พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 378


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๗๘

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๐


    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นที่ท่านอาจารย์บอกว่า อยู่อย่างชีวิตประจำวันทุกวัน วนเวียนอยู่ ๓ อย่าง วิบาก กรรม กิเลส อยู่ในวัฏฏะ คำว่า อยู่ในชีวิตประจำวันของคนที่เป็นปุถุชน ตื่นมาก็ดูแลร่างกาย ถ้าเสาร์อาทิตย์ก็มาฟังธรรม วันธรรมดาก็ไปทำธุระเท่าที่มี ซึ่งเป็นชีวิตประจำวันที่เป็นธรรม อภิธรรม จะมีชีวิตประจำวันที่ต่างไปจากนี้ หรือไม่ หรือว่าธรรมก็คือจริงๆ ในชีวิตประจำวัน

    ท่านอาจารย์ ไม่มีตัวตน ลืมไม่ได้เลย ฟังธรรมเพื่อให้รู้ว่าเป็นธรรม จะเปลี่ยนสภาพธรรมที่สะสมมาที่จะปรุงแต่งให้ขณะจิตแต่ละขณะจิตเกิดขึ้นเป็นไปของแต่ละคนได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ แต่ให้รู้ตามความเป็นจริงเมื่อสิ่งนั้นเกิดแล้ว เพราะมีเหตุปัจจัยที่ได้สะสมมา

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นในการศึกษาพระธรรม ต้องให้เข้าใจว่า ธรรมก็เป็นอย่างนี้ จริงๆ อย่างนี้ แต่ตัวรู้กับตัวไม่รู้ ปัญญารู้กับไม่รู้เท่านั้น

    ท่านอาจารย์ เข้าใจถูกต้องว่า สิ่งนี้เกิดแล้วตามเหตุตามปัจจัย

    ผู้ฟัง คือต้องอบรมปัญญาให้พิสูจน์ได้ว่าเป็นจริง หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ให้เห็นความเป็นธรรม ซึ่งไม่ใช่เราทำ แต่มีปัจจัยก็เกิดขึ้นเป็นไป ถ้าเข้าใจอย่างนี้ จะไปคิดทำอะไร หรือไม่

    ผู้ฟัง คือตั้งแต่ฟังมาก็รู้ว่า เป็นอนัตตา ทำอะไรไมได้เลย นอกจากอบรมเจริญปัญญา แล้วก็เป็นจิรกาลภาวนา

    ท่านอาจารย์ ให้เห็นว่าเป็นธรรม ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา ต้องมีเหตุปัจจัย

    ผู้ฟัง แล้วใจร้อนไม่ได้ด้วย ต้องค่อยๆ อบรมไป เหมือนจับด้ามมีด ยังไม่เห็นว่าสึก

    ผู้ฟัง ยังไม่เข้าใจเรื่องทิฏฐิเจตสิก ความเห็นผิด อย่างสมมติว่าเราเห็นเก้าอี้ ก็คือจิตคิดถึงเก้าอี้ และมีความพอใจในการเห็นเก้าอี้ด้วย การที่เห็นเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้ว จะมีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วย หรือไม่

    ท่านอาจารย์ พระพุทธเจ้ายังเห็นว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด คือเป็นสัตว์บุคคล หรือไม่

    ผู้ฟัง ยังเห็น

    ท่านอาจารย์ แต่ไม่มีความเห็นผิด และดับกิเลสหมด แต่สัญญา ความจำ การเกิดดับสืบต่อของสภาพธรรม ก็รู้ว่า สิ่งนั้นสมมติบัญญัติว่าอะไร

    ผู้ฟัง เวลาที่เราเห็นเป็นเก้าอี้ ก็คือเราไม่รู้การเกิดดับของสภาพธรรมด้วยซ้ำว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นแทนที่เราอยากจะรู้ชื่อ และรู้ว่าขณะไหน เดี๋ยวนี้คุณแสงธรรมเห็นอะไร

