ปกิณณกธรรม ตอนที่ 652


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๖๕๒

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๔๖


    ผู้ฟัง แล้วมีอีกคำหนึ่ง รูปธรรม ถ้าไม่ปรากฏทางตาเรียกอะไร ปรากฏทางตาเรียกอะไร

    วิทยากร. ปรากฏทางตาก็สิ่งที่ปรากฏทางตา รูปธรรมมากมาย ปรากฏทางหูก็เรียกว่าเสียง ปรากฏทางจมูกก็กลิ่น ปรากฏทางลิ้นก็รส ปรากฏทางกาย เย็นบ้างร้อนบ้าง อ่อนบ้าง แข็งบ้าง ตึงไหวอะไรอย่างนี้ รูปมันไม่ได้ปรากฏ ทางตาอย่างเดียว

    ผู้ฟัง รูปธรรมหมายถึง ทั้งปรากฏทางตา หรือไม่ปรากฏก็เรียก รูปธรรม

    วิทยากร. ทั้งหมดเลย รูปทั้งหมด เรียกว่ารูปธรรม รูป ๒๘ มหาภูตรูป ๔ อุปทานรูป ๒๔ รวมทั้ง ๒๘ เรียกว่ารูปธรรม ใช่ไหม จิต เจตสิก ก็เรียกว่านามธรรม จะปรากฏหรือไม่ปรากฏ ก็ชื่อของเขาต้องเป็นอย่างนั้น ถ้าปรากฏต้องเป็นอารมณ์ ต้องเป็นอารมณ์ของ แล้วแต่ เป็นอารมณ์ของทวารไหน

    ผู้ฟัง การศึกษาให้เห็นความแตกต่าง ระหว่างทางตากับทางใจ จะศึกษาอย่างไร ทั้งๆ ที่เราก็หลับตา เราก็รู้ว่า เราคิดถึง อันนั้นเป็นสภาพนึกคิด

    ท่านอาจารย์ ลืมตา คิดหรือเปล่า ตามความเป็นจริง ธรรมเป็นเรื่องจริง

    ผู้ฟัง ลืมตาเราเห็น

    ท่านอาจารย์ ถามว่าขณะที่กำลังลืมตาอย่างนี้ คิดหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ต้องคิด เพราะว่า เห็นเป็นคนแล้ว

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น คิดไม่ใช่เห็น ขณะนี้กำลังคิดใช่ไหม แล้วก็เห็นใช่ไหม ว่าขณะนี้คิดใช่ไหม ขณะนี้เห็น ใช่ไหม เมื่อกี้นี้ก็เห็นใช่ไหม แล้วคิดเมื่อกี้นี้กับคิดขณะนี้ ต่างกันหรือเหมือนกันทั้งๆ ที่สิ่งที่ปรากฏทางตา ก็เหมือนเดิม เวลานี้ก็เห็นอย่างนี้ แต่ความคิดเปลี่ยนไปได้ไหม ทั้งๆ ที่ก็ยังเห็น สิ่งที่ปรากฏทางตาเหมือนเดิม อย่างนี้ คิดเรื่องอื่นทีละเรื่องๆ ได้ไหม เห็นก็เป็นเห็น แต่คิด นี่เปลี่ยนเป็นเรื่องๆ ได้ไหม เพราะฉะนั้น คิดกับเห็นจะเป็นอย่างเดียวกันหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ถ้าเราเห็น เราคิดแต่รูปร่างก็ เป็นคนนั้น แต่ถ้า

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องไปคิดเรื่องรูปร่างอะไรเลย ขณะนี้ธรรมดาๆ ทุกคนก็คิด ตอนนี้จะคิดเรื่องอะไร บางคนอาจจะคิดถึงเรื่องไปซื้อของ บางคนอาจจะคิดเรื่องอาหาร บางคนอาจจะคิดเรื่องบ้าน บางคนอาจจะคิดเรื่องสัตว์เลี้ยง ทั้งๆ ที่เห็นอย่างนี้ กำลังเห็นอย่างนี้เหมือนเดิม ถ้าไม่พูดถึงการเกิดดับ เห็นอย่างนี้อยู่ในห้องนี้ กำลังเป็นอย่างนั้น แต่เรื่องที่คิดเปลี่ยนไปได้เรื่อยๆ เพราะฉะนั้น คิดกับเห็น พอจะมองเห็นไหม ว่าเห็นไม่ใช่คิด แน่ เพราะเห็นก็เห็นอย่างเดิม ไม่เปลี่ยนแต่คิดเปลี่ยนไปเรื่อยๆ

