พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 368


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๖๘

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๐


    ท่านอาจารย์ เวลาที่มีปัญญาเพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยให้มีการระลึกลักษณะของสภาพธรรม เมื่อนั้นเราก็สามารถรู้ขณะที่ต่างของขณะที่หลงลืมสติกับขณะที่สติเกิด และเริ่มรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมทีละเล็กทีละน้อย จนกระทั่งสามารถหมดความสงสัยในสภาพที่เป็นนามธรรม และรูปธรรมตามลำดับขั้นของปัญญา ที่เป็นการแทงตลอดลักษณะของสภาพธรรม

    เพราะฉะนั้นไม่ใช่เรื่องใจร้อนจะไปรู้รูปนั้นรูปนี้ เพราะมีรูปนั้นรูปนี้ที่กล่าวไว้ตรงนั้นตรงนี้ ไม่ใช่เลย เป็นความค่อยๆ เข้าใจขึ้น และรู้ว่า ขณะที่กล่าวถึงสภาพธรรมที่เป็นอภิธรรมโดยละเอียด ก็เพื่อกว่าจะคลายความเป็นเราได้ จากที่ไม่รู้เลย ที่จะเป็นตัวตนไปแยกกลาปออกจากกันก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ด้วยความเป็นตัวตน

    ผู้ฟัง แม้ว่ามีความมั่นคงในสิ่งที่ฟัง

    ท่านอาจารย์ มีความเข้าใจขึ้น รู้ว่าสิ่งนั้นถูกต้อง

    ผู้ฟัง อย่างที่ท่านอาจารย์จะยกตัวอย่างว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา ท่านอาจารย์ก็อธิบายอย่างละเอียดว่า เราเห็นนิมิตของเขา เพราะเกิดดับเร็ว แต่จริงๆ ถ้าเราสามารถรู้ได้ ถ้ามีปัญญารู้ได้ ก็จะเห็นว่า เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตาแล้วก็ดับไปจริงๆ แล้วก็มีอะไรสลับเกิดดับ

    ท่านอาจารย์ เเต่ยังไม่ต้องไปถึงขั้นนั้นเลย เพียงแต่ว่า ณ บัดนี้ เดี๋ยวนี้ "เห็น" แล้วก็เข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะที่กำลังฟัง เริ่มเข้าใจบ้าง หรือยัง

    ผู้ฟัง ที่ต่างก็คือเห็น ได้ยิน ก่อนฟังก็ไม่เคยทราบว่า เป็นธรรมอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า สติยังไม่เกิดเลย กับสติเกิดนี่ต่างกัน แม้ว่าขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏ แล้วก็ไม่ได้ไปที่อื่นเลย มีสิ่งนี้ และกำลังมีสิ่งนี้ แต่ว่าปัญญาแค่ไหน

    ผู้ฟัง ก็ต้องทราบว่า ปัญญายังรู้ไม่ได้ แต่ความจริงมีให้พิสูจน์ตลอดเวลา

    ท่านอาจารย์ จึงใช้คำว่า “เป็นหนทางเดียว” เมื่อสภาพธรรมมี แล้วไม่รู้ตรงลักษณะนั้น ไม่มีทางที่จะคลายความไม่รู้ และความสงสัยในสภาพธรรมนั้นได้ ขณะใดก็ตามที่สติเกิด แม้เพียงเล็กน้อยแล้วก็ดับไป อวิชชากับการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนที่สะสมมามากมายเนิ่นนาน ขณะนั้นมีปัจจัยจะเกิดแล้ว จะไม่ให้เกิดได้ไหม ไม่มีทางเลย แต่พอเกิดแล้ว กว่าจะรู้ว่าแม้สติขณะนั้นก็เป็นอนัตตา ก็ลองคิดดูจากอวิชชาที่สะสมมา และความเป็นเราก็มีมากมาย และสติก็เกิดขึ้นเพียงเล็กน้อย ทั้งๆ ที่มีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมทีละเล็กทีละน้อยนิดๆ หน่อยๆ กว่าจะหมดการยึดถือสภาพธรรม แม้สติ และโพธิปักขิยธรรมว่าเป็นเรา ต้องไม่เหลือเลย และจะรู้ได้ด้วยว่า ขณะที่กำลังค่อยๆ เข้าใจ กำลังจางความยึดถือ เป็นปกติเพิ่มขึ้น โดยที่ถ้ามีความเป็นตัวตนที่กำลังพยายามอยู่ ก็หมดทางอีก

