอาจารย์ ทีละเล็กทีละน้อยเรื่อยๆ เข้าใจขึ้น แล้วจะทำอย่างไรให้รู้ ถ้าไม่ฟัง คิดเองก็ไม่ได้ แล้วเข้าใจบารมีไหม ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เราไปทำวิริยะ แต่วิริยบารมีเป็นวิริยเจตสิก ไม่ใช่เรา เป็นสภาพธรรมซึ่งขณะนี้แม้กำลังฟังก็มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย โดยไม่ต้องมีใครไปทำอะไรทั้งนั้นเลย ธรรมเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย เข้าใจแค่นี้ ค่อยๆ เข้าใจขึ้นเพื่อจะละความเป็นเรา แม้จะคิดว่า เข้าใจได้ทีละเล็กทีละน้อย น้อยมาก ก็เป็นความจริง จะให้เปลี่ยนความจริงนั้นเป็นอย่างอื่นได้อย่างไร เป็นผู้ที่ตรงต่อความจริง ผู้ที่จะได้สาระจากธรรม คือ ผู้ที่จริงใจ ไม่คลาดเคลื่อน ถ้าฟังแล้วเข้าใจแค่ไหน ขณะนั้นก็เป็นอย่างนั้น ก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้นอีกได้ อย่างไรก็ต้องเกิดอีกนานแสนนาน เกิดมาแล้วแสนโกฏิกัปป์ และถ้าปัญญาไม่เจริญที่จะดับกิเลส ก็เกิดอีกแสนโกฏิกัปป์ แสนโกฏิกัปป์ ไปเรื่อยๆ ไม่มีใครสามารถไปดับสังสารวัฏได้ ในเมื่อจะต้องเกิดแล้ว ระหว่างที่เกิดก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้นเรื่อยๆ เพราะอย่างไรต้องเกิดอีกนาน แต่ละชาติๆ ที่จะเกิดอีกนาน ก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ดีกว่าไม่เข้าใจเลย เพราะถ้าไม่เข้าใจเลย ยิ่งเพิ่มการเกิดไปอีกนานแสนนาน นับไม่ถ้วน

    ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์มักจะย้ำอยู่เสมอว่า ฟังเพื่อเข้าใจ แต่คำว่า “ฟังเพื่อเข้าใจ” กับ “ความหวัง” นี่มันเฉียดกันมากเลย มันอยู่ใกล้กันมาก

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าทุกคนยังไม่ได้ดับความหวัง แต่ปัญญาสามารถที่จะเห็นความหวังว่าเป็นสิ่งที่ต้องละ เพราะว่าถ้ายังไม่ละ ก็ไม่สามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมได้ เพราะฉะนั้นปัญญาเป็นสภาพที่ตรง ไม่ได้หมายความว่า คนที่ไม่ใช่พระอริยบุคคลไม่มีความหวังอีกแล้ว ไม่ใช่อย่างนั้น ผู้ที่จะหมดหวังเลย ไม่มีเหลือเลยแม้สักเล็กน้อย คือ พระอรหันต์ เพราะฉะนั้นความหวังมีเหตุปัจจัยที่จะเกิดขึ้น แต่ปัญญาสามารถที่จะเห็นความหวังว่า ลักษณะนั้นไม่ใช่ปัญญา แล้วหวังไปมันมีประโยชน์อะไร ไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรเลยทั้งสิ้น ไม่ได้สมหวังนี่แน่นอน หวังไปเถอะ หวังรู้นิพพานนี่ไม่มีทางหรอก ถ้าไม่มีปัญญาที่เจริญขึ้น แล้วก็ไปหวัง เสียเวลา แล้วก็เป็นทุกข์ ปัญญาสามารถจะเห็นว่าไร้ประโยชน์ แต่ถ้ายังไม่ใช่ปัญญา ก็ยังอยากหวัง หรือต้องหวัง หรือยังมีหวัง โดยที่ไม่รู้ว่า หวังก็เป็นธรรม ไม่ใช่เรา แต่ไม่ใช่ไปทำให้ไม่มีหวัง ให้เข้าใจให้ถูกต้องว่า เป็นธรรม คำนี้ เข้าใจเมื่อไร สามารถดับกิเลสถึงความเป็นพระอรหันต์ได้