    ผู้ฟัง แต่ถ้าเราเห็นเป็นคนขึ้นมาแล้ว

    ท่านอาจารย์ ก็ยังเป็นคน ยังเห็นเป็นคน แต่คิด

    ผู้ฟัง อันนั้นก็คือความคิดซ้อน

    ท่านอาจารย์ เรื่องคนนี้ หลายเรื่องก็ได้ ไม่ใช่คิดเรื่องเดียว แม้แต่เป็นคนนี้ คนเดียวกันนี้แหละ เพราะฉะนั้น ก็มีคิด มากหมายหลายอย่าง ใช่ไหม ตั้งแต่เห็น ก็คิด เป็นรูปร่างสัณฐานทรงจำ แล้วยังคิดเรื่องราวต่อไปอีกมากมาย

    เพราะฉะนั้น ระหว่างที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ จิตเกิดดับนับไม่ถ้วน เร็วแสนเร็วแค่ไหน ถ้าจะคิดถึงการเกิดดับของจิต เหมือนกับว่าเห็นก็ไม่ได้ดับ แต่ความจริงเห็นหลายวาระ สืบต่อจนเหมือนไม่ดับ แต่แม้กระนั้น ในระหว่างเห็นขณะนี้ก็ มีจิตอื่นเกิดดับนับไม่ถ้วนด้วย เห็นก็เห็นไป จิตคิดก็คิดไป แต่ว่าความจริงแล้วจิตเกิดขึ้นทีละหนึ่งขณะ

    วิทยากร. เห็นกับคิดนี้ เห็นเป็นจิต คิดเป็นเจตสิก ถ้าคุณหมอเรียนต่อไป เข้าใจเรื่องปรมัตถธรรมมากขึ้นแล้ว จะเข้าใจจิตกับเจตสิกต่างกันอย่างไร มากขึ้นแล้วจะเข้าใจว่า ขณะมีคิด คิดมันจะแทรกอยู่เรื่อย คิดกับรู้ คิดกับอย่างสติก็ระลึกรู้ แล้วคิดก็จะเป็นวิตกเจตสิก มันเป็นคนละดวง คนละหน้าที่กัน จะเข้าใจอย่างนี้มากขึ้น แล้วเรามาสังเกตชีวิตประจำวัน ว่าจริงตรงตามปรมัตถธรรม ที่พระพุทธเจ้าแสดงไหม

    ผู้ฟัง คงจะไม่ใช่คิดซ้อน เพราะว่ามันเกิดกันทีละขณะ ท่านอาจารย์ว่าอย่างไร

    ท่านอาจารย์ สลับซับซ้อน หรืออะไรก็แล้วแต่ จนกระทั่งเป็นคน เป็นโลก ทั้งๆ ที่เกิดขึ้นทีละหนึ่งขณะแล้วก็ดับไป

    ผู้ฟัง ที่พูดว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาคือสี แต่เวลาที่ เวลาอบรมรู้ลักษณะของเขาจริงๆ ท่านอาจารย์ก็กล่าวบอกว่ามันไม่มีชื่อ ตรงนี้สำคัญใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ปรมัตถธรรมมีจริง จะเรียกอะไรก็ได้ ไม่เรียกก็ได้ แต่มี แล้วก็มีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่างด้วย

    วิทยากร. ในขณะที่สติปัฏฐานเกิด คุณบง ไม่มีชื่อ ถ้ามีชื่อ ไม่ใช่สติปัฏฐาน

    ผู้ฟัง ตานี้ก่อนที่สติปัฏฐานจะเกิด เวลาที่เราอบรมตรงนี้ ถ้าเรามัวแต่ไปท่องว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาคือ สี สีตรงนี้มันก็พลาดจากการที่จะรู้ลักษณะ ของสิ่งที่ปรากฏแล้ว ใช่หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ แน่นอนอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น จึงจำเป็น ต้องเข้าใจจิต แต่ละขณะ ว่าจิตขณะใดมีอะไรเป็นอารมณ์ รู้สึกว่าคุณเริงชัยอยากจะเห็นรูปารมณ์ เป็นรูปารมณ์ใช่ไหม

