พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 366


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๖๖

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๐


    ท่านอาจารย์ ถ้ามีความเข้าใจพื้นฐานแบบนี้ ก็จะรู้ได้ว่า แม้แต่จิต หรืออุตุ ธาตุไฟ เย็น ร้อน หรือแม้แต่อาหารก็สามารถทำให้เกิดกลุ่มของรูปที่วิการจากกลุ่มที่ไม่มีวิการรูป กลุ่มที่ไม่มีวิการรูป ก็มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม มีสี กลิ่น รส โอชา ไม่มีวิการรูป แต่จิต หรืออุตุ หรืออาหารก็ยังสามารถเป็นสมุฏฐานให้รูปกลุ่มที่มีวิการรูปเกิดร่วมด้วย ซึ่งต่างจากกลุ่มที่ไม่มีวิการรูป

    เพราะฉะนั้นก็ต้องเข้าใจ “วิการ” รูปเดิมปกติ แต่เมื่อมีวิการ คือ รูปที่กระทำให้อ่อน ให้เบา ให้ควรแก่การงาน กลาปนั้น หรือกลุ่มนั้นก็มีลักษณะของอะไร ที่เป็นใหญ่ เป็นประธาน ที่ผิดจากเดิม คือ เพียงอ่อน หรือแข็งเป็นธาตุดิน เย็น หรือร้อนเป็นธาตุไฟ ตึง หรือไหวเป็นธาตุลม ปกติธรรมดา ที่โต๊ะ ที่เก้าอี้ หรือที่ไหนก็ตามซึ่งเกิดเพราะอุตุเป็นสมุฏฐาน ก็จะไม่ขาดมหาภูตรูปใหญ่ ๔ รูป แต่ในที่นั้นก็ต้องมีสี มีกลิ่น มีรส มีโอชาด้วย แต่สำหรับสัตว์ บุคคล มีจิต เพราะฉะนั้นจิตก็เป็นสมุฏฐานทำให้เกิดกลุ่มของรูป ซึ่งไม่ใช่เพียงแต่มีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม สี กลิ่น รส โอชาเท่านั้น แต่บางกลุ่ม บางกลาปก็ยังมีวิการรูป ๓ เกิดร่วมด้วย มิฉะนั้นก็จะไม่มีการเคลื่อนไหวได้ รูปที่ไม่มีวิการรูป เช่น รูปของต้นไม้ ใบหญ้า ไม่ได้เกิดจากกรรม ไม่มีจิต ไม่มีอาหาร ไม่ต้องรับประทานอาหาร แต่เกิดขึ้นเพราะอุตุ ความเย็น ความร้อน เพราะฉะนั้นรูปนั้นๆ ก็ไม่มีวิการรูป เมื่อไม่ใช่รูปที่เกิดจากกรรมซึ่งเป็นสัตว์ เป็นบุคคล

    จากชีวิตประจำวัน แม้ว่ารูปขณะนี้จะประชุมกันเหมือนเป็นก้อนใหญ่ แต่มีอากาศธาตุแทรกคั่นอยู่ และแต่ละรูป แต่ละกลุ่มเกิดดับเร็วมาก มีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ รูปใดเกิดแล้วก็ไม่ยั่งยืนเลย รูปนั้นกลุ่มนั้น ๑๗ ขณะก็ดับ และเร็วแค่ไหน ทั้งตัวนี่เหมือนไม่มีอะไรเหลือเลย แต่แม้กระนั้นก็ต่างกันตามสมุฏฐานว่า ในแต่ละกลาป หรือแต่ละกลุ่มนั้นมีรูปอะไรเกิดร่วมด้วย

    ผู้ฟัง อย่างรูปที่เกิดจากจิตที่มีวิการรูปก็พอเข้าใจ ก็เพราะต่างจากรูปอื่นๆ แต่เมื่อเป็นอาหารกับอุตุ ก็ยังไม่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ อาหารทำให้เกิดรูป เข้าใจไหม

    ผู้ฟัง เข้าใจว่า รับประทานอาหารเข้าไปก็ทำให้เกิดรูป

    ท่านอาจารย์ และบางกลาปก็มีวิการรูปเกิดได้ นี่เป็นเรื่องที่เราไม่สามารถจะรู้ความละเอียด เพราะว่าไม่ใช่รูปใหญ่ หรือไม่ใช่วิสยรูป ไม่ใช่โคจรรูป ซึ่งสามารถปรากฏได้ในชีวิตประจำวัน อยากจะรู้ อยากจะเข้าใจ ก็ต้องทราบว่า สามารถจะเข้าใจได้ระดับไหน

