พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 365


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๖๕

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๐


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น การที่เคยเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่รวมกันตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า เป็นคน เป็นเรา หรือว่าจะเป็นวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามแต่ ก็รวมกันแล้ว ไม่ได้รู้ความจริงว่าแท้ที่จริงแล้ว ลักษณะของสภาพธรรมทั้งหมดเลยเกิดปรากฏทีละอย่าง ไม่ปะปนกัน แล้วก็สามารถประจักษ์ความจริงแบบนี้ได้ เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า เรื่องของการอบรมเจริญปัญญาจะขาดความเข้าใจในขั้นการฟังไม่ได้เลย และจะรีบร้อนไปปฏิบัติไหม

    ผู้ฟัง ไม่

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าไม่สามารถมีสติสัมปชัญญะเกิดตามความต้องการได้ แต่ต้องมีปัจจัย ทุกอย่างที่จะเกิดต้องมีปัจจัย เช่นขณะนี้เห็นเกิดเพราะมีปัจจัย ได้ยินเกิดเพราะมีปัจจัยฉันใด สติสัมปชัญญะ และปัญญาที่จะเจริญขึ้นก็ต้องมีปัจจัยด้วย ต้องเป็นผู้ฟังเข้าใจ และเป็นผู้ตรงต่อความจริงว่ามีความเข้าใจระดับไหน ระดับนี้ยังไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นธรรมที่เกิดดับ ด้วยเหตุนี้วิปัสสนาภาวนาไม่ใช่การไปทำด้วยความต้องการ แต่ปัญญาที่เจริญขึ้นตามลำดับ ตั้งแต่ขั้นฟังจนกระทั่งสติสัมปชัญญะเกิดรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ต่างกันเป็นแต่ละลักษณะที่ปรากฏพร้อมกันไม่ได้ แล้วปฏิเวธ การประจักษ์แจ้งความจริงของสภาพธรรมนั้นจึงสามารถที่จะมีได้

    เป็นเรื่องของปัญญา เราจะข้ามปัญญาไม่ได้เลย แม้ว่าจะนำไปสู่ปัญญาก็เพราะมีปัญญาในขั้นต้น ถ้าวันนี้ไม่มีปัญญาที่เกิดจากความเข้าใจ หรือขณะนี้ไม่เข้าใจแล้วปัญญาไหนจะเจริญขึ้น จึงต้องเป็นเรื่องของปัญญาตั้งแต่ต้น แล้วแต่ว่าจะมากจะน้อย และระดับไหน ถ้าปัญญาขั้นฟังก็หมายความว่าฟังเข้าใจ และก็จะรู้ได้ว่า ฟังเข้าใจเข้าใจระดับจำชื่อ เขาบอกว่า หรือว่าลักษณะนั้นเป็นอย่างที่ได้ยินได้ฟังมาตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้นจะขาดปัญญาไม่ได้เลย แม้จะเจริญก็ต้องมีปัญญาในขั้นต้น ถ้าปัญญาขั้นต้นไม่มี เจริญไม่ได้ เอาอะไรไปเจริญ

    ผู้ฟัง ความรู้ตอนนี้ก็คือทุกๆ สิ่งที่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นฟัง หรืออ่านธรรมเพื่อให้เข้าใจความจริงของสิ่งที่มีจริงที่ปรากฏ ต้องฟังเพลงไหมระหว่างนั้น

    ผู้ฟัง ไม่ใช่ ไม่ได้หมายถึงอย่างนั้น หมายความว่าเวลาฟังธรรมของท่านอาจารย์ แล้วจะอ่านหนังสือธรรม หรือจะอ่านหนังสืออะไรก็ตาม จะไม่รู้เรื่องเลย

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้กำลังฟัง เข้าใจใช่ไหม

    ผู้ฟัง เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ พูดเหมือนกับในหนังสือ หรือว่าต่างกัน

