พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 405


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๔๐๕

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๐


    อ.วิชัย แล้วถ้าเราพิจารณาถึงสิ่งที่มีจริงๆ ขณะนี้ ศึกษาแล้วเข้าใจก็จะคลายความสงสัย เพราะเหตุว่าเมื่อคิดถึงสิ่งที่ผ่านมาแล้ว หรือว่าคิดถึงเรื่องอื่นๆ ก็ยังไม่เข้าใจจริงๆ กับขณะนี้ที่กำลังคิดอยู่ เพราะเหตุว่าขณะนี้ก็เป็นนามธรรมที่เกิดแล้ว มีเหตุปัจจัยเกิดแล้ว เห็นก็เกิดแล้ว ได้ยินก็เกิดแล้ว ศึกษาแล้วก็เข้าใจในสิ่งที่มีจริงๆ ขณะนี้ก็จะไม่สงสัยเลย เพราะเหตุว่าขณะนี้ก็กำลังมี

    ผู้ฟัง กราบเรียนอาจารย์ มีอะไรที่จะสามารถเกื้อกูลให้การฟังธรรมให้เข้าใจ และจนสามารถที่จะระลึกสภาพธรรมเหล่านั้นได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ หาวิธีไปเรื่อยๆ แม้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงแสดงความจริงให้เกิดปัญญา แล้วก็ให้รู้ตามความเป็นจริงว่า ทุกอย่างเป็นธรรม เป็นอนัตตา นี่คือทั้งหมด จะไปฟังตอนไหนอย่างไรก็ตาม ให้ทราบว่าไม่ได้บอกให้ใครทำอะไร แม้พระไตรปิฎกทั้งหมดบอกไม่ได้ สั่งไม่ได้ ทุกอย่างเป็นอนัตตา ถ้าเป็นอนัตตาแล้วจะบอกอย่างไร จะสั่งอย่างไร แต่ว่าทรงแสดงความจริง ๔๕ พรรษาเพื่อให้พิจารณาไตร่ตรอง ไม่ต้องอ้างใครอีกแล้ว ความจริงเป็นความจริง จะกล่าวว่าหน้าไหนตอนไหน เมื่อเป็นความจริงแล้ว ทำไมต้องอ้าง แต่ว่าเมื่อฟังรู้ก็รู้ว่าใครเป็นผู้รู้ความจริงนี้ ถ้าไม่รู้ความจริงอย่างนี้จะทรงแสดงความจริงอย่างนี้ได้ไหม

    เพราะฉะนั้นแทบจะไม่ต้องกล่าวถึงชื่อเลยว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ว่าทุกครั้งที่เข้าใจความจริงให้รู้ว่า เพราะมีผู้ตรัสรู้ความจริงนี้จึงได้ทรงแสดงความจริงอย่างนี้ เพราะฉะนั้นผู้ที่ได้ฟังเริ่มเข้าใจถูก รู้ความจริงให้มั่นคงขึ้น

    เพราะฉะนั้นก็พิจารณาไตร่ตรอง แต่อย่าหาวิธี ไม่ทราบจะหาวิธีอะไร ในเมื่อสภาพธรรมเดี๋ยวนี้ก็เกิดดับ แต่ไม่รู้ เพราะฉะนั้นใครจะหาวิธีอะไรที่จะทำให้รู้ได้ เจริญกุศลเพื่อใคร

    ผู้ฟัง เพื่อตัวเอง

    ท่านอาจารย์ นั่นสิ ยังมีตัว แต่ถ้ารู้ว่า ธรรมเป็นธรรม ปัญญาสามารถที่จะรู้ได้ ธรรมที่เป็นกุศลก็มี ธรรมที่เป็นอกุศลก็มี ปัญญารู้ได้ไหม หรือว่าไม่รู้จักกุศล ต้องไปเที่ยวถามแล้วว่านี่เป็นกุศล หรือไม่ นี่เป็นบาป หรือไม่ นี่เป็นบุญ หรือไม่ นั่นไม่ใช่ปัญญา แต่ปัญญาสามารถที่จะเห็นถูก กุศลเป็นกุศล อกุศลเป็นอกุศล ไม่ใช่ใครเลยทั้งสิ้น