    ผู้ฟัง เห็นหลายๆ อย่าง เห็นเก้าอี้

    ท่านอาจารย์ เห็นหลายอย่าง ก็คืออีกนานกว่าจะบอกว่าเห็นอะไร หลายๆ ๆ ๆ ก็เลยไม่รู้ว่าอะไร

    ผู้ฟัง ยังสงสัยว่า ความเห็นผิดที่เป็นสัตว์ บุคคล คืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นตอบได้ไหมว่า ขณะนี้มีเห็น และเห็นอะไรตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง ตามความเป็นจริงต้องเห็นสิ่งที่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ แต่เดี๋ยวนี้ที่กำลังเห็น เห็นอะไร

    ผู้ฟัง เห็นพี่เข็ม

    ท่านอาจารย์ เที่ยงไหม ยั่งยืนไหม อยู่ตรงนี้ ไม่ได้หายไปไหน ไม่ได้เกิดดับด้วย อยู่อย่างนี้แหละ

    ผู้ฟัง ไม่

    ท่านอาจารย์ แสดงว่าเห็นถูกแล้ว ไม่ต้องศึกษา

    ผู้ฟัง ยังไม่เห็นถูกแบบนั้น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นการศึกษาไม่ใช่ให้เราไปคิดเรื่องราว แต่ทุกคำที่ได้ยิน ต้องมีความเข้าใจขึ้นในสิ่งที่มีจริง ที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่ไปแสวงหาชื่อ ไปแสวงหาตัวอย่าง ไปแสวงหาเหตุการณ์ ถ้าอย่างนั้นก็ไกลกันมากกับการรู้จักธรรม เพราะแม้แต่จะใช้ธรรม หรือพระอภิธรรม หรือปรมัตถธรรม รู้จัก หรือยัง หรือรู้แต่ชื่อ ทั้งๆ ที่สภาพธรรมที่เป็นธรรม ที่เป็นอภิธรรม ที่เป็นปรมัตถธรรมกำลังปรากฏ จึงฟังให้เข้าใจขึ้น จนกว่าจะสามารถประจักษ์ความจริงของสภาพธรรมนั้นได้ เพราะว่าทุกคนติดในเรื่องราวมากเหลือเกิน โดยไม่รู้ว่า เรื่องราวมาจากไหน ต้องมาจากสิ่งที่ปรากฏ แต่ผู้ไม่รู้ก็คิดว่า สิ่งที่ปรากฏปรากฏยั่งยืน ไม่มีการเกิดดับเลย เพราะฉะนั้นจึงจำแล้วก็เป็นเรื่องเป็นราวมากมาย กว่าจะค่อยๆ เข้าใจลักษณะของธาตุแต่ละอย่าง ซึ่งเป็นธรรม ซึ่งเป็นปรมัตถธรรม ก็จะต้องมีความเข้าใจถูกต้องในสิ่งที่กำลังฟัง แม้ว่ายังไม่ประจักษ์อย่างนั้น แต่ก็รู้ความจริงก็คืออย่างนั้น

    เพราะฉะนั้นก็ต้องแยกความรู้ขั้นฟังกับความรู้ขั้นไตร่ตรอง เข้าใจขึ้น กับความรู้ขั้นอบรม กำลังรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ จนกว่าสามารถที่จะหยั่งถึงสภาพที่แท้จริง ซึ่งมีลักษณะแต่ละลักษณะปรากฏที่สั้น เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้นพื้นฐานพระอภิธรรมก็คือให้รู้ว่า ขณะนี้เป็นธรรม และไม่ใช่ว่าเราไปติดเรื่องราว แต่ต้องเป็นคนที่ตรง เพราะฉะนั้นขณะนี้คุณแสงธรรมเห็นอะไร

    ผู้ฟัง เห็นพี่เข็ม

    ท่านอาจารย์ ดับไหม

    ผู้ฟัง ไม่ดับ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นมีความเห็นว่ายั่งยืนไหม