    ผู้ฟัง เหมือน

    ท่านอาจารย์ เพราะที่จริงขณะที่อ่านหนังสือ ต้องไม่ลืมว่า ทางตาเห็นเส้นมากมายเลย แต่ความจำ จำเสียง เพราะฉะนั้นขณะนี้กำลังได้ยินเสียง เมื่อไปเจอหนังสือ เหมือนเสียงไหม

    ผู้ฟัง ไม่เหมือน

    ท่านอาจารย์ เช่นคำว่า “ธรรม” กำลังได้ยินคำว่า “ธรรม” และเวลาในหนังสือมีคำว่า “ธรรม” ตัวที่เห็น เสียงเป็นธรรม หรือไม่ ออกเสียงของตัวนั้นเป็นธรรม หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ ทำไมไม่ใช่ แล้วเป็นอะไร

    ผู้ฟัง เป็นเห็น

    ท่านอาจารย์ ไม่มีความหมายที่เป็นเสียงใดๆ เลย หรือ

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นแสดงให้เห็นว่า ขณะนี้กำลังฟังเสียง ถูกต้องไหม

    ผู้ฟัง ถูกต้อง

    ท่านอาจารย์ และเวลาได้ยินคำว่า “ธรรม” และเวลาที่อ่านคำว่า “ธรรม” มีเสียงธรรมเป็นคำที่ส่องถึงเสียงนั้น ไม่ใช่เสียงอื่น ใช่ไหม แต่ปรากฏทางตา แต่คำที่อ่านทั้งหมด ส่องถึงเสียงทุกคำ เพราะฉะนั้นเหมือนฟังไหม เพียงแต่ว่าไม่ได้อาศัยโสตปสาท แต่อาศัยตาทำให้นึกถึงเสียงที่เคยได้ยินได้ฟ้ง ถ้าขณะนี้เข้าใจคำว่า “ธรรม” เวลาที่เจอคำว่า “ธรรม” ในหนังสือต่างกัน หรือเหมือนกัน (เหมือนกัน) ก็ต้องเข้าใจเหมือนกัน เพียงแต่คนละทวาร คนละทาง แต่ก็เป็นเรื่องของสัญญา ความจำเสียงนั้นเอง แต่ไม่ใช่จำเฉยๆ โดยไม่มีความหมาย หรือไม่มีความเข้าใจ จำด้วยความเข้าใจ จะต่างกับการที่เพียงจำคำโดยไม่เข้าใจ อย่างธรรม ใครๆ ก็พูดได้ แต่เข้าใจความหมาย หรือตัวธรรม หรือไม่

    เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรม ก็คือเข้าใจจริงๆ ว่า กำลังศึกษาให้เข้าใจสิ่งที่มีจริง ว่าเป็นธรรม ที่ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย แต่เป็นธรรมลักษณะต่างๆ เป็นธาตุแต่ละชนิดซึ่งมีปัจจัยจึงเกิดได้ แล้วก็ดับไป ให้เห็นความไม่เที่ยง ให้เห็นการที่กว่าจะได้รู้ความจริงอย่างนี้นานไหม ถ้าเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่จะตรัสรู้ด้วยพระองค์เองอย่างเร็ว เพราะยิ่งด้วยปัญญา ๔ อสงไขยแสนกัป เพราะฉะนั้นสิ่งที่มีจริงทั้งหมด ใครมีโอกาสจะได้ยินได้ฟังบ้าง ทุกคน หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ แล้วแต่การสะสม

