พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 367


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๖๗

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๐


    ผู้ฟัง เราไม่เข้าถึงลักษณะของสภาพธรรม ก็ยังเป็นเรา และไม่เป็นธรรม ก็เลยไม่ทราบว่าขั้นฟังขนาดไหน ถึงจะเข้าใจว่าเป็นธรรม ยังสับสนตรงนี้

    ท่านอาจารย์ ยังมีเรากำหนดกฎเกณฑ์ หรือว่าขณะใดที่มีสติเกิด จะรู้ความต่างของขณะที่หลงลืมสติกับขณะที่สติเกิด เมื่อนั้นจึงจะเข้าใจความหมายว่า สติจริงๆ ที่เป็นสัมมาสติเป็นอนัตตา มีปัจจัยจึงเกิดขึ้น จะไม่รู้ หรือว่า เพราะมีปัจจัย สติสัมปชัญญะจึงเกิด เหมือนกับเห็นขณะนี้ เพราะมีปัจจัยจึงเห็น เกิดขึ้นได้ เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ มีปัจจัย จิตได้ยินก็เกิดขึ้นได้ยินเสียง มีปัจจัยที่จะเข้าใจสิ่งที่กำลังได้ฟัง ขณะที่เข้าใจก็เป็นธรรมอย่างหนึ่ง และขณะที่มีสติสัมปชัญญะรู้ลักษณะที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นเป็นความต่างแน่นอน ของขั้นเพียงฟังแล้วสติสัมปชัญญะไม่ได้รู้ตรงลักษณะของสภาพธรรม

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นเมื่อเรายังไม่เข้าถึงลักษณะของสภาพธรรม ก็แสดงว่าหลงลืมสติตลอด

    ท่านอาจารย์ จริงไหม

    ผู้ฟัง จริง

    ท่านอาจารย์ จริงก็คือจริง

    ผู้ฟัง ที่ว่ามานะ โดยประสบการณ์ส่วนตัว ผู้ที่ศึกษาธรรมแล้ว มีโอกาสที่มีมานะได้ คือ สำคัญตนเข้าใจตนว่ามีความรู้ธรรมมาก ถ้าเรามีโอกาสที่จะเตือนในสิ่งที่มีประโยชน์ เพราะถ้าเราไม่เตือนเขาเลยเราปล่อยให้เขาสะสมมานะไป วันใดวันหนึ่งก็จะหลงผิดได้

    ท่านอาจารย์ ฟังดูคนนั้นก็มีมานะมากทีเดียว เพราะฉะนั้นถ้าเราจะเตือนเขา เขามีมานะด้วย หรือไม่ ที่ว่าเรา หรือคนอื่นเตือนเขา แต่คำเตือนที่ประเสริฐสุดคือพระธรรม ถ้าเราจะกล่าวถึงธรรมบ่อยๆ เป็นพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง คนอื่นย่อมจะรับฟังแล้วแต่เขาจะพิจารณาอย่างไร แต่ถ้าเป็นคำเตือนของเราก็ต้องรู้จักบุคคลนั้นพอสมควรว่า จะไปเพิ่มมานะเขา หรือไม่ และเขาอาจจะมีมานะว่า เราเป็นใคร แล้วก็ไปเตือนเขา ก็เป็นไปได้

    เพราะฉะนั้นแม้ว่าจะเป็นความหวังดี แต่จริงๆ แล้วต้องแล้วแต่บุคคล แล้วแต่กาละ แล้วแต่ประโยชน์จะเกิดขึ้นไหม ถ้าเป็นประโยชน์ก็ทำ แต่ถ้าไม่เป็นประโยชน์ เราก็รู้ไม่ได้ว่า จะเป็นประโยชน์ หรือไม่เป็นประโยชน์ แต่ที่ปลอดภัยที่สุด คือ กล่าวถึงพระธรรม เตือนดีที่สุด ไม่ว่าใครจะรู้จักมากน้อยอย่างไรก็ตามแต่ แต่ว่าพระธรรมที่ทรงแสดงไว้ก็กล่าวถึงเรื่องมานะ ว่ามานะมีหลายระดับ และละเอียดมาก ถ้าเขาฟัง เขาก็จะได้รู้พิจารณาว่ามานะไม่ได้อยู่ที่อื่น แต่อยู่ที่ตัวเขา และจะมีความเข้าใจด้วยว่า มานะที่พระอนาคามีดับแล้วถึงความเป็นพระอรหันต์ จะต้องต่างกับมานะของผู้ที่เป็นปุถุชน