    ผู้ฟัง ฟังท่านอาจารย์กล่าวแบบนี้ก็ดูเหมือนจะเข้าใจ แต่จริงๆ แล้วไม่เข้าใจ ก็ยังหวังอยู่ดี แล้วก็ยังหวังเพื่อจะเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเราตั้งต้นด้วยความเป็นผู้ที่ตรงต่อการเข้าใจว่า “ทุกอย่างเป็นธรรม” มีปัจจัยจึงเกิด เกิดแล้วก็ดับไป ไม่ใช่ความหวังไม่ดับ ขณะที่เห็นไม่ใช่หวัง ขณะที่ได้ยินไม่ใช่หวัง

    ผู้ฟัง ยิ่งยากเข้าไปใหญ่ แม้แต่คำว่า “ธรรม” ฟังมาตั้งแต่เริ่มต้น อะไรๆ ก็เป็นธรรม แต่จริงๆ แล้วก็ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ แล้วรู้จักพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือยัง จะพูดอะไรที่ง่ายๆ ฟังเดี๋ยวเดียวก็รู้ บรรลุกันไปหมด หรือว่าสิ่งที่ทรงตรัสรู้เป็นสิ่งที่ละเอียดลึกซึ้ง ต้องอาศัยการบำเพ็ญพระบารมีมากมาย แล้วบารมีของเราแค่ไหน พอที่จะรู้ความจริงไหม

    ผู้ฟัง ยัง

    ท่านอาจารย์ ยังไม่พอ ก็อบรมไป แล้วก็เข้าใจว่าเป็นธรรม ไม่ว่าอะไรจะเกิด เดือดร้อนทำไม เกิดแล้ว แล้วก็ดับด้วย ไม่ว่าจะเป็นอกุศล ก็เกิดตามเหตุตามปัจจัยที่จะเป็นอย่างนั้น ไม่เป็นอย่างอื่น แล้วก็ดับไป ไม่มีใครบังคับบัญชาได้ แต่ความรู้ว่าเป็นธรรม จะทำให้สามารถดับกิเลสได้ เพราะฉะนั้นไม่ใช่ไปทำให้ไม่หวัง แต่เข้าใจให้ถูกต้องว่าเป็นธรรม

    ผู้ฟัง ความเข้าใจนี่ยากมาก

    ท่านอาจารย์ ยากดี หรือง่ายดี

    ผู้ฟัง ต้องยากถึงจะดี ถึงจะเข้าใจได้ แต่ก็ยากที่สุด

    ท่านอาจารย์ ยากขึ้นๆ ด้วย ขั้นฟังไม่ยากเท่ากับขณะที่สภาพธรรมปรากฏ และรู้ความจริงจนกระทั่งแทงตลอดสภาพธรรม เพราะฉะนั้นยากขึ้น แต่ปัญญาก็เจริญขึ้น ถึงจะรู้ว่ายากขึ้น ถ้าปัญญาไม่เจริญจะไม่เห็นว่ายากเลย

    อ.กุลวิไล ขณะที่เดือดร้อน ขณะที่ท้อถอยก็เป็นธรรมที่มีจริง ถึงแม้ไม่ใส่ชื่อ ลักษณะก็มีจริง ก็ไม่พ้นอกุศลจิตที่มีโทมนัสเวทนาเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นลักษณะเหล่านี้มีจริง การเข้าถึงตัวธรรม ก็คือจากการฟังนั่นเอง ฟังถึงสิ่งที่มีจริง แล้วสภาพธรรมไม่พ้น ๖ ทางแน่นอน ขณะที่ท้อถอยก็ไม่ใช่ขณะที่สิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่สี ไม่ใช่เสียง ซึ่งเป็นรูปปรมัตถ์ แต่เป็นนามธรรม เพราะฉะนั้นเป็นสิ่งที่มีจริง