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่เคยสะสมมาที่จะมีฉันทะ ที่จะมีศรัทธา ที่จะเห็นประโยชน์ที่จะฟังต่อไปอีกให้เข้าใจขึ้น ก็ไม่สามารถไปฝืนได้ เพราะไม่ได้สะสมมา แม้ได้ยินก็ยังไม่ฟัง นี่ก็แสดงให้เห็นว่า การได้ยินได้ฟังต้องมีเหตุปัจจัยด้วย เพราะฉะนั้นจะเห็นค่าของพระธรรมที่สูงกว่าสิ่งอื่นใดทั้งหมด เป็นรัตนะที่เหนือสิ่งใด ถ้ามีความเข้าใจจริงๆ แล้ว ใครเอาเงินทองทรัพย์สินมาแลก ยอมแลกไหม ถามดูจริงๆ ให้กลับไปไม่รู้อย่างเดิม

    ผู้ฟัง ไม่เอา

    ท่านอาจารย์ ให้ไม่รู้เลยสักคำ ได้ยินคำว่า “ธรรม” ก็ไม่รู้ เอาไหม

    ผู้ฟัง ไม่เอา

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นนี่ก็แสดงให้เห็นถึงการรู้ค่าของพระธรรม และการที่จะบูชาพระรัตนตรัย ไม่ใช่ด้วยดอกไม้ธูปเทียนเท่านั้น ทุกคำที่เป็นคำจริงที่กล่าวเป็นการบูชาพระคุณของพระรัตนตรัย และแม้แต่การฟังด้วยความเคารพ ด้วยความเข้าใจขึ้น นั่นคือการบูชาสูงสุด ไม่ใช่อย่างอื่นเลย เพราะว่าจุดประสงค์ที่ทรงบำเพ็ญพระบารมีไม่ใช่เพื่อรับดอกไม้ธูปเทียน แต่เพื่อที่จะให้ผู้ที่ไม่เคยเข้าใจธรรม ได้มีโอกาสเข้าใจขึ้น จนสามารถดับกิเลสได้ เพราะฉะนั้นธรรมไม่ใช่ผ่านไป หรือคิดว่าอ่านแล้วไม่เข้าใจ แต่ต้องรู้ว่าอ่านเพื่ออะไร และอ่านอะไร และเข้าใจอะไร

    ผู้ฟัง มีคำถามจากท่านผู้ฟังฝากถามว่า ในขณะที่เสียงปรากฏ ขณะนั้นเสียงนั้นมีสีอยู่ด้วย หรือไม่

    อ.วิชัย ก็ต้องเข้าใจว่า รูป เช่นเสียง เกิดขึ้นจะเกิดขึ้นตามลำพังรูปเดียวไม่ได้ และรูปที่จะเกิดขึ้นก็ต้องมีเหตุ หรือมีสมุฏฐานที่จะให้รูปนั้นเกิดขึ้น รูปที่แยกจากกันไม่ได้ ที่เรียกว่า “อวินิพโภครูป” มี ๘ รูปด้วยกัน คือ มหาภูตรูป ๔ และ สี กลิ่น รส โอชา ขณะที่เสียงเกิดขึ้น แสดงว่าไม่ได้มีแค่ ๘ แต่มีสัททรูปเกิดขึ้นในกลุ่มนั้นด้วย ดังนั้นไม่ใช่สีอยู่ใน แต่ว่ากลุ่มของรูปที่เกิดขึ้นก็มีลักษณะเฉพาะตน เสียงก็เป็นลักษณะหนึ่ง สีก็เป็นอีกลักษณะหนึ่ง แต่เกิดพร้อมกัน เป็นกลุ่ม เป็นกลาป ขณะที่เสียงเกิดขึ้น เราก็ต้องทราบว่า ขณะนั้นมีมหาภูตรูป ๔ ในกลุ่มนั้นด้วย มีสี กลิ่น รส โอชาในกลาป ในกลุ่มนั้นด้วย แต่เสียงที่ปรากฏ ก็เพราะเสียงกระทบกับโสตปสาท ซึ่งสีกระทบกับโสตปสาทไม่ได้ มหาภูตรูปก็กระทบโสตปสาทไม่ได้ แต่เฉพาะสัททรูป รูปเดียว คือ เสียง สามารถกระทบกับโสตปสาทรูปได้ และจิตเกิดขึ้นรู้เสียงนั้น ฉะนั้นเสียงเกิดขึ้นปรากฏ เพราะเหตุว่ามีจิตเกิดขึ้นรู้เสียงนั้น เสียงจึงปรากฏแก่จิต ดังนั้นสีไม่ได้อยู่ในเสียง แต่เกิดพร้อมกันในกลุ่มนั้น

