พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 398


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๙๘

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๐


    ผู้ฟัง คือไม่เดือดร้อน แต่ว่าบางครั้งต้องย้ำถามเพื่อให้มั่นใจว่าไม่ได้หลงทาง ว่า เจ้าโลภะจะพาให้เราคอยจดจ้องให้รู้ว่าคิด เมื่อคิดมากๆ ไม่ทราบว่าจะเป็นอุปสรรคของการให้เข้าถึง หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ถึงได้ถามว่าเข้าใจ หรือไม่ หรือคิดเฉยๆ ไม่เข้าใจ

    ผู้ถาม ถ้าคิดแบบเข้าใจก็คิดว่าจะเป็นปัจจัยให้

    ท่านอาจารย์ และนี่เป็นการเข้าใจธรรม หรือว่าเป็นการห่วงเรา

    ผู้ฟัง ลึกซึ้งมาก และมันซ้อนไปอีกว่า

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ลึกซึ้งจะไม่ได้สาระจากพระธรรมเลย

    ผู้ฟัง สอบถามท่านอาจารย์ ถ้าอาจารย์ไม่ชี้ก็จะไม่รู้ว่ามีเราเป็นห่วงอีกชั้นหนึ่งว่า มีเราอยากให้มีปัญญามากกว่าความจริงที่เขามี เป็นเบื้องหลังของคำถามที่ถามๆ อยู่

    ท่านอาจารย์ แล้วคนอื่นจะให้เราเข้าใจ แทนเราได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ จะไปถามคนอื่นให้เขาบอก แล้วให้เรามั่นใจได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ หรือว่าต้องเป็นความมั่นใจเอง

    ผู้ฟัง ต้องเข้าใจ และมั่นใจเองว่า ปัญญารู้อะไร กราบอนุโมทนา

    ผู้ฟัง กราบท่านอาจารย์ และวิทยากร เมื่อสักครู่ฟังแล้วก็พอดีตรงที่ว่าห่วงเรา และก็ตรงที่คิดเอง พอฟังธรรมมากๆ ขึ้นก็รู้ว่า ความคิดของตัวเองคิดเข้าข้างตัวเอง ซึ่งไม่ใช่ธรรมที่แท้จริง ยิ่งคิดก็ยิ่งมีตัวเรา เข้าข้างตัวเองทุกครั้งว่า เราคิดถูก ทั้งๆ ที่ความคิดนั้นเป็นความคิดที่ผิด

    ท่านอาจารย์ ห้ามคิดไม่ได้เลย แต่ว่าคิดมี ๒ อย่าง คิดถูกกับคิดผิด เพราะฉะนั้นขณะนี้ฟังธรรม คิดอย่างไรเรื่องฟังธรรม เป็นเราฟังเพื่อตัวเรา หรือฟังเพื่อรู้ว่าไม่มีเรา แต่มีธรรม นี่คือจุดประสงค์ของการฟัง จะได้รู้ว่า ขณะนี้กำลังฟังธรรม ไม่มีเรา แต่มีธรรม และกำลังฟังเรื่องธรรมเพื่อที่จะเข้าใจธรรม จนกระทั่งรู้ความจริงของธรรมในขณะนี้ที่กำลังฟัง แต่ถ้าคิดถึงเรื่องอื่น ก็ไม่ใช่ขณะที่กำลังฟัง