    เพราะฉะนั้นการที่เราศึกษาธรรมในวันนี้ ก็เกื้อกูลความเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง ดังนั้นเจริญที่เหตุ จนกว่าเหตุจะสมควรแก่ผล และการฟังพระธรรมก็เป็น ๑ ในบุญกิริยาวัตถุด้วย เป็นที่ตั้งของกุศล เป็นการอบรมเจริญปัญญา ไม่ต้องหวังว่าเราจะต้องรู้แจ้งอริยสัจธรรมโดยเร็ว แต่เรารู้ว่า การฟังธรรมในวันนี้เป็นปัจจัยแก่สัมมาทิฏฐิในอนาคตแน่นอน เพราะฉะนั้นเจริญที่เหตุ จนกว่าเหตุจะสมควรแก่ผล ก็จะสบายใจ เบาสบาย

    ผู้ฟัง เรื่องมุ่งหวังมันปิดกั้นหมดเลย อย่าไปพยายามที่จะรู้จัก และพยายามที่จะคิด อันนั้นคือไม่ใช่หนทางแล้ว คือ ฉันคิดชาติหน้าเรื่อยๆ

    ท่านอาจารย์ ไม่ทราบชาติก่อนคุณสุรีย์พูดอย่างนี้ หรือเปล่า แต่ชาติหน้าก็คือชาติหน้าไปเรื่อยๆ ไม่ได้หมายความว่าไม่ใช่ชาติเดียว อีกอย่างหนึ่งคือเรื่องศรัทธาที่เราได้ยินบ่อยๆ แม้ในการฟัง เราจะรู้ได้เลยว่า เป็นศรัทธาระดับไหน แม้แต่ที่กำลังฟังขณะนี้ มีศรัทธาที่ว่า ทุกอย่างเป็นอย่างที่ทรงแสดง แต่ทำไมเราไม่เป็นอย่างนั้น นี่เรามีศรัทธาที่มั่นคง หรือไม่ หรือมีศรัทธาในการฟังพระธรรม เพราะรู้ว่า เป็นพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดง ต้องยาก ต้องละเอียด กว่าจะได้เห็นความจริงแม้แต่คำที่ได้ยินได้ฟัง

    เพราะฉะนั้นฟังด้วยความเคารพ ด้วยความศรัทธา ในพระปัญญาซึ่งทรงแสดงความจริงทั้งหมด เพราะฉะนั้นขณะที่ฟังก็จะมีลักษณะอีกอย่างหนึ่ง เพราะว่าบางคนฟังเพราะไม่มีอะไรจะฟัง หรือคิดว่าฟังก็ดี อย่างนี้ก็จะไม่ได้อะไรเท่าไร เพราะว่าฟังก็ดี คิดก็ดี ทำอย่างอื่นก็ดีในขณะนั้น เพราะฉะนั้นไม่เข้าใจจริงๆ ในสิ่งที่ได้ฟัง แต่ถ้าฟังด้วยความเคารพในพระศาสดา ด้วยความมั่นคงในพระปัญญาของพระองค์ที่ทรงแสดงด้วยพระมหากรุณาโดยละเอียดยิ่ง เมื่อยังไม่สามารถหมดกิเลสได้ ก็แสดงถึงความละเอียดของธรรมให้มีความเข้าใจ ให้มีความเคารพในความจริงของธรรมนั้นยิ่งขึ้น ก็จะเป็นผู้ตรง คือ ฟังไม่ใช่ด้วยหวังว่าเราจะได้อะไรสำหรับตัวเอง ที่ต่อไปสติปัญญาจะเกิดจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม แต่ฟังเพราะว่าธรรมลึกซึ้ง และขณะที่ฟังนี่เอง ก็ค่อยๆ เข้าใจในความลึกซึ้งนั้นขึ้น นี่ก็คือการอบรมเจริญปัญญา แต่ต้องเข้าใจแม้ศรัทธาแม้ในขณะที่ฟังก็มีความต่างกันด้วย