    เพราะฉะนั้นแต่ละคนจะมีมานะที่รู้ตัวบ้าง ไม่รู้ตัวบ้าง เพราะว่ามานะเป็นเรื่องที่ละเอียด บางทีเราเห็นมานะของคนอื่นมากกว่ามานะของเราเอง เพราะว่าอาจจะเป็นคนที่สะสมความอ่อนน้อม ความหวังดี ความเมตตา และเข้าใจถึงความต่างของแต่ละบุคคลว่าเป็นไปตามกรรม ซึ่งแต่ละคน แต่ละภพ แต่ละชาติสูงบ้างต่ำบ้าง หรือแม้ในชาติเดียวกันก็มีทั้งขึ้นลงต่างๆ กันไป ก็จะมีความเข้าใจ และมีความเห็นใจแทนมานะก็ได้ แม้กระนั้นคนนั้นก็ต้องเป็นผู้ที่ตรง ที่จะสังเกต และเข้าใจมานะที่ละเอียดขึ้น ว่ามานะอย่างนั้นไม่มี แต่มีมานะอย่างอื่นไหม แม้ขณะนี้เอง ขณะใดที่ไม่ได้ฟัง ไม่ได้พิจารณา ก็เหมือนไม่ได้ยินคำนั้น มีแต่เสียงกระทบ ปรากฏนิดเดียวแล้วก็หมดไป แต่ไม่รู้ว่าอะไร เพราะฉะนั้นขออนุโมทนาทุกท่านที่ฟังธรรม กุศลจิตที่จะเกิด ที่จะฟังธรรมนี่ไม่ง่าย และเมื่อฟังแล้วต้องเป็นผู้ที่ละเอียดด้วย มิฉะนั้นแล้วก็ไปทางผิดได้

    ผู้ฟัง ผมก็หวังว่า ทุกคนที่ได้ศึกษาธรรม พบกันชาตินี้แล้ว ชาติต่อไปก็คงจะได้ศึกษาธรรมด้วยกัน

    ท่านอาจารย์ คุณนิรันดร์หวังดีกับทุกคนดีไหมคะ ไม่เจาะจงเฉพาะเพื่อน หรือไม่เจาะจงเฉพาะคนนี้ ใครก็ได้ เห็นผิดก็มี เห็นถูกก็มี แต่ถ้าใครสะสมมาที่มีโอกาสได้ยินได้ฟังเมื่อไร เราก็อนุโมทนาเมื่อนั้น พร้อมที่จะช่วยคนฟังแล้ว คนที่มีศรัทธาที่จะฟัง แต่ถ้าไม่มีศรัทธา จะไปจูงไม้จูงมืออย่างไร เขาก็ไม่ฟัง

    ผู้ฟัง เราจะมั่นคงในหนทางที่ถูก ไม่ไปหนทางผิด ต้องมั่นคงแค่ไหน

    ท่านอาจารย์ ในขณะที่ปัญญาเรายังน้อยนิด เราจะมั่นคงได้อย่างไร ปัญญาที่ว่าน้อยนิดมาจากไหน เกิดขึ้นได้อย่างไร

    ผู้ฟัง ได้จากการฟัง

    ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะฉะนั้นถ้าปัญญาจะมากขึ้น เหตุเดียวกัน หรือไม่