    ผู้ฟัง และยังมีปัญหาข้อที่ ๒ ต่อเนื่องกัน เมื่อครู่นี้เสียงปรากฏ ข้อ ๒ ถามว่าเมื่อเสียงไม่ปรากฏ ในเสียงนั้นมีสี หรือไม่

    อ.วิชัย ก็เช่นเดียวกัน ต้องแยกแยะกัน จะปรากฏ หรือไม่ปรากฏก็ตาม รูปที่เกิดขึ้นก็ต้องมีสมุฏฐานของตน และเสียงเกิดขึ้นก็ต้องมีรูปในกลุ่มนั้นด้วย ก็คือมหาภูตรูป ๔ และสี กลิ่น รส โอชา ซึ่งเป็นรูปที่แยกจากกันไม่ได้ แต่เมื่อเกิดมีเสียง ก็มีเสียงเพิ่มอีกรูปหนึ่ง

    อ.อรรณพ การศึกษา การสนทนาเพื่อให้เข้าใจสภาพธรรม ไม่ใช่เรียนเพื่อที่จะเป็นเรื่องราว เพื่อจะรู้ว่า เราเรียนชื่ออภิธรรม เรื่องชื่อจิต ชื่อเจตสิก ชื่อรูป อย่างเช่นเราสนทนากันเรื่องรูป เพื่อให้เกิดความเข้าใจจริงๆ ที่สะสมไปว่า ไม่มีอะไรที่เที่ยง และยั่งยืนเลย เมื่อวานมีเราไหม เมื่อเช้าก็ได้ ออกจากบ้านมานี่ เราจำใช่ไหมว่า เป็นเราที่ตื่นขึ้น แล้วก็เดินทางมา แต่จริงๆ แม้ในเรื่องรูป เมื่อเราเข้าใจแล้ว คำว่า “รูปะ” ก็คือแตกสลาย เกิดขึ้นดำเนินไป ชราแล้วก็ดับ เพราะฉะนั้นรูปไม่ว่าจะเป็นรูปในกายนี้ หรือรูปภายนอก โต๊ะ เก้าอี้ ที่เราสมมติว่าเป็นโต๊ะ เป็นภูเขา ก็มีรูป มีลักษณะสภาวะจริงๆ มีอายุเท่ากับจิต ๑๗ ขณะ แต่ก็เร็วมาก

    เพราะฉะนั้นรูปดับไปแล้ว เมื่อวานนี้ดับไปหมดแล้ว เมื่อเช้ารูปก็ดับไปหมดแล้ว เมื่อสักครู่นาทีที่แล้วก็ดับไปหมดแล้ว เร็วกว่านั้นอีก คือ ทุก ๑๗ ขณะของจิต รูปที่มีลักษณะ มีสภาพก็แตกสลายไป เพราะฉะนั้นหาความเป็นเราไม่ได้ แม้กระทั่งรูปที่เรามีความติดข้องกันว่า รูปนี่เป็นเรา แต่เพียงแต่ว่า ปัญญาของใครจะอบรมขึ้นจนกระทั่งประจักษ์รู้ตามความเป็นจริงนั้น