    ผู้ฟัง เมื่อฟังแล้วก็มีจิตอนุโมทนา รู้สึกซาบซึ้งในพระคุณมากๆ แต่ในขณะเดียวกัน ก็รู้สึกว่า ปัญญาน้อย อวิชชาเยอะ

    ท่านอาจารย์ เพราะหวังใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่ ไม่ตามฐานะ และตามกำลังปัญญา

    ท่านอาจารย์ จากการที่ไม่ได้ฟัง แล้วได้ฟัง แล้วก็เข้าใจขึ้น ก็เป็นหนทางเดียว ไม่ได้ให้ไปทำอะไรให้ลำบากเดือดร้อนเลย ปกติ และเข้าใจตามความเป็นจริง และรู้ว่าที่เป็นอย่างนี้จะเป็นอย่างอื่นได้อย่างไร แค่ฟัง และจะให้รู้มากๆ ให้ดับกิเลสได้ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย

    ผู้ฟัง มีคำถามจากท่านผู้ฟังฝากถามคุณอรรณพว่า ท่านผู้ฟังเข้าใจว่า โคจรรูป ก็คือขณะที่รูปเกิดขึ้นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และเกิดขึ้น ดับไปตลอดเวลา เรารวมเรียกรูปพวกนี้ว่า โคจรรูป นี้คือเป็นความเข้าใจของเขา ส่วนวิสยรูป ก็คือรูปที่เป็นอารมณ์ จะเกิดขึ้นขณะที่เป็นอารมณ์ จะเริ่มรู้ว่า รูปเกิดขึ้นทีละ ๑ ขณะ โดยไม่ได้เที่ยวไป หรือรวมๆ กันเหมือนในขณะนี้ แต่ถ้าเป็นอารมณ์จะรู้เพียง ๑ อย่างที่กำลังปรากฏโดยไม่รวมกัน เข้าใจถูก หรือไม่

    อ.อรรณพ เมื่อศึกษาธรรม เราจะได้ยินข้อความ หรือได้ยินส่วนของข้อความ หรือคำหลากหลาย เรารู้ว่า รูป ก็เป็นสภาพธรรมที่เกิดแล้วดับ ได้ยินคำว่า การเกิดดับของรูป ความไม่เที่ยง และอีกมากมาย ทีนี้โคจรรูป ก็คือรูปที่เป็นที่เที่ยวไปของจิต นี่คือที่ท่านแปล ก็หมายความว่า จิตเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ต้องมีสิ่งที่จิตรู้ คือ อารมณ์ รูปที่เป็นอารมณ์ของจิตอยู่เสมอ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และรวมถึงการสืบต่อเป็นอารมณ์ถึงใจด้วย ก็มีอยู่ ๗ รูป ก็คือ สี เสียง กลิ่น รส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง และไหว

    ขอให้พี่เข็มช่วยทวนข้อความแรก จำได้ว่า ท่านผู้ถามเข้าใจว่า โคจรรูป ก็คือการเกิดขึ้นของรูป ใช่ไหม

    ผู้ฟัง รูปขณะที่เกิดขึ้นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอยู่ตลอดเวลา รวมๆ กันเรียกรูปพวกนี้ว่า โคจรรูป

    อ.อรรณพ ถ้าเป็นอย่างนั้น รูปทุกรูปต้องเป็นโคจรรูปหมด เพราะรูปทุกรูปก็มีการเกิดขึ้นแล้วดับไป ส่วนจะเป็นอารมณ์ของจิตของท่านใด ทางไหนนั้น ก็แล้วแต่รูป แล้วแต่ลักษณะความละเอียด ความหยาบของรูปนั้น แล้วแต่การที่ปัญญาของแต่ละท่านจะรู้ เพราะฉะนั้นการเกิดของรูป นั่นคือลักษณะขณะที่รูปนั้นเกิดขึ้น เป็นลักษณะของรูป หรือลักขณรูปในขณะที่เกิดขึ้น นั่นคืออุปจยรูป ที่ท่านแสดงไว้สำหรับลักขณรูป หรือลักษณะของรูป คือ รูปที่มีลักษณะสภาวะจริงๆ ก็มีสภาพที่ก่อตัวขึ้น นั่นเป็นอุปจยรูป สันตติรูป ชรตารูป และขณะที่ดับไป เป็นอนิจจตารูป เพราะฉะนั้นขณะที่รูปเกิดขึ้น ท่านก็แสดงลักขณรูป ๔ อยู่แล้ว แต่โคจรรูป ก็คือรูปที่เป็นที่เที่ยวไปของจิต หรือเป็นวิสยรูป คือ เป็นอารมณ์อยู่เสมอทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เพราะฉะนั้นบางทีเรานำมาปนกัน คือ รูปทั้งหมดเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ถ้าเราใช้ข้อความว่า การเกิดขึ้นของรูป และดับไปของรูป เป็นโคจรรูป แบบนี้ก็จะไม่ชัดเจน