    นี่คือการฟังธรรมให้เข้าใจธรรม เพราะฉะนั้นเมื่อกุศลเป็นธรรมที่ไม่เป็นโทษ อกุศลเป็นธรรมที่เป็นโทษ แม้เมื่อเกิดขึ้นยังไม่ทำอะไรเลยก็เป็นธรรมฝ่ายชั่ว นำมาซึ่งกายวาจาต่อๆ ไป ซึ่งความชั่วก็เพิ่มขึ้นอีก ปัญญาเห็น หรือว่าเราเห็น หรือว่าใครเห็นอย่างนี้ ถ้ามีความเห็นถูกว่าเป็นธรรม เป็นเราที่เลือก หรือไม่ที่จะเจริญกุศล หรือเพราะเห็นว่ากุศลเป็นกุศล อกุศลเป็นอกุศลตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้นพระพุทธศาสนาสอนให้เกิดปัญญาอย่าไปคิดว่ามีเรา แล้วพระพุทธเจ้า สอนให้เราทำอย่างนี้ ให้เป็นอย่างนั้น เพื่อเราจะได้เป็นอย่างโน้น ไม่ใช่เลย สอนให้เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงของสภาพธรรม ให้รู้ว่าไม่มีเรา แต่เป็นธรรมทั้งหมด

    อ.วิชัย เรียนถามท่านอาจารย์ ขณะที่ศึกษาแล้วก็มีความต่างกัน ขณะที่อยากจะรู้อย่างหนึ่ง แต่ว่าสภาพธรรมที่เกิดขึ้นรู้โดยเหตุปัจจัยอีกอย่างหนึ่ง หรือไม่ ท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ คุณบุษกรอยากจะรู้จะเป็นกุศลจิต หรืออกุศลจิตใช่ไหม รู้จักจิต หรือยัง

    ผู้ฟัง ยังเลย

    ท่านอาจารย์ แล้วจะไปรู้ได้อย่างไรว่า ขณะนั้นเป็นกุศลจิต หรืออกุศลจิต นี่คือการข้าม เป็นชื่อที่จำว่ากุศลจิตคือขณะที่มีศรัทธา หิริ โอตตัปปะ พวกนี้เกิดร่วมด้วย ก็เป็นเรื่องราว แต่ว่าถ้ายังไม่รู้สภาพธรรมว่า เป็นธรรม จะกล่าวได้ไหมว่า ธรรมนั้นเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล

    เพราะฉะนั้นเราข้าม คือ อยากรู้ชื่อว่าขณะนั้น แต่ขณะนั้นก็ดับแล้ว แล้วก็ยังไม่รู้ว่าเป็นธรรมด้วย เพราะฉะนั้นก่อนอื่นที่จะรู้ว่า เป็นกุศล หรืออกุศล ต้องรู้ว่าเป็นธรรมก่อน จริงๆ เป็นอย่างนั้น หรือไม่ หรือว่าไม่รู้จักธรรม ยังเป็นเรา แต่ว่าสามารถที่จะรู้ว่าขณะนั้นเป็นกุศล หรืออกุศล โดยจำเรื่องโดยชื่อ ว่าขณะที่กำลังให้สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่บุคคลอื่น สามารถสละได้ ปกติก็ติด แต่ว่าขณะใดก็ตามที่เห็นประโยชน์คนอื่นที่จะได้รับจากการให้ ก็ให้ ก็ไม่ใช่เรา แต่ขณะนั้นก็เป็นธรรม เพราะฉะนั้นถ้าเพียงแต่จะรู้ชื่อว่าเป็นกุศล และอกุศล สามารถที่จะรู้ธรรมที่เป็นกุศล และอกุศลได้ไหม