    ผู้ฟัง โคจรรูปซึ่งเป็นรูปหยาบ ซึ่งสามารถรู้ได้ทางทวารต่างๆ เราจะใช้ประโยชน์ในการรู้รูปหยาบเหล่านี้ได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ คือมีตัวตนที่ฟัง และต้องการผล แต่ว่าตามความเป็นจริง ฟังเพื่อเข้าใจให้ถูกต้องเพราะรู้ว่า สิ่งที่เราเข้าใจว่ามี เพราะผู้ที่รู้กว่าเรา เช่น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะกล่าวถึงสิ่งที่มีจริงที่ได้ตรัสรู้ว่า ความจริงนั้นคืออย่างไร นี่คือการฟัง ไม่ต้องไปหวังอะไรทั้งหมด ไม่ต้องไปหวังจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ละคลายกิเลส หรืออะไร แต่ขณะที่ฟังแล้วเข้าใจนั่นเอง ก็จะทำให้ค่อยๆ คลายความไม่รู้

    ข้อสำคัญที่สุด ความเป็นผู้ละเอียด ตรง และจริงใจในการที่จะเข้าใจธรรม เพราะเหตุว่าแม้เพียงคำว่า “ธรรม” คำเดียว ได้ยินได้ฟังบ่อย ทุกอย่างที่มีจริงเป็นธรรม เราก็ไปคิดถึงสิ่งที่มีจริง แล้วเราก็บอกว่าเป็นธรรม และก็จำคำนี้ไว้ ทุกอย่างที่มีจริงเป็นธรรม แต่ยังไม่รู้จักธรรมเลย เพียงแต่ได้ฟังแล้วรู้ว่าอะไรเป็นธรรม สิ่งที่มีจริงเป็นธรรม เพราะฉะนั้นขั้นฟังก็คือ ขณะนี้สิ่งใดปรากฏ สิ่งนั้นจริง สิ่งนั้นเป็นธรรม แต่ก็ยังไม่รู้จักธรรม นี่คือความตรง ด้วยเหตุนี้อย่างที่คุณชุณห์กล่าวถึงรูปซึ่งปรากฏในชีวิตประจำวัน คือ ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏ ถ้าในชีวิตประจำวันจริงๆ เราก็สามารถค่อยๆ เข้าใจ และค่อยๆ เริ่มรู้จักลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรมนั้นได้ เช่น สิ่งที่ปรากฏทางตาขณะนี้ ถ้าพูดง่ายๆ ว่าเป็นธรรม ทุกคนก็รับไป สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นธรรม ก็กล่าวไป จำไป แต่เป็นธรรมเพราะปรากฏความจริงว่า เป็นเพียงสิ่งที่สามารถปรากฏทางตา

    เพราะฉะนั้นการเข้าใจธรรมต้องลึกซึ้งถึงความจริง เพื่อจะได้รู้จริงๆ ว่า เราฟังธรรม เราเข้าใจธรรม เราเข้าใจเพียงชื่อ เข้าใจเรื่องราว หรือขณะนี้สภาพธรรมก็ปรากฏ ให้เริ่มที่จะให้เข้าใจลักษณะที่แท้จริงของสิ่งที่ปรากฏ เพื่อที่จะได้ถึงความเข้าใจว่า ทุกอย่างเป็นธรรม แม้แต่สิ่งที่กำลังปรากฏก็เป็นธรรม ไม่ใช่ขั้นฟัง ไม่ใช่ขั้นจำ แต่มีการเริ่มเข้าใจลักษณะจริงๆ ของสิ่งที่ปรากฏ เมื่อเข้าใจจริงๆ ไม่เปลี่ยนเลยสิ่งนี้ก็ยังคงเป็นรูปที่สามารถจะปรากฏขณะนี้ที่เห็น เพราะฉะนั้นนี่มีจริงรูปหนึ่ง ต้องฟังจนกระทั่งมีความเข้าใจว่า เป็นธรรมจริงๆ บังคับไม่ได้เลย มีจริงๆ เมื่อปรากฏ เมื่อจิตเห็น เสียงอีก ๑ รูปก็ปรากฏเมื่อมีจิตได้ยิน กลิ่นปรากฏ เมื่อมีการรู้กลิ่นที่ปรากฏในขณะนั้น มีจิตซึ่งกำลังรู้กลิ่น ขณะที่รสปรากฏ รสมีจริง ขณะที่กำลังกระทบกายก็มีสิ่งที่เย็น หรือร้อน อ่อน หรือแข็ง ตึง หรือไหว ๓ รูป สิ่งที่อ่อนแข็งเป็นลักษณะของธาตุชนิดหนึ่ง สิ่งที่เย็น หรือร้อน ไม่ใช่อ่อน หรือแข็งเลย เป็นอีกลักษณะหนึ่ง สิ่งที่ตึง หรือไหวก็ไม่ใช่แข็ง และไม่ใช่เย็น หรือร้อน ถึงแม้ว่าใครจะไม่กล่าวว่า ๗ รูปนี้เป็นรูปหยาบ แต่ในเมื่อรูปมีหลายรูป และเพียง ๗ รูปปรากฏเป็นประจำในชีวิตประจำวัน