    อ.กุลวิไล ชอบอยู่ส่วนหนึ่งที่ท่านอาจารย์บอกว่า ฟังเพื่อเข้าใจในสิ่งที่กำลังฟังอยู่ บางทีเราชอบไปคิดนึกเรื่องอื่นขณะที่ฟัง แต่ขณะที่คิดนึกก็ไม่ใช่ขณะที่ฟังขณะนั้น เพราะฉะนั้นในสิ่งที่กำลังฟังเป็นประโยชน์กว่า

    ท่านอาจารย์ แล้วถ้าฟังด้วยความเคารพจริงๆ ขอความกรุณา ใครอย่ามาพูดด้วย เพราะว่าเพียงเสียงมากระทบ ก็ไม่ได้ยินสิ่งที่กำลังฟังอยู่แล้ว ใช่ไหม เพราะฉะนั้นก็ย่อมจะไม่ได้ยินได้ฟังในสิ่งที่กำลังฟัง แต่ถ้าไม่เคารพในการฟัง ก็คิดว่าคนอื่นก็ไม่ได้ตั้งใจฟังเหมือนกัน เพราะฉะนั้นก็พูดเรื่องอื่น ซึ่งจะทำให้ไม่ได้ยินสิ่งที่กำลังฟัง แล้วไม่เข้าใจด้วย

    อ.กุลวิไล แล้วก็กลัวด้วยว่า จะไปทำลายความเข้าใจของบุคคลอื่น เขากำลังฟังด้วยความตั้งใจ แต่เราไปชวนเขาคุย ขณะนั้นเราก็ตัดโอกาสที่เขาจะได้ยินได้ฟังพระธรรม

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นคนที่ละเอียด แม้เพียงคำเดียว ก็ทำให้คนนั้นไม่ได้ยินสิ่งที่เขาควรได้ยินแล้ว

    อ.ธีรพันธ์ จริงๆ แล้วธรรมถึงจะหวัง หรือไม่หวัง แต่ถ้าเจริญเหตุที่ถูกก็สามารถรู้ตามความเป็นจริงได้ เรา หรือใครก็ตามมีเหตุ หรือยังที่จะให้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง คือการตั้งจิตไว้ชอบ ให้มีความเห็นตรง เมื่อมีเหตุแล้วก็ต้องเจริญขึ้นๆ ธรรมนี่ไม่ต้องกลัวว่าจะรู้ไม่ได้ เพราะถ้ารู้ไม่ได้ บุคคลที่จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า บุคคลที่จะเป็นพระอริยสาวกก็มีไม่ได้

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์กล่าวอยู่เสมอๆ ว่า แม้แต่สภาพคิดก็เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร

    ผู้ฟัง ไม่รู้ก็เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ "คิด" ทำไมถึงเป็นธรรม

    ผู้ฟัง สภาพคิดก็เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ ทำไมถึงเป็นธรรม

    ผู้ฟัง เป็นสิ่งที่มีจริงๆ

    ท่านอาจารย์ เพราะคิดจริงๆ เป็นคุณบุษกรคิด หรือไม่

    ผู้ฟัง บางครั้งก็เป็น บางครั้งก็ไม่เป็น เดี๋ยวนี้ก็ยังเผลออยู่

    ท่านอาจารย์ บ่อยๆ ไหม

    ผู้ฟัง บ่อยมาก

    ท่านอาจารย์ จริง หรือไม่

    ผู้ฟัง จริง

    ท่านอาจารย์ เป็นธรรม หรือไม่

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ จนกว่าจะรู้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่คุณบุษกร

    ผู้ฟัง เหมือนกับว่า ต้องระลึกบ่อยๆ เนืองๆ ซ้ำๆ

    ท่านอาจารย์ ได้ไหม

    ผู้ฟัง ก็ไม่ได้อีก ยากจริงๆ

    ท่านอาจารย์ รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือยัง

    ผู้ฟัง รู้แต่ชื่อ เข้าไม่ถึง

    ท่านอาจารย์ ใครบอกอย่างนี้ว่า สภาพธรรมเป็นธรรม ไม่ใช่ตัวตน เป็นอนัตตา

    ผู้ฟัง พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ผู้ฟัง ปัจจัยที่ทำให้อกุศลจิตเกิด จริงๆ แล้วถ้าพิจารณาถึงเหตุโดยพื้นฐาน หรือเหตุที่ทำให้โกรธ มันเล็กน้อยมาก แต่ทำไมถึงพอใจที่จะโกรธ