    ผู้ฟัง ถ้าฟังแล้ว มาสังเกตแล้วไม่สามารถที่จะรู้ได้เลย

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ขณะนี้กำลังเห็น แล้วก็ถามว่าเป็นกุศล หรืออกุศล

    ผู้ฟัง ก็ยังตอบไม่ได้

    ท่านอาจารย์ แต่ไม่รู้ว่าเป็นธรรม ซึ่งต่างกัน เพราะเห็นเป็นธรรมแน่นอน กำลังเห็น กุศลจิตก็มีแน่นอน แต่ไม่ใช่เห็น ถ้ายังไม่รู้อย่างนี้แล้วตอบ ชื่อว่ารู้จักธรรม หรือยัง

    ผู้ฟัง ยัง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็ยังไม่ต้องไปคิดว่า เป็นกุศล หรืออกุศล แม้เพียงเป็นธรรมก็ยังไม่รู้ เพราะฉะนั้นถ้ารู้ว่าเป็นธรรม ลักษณะของธรรมไม่ได้เปลี่ยน กุศลก็เป็นธรรม อกุศลก็เป็นธรรม แต่ปัญญาที่รู้ว่าเป็นธรรม ธรรมนั้นไม่เปลี่ยน แต่ว่าปกติธรรมดาไม่รู้ว่ากุศลเป็นธรรม อกุศลเป็นธรรม เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าจะได้ยินชื่อ ก็ยังคงเป็นเรา แต่ถ้าสามารถเข้าใจได้ว่า ขณะนั้นเป็นธรรม ลักษณะของกุศลธรรมในขณะนั้นไม่ได้เปลี่ยน ลักษณะของอกุศลธรรมก็ไม่ได้เปลี่ยน แต่มีความรู้ว่าเป็นธรรมก่อน ถ้าไม่รู้ว่าเป็นธรรม ก็ไม่มีทางเลยที่จะไปรู้ว่า เป็นกุศลธรรม หรืออกุศลธรรม เป็นกุศลจิต หรืออกุศลจิต ก็ต้องอาศัยคนอื่นบอก แล้วคนอื่นบอกถูกได้อย่างไร เขาไปรู้จิตของใครที่ไหนที่จะบอกได้

    เพราะฉะนั้นก่อนอื่นไม่ข้าม คือ มีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า แม้แต่ขณะนี้ หรือขณะไหนก็ตามก็เป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง แทบจะไม่ต้องเอ่ยถึงชื่อว่านามธรรม หรือรูปธรรมเลย เพราะอะไร เพราะลักษณะของรูปธรรมใครก็เปลี่ยนไม่ได้ แต่ไม่รู้ว่าลักษณะนั้นเป็นธรรม ลักษณะของนามธรรมใครก็เปลี่ยนไม่ได้ เจ็บ ไม่ต้องไปนั่งนึกถึงชื่อ ไม่ต้องไปนั่งไตร่ตรองหาว่า เจ็บเป็นนามธรรม หรือรูปธรรม นั่นคือไม่ได้รู้ลักษณะที่เจ็บ ซึ่งลักษณะที่เจ็บต่างกับสภาพซึ่งไม่รู้สึกอะไรเลย ถูกต้องไหม เจ็บเป็นความรู้สึก ต่างกับสภาพธรรมที่มีแต่ไม่สามารถที่จะรู้สึก หรือรู้อะไรได้เลย

    เพราะฉะนั้นลักษณะของสภาพธรรมเปลี่ยนไม่ได้ แต่ไม่คุ้นกับการที่จะรู้จักว่าเป็นธรรม ทั้งๆ ที่เอ่ยชื่อว่าเวทนา บางคนก็ยังถามว่าเจ็บเป็นทุกขเวทนาใช่ไหม ถามถึงอย่างนั้น คือไปเอาชื่อมาถามว่าเป็นทุกขเวทนาใช่ไหม แต่ว่าลักษณะที่เจ็บจะต้องไปเรียกชื่ออะไร หรือไม่ จำเป็นไหมที่เจ็บกำลังแสดงสภาพจริงๆ ว่า ลักษณะนั้นเป็นอย่างนั้น ไม่เป็นอย่างอื่น แล้วลักษณะนั้นก็เกิดโดยที่ว่า ไม่มีใครไปทำให้เกิดขึ้นเลย แต่เมื่อมีปัจจัยเจ็บเกิดแล้ว ตามปัจจัย

