พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 376


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๗๖

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๐


    ท่านอาจารย์ ต้องอาศัยการฟังเข้าใจ แล้วรู้ว่า บังคับบัญชาไม่ได้ ขันติอดทนไหม สัมมาสติบังคับไม่ได้เลย

    ผู้ฟัง ต้องอดทน

    ท่านอาจารย์ พออดทน ก็เมื่อไรจะรู้ นั่นคือไม่อดทนแล้ว นี่ก็แสดงให้เห็นว่า แม้เพียงที่จะขั้นอดทน ในขั้นที่เพียงเริ่มต้น เริ่มต้นที่จะไม่ไปทางผิดก็ยังยาก เพราะฉะนั้นทั้งหมดเป็นหนทางละโดยตลอด เพราะสะสมการยึดมั่น สะสมความไม่รู้ นานจนกระทั่งพร้อมที่จะเกิดได้ทุกขณะที่ปัญญาไม่เกิด ไม่ว่าจะเป็นวิปัสสนาญาณ ก็ยังมีปัจจัยที่จะทำให้โลภะเกิดขึ้น ถึงความเป็นพระโสดาบันแล้ว ก็ยังมีปัจจัยให้โลภะเกิด ก็ลองคิดดู ถึงเป็นพระสกทาคามีก็ยังมีปัจจัยให้โลภะเกิด ซึ่งจะต้องเป็นเรื่องละทั้งหมด จนถึงพระอนาคามี ละความติดข้องได้ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ยังไม่หมดโลภะ

    เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้เลยว่า พระธรรมที่ทรงแสดงทั้งหมดเพื่อประการเดียว คือละ แต่ต้องด้วยความรู้ ไม่ใช่ด้วยความไม่รู้แล้วละ เพราะฉะนั้นอดทนเข้าใจได้ไหม ก่อนที่จะเป็นสติปัฏฐาน ก่อนที่จะเป็นวิปัสสนาญาณแต่ละขั้น และจากตรุณวิปัสสนา แม้ขณะนี้สิ่งที่กำลังปรากฏตามปกติ สติสัมปชัญญะเกิดรู้ทันทีได้ เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ โดยไม่หวังว่าจะประจักษ์การเกิดดับ

    ผู้ฟัง ที่บอกว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ใครพึงกล่าวว่า ควรทำกรรมอย่างใดๆ ย่อมเสวยกรรมนั้นอย่างนั้นๆ ดังนี้ เมื่อเป็นอย่างนั้นการประพฤติพรหมจรรย์ก็มีไม่ได้ ช่องทางที่ทำที่สุดทุกข์โดยชอบก็ไม่ปรากฏ อันนี้คือบุคคลหนึ่ง และส่วนอีกบุคคลหนึ่ง ส่วนใครกล่าวว่า ควรทำกรรมอันพึงให้ผลอย่างใดๆ ย่อมเสวยผลของกรรมนั้นอย่างนั้นๆ ดังนี้ เมื่อเป็นอย่างนี้การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ย่อมมีไม่ได้ ช่องทางที่จะทำที่สุดทุกข์โดยชอบก็ย่อมปรากฏ

    คือเหมือนกับว่า ข้อความคล้ายกันมาก แยกไม่ออกว่า บุคคล ๒ คนนี้ต่างกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ คนแรกกล่าวว่า ทำกรรมอย่างไรต้องได้รับผลของกรรมอย่างนั้น ถูกไหม

    ผู้ฟัง คนแรกนี่หมายถึงว่า เขาถือว่า ถ้าใครทำกรรมอย่างใดก็ต้องได้รับอย่างนั้นหมด คือทำ ๑๐๐ ได้ ๑๐๐ ทำกรรมอะไรก็ได้รับผล ๑๐๐ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ส่วนถูก และส่วนผิด มีไหม