    แสงธรรม มีอยู่

    ท่านอาจารย์ มีความเห็นว่าเป็นตัวคนไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ นั่นคือความเห็นผิด แต่ถ้ามีความเข้าใจขึ้น ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ขณะนั้นก็ค่อยๆ คลายความเห็นผิด เพราะฉะนั้นก็เป็นผู้ตรง อย่าลืม แม้คำเดียวซึ่งได้ยินต้องตรง สิ่งที่ปรากฏทางตา สิ่งที่เห็นแล้วด้วยจักขุวิญญาณ ทางจักขุทวาร เห็นแล้วนะ สิ่งที่เห็นแล้วจะเป็นอื่นไม่ได้เลย เพียงปรากฏให้เห็น เพราะฉะนั้นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา จักขุวิญญาณเห็นแล้ว เป็นเรา หรือเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ นี่คือความละเอียดที่จะต้องรู้ว่าแป็นปัญญาจริงๆ จนกว่าไม่มีเราในสิ่งที่ปรากฏทางตา ลองคิดดู ฟังเพื่อให้ค่อยๆ เข้าใจว่า ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏ ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏสามารถกระทบจักขุปสาทแล้วปรากฏ แล้วดับไป

    เพราะฉะนั้นจึงไม่มีเราในรูปารมณ์ ในสิ่งที่ปรากฏเลย เมื่อไรเป็นอย่างนี้ในสิ่งที่ปรากฏทางหู ก็เช่นเดียวกัน ไม่มีเราในเสียง ไม่มีเราในกลิ่น ไม่มีเราในรส ไม่มีเราในเย็น ไม่มีเราในร้อน ในอ่อน ในแข็ง ในตึง ในไหว จิต ๑ ขณะเกิดขึ้น เจตสิกแต่ละลักษณะต่างกัน ทำกิจการงานหน้าที่ของเจตสิกแต่ละอย่าง ไม่มีเราในเจตสิกแต่ละประเภท ความรู้สึกเกิดขึ้นเป็นความรู้สึก ไม่มีเราในความรู้สึกนั้น เป็นแต่สภาพที่รู้สึก ขณะที่มีการจำได้ สภาพจำ ไม่มีเราในความจำ สภาพจำเป็นธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นจำแล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้นจึงไม่มีเราทั้งในจิต ในเจตสิก ในรูป เมื่อไรที่ไม่มีเราในทั้งหมดนี้ ก็ไม่ต้องมีการเกิดอีก เพราะไม่มีเรา แต่เดี๋ยวนี้เป็นอย่างนั้น หรือไม่ เมื่อไม่เป็นก็ทราบว่า ทั้งๆ ที่ฟังเรื่องลักษณะของสภาพธรรม ความจริงก็เป็นอย่างนี้เอง แต่การสะสมของความไม่รู้กับการยึดถือมากมายมหาศาล จนกระทั่งต้องฟังอีกนานเท่าไร ไม่ต้องกังวล เพราะเป็นเรื่องของปัญญาเท่านั้น เป็นเรื่องของปัญญาจริงๆ ถ้าไม่มีความรู้จริงๆ ไม่มีประโยชน์ที่จะฟังพระธรรม เพราะว่าเป็นเราอยู่ตลอดเวลา แล้วทั้งๆ ที่ทรงแสดงว่า ไม่มีเรา แต่มีธรรม ก็มีความเป็นเราอยากจะฟัง เราอยากจะรู้ ทำอย่างไรเราถึงจะประจักษ์แจ้ง นั่นคือไม่ได้ฟังให้เข้าใจว่า ธรรมเป็นธรรม