    ผู้ฟัง อันนี้มันเป็นสิ่งสำคัญว่า เบื้องต้นถ้าเราเรียนยังไม่เข้าใจ ลักษณะรูปารมณ์ การที่จะอบรม ให้เข้าถึงรูปารมณ์จริงๆ ก็เป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ ถึงต้องเน้นถามตรงนี้ เพราะว่ามันเป็นแก่นธรรมในพระพุทธศาสนา สิ่งที่ปรากฏทางตา

    ท่านอาจารย์ ก็มีความเข้าใจว่าเป็นเรา ตลอดตั้งแต่ก่อนฟังพระธรรม นานแสนนานมาแล้ว จนแม้ขณะที่กำลังฟังพระธรรมขณะนี้ ก็เป็นเรา การอบรมเจริญปัญญา เพื่อละความเป็นเราหมดโดยสิ้นเชิง ที่จะรู้ตามความเป็นจริงอย่างที่ได้ฟัง ว่าเป็นธรรมแต่ละลักษณะ เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีตัวเราที่อยากจะไปรู้ เพราะว่าถ้าเป็นตัวเราที่ต้องการรู้นั่นคือฟัง แล้วก็ไม่เห็นความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม คือแม้แต่ขณะนี้ที่พูดถึงเรื่องจิต เรื่องเจตสิก เรื่องรูป ก็เพื่อที่จะให้รู้ว่าเป็นธรรมที่มีจริงแต่ละอย่างๆ ไม่ใช่เป็นเราอยากจะเห็น หรือเราอยากจะทำ เพราะว่าเป็นการอบรมเจริญปัญญา เพื่อละความเป็นเรา ในขณะที่กำลังเห็น

    ที่คุณเริงชัยถามว่า แล้วจะรู้ความจริงของเห็นได้อย่างไร ต้องขณะนั้นไม่ใช่เราที่รู้ ถ้ายังเป็นเราที่พยายามที่จะให้เห็นว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตาด้วยความเป็นเรา ขณะนั้นก็ไม่ได้ละ ความเป็นเราเลย เพราะฉะนั้น ก็ต้องทราบว่าการฟังตั้งแต่นานมาแล้ว ที่คงจะได้เคยฟังมาบ้าง ไม่ทราบกี่ชาติ และถึงแม้ในชาตินี้ การฟังทั้งหมดก็เพื่อที่จะให้ละความเป็นเรา จากทางตาที่กำลังเห็น ทางหูที่กำลังได้ยิน ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เพราะนั่นคือสัจธรรม นั่นคือความจริง

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่า มีความเป็นตัวตน ที่จะไปพยายามทำอะไรเลย แต่เป็นผู้ที่ตรง คือ รู้ว่าถ้ามีใครสักคนหนึ่งที่นี่ ที่บอกว่าสภาพธรรมขณะนี้เกิดดับ ถูกหรือผิด

    ผู้ฟัง ถ้าให้ผมอนุมาน ผมก็คงจะไม่ตรงสภาพธรรม เพราะว่าเขาใช้จำมา เขาก็พูดได้ ส่วนใหญ่ ผมฟังหลายท่านแล้ว

    ท่านอาจารย์ ถ้ามีคนที่บอกว่า เขาประจักษ์การเกิดดับ ขณะนี้ ถูกหรือผิด

    ผู้ฟัง อันนี้ผมก็ไม่เชื่อ ว่าเขาจะประจักษ์จริงๆ

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไรถึงไม่เชื่อ

    ผู้ฟัง เพราะยังไม่ได้ระลึกรู้สภาพธรรมเลย

    ท่านอาจารย์ เพราะต้องมีเหตุ ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ ถ้าคนนั้นไม่มีเหตุ สมควรแก่ผล แล้วจะบอกว่าได้ประจักษ์ การเกิดดับของสภาพธรรมเป็นไปไม่ได้

    ถ้าคนนั้นยังไม่รู้ลักษณะของสติสัมปชัญญะ แล้วก็ไม่รู้ว่าขณะที่สติเกิด ระลึกลักษณะของสภาพธรรม ขณะนั้นจึงเป็นขณะที่ปัญญา สามารถเข้าใจลักษณะของสิ่งที่สติระลึก ไม่ใช่ ยังไม่มีอะไรเลย ก็เกิดว๊อบแว๊บขึ้นมา เพราะว่าตั้งหลายคนที่เขาก็เป็นอย่างนี้ แล้วเขาก็บอกว่าเขาประจักษ์แล้ว ลักษณะของสภาพธรรมเป็นอย่างนี้ แต่ขณะนั้นไม่มีเหตุที่สมควรแก่ผล คือไม่ใช่เป็นการที่รู้ลักษณะที่สติสัมปชัญญะเกิด ซึ่งไม่ใช่เราแน่นอน ต้องเป็นสัมมาสติที่ มีเหตุปัจจัยคือการฟัง การเข้าใจ แล้วก็การรู้ว่าสภาพธรรมปรากฏตลอด