    ผู้ฟัง ไม่ค่อยชัดเจน ยังไม่กระจ่าง

    ท่านอาจารย์ กรรมที่ทำไว้เยอะมากเลย ใช่ไหม ถ้าจะต้องรับผลของกรรมหมดนั้น ไม่ออกจากสังสารวัฏแน่ ถูกต้องไหม ไม่มีวันที่จะหมดสิ้น ถ้าทำกรรมอย่างใดแล้วจะต้องได้รับผลของกรรมนั้น อย่างนั้น ไม่มีทางที่จะพ้นจากสังสารวัฏได้ ถ้ากล่าวเพียงเท่านั้น แต่ก็ยังมีความละเอียด ไม่ใช่ว่าผลเกิดโดยไม่ต้องอาศัยเหตุคือกรรม แต่ว่ากรรมอันจะพึงให้ผลอย่างใด กระชับมาอีกหน่อยใช่ไหม อย่างเวลาที่กุศลจิตเกิด จะเกิด ๗ ขณะ ไม่ได้เกิดเพียง ๑ ขณะ กุศลจิตเกิดแล้วดับ ๑ ขณะ เป็นปัจจัยให้ขณะที่ ๒ ขณะที่ ๓ จนถึงขณะที่ ๗ กำลังการให้ผลของกุศลขณะที่ ๑ กับขณะที่ ๗ ไม่เหมือนกัน

    เพราะฉะนั้นจึงกล่าวว่า กรรมที่จะให้ผลอย่างใดก็ให้ผลอย่างนั้น จะไปให้ชวนจิต หรือกุศลจิตขณะที่ ๒ เป็นเหมือนขณะที่ ๑ ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นความละเอียดของธรรมก็คือว่า ทรงแสดงไว้ถึงความต่างของแม้กุศลจิตประเภทเดียวกัน เกิดสืบต่อกัน ๗ ขณะ แต่กำลังการให้ผลของขณะที่ ๑ ขณะที่ ๗ ขณะที่ ๒ ถึงขณะที่ ๖ ก็ต่างกัน นี่คือความละเอียด

    ผู้ฟัง นั่นหมายความว่าการที่เราคิดว่าฟังแล้วเข้าใจเรื่องกรรม และผลของกรรม ถ้าฟังเผิน และไม่ศึกษาให้ละเอียดว่า พระพุทธเจ้าอธิบายเรื่องกรรม การทำกรรม การให้ผลของกรรมอย่างไร ก็อาจจะเข้าใจผิดเหมือนคนประเภทที่ ๑

    ท่านอาจารย์ เข้าใจเป็นบางส่วน แต่ไม่ได้เข้าใจครบทุกส่วน เพราะเรื่องของกรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก นอกจากกล่าวถึงกรรมที่เป็นกุศล อกุศลที่เกิดสืบต่อ ๗ ขณะ ก็ยังกล่าวถึงกิจของกรรมแต่ละประเภทด้วย และยังกล่าวถึงการให้ผลตามกาละของกรรมแต่ละประเภทด้วย ก็เป็นเรื่องที่คนอื่นไม่สามารถจะรู้ได้ เช่นขณะนี้เพียงแต่ทราบว่า จิตเห็นเป็นผลของกรรม แต่ไม่รู้ว่ากรรมไหน ชาติไหน เป็นผลของกุศลจิตที่ได้กระทำในชาตินี้ หรืออกุศลจิตที่ทำในชาตินี้ขณะที่ ๑ หรือเป็นผลของกุศล อกุศลที่ทำมาแล้วนานแสนนาน ขณะที่ ๒ ถึงขณะที่ ๖ ก็ทราบไม่ได้ แต่ให้ทราบถึงผลของกรรมว่า เราจะกล่าวเพียงแต่ว่า ทำกรรมอย่างไรต้องให้ผลอย่างนั้น ก็ยังไม่พอ ต้องรู้ความละเอียดด้วย

    ผู้ฟัง พระอาจารย์ท่านหนึ่งพูดถึงเรื่องกรรมไว้ว่าอย่างนี้ ศาสนาพุทธของเรายังมีความเชื่อที่ผิดๆ อยู่มาก อย่างเช่น ฆ่านก เกิดชาติหน้าก็จะเกิดเป็นนก แล้วโดนเขาฆ่า เป็นความเชื่อที่ผิด ฆ่าไก่ ชาติหน้าจะเกิดเป็นไก่แล้วถูกฆ่า เพราะเขาให้เหตุผลว่า ถ้าความเชื่อเช่นนั้นถูก ชาตินี้ก็ฆ่าพระอรหันต์ซิ ชาติหน้าเราจะได้เกิดเป็นพระอรหันต์ แล้วโดนเขาฆ่าก็ไม่เป็นไรหรอก ไม่ทราบว่า ความคิดแบบนี้ถูก หรือผิด

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เราว่าต้องถามคนอื่นเลย เพียงเท่านี้พอจะรู้ไหมว่า เป็นเหตุเป็นผล หรือไม่