    ผู้ฟัง ขออนุญาตท่านอาจารย์ ในขณะที่เป็นอารมณ์ ก็จะรู้ได้ทีละหนึ่งขณะ ส่วนโคจรรูป ก็คือรูปที่ท่องเที่ยวหมุนเวียนไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั่นคือการศึกษาเริ่มต้น พื้นฐานต้องเข้าใจอย่างนี้ถูกต้อง หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ธรรมเป็นเรื่องที่ค่อยๆ เข้าใจให้ถูกต้อง อย่างรูปที่เกิดทางตา ถูก หรือผิด

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนี้ผิด

    ท่านอาจารย์ มีไหมรูปที่เกิดขึ้นทางตา

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ รูปเกิด ปรากฏ หรือไม่ปรากฏ รูปไม่รู้เลย มีสมุฏฐานให้รูปเกิด รูปก็เกิด แต่ว่ารูปใดที่เกิดแล้วกระทบกับจักขุปสาท รูปนั้นไม่ได้เกิดทางตา แต่ว่ารูปนั้นเกิดแล้วกระทบกับจักขุปสาท แล้วเมื่อกระทบแล้วโดยกรรมเป็นปัจจัยให้จักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่กระทบ ทั้งหมดเป็นอายตนะมีอยู่ที่นั่น เพราะฉะนั้นขณะใดก็ตามที่จิตกำลังรู้รูป เพราะว่าในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็จะมีรูป คือ สี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งสามารถกระทบกับแต่ละทวาร หรือปสาทรูป เช่นสิ่งที่ปรากฏทางตาจะเกิดเพราะกรรม จะเกิดเพราะจิต จะเกิดเพราะอุตุ จะเกิดเพราะอาหาร มีสมุฏฐานให้เกิดเมื่อไรต้องเกิด เพราะว่าเลือกไม่ได้ มีสมุฏฐานแล้วก็เกิด แล้วแต่ว่าจะกระทบ หรือไม่กระทบกับปสาทรูป

    เพราะฉะนั้นรูปทางตาที่ขณะนี้ปรากฏ หมายความว่ารูปนั้นเกิดแล้ว แล้วก็กระทบกับจักขุปสาท แล้วจิตเห็นก็เกิดขึ้นเห็น ขณะนั้นจิตเห็นรูปที่สามารถจะเห็นได้รูปเดียวใน ๒๘ รูป รูปทั้งหมดมี ๒๘ แข็ง มองไม่เห็นเลย รส ก็มองไม่เห็นเลย กลิ่น ก็มองไม่เห็นเลย แต่ในบรรดารูป ๒๘ รูป มีเพียงรูปเดียวที่ปรากฏให้เห็นได้ ๑ รูป เพราะฉะนั้นจะใช้คำว่า วิสยรูป คือ รูปที่สามารถจะเป็นอารมณ์ที่จิตสามารถจะรู้ได้ ใช้คำว่า “วิสยรูป” เป็นวิสัย เป็นรูปที่จิตสามารถจะรู้ได้ ๗ รูป