    เพราะฉะนั้นประโยชน์ของการฟัง ฟังเพื่อให้เข้าใจสิ่งที่กำลังได้ยินได้ฟัง และขณะนั้นแม้มีความเข้าใจก็ไม่ใช่เรา เป็นการสะสมสืบต่อของสภาพธรรมฝ่ายดี ซึ่งมีความเข้าใจมากขึ้น วันหนึ่งก็สามารถประจักษ์ความจริงของสภาพธรรม แต่ด้วยความรู้ และการละ ถ้าตราบใดยังติดข้องต้องการ ก็ปิดกั้นทันที ฉะนั้นไม่ใช่แค่ถาม แต่ขณะนี้เริ่มเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม แล้วปัญญาเวลาที่มีความเห็นผิดเกิดขึ้น เห็นลักษณะของความเห็นผิด ไม่ต้องไปแสวงหา ไม่ต้องไปคิดถึง ในขณะที่สภาพนั้นปรากฏจึงรู้

    อ.วิชัย ความเห็นผิดคือทิฏฐิ ใช่ไหม เห็นผิดอย่างไรถึงเรียกว่าเห็นผิด

    ผู้ฟัง ที่เข้าใจคือเห็นไม่ตรงตามความเป็นจริง

    อ.วิชัย และที่เห็นตรงตามความเป็นจริงคืออย่างไร

    ผู้ฟัง คือสัมมาทิฏฐิ

    อ.วิชัย ก็ต้องเข้าใจว่า โดยสภาพของความเห็น ขณะที่ชอบสีสวย มีความเห็นผิดไหม

    ผู้ฟัง ไม่มี

    อ.วิชัย โดยสภาพของทิฏฐิ ก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ความติดข้องพอใจก็เป็นสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง หรือโลภะเกิดขึ้นบางครั้งก็ไม่มีทิฏฐิเกิดร่วมด้วย แต่เมื่อทิฏฐิเกิดต้องเกิดพร้อมกับโลภะ ความติดข้องยินดีพอใจ สภาพของความเห็นผิด คือขณะที่มีความเห็นว่าเที่ยง ว่าเป็นตัวตน ในสิ่งที่ปรากฏขณะนั้นว่า เที่ยง หรือว่าเป็นตัวตน ขณะที่เราจำได้ว่าเป็นบุคคลนี้ ไม่มีความเห็นใดๆ ที่จะมีความลงเห็นไปว่ามีตัวตน มีบุคคลจริงๆ แต่ขณะใดก็ตามที่มีความเห็นอย่างนั้น คือ มีความเห็นว่า มีตัวตนจริงๆ เพราะเหตุว่าเป็นสภาพตรงกันข้ามกับความเห็นถูก เมื่อปัญญาเกิดรู้จริงว่า ขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง แต่บุคคลเมื่อสั่งสมจะมีความเห็นผิดเกิดขึ้น ขณะนั้นก็มีความเห็นว่าเป็นตัวตน หรือมีความเห็นว่าเที่ยง

    ผู้ฟัง เวลาที่เราทำการงานต่างๆ เราก็เพลินไปกับงาน ถ้ามีใครมาถามว่าเที่ยง หรือเปล่า เราก็ตอบว่าเที่ยงอยู่ ไม่ทราบว่า เป็นลักษณะของความเห็นผิดที่เกิดขึ้นใช่ไหม

    อ.วิชัย ที่ว่าเที่ยง อะไรเที่ยง

    ผู้ฟัง ถ้ามีคนมาถามว่า สิ่งนี้ไม่เกิดดับ จริง หรือไม่ เราก็ตอบว่า ยังเห็นว่าเที่ยงอยู่ คล้ายๆ กับว่าแยกลักษณะโลภะธรรมดา กับโลภะที่มีทิฏฐิประกอบด้วย หรือไม่