    ผู้ฟัง มีคำถามจากท่านผู้ฟังว่า ๑. การศึกษาเรื่องชื่อ และเรื่องราวของธรรม เพื่อให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และข้อ ๒ การศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏต่างๆ นั้น เพื่อเข้าใจความจริงซึ่งมีชื่อ และเรื่องราวต่างๆ ของธรรมนั้นๆ เป็นคำถามยอดนิยมสมัยเมื่อ ๑๐ กว่าปีก่อนมาแล้ว และท่านอาจารย์ก็จะตอบแบบนี้เหมือนเดิมมาแล้ว ๑๐ กว่าปีเช่นเดียวกัน

    ซึ่งได้ฟังคำตอบ ฟังแล้วฟังเล่า ไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง ก็ยังไม่รู้เหมือนเดิม ต่อเมื่อฟังคำตอบซ้ำอีกครั้งหนึ่งเมื่อวานนี้ จึงค่อยๆ รู้สึก ขอย้ำว่า “ค่อยๆ รู้สึก” เข้าใจทีละเล็กทีละน้อยว่าการศึกษาธรรมไม่มีรูปแบบ ไม่มีกรอบ ไม่มีการบังคับ เป็นเรื่องเฉพาะของแต่ละบุคคลจริงๆ ถ้าหนักไปในข้อหนึ่งข้อใด เรื่องหนึ่งเรื่องใด ก็จะเป็นความเห็นผิดทันที ถ้าในขณะนั้นมีความเข้าใจเกิดขึ้น หรือปัญญาเกิดขึ้น ก็จะรู้จักความจริงได้

    ทั้งหมดนี้เป็นความเข้าใจเพียงเท่านี้ ท่านอาจารย์จะกรุณาเมตตาเกื้อกูลให้มีความเข้าใจ มีความเห็นถูกมากยิ่งขึ้น ก็จะขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูง

    ท่านอาจารย์ ฟังมา ๑๐ ปีก็เข้าใจแค่นี้ ถ้าจะเข้าใจมากกว่านี้ ต้องฟังอีกเท่าไร ก็คงจะตลอดชีวิต โดยที่ไม่มีกฎเกณฑ์ว่า คนนี้ฟัง ๑๕ ปี คนนี้ฟัง ๒๐ ปี คนนั้นฟัง ๓๐ ปี แต่เป็นความจริง เป็นความตรง คือ สามารถที่จะค่อยๆ เห็นถูกตามความเป็นจริงของสภาพธรรมที่ปรากฏ หรือไม่ หรือว่าเพียงแต่ฟังเรื่องราว แล้วก็รู้ว่า แม้แต่เรื่องราวก็ยังยากที่จะเข้าใจ เช่น สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา เพียงแค่ธรรมที่มีปรากฏในขณะนี้ แต่เคยไม่รู้มานานมาก แล้วก็เคยจำไว้เป็นวิปลาส หรือว่าเป็นความเห็นที่ผิดว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง เป็นอย่างนั้น หรือไม่ มีคนจริงๆ มีโต๊ะ มีเก้าอี้จริงๆ ไม่เห็นเกิดดับเลย แล้วเมื่อไรจะเข้าใจว่า ไม่มีใครเลย นอกจากธรรม สิ่งที่มีจริงเกิด โดยที่ใครก็สร้างไม่ได้ ทำไม่ได้เลย ขณะนี้เกิดแล้ว แล้วจะไปคิดทำอะไรขึ้นมาสักอย่างให้เกิดขึ้นได้ไหม ในเมื่อทุกอย่างที่แม้คิดก็เกิดแล้ว เกิดคิดอย่างนั้นขึ้น

