พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 388


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๘๘

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๐


    ท่านอาจารย์ ขณะนี้ใครรู้ว่า มีภวังค์คั่น ไม่รู้ แต่ความจริงเป็นอย่างนั้น ก็แยกให้รู้ว่า ขณะใดก็ตามซึ่งยังไม่ได้อาศัยทวารหนึ่งทวารใดเกิดขึ้น จิตนั้นเกิดขึ้นทำกิจดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนั้น เพื่อที่ต่อไปวิถีจิตจะได้เกิดตามกรรม และการสะสม วันหนึ่งๆ ก็มีทั้งจิตประเภทที่เป็นวิบาก เป็นผลของกรรม และจิตที่เป็นกรรมที่จะทำให้วิบากเกิดต่อไปข้างหน้า ก็คือให้เข้าใจว่าเป็นธรรม จนกว่าจะไม่ใช่เรา ชื่อลำบากมาก หรือ ภวังคจิต ไม่ลำบากหรอก ภว + อังค จิตที่เกิดขึ้นดำรงภพชาติ หลับสนิท ไม่มีอะไรปรากฏเลย ก็ยังคงมีจิตที่ดำรงภพชาติอยู่ ภวังคจิตอาศัยทวาร หรือไม่ (ไม่อาศัย) นี่คือเริ่มเข้าใจแล้ว ค่อยๆ เข้าใจธรรมไปเรื่อยๆ

    อ.วิชัย พูดถึงปัญญาในขั้นการฟัง ปัญญาซึ่งก็ต่างกับขณะที่สติเกิด แล้วก็ปัญญารู้ตรงในลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งเป็นคนละระดับกัน ก็อยากถามการเกื้อกูลกันของปัญญาขั้นการฟัง ซึ่งเริ่มค่อยๆ เข้าใจขึ้น กับการเกื้อกูลกันที่จะให้ถึงปัญญาที่รู้ตรงลักษณะของสภาพธรรม จะเกื้อกูลอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ส่วนใหญ่เราจะไม่เห็นความหวัง ถูกต้องไหม มาเมื่อไร อย่างเงียบๆ ก็เป็นปกติ เพราะว่าสะสมมานาน แต่ตามความเป็นจริงต้องเข้าใจว่า การศึกษาธรรมเพื่อละ เพราะฉะนั้นไม่ได้มุ่งหวังว่า เราฟัง แล้วต่อไปสติปัฏฐานเราจะเกิด มีหนทางทำให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เพราะว่านี่คือหวังซึ่งแอบแฝงอยู่ โดยที่ไม่รู้เลย เพราะฉะนั้นถ้ามีความเข้าใจว่า ความไม่รู้มากมายมหาศาล และไม่สามารถละกิเลสใดๆ ได้เลย ถ้ายังคงไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง และยังคงเข้าใจว่าเป็นเรา หรือเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะฉะนั้นการฟังธรรมต้องฟังโดยละเอียด ต้องเป็นผู้ละเอียดจริงๆ ที่จะรู้ว่า เป็นความจริงอย่างนั้น หรือไม่ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงให้เห็นสิ่งซึ่งไม่มีใครรู้ คือ ตัวโลภะ ความติดข้อง และความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม

    เพราะฉะนั้นในขณะที่ฟัง ฟังเพื่อเข้าใจถูก เพื่อเห็นถูกเพราะรู้ว่ากว่าจะเข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่ใช่เพียงเล็กน้อย นิดหน่อย แล้วก็มีความหวัง ความต้องการที่จะรู้เร็วๆ หรือรู้เมื่อไร หรือเมื่อไรจะรู้ทีละเล็กทีละน้อยก็จริง แต่ให้มากกว่าที่หวัง คือ แม้ว่าจะเข้าใจว่าทีละเล็กทีละน้อยอย่างยิ่ง เช่น การจับด้ามมีด ก็ยังหวังเกินกว่านั้นอีก คล้ายๆ กับว่าจับด้ามมีดนี่ไม่รู้สึกเลยว่า ขณะนี้แต่ละคนกำลังได้ฟังธรรม แต่มีความเข้าใจธรรมที่กำลังปรากฏแค่ไหน แต่ว่าธรรมที่กำลังปรากฏเป็นเครื่องพิสูจน์ การฟังธรรม ไม่ใช่เพื่อให้คนอื่นรู้ แต่การฟังธรรมเพื่อเข้าใจจากการฟังซึ่งเป็นปัญญาของตนเอง อันนี้ต้องพิจารณาจริงๆ ว่า ถ้าฟังแล้วมีความเข้าใจ เราสามารถรู้ได้ โดยที่คนอื่นก็ไม่สามารถบอกได้ว่า เรารู้แค่ไหน