    เพราะฉะนั้นจะใช้คำว่า “วิสยรูป” หมายถึงรูปซึ่งเป็นอารมณ์ตามวิสัย แต่โดยความหมาย ก็ในบรรดารูปทั้งหมด รูป ๗ รูปเป็นอารมณ์ คือ จิตสามารถจะรู้รูปเหล่านี้ได้ เช่นในขณะนี้สิ่งที่ปรากฏทางตา จิตกำลังเห็น เป็นรูป ๑ ใน ๗ ที่จิตสามารถจะรู้ได้ทางตา เป็นโคจรรูป เพราะเดี๋ยวก็จะเห็นอีก หรือเดี๋ยวก็จะได้ยิน คือไม่พ้นจาก ๗ รูป แต่ละรูปที่ปรากฏเป็นอารมณ์ของจิตได้เป็นโคจรรูป จิตไม่ได้เที่ยวไปทางอื่นเลย เกิดขึ้น บางทีเรียกว่า "โคจรรูป" จร แปลว่า ไป โค ไปทางไหน ไปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เป็นสำนวนที่จะให้เข้าใจ แต่ไม่ได้หมายความว่า ตัวโคที่กำลังท่องเที่ยว

    การฟังธรรม ฟังเพื่อให้เข้าถึงความหมายที่ทรงแสดงไว้ เพื่อให้รู้ว่า ที่ใช้คำนั้น หมายความถึงจิตที่ท่องเที่ยว คือ รู้อารมณ์ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ไปประเทศไหนๆ จะพ้นจากอารมณ์ที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจได้ไหม สวรรค์ก็มีสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย นรกก็มีสิ่งที่ปรากฏเป็นอารมณ์ได้ รูปที่ปรากฏเป็นอารมณ์ได้ ก็มี ๗ รูป ฉะนั้นได้ยินคำว่า วิสยรูป หรือ โคจรรูป ถ้าเราจะไม่เป็นคนที่เคร่งครัดในภาษา ในไวยากรณ์ หรือในอะไร เราก็สามารถเข้าใจได้ว่า หมายความถึงรูปที่เป็นวิสัย หรือเป็นอารมณ์ของจิตที่จิตสามารถรู้รูปเหล่านี้ได้จริงๆ ปรากฏจริงๆ ให้เห็นได้จริงๆ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจให้ถูกต้อง โคจรรูป วิสยรูป มี ๗ ถ้ามีจำนวนก็ชัดเจนเลยว่า แค่ ๗ รูปนี้เท่านั้น ในบรรดารูปทั้งหมดที่สามารถจะเป็นอารมณ์ของจิตในวันหนึ่งๆ เพราะเดี๋ยวก็เห็น เดี๋ยวก็ได้ยิน เดี๋ยวก็ได้กลิ่น เดี๋ยวก็ลิ้มรส แล้วแต่ว่าอารมณ์ใดจะปรากฏ ไม่พ้นไปจาก ๗ รูป

    ผู้ฟัง แสบที่ลูกตา เป็นร้อน หรือไม่

    ท่านอาจารย์ รูปธรรมคืออะไร

    ผู้ฟัง คือความแสบ

    ท่านอาจารย์ ความหมายของรูป หรือธรรมที่เป็นรูปคืออะไร

    ผู้ฟัง สภาพที่ไม่รู้

    ท่านอาจารย์ ไม่รู้อะไรเลย ไม่รู้สึกด้วย รูปเจ็บไหม

    ผู้ฟัง รูปไม่เจ็บ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นแสบเป็นรูป หรือไม่

    ผู้ฟัง แสบไม่ใช่รูป แล้วแสบเป็นอะไร

    ท่านอาจารย์ รู้สึก

    ผู้ฟัง เป็นความรู้สึก

    ท่านอาจารย์ มีจริงๆ หรือไม่

    ผู้ฟัง มีจริง

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่มีจริง และเป็นสภาพรู้ ไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นแสบนี่เป็นอะไร

    ผู้ฟัง เป็นเย็น หรือร้อน อ่อน หรือแข็ง ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ เย็นนั่นเป็นรูป เย็นไม่รู้อะไรเลย ร้อนก็ไม่รู้อะไรเลย แข็งก็ไม่รู้อะไรเลย จะเอาอะไรไปกระทบแข็ง แข็งก็ไม่รู้สึก

    ผู้ฟัง สุดท้ายแค่รู้แสบ ก็เหลืออยู่แค่ ๒ คือ จิตกับเจตสิก

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่รู้แสบ ลักษณะที่แสบ ความเเสบมีไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ รูปรู้สึกแสบได้ไหม