    เพราะฉะนั้นแม้แต่ฟังธรรม ก็ต้องรู้ว่า ขณะนี้มีธรรมปรากฏ ไม่ได้ฟังเรื่องอื่น ไม่ได้ฟังเรื่องเรา ต่อไปจะทำอย่างไร จะเอาธรรมไปใช้อย่างไร ไม่ใช่ ฟังเรื่องของธรรมที่มีจริงที่กำลังปรากฏขณะนี้ เพื่อเข้าใจถูก เห็นถูก โดยการไตร่ตรองของตัวเอง ไม่ใช่ฟังแล้วถามว่าใช่ไหม แต่กำลังฟังขณะนี้ ฟังธรรม แสดงว่าธรรมมีจริง มีจริงโดยที่กำลังปรากฏ แต่ว่าไม่ได้เข้าใจความเป็นธรรมของสิ่งที่ปรากฏ จึงต้องฟัง เพื่อที่จะได้เห็นถูกว่า แท้ที่จริงแล้วสิ่งที่มีที่ไม่เคยเข้าใจ แม้ปรากฏ เพราะเกิดก็ต้องมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จนกว่าจะตายจากโลกนี้ไป แต่ก็ไม่รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏเลย ด้วยเหตุนี้มีการสะสมมาที่จะฟังธรรม ไม่ใช่เรา แต่ละคนเป็นจิตแต่ละหนึ่ง สะสมอะไรมานานเท่าไร จะมีประสบการณ์ในชีวิตตั้งแต่เกิดจนโตอย่างไร บังคับไม่ได้เลย ต้องเกิดขึ้นเพราะมีปัจจัยที่จะเกิดขึ้น ต้องเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างอื่นไม่ได้ และเป็นไปแล้วด้วย แต่ว่า ณ ขณะนี้มีโอกาสที่จะได้ฟัง เพื่อที่จะเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ ว่าเป็นธรรม อันนี้ไม่ลืม แต่ถ้าฟังแล้ว ตรงนั้นเป็นอย่างไร ตรงนี้เป็นอย่างไร หรือว่าเราจะต่อไปทำอย่างไร นั่นคือฟังธรรม หรือไม่ ที่กำลังปรากฏให้เข้าใจในขณะนี้

    ด้วยเหตุนี้ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด และรู้ตามความเป็นจริงว่า ปัญญาไม่ได้เข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งอื่นเลยทั้งสิ้น นอกจากสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ ให้เห็นความเป็นธรรมด้วย แต่อวิชชาที่สะสมมา นานแสนนานประมาณไม่ได้เลย แล้วก็รู้ว่าเป็นอย่างนั้นเพราะว่าขณะนี้แม้ธรรมปรากฏ ก็ไม่ได้เข้าใจความจริงของสภาพธรรม

    นี่แสดงแล้วถึงความหนาแน่นของความไม่รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ แม้แต่การฟังก็ต้องฟังด้วยความแยบคาย ด้วยความละเอียดที่จะรู้ว่า ไม่ใช่เพื่อเราจะได้เอาไปใช้ หรือเอาไปทำ แต่ไห้เห็นว่าขณะนี้ลักษณะของธรรมแต่ละอย่างเป็นจริงอย่างนั้น แม้ขณะนี้สภาพธรรมก็จริงๆ แล้วปรากฏโดยความเป็นอนัตตาตลอด เห็นไม่มีใครทำ ได้ยินไม่มีใครทำ คิดนึกไม่มีใครทำ เกิดแล้วดับไปอย่างเร็วมากก็ไม่รู้ เพราะว่าเป็นลักษณะที่ปรากฏแต่ละทาง แล้วก็ลักษณะนั้นก็ต่างกันด้วย

    เพราะฉะนั้นการฟังแต่ละครั้งไม่ใช่มุ่งหวังถึงนิพพาน โดยไม่รู้อะไรเลย ไม่รู้จริงๆ สิ่งที่ปรากฏเป็นธรรม ไม่ใช่ตัวตนอย่างไรก็ไม่รู้ แต่อยากจะถึงนิพพาน หรือว่าฟังแล้วก็อยากจะไม่มีกิเลส โดยที่ไม่รู้เลยว่า ขณะนั้นเป็นอนัตตา หรือเป็นเรา