    ผู้ฟัง ก็ต้องฟังให้มากขึ้น

    ท่านอาจารย์ ปัญญาขณะนี้ไม่ได้ประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรม เพราะฉะนั้นขณะนี้มีปัญญาแค่นี้ แล้วโลภะก็บอกว่า ทำอย่างไรถึงจะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรม หรือมีปัญญามากกว่านี้ ต้องเป็นผู้ตรง ค่อยๆ เพิ่มขึ้น ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ใช่ หรือเปล่า หรือว่าจะมีปัญญาที่รู้แจ้งสภาพธรรมได้โดยที่ไม่มีการสะสม

    ผู้ฟัง ความเป็นอนัตตาของโลภะ เสมอเลย มาตลอด รู้ตัวบ้าง ไม่รู้ตัวบ้าง จะบ่อยๆ เนืองๆ มากกว่าฟังเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ แต่ก่อนไม่รู้ เดี๋ยวนี้รู้ก็ยังดี ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ถ้าเราบอกว่า รูปเกิดขึ้นแล้วดับไปอย่างรวดเร็ว ตลอดเวลา อธิบายอย่างไรคนก็ไม่เข้าใจ โต๊ะก็ไม่ได้หายไป ไม่ได้ดับไป เก้าอี้ก็ไม่ได้หายไป ไม่ได้ดับไป แจกันดอกไม้ เมื่อวานนี้ก็ยังอยู่ วันนี้ก็ยังอยู่

    ท่านอาจารย์ ไม่ทราบคุณเด่นพงศ์ไม่มั่นใจอะไร

    ผู้ฟัง ไม่มั่นใจคำว่า “รูป” หลายครั้งก็เหมือนโต๊ะ เก้าอี้

    ท่านอาจารย์ ยังไม่ต้องคิดถึงโต๊ะ เก้าอี้ได้ไหม รูป มีจริงๆ

    ผู้ฟัง รูปมีจริง

    ท่านอาจารย์ มั่นใจ

    ผู้ฟัง มั่นใจ

    ท่านอาจารย์ แล้วรูปก็หลากหลาย รูปที่ปรากฏทางตา ปรากฏทางหูไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็เป็นแต่ละรูป อันนี้มั่นใจ

    ผู้ฟัง มั่นใจครับ

    ท่านอาจารย์ และที่ไม่มั่นใจ ตรงไหน

    ผู้ฟัง คำว่า รูปคืออะไร คือโต๊ะ เก้าอี้ มันไม่ใช่ มันไม่ดับ สูญสิ้น

    ท่านอาจารย์ ถ้าอย่างนั้นรูปโต๊ะกับรูปเก้าอี้ ต่างกันตรงไหน

    ผู้ฟัง รูปโต๊ะกับเก้าอี้ก็เหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ แล้วทำไมเป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ ถ้าเหมือนกัน

    ผู้ฟัง ประกอบด้วยกลาป อย่างนี้จะเข้าใจดีขึ้นไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ค่ะ ต้องมีความเข้าใจจริงๆ ในสิ่งที่มีจริง ที่ปรากฏ ที่แยกเป็นแต่ละรูป แต่ละลักษณะ เช่น สิ่งที่ปรากฏทางตาจริงๆ จะเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ไหม ถ้าเพียงแค่ปรากฏแล้วดับไป

    ผู้ฟัง เพียงปรากฏแล้วดับไป

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้เลยใช่ไหมคะ นี่คือความถูกต้อง เป็นความมั่นใจ หรือไม่ว่า รูปที่ปรากฏทางตา เกิด จึงได้ปรากฏ แล้วแค่ปรากฏได้ทางตาแล้วดับ จะเป็นอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ได้เลยทั้งสิ้น นอกจากเป็นสิ่งที่แค่ปรากฏจริงๆ นั่นคือรูปๆ หนึ่งที่ปรากฏทางตาแล้วดับด้วย ทีนี้มั่นใจ หรือยังตรงนี้ แม้ว่ายังไม่ประจักษ์ แต่ตามความเป็นจริงเป็นอย่างนั้น หรือไม่

    ผู้ฟัง แม้ไม่ประจักษ์

    ท่านอาจารย์ แต่ตามความเป็นจริงเป็นอย่างนั้น หรือไม่ นี่คือความมั่นใจว่ารูปที่เกิดดับ แล้วเร็วมากด้วย จึงไม่ปรากฏการเกิดดับ ถูกต้องไหม