    ผู้ฟัง รูปรู้สึกแสบไม่ได้ แสบก็เป็นแสบ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นแสบเป็นอะไร เมื่อไม่ใช่รูป

    ผู้ฟัง ก็ต้องเป็นนาม

    ท่านอาจารย์ นี่ตอบโดยคิดใช่ไหมว่าเมื่อไม่ใช่รูป ก็เป็นนาม แต่ความรู้สึกขณะนั้นมี เปลี่ยนไม่ได้เลย ลักษณะที่รู้สึก ไม่ต้องใช้คำว่า “เวทนา” ไม่ต้องใช้คำว่า “นามธรรม” ไม่ต้องใช้คำว่า “แสบ” กำลังมีแสบให้ค่อยๆ เข้าใจ จนกว่าจะถึงกาละที่รู้ว่าแสบเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ไม่ใช่แข็ง ไม่ใช่ร้อน ไม่ใช่ไหว ไม่ใช่ตึง นั่นแหละจะรู้สึกแสบด้วยตัวเอง ตำราจะมากางสักเท่าไร ก็ยังไม่รู้จักแสบใช่ไหม ยังตอบผิดๆ ถูกๆ ว่า เเสบเย็น หรือแสบร้อน หรือแสบแข็ง แต่ความจริงไม่ใช่เลย จนกว่าสภาพนั้นปรากฏ แล้วลักษณะนั้นปรากฏซึ่งต่างกับลักษณะที่แข็ง เพราะว่าแสบไม่ใช่แข็ง

    ผู้ฟัง แสบเป็นอาการรู้

    ท่านอาจารย์ เป็นความรู้สึกใช่ไหม แสบสบายไหม

    ผู้ฟัง ไม่สบาย

    ท่านอาจารย์ เป็นความรู้สึกที่ไม่สบายทางไหน ทางใจ หรือทางกาย

    ผู้ฟัง ทางกาย

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นความรู้สึกที่ไม่สบายกาย มีแน่นอน ต้องอาศัยกายปสาท ความรู้สึกนั้นจึงเกิดได้

    ผู้ฟัง แล้วอณูที่ทำให้เราแสบ เป็นรูป หรือไม่

    ท่านอาจารย์ สภาพที่ไม่ใช่สภาพรู้ มองเห็น หรือมองไม่เห็นทั้งหมดเป็นรูปธรรม

    ผู้ฟัง มีอีกคำถาม คำว่า “ชวนจิต” เกิดขึ้นแล้วเสพอารมณ์ ๗ ขณะ จึงนึกถึงคำโบราณ คำไทยคำหนึ่งว่า “ชั่ว ๗ ที ดี ๗ หน” ตรงนี้น่าจะเป็นอันเดียวกัน หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ที่กล่าวว่า “ชั่ว ๗ ที” เขาไม่รู้ขณะจิตหรอก เขาเพียงแต่คิดว่าชีวิตคนเรามีขึ้นมีลง จะมีสุขตลอดไปก็คงไม่ได้ มีทุกข์ตลอดไปก็คงไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าอายุยืนยาวสักเท่าไรก็ไม่รู้ว่า ๗ ที ๘ ที ก็ตามแต่ แต่ก็ใช้จำนวนที่พอจะเข้ากันได้ ก็ต้องสลับกันไป สุขบ้างทุกข์บ้าง ชั่วบ้าง ดีบ้าง

    ผู้ฟัง ก็นึกว่า สำนวนนี้มาจากพระพุทธศาสนาที่ว่า ชวนจิตเสพอารมณ์ที่เป็นกุศล หรืออกุศล

    ท่านอาจารย์ จิตเกิดขึ้นต้องทำกิจ จิตที่เกิดแล้วไม่ทำกิจใดๆ เลยมีไหม

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเวลาที่พูดก็คือ ถ้าจะรู้จักหน้าที่ของจิตแต่ละประเภท ก็รู้ว่าจิตนั้นทำกิจอะไร

    ผู้ฟัง เมื่อสักครู่ได้ฟังที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า รูปที่เกิดขึ้นทางตานั้นเป็นความเข้าใจที่ผิด

    ท่านอาจารย์ ถูกไหม

    ผู้ฟัง ก็อยากให้อาจารย์ช่วยขยายความ

    ท่านอาจารย์ ใช้คำว่า รูปเกิดทางตา หมายความถึงอะไร รูปไหน ถ้าใช้คำว่า “รูปเกิดทางตา”