    เพราะฉะนั้นถ้าอกุศลเป็นอนัตตา เข้าใจคำนี้ จนกระทั่งไม่มีการที่ว่าทำอย่างไรเราถึงจะไม่มีโทสะ หรือทำอย่างไรเราถึงจะได้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ขึ้น ในเมื่อมีความเข้าใจว่าเป็นธรรม ด้วยเหตุนี้จากการที่ได้ฟังแต่ละชาติ ที่ได้ยินคำว่า "ธรรม" แล้วก็เป็นอนัตตา เทียบกับแต่ละชาติในแสนโกฏิกัปป์ที่ไม่ได้ฟัง หรือว่าได้ฟังน้อยมาก หรือว่าเพียงฟังเรื่องราว หรือว่าเพียงฟัง แต่ก็ยังไม่ได้รู้ว่าแท้ที่จริงที่กำลังฟังก็คือความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ เพื่อที่จะได้เห็นความจริงเพิ่มขึ้น

    ด้วยเหตุนี้แต่ละคนก็เป็นผู้ที่ตรง ไม่ต้องไปห่วงว่าเป็นปัญญาของเขา หรือว่าเป็นปัญญาของเรา เพราะว่าปัญญาเป็นธรรม มีเหตุปัจจัยที่จะเกิดขึ้นระดับไหนแค่ไหนอย่างไรจะข้ามขั้นไม่ได้เลย อย่างขณะนี้ที่กำลังมีสภาพธรรมปรากฏ ฟัง จะให้ประจักษ์ความจริงได้ไหม ถ้าเป็นผู้ที่ตรง ถ้าไม่ได้เข้าใจขึ้น จะเอาอะไรไปประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามที่ได้ยินได้ฟังจากผู้ที่ได้ประจักษ์แล้ว

    เพราะฉะนั้นการเป็นผู้ที่ตรง เป็นผู้ที่ละเอียด จะไม่เห็นธรรมว่าเป็นเรายิ่งขึ้น ไม่ต้องไปคิดว่าจะถึงอะไร เมื่อไรจะหมด แม้แต่สิ่งที่กำลังปรากฏ ค่อยๆ เข้าใจถูกต้องในลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง ไม่เดือดร้อน เพราะว่าไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นปัญญาที่เริ่มเห็นถูกว่า แม้ปัญญาก็ไม่ใช่เรา

    เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่ปกติธรรมดา แต่ก็เป็นผู้ที่ตรง และอดทนที่จะรู้ว่าความเห็นถูกไม่ใช่เห็นถูกอย่างอื่น ชาตินี้จะสั้น หรือจะยาวมากน้อยเท่าไรก็ตาม สะสมความเข้าใจว่าเป็นธรรม และปัญญาก็จะเจริญขึ้น เมื่อถึงกาลที่จะประจักษ์แจ้งความจริง แสดงให้เห็นว่าได้อบรมความเห็นถูกมาแล้ว ไม่ใช่ว่าไม่มีความเห็นถูกเลยใดๆ ทั้งสิ้น วันดีคืนดีก็จะไปประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรม เป็นไปไม่ได้

    ผู้ฟัง จากการฟังเราทราบว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรม ก็เหมือนกับท่อง ท่านอาจารย์ มีสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นไม่ใช่ท่อง เพราะเมื่อกี้เหมือนท่อง ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรม เหมือนท่อง ต้องละเอียด อะไรเป็นธรรมเดี๋ยวนี้

    ผู้ฟัง สิ่งที่มีจริง

    ท่านอาจารย์ อะไร

    ผู้ฟัง เห็น

    ท่านอาจารย์ แล้วอะไรอีก

    ผู้ฟัง ได้ยิน

    ท่านอาจารย์ ทั้งหมดเลย แล้วรู้ว่าเป็นธรรม หรือว่าจำชื่อว่าเป็นธรรม

    ผู้ฟัง รู้ว่าเป็นธรรม แต่ไม่ประจักษ์แจ้ง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นไม่ใช่ปัญญาที่สามารถที่จะเข้าถึงสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน เพราะว่าแค่เพียงฟังเรื่องราวแล้วจำ

    ผู้ฟัง ตรงนี้เอง อยากให้ท่านอาจารย์เน้น ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรม มันก็เหมือนท่อง ทุกวันบางครั้งก็ เออ มีสิ่งที่ปรากฏทางตา เรามีอะไรเป็นธรรมนะ มันเหมือนท่องทุกอย่างเลย