    ท่านอาจารย์ คุณสุกัญญายังไม่ใช่พระอนาคามีบุคคล พระโสดาบันโกรธไหม

    ผู้ฟัง โกรธ

    ท่านอาจารย์ พระสกทาคามีบุคคล

    ผู้ฟัง ก็โกรธ

    ท่านอาจารย์ แล้วคุณสุกัญญาโกรธไหม

    ผู้ฟัง คือโกรธนี่ก็ไม่ว่ากัน แต่ที่สงสัยก็คือว่า สภาพของโลภะ ความพอใจ น่าจะเป็นลักษณะของความยินดี พอใจ หรือเป็นสุข แต่ในขณะเดียวกัน ทำไมถึงยินดีที่จะเกิดทุกข์

    ท่านอาจารย์ โลภะติดข้องได้ทุกอย่าง เว้นโลกุตตรธรรม เห็นกำลังของโลภะ ซึ่งเราไม่เคยเห็นไหมเป็นสภาพธรรมที่ติดข้องเพราะความไม่รู้ เพราะฉะนั้นถ้ามีความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ไม่ต้องไปหวังอะไรเลยทั้งสิ้น ไม่มีประโยชน์เลย หวังก็คือโลภะ ก็ต้องการเรื่อยๆ ต่อไปอีก ไม่หวังอย่างนั้นก็หวังอย่างนี้ แต่การฟังธรรม ควรจะรู้ว่า ฟังใคร พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นใคร ตรัสรู้อะไร พระธรรมที่ตรัสรู้เป็นสิ่งที่รู้ยาก หรือว่ารู้ง่าย

    เพราะฉะนั้นกว่าใครจะมีความเข้าใจถูกต้องในสภาพธรรมที่ทรงแสดงไว้ว่า เป็นธรรม หมายความว่าเป็นอนัตตา เราก็ลืมอีก พอโกรธเกิด แทนที่จะรู้ความจริงว่า ลักษณะนั้นเป็นธรรม เป็นธาตุ มีจริงๆ เกิดขึ้นแล้ว ไม่ต้องไปรู้หรอกว่า เพราะเหตุปัจจัยอะไร แต่กำลังไม่รู้นั้นก็แสดงอยู่แล้วว่า เพราะเหตุที่ไม่รู้นั่นเอง ไม่ต้องไปหาปัจจัยชื่อไหนมาอีกเลย ขณะที่กำลังไม่รู้นั้นเอง เพราะความไม่รู้นั่นเองจึงมีสภาพธรรมชนิดนี้เกิดขึ้น แล้วก็มีลักษณะซึ่งเมื่อเกิดแล้วเป็นอย่างนี้ ใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ นี่คือกว่าจะเข้าใจธรรม ไม่ใช่ใครก็ตามฟังพระธรรมเพียงเล็กน้อย แล้วก็คิดว่าเข้าใจแล้ว หรือคิดว่าจะปฏิบัติได้แล้ว โดยที่ไม่รู้เลยว่า ความจริงแล้วเป็นเรื่องละ ขณะที่กำลังฟังเดี๋ยวนี้ พ้นจากอะไรบ้าง หรือไม่

    เห็นไหมความละเอียดของธรรม กำลังฟังอย่างนี้ พ้นจากอะไรบ้าง หรือไม่ ถ้าไม่คิดแล้ว ปัญญาเราจะมาจากไหน ปัญญาไม่ใช่สิ่งที่ไปเอามาจากพระไตรปิฎก เมื่อว่าอย่างนี้เราก็มีปัญญา ไม่ใช่ แต่เพียงจะมีการสนทนากัน เพื่อให้เข้าใจจริงๆ ว่า สิ่งที่ได้ยินได้ฟัง แม้แต่คำว่า “ธรรม” “อนัตตา” พวกนี้ เรามีความเข้าใจแค่ไหน เพราะฉะนั้นขณะนี้เดี๋ยวนี้ ถ้าถามว่าพ้นจากอะไรบ้าง หรือไม่