    เพราะฉะนั้นในขณะนี้เป็นธรรมแน่นอน เรามีความมั่นคงที่จะรู้ว่าเป็นธรรม หรือว่าฟังก่อน แล้วก็เริ่มเข้าใจว่า ตลอดชีวิตที่เข้าใจว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แท้ที่จริงเป็นความละเอียดยิ่งของธรรมแต่ละลักษณะ ซึ่งเกิดขึ้น และดับไปสืบต่ออย่างรวดเร็ว ถ้าไม่ใช่ความเข้าใจจริงๆ โดยละเอียด โดยรอบคอบเพื่อละ ไม่มีทางที่จะรู้ความเป็นจริงของสภาพธรรมในขณะนี้ได้ เพราะฉะนั้นแม้แต่การฟัง เลิกคิดว่า แล้วเราจะไปทำอย่างนั้น หรือเราจะไปทำอย่างนี้ เมื่อไรสติสัมปชัญญะเราจะเกิด นั่นคือเรื่องหวัง ซึ่งไม่รู้ด้วยว่า ขณะนั้นเป็นโลภะ เป็นความติดข้อง เพราะฉะนั้นฟังจริงๆ เพื่อเข้าใจสิ่งที่มี เริ่มเข้าใจแม้แต่คำว่า “ธรรม” คือ สิ่งที่มีเดี๋ยวนี้แหละ ลึกซึ้ง ละเอียด อาศัยพระปัญญาคุณที่ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมี จึงสามารถที่จะประจักษ์แจ้งความจริงของสภาพธรรม ซึ่งดูเหมือนเป็นธรรมดาในชีวิตประจำวัน

    อ.วิชัย ในขณะที่ฟังพระธรรมแล้วพิจารณาตาม แล้วมีปัจจัยให้สติเกิดว่า เป็นลักษณะของนามธรรมที่พิจารณา ก็หมายความว่า จากการฟังแล้วก็ปรุงแต่งให้สติสามารถจะเกิด ซึ่งถ้าไม่มีเหตุปัจจัย ก็เป็นเพียงเริ่มคิด พิจารณา ไตร่ตรอง โดยที่ไม่มีสติเกิดเลย และสติที่เกิดขึ้นหมายความว่ามีปัจจัยจากขั้นการฟังที่จะให้สติเกิด

    ท่านอาจารย์ แน่นอน เพราะว่าถ้าเราไม่ฟัง ขณะนี้จะไม่รู้เลยว่า กำลังเข้าใจแม้เพียงเรื่องราว ก็ไม่ใช่เรา แต่เป็นโสภณธรรมทั้งหมดซึ่งมีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย นี่กว่าจะรู้ความจริงก็ต้องละเอียด ฟังเพื่อที่จะละความไม่รู้ เพื่อที่จะเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะที่กำลังฟัง เพราะเหตุว่าการที่จะเข้าใจธรรม จะเข้าใจธรรมไหนที่ไม่ปรากฏ หรือจะเข้าใจธรรมที่เป็นธรรม แต่ไม่รู้ว่าเป็นธรรม แม้ว่ากำลังปรากฏ คือฟังแล้วก็ไม่ลืม มีลักษณะของธรรมที่ปรากฏจริงๆ แม้แต่เสียงก็จริง คิดก็จริง สิ่งที่ปรากฏทางตาก็จริง เห็นก็จริง คือไม่เป็นอื่นจากการที่จะเข้าใจสิ่งที่กำลังมีจริงในขณะนี้ เพราะว่าแม้จะได้ยินได้ฟัง ก็เป็นความเข้าใจจากการจำสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง แต่เดี๋ยวนี้สภาพธรรมปรากฏให้ผู้ที่กำลังฟังสามารถที่จะรู้จักตัวเองตามความเป็นจริงว่า เห็นว่าเป็นธรรมอย่างหนึ่ง หรือยัง เพราะฉะนั้นเราก็จะพูดถึงสิ่งที่ปรากฏในขณะที่ฟัง มีเห็น มีได้ยิน มีคิดนึก มีสุข มีทุกข์ มีอ่อน มีแข็ง มีทุกอย่าง ทุกคนรู้ว่ามีทุกอย่าง แต่ขณะนี้ที่กำลังมี มีความเข้าใจถูกในสิ่งที่ปรากฏ หรือยัง