    เพราะฉะนั้นเมื่อกล่าวโดยนัยของรูป ก็จำแนกรูปได้เป็น ๒ ประเภท คือ รูปที่ปรากฏเป็นปกติ เป็นโคจรรูป หรือ วิสยรูป นี่คือภาษาบาลี แต่ภาษาไทยก็คือขณะที่กำลังเห็นนี่แหละ หมายความถึงรูปที่เป็นอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย จะไม่จำคำว่า “โคจรรูป” ก็ได้ จะไม่จำคำว่า “วิสยรูป” ก็ได้ มีความเข้าใจว่า ขณะนี้ที่รูปจะปรากฏในชีวิตประจำวันได้ ๗ รูป แต่พอกล่าวถึงว่า รูปอื่นปรากฏไม่ได้ ๗ รูปนี้ปรากฏได้ และพบคำว่า โคจรรูป รูปที่เป็นอารมณ์ วิสยรูป รูปที่เป็นอารมณ์ เข้าใจได้ไหมว่า ไม่พ้น ๗ รูปนี้ ไม่ต้องจำใช่ไหมแต่เข้าใจ

    สำหรับรูปทั้งหมดมี ๒๘ รูป รูปหยาบ คือ รูปที่พอที่จะรู้ได้ ก็คือว่า ถ้าไม่มีจักขุปสาทก็ไม่มีอะไรจะไปกระทบ ก็ไม่มีอะไรจะปรากฏขณะนี้ได้เลย ด้วยเหตุนี้ก็มีอีก ๕ รูป ซึ่งเป็นปสาทรูป ๕ คือ สิ่งที่สามารถกระทบกับรูปที่กำลังปรากฏขณะนี้ จักขุปสาท ๑ โสตปสาท ๑ ฆานปสาท ๑ ชิวหาปสาท ๑ กายปสาท ๑ มีจริงๆ หรือไม่ จักขุปสาทมีจริงๆ หรือไม่ ใครว่าไม่จริงบ้างในขณะที่กำลังเห็น ต้องจริงใช่ไหม โสตปสาทมีจริงๆ หรือไม่ ฆานปสาท ชิวหาปสาท กายปสาท เพราะฉะนั้นสำหรับรูปหยาบก็คือ ๑๒ รูป ในบรรดารูปหยาบ ๑๒ รูป เพียง ๗ รูปที่ปรากฏเป็นอารมณ์ในชีวิตประจำวัน นี่คือธรรมซึ่งเกิดแล้วก็ดับอย่างรวดเร็ว ยังไม่รู้ลักษณะของรูปใดเลยใช่ไหม ฟังเข้าใจ นี่คือการจะเป็นผู้ละเอียด ไม่ใช่ว่าฟังอย่างนี้ก็รู้หมดแล้ว จบแล้ว ไม่ใช่เลย กำลังฟังเรื่องของสิ่งที่ปรากฏทางตา เริ่มสังขารขันธ์ปรุงแต่งน้อมไปที่จะเกิดความเข้าใจในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทีละเล็กทีละน้อย