    เพราะฉะนั้นการที่จะรู้ว่า ขณะนั้นเป็นธรรม แล้วเมื่อคุ้นกับลักษณะของธรรมแต่ละลักษณะ ความต่างกันนั้นเองก็บ่งบอกถึงถ้าเราจะใช้ชื่อ ก็คือสภาพที่ไม่รู้อะไรทั้งหมด เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เช่น เสียง กลิ่น รส พวกนี้ ก็เป็นสภาพที่ไม่รู้อะไร แต่ ไม่ใช่ไปจำชื่อ แต่ขณะที่ลักษณะนั้นเกิดแล้วไม่ใช่สภาพรู้ สามารถที่จะเข้าถึง มีการรู้ลักษณะที่เป็นธรรมจริงๆ ตัวจริงๆ ของธรรม แล้วความเข้าใจ ความคุ้นเคยกับลักษณะของธรรมแต่ละอย่างไม่สับสน อย่างเจ็บจะไปปนกับจำได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ จะไปปนกับโกรธได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะ มีลักษณะจริงๆ ให้เข้าใจความเป็นจริง แต่ไม่คุ้นกับการที่จะเข้าใจลักษณะ เพียงแต่อยากจะเรียกชื่อ พอเจ็บก็ทุกขเวทนาใช่ไหม พอกำลังฟังธรรมก็เป็นกุศลจิตใช่ไหม ก็ไปคุ้นกับชื่อ อยากจำชื่อ อยากเรียกชื่อถูก แต่ตัวจริงๆ เป็นธรรม ซึ่งเกิดปรากฏแล้วดับไปอย่างเร็วมาก ไม่ใช่ว่ามีความสามารถเป็นตัวตนที่จะไปเลือกรู้ธรรมอะไร เช่น จะไปเลือกรู้กุศลจิตกับอกุศลจิต แต่ไม่รู้ว่าขณะเห็นเป็นอะไร

    นี่เป็นสิ่งซึ่งเป็นความไม่รู้ เพราะว่าไม่ละเอียดที่จะเข้าใจว่า การเข้าใจธรรม การศึกษาธรรม การฟังธรรม มีสภาพธรรมจริงๆ ตัวจริงของธรรมกำลังปรากฏ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า กำลังฟังเพื่อเข้าใจความจริงของสิ่งที่ปรากฏ นี่จึงจะสามารถรู้ได้ถึงความหลากหลาย ความต่างของขณะที่เห็นไม่ใช่ขณะที่สละสิ่งหนึ่งสิ่งใดเพื่อประโยชน์แก่คนอื่น ไม่ใช่ขณะที่กำลังจำเรื่องราว ไม่ใช่ขณะที่กำลังรู้สึกเจ็บ หรือสบายทางกาย หรือไม่ใช่ขณะที่กำลังโทมนัสเสียใจ ซึ่งก็เป็นลักษณะของธรรมทั้งหมดเลย แต่เพราะไม่คุ้นจึงต้องฟัง แล้วก็มีสภาพธรรมจริงๆ แต่ว่าระลึกไม่ได้ เพราะว่าความรู้ไม่พอ ฟังเป็นการสะสมความเข้าใจถูก เวลาที่มีการที่สามารถจะมีลักษณะหนึ่งลักษณะใดปรากฏ ขณะนั้นปกติธรรมดาหลงลืมสติ แม้สภาพธรรมนั้นปรากฏก็เหมือนไม่ปรากฏ เมื่อกี้นี้อะไรปรากฏ