    อ.วิชัย ต้องเข้าใจว่า สนทนากับบุคคลที่ศึกษา เมื่อเรากล่าวแล้วบุคคลนั้นสามารถเข้าใจได้ไหม แต่เราคงมีความเข้าใจว่า ทุกอย่างเป็นธรรม ถ้าถามว่าสิ่งใดเที่ยง ก็ต้องคิดใช่ไหม เพราะว่าไม่มีสิ่งใดที่เที่ยง ถ้าเป็นสังขารธรรม ฉะนั้นสิ่งที่ปรากฏทุกอย่างเกิดดับ จะคิดว่าขณะเมื่อสักครู่นี้ดับแล้ว หมดแล้ว แล้วก็มีการเกิดขึ้นใหม่ ถ้าเราคิดว่าเที่ยง ก็ต้องพิจารณาว่าสิ่งใดที่เที่ยง เป็นความเที่ยงจริงไหม แม้ในขั้นของการพิจารณา แต่เมื่อเป็นการเจริญความรู้ความเข้าใจให้ยิ่งๆ ขึ้นไป จนสติสามารถระลึกได้ในสภาพธรรมที่ปรากฏ ก็จะค่อยๆ รู้ว่า จริงๆ ที่สำคัญว่ามี ก็คือเที่ยง ก็ไม่รู้ แต่เมื่อมีความเข้าใจขึ้น ก็จะมีความเข้าใจที่เจริญขึ้น แต่ยังไม่ประจักษ์ความไม่เที่ยง เพราะเหตุว่าสภาพธรรมยังไม่ปรากฏ ความเข้าใจต้องค่อยๆ เจริญขึ้น ฉะนั้นความเห็นถูก หรือปัญญาก็ต้องค่อยๆ เจริญขึ้น

    อ.อรรณพ ที่จริงเราศึกษาพื้นฐานอภิธรรม จะเป็นประโยชน์ทำให้เรามีความเข้าใจชัดเจน และมีคำตอบในขั้นคิดพิจารณาของตัวเองได้ คุณแสงธรรมลองพิจารณาดูว่า ขณะใดที่ไม่มีความเห็นถูก ขณะนั้นต้องมีความเห็นผิด หรือไม่ อันนี้ก็เป็นคำตอบแล้ว โลภมูลจิตมี ๒ คือ ประกอบด้วยความเห็นผิด ๔ ดวง และไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด ๔ ดวง เพราะฉะนั้นไม่ใช่ขณะที่เราเห็นเป็นคน เป็นสัตว์ โดยเรารู้สมมติว่าเป็นสัตว์ จะต้องมีความเห็นผิดเสมอไป ไม่ใช่ เพียงแต่ว่าถ้าเป็นผู้ที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์ โดยเฉพาะปุถุชนที่ยังไม่ได้เป็นพระโสดาบัน มีโอกาสที่จะเกิดความเห็นผิดว่า มีจริงๆ คน มีจริงๆ เก้าอี้ ไหนใครบอกว่าเป็นธรรม พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่าเป็นธรรมแต่ละอย่าง แต่ว่าคนฟัง ฟังธรรมแล้วเข้าใจธรรมในขั้นฟัง ขั้นพิจารณานิดหน่อย แล้วบางคนฟังมาตั้งหลายปี พวกเราก็ฟังกันมาเยอะ แต่ถึงเวลาก็ลืมว่าเป็นธรรม อย่างที่ท่านอาจารย์ท่านเตือนบ่อยๆ ว่า ฟังธรรมแล้วก็ลืมว่าเป็นธรรม เราฟังว่าเป็นธรรมแต่ละอย่าง เพราะฉะนั้นความเป็นตัวเราก็เข้ามาตลอด แต่จริงๆ แล้วความรู้ขั้นปริยัติ ก็พอจะให้เราพิจารณาได้ว่า ไม่ใช่ว่าขณะใดไม่มีความเห็นถูก ขณะนั้นต้องเป็นความเห็นผิดเสมอไป ไม่ใช่แบบนั้น

    เพราะฉะนั้นจิตที่ประกอบด้วยความเห็นถูก คือ ปัญญาก็มี จิตที่ประกอบด้วยความเห็นผิด คือ ทิฏฐิก็มี ซึ่งจะเป็นโลภทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ในขณะที่เป็นโลภะ แต่ว่าเป็นโลภทิฏฐิคตวิปปยุตต์ก็มีอยู่เยอะในชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้นเห็นคนที่สนิทกัน ชอบไหม (ชอบ) ก็โลภทิฏฐิคตวิปปยุตต์ แต่ถ้าเป็นพระอรหันต์ ท่านก็เห็นคน รู้ว่าท่านนี้เป็นใคร แต่จิตของท่านไม่เป็นกุศล ไม่เป็นอกุศล