    แม้ในขณะนี้ ก็เป็นสภาพธรรมทั้งวัน ทางตาสภาพธรรมปรากฏ ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เป็นสภาพธรรมทั้งหมด แต่สติสัมปชัญญะไม่เกิด เพราะอะไร ไม่มีใครบังคับได้เลย แต่คนที่จะเกิดก็ต้องมีเหตุอีกว่า เกิดเพราะอะไร เพราะมีความเข้าใจที่มั่นคง มีการสะสมอบรมมา ที่จะขณะนั้น สัมมาสติระลึก พร้อมด้วยการละ ไม่ใช่เรา ขณะนั้นต้องเป็นปัญญาที่รู้ว่าไม่ใช่เราที่กำลังเห็น ที่กำลังรู้ หรือว่าที่กำลังจะไปประจักษ์การเกิดดับ หรือได้ประจักษ์แล้วการเกิดดับของสภาพธรรม

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องตื่นเต้น แต่เป็นเรื่องของการละคลาย ความไม่รู้จริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไมใช่เพียงขั้นฟัง แต่ว่าเป็นขั้นที่เข้าใจว่าขณะใดที่สัมมาสติเกิด ก็คือมีการรู้ลักษณะของสภาพธรรมหนึ่ง ที่กำลังปรากฏ แล้วตรงนั้นจะเป็นเครื่องสอบ ไม่ว่าอะไรจะเคยคิดว่าประจักษ์ แล้วหรืออะไรก็ตามแต่ ขณะนั้นรู้เข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมนั้น มีการละ หรือว่ามีการต้องการเกิดขึ้นอีกแล้ว ที่จะรู้ ที่จะพยายาม ที่จะประจักษ์ นี่ก็เป็นเรื่องที่จะเห็นการละโลภะ ซึ่งเป็นสมุทัย เพราะเหตุว่าถ้ายังไม่มีการละคลาย โลภะซึ่งเป็นสมุทัยเลย ลองคิดดูว่าแล้วจะละความไม่รู้สภาพธรรม ซึ่งเกิดดับจริงๆ ในขณะนี้ได้อย่างไร ที่ไม่ประจักษ์ด้วยความไม่รู้ แต่ที่จะประจักษ์ก็ด้วยความรู้

    เพราะฉะนั้น เมื่อไม่รู้อยู่ แล้วจะให้ประจักษ์ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย ต้องมีการที่ค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมนั้น ตามลำดับด้วย เพราะฉะนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องที่ทำอย่างไร จะเห็นอย่างนั้น เพราะว่า ถ้าทำอย่างไร จะเห็นอย่างนั้น คือไม่ใช่ปัญญา แต่เป็นเรา แต่จริงๆ แล้วก็เป็นเรื่องที่จะรู้ความจริงว่า ไม่มีเรา แล้วก็ต้องละความเป็นเรา ด้วยปัญญาที่สมบูรณ์ขึ้น ตามลำดับขั้นด้วย

    ข้อสำคัญก็คือว่ามักจะมีความต้องการเสมอ และความต้องการก็จะให้ไปทำอย่างหนึ่ง อย่างใด หรือแม้แต่สัมมาสติจะมีการระลึกบ้าง ก็ยังสามารถไม่สามารถที่จะละความต้องการได้ เพราะว่าก็จะต้องมีความพยายาม มีความจงใจ มีความต้องการเกิดแทรก ซึ่งจะต้องรู้จริงๆ ละจริงๆ ว่าเป็นลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง ยังอยากจะเห็นไหม

    ผู้ฟัง ตรงนี้มันยาก เพราะว่าระดับละเอียด ซึ่งเป็นรูปที่ปรากฏทางตา ซึ่งพระองค์แสดงว่ามันหยาบแล้วนะ เรื่องรูป แต่มันก็เป็นความละเอียดของนักศึกษาใหม่ หรือว่าเก่าก็ตาม เพราะว่าผมเองผมก็สังเกต จุดนี้ที่