    เพราะฉะนั้นให้ทราบตามความเป็นจริงว่า ใครจะทำอะไรธรรมไม่ได้เลย แต่มีการที่สามารถจะเข้าใจว่า ธรรมไม่ใช่สิ่งที่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร และมีตลอดตามเหตุตามปัจจัย ถ้าเข้าใจคำว่า “ธาตุ” “ธา – ตุ” มีใครจะไปทำอะไรไหม หรือหมดเรื่องไปเลย เมื่อเป็นธาตุแล้ว ก็ไม่สามารถจะไปทำอะไรธาตุนั้นได้เลย แม้แต่รูปธาตุ ก็ไม่มีใครไปทำให้เกิดขึ้นได้ มีใครทำสิ่งที่ปรากฏทางตาขณะนี้ให้เกิดขึ้น มีใครทำเสียง เกิดแล้ว ใครทำให้เกิดขึ้น ฉะนั้นรูปธาตุก็เป็นธาตุซึ่งใครก็บังคับบัญชาไม่ได้

    นอกจากรูปธาตุก็ยังมีธาตุรู้ ซึ่งเมื่อมีปัจจัยปรุงแต่งก็เกิด ธาตุรู้ มี ๒ อย่าง คือ จิตกับเจตสิก จิตเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ถ้าไม่มีเจตสิก จิตเกิดไม่ได้เลย และเจตสิกก็เกิดพร้อมจิต ดับพร้อมจิต อาศัยกัน และกันเกิดขึ้น ผัสสะเกิดปรุงแต่งให้จิตเกิด ถ้าจิตไม่มี ผัสสะก็จะมีการกระทบกับสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่ได้ด้วย

    นี่คือการที่จะเริ่มเข้าใจความจริงว่า เป็นธรรมทั้งหมด แต่จากการฟัง แม้ว่าจะมีความเข้าใจขั้นฟัง และธรรมก็เป็นในขณะนี้เลย ไม่ต้องไปหาธรรมที่อื่น ไม่ว่าจะฟังเรื่องอะไร ก็มีธรรมที่กำลังกล่าวถึง เช่น สิ่งที่ปรากฏทางตา กำลังปรากฏ ก็ฟังต่อไป ฟังมาแล้ว ๑๐ ปี ไม่ต้องห่วงว่าอีกกี่ ๑๐ ปี เพราะว่าถ้าจะคิดถึงผู้ที่เป็นสาวก ไม่ใช่ผู้เป็นอัครสาวก มหาสาวก พระปัจเจกพุทธเจ้า หรือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพียงบารมีของสาวกที่จะถึงการรู้แจ้งสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ก็ไม่ใช่ชาติเดียว และไม่ใช่หลายสิบ หลายร้อย ถ้าได้ทราบประวัติของท่านเหล่านั้น ซึ่งเป็นการสะสมอบรมปัญญา ความเห็นถูกจริงๆ เพราะฉะนั้นก็ไม่คำนึงถึงกาลเวลา จะสะสมมาแล้วมากเท่าไร จะได้ยินได้ฟังต่อไปอีกเท่าไร แต่ผลที่ได้ฟังก็คือทำให้มีความเห็นถูก ความเข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเมื่อ ๑๐ ปีก่อนก็กล่าวอย่างนี้ อีกกี่ปีก็เปลี่ยนคำไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าเป็นสิ่งที่เป็นอย่างนั้นจริงๆ ถ้ารู้ความจริงของสภาพธรรม จะเป็นอย่างอื่นไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นจะช่วยอย่างไร จะอนุเคราะห์อย่างไร ก็เป็นเรื่องปัญญาของผู้ฟัง ค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าอนุเคราะห์บุคคลอื่นด้วยอะไร พระปัญญาของพระองค์จะไปเปลี่ยนคนอื่น จะไปช่วยทำให้ปัญญาของบุคคลอื่นเจริญขึ้น โดยไม่ใช่ความเข้าใจถูกของคนนั้นเอง เป็นสิ่งที่ไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นเห็นพระคุณ เห็นความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อฟังสักเท่าไรก็ตาม ก็เพียงเริ่มสะสมความเห็นถูก ความเข้าใจถูก จนกว่าจะถึงกาลที่น่าสงสัยข้อความในพระสูตร เพียงแค่ฟัง สามารถรู้แจ้งสภาพธรรมเป็นพระโสดาบัน เป็นพระอริยบุคคลได้ จนถึงความเป็นพระอรหันต์ก็มี ก็เป็นเรื่องของปัญญาทั้งหมด ไม่ใช่เป็นเรื่องของความไม่รู้ และหาทาง ทุกทางที่ไม่ใช่ความรู้ เพื่อจะดับกิเลส นั่นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