    ผู้ฟัง ก็หาไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นต้องละเอียด ที่จะรู้ว่า เมื่อมีสมุฏฐานให้รูปเกิดรูปก็เกิด แต่จะกระทบปสาท หรือไม่กระทบปสาท

    ผู้ฟัง ถ้าไม่กระทบก็ไม่ปรากฏใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ จะปรากฏได้อย่างไร ถ้าไม่กระทบ แล้วถ้าจิตเห็นไม่เกิด ไม่มีทางที่สีสันวัณณะที่กำลังปรากฏขณะนี้จะปรากฏได้เลย นี่เป็นความน่าอัศจรรย์ของธรรม ใครจะคิดว่าสีมีจริง แต่จะไม่ปรากฏเลย ถ้าจิตเห็นไม่เกิดขึ้น

    ผู้ฟัง อยากจะเรียนถามท่านอาจารย์เรื่องความเห็นผิดกับความเห็นถูก

    ท่านอาจารย์ คุณสุกัญญาต้องทราบความต่างของปุถุชนกับพระอริยบุคคล ต่างกันที่ปัญญา ก่อนที่จะเป็นพระอริยบุคคล ก็มีความไม่รู้ และมีความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน แต่สำหรับพระอริยบุคคล ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็ไปเป็นพระอริยบุคคลได้ แต่มีความเห็นถูกตั้งแต่ขั้นการฟัง ฟังแล้วก็เข้าใจว่า สิ่งที่กำลังได้ยินได้ฟังมีจริงๆ ในขณะนี้ หรือไม่ แล้วก็เป็นความจริงอย่างที่ได้ยินได้ฟัง หรือไม่ นี่เป็นขั้นต้น เพราะฉะนั้นความเข้าใจ ไม่ใช่อยู่ดีๆ ไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องสภาพธรรมเลย แล้วก็จะหมดกิเลส หมดความเห็นผิด ไม่มีความเห็นผิดอีกเลย เป็นพระโสดาบัน เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย ฉะนั้นจะเห็นได้ว่า แม้สิ่งที่มีจริง การฟังก็ต้องฟังด้วยการค่อยๆ เข้าใจว่า สิ่งที่มี มีลักษณะที่แท้จริงเป็นอย่างที่ได้ยินได้ฟัง หรือไม่ ไม่ใช่ฟังแล้ว ไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ ทั้งๆ ที่สิ่งที่กำลังปรากฏก็มีอยู่ตลอดเวลา แต่ก่อนนี้ไม่เคยฟัง จึงไม่เข้าใจ แต่เมื่อได้ฟังแล้ว ไม่ใช่เข้าใจอย่างอื่นเลย เข้าใจสิ่งที่มี ที่ไม่เคยเข้าใจถูก ไม่เคยเห็นถูกนั่นเอง

    เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ เมื่อเกิดมาแล้วก็ไม่พ้นจากเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก แต่ไม่รู้เลยว่า เป็นธรรมซึ่งเกิดแล้วดับสืบต่ออย่างเร็วมาก จนกระทั่งไม่ปรากฏการเกิดขึ้น และดับไป ทำให้เหมือนกับสิ่งที่หลอกลวงว่า สิ่งนั้นเกิด และเที่ยง เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ถ้าสามารถเข้าใจจริงๆ ถึงลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏได้แต่ละทางเพราะเกิดแล้วดับสืบต่อ ก็จะทำให้เห็นตามความเป็นจริงว่า ที่เข้าใจว่าเป็นสิ่งที่เที่ยง ไม่มีอะไรเที่ยงเลย ทุกอย่างเกิดแล้วก็ดับ แต่กว่าจะรู้ความจริงอย่างนี้ ต้องอาศัยการเข้าใจขึ้นในสิ่งที่ได้ยินได้ฟังว่า กำลังฟังเรื่องสิ่งที่มี ปรากฏเดี๋ยวนี้ แต่ไม่เคยรู้ว่าเป็นธรรม