    ผู้ฟัง เดี๋ยวนี้ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เมื่อกี้นี้

    ผู้ฟัง เมื่อกี้ ลืมแล้ว

    ท่านอาจารย์ เห็นไหม สีสันวัณณะก็ปรากฏ ไม่ได้หายไปไหนเลย แต่เหมือนไม่มี เพราะว่ากำลังนึกถึงเรื่องราวต่างๆ กำลังนึกถึงคน กำลังนึกถึงเรื่องที่ได้ยินได้ฟัง แต่ว่า ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏจริงๆ

    เพราะฉะนั้นการศึกษา คือ ละเอียดถึงจะรู้ว่า นี่คือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงสิ่งที่คนอื่นไม่รู้ ให้ค่อยๆ เป็นปัญญาที่รู้ขึ้น เข้าใจขึ้นในทุกคำที่ทรงแสดง เพื่อที่จะให้รู้ความจริงว่า เป็นธรรมซึ่งไม่ใช่ใครเลย และก็ไม่เป็นของใคร มีปัจจัยเกิดขึ้น แล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้นอย่าเจาะจงจะรู้กุศลจิต หรืออกุศลจิต โดยที่ไม่รู้ว่า ขณะนี้ และทุกๆ ขณะเป็นธรรมแต่ละลักษณะจริงๆ เกิดจริงๆ ปรากฏจริงๆ และก็หมดไปจริงๆ มีอะไรเหลือบ้างไหมจากเมื่อกี้ถึงเดี๋ยวนี้

    ผู้ฟัง ถ้าตอบโดยการศึกษามาแล้วก็ว่าไม่มี

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ใช่โดยการศึกษา มีอะไรเหลือ

    ผู้ฟัง ถ้าไม่ได้ศึกษา ก็ยังคิดว่ามีตัวมีตน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจำในสิ่งที่ไม่มีว่ายังมี แต่ถ้ารู้ว่าเพราะไม่รู้จึงฟัง ฟังแล้วก็เริ่มรู้ว่ายังไม่รู้อีกมาก ก็ฟังต่อไป เป็นการอบรมความเห็นถูก ความรู้ถูก ให้มั่นคงขึ้น

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ อย่างเวลาโทสะเกิด จะรู้ และเห็นได้ชัดว่าเป็นโทสะ

    ท่านอาจารย์ เป็นโทสะ หรือเป็นเรา

    ผู้ฟัง ก็ยังเป็นเราอยู่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็ไม่คุ้นต่อการที่จะรู้ตามความเป็นจริงว่า เป็นลักษณะธรรมอย่างหนึ่ง

    ผู้ถาม ก็ฟังแล้วเข้าใจ แล้วดูเหมือนจิตจะดื้อด้านไม่ยอมคล้อยตาม

    ท่านอาจารย์ คุณบุษกรอายุเท่าไร

    ผู้ฟัง ๕๒ เเล้ว

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เลย เกิดมาแสนโกฏิกัปแล้ว แสนโกฏิกัปด้วยความไม่รู้ ไม่รู้แสนโกฏิกัป แล้วจะฟังแล้วก็ให้รู้ คิดดูแล้วกัน มีปัจจัยของความไม่รู้มากที่จะเกิดขึ้น หรือว่ามีปัจจัยที่ได้สะสมมาที่ฟังแล้วเข้าใจรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ละความเป็นเรา คือปัญญาละความติดข้อง คือ โลภะ ถ้าไม่มีปัญญา อะไรก็ไม่สามารถที่จะละความติดข้องได้

    เพราะฉะนั้นให้ทราบว่า เห็นเป็นอะไร เป็นความติดข้อง หรือไม่ แค่เห็นเป็นอะไร ยังไม่ต้องเป็นอะไรก็ติดแล้วตามความเป็นจริง และยิ่งเห็นว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง จะไม่ติดข้อง หรือ