    อ.กุลวิไล ท่านอาจารย์ได้กล่าวก่อนมาสนทนาธรรมว่า การศึกษาธรรมเพื่อความเป็นปกติ และเพื่อละ ก็จะกราบเรียนท่านอาจารย์ว่า ถ้าปกติ ก็คือขณะที่รู้สิ่งที่กำลังมีจริง และกำลังปรากฏ และไม่ผิดปกติด้วย เพราะไม่ได้ไปทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่จะไม่ให้สิ่งกำลังปรากฏเกิดขึ้น และรู้ตามความเป็นจริง ส่วนละ แน่นอน ถ้ารู้แล้วก็ต้องละ คือละความไม่รู้ นั่นคือปัญญาที่เห็นถูก แต่ขณะเดียวกันละในที่นี้รวมทั้งละอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันด้วย หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ปกติคือขณะนี้ ขณะอื่นยังไม่ได้มาถึง ขณะก่อนก็หมดไปแล้ว เพราะฉะนั้นในขณะนี้กำลังฟังเข้าใจ ละการที่เคยไม่รู้ ไม่เข้าใจแม้เรื่องรูปที่กำลังปรากฏ เช่น ขณะนี้รูปมีจริงๆ แต่รูปเป็นรูป ไม่ใช่เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย และรูปแต่ละรูปที่ปรากฏได้ก็ต้องเกิดขึ้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ฟังแบบนี้ ละอะไร หรือไม่ ละความไม่รู้จากการที่ไม่เคยฟัง แต่จะละกิเลสทั้งหมดไม่ให้มีเลย เป็นไปไม่ได้ แม้ขณะนี้ที่กำลังกล่าวถึงรูป และรูปก็กำลังปรากฏ ก็เพียงแต่เริ่มเข้าใจจากการฟังว่ายังไม่เคยรู้ความจริงว่า รูปเกิด และรูปดับ แต่ละรูปด้วย เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า เป็นปกติ

    มีใครฟังแล้วเดือดร้อนไหม รูปขณะนี้เกิดปรากฏแล้วก็หมดไป มีใครเดือดร้อน หรือไม่ ไม่เดือดร้อนเพราะเข้าใจถูกว่าเป็นธรรม จะไปบังคับรูป นี่เดือดร้อนแล้วใช่ไหม ไม่อยากให้เป็นอย่างนี้ก็เดือดร้อนแล้ว หรืออยากจะให้รู้มากกว่านี้ก็เดือดร้อนแล้ว หรืออยากจะประจักษ์การเกิดดับของรูป ก็เดือดร้อนแล้ว แต่ว่าในขณะที่กำลังเข้าใจจริงๆ ขณะนั้นก็เริ่มเข้าถึงความเป็นธรรมมั่นคงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอะไรในชีวิตที่เกิดขึ้น ไม่มีใครสามารถยับยั้งได้เลย แม้แต่ความคิด แต่ละคนก็คิดต่างกันตามการสะสม ทำไมเห็นสิ่งเดียวกัน คนหนึ่งโกรธ อีกคนหนึ่งสงสาร ก็เป็นเรื่องที่เปลี่ยนสภาพธรรมที่เกิดแต่ละบุคคลตามเหตุตามปัจจัยไม่ได้ ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้ และเริ่มมีความเข้าใจมากขึ้นว่า หนีธรรมไม่พ้น เพราะอะไรคะ เพราะเป็นธรรมทั้งหมด ไม่ใช่เรา ขณะที่กำลังเห็น สภาพเห็นเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ถ้าไม่มีปัจจัยที่เห็นจะเกิด เห็นเกิดไม่ได้เลย