    ผู้ฟัง เรื่องลักษณะของรูปธรรม และนามธรรม แม้มีความเข้าใจว่าเป็นสิ่งที่มีความแตกต่างกัน ความเห็นถูกก็ยังไม่เกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ แล้วจะมีเมื่อไร หรือจะไม่มีเลยแม้ว่าฟังแล้ว หรือเมื่อฟังก็จะค่อยๆ เข้าใจขึ้นบ้าง ทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าความเข้าใจจะมั่นคงขึ้นว่า เป็นอย่างนั้นจริงๆ แล้วก็รู้ตามความเป็นจริงว่า ขั้นฟัง ยังไม่ใช่ขั้นประจักษ์แจ้ง แต่เมื่อประจักษ์แจ้งก็ไม่ต่างกับที่เคยได้ยินได้ฟังเลย เหมือนกันเลย ทุกคำด้วย เช่น คำว่า “ทุกอย่างเป็นธรรม” ไม่ใช่เพียงพูด แต่ปัญญาสามารถที่จะรู้ลักษณะของสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ว่าเป็นธรรม เช่น เห็นแล้วก็คิด คิดก็มี ก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า มีคิด คิดว่ามีแต่เห็น ไม่มีคิด แต่ปัญญาสามารถที่จะรู้ความต่างของขณะที่เห็นกับขณะที่คิด รู้ว่าเป็นธรรมคนละอย่าง ลักษณะต่างกัน แม้ว่าจะไม่ใช้คำว่า นามธรรม และรูปธรรม แต่ลักษณะของรูปจะเปลี่ยนเป็นลักษณะของนามธรรมไม่ได้ และลักษณะของนามธรรมก็จะเปลี่ยนเป็นลักษณะของรูปธรรมไม่ได้ เช่น กำลังหิว มีจริงๆ ไม่เคยสนใจเลย เป็นเราตลอดเวลา แต่หิวมี แล้วก็เป็นธรรม ไม่ต้องใส่ชื่อนามธรรม หรือรูปธรรม แต่ลักษณะของหิวปรากฏไหม เมื่อรู้ลักษณะของหิว ก็รู้ว่า ลักษณะนั้นต่างกับลักษณะอื่น ความต่างของสภาพธรรมนั่นเองจึงสามารถรู้ได้ว่า สภาพธรรมที่มีจริงๆ นั้น มีลักษณะที่ต่างกันเป็น ๒ อย่าง แต่ต้องมาจากการรู้ลักษณะ เช่น แข็ง ไม่ต้องเรียกอะไรเลย ไม่ต้องรู้ว่าเป็นรูปธรรม ในขณะที่กำลังมีแข็ง รู้ลักษณะที่แข็ง และต่อไปก็รู้ลักษณะของเสียง รู้ลักษณะของกลิ่น รู้ลักษณะของคิดนึก ก็เป็นสภาพธรรมต่างๆ กันไป เมื่อประมวลแล้ว ลักษณะที่ต่างก็เป็นสภาพรู้อย่างหนึ่ง และไม่ใช่สภาพรู้อย่างหนึ่ง แต่ไม่ใช่ไปฟังชื่อมาก่อน แล้วก็หา แล้วก็คิด โดยที่ไม่รู้ลักษณะจริงๆ ซึ่งเป็นอย่างนั้น

    เพราะฉะนั้นเมื่อลักษณะนั้นเป็นรูป จะรู้ได้เมื่อไร ไม่ใช่พอแข็งปรากฏ แล้วให้มีคนมาบอกเราว่า เป็นรูป แต่ความแข็ง สภาพแข็งมีจริงๆ ไม่ต้องเรียกอะไรก็ตามแต่ ต่างกับลักษณะที่รู้ลักษณะที่แข็ง ในขณะที่แข็งปรากฏ เพราะฉะนั้นสภาพหนึ่งเป็นสภาพที่รู้ความแข็ง ที่แข็งกำลังปรากฏ ส่วนแข็งไม่รู้อะไรเลย ใครจะรู้ หรือไม่รู้ แข็งก็คือเป็นแข็ง เพราะฉะนั้นธรรมมี แต่ต้องพิจารณาโดยละเอียด และค่อยๆ เข้าใจขึ้น ถ้าเราข้ามตรงนี้ และอยากจะรู้ชื่อมากๆ รู้เรื่องเยอะๆ ทั้งๆ ที่ไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ได้ยินแล้ว และมีปรากฏด้วย แต่ว่าไม่ได้รู้ลักษณะจริงๆ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 168
    10 ม.ค. 2567