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นเรื่องเฉพาะตัว ซึ่งแต่ละคนก็จะรู้ว่า มีความค่อยๆ เข้าใจสิ่งที่ได้ฟัง แล้วก็ค่อยๆ มีความเข้าใจ ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏบ้างหรือยัง มากหรือน้อย ก็เป็นเรื่องเฉพาะตัว

    ผู้ฟัง อาจารย์นิพัฒน์พูดว่า รู้จบพระไตรปิฎก แตกฉาน หมายความว่าอย่างไร

    วิทยากร. ก็รู้พระไตรปิฎก ทั้ง ๓ ปิฎก แล้วก็สามารถที่จะบอกได้ กล่าวได้ แสดงได้ แค่นี้ไม่ใช่รู้แบบรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง รู้ตามตัวหนังสือ ที่ท่านเขียนไว้ในพระวินัยก็ดี ในพระสูตรก็ดี ในพระอภิธรรมก็ดี รู้ พระวินัยคืออะไร พระสูตรคืออะไร พระอภิธรรมคืออะไร กล่าวด้วยเรื่องอะไร รู้ และแตกฉาน สามารถที่จะบอก จะกล่าว จะแสดงให้คนอื่นฟังได้แค่นี้นะ ไม่ได้หมายถึงรู้สภาพธรรม ตามความเป็นจริง รู้แค่นี้ ที่ผมใช้คำว่า รู้แตกฉาน ในพระไตรปิฎก ผมพูดตามภาษา ที่ใช้กัน ไม่ได้หมายความว่าท่านสามารถที่จะประจักษ์แจ้งสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง ไม่ได้หมายอย่างนั้น หมายความว่าแตกฉานในอักขระ พยัญชนะ สามารถที่จะบอกกล่าวสอนแนะนำ ผู้อื่นได้ คำว่าแตกฉานของผมไม่ได้หมายถึงว่า แตกฉาน ทั้งในด้านปฏิบัติ และปฏิเวธ ผมเอาแค่แตกฉานในปริยัติ คือการเล่าเรียนธรรมดาเท่านั้นเอง

    ท่านอาจารย์ เรื่องลึกลับคงมีมาก ใช่ไหม คุณเริงชัย สภาพธรรมที่ปรากฏ ทั้งๆ ที่กำลังปรากฏ ให้เห็นก็ยังไม่สามารถที่จะรู้ความจริง ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมนั้นได้ แต่ลองคิดถึงคุณธรรมที่ต่างกันของผู้ที่เป็นปุถุชน จนกระทั่งถึงผู้ที่ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ก็ลึกลับ ใช่ไหม

    อย่างที่ท่านพระภิกษุทั้งหลาย ที่ท่านเป็นพระอรหันต์ แล้วท่านก็อยู่ที่ป่าโคสิงคสาลวัน ฟังดูแล้วเหมือนเป็นปัญหาไม่ยาก ที่จะถามว่าป่าโคสิงคสาลวันจะงามด้วยเหตุใด แต่ละท่านก็ตอบ ตามความเป็นเอตทัคคะของท่าน ท่านพระสารีบุตร ท่านก็กล่าวถึง งามเพราะผู้ที่มีปัญญาอยู่ที่นั่น ท่านพระโมคคัลลานะท่านก็ตอบ ท่านพระอนุรุทธท่านก็ตอบ ทุกท่านตอบหมด แต่เแม้กระนั้น ท่านพระอรหันต์ซึ่งเป็นเอตทัคคะทั้งหลาย ไปเฝ้ากราบทูลถามพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ได้ถามเรื่องของสิ่งที่เรามองดู รู้สึกลึกลับ อย่างตา หู สิ่งที่ปรากฏทางตา ทางอะไรเลย เพียงแค่ว่าป่าโคสิงคสาลวัน จะงามด้วยเหตุใด แล้วท่านก็เป็นเอตทัคคะ แล้วก็ตอบตามความเห็นของท่านด้วย แต่ละท่าน ยังไปทูลถามว่า คำตอบไหนถูก ลึกลับหรือเปล่า ดูเหมือนง่าย ใช่ไหม