    ผู้ฟัง อธิบายได้ตามตัวหนังสือ

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ค่ะ ตามความเป็นจริง คิดว่าถ้าสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามที่เกิดดับสืบต่อเร็วมาก เราสามารถเห็นการเกิดการดับ หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่เห็น

    ท่านอาจารย์ ก็แสดงให้เห็นว่า เรายังไม่มีความเข้าใจในสิ่งที่ปรากฏทางตาจริงๆ จึงต้องอาศัยการฟัง สภาพธรรมก็มีเพียงแค่จิต เจตสิก รูป ฟังเท่าไรกี่ภพกี่ชาติก็คือเพิ่มความเห็นถูก ความเข้าใจถูกในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง และก็มีจริงๆ ไม่ใช่พอได้ฟังว่า รูปเกิดดับก็จะไปประจักษ์การเกิดดับ แต่ต้องค่อยๆ พิจารณาตามความเป็นจริงว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา "มี" ไม่เคยรู้เลยว่า เป็นสิ่งที่สามารถปรากฏแล้วหมดไป แต่ว่าตามความเป็นจริงต้องเป็นอย่างนี้ใช่ไหม ให้มีความมั่นใจว่าเกิดดับ แต่ยังไม่ประจักษ์ แต่สามารถประจักษ์ได้ เพราะเป็นทุกขอริยสัจจะ ด้วยปัญญาที่สามารถจะคลายความไม่รู้ในสิ่งที่เคยยึดมั่นว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เช่น แม้แต่การยึดมั่นว่านี่เป็นโต๊ะ นั่นเป็นเก้าอี้ นั่นเป็นต้นไม้ ความยึดมั่นนั้นมาจากไหน มีสิ่งที่ปรากฏทางตาแน่นอน ใช่ไหม แต่ว่าสิ่งที่ปรากฏเกิดดับสืบต่ออย่างเร็ว เป็นนิมิตตะ เป็นสิ่งที่ปรากฏ เป็นรูปร่างสัณฐานต่างๆ

    เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า แม้แต่ความคิดว่า สิ่งที่ปรากฏเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เช่น เป็นคน เป็นห้อง กำลังมีสิ่งนั้นสิ่งนี้อยู่ในห้องนี้ โต๊ะ หรือว่าแจกัน ก็แสดงให้เห็นว่า ตามความเป็นจริงถ้ามีความเข้าใจที่ถูก คลายความติดข้อง เพราะรู้ความจริงว่า สิ่งที่ปรากฏเป็นสัณฐานนั้นเป็นเพียงนิมิต แสดงให้เห็นว่า มีสภาพของรูปที่เกิดดับสืบต่อจริงๆ จนกระทั่งปรากฏเป็นรูปร่างสัณฐาน แต่เพราะไม่ประจักษ์การเกิดดับ ก็มีการจำนิมิตตะเป็นเก้าอี้ หรือว่าเป็นโต๊ะ โดยที่ยังไม่ต้องเรียกชื่อเลย ไม่มีใครมาสอนเด็กเล็กๆ ว่า นี่เรียกว่าเก้าอี้ นั่นเรียกว่าโต๊ะ แต่ก็มีนิมิตตะ ที่ทำให้เห็นความต่างของสิ่งที่ปรากฏด้วยความจำ

    เพราะฉะนั้นแสดงให้เห็นว่า เรายังไม่ได้รู้จริงในลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเกิดดับเร็วมาก เพียงแต่ว่าเราอยู่ในโลกของความไม่รู้ และสิ่งที่ปรากฏเป็นนิมิตของสังขารธรรม เป็นสังขารนิมิตทั้งหมด แล้วก็ค่อยๆ เริ่มฟังว่า จริงๆ แล้วเป็นธาตุ เป็นธรรมแต่ละอย่าง มีปัจจัยเกิดแล้วก็ดับไป จนว่าจะคลายความไม่รู้ ปัญญาเพิ่มขึ้นจึงประจักษ์การเกิดดับได้ ถ้าไม่สามารถประจักษ์การเกิดดับได้ พระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดง ไม่มีประโยชน์ แต่ทรงแสดงเพราะรู้ว่า มีผู้ฟังที่ไตร่ตรอง ค่อยๆ สะสมความเห็นถูก ความเข้าใจถูก มั่นคงด้วยวิริยะ ด้วยขันติ จนกระทั่งสามารถคลายความไม่รู้ และแทงตลอดสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้