    ท่านอาจารย์ ท่องคืออะไร

    ผู้ฟัง ก็คือคิด

    ท่านอาจารย์ ก็คิด คิดเป็นธรรม หรือไม่

    ผู้ฟัง เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ เกิดแล้ว ดับแล้ว หรือไม่

    ผู้ฟัง ดับแล้ว

    ท่านอาจารย์ แต่ไม่รู้ นี่ไง ทุกอย่างเป็นธรรมแต่ไม่รู้ แล้วต้องการอะไร

    ผู้ฟัง ต้องการความเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ เห็นไหม มาแล้ว ไม่ไกลเลย โลภะ พร้อม ไม่แสดงตัวเลยตั้งแต่เช้ามาจนกระทั่งถึงเดี๋ยวนี้ เท่าไรแล้ว กว่าจะแสดงตัวได้ ตั้งแต่เช้ามา ไม่เห็นเลย

    อ.กุลวิไล ต้องมีความมั่นคงว่าไม่มีเรา มีแต่ธรรม เพราะถ้าเราไม่ได้ยินได้ฟังพระธรรม เราก็จะไม่รู้ว่าธรรมคือสิ่งที่มีจริง เพราะฉะนั้นแม้แต่เรื่องราวต่างๆ ในชีวิตประจำวัน แต่ถ้าเรารู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เรื่องราวไม่มีแน่นอน ต้องมีสภาพที่เป็นจิต และเจตสิก แต่ต้องรู้ถึงลักษณะที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เพราะว่าจิตก็ยังหลากหลายมากมายหลายอย่าง ทั้งเจตสิกที่ประกอบด้วย แต่ถ้าเป็นปรมัตถธรรมแล้วต้องมีสภาวะนั้นๆ ซึ่งท่านอาจารย์ก็ให้ความเข้าใจแม้แต่ท่อง เราคงเรียกกันว่า ท่องจำ แต่จริงๆ แล้วต้องมีสภาพที่เป็นปรมัตถธรรมแน่นอน ในขณะที่ท่องจำ เพราะฉะนั้นตัวใดที่เป็นตัวธรรมที่มีจริง

    อ.อรรณพ ซึ่งนามธรรมคือจิต และเจตสิก เป็นสภาพรู้ เกิดขึ้นต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด คือรู้อารมณ์ในขณะนั้น แต่ลักษณะของการรู้อารมณ์ของจิต ก็ไม่ใช่อย่างเจตสิก ภาษาไทยแม้เราจะใช้คำว่ารู้ รู้แบบจิต หรือรู้แบบจำอย่างสัญญา หรือรู้ลักษณะเข้าใจอย่างปัญญา ก็ล้วนแล้วแต่เป็นลักษณะของนามธรรม นามธาตุซึ่งเป็นสภาพรู้ แต่ก็ต่างกันอีก จิตรู้เพียงความเป็นใหญ่เป็นประธาน จิต เพราะอรรถว่า รู้แจ้งอารมณ์ ก็คือรู้แจ้งในอารมณ์นั้น แต่ไม่ได้หมายความว่ารู้แจ้ง จะเป็นรู้อย่างวิปัสสนา เพราะบางคนก็อาจจะไขว้เขวกับคำ แล้วเราก็ความเข้าใจก็เป็นงูๆ ปลาๆ อีก ว่ารู้แจ้ง ไม่ใช่รู้แจ้งอย่างวิปัสสนาปัญญา แต่รู้แจ้งโดยลักษณะความเป็นประธานของสภาพรู้ ความเป็นหลักของสภาพรู้คือจิต ที่จะรู้ในอารมณ์นั้น

    เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นจิตชาติใด ที่เราเคยสนทนามานาน กุศลชาติ อกุศลชาติ วิบากชาติ กิริยาชาติ หรือเป็นจิตภูมิใดในกามาวจรภูมิในขณะนี้ รูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ หรือโลกุตรภูมิ ก็ต้องรู้อารมณ์ อันนั้นเป็นลักษะของจิตที่เป็นใหญ่เป็นประธาน แต่สภาพรู้ที่เป็นเจตสิก ก็มีในขณะนั้น ผัสสะก็รู้อารมณ์แต่รู้โดยทำกิจกระทบกับสิ่งที่จิตรู้ หรืออารมณ์นั้นเท่านั้น แต่ก็รู้อารมณ์เดียวกัน สัญญาก็รู้โดยจำอารมณ์นั้นอารมณ์เดียวกันกับที่จิตรู้ ถ้าปัญญาเกิด ปัญญาก็รู้อารมณ์เดียวกับจิต รู้อารมณ์เดียวกับผัสสะในขณะนั้น รู้อารมณ์เดียวกันกับสัญญาในขณะนั้น แต่ลักษณะ และกิจของปัญญานั้นรู้ตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้นจิตรู้แจ้งอารมณ์ แต่ไม่ได้เข้าใจ ภาษาไทยง่ายๆ ไม่ได้เข้าใจตามความเป็นจริง สัญญา ผัสสะ ก็ทำกิจ แล้วแต่ว่าจะเกิดเป็นกิจประเภทใด ถ้ามีปัญญาเกิดร่วมด้วย แล้วเป็นปัญญาที่รู้ตรงลักษณะ หรือเข้าใจลักษณะตามความเป็นจริง จิต สัญญา ผัสสะ เหล่านั้นก็พลอยที่ประกอบด้วยปัญญาไปด้วย

    เพราะฉะนั้นพระองค์ท่านจึงแสดงสภาพธรรมไม่ให้ปะปนกัน แม้นามธรรม จึงแสดงเป็น ๕๓ คือ เจตสิกหลากหลายออกเป็น ๕๒ ประเภท รายละเอียดท่านก็คงได้ศึกษากันมาบ้าง แล้วก็ต้องศึกษาต่อไปในปรมัตถธรรมสังเขปก็ชัดเจน ในภาคผนวก จิตแม้ว่าจะเป็นชาติใด ภูมิใด แต่ก็เป็นเพียงลักษณะที่รู้แจ้งอารมณ์ จึงเป็นนามธรรม นามธาตุอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นเจตสิก ๕๒ และจิตอีก ๑ จึงเป็นนามธรรม ๕๓ นั่นก็เป็นพระมหากรุณาคุณที่พระองค์ท่านทรงจำแนกทรงแสดง สภาพธรรมที่เข้ากันสนิท ไม่มีใครที่แยกลักษณะต่างๆ หยิบยกออกมาแสดงว่า จิตรู้อารมณ์โดยรู้แจ้งเท่านั้น เจตสิกต่างๆ ก็รู้อารมณ์โดยทำกิจหน้าที่ของเจตสิกนั้นๆ เพื่อให้ผู้ฟังมีพื้นฐานความเข้าใจอภิธรรมในชีวิตประจำวันที่จะไม่ไขว้เขวว่าเป็นเรา อย่างขณะนี้เราปนกันหมด เป็นเราที่จำได้ มอง จำคนโน้นคนนี้ได้ จิตก็คิดด้วย มีวิญญาณขันธ์ มีสัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ เวทนา ความรู้สึกก็มี แล้วก็มีรูป ปนเปกันทั้งรูปทั้งนาม นามก็ยิ่งปนกันใหญ่ เพราะฉะนั้นไม่ว่าพระองค์ท่านจะทรงจำแนกเป็นนามธรรม ๕๓ ให้เข้าใจลักษณะของสภาพรู้ซึ่งต่างๆ กันเพื่อความไม่เข้าใจผิด