    ผู้ฟัง ในขณะที่รูปปรากฏ เช่น เสียง เป็นต้น ในลักษณะอย่างนี้ เวลาปรากฎ การศึกษาจะต้องคล้ายๆ กับว่าเป็นแค่สภาวธรรม ไม่มีการแปลเลย ไม่มีการอะไรเลย เป็นในลักษณะนี้เลย หรือไม่ ถึงจะเข้าใจสภาวธรรมที่ถูกต้อง

    ท่านอาจารย์ สภาพธรรมมีทั้งนามธรรม และ รูปธรรม และทั้ง ๒ อย่างนี้ก็เกิดดับเร็วมาก การศึกษาธรรมในขณะนี้ ยังไม่รู้สภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดที่กำลังเกิดดับ ในขณะที่กำลังฟัง เพราะฉะนั้นก็เข้าใจแต่ละลักษณะให้ละเอียดขึ้น ให้ตรงขึ้น

    ผู้ฟัง ในขณะที่เข้าใจจริงๆ ก็คงเป็นแค่สิ่งที่ปรากฏทางหูอย่างเดียว

    ท่านอาจารย์ กำลังเข้าใจเป็นเรา หรือเป็นธรรม

    ผู้ฟัง เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ เป็นนามธรรม เห็นไหมว่าไม่พ้นไปจากนามธรรม และรูปธรรมเลย

    ผู้ฟัง ยังสงสัยเรื่องวิการรูป วิการรูป แปลว่าอะไร

    อ.คำปั่น คำว่า “วิการ” ก็มาจากคำว่า วิ แปลว่า ต่าง การะ คือ การกระทำ รวมความก็คือ วิการ คือ การกระทำให้ต่าง + รูป ก็เป็น “วิการรูป” ก็คือรูปที่กระทำให้แตกต่าง ซึ่งมี ๓ รูป คือ ลหุตารูป เป็นรูปที่เบา มุทุตารูป เป็นรูปที่อ่อน และกัมมัญญตารูป เป็นรูปที่ควรแก่การงาน ทั้ง ๓ รูปนี้เรียกว่า วิการรูป คือต้องเกิดในสัตว์ บุคคลเท่านั้น ๓ รูปนี้คือรูปที่กระทำให้ผิดแปลกไปจากเดิม อันนี้คือความหมายของ “วิการ”

    ผู้ฟัง วิการรูปหมายความว่า เป็นรูปที่เบา อ่อน ควรแก่การงานของความเป็นสัตว์ บุคคล จะได้ หรือไม่

    อ.วิชัย คือรูปที่เกิด จะมีสมุฏฐานให้เกิด แม้วิการรูปเองก็มีสมุฏฐานให้เกิด แต่วิการรูปไม่ใช่สภาวรูป วิการรูปเป็นอสภาวรูป คือ ไม่มีลักษณะเฉพาะต่างหากของตนๆ เหมือนกับสภาพที่เป็นสภาวรูป สภาวรูปได้แก่อะไรบ้างครับ

    ผู้ฟัง เช่น สิ่งที่ปรากฏทางตา

    อ.วิชัย วัณณรูปเป็นสภาวรูป มหาภูตรูปเป็นสภาวรูปไหม

    ผู้ฟัง เป็นสภาวรูป

    อ.วิชัย ธาตุดินก็มีลักษณะเฉพาะของตนๆ คือ มีลักษณะของตนเองเลย ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ สี กลิ่น รส โอชา ทั้งหมดนี้เป็นสภาวรูป เพราะมีลักษณะเฉพาะของตนๆ แต่อสภาวรูปมี ๑๐ รูป วิการรูปก็เป็นอสภาวรูป เป็นความเบา อ่อน ควรแก่การงานของสภาวรูป เพราะเหตุว่าเกิดเป็นกลุ่ม เป็นกลาป วิการรูปมีสมุฏฐาน ๓ คือ จิต อุตุ และอาหาร ดังนั้นกลุ่มกลาปใดที่เกิดขึ้นมีวิการรูป คือ ความเบา อ่อน ควรแก่การงานของรูปที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ที่เป็นสภาวรูป