    ผู้ฟัง ถ้าถามว่าเชื่อพระปัญญาของพระพุทธเจ้า หรือไม่ ผมเชื่อ แต่ว่า

    ท่านอาจารย์ ถ้าเชื่อ ก็คือเชื่อว่า ขณะนี้รูปที่กำลังปรากฏเป็นนิมิต

    ผู้ฟัง แต่ว่ายังวิเคราะห์ไม่ออก

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องไปวิเคราะห์ด้วยตัวเอง ฟังเข้าใจแล้วรู้ว่า ความจริงเป็นอย่างนี้ แล้วก็ฟังไปอีก เข้าใจไปอีก ทั้งหมดไม่ใช่ให้เราไปประจักษ์การแยกขาดของนามธรรมรูปธรรมที่เกิดดับ โดยไม่มีความเข้าใจ นี่เป็นสิ่งซึ่งหลายคนอาจไม่รู้ว่า ปัญญาที่สามารถแทงตลอดได้ ต้องเริ่มเกิดตั้งแต่การฟัง และความเข้าใจก็ละความไม่เข้าใจ และความไม่รู้

    ผู้ฟัง โต๊ะ เก้าอี้เป็นกลาปแต่ละกลาปรวมกันอยู่ และแต่ละกลาปก็มีส่วนประกอบอยู่แล้ว และส่วนประกอบเหล่านี้ที่เรามองไม่เห็นก็เกิดดับๆ อธิบายอย่างนี้จะง่ายกว่าไหม

    ท่านอาจารย์ สภาพธรรมทั้งหมดเกิดแล้วก็ดับ มีอายุที่สั้นมาก จนกว่าจะประจักษ์ความจริง ค่อยๆ เข้าใจ แยกลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นลักษณะหนึ่ง

    ผู้ฟัง คือท่านอาจารย์ไม่ค่อยเห็นด้วยกับวิธีที่ผมแยกเป็นกลาป

    ท่านอาจารย์ ต้องเป็นความเข้าใจ ไม่ใช่วิธี

    ผู้ฟัง ไม่ใช่วิธี เอาของจริงมาอธิบายเป็นกลาป

    ท่านอาจารย์ เวลานี้กำลังพูดถึงสิ่งที่ปรากฏ และเห็นนิมิตของสิ่งที่ปรากฏด้วย เพราะฉะนั้นนิมิตนี้มาจากไหน มาจากสภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อเร็วมาก เมื่อไม่ประจักษ์ ก็มีนิมิตตะของสิ่งที่ปรากฏเป็นสีสันวัณณะต่างๆ เป็นรูปร่างต่างๆ

    ผู้ฟัง ถ้าเผื่อมองเห็น สิ่งที่มองเห็นทางตา อย่างที่หน้าจอที่เห็นอยู่เดี๋ยวนี้ สิ่งที่ปรากฏทางตาแล้วก็เกิดดับๆ

    ท่านอาจารย์ ยังไม่ต้องคิดถึงการเกิดดับเลย แน่นอนผู้ที่ประจักษ์รู้ว่าเกิดดับ ผู้ที่ยังไม่ประจักษ์จะไปคิดทำไม นอกจากจะเข้าใจให้ถูกต้องว่า เป็นสิ่งที่มีจริงๆ กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง คิดว่า เข้าใจแล้วก็มั่นคง

    ท่านอาจารย์ เข้าใจก็ยังไม่พอ ทุกครั้งที่เห็นจะมีความต่างกันของขณะที่สติเกิดเป็นปกติ กำลังรู้ลักษณะที่มีจริงๆ และมีลักษณะของสภาพธรรมเกิดดับทั้งนั้นเลย เช่น ขณะนี้ก็มีเสียงเกิด มีคิดนึกเกิด