    อ.กุลวิไล เชิญคุณวิชัย

    อ.วิชัย สำหรับนามธรรมซึ่งอาจารย์อรรณพได้กล่าวถึงเรื่องจิต และธรรมที่เกิดร่วมกันกับจิต ก็คือเจตสิก เพราะฉะนั้นความละเอียดของนามธรรมก็เห็นว่า แม้จิตที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้งแม้ขณะนี้ที่อาจจะคิดนึกเรื่องราวต่างๆ มีการเห็นบ้างได้ยินบ้าง ซึ่งเป็นจิตที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ แต่จิตนั้นก็เกิดดับอย่างรวดเร็ว แต่การเกิดขึ้นของจิตนั้นก็มีธรรมอย่างอื่นเกิดร่วมด้วยกับจิต ก็คือเจตสิก ซึ่งเจตสิกก็มีลักษณะแตกต่างกันแต่ละประเภทซึ่งต่างกันออกถึง ๕๒ ประเภทด้วยกัน อย่างเช่นความรู้สึก แล้ววันๆ หนึ่ง ก็คงจะมีบ้าง อาจจะดีใจบ้างเสียใจบ้าง ทุกข์ทางกายบ้าง สุขทางกายบ้าง หรือไม่ก็ไม่สุขไม่ทุกข์บ้าง อันนี้ก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งไม่ใช่จิต เพราะเหตุว่าจิต คือ เป็นสภาพซึ่งเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ เห็นขณะนี้มีความรู้สึกไหม เกิดร่วมด้วยกับจิต มี แต่ว่าความรู้สึกนั้นไม่ได้ปรากฏ แต่ว่าขณะนี้กำลังเห็นซึ่งเป็นจักขุวิญญาณ วิญญาณหมายถึงสภาพธรรมที่รู้แจ้ง จักขุวิญญาณ คือสภาพธรรมที่รู้แจ้งทางตา คือ จิตเห็นขณะนี้ กระนั้นแม้จิตเห็นที่เกิดขึ้นก็ต้องมีเวทนาเกิดร่วมด้วย คือ ความรู้สึกที่ไม่ใช่สุขไม่ใช่ทุกข์ เป็นอุเบกขาเวทนา เกิดร่วมด้วยกับจักขุวิญญาณ แต่ว่าทางกายก็มีเวทนาเกิดร่วมด้วย เพราะเหตุว่าเวทนาต้องเกิดกับจิตทุกประเภท ไม่เว้นเลย ไม่ว่าจะเป็นกุศลก็ตาม อกุศลก็ตาม วิบากก็ตาม หรือว่ากิริยาจิตก็ตาม จิตที่เกิดขึ้นเป็น ๔ ชาติ ต้องมีเวทนาเกิดร่วมด้วย และเวทนาที่เกิดร่วมด้วยกับจิต ก็ต้องเป็นชาติเดียวกันกับจิต เพราะเหตุว่าเมื่อนามธรรมเกิดขึ้น เป็นจิต และเจตสิก เมื่อเกิดแล้วก็ต้องเป็นชาติหนึ่งชาติใดใน ๔ ชาตินี้ เพราะฉะนั้นเวทนาที่เป็นสุข หรือเป็นทุกข์ ก็เกิดพร้อมกันกับกายวิญญาณ อย่างเช่นขณะนี้ก็อาจมีความรู้สึกสบายทางกาย รับโผฏฐัพพะ เย็นบ้าง ร้อนบ้าง อ่อนบ้าง แข็งบ้าง ตึงบ้าง ไหวบ้าง ที่สบาย อันนั้นก็ทราบว่า ขณะนั้นเป็นสุขเวทนาที่เกิดพร้อมกับกายวิญญาณที่เป็นผลของกุศลกรรม เพราะเหตุว่าขณะนั้นถูกต้องโผฏฐัพพะที่ดี เกิดสุขทางกาย ซึ่งเป็นผลของกุศลกรรม