    ผู้ฟัง เป็นเหตุเป็นผล

    ท่านอาจารย์ จะฆ่าพระอรหันต์แล้วจะได้เกิดเป็นพระอรหันต์

    ผู้ฟัง เป็นความเข้าใจที่ผิด เพื่อนๆ ก็คิดอย่างนั้นเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ ความคิดมีมากมาย แต่จะตรงมากน้อยแค่ไหนเหมือนอย่างผู้ที่อบรมเจริญกุศลมามาก แต่ยังไม่ถึงความเป็นพระโสดาบัน ก็เกิดในอบายภูมิได้ ตัวอย่างง่ายๆ ที่ยกบ่อยๆ ก็คือม้ากัณฐกะ ไม่ใช่ไม่เคยอบรมเจริญปัญญาที่จะถึงความเป็นพระโสดาบัน แต่เมื่อยังไม่ถึงกาละที่ได้เป็น อกุศลก็ยังให้ผลเกิดในอบายภูมิได้ เพราะฉะนั้นแม้แต่คำที่ว่า ผู้ที่ได้กระทำกุศลไว้มากก็จะต้องคิดให้รอบคอบว่า หมายความถึงผู้ที่แน่นอนที่สุดคือเป็นพระโสดาบันแล้ว ไม่เกิดในอบายภูมิ แต่ถ้ายังไม่เป็นพระโสดาบัน จะอุปมาด้วยก้อนเกลือในแก้ว หรือในแม่น้ำก็ตาม ก็ต้องแล้วแต่ปัจจัยด้วย

    ผู้ฟัง จริงๆ แล้วตัวเจตนาเป็นกรรม และส่งผลของกรรม แล้วดูแล้วชีวิตคนเราที่มีอยู่ ก็ ๓ ตัว คือ กรรม กิเลส แล้ววิบาก ซึ่งเจตนาเจตสิกในปฏิจจสมุปปาทก็เป็นสังขาร ๓ ตัว ที่ทำให้เกิด

    ท่านอาจารย์ คุณอรวรรณตั้งใจทำอะไรบ้าง หรือไม่

    ผู้ฟัง อย่างทุกเสาร์อาทิตย์ก็ตั้งใจมาฟังพระธรรม

    ท่านอาจารย์ แล้วตั้งใจอย่างอื่นด้วย หรือไม่

    ผู้ฟัง ถ้ามีธุระ ก็ไปทำธุระตามนั้น

    ท่านอาจารย์ ตั้งใจจะทำอาหารอย่างหนึ่งอย่างใด หรือไม่

    ผู้ฟัง ก็เป็นบางครั้ง

    ท่านอาจารย์ ตั้งใจจะซื้อของอะไร หรือไม่ ก็เป็นชีวิตธรรมดา แต่พอมีคำว่า เจตนา หาไม่เจอ แต่สภาพที่จงใจ ตั้งใจนั้นเองเป็นลักษณะที่มีจริงๆ ไม่ใช่จิต แต่เป็นเจตสิก ต่างกับสภาพธรรมอื่น ต่างกับผัสสะ ต่างกับสัญญา ซึ่งเป็นสภาพที่จำ ผัสสะเป็นสภาพที่กระทบอารมณ์ เพราะฉะนั้นเมื่อสภาพธรรมนั้นมี ทรงแสดงความจริงของสภาพธรรมนั้น ว่าเป็นนามธรรม และแสดงความละเอียดว่า เจตนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกขณะ ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นกุศลจิต อกุศลจิต วิบากจิต กิริยาจิต แต่ส่วนใหญ่เราจะไม่รู้ ว่าขณะที่เรากำลังเห็นนี่เอง ก็มีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ไม่ขาดไปเลย ขณะนี้เหมือนทุกคนกำลังนั่ง แต่ความจริงจิตเจตสิกเกิดขึ้นทำกิจการงานทีละ ๑ ขณะจิตอย่างรวดเร็ว ไม่รู้เลย จะไปกล่าวถึงมนสิการเจตสิก ผัสสเจตสิก เจตนาเจตสิก สัญญาเจตสิกก็ไม่รู้ แต่ความจริงสภาพธรรมเหล่านี้ไม่ขาดเลย สำหรับเจตสิก ๗ ประเภทซึ่งต้องเกิดกับจิตทุกขณะ และทุกประเภทด้วย รวมเจตนาเจตสิกด้วย