    ผู้ฟัง สรุปอาจารย์ให้ผมเข้าใจไปเรื่อยๆ ฟังไปเรื่อยๆ

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีปัญญา อะไรจะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมได้

    ผู้ฟัง คือวิธีแยกเป็นกลาป ไม่ต้องไปคิดต่อแล้ว

    ท่านอาจารย์ ฟังให้เข้าใจ แล้วก็รู้ว่า ไม่สามารถประจักษ์ได้เพียงขั้นฟัง แต่ความจริงเป็นอย่างนั้นก็อบรมไป

    ผู้ฟัง เข้าใจว่า ความจริงไม่ต้องไปแยกเป็นกลาป หรือไปแยกเป็นอณูอะไร

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่แยก เข้าใจให้ถูกต้องว่า สิ่งที่รวมกันเป็นก้อนใหญ่ แท้ที่จริงมีอากาศธาตุแทรกคั่นอย่างละเอียด และส่วนที่แยกอีกไม่ได้เลย นั่นคือ ๑ กลาป แล้วแต่ว่า ๑ กลาปนั้นจะมีรูปกี่รูปรวมกัน เพราะว่าจะไม่มีเพียงรูปเดียว สภาพธรรมอาศัยกัน และกันเกิดขึ้น แม้แต่รูป มหาภูตรูปมี ๔ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม อาศัยกัน และกัน ขาดธาตุหนึ่งธาตุใดไม่ได้ แต่ว่าเมื่อมีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ก็มีสี ที่สามารถกระทบจักษุปสาทปรากฏให้เห็นว่า มีอยู่ตรงนั้น มีกลิ่น มีรส มีโอชา รวมอยู่ในกลาปที่เล็กที่สุด ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้ ไม่ใช่ไปแยก แต่เข้าใจให้ถูกต้องว่าความจริงเป็นอย่างนี้ ไม่ว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามที่ปรากฎจะใหญ่มาก หรือจะเล็กที่สุดก็ยังแตกย่อยเป็นกลาป คือ ส่วนที่เล็กที่สุดที่แตกย่อยอีกไม่ได้ ก็มีรูปอย่างน้อยที่สุด ๘ รูป

    ผู้ฟัง ระลึกศึกษา คือไม่ต้องไปแยกเป็นกลาป เพียงแต่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ฟังให้เข้าใจความเป็นจริง ไม่ใช่ให้ตัวเราไปแยก ไม่มีทางไปแยกได้เลย ต้องเป็นปัญญาที่สามารถละความไม่รู้ ละความติดข้อง มีความเข้าใจเพิ่มขึ้นเมื่อไร ก็จะรู้ว่า ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วคลายอะไรบ้าง หรือยัง มีปัญญารู้เพิ่มขึ้น หรือเปล่า ไม่ใช่ให้มีตัวเราที่พยายามจะประจักษ์ด้วยความเป็นตัวตน ไม่สำเร็จ

    ผู้ฟัง คือเพียงเข้าใจว่า เป็นสภาพที่ปรากฏแล้วหมดไป เพียงแค่นี้ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ แล้วรู้ หรือยัง แค่นี้

    ผู้ฟัง บางทีก็หลงลืมบ้าง

    ท่านอาจารย์ รู้ขั้นฟังอย่างหนึ่ง รู้ขั้นกำลังเริ่มเข้าใจลักษณะที่ปรากฏจริงๆ ว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏได้

    ผู้ฟัง ไม่ค่อยชัดเจน ฟังให้เข้าใจ ก็ไม่มั่นใจว่า ฟังให้เข้าใจแค่ไหน รบกวนท่านอาจารย์ขยายความไม่ให้เข้าใจผิดว่าว่าเราศึกษาเข้าใจแล้วเข้าใจ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ คุณอรวรรณคิดว่า มีใครที่สามารถเข้าใจพระไตรปิฎกโดยตลอดทั้งหมดได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ก็หมดปัญหาไป