    เพราะฉะนั้นการที่จะเริ่มศึกษาธรรมก็คือเริ่มจากศึกษาในสิ่งที่มีจริงขณะนี้ ที่สามารถจะค่อยๆ เข้าใจได้ ค่อยๆ จะเข้าใจขึ้น นอกจากเวทนาแล้วยังมีสภาพธรรมอย่างอื่นอีกซึ่งเป็นเจตสิกที่เกิดร่วมกันกับจิต เพราะเหตุว่าเวทนาเป็นเพียง ๑ เท่านั้นใน ๕๒ ประเภท ก็ยังมีสัญญา ความจำ ขณะที่จิตเกิดขึ้น มีความหมายรู้ในสิ่งนั้นด้วย อาจจะเห็นแล้วก็จำขณะนั้น แล้วก็มีการตรึกนึกถึงสิ่งที่เคยจำไว้ได้ เพราะฉะนั้นสัญญาเกิดพร้อมกันกับจิต พร้อมกันกับเวทนา อันนี้ก็เป็นการที่จะค่อยๆ ศึกษาธรรม เพราะเหตุว่าธรรมก็มีจริงขณะนี้ที่สามารถที่จะเข้าใจได้ และพระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงโดยละเอียดด้วย ที่จะสามารถเข้าใจขึ้น

    ผู้ฟัง จากการที่เรามาศึกษาธรรมนี่ มีความเข้าใจว่า ถ้ามีอะไรปรากฏตามทวารทั้ง ๕ เราก็รู้ แล้วก็มีความเข้าใจ แล้วในขณะนั้นก็มีสัพพสาธารณะเจตสิก เกิดขึ้น ไม่ว่าทางทวารไหนตามแต่ เมื่อเราเข้าใจอย่างนี้แล้ว ก็จะมีการระลึกตามสภาวธรรมนั้นๆ ที่เกิดขึ้นตามทวารเหล่านี้ ปัญหาก็คือว่า เราก็จะติดอยู่แค่นี้เอง เพราะว่าคงจะต้องรอให้มีกำลังเกิดขึ้นมา เพื่อที่จะให้สติแล้วก็ปัญญาเกิด ทีนี้ในระหว่างที่การรอตรงนี้ ทุกคนก็จะมีการระลึกอย่างนี้ไปเรื่อยๆ แต่ต้องใช้เวลานานมาก เท่าที่เข้าใจ ก็อยากจะกราบเรียนอาจารย์ให้ความเข้าใจตรงนี้ เพื่อที่จะเป็นกำลังใจโดยการระลึกต่อไปเรื่อยๆ

    ท่านอาจารย์ กำลังใจของใคร

    ผู้ฟัง ก็คือ คล้ายๆ กับการสะสมมันเป็นเวลาที่ยาวนานมาก

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นกำลังใจจะให้ใคร หรือของใคร

    ผู้ฟัง คือคล้ายๆ กับว่ามันจะไม่ให้ล้มเหลวเสียก่อน

    ท่านอาจารย์ นั่นสิ ใครล้มเหลวอีก

    ผู้ฟัง ก็สภาวธรรมที่การระลึกต่อไปนี้

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วจะเห็นได้ว่า รอ มีเสมอ เพราะยังมีเรา แต่ถ้ารู้ว่าความจริงเป็นธรรมซึ่งเกิดแล้วดับ จะรออย่างไร หรือจะรอวิธีไหน

    ผู้ฟัง ก็ตรงนี้มันมีขันติที่พี่อรวรรณเขาถาม

    ท่านอาจารย์ ขันติก็ไม่ใช่เราไปทำขันติ แต่สามารถเข้าใจสภาพธรรมที่มีที่กำลังปรากฏจากไม่เข้าใจ จากการไม่เคยฟัง ขณะที่ฟังแล้วเข้าใจขึ้น อดทน เป็นขันติ หรือไม่ ขณะที่ฟัง และขณะที่สภาพธรรมปรากฏ แต่ก็จะคิดรอ ขณะนั้นเป็นขันติ หรือว่าไม่ใช่ขันติ