    เพราะฉะนั้นตลอดชีวิต ไม่ใช่เฉพาะชาตินี้อายุเท่าไร แสนโกฏิกัปมาแล้วก็เป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นกว่าจะเห็นถูกตามความเป็นจริง ภาวนา อบรม ความเห็นถูกทีละเล็กทีละน้อย เพราะว่าจะเห็นผิดต่อไปทำไมอีก มีโอกาสเห็นถูกก็ควรจะเห็นถูกเพิ่มขึ้น เป็นการอบรมด้วยความมั่นคง ถ้ามีความเห็นถูกอย่างนี้ ชีวิตจะสงบ หรือวุ่นวายเป็นไปในทางอกุศล แต่ที่เห็นว่าชีวิตของแต่ละคน ถึงแม้ว่าจะได้ฟังธรรมแล้ว ก็ไม่ใช่ว่าสงบ หมดความวุ่นวาย เพราะยังเต็มไปด้วยอกุศลที่ยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท

    เพราะฉะนั้นถ้ามีความเข้าใจว่า อกุศลทั้งหมดสามารถที่จะดับได้ไม่เหลือเลย ไม่เกิดอีกเลย จะอบรมปัญญาที่สามารถที่จะเป็นอย่างนั้นไหม เมื่อไรก็ได้ แต่ต้องเป็นการรู้ ละความไม่รู้ แม้แต่เพียงทางตาทางเดียวที่กำลังปรากฏ มีสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่รู้จึงยึดถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่ตามความเป็นจริงคือธาตุที่สามารถกระทบจักขุปสาทปรากฏเมื่อจิตเห็นเกิดขึ้น ถ้าจิตเห็นไม่เกิด สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาขณะนี้ปรากฏไม่ได้ ชั่วขณะเดียวที่จิตทำทัสนกิจ เกิดขึ้นเห็นแล้วดับ แต่ไม่ปรากฏเลย ยังคงเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด

    เพราะฉะนั้นกว่าความเข้าใจจะตรง และคลายการที่เคยเข้าใจว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะว่าถ้าเป็นปัญญาต้องคลายความไม่รู้ ก่อนที่สามารถจะดับได้ ไม่ใช่ว่าไม่มีการค่อยๆ คลายเลย วันดีคืนดีก็ประจักษ์การเกิดดับ ละการยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้นผู้นั้นก็สามารถที่จะรู้กำลังของปัญญาว่า ถ้าปัญญาเพียงขั้นฟังก็คือการสะสมที่จะเห็นถูกจนกว่าจะค่อยๆ เข้าใจลักษณะจริงๆ ของสิ่งที่ปรากฏ ตามที่เข้าใจแล้ว แล้วจนกระทั่งสามารถที่จะเป็นปัจจัยทำให้ เมื่อมีการรู้ลักษณะนั้นบ่อยๆ ก็จะคลายความไม่รู้ จึงสามารถประจักษ์แจ้งความจริงได้ เพราะขณะนี้แม้สภาพธรรมเป็นอย่างนี้ แต่ความไม่รู้ปิดกั้น ไม่สามารถจะเห็นความจริง แล้วก็ยังมีความติดข้องฉาบทาไว้แน่นสนิท จนกว่าจะค่อยๆ มีปัญญาเกิดขึ้น คุณบุษกรทราบไหมว่า เป็นผู้ถูกครอบงำด้วยโลภะหนาแน่นมากแค่ไหน

    ผู้ฟัง ฟังแล้วทราบว่าหนามาก

    ท่านอาจารย์ มีทางออก ค่อยๆ มีปัญญาที่รู้จักโลภะ ค่อยๆ พ้นไปทีละน้อยมากเพราะโลภะมีกำลังที่จะไม่ให้พ้นไปโดยเด็ดขาดทันที เพียงแค่มีความเห็นถูก เข้าใจถูก โลภะยอมปล่อยให้เข้าใจถูกต่อไปอีกไหม

    ผู้ฟัง ยังไม่ยอม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องของปัญญา อย่าไปคิดเรื่องอื่นเลย จะไปหาวิธีอะไรๆ ก็ไม่ใช่ทางที่จะทำให้สำเร็จได้ ถ้าไม่เข้าใจจริงๆ และเริ่มเข้าใจแม้ในขั้นการฟัง เรื่องของสภาพธรรมที่ปรากฏ