    ผู้ฟัง สิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ใบไม้ทั้งป่า แต่ว่าเรารู้ อาจจะเป็นใบไม้กำมือเดียว ก็คือให้เข้าใจว่า ชีวิตประจำวันของเราเป็นอย่างไรตามที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้เพื่อให้อย่างน้อยความรู้ก็ละความไม่รู้ ก็สามารถละกิเลสได้ อันนั้นก็คือการศึกษา

    ท่านอาจารย์ กำมือเดียว คือ ได้ยินคำอะไร เข้าใจ ไม่ใช่ข้ามไปๆ แล้วก็ใช้คำนั้นโดยที่ไม่รู้ความหมายจริงๆ อย่างพูดถึงคำว่า “ธรรม” เข้าใจว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง จากการศึกษา ก็คือสิ่งที่มีจริง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นอภิธรรมกับธรรม เหมือนกันไหม

    ผู้ฟัง ถ้าอภิธรรมก็ขยายว่าธรรมในส่วนละเอียด ถ้าหมายถึงสิ่งที่มีจริงก็เหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ ธรรมก็ต้องเป็นธรรม เปลี่ยนไม่ได้ ปรมัตถธรรม กับธรรม กับอภิธรรม เหมือนกันไหม

    ผู้ฟัง เหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ เพียงแต่ใช้คำที่จะให้รู้ว่า กำลังกล่าวโดยละเอียดยิ่ง หรือว่ากล่าวเพื่อจะเข้าใจเฉพาะส่วนที่คนสามารถประจักษ์แจ้งได้ โดยไม่ต้องกล่าวถึงความละเอียดยิ่งก็ได้ เพราะว่าคนนั้นเคยอบรมปัญญามาแล้ว ไม่ใช่ว่า แล้วเราจะเอาอภิธรรมไปทำไม แล้วเราจะฟังอภิธรรมไปทำไม ฟังเพราะไม่รู้ แล้วไม่ละ แล้วทำอย่างไรถึงจะรู้ และละได้ ถ้าไม่ฟังให้ละเอียดยิ่งขึ้น ไม่ใช่ฟังไว้สำหรับที่จะไปกล่าวเป็นเรื่องราว แต่ฟังเพราะรู้ว่า ถ้าไม่ฟังอย่างนี้ ไม่สามารถละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้ แม้แต่คำว่า “อายตนะ” ทั้งๆ ที่สภาพธรรม ทรงแสดงเรื่องนามธรรม และรูปธรรม เป็นอายตนะทั้งหมด เพราะเหตุว่าจะเกิดมีขึ้นโดยที่ปรากฏ และจะไม่ให้อยู่ตรงนั้น ให้หายไปไม่ได้ หมายความเป็นที่ประชุม ที่ต่อ ที่จะทำให้ขณะนี้เห็นสิ่งที่มีอยู่ในขณะนั้นที่นั่น

    เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจความหมายด้วย ไม่ใช่จำชื่อ อายตนะภายใน ๖ ภายนอก ๖ กล่าวได้กี่วัน กี่เดือน กี่ปี ๖ นี่ก็แม่น ทั้งภายใน ทั้งภายนอก แต่จะรู้ความเป็นอายตนะเมื่อไร เดี๋ยวนี้รู้ได้ไหม ไม่ได้ แต่จากการฟังก็มีความเข้าใจความเป็นอนัตตาว่า แม้ขณะนี้เองที่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดปรากฏ เช่น สิ่งที่ปรากฏทางตาปรากฏ และจิตเห็นก็เกิดเห็นสิ่งที่ปรากฏ ณ ขณะนั้นเองไม่ใช่ตัวตนเพราะอะไร เพราะว่าตาเป็นอย่างหนึ่ง และสิ่งที่กระทบตาเป็นอีกอย่างหนึ่ง ตาก็เป็นส่วนที่เป็นภายใน ส่วนสิ่งที่มากระทบก็เป็นภายนอก