    อ.วิชัย ที่ท่านอาจารย์แสดงบ่อยๆ ว่า สติเกิดระลึกรู้สิ่งที่กำลังปรากฏอยู่ ขณะที่ฟังบ่อยๆ เตือน ขณะนั้นก็ปรุงแต่งให้ความเข้าใจที่จะให้สติระลึกใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้ามีความเข้าใจถูกต้องจริงๆ จะเข้าใจความหมายของธรรม และสังขารขันธ์ เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีการฟัง และไม่มีความเข้าใจในสิ่งที่กำลังปรากฏทีละเล็กทีละน้อยจริงๆ ในขั้นการเข้าใจ ไม่สามารถจะเข้าถึงลักษณะที่เป็นธรรมขณะนี้ที่กำลังปรากฏ เพราะความจริงลักษณะนี้เป็นธรรม และก็กำลังฟังเรื่องของธรรม แล้วก็รู้ว่าขณะนี้เป็นธรรม แต่จะเห็นการสะสมอวิชชาความไม่รู้มามากมาย แม้ว่าจะฟังอย่างนี้ แล้วก็มีสิ่งที่กำลังปรากฏด้วย กว่าเราจะค่อยๆ รู้ว่า ขณะนี้ มีสิ่งที่ปรากฏ แล้วก็ไม่ได้คิดอย่างอื่นเลย ไม่ได้รู้แข็ง ไม่ได้รู้เสียง แต่ว่ากำลังมีสิ่งที่ปรากฏ

    นี่คือหนทางที่ทุกคนเริ่มที่จะเข้าใจลักษณะของสติอีกระดับหนึ่งว่า ขณะนี้กำลังมีสิ่งที่ปรากฏ เห็นไหม ทุกคนไม่ต้องไปคิดถึงเรื่องอื่นเลย อยู่ที่ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ แต่ว่าความรู้ความเข้าใจว่าเป็นธรรมอย่างหนึ่ง เริ่มคลายจากการที่เห็นว่าเป็นคน เป็นสัตว์ หรือยัง หรือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือยัง เพราะเหตุว่าการรู้ถูกก็จะทำให้เห็นความต่างกันของสภาพธรรมที่ปรากฏ กับการจำ และความคิดนึกว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ซึ่งจำมานานแสนนาน อัตตสัญญาจำว่าสิ่งที่ปรากฏ ไม่เห็นการเกิดดับเลย และก็ปรากฏเป็นนิมิต เป็นสัณฐาน ซึ่งทำให้จำไว้ บางคนก็ตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่มีโอกาสรู้ว่าเป็นธรรม

    เพราะฉะนั้นในโลกของความคิดนึก ก็จะมีสัตว์ บุคคลสะสมสืบต่อในชาติต่อๆ ไปอีกนับไม่ถ้วนเลยเหมือนที่ผ่านมา เพราะฉะนั้นขณะนี้ที่กำลังฟังให้ทราบว่า เป็นการเริ่มสะสมความเห็นถูก ไม่ต้องไปเร่งรัดว่าแล้วจะเห็นถูกเมื่อไหร่ แล้วเดี๋ยวนี้เห็นถูก หรือยัง นั่นเป็นตัวตนทั้งหมดเลย เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า กว่าจะหมดความเป็นตัวตนจากสภาพธรรมทั้งหมดไม่เว้นเลย เพราะว่าจริงๆ แล้วมีสิ่งที่ปรากฏทางตา มีเสียงปรากฏทางหู แต่ระหว่างนั้นไม่รู้เลยว่ามีธรรมอะไรบ้างซึ่งเกิดดับก่อนเห็น และได้ยิน ซึ่งปรากฏเสมือนว่าพร้อมกัน นี่แสดงถึงความไม่รู้ และระหว่างนั้นที่ไม่รู้ก็ต้องเป็นเรา เพราะฉะนั้นกว่าจะสติเกิด แล้วก็ค่อยๆ รู้ลักษณะของสภาพธรรม ก็จะเห็นได้ว่า เป็นการเพียงเริ่มรู้บางลักษณะ และไม่ใช่ด้วยความจงใจ ไม่ใช่ด้วยความต้องการ แต่จะรู้ลักษณะของสัมมาสติ เพราะว่าธรรมที่สะสมมา โดยเฉพาะโลภะ เป็นธรรมที่หลอกลวง ทำให้เห็นเป็นอย่างหนึ่งอย่างใด แล้วก็มีความติดข้องพอใจในสิ่งนั้น