    ก็แสดงให้เห็นว่า ยิ่งฟังก็ยิ่งละความเดือดร้อนเพราะยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน แต่ตราบใดที่ยังไม่ประจักษ์ลักษณะที่เป็นธรรมแต่ละลักษณะอย่างชัดเจนตามความเป็นจริง ยังไม่ใช่ปัญญาที่ถึงระดับที่ามารถจะคลายความไม่รู้ และสามารถดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท ไม่เกิดอีกเลย เพราะว่ากิเลสมากมายมหาศาล กิเลสที่ไม่รู้ก็มี ทันทีที่ตื่น เห็น มีกิเลสไหมหลังจากนั้น ไม่รู้เลย กิเลสอะไร มาบอกว่ามีกิเลส เป็นกิเลสแล้ว เพราะไม่รู้ความจริงในขณะนั้น ซึ่งผู้ที่ดับกิเลสหมดอย่างพระอรหันต์ จะต่างจากผู้ไม่รู้ และสำหรับผู้ที่กำลังเริ่มรู้ เริ่มเข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่เพียงขั้นฟัง แต่เป็นอีกระดับหนึ่ง เพราะมีความเข้าใจจากการฟังมาก และมั่นคง จนมีการระลึกได้ ซึ่งภาษาที่เราได้ยินบ่อยๆ ก็คือ สติ แต่หมายความถึงสภาพธรรมที่ระลึกเป็นไปในกุศลต่างระดับขั้น เช่น ขณะใดก็ตามที่สภาพธรรมขณะนี้มีปรากฏ รู้ตรงลักษณะนั้นเมื่อไร ธรรมดาปกติอย่างนี้ ไม่มีใครไปสร้างไปทำ แต่ว่ามีการอบรมความเข้าใจจนกระทั่งมีการรู้ตรงลักษณะ ขณะนั้นก็คือสติ ไม่ใช่เรา

    ค่อยๆ เข้าใจธรรม จนกระทั่งทุกอย่างเป็นธรรม ถ้าขณะที่แข็งปรากฏ อย่างอื่นจะมีอยู่ในที่นั่นไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นแต่ละขณะเป็นสภาพธรรมที่ปรากฏแต่ละทางอย่างรวดเร็ว และก็ดับไป ปัญญาสามารถเห็นถูกในความเป็นธรรมของสภาพแต่ละลักษณะที่ปรากฏแต่ละทาง เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องของการอบรม จากการฟัง เข้าใจขึ้น

    ผู้ฟัง คือผมคิดว่า ผมจะศึกษาธรรมต่อไป ถ้าไม่มีอะไรมาป้องกัน ผมคิดว่า ณ วันหนึ่งคงเกิดคำว่า “ฉันรู้มากกว่าเธอ” ขึ้นกับผม ผมอยากจะขอให้ท่านอาจารย์อนุเคราะห์แนะนำผมครับว่า ผมควรมีอะไรเป็นตัวป้องกันไม่ให้เกิดมานะขึ้น

    ท่านอาจารย์ ฟังธรรมรู้ว่ามีมานะ แต่มานะเป็นมานะไม่ใช่เรา

    ผู้ฟัง แต่มันก็เคลื่อบแคลงเราจนยากที่จะแกะกับคำว่า มานะไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวเรา เพราะว่ามานะมันถือว่าเราไปแล้ว

    ท่านอาจารย์ เริ่มมีเราจะแกะมานะ ฟังธรรมแล้วก็มีความเข้าใจขั้นฟัง อาจจะคิดขึ้นมาก็ได้ว่า มานะเป็นธรรม แต่ยังไม่รู้จักว่ามานะเป็นธรรมจริงๆ เพราะเกิดแล้วปรากฏแล้วหมดไป ไม่ใช่ของใครเลย เพราะฉะนั้นก็จะต้องเข้าใจว่า ปัญญาขั้นฟังไม่สามารถดับกิเลสได้ แต่สามารถเป็นปัจจัยให้เห็นถูก เวลาที่มีมานะ บางคนเดือดร้อน เป็นเรามีมานะ ไม่ชอบอกุศลใดๆ เลยทั้งสิ้น ลืมว่าขณะนั้นจะกำจัดมานะ หรือจะเข้าใจให้ถูกต้อง ว่าขณะนั้นก็เป็นธรรมที่ไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นโลภะจะเข้ามาได้ตลอด

    ผู้ฟัง เข้าได้ตลอด หรือ

    ท่านอาจารย์ เป็นทั้งอาจารย์ เป็นทั้งศิษย์ เป็นผู้มีปกติ เพราะไม่ต้องทำอะไรเลย ทำไม่ได้ด้วย เกิดแล้วทั้งนั้นแม้แต่ความคิดแต่ละคำเมื่อครู่นี้ก็เกิดแล้ว แต่ไม่รู้ว่าเป็นธรรม ไม่รู้ว่าไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงสภาพคิดที่คิดตามการสะสม จึงเกิดคิดในขณะนั้นอย่างนั้น ไม่เป็นอย่างอื่น