    ท่านอาจารย์ คุณแสงธรรมอยากจะให้คนอื่นเขาบอกคุณแสงธรรมว่า ขณะนี้คุณมีจิตที่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย หรือว่าคุณแสงธรรมจะสามารถรู้ได้ด้วยตัวเองว่า ขณะนี้เป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้นเราเรียนเรื่องธรรม ชื่อมากมาย ทรงแสดงไว้โดยประการทั้งปวง แต่ถ้าเป็นผู้ที่ตรง ทรงแสดงไว้มากมายด้วยประการทั้งปวง ๔๕ พรรษา แล้วเราก็ได้ยินได้ฟังบางส่วน เริ่มเข้าใจไหมว่า ขณะนี้เป็นธรรม

    เพราะฉะนั้นยังไม่ได้เข้าใจธรรมขณะนี้ ไปหาทิฏฐิเจตสิกอย่างไรก็ไม่เจอ ใช่ไหมแต่จากการที่เราค่อยๆ เข้าใจธรรม อบรมเจริญปัญญา รู้ลักษณะของสภาพธรรม เวลาที่สภาพธรรมมีจริงๆ โดยสติเกิด รู้ลักษณะนั้นเมื่อไร เมื่อนั้นไม่สงสัยในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ในชื่อมากมาย คือ เจตสิก ๕๒ และจิต ๘๙ แต่ว่าโดยลักษณะจริงๆ ก็เป็นสภาพรู้ แม้เป็นธรรมเพียงเท่านี้ แต่ทรงแสดงโดยนัยประการต่างๆ ตามความเป็นจริง โดยความเป็นขันธ์ โดยความเป็นธาตุ โดยความเป็นอายตนะ ใครจะสามารถแสดงสิ่งที่มี ที่ยากที่จะรู้ ด้วยคำที่ทำให้คนอื่นสามารถเริ่มค่อยๆ เข้าใจขึ้น จนกระทั่งสามารถที่จะประจักษ์แจ้งได้ แต่ต้องตามลำดับ

    เพราะฉะนั้นไม่ใช่เราใจร้อน พอได้ยินคำไหน ก็อยากเข้าใจ เขาว่าอายตนะ และอายตนะคืออะไร มีเท่าไร เขาว่าขันธ์ ขันธ์เป็นอะไร มีเท่าไร เขาว่าธาตุมีอะไร เป็นเท่าไร ถ้าโดยลักษณะนั้นก็คือว่า ไม่ได้เข้าใจธรรม และไม่รู้ด้วยว่า ทรงแสดงธรรมเพื่อให้คนฟังเกิดปัญญา ความเข้าใจถูกของตนเอง ไม่ต้องถามใคร แต่ไตร่ตรองจากสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง พิจารณา และสนทนาเพื่อความเข้าใจขึ้น แต่ไม่ใช่ให้คนอื่นมาบอก และขณะนี้มีทิฏฐิเกิดร่วมด้วย หรือไม่ และเมื่อไรจะมีทิฏฐิเกิดร่วมด้วย ไม่ใช่อย่างนั้นเลย แต่ให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง เพื่อว่าแม้เดี๋ยวนี้ เพียงกำลังเห็น รู้ หรือไม่ว่า เป็นธรรม แล้วก็ได้ยินได้ฟังว่าไม่ใช่ตัวตน และถ้าเป็นปัญญาก็สามารถรู้ตามความเป็นจริงว่า ไม่มีเราในสิ่งที่กำลังปรากฏนี้เลยทางตา เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ไม่มีเราในจิตที่กำลังเห็นสิ่งนี้ด้วย ไม่มีเราในเจตสิกทั้งหมดที่เกิดร่วมกับจิตแต่ละขณะ