    เพราะฉะนั้นถ้ายังคงไม่รู้ความละเอียดว่า ล้อมรอบด้วยโลภะอยู่ในกรงของกิเลส ถ้าเราเป็นผู้ที่ไม่รอบคอบ เราก็ไม่สามารถที่จะพ้นแม้แต่หนทางที่จะทำให้สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้จริงๆ กับหนทางซึ่งเป็นตัวเรา หาทางที่จะทำ หรือกำลังทำ โดยที่ไม่รู้ตัว แต่ปัญญาก็สามารถเห็นถูก เข้าใจถูก ในสภาพธรรมทั้งหมด ก่อนที่จะประจักษ์ความจริงซึ่งเกิดดับของสภาพธรรม ซึ่งก็เป็นปัญญาตามลำดับ ซึ่งจะข้ามขั้นไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นแม้ในขณะที่ฟังต้องรู้ว่า โลภะละเอียดมาก พร้อมที่จะเกิดโดยไม่มีใครรู้เลยทุกขณะ แม้ในขณะที่กำลังฟัง เพราะฉะนั้นเพียงให้ฟังให้ถูกต้อง เพื่อที่จะละความติดข้อง เพื่อที่จะละความต้องการ เพื่อที่จะเป็นผู้ตรงว่าปัญญาสามารถเข้าใจถูก เห็นถูกในความจริงของสภาพธรรมได้ แต่ต้องเป็นสัมมาทิฏฐิ แล้วก็เป็นสัมมาสติด้วย แต่ว่าถ้าไม่รอบคอบก็เป็นเราทำ เมื่อไหร่กำลังจะทำให้สติเกิดในขณะที่สภาพธรรมกำลังปรากฏ แทนที่จะค่อยๆ เข้าใจขึ้น แล้วปัญญาก็จะทำหน้าที่ของปัญญา เพราะฉะนั้นโลภะจะกั้นไม่ให้ปัญญาเจริญ โดยไม่รู้ตัวเลยว่า แท้ที่จริงความพากเพียรด้วยความเป็นตัวตน เป็นเครื่องเนิ่นช้า ไม่สามารถทำให้รู้ลักษณะของสัมมาสติซึ่งต่างกับขณะซึ่งเข้าใจว่า เป็นสติ ด้วยความคิดว่าเราทำสติ หรือเราต้องการให้มีสติ

    เพราะฉะนั้นบารมี ๑๐ ก็มีความแจ่มแจ้งขึ้น ว่าไม่ใช่เพียงชื่อว่า บารมี แต่ว่าถ้าไม่ใช่ปัญญาจริงๆ พ้นจากกรงของกิเลส หรือพ้นจากกำลังของโลภะไม่ได้ เพราะตามอยู่ตลอดเวลา แม้แต่เพียงจะพิจารณาให้ถูกต้องตามที่ฟังระดับหนึ่ง แล้วก็พิจารณาให้ถูกต้องว่า หนทางจริงๆ ไม่ใช่ใครทำ แต่จากการฟังแล้วค่อยๆ เข้าใจขึ้น ปัญญาเจริญขึ้น เป็นปัญญาที่เจริญ ไม่ใช่เราไปเจริญปัญญา แล้วเวลาที่ปัญญาเจริญขึ้น ไม่ได้เจริญรวดเร็วอย่างที่เราเห็น แต่ว่าจะค่อยๆ เข้าใจในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ในขณะที่กำลังฟัง และมีสิ่งที่ปรากฏ แม้ว่าจะไม่เป็นความเข้าใจที่ชัดเจน หรือไม่ใช่เป็นความเข้าใจที่มั่นคงว่าขณะนี้เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น แต่หนทางที่ถูกก็คือว่า ค่อยๆ สะสม ในที่สุดก็เป็นผู้ที่โลภะไม่สามารถจะชักชวนไปสู่หนทางอื่นได้ ด้วยความอดทนที่จะรู้ว่า เมื่อทุกอย่างเป็นธรรม ก็ไม่มีเรา อกุศลเกิดขึ้นทำไมเดือดร้อน เดือดร้อนก็เพราะเหตุว่าเป็นเรา

    เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่เห็นความละเอียด การฟังธรรมต้องละเอียด แล้วเป็นเรื่องของธรรม สติเกิดขณะนั้นก็เพราะเหตุปัจจัย ถ้าไม่มีการฟัง ปัญญาไม่มี ไม่สามารถให้สัมมาสติรู้ตรงลักษณะของสิ่งที่เกิดแล้วปรากฏ ซึ่งสั้นมาก แล้วก็เร็วมาก ถ้ามีความเข้าใจจากการฟังที่ถูกต้อง ไม่มีการจะไปตามกำลังของโลภะ เพราะฉะนั้นก็เป็นผู้ที่เข้าใจขึ้น แล้วก็รู้ว่า เป็นเรื่องของปัญญา ไม่ใช่เป็นเรื่องของตัวเราที่จะทำอะไรได้

    อ.วิชัย ขณะที่เป็นไปกับโลภะ ความหวัง ความต้องการ ขณะนั้นก็ไม่อาจจะรู้ได้ว่า ขณะนั้นเป็นไปกับโลภะอยู่ แต่ขณะที่ท่านอาจารย์กล่าวถึงสัมมาสติ และสัมมาทิฏฐิ การเจริญขึ้นของสัมมาสติที่จะรู้ว่า ขณะนั้นเป็นสติที่เกิดโดยเป็นสัมมาสติ เป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ สัมมาสติเป็นอนัตตา หรือเป็นอัตตา

    อ.วิชัย เป็นอนัตตา

    ท่านอาจารย์ คุณวิชัยสามารถรู้ไหมว่า ขณะต่อไปอะไรจะเกิดขึ้น

    อ.วิชัย ไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นสัมมาสติ มีปัจจัยจึงเกิด จะรู้ไหมว่า เราไม่ได้ไปทำ เหมือนกับทุกอย่างที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยทั้งหมด ต่อไปไม่มีใครรู้เลย จะได้ยิน หรือจะคิดนึก หรือว่าจะเป็นเห็น ฉันใด เวลาที่สติเกิดระลึก ทำไมจะไม่รู้ว่าขณะนั้นเพราะฟังแล้วก็รู้ว่า ทุกอย่างเป็นธรรม แล้วก็มีธรรม แต่จากการฟังแล้วยังไม่มีกำลังพอ ก็ไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม

    เพราะฉะนั้น ขณะที่สติเกิดจะต่างกับขณะที่ใช้คำว่า “หลงลืมสติ” ซึ่งหมายความว่าสติสัมปชัญญะไม่ได้เกิด ไม่ใช่สติปัฏฐาน ไม่ใช่ที่ตั้งของการรู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะว่าสติไม่ได้เกิดขึ้นรู้ตรงนั้น สภาพของนามธรรมเป็นสภาพรู้ทั้งหมด นามธรรมที่เกิดขึ้นต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่ว่านามธรรมก็มีทั้งจิต และเจตสิก ซึ่งจิตเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ แต่ว่าสติไม่ใช่จิต สติเป็นสภาพที่ทำหน้าที่ระลึก เราไม่ต้องไปแปล ว่าขณะนั้นระลึก แต่กำลังรู้ เพราะเป็นสภาพรู้ กำลังรู้ตรงลักษณะที่มี ที่เกิดแล้วในขณะนี้ที่กำลังปรากฏ ถ้ามีความเข้าใจว่า ขณะนั้นเป็นการรู้ ไม่เหมือนกับขณะที่มีลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ แล้วก็หมดไปๆ โดยไม่รู้ลักษณะนั้น แต่ขณะนั้นกำลังรู้ตรงนั้น จะเรียกว่าอะไร หรือไม่เรียกว่าอะไร แต่ความจริงจะเกิดขึ้นอย่างนั้นได้ ต่อเมื่อรู้ว่าเป็นธรรม มิฉะนั้นจะไม่มีการรู้เลยว่า ขณะนั้นก็เป็นลักษณะของธรรม และความจริงทั้งหมดที่ได้ฟัง ไม่เปลี่ยนทุกคำที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงจากการทรงตรัสรู้ความจริงของสภาพธรรม เพราะฉะนั้นถ้าเป็นสัมมาสติจริงๆ ก่อนนั้นมีสัมมาสติ หรือไม่ ก่อนสัมมาสติเกิด