    เพราะฉะนั้นความละเอียดของธรรมก็มากหลากหลาย ตามประเภทของชาติ ส่วนใหญ่เวลาที่พูดถึงเจตนา เรามักจะคิดถึงกุศล และอกุศล ใช่ไหม เจตนาที่จะเบียดเบียนคนอื่น มีไหม เจตนาที่จะพูดคำไม่จริง เจตนาที่จะพูดให้คนอื่นไม่สบายใจ หรืออะไรต่างๆ เหล่านี้ก็ต้องมีเจตนา ซึ่งเป็นอกุศลประเภทหนึ่ง และก็เป็นกุศลซึ่งต่างกับอกุศล แต่ก็เป็นสภาพที่จงใจ ตั้งใจ ไม่ใช่ใครสักคนหนึ่ง ศึกษาธรรมก็เพื่อให้รู้ความจริงว่าขณะนี้ เป็นธรรมที่เราไม่ได้รู้ แต่ว่าเกิดขึ้นแล้วดับไปอย่างรวดเร็ว แต่จากการฟังเริ่มจะค่อยๆ รู้ว่า ไม่มีเรา แต่มีนามธรรม และรูปธรรมประเภทต่างๆ

    เพราะฉะนั้นเวลาที่ชีวิตจริงๆ เป็นอย่างไร และพอที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมใด เราก็เรียกชื่อนั้นในภาษาบาลี อย่างความจงใจ ตั้งใจ ภาษาไทยก็เอาภาษาบาลีมาใช้ว่า เจตนา แต่เราออกเสียงเป็น เจด – ตะ – นา มีเจดตะนา หรือไม่ หรือไม่มีเจดตะนา บางคนก็อาจจะขอโทษ ไม่เจดตะนา แต่ความจริงที่พูดอย่างนั้นมีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วยกับจิตทุกขณะ จะขาดเจตนาเจตสิกไม่ได้เลย แต่ไม่รู้จักว่าสภาพที่เป็นเจตนานั้นคือลักษณะที่จงใจ ตั้งใจ ขวนขวายกระทำกิจการงานของตน หรือกระตุ้นเตือนสหชาตธรรมที่เกิดร่วมด้วย ให้เป็นไปตามเจตนานั้นๆ แล้วแต่ว่าเจตนาอะไรเป็นอย่างไร สภาพธรรมอื่นที่เกิดร่วมด้วยก็เหมือนกับนักเรียนที่ต้องอาศัยหัวหน้านักเรียน แล้วแต่จะให้ลุกขึ้นยืน หรือให้ออกไปนอกห้อง หรืออะไรก็ตาม นั่นก็เป็นลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นเจตนา แต่ไม่ได้หมายความว่า เราจะรู้ลักษณะจริงๆ ของเจตนา เพียงเรียกชื่อ เพราะขณะนี้มีแล้ว และไหนล่ะเจตนาที่ว่ารู้ ใช่ไหม เพียงเรียกชื่อ และค่อยๆ เข้าใจว่าเป็นธรรม ซึ่งต้องเกิดกับจิตทุกขณะ และเวลาที่สภาพธรรมใดปรากฏ มีลักษณะนั้นปรากฏ แต่ความไม่รู้ก็ไม่สามารถแม้แต่จะรู้ว่า นั่นคือสิ่งที่เรากล่าวถึง เช่นความจงใจตั้งใจ ขณะใดที่สามารถจะปรากฏลักษณะที่ว่า จงใจทำอะไร ขณะนั้นก็เป็นลักษณะของเจตนาเจตสิก แม้ปรากฏก็ไม่รู้ แต่ว่าไปหาลักษณะของเจตนา กิจของเจตนา เหตุใกล้ให้เกิดเจตนา หรืออาการปรากฏ นี่ก็คือพยายามไปรู้ชื่อ และพยายามไปหา แต่สิ่งที่กำลังมีในขณะนี้แม้เกิดกระทำกิจหน้าที่การงาน แต่ก็ไม่มีการรู้ตรงลักษณะนั้น