    เพราะฉะนั้นถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้จริงๆ จึงไม่มีเราในโลกไหนๆ เมื่อนั้นก็ดับความเห็นผิดได้ แต่ตราบใดที่ยังไม่รู้อย่างนี้ ก็สะสมความไม่รู้ และการยึดถือสภาพธรรมโดยไม่รู้ตัว ขณะไหนมีทิฏฐิเกิดร่วมด้วย ขณะไหนมีโลภะ ขณะไหนมีผัสสะ ขณะไหนมีเวทนา ขณะไหนมีสัญญา ก็ไม่สามารถรู้ได้ เพียงแต่จำชื่อ คิดถึงชื่อ และก็ลืมสนิทว่า ศึกษาธรรมเพื่อเข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ จนกว่าจะประจักษ์แจ้ง เพราะฉะนั้นก็คงไม่ฟังเพื่อถามให้คนอื่นตอบว่า เราเป็นอย่างไร แต่ฟังเพื่อจะเข้าใจสภาพธรรมที่ปรากฏ ทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าจะเพิ่มขึ้น รับรองได้ว่า ฟังเรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตามานานมาก ขณะนี้รู้ลักษณะที่เป็นธรรม ไม่มีสัตว์ บุคคล ไม่มีอะไรเลยในสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา หรือยัง คำตอบ ทุกคนก็ตอบได้ ใช่ไหม ตอบเองไม่ต้องไปถามคนอื่น หรือให้คนอื่นเขาบอก

    ผู้ฟัง ปัตตรูป ซึ่งหมายความว่า เป็นรูปที่มาถึงตัวแล้วถึงจะรู้ ทำให้เห็นว่า ถ้าอย่างนั้นกลิ่นก็ต้องมาถึงตัวถึงจะรู้ได้ รสก็ต้องมาถึงตัวถึงจะรู้ได้ ผัสสะก็ต้องมาถึงตัว ถึงจะรู้ได้ แต่ได้ยินไม่เห็นจะต้องมาถึงตัวแต่ก็เหมือนกับได้กลิ่น ถึงกายจริงๆ แล้วสัมผัสแล้วจริงๆ

    ท่านอาจารย์ เรื่องคิดมาก กับเรื่องรู้มาก เหมือนกันไหม รู้จริงๆ อย่างนั้น หรือไม่ว่า คิดมาก แล้วเวลารู้จริงๆ เป็นอย่างนั้น หรือไม่ สามารถจะรู้ถึงคำที่ทรงแสดงความต่างของสิ่งที่ปรากฏใน ๖ ทวาร

    ผู้ฟัง ก็พยายามคิดตาม คิดว่าเข้าใจขึ้นโดยอรรถ เข้าใจขึ้น และเห็นชัดขึ้น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเราสามารถเข้าใจลักษณะที่เป็นรูปธรรม และนามธรรม หรือยัง จนกระทั่งสามารถรู้ความต่างของอารมณ์ อย่างที่ทรงแสดงไว้