    สบายไหมถ้าฟังแล้วรู้ว่า ยังไม่ได้เป็นพระโสดาบัน เพราะเหตุว่ายังไม่ได้ประจักษ์ธรรมตามความเป็นจริง จึงมีการยึดถือขันธ์ ๕ หมดเลยว่าเป็นเรา จะค่อยๆ คลายไปได้เมื่อฟังเข้าใจ และเป็นผู้ที่ตรง มั่นคง อดทน และมีวิริยะ บารมีทั้ง ๑๐ ขาดไม่ได้เลย เพราะสภาพธรรมที่ปรากฏขณะนี้ไม่ใช่ธรรม แต่เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แสดงว่าไม่เป็นอย่างที่เราฟัง ใช่ไหม เพราะฉะนั้นกว่าปัญญาจะถึงเหมือนอย่างที่ได้ฟัง ก็จะต้องรู้ว่า ต้องอาศัยการอบรมที่จะเข้าใจให้ถูกต้องตั้งแต่ขณะนี้ แล้วก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกว่าขณะนี้สภาพธรรมปรากฏแล้วก็เข้าใจ เพียงปรากฏ

    เพราะฉะนั้นตามปกติ ถ้าเป็นผู้เข้าใจถูกต้องจริงๆ ก็จะเห็นการเกิดดับได้ แม้ว่าในขั้นต้น ไม่ใช่การประจักษ์การเกิดดับ เพราะว่าเป็นเพียงขั้นศึกษา แต่การเข้าใจว่า สภาพธรรมไม่ใช่ให้เราไปจงใจจะรู้ ขณะนั้นปิดกั้นแล้ว ขณะนั้นก็มีสภาพธรรมอื่นเกิดแล้วดับแล้วมากมาย โดยที่ไม่ประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรมที่เรากำลังจดจ้อง หรือว่าอยากจะรู้ เพราะว่าขณะนั้นเป็นความไม่รู้ เป็นตัวตน แล้วจะไปประจักษ์การเกิดดับได้อย่างไร ด้วยเหตุนี้ความละเอียดของธรรม ก็ต้องเป็นผู้ตรงต่อลักษณะนั้น และก็มีความมั่นคงตามความเป็นจริงว่า มีความเข้าใจระดับไหน แต่ก็สะสมความเข้าใจเพิ่มขึ้นได้

    ผู้ฟัง อย่างนั้นวันนี้ก็ได้ข้อคิดอีกอย่างก็คือ ต้องเป็นผู้ตรง

    ท่านอาจารย์ สัจจบารมี

    ผู้ฟัง การน้อมใส่ใจให้รู้ลักษณะสภาพธรรม กับมีความต้องการจะรู้ และจดจ้องต้องการ เป็นอะไรระหว่าง ๒ อย่างนี้

    ท่านอาจารย์ ถ้ายังมีความเป็นเราอยู่ ฟังธรรมก็เป็นเรา อย่างน้อมไป เป็นเราน้อม ค่อยๆ น้อม หรือว่าเป็นสังขารขันธ์ ไม่มีเรา แต่ละขณะให้รู้ว่า ใครจะรู้ หรือไม่รู้ก็ตาม จิต เจตสิก รูป เกิดดับสืบต่ออย่างเร็วมาก ไม่มีเราสักอย่างเดียว ความคิดเป็นจิต หรือเป็นเรา แล้วมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นแม้แต่คำว่า “น้อม” ถ้ายังมีความเข้าใจว่าเป็นเรา เรานั่นแหละกำลังจะน้อมไป แต่ตามความเป็นจริงสังขารขันธ์ การที่ขณะนี้ได้ยินเสียง แล้วก็มีความเข้าใจ ขณะนั้นไม่ได้มีเจตสิกเดียว จะมีเจตสิกที่เป็นโสภณฝ่ายดีเกิดกับจิต และต่างก็ทำหน้าที่อย่างเร็วมาก สั้นมาก เกิดกับจิต และดับไปพร้อมจิต แต่ก็ทำหน้าที่ของเจตสิกนั้นๆ สำเร็จ