    ผู้ฟัง ไม่ใช่ขันติ

    ท่านอาจารย์ แต่ถ้าขณะนี้รู้ว่า จะรู้เกินกว่าที่กำลังรู้เดี๋ยวนี้ไม่ได้เลย ไม่มีทางจะเป็นไปได้ ถ้าฟังแค่นี้ เข้าใจแค่นี้ แล้วก็จะพยายามไปประจักษ์แจ้ง ใครพยายามวิธีไหน กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ลองแสดงวิธีพยายามอย่างมากๆ ที่จะไปประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมว่าเป็นอย่างไร พยายามอย่างไร นอกจากค่อยๆ เข้าใจขึ้น เข้าใจขึ้นเมื่อไรก็จะรู้ว่า หนทางเดียวคือถ้าปัญญาไม่เจริญ ไม่เข้าใจทีละเล็กทีละน้อย ไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะจริงๆ ของสิ่งที่ปรากฏ เพราะว่าเกิดแล้ว ดับแล้ว เร็วมาก เพราะฉะนั้นไม่มีตัวเราไปรอ แต่รู้ว่า นอกจากปัญญาแล้วไม่สามารถที่จะรู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ และปัญญาขณะนั้นกำลังรู้ลักษณะด้วยสติสัมปชัญญะ ซึ่งไม่ต้องเรียกชื่อ ขณะนี้ สภาพธรรมก็ปรากฏไป เกิดแล้วดับแล้ว ไม่รู้อะไรเลย กำลังฟังให้ค่อยๆ เข้าใจว่า สิ่งที่ปรากฏแท้จริง เป็นสิ่งที่เกิดจึงปรากฏ แล้วดับอย่างรวดเร็วด้วย ฟังให้เข้าใจ เมื่อมีความเข้าใจ แต่ขั้นนี้แค่นี้แล้วจะไปให้ประจักษ์ความจริง เป็นไปไม่ได้

    ด้วยเหตุนี้จะต้องมีความเป็นผู้ตรงว่า ขณะนี้ไม่ใช่มีเฉพาะสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น เสียงก็ปรากฏ แข็งก็ปรากฏ แล้วก็รู้ตรงไหนบ้าง หรือไม่ ถ้าไม่รู้ ไม่ใช่ไปรอเฉยๆ แต่ค่อยๆ เข้าใจ เพราะฟังแล้วก็รู้ว่า อีกนานไหม นับไม่ถ้วน ประมาณไม่ได้ แล้วสภาพธรรมที่จะปรากฏให้ปัญญาประจักษ์แจ้ง ก็เลือกไม่ได้อีก เพราะว่าไม่ใช่อันเก่ากลับมาให้รู้เลย ใหม่หมด แม้แต่ขณะนี้ เดี๋ยวนี้ ก็ไม่ใช่ขณะก่อน

    เพราะฉะนั้นก็ไม่พะวงถึงสิ่งที่ผ่านไปแล้ว หรือสิ่งที่ไม่มาถึง ขณะนี้สภาพที่กำลังปรากฏนี้แหละ ไม่รู้เมื่อไรก็คือว่า หมดแล้ว พร้อมกับอวิชชาซึ่งยังคงไม่รู้อยู่ ด้วยเหตุนี้ก็เป็นผู้ที่เข้าใจคำว่าอดทน ที่จะค่อยๆ เข้าใจ แล้วก็ไม่ใช่เราที่จะไปเร่งรัด หรือไปหาทางพยายามทำอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งใครก็ตามลองทำลองพยายาม ลองบอกมาสิจะทำวิธีไหน อย่างไร ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้เลย นอกจากฟังวันนี้เข้าใจขึ้น ฟังต่อไปก็ค่อยๆ เข้าใจอีก จนกระทั่งมีปัจจัยที่สติสัมปชัญญะจะเกิดรู้ตรงลักษณะของธรรมหนึ่งสภาพธรรมใด ขณะนั้นปัญญาก็สามารถที่จะเห็นถูกต้องว่า ขณะนั้นเกิดแล้ว เป็นอย่างนั้นแล้ว ตามเหตุตามปัจจัย แต่รู้แค่นั้นไม่พอเลย ยังไม่ประจักษ์ความจริง ซึ่งกว่าจะประจักษ์ความจริงก็ต้องอบรมไปอีกด้วยความละ ไม่ใช่ด้วยการรอ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 168
    11 ม.ค. 2567