    ผู้ฟัง ยังไม่ไกลถึงขนาดนั้น

    ท่านอาจารย์ ยังไม่ไกลก็ตั้งต้น โดยการรู้สิ่งที่ปรากฏ ถ้าเรามัวแต่คิดมาก เราก็ใช้คำว่าอะไร กระเจิดกระเจิง กระจัดกระจายไปเรื่อยๆ ทางโน้นบ้าง ทางนี้บ้าง แต่สิ่งที่ปรากฏจริงๆ ที่ฟัง เมื่อไรจะรู้ เพราะฉะนั้นแสดงให้เห็นว่า การศึกษาธรรมมีหลายรูปแบบ บางคนศึกษาอย่างวิชาการทางโลก มีตำราเยอะ เพียงคำเดียว ค้นหาจากที่ต่างๆ วิจัย วิจารณ์ วิเคราะห์ทุกอย่าง ซึ่ง ณ บัดนี้ก็มีผู้ที่กำลังอยากจะรู้ลักษณะของจิต เป็นระดับของมหาวิทยาลัยโลกก็ว่าได้ ก็รวบรวมผู้รู้ทั้งหลายมาแสดงความสามารถ การวิเคราะห์ การค้นคว้าเพื่อที่จะเข้าใจลักษณะของจิต แสดงว่าเขาไม่สามารถเข้าถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง แม้แต่สภาพธรรมที่ได้ทรงแสดงไว้โดยประการทั้งปวง ซึ่งสามารถที่จะเข้าใจได้ทันที ถ้ามีการฟัง ไตร่ตรอง และเข้าใจสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏ อย่างเห็น มีสิ่งที่ปรากฏ แต่สิ่งนั้นที่เราคิดว่าเราเห็น เข้ามาถึงจักขุปสาท กระทบกายตรงนั้น ส่วนของกาย แล้วก็มีจักขุปสาท แล้วสิ่งนั้น เช่น ผง หรืออะไรก็ตามแต่เข้าไปสู่ตรงจุดนั้น เห็นไหม (ไม่เห็น)

    นี่ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า พระธรรมที่ทรงแสดง ทรงแสดงความจริง แต่ไม่ได้หมายความว่า เราต้องเอามาไตร่ตรอง แล้วก็เอามาคิดว่า มันเป็นอย่างนั้นทางนี้ ทางโน้นเป็นอย่างนี้ ทางนี้เป็นอย่างนั้น โดยที่ว่า แม้สภาพธรรมจะเป็นจริงอย่างนั้น แต่การจะรู้ในความเป็นอนัตตา ความเป็นธรรมซึ่งไม่ใช่ตัวตน อันไหนมีประโยชน์กว่า แล้วเราจะรีรอไปเที่ยวหาทฤษฎีต่างๆ แล้วก็มาประมวล แล้วก็มาสรุปให้เห็นตรงกันอย่างนี้ นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าอย่างนั้น เป็นสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์เลย แต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ แม้สิ่งที่ปรากฏทางตาขณะนี้กำลังปรากฏ ไม่มีคน ไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดในสิ่งที่ปรากฏทางตาเลย เป็นแต่เพียงธาตุชนิดหนึ่ง เห็นไหม ไม่ต้องไปกล่าวว่า ไกลใกล้แค่ไหน อย่างไร แต่เมื่อกระทบจักขุปสาท จิตเห็นเกิดขึ้น สิ่งนี้จึงปรากฏ เมื่อไรไม่มีใครเลยในสิ่งที่ปรากฏ ไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลยในสิ่งที่ปรากฏ เมื่อนั้นไม่มีตัวตน ไม่มีเรา ไม่มีใครในโลกไหนๆ ทั้งหมด

    เพราะฉะนั้นถ้าค่อยๆ อบรมความเข้าใจในความเป็นอนัตตา ก็จะรู้ได้ว่า ตำรับตำราทั้งหลายก็เพียงแต่ให้คิดไตร่ตรอง แต่ไม่สามารถจะเข้าถึงลักษณะของสภาพธรรม ถ้าไม่ได้ทรงแสดงลักษณะของสภาพธรรมว่า จิตเป็นธาตุรู้ หรือเป็นสภาพรู้ ไม่ต้องไปใช้คำอะไรมากมายเลย ขณะนี้กำลังเห็น หมายความว่าขณะนั้นที่เห็น กำลังรู้ว่า สีที่ปรากฏเป็นอย่างนี้ เป็นสภาพรู้ในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ นี่ก็เป็นเรื่องที่เราไม่จำเป็นต้องไปนั่งคิดอย่างนั้น แต่ให้เห็นความจริงว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องสิ่งที่มี และไม่เคยเห็นว่า เป็นธรรม ไม่เคยเข้าใจ ก็ควรที่จะรู้ว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ไม่ว่าสิ่งนั้นจะปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

    ผู้ฟัง กราบเรียนถามท่านอาจารย์ถึงธาตุรู้


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 168
    10 ม.ค. 2567