    อ.วิชัย ยังไม่มี

    ท่านอาจารย์ ยังไม่มี แล้วมี แล้วหามีไม่ นี่คือการฟังเหมือนธรรมดา แต่เวลาที่ปัญญารู้จริงก็รู้อย่างนั้น แต่ละเอียด และชัดเจนกว่านั้น เพราะว่าขณะนี้ฟังว่าไม่มี แล้วมี แล้วหามีไม่ แต่ก็มีเยอะอยู่ตลอดเวลา ไม่เหมือนกับขณะที่ไม่มีอะไรเลยทั้งสิ้น ว่างหมดจากสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะว่าจิตเป็นสภาพรู้ หรือธาตุรู้ซึ่งเกิดขึ้นทีละ ๑ ขณะ เพราะว่าจะมีหลายๆ อย่างปรากฏเหมือนอย่างที่เรากำลังกล่าวว่า “ไม่มี แล้วมี แล้วหามีไม่” ไม่ได้ เพราะว่าอย่างอื่นก็มีปรากฏ เพราะเหตุว่าไม่ใช่ปัญญาที่อบรมถึงระดับที่จะรู้ความจริงว่า ตรงอย่างนั้น คือ สิ่งที่ปรากฏปรากฏทีละอย่าง ก่อนที่จะปรากฏต้องไม่มี แล้วมี คือเกิดขึ้น เกิดขึ้นแล้วหมดไป

    เพราะฉะนั้นการอบรมเจริญปัญญา ไม่ใช่ให้ไปทำอะไรขึ้นมารู้ผิดๆ จากขณะนี้ แต่สามารถแทงตลอดความจริงของสภาพธรรมด้วยปัญญาที่เข้าใจ ไม่ใช่พยายามหาทางทุกทางที่จะให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะเหตุว่าความลึกของความเป็นตัวตนจะหยั่งได้อย่างไร นานแสนนาน แสนโกฏิกัปป์มาแล้ว เพราะฉะนั้นการฟัง และเข้าใจทีละเล็กทีละน้อย กำลังค่อยๆ หยั่งลงไปที่จะถึงการดับอนุสัยกิเลส ซึ่งเป็นความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ด้วยความไม่รู้