    เพราะฉะนั้นเวลาที่พูดถึงอายตนะภายใน ทุกคนก็จะคิดถึงตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เวลาที่มีสิ่งที่ปรากฏกับตา ส่วนที่ปรากฏกระทบจึงปรากฏ จึงเป็นภายนอก เสียงกระทบโสตปสาทจึงปรากฏ เสียงก็เป็นภายนอกที่กระทบกับโสตปสาทที่เป็นภายใน

    ถ้ามีความเข้าใจสิ่งที่พูด หรือชื่อที่ได้ยินเพิ่มขึ้น ก็จะคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน แต่ไม่ใช่เป็นการไปจำชื่อ แล้วก็ไม่รู้ว่าคืออะไร และต้องเข้าใจจริงๆ ว่า ปัญญาที่จะรู้สภาพธรรมตามลำดับ ขณะนี้ฟังเรื่องอายตนะ แต่จะรู้ลักษณะที่เป็นอายตนะได้ไหม ในเมื่อขณะนี้บางคนก็บอกว่า เจตนาก็ตาม ผัสสะก็ตาม สติก็ตาม คุ้นหู รู้ว่าขาดไม่ได้เลย เวลาที่รู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ต้องมีผัสสเจตสิก และมีเวทนาเจตสิก รู้หมดเลย รู้เรื่องของสภาพธรรมในขณะนี้ที่มีจริงๆ แต่ว่าขณะนี้รู้ลักษณะของเห็น หรือเปล่า เพียงเห็นยังไม่รู้ แล้วจะรู้ลักษณะของผัสสเจตสิก หรือเวทนาเจตสิกได้ไหม ถ้าไม่ปรากฏ แต่ขั้นเข้าใจเป็นปัญญาที่ทำให้ค่อยๆ เข้าใจถูกต้องว่า แต่ละขณะที่เกิดขึ้นไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตนเลย เป็นธรรมทั้งหมดที่เป็นนามธรรม และรูปธรรม

    เพราะฉะนั้นถ้าจะมีคนถามว่า ขณะนี้สติเกิดไหม ถูกไหม เพราะไม่รู้สภาพของนามธรรมที่เห็น และลักษณะของสติ จะรู้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ นี่ก็เป็นเรื่องที่เราฟังเรื่องราวของธรรมแล้วเป็นผู้ที่ตรงว่า ธรรมละเอียดทั้งนามธรรม และรูปธรรม ทั้งๆ ที่รูปกล่าวว่า มีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ แต่ก็ดับสืบต่อจนกระทั่งไม่ปรากฏการเกิดดับ แต่การฟังค่อยๆ เข้าใจทีละเล็กทีละน้อยเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้ปัญญาที่เกิดจากความเข้าใจ ไม่มีใครสามารถรู้เลย เป็นสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งจนกระทั่งสามารถเกื้อกูลให้มีความเห็นถูกเพิ่มขึ้น

    เวลาที่วิสาขามิคารมารดาขอพรพระผู้มีพระภาคที่จะถวายอาคันตุกะภัตรบ้าง หรือจีวรแก่พระภิกษุที่มาเมืองสาวัตถี เพื่อประโยชน์เวลาที่ธรรมทั้งหลาย โพธิปักขิยธรรมเกิดขึ้น ปีติจึงเกิด นี่เห็นไหมคะกว่าจะปรุงแต่งที่จะกระทำกิจที่ทำให้เกิดโสมนัสในทางกุศล เป็นปัจจัย เป็นสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งให้ขณะนั้นเกิดปีติได้

    เพราะฉะนั้นเราจะไม่รู้การปรุงแต่งของสภาพธรรมแต่ละขณะเลย ซึ่งมีความเข้าใจเริ่มเกิดขึ้นทีละเล็กทีละน้อยๆ ๆ เวลาที่มีปัญญาเพิ่มขึ้น เป็นปัจจัยให้มีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม เมื่อนั้นเราก็สามารถจะรู้ขณะที่ต่างของขณะที่หลงลืมสติ กับขณะที่สติเกิด


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 168
    22 ธ.ค. 2566