    การที่จะรู้ลักษณะที่เป็นสภาพธรรมนั้นได้ ต้องมีความเห็นถูก มีความเข้าใจถูก ไม่ใช่เราตั้งใจจะไปรู้เจตนา ไม่มีทางเป็นไปได้เลย เจตนาเกิดแล้วดับเร็วมาก พร้อมกับจิตทุกขณะ แต่ขณะใดที่เริ่มเข้าใจธรรมแล้วรู้ว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ลักษณะของสติ ไม่ใช่ลักษณะของเจตนา จงใจจะรู้ลักษณะของสภาพธรรม ไม่มีทางเป็นไปได้ ถ้าขณะนั้นไม่รู้ลักษณะของสติ และไม่เข้าใจถูกต้องว่าสติมีหลายระดับ ขณะที่กำลังฟัง โสภณจิตเกิด มีสติเจตสิก มีหิริกะ โอตตัปปะ มีอโลภะ อโทสะ มากมายหลายประเภทเกิดพร้อมกัน และดับไป แต่ขณะใดก็ตามที่มีความเข้าใจว่า มีสติขั้นอื่นด้วย ไม่ใช่เพียงแต่เฉพาะขั้นฟัง แต่ขณะที่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมมั่นคงว่าขณะนี้เป็นธรรม แล้วก็ไม่ไปเลือกให้สติเกิดระลึกรู้ลักษณะหนึ่งลักษณะใด แต่อาศัยความเข้าใจที่มั่นคง สติเกิดระลึกได้ ระลึกได้ไม่ใช่ระลึกเรื่อง แต่ระลึกรู้ลักษณะ มีลักษณะที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ ซึ่งเวลาที่สติสัมปชัญญะไม่เกิด แต่ลักษณะนี้ก็ปรากฏ เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ให้จิตเห็น แล้วแต่ว่าโลภะจะเกิด โทสะจะเกิด ก็เกิดดับไปอย่างรวดเร็ว โดยสติสัมปชัญญะไม่ได้รู้ลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรมซึ่งเกิดแล้วปรากฏน้อยมาก แล้วก็ดับไป แต่เวลาที่สติเกิด สิ่งนั้นปรากฏกับสติ ต่างกันแล้วใช่ไหม

    วันนี้กระทบแข็งตั้งแต่เช้ามานี้ก็หลายขณะก็ผ่านไปหมดเลย แต่เวลาที่สติสัมปชัญญะเกิด ลักษณะที่แข็งปรากฏ ชัดเจนกว่าเวลาที่สติสัมปชัญญะไม่เกิด หรือไม่ เพราะฉะนั้นแม้ลักษณะของเจตนา ถ้าไม่เข้าใจเรื่องสติสัมปชัญญะ ก็เพียงกล่าวถึงเจตสิกทั้งหมด แล้วก็จิต แล้วก็รูป ตามที่ได้ฟัง แต่ว่าไม่สามารถรู้ลักษณะ จนกว่าสติสัมปชัญญะจะเกิด และรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏด้วย ไม่ใช่ขณะอื่น และปัญญาเริ่มเข้าใจถูกตามที่ได้ศึกษา ขณะนี้มีเจตนาเจตสิกไหม

    ผู้ฟัง มี อย่างการที่จะถาม การนั่ง หรือเห็นก็มีหมด เพราะเกิดกับจิตทุกดวง

    ท่านอาจารย์ ทุกขณะ กำลังนอนหลับสนิทมีเจตนาเจตสิกไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ นี่คือพื้นฐานจริงๆ ถ้าไม่เข้าใจอย่างนี้ก็ไปคิดเอาเอง และก็อาจจะคิดว่าไม่มี

    ผู้ฟัง ที่ว่าเจตนาเจตสิกเป็นกรรมแล้วให้ผล ที่บอกว่าแบ่งเป็น ๒ ประเภท ที่จะให้ผลเป็นกรรมเฉพาะอกุศลจิต กุศลจิตที่ทำชวนกิจ

    ท่านอาจารย์ กุศลเจตนา หรืออกุศลเจตนาเป็นตัวกรรม แม้ว่าดับไปแล้วก็เป็นปัจจัยสะสมพร้อมด้วยปัจจัยเมื่อไร ก็ทำให้วิบากจิตซึ่งเป็นผลของเจตนานั้นเกิดขึ้นได้

    ผู้ฟัง ซึ่งถ้าไม่ใช่เจตนาในอกุศลกรรม คือ อกุศลจิต หรือกุศลจิตก็ไม่ให้ผล เช่นถ้าเกิดกับวิบากก็ดับไปเลย

    ท่านอาจารย์ ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ถ้าเรากล่าวว่า เจตนาเกิดกับจิตทุกขณะ ขณะที่กำลังรับประทานอาหารอร่อย มีเจตนาไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล

    ผู้ฟัง รับประทานอาหารอร่อยเป็นอกุศล

    ท่านอาจารย์ เป็นกรรม หรือไม่ ขณะนั้นอร่อยเป็นอกุศลจิต กำลังพอใจในรส แล้วก็เป็นกรรมที่จะให้เกิดวิบาก หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่เป็น

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่อกุศลกรรมบถ ๑๐ แต่ว่าถ้าละเอียดกว่านั้นก็คือกรรมมี ๒ อย่าง กรรมที่เกิดกับจิตทุกขณะเป็น "สหชาตกัมมะ" ทำกิจในขณะนั้นพร้อมกับเจตสิกอื่นๆ และก็ดับไป สะสมสืบต่อในจิตขณะต่อๆ ไป ทั้งหมดเลย สิ่งที่เกิดแล้วแม้ดับแล้ว แต่ก็สะสมสืบต่อ เมื่อเวลาที่เป็นกุศล อกุศล หรือกิริยาจิตสำหรับพระอรหันต์ที่ทำให้มีอุปนิสัยต่างๆ กัน เป็นเรื่องของธรรมที่ละเอียดสุดที่จะประมาณได้ เพียง ๑ ขณะจิตมาจากไหน และก็มาจากไหน และก็มาจากไหน ถอยไปอีก และทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นในขณะนี้ก็มาจากการสะสมทั้งหมด ที่เป็นอุปนิสย หรือเป็นอุปนิสัย

    ผู้ฟัง เคยได้ยินท่านอาจารย์กล่าวว่า การศึกษาธรรม ถ้าไม่รู้ และไม่เข้าใจลักษณะของธรรม ไม่ใช่การศึกษาธรรม

    ท่านอาจารย์ ใช้คำว่า “ศึกษาธรรม” โดยไม่เข้าใจธรรม จะเป็นการศึกษาธรรม หรือไม่ ธรรมมีจริงๆ หรือไม่ ถ้าไม่คิดว่า ธรรมมีจริงๆ ขณะนี้ แล้วศึกษาอะไร สิ่งที่ศึกษาก็ว่างเปล่า เพราะว่าไม่ได้เข้าใจธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้ ก็คิดว่าเป็นเพียงตัวหนังสือ เพราะฉะนั้นก่อนอื่นการศึกษาธรรมต้องเป็นผู้ละเอียดที่จะรู้ว่า ธรรมคืออะไร คือสิ่งที่มีจริงๆ และไม่เคยรู้ความจริงของสิ่งนั้น จึงต้องฟังเพื่อจะได้มีความเห็นถูก มีความเข้าใจถูก บางคนเกิดมาก็มีชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย แม้ได้ยินคำว่า “ธรรม” หรืออาจจะไม่ได้ยินคำว่า “ธรรม” แต่คนที่ได้ยินคำว่า “ธรรม” เข้าใจธรรม หรือไม่ ว่าขณะนี้มีธรรม หรือไม่ ธรรมมี และเข้าใจธรรมที่กำลังมีขณะนี้ หรือไม่

    เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมไม่ใช่ไปศึกษาสิ่งที่ไม่มี ไม่ปรากฏ แต่สิ่งที่มีจริงๆ ที่ปรากฏ และไม่เคยรู้มาก่อน ก็ฟัง พิจารณาให้เข้าใจถูกต้องว่าเป็นธรรม ขอยกตัวอย่าง คุณอรวรรณ เรียกว่าคุณอรวรรณอย่างนี้ มีคนชื่อ “อรวรรณ” ไหม คนอื่นรู้สึกจะไม่ใช่อรวรรณใช่ไหม อรวรรณก็คืออรวรรณ แต่เห็นเป็นอรวรรณ หรือไม่ ได้ยินเป็นอรวรรณ หรือไม่ คิดนึกเป็นอรวรรณ หรือไม่

    "คุณสุกัญญาคะ" คนอื่นก็ไม่ได้สนใจ แต่คุณสุกัญญาอาจจะกำลังคิดว่ามีคนเอ่ยถึง พูดถึง เข้าใจว่าทั้งหมดเป็นคุณสุกัญญา แต่ความจริงเห็นเป็นคุณสุกัญญา หรือไม่ คิดนึกเป็นคุณสุกัญญา หรือไม่ จำได้เป็นคุณสุกัญญา หรือไม่ หรือว่าเป็นธรรม