    อ.วิชัย ลักษณะของสภาพธรรมก็มีลักษณะของตนๆ ขณะที่เข้าใจในลักษณะก็ไม่เปลี่ยนแปลง ก็เป็นลักษณะของธรรมนั้นๆ

    ท่านอาจารย์ แน่นอน แต่ว่าปัญญาจะรู้ไหม โดยที่ยังไม่รู้เลยว่าเป็นธรรม

    อ.วิชัย ยังไม่มีกำลังพอที่จะทราบ

    ผู้ฟัง ที่อาจารย์ย้ำตลอดว่า ทุกอย่างเป็นธรรม ทีนี้ในการฟังขั้นเรื่องราว หรือว่าขั้นให้เข้าใจว่า ทุกอย่างเป็นธรรม ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน หรือสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่ทราบว่าเป็นวิธีการ หรือไม่ ฟังอย่างไร

    ท่านอาจารย์ อยากใช่ไหม รู้สึกทุกคนอยากจะมีปัญญามากๆ อยากจะไม่มีโลภะ โทสะ โมหะเร็วๆ พ้นไปได้ไหม ในเมื่อเหตุยังมีอยู่มากมายมหาศาล จะไม่เห็นเลยว่านามธรรมซึ่งเกิดดับแสนโกฏิกัปมาแล้ว ส่วนใหญ่เป็นความไม่รู้กับความติดข้อง แน่นอนพูดถึงส่วนใหญ่ๆ และลองคิดถึงว่าถ้ายังคงมีโลภะอยู่ คอยดึง คอยรั้ง คอยให้ไปทางอื่น สัมมาสติมีโอกาสจะเกิดไหม เพียงชื่อ “สัมมาสติ” ก็รู้แล้วว่าเป็นอนัตตา ไม่มีใครสามารถจะบังคับบัญชาได้

    เพราะฉะนั้นส่วนใหญ่ไม่ใช่สัมมาสติ แต่ไปใช้ชื่อว่า สัมมาสติ หรือใช้ชื่อว่าสติ เพราะไปทำขึ้น แล้วจะเป็นสัมมาได้อย่างไร มีอะไรเป็นปัจจัยให้เป็นอย่างนั้น ก็คือตัวตนไปนั่งทำ แล้วก็บอกว่า เป็นสติสัมปชัญญะกำลังรู้ลักษณะของสภาพธรรม จะเป็นอย่างนั้นได้อย่างไร ในเมื่อไม่ได้เข้าใจความจริงของสภาพธรรมเลย ทุกคนฟังเรื่องธรรม อย่าเพิ่งไปคิดอยากที่จะให้ปัญญาแทงตลอดความจริง แล้วก็หมดกิเลส ฝัน ไม่จริง แล้วก็เป็นไปไม่ได้ ไม่มีเหตุที่สมควร ทุกอย่างที่เป็นความจริง ต้องเข้าใจว่าความจริงนั้นเป็นอย่างหนึ่ง แต่โลภะไม่เห็นความจริงนั้น เพราะฉะนั้นก็อยากแล้ว โลภะอยู่ตรงไหนไม่ยากเลย มาอยู่ตลอดเวลาโดยไม่รู้ตัว แต่พระธรรมเพื่อละโลภะ ลองคิดดู ธรรมฝ่ายตรงกันข้าม ถ้ายังไม่ละโลภะเพราะยังไม่มีปัญญา แล้วอะไรจะนำชีวิต นอกจากสิ่งที่มีมานานแสนนานมากมายสะสม ก็ต้องเกิดขึ้นเป็นไป ที่จะทำให้ชีวิตดำเนินไปในทางตรงกันข้ามกับความเห็นถูก ออกจากห้องนี้ไปแล้วจะทำอะไรบ้าง ก้าวเท้าออกไปจะทำอะไร