    อ.อรรณพ ก็เป็นเรื่องเข้าใจยาก การศึกษาเรื่องรูป และวิการรูป ควรมีพื้นฐานความเข้าใจรูปที่เป็นอภิธรรม สมควรสักแค่ไหน

    ท่านอาจารย์ รูป คือ ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม เป็นมหาภูตรูป เป็นรูปใหญ่ แต่เมื่อธาตุดิน น้ำ ไฟ ลมเกิดขึ้นแล้ว ก็มีรูปอีก ๔ รูปเกิดร่วมด้วย คือ สี กลิ่น รส โอชา นี่คือพื้นฐานทั่วๆ ไปที่จะเข้าใจว่า รูปที่เราเข้าใจว่า เป็นรูปใหญ่มาก แท้ที่จริงก็คือกลุ่มของรูปที่เล็กที่สุด ภาษาบาลีใช้คำว่า “กลาป” เล็กจนแยกอีกไม่ได้แล้ว ต้องมี ๘ รูป แล้วก็มีอากาศธาตุแทรกแต่ละกลาป ทำให้ทุกรูป ที่เป็นรูปใหญ่ๆ ที่เราคิด สามารถกระจัดกระจายแตกย่อยออกได้ เพราะเหตุว่ามีอากาศธาตุแทรกคั่นอยู่ แต่ถึงแม้ว่าเป็นรูป รูปก็มีสมุฏฐานที่ต่างกัน คือ บางกลุ่ม หรือบางกลาปเกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน อย่างอื่นไม่สามารถทำให้เกิดรูปนั้นได้เลย นอกจากกรรม เช่น จักขุปสาทรูป แต่เมื่อเกิดต้องมีมหาภูตรูป ๔ รวมอยู่ด้วย แล้วรูปใดก็ตามที่เกิดจากกรรม จะต่างจากรูปอื่น เพราะเหตุว่ามีชีวิตินทรียรูปอีกรูปหนึ่งเกิดร่วมด้วยทุกกลาปที่เป็นรูปที่เกิดจากกรรม และยังมีจักขุปสาท เพราะฉะนั้นในกลุ่มนั้นมี ๑๐ รูป เพิ่มอีก ๒ รูป เมื่อเป็นรูปที่เกิดจากกรรม

    นี่คือกล่าวถึงสมุฏฐานต่างๆ แต่กรรมไม่เป็นสมุฏฐานให้วิการรูปเกิด นี่คือจะต้องเข้าใจจริงๆ แตกย่อยรูปทั้งหมดออกเป็นส่วนที่เล็กที่สุดแล้ว ก็คือยังมีความต่างหลากหลายว่า แต่ละกลุ่มมีรูปไม่เท่ากัน และเกิดจากสมุฏฐานที่ต่างกันด้วย ซึ่งจะต้องเข้าใจให้ถูกต้อง “วิการ” รูปที่กระทำให้ต่าง ต้องเป็นรูปที่ไม่ใช่เกิดจากกรรม แต่เกิดจากจิต เกิดจากอุตุ เกิดจากอาหารได้ ถ้ามีความเข้าใจพื้นฐานแบบนี้ ก็จะรู้ได้ว่า แม้แต่จิต หรืออุตุ ธาตุไฟ เย็นร้อน หรือแม้แต่อาหารก็สามารถทำให้เกิดกลุ่มของรูปที่วิการจากกลุ่มที่ไม่มีวิการรูป กลุ่มที่ไม่มีวิการรูป ก็มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม มีสี กลิ่น รส โอชา


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 168
    22 ธ.ค. 2566