    แต่เห็นความน่าอัศจรรย์ ของผู้ที่ดับกิเลสหมดเป็นสมุจเฉท พระโสดาบัน ก็ดับความเป็นตัวตน แต่ก็ยังมีมานะ แล้วก็ยังมีโลภะ มีตัณหา ยังมีความเราด้วยตัณหา ยังมีความเป็นเราด้วยมานะ ไม่มีความเป็นเราด้วยทิฏฐิ แต่แม้กระนั้น ผู้ที่ดับกิเลสหมดเลย ความอ่อนน้อมถ่อมตัว ความไม่มีเรา และไม่มีกิเลสทั้งหมด เพียงที่ท่านสนทนาธรรมกัน ก็จะไม่มีการกล่าวตู่ หรือคิดว่าคำตอบของท่านเท่านั้นถูก เพราะเหตุว่าแต่ละท่านตอบต่างกัน ไปเฝ้าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า กราบทูลเพื่อให้พระองค์ทรงแสดงว่า คำตอบไหน เป็นคำตอบที่ถูก

    เพราะฉะนั้น ความห่างไกลของผู้รู้ กับผู้ที่ไม่รู้มากมาย แล้วเราก็จะเห็นด้วยว่าพระธรรมจริงๆ เพื่อขัดเกลากิเลส แต่ถ้าเรายังไม่มีจุดประสงค์ที่จะประพฤติปฏิบัติตาม เพื่อการขัดเกลา เพียงแต่ว่าจะเป็นผู้รู้หรือถาม เพื่อหายความสงสัย เรื่องของรูปารมณ์ เรื่องของสัททารมณ์ พวกนี้ ก็ยังแสดงให้เห็นว่า การละกิเลสจริงๆ จะไกลสักแค่ไหน เพราะไม่ใช่เพียงรู้เรื่องราว เรื่องชื่อของสภาพธรรม แต่ต้องเป็นการที่สามารถเข้าถึงความเป็นธรรม ที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนด้วย อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เราจะเห็นได้ มีตัวอย่างมากมายในพระไตรปิฎก ผู้ที่ได้สาระจากพระธรรม จะมีลักษณะที่ต่างกับผู้ที่ศึกษาจบ อย่างที่คุณนิพัฒน์กล่าวถึง แต่ว่าไม่เข้าถึงอรรถ เพราะฉะนั้น นี่ก็เป็นความต่างกัน

    ผู้ฟัง สิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน จริงอยู่เป็นขั้นสติปัฏฐานจึงจะรู้ได้ เพราะฉะนั้น เราแม้กระทั่งกุศล หรืออกุศล ยังไม่รู้เลย บางครั้ง อย่าไปว่า สติจะไปรู้ถึงขั้นปรมัตถ บางครั้งนานๆ จะเกิดสักที ตรงนี้ บอกว่าไตรลักษณ์จะรู้อนัตตสัญญา มันรู้ได้ยาก

    แล้วถ้ามาพิจารณา อีกนัยหนึ่งได้ไหม อย่างเช่นว่า ความเที่ยง หรือไม่เที่ยง ความไม่เที่ยง ความไม่เที่ยงเราจะรู้สึกว่า มันค่อนข้างจะพิจารณา ไม่รู้อัธยาศัยของแต่ละคน มนุษย์ จะพิจารณาง่ายหน่อย เห็นกันอยู่ทุกวันๆ ก็แก่ลงไปๆ ยังเห็นได้ชัดเจนกว่า หรือทุกขลักษณะเกิด ดับ ก็ยังรู้สึกว่ามันจะง่าย กว่าอนัตตสัญญา อันนี้ขอถามจากท่านอาจารย์ ว่าเราจะพิจารณา อีกนัยหนึ่งได้ไหม

    ท่านอาจารย์ การคิดก็คิดได้ทุกอย่างที่จะเกื้อกูล ที่จะให้เห็นว่าไม่ใช่เรา แต่ว่าถ้าเป็นปัญญาที่อบรมแล้ว สามารถที่จะรู้ความจริง ของลักษณะแต่ละลักษณะว่าลักษณะนั้น เป็นนามธรรม หรือเป็นรูปธรรม จึงจะไม่มีเรา แต่กว่าจะไม่มีเราได้ก็ทั่วหมด ไม่ว่าขณะนี้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็เป็นผู้ตรงว่าขณะที่คิด เป็นขั้นคิด แล้วก็เวลาที่สติสัมปชัญญะเกิด

    ผู้ฟัง อนิจจลักษณะ จะเห็นความไม่เที่ยงเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ อย่างนี้

    ท่านอาจารย์ นั่นคิด

    ผู้ฟัง นั่นคิด

    ท่านอาจารย์ เพราะขณะนี้ยังไม่มีการเปลี่ยน ทางตาก็ยังคงเป็น สิ่งที่เหมือนปรากฏอยู่ตลอดเวลา ถ