    การพิจารณาก็เป็นธรรม เป็นเจตสิก การเข้าใจก็เป็นธรรม เป็นเจตสิก วิริยะขณะนั้นก็มี ไม่ได้ไปเพียรทำอย่างอื่นเลย วิริยะเกิดกับจิตขณะที่กำลังฟังแล้วเข้าใจ ก็ทำหน้าที่ของวิริยะนั้น โดยที่ไม่มีการไปน้อมโดยความเป็นตัวตน แต่ทุกขณะที่เข้าใจน้อมไปสู่การที่จะเข้าใจขึ้น จนกระทั่งสามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรม ดับความสงสัย ดับความไม่รู้ในทุกขอริยสัจจะ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับในขณะนี้

    เพราะฉะนั้นไม่มีเราอีกต่างหาก ชีวิตปกติธรรมดา ไม่เปลี่ยนแปลง เพราะเหตุว่ามีปัจจัยที่จะเกิดอย่างไร ก็เกิดเป็นอย่างนั้น แต่เมื่อไม่รู้ จึงมีตัวเราที่พยายามจะไปเปลี่ยน แต่ขณะนั้นไม่มีความเห็นถูกว่าเป็นธรรมแต่ละลักษณะ ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่มีใครอยากขุ่นใจ ไม่มีใครอยากโกรธ และก็คงไม่มีใครที่อยากริษยา ไม่มีใครอยากจะมีมานะ สำคัญตน ลบหลู่คนอื่น ตีตนเสมอ หรืออะไรหลายอย่างที่เป็นอกุศลธรรมเพราะรู้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี ฟังชื่อก็น่ารังเกียจ แต่ห้ามไม่ให้เกิดได้ไหม ถ้าสะสมมา แต่เมื่อเกิดปรากฏแล้ว ไม่ใช่ไปพยายามไม่ให้เกิด เพราะเกิดแล้ว แต่ว่ารู้ตามความเป็นจริงในลักษณะที่เป็นธรรม นี่คือความต่างกันของความเห็นผิดกับความเห็นถูก ถ้าความเห็นผิดก็คือว่า มีความเป็นเรา แล้วพยายามเปลี่ยนแปลงสภาพธรรม แต่เมื่อมีความเห็นถูกแล้ว เป็นปกติค่ะ เกิดแล้วทั้งหมดเลย ทุกขณะ ไม่ว่าจะเป็นกุศลธรรม และอกุศลธรรมก็เป็นธรรม

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นก็ต่างกันตรงที่มีเราไปพยายาม ธรรมเกิดแล้ว สังขารขันธ์ หรือปัญญาก็จะรู้ว่า นั่นเป็นธรรม ถ้าเราไม่เข้าใจผิด แต่ถ้ามีเราพยายามจะไปทำอะไรก็แล้วแต่ เช่น เมื่อโกรธ ก็ไม่อยากให้โกรธเกิด ก็จะเป็นเครื่องกั้นที่ทำให้ปัญญาสามารถรู้ลักษณะที่โกรธในขณะนั้น

    ท่านอาจารย์ สภาพธรรมเกิดดับเร็วมาก การฟังแล้วเข้าใจขึ้นเป็นปัจจัยให้สติเกิดระลึกได้ แม้ขณะนั้น ที่ไม่อยากให้โกรธ สติก็สามารถที่จะระลึกรู้ได้ เพราะว่าทั้งหมดเป็นธรรมจนกว่าจะทั่ว แล้วแต่อะไรจะเกิดขึ้น แล้วแต่มีปัจจัยที่จะมีการระลึกได้ ระดับไหน

    ผู้ฟัง เราไม่เข้าถึงลักษณะของสภาพธรรม ก็ยังเป็นเรา และไม่เป็นธรรม ก็เลยไม่ทราบว่าขั้นฟังขนาดไหน ถึงจะเข้าใจว่าเป็นธรรม ยังสับสนตรงนี้

    ท่านอาจารย์ ยังมีเรากำหนดกฎเกณฑ์ หรือว่าขณะใดที่มีสติเกิด จะรู้ความต่างของขณะที่หลงลืมสติกับขณะที่สติเกิด เมื่อนั้นจึงจะเข้าใจความหมายว่า สติจริงๆ ที่เป็นสัมมาสติเป็นอนัตตา มีปัจจัยจึงเกิดขึ้น


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 168
    22 ธ.ค. 2566