    ผู้ฟัง จริงๆ คือไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ จริงๆ ไม่รู้ แต่เมื่อกี้นี้กำลังอยู่ในห้อง อยากมีปัญญามากๆ อยากหมดโลภะ แต่เพียงก้าวออกไปอยาก หรือไม่ นี่ก็แสดงให้เห็นว่าความจริงต้องเป็นความจริง ความรู้ถูกเท่านั้นที่เป็นหนทางเดียวที่จะละความไม่รู้ และการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ไม่ใช่หาวิธีอย่างที่ถามกันแล้วถามกันอีก วิธีคือผิด

    ผู้ฟัง ในขณะซึ่งเราต้องการ คือโลภะ เราก็ฝึกที่จะรู้ลักษณะ หรือเจริญ คือรู้จักสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวก่อน ไม่ต้องอะไรหมด เข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง แล้วทุกอย่างก็เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย จะก้าวเท้าออกไปเป็นอะไรได้ก็คือตามเหตุตามปัจจัย แต่ขณะนี้ที่กำลังฟัง เข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง แล้วก็ไม่ใช่หวังด้วยว่า ความเข้าใจอันนี้จะทำให้เราเกิดสติปัฏฐาน รู้อะไรมากๆ นั่นคือผิดอีก ไม่เห็นโลภะ ไม่รู้จักโลภะ ไม่รู้กำลังของโลภะเลย จนกว่าปัญญาจะเกิด เพราะเหตุว่าไม่ว่าเราจะใช้ชื่อธรรมอะไรก็ตาม มิจฉาทิฏฐิ สักกายทิฏฐิ อัตตานุทิฏฐิ โลภะ โทสะ อิจฉา มัจฉริยะ อะไรก็ตามแต่ ทุกๆ ชื่อ จำเป็นต้องใช้เพื่อแสดงความหลากหลายของความเป็นจริงของธรรม

    เพราะฉะนั้น ชื่อมากมาย เพราะอะไร เพราะธรรมหลากหลาย แค่ความต้องการก็หลากหลายมากแล้ว ว่าคนหนึ่งต้องการอะไร อีกคนหนึ่งต้องการอะไร ต้องการดอกไม้อะไร คุณสุรีย์ จะให้สักดอกจะเอาดอกอะไร

    ผู้ฟัง เอาดอกกุหลาบ

    ท่านอาจารย์ เห็นไหม เพราะฉะนั้นชื่อจึงมีเยอะ แม้แต่เพียงแค่ดอกไม้ ก็มีชื่อมากมาย แล้วก็ยังเปลี่ยนชื่อเสียอีก ชื่อเก่าก็ไม่ชอบ ก็เปลี่ยนเป็นชื่อใหม่ แม้แต่ดอกไม้ก็ยังเปลี่ยนชื่อ นี่แสดงให้เห็นว่า อะไรทำให้เป็นอย่างนั้น ตลอดชีวิตทั้งหมด ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม พ้นจากโลภะได้ไหม แต่ไม่เห็นเลย แล้วก็จะไม่เห็น เพียงแต่ได้ยินชื่อ และรู้จักชื่อ เรียกชื่อ จะรู้จักธรรมจริงๆ เมื่อสติสัมปชัญญะเกิด

    เพราะฉะนั้นใครก็ตามที่ไม่รู้จักคำนี้ และไม่รู้จักสภาวะธรรมนี้ ไม่มีทางที่จะรู้จักธรรม เพราะเหตุว่าเพียงแต่ได้ยิน แล้วก็สับสนเอาชื่อไปใช้ แต่ว่าความจริงก็เป็นสิ่งที่ไปพยายามทำให้เกิดเป็นอย่างนั้นด้วยความเป็นตัวตน

    เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงถึงสภาพธรรมที่เป็นอนัตตาที่เป็นสัมมาสติ ถ้าใครคิดว่าจะทำสติ จะเจริญวิปัสสนา รู้ลักษณะของสติ หรือไม่


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 168
    11 ม.ค. 2567