    ผู้ฟัง พ้นจากสภาพธรรมที่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ขณะที่ไม่เข้าใจ พ้นไหม

    ผู้ฟัง ก็ไม่พ้น

    ท่านอาจารย์ เพราะไม่เข้าใจเหมือนเดิม ไม่เข้าใจแค่ไหนก็แค่นั้น เหมือนเดิม แล้วยังมีความไม่รู้เหมือนเดิมอีก แต่ถ้าขณะใดที่เข้าใจ แม้เพียงเข้าใจ พ้นจากความไม่รู้ หน่อยหนึ่งไหมในขณะนั้น เพราะฉะนั้นกว่าจะพ้นหมดสิ้นจากอกุศลทั้งหลาย ปัญญาต้องเจริญอบรมจนกระทั่งสามารถรู้ความจริงของธรรมได้

    เพราะฉะนั้นธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด เพียงเกิดมาชาติไหน มีโอกาสได้ฟัง แล้วก็มีศรัทธาที่เห็นประโยชน์จริงๆ ก็จะรู้ว่าเป็นไปเพื่อความเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏเพิ่มขึ้น เท่านั้นเอง แต่ละชาติๆ มีความเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏเมื่อไร พ้นจากความไม่รู้ และความไม่เข้าใจในขณะนั้น จนกว่าจะพ้นจริงๆ ด้วยปัญญา แต่ไม่ใช่ด้วยอย่างอื่นเลย แต่ด้วยความเป็นผู้ละเอียด และรู้ว่า เวลาที่ไม่พ้นจากอกุศล ไม่พ้นเมื่อไร อย่างไรบ้าง ขณะติดข้องไม่พ้นจากความติดข้อง ขณะขุ่นเคืองใจ ไม่พ้นจากความขุ่นเคืองใจ ขณะที่เข้าใจผิด เข้าใจว่าธรรมสอนให้เป็นอย่างอื่น ให้ทำอย่างอื่น ขณะนั้นก็ไม่พ้นจากความเห็นผิด ในเรื่องหนทางที่จะทำให้ปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรม เพราะฉะนั้นขณะฟังเพื่อพ้นจากความเห็นผิด จนกว่าจะพ้นได้หมดสิ้นจริงๆ

    ผู้ฟัง ความเป็นผู้ละเอียดเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ฟังธรรม ธรรมกำลังปรากฏ ธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง มีลักษณะที่ต่างกันหลากหลาย เห็นไม่ใช่เสียง เสียงก็เป็นธรรม เห็นก็เป็นธรรม คิดนึกก็เป็นธรรม ทุกอย่างเป็นธรรม ไม่มีใครเป็นเจ้าของ มีปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป นี่คือความละเอียด ซึ่งเมื่อเป็นความจริง ความเข้าใจขั้นต้นที่ถูกต้อง ก็อบรมความเข้าใจขึ้น ไม่ใช่เพียงฟังว่า ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏเป็นธรรม แต่ว่าการรู้ว่า สิ่งที่ปรากฏนี้เป็นลักษณะของจริง เป็นธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ใช่เพียงขั้นคิด หรือเข้าใจ แต่ต้องมีธรรมเดี๋ยวนี้ แล้วก็กำลังค่อยๆ เข้าใจขึ้น ซึ่งไม่รู้ว่า เมื่อไรจะเข้าใจยิ่งกว่านี้ได้ เพราะต้องเป็นไปทีละเล็กทีละน้อย เรื่อยๆ ขณะนี้ไม่รู้ว่า อวิชชาเกิดแล้ว หลังจากที่เห็นดับไป เกิดความติดข้องแล้ว หรือเกิดความขุ่นเคืองใจซึ่งเป็นอกุศลแล้ว


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 168
    11 ม.ค. 2567