    อ.วิชัย ท่านอาจารย์กล่าวถึง ความไม่มี แล้วก็มีขึ้น ความไม่มีก็หมายถึงความไม่รู้ หรือไม่ แล้วก็มี คือสิ่งที่รู้โดยสติ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ สติสัมปชัญญะเกิด จึงรู้ว่าไม่มีเสียง เพราะเป็นภวังค์ใช่ไหม แล้วก็เสียงปรากฏ เพราะเป็นวิถีจิตใช่ไหม ทุกอย่างที่เราเรียนอุปการะเกื้อกูลในขั้นการฟัง การพิจารณา ให้เห็นว่า ความละเอียดจริงๆ ของธรรม ซึ่งเหมือนปกติธรรมดาอย่างนี้ ความจริงเป็นความละเอียดมาก เพราะว่าสามารถแทงตลอดความจริงเพียงทีละ ๑ อย่าง ซึ่งในขณะนี้ไม่ได้เป็นอย่างนั้น แต่อาศัยการฟัง และเข้าใจขึ้น ละความไม่รู้ ด้วยเหตุนี้ถ้าไม่ใช่ปัญญา แล้วหวังว่าจะไปรู้ความจริงของสภาพธรรม เป็นไปไม่ได้เลย หรือว่าไม่ใช่ปัญญาที่เกิดพร้อมกับสติซึ่งค่อยๆ เข้าใจถูก เห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏขณะนี้ แล้วจะไปรู้แทงตลอดความจริงของสภาพธรรม เป็นไปไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องของความเข้าใจโดยตลอด พุทธะ ปัญญา ความเห็นถูก ความเข้าใจถูก เพราะฉะนั้นคำสอนนี้เป็นคำสอนที่จะทำให้ผู้มีโอกาสได้ฟัง เป็นผู้ละเอียดพิจารณา เป็นผู้ที่ตรงเพื่อละ ไม่ใช่เพื่อเอา เพื่อได้ เมื่อไรเรา ก็คือไม่ได้เข้าใจธรรม แม้แต่คำแรกที่กล่าวว่า ธรรม ทุกอย่างเป็นธรรม ก็เข้าไม่ถึง ก็เป็นเรามาอีก แต่จากการฟังก็มีความเข้าใจว่า แม้ว่าความจริงทุกอย่างเป็นธรรม แต่ยังไม่เห็นความจริงของธรรมนั้นๆ เพราะว่าปัญญาไม่พอ ก็ฟังเพื่อจะได้เข้าใจขึ้น แล้วก็เป็นหน้าที่ของปัญญาที่เจริญขึ้น ที่จะทำให้โพธิปักขิยธรรม คือธรรมที่จะแทงตลอดสภาพธรรมค่อยๆ เจริญขึ้นตามลำดับ แล้วไม่ต้องห่วงเลยว่า นานแค่ไหน ไม่รู้มานานแค่ไหน เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องของความรู้จริงๆ ความเข้าใจจริงๆ ขณะไหน ก็ละความไม่รู้ และความติดข้อง ขณะนี้เกือบจะไม่ทราบเลยว่า ขณะที่ได้ฟังเพื่อละโลภะ

    อ.วิชัย ยังไม่เห็นโลภะ

    ท่านอาจารย์ แต่เพื่อละโลภะ มิฉะนั้นมาอีกแล้ว มาอีกแล้ว มาอยู่เรื่อยๆ แต่ถ้ามีความมั่นคงที่จะรู้ว่า ไม่มีทางเลยที่โลภะจะนำไปสู่ความเห็นถูก ความเข้าใจถูกในสิ่งที่กำลังปรากฏได้ เป็นไปไม่ได้เลย ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้ก็เลิกที่จะไปพยายามด้วยโลภะ หรือคิดว่าต้องมีโลภะ ต้องเพียร ต้องอะไรต่างๆ ลืมปัญญา

    เพราะฉะนั้นมรรคมีองค์ ๘ ทั้งหมด พุทธะ ก็ต้องตั้งต้นจากความเห็นถูก คือ ปัญญา

    อ.วิชัย แต่มีอีกเรื่องหนึ่งที่ถามกันในเว็บไซต์ว่า จะรู้มโนทวารได้อย่างไร ขณะใด ซึ่งผมก็ได้ให้ความเห็น เป็นการสนทนา คิดว่า สภาพของวิถีจิตคือทางมโนทวารก็เป็นการรู้เรื่องราวบัญญัติ หรือว่ารู้อารมณ์ต่อจากทางปัญจทวาร เพราะฉะนั้นการที่จะรู้มโนทวาร เมื่อสติเกิดที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมที่เป็นไปในเรื่องราวของบัญญัติต่างๆ ขณะนั้นก็เป็นสภาพของนามธรรมที่รู้อารมณ์ทางมโนทวาร ซึ่งไม่ใช่ตัวมโนทวาร

    ท่านอาจารย์ แน่นอน เพราะเหตุว่าฟังเรื่องมโนทวาร เข้าใจชื่อมโนทวาร แต่ว่าขณะนี้มโนทวาร คือ ภวังคุปเฉทะ จะรู้ไหม

    อ.วิชัย ก็ไม่รู้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นไม่ใช่ฟังแล้วจะรู้ได้อย่างไร นี่คือไม่ได้แยกปริยัติว่าเป็นการที่จะต้องเข้าใจเรื่องราว แต่ไม่ใช่เป็นการจะรู้มโนทวารวิถี


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 168
    11 ม.ค. 2567