    นี่คือสิ่งที่จะต้องเข้าใจว่า กำลังฟังอะไร กำลังศึกษาอะไร เพื่อให้เข้าใจอะไร เพื่อให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงถูกต้อง ในขณะนี้จะเรียกชื่อใคร คนนั้นก็ยึดถือว่า สิ่งที่มีขณะนั้นเป็นเรา ไม่ใช่เป็นคนอื่น แต่ว่าตามความเป็นจริงเป็นธรรม นี่คือประโยชน์ของการฟังให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า มีการเข้าใจว่า ธรรมเป็นเรา นานแสนนานมาแล้ว แม้แต่ได้ยินชื่อก็เราถูกเรียก หรือว่าเรามีคนกล่าวถึง แต่ความจริงทั้งหมดก็เป็นธรรม ทุกคนเห็นเหมือนกัน เห็นจะเป็นคุณสุกัญญา หรือจะเป็นคุณอรวรรณ หรือว่าเป็นเห็น เพราะฉะนั้นเห็นมีจริงๆ นี่คือธรรม ฟังเพื่อให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า ธรรมเป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แล้วเกิดด้วยจึงได้ปรากฏ เมื่อเกิดปรากฏแล้วก็หมดไป ไม่มีอะไรเหลือที่จะให้เข้าใจว่าเป็นเรา หรือเป็นของเรา ถ้ามีความเข้าใจในสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏถูกต้อง นั่นคือเข้าใจธรรม

    เพราะฉะนั้นถ้าศึกษาธรรม โดยไม่รู้ว่า ขณะนี้เป็นธรรม จะชื่อว่า ศึกษาธรรม หรือไม่ แล้วไปเข้าใจอะไร ถ้าศึกษาธรรมโดยไม่รู้ว่า ขณะนี้เป็นธรรม ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นธรรม หรือไม่ เมื่อฟังแล้วจำได้ว่า สิ่งที่มีจริงเป็นธรรม เพราะฉะนั้นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาขณะนี้เป็นธรรม แต่ยังไม่ได้เข้าถึงความเป็นธรรมซึ่งเป็นธรรมจริงๆ ไม่เป็นใคร ไม่เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลยทั้งสิ้น ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏ แล้วเราก็จำรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่ได้เข้าใจธรรมที่ปรากฏว่า เป็นธาตุ หรือธรรมที่ปรากฏให้เห็น ไม่มีอะไรในสิ่งนั้นเลย เป็นสีสันวัณณะต่างๆ ที่สามารถกระทบจักขุปสาท ปรากฏเป็นรูปร่างสัณฐาน แต่เพราะไม่รู้ แล้วก็ไม่รู้มานานแสนนาน และจะยังคงไม่รู้ต่อไป ถ้าไม่เป็นผู้ละเอียด ถ้าเป็นผู้ที่ไม่เข้าใจถูกต้องว่า ธรรมที่มีในชีวิตประจำวัน ไม่ได้รู้ความจริงเลย เริ่มฟังธรรม เริ่มเข้าใจว่าเป็นธรรม แต่ยังไม่ถึงภาวะที่เป็นธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้นถ้าเป็นผู้ที่ละเอียด แต่ละคำก็จะทำให้ค่อยๆ อบรมความเห็นถูก ความเข้าใจในสิ่งที่มีจริงๆ และเริ่มเข้าใจว่าเป็นธรรมได้

    ผู้ฟัง การศึกษาจะต้องเป็นไปตามลำดับขั้นโดยตลอด ดังนั้นถ้าไม่รู้ และไม่เข้าใจลักษณะของธรรม ซึ่งเป็นรูปธรรม และนามธรรมอย่างไรตามลำดับขั้น จะมีโอกาสรู้ และเข้าใจลักษณะของกุศลจิต อกุศลจิต หรือวิตกเจตสิกได้ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏทางตา ลืมว่าต้องมีธาตุรู้ ที่กำลังเห็น สิ่งนี้จึงปรากฏได้ ยังไม่ต้องไปถึงกุศล และอกุศลเลย เพียงแค่สิ่งที่ปรากฏทางตา และมีจิตซึ่งเห็น แล้วเราก็ใช้คำว่า “จิต” และเราใช้คำว่า “จิต” หมายความถึง ธาตุรู้ หรือสภาพรู้


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 168
    10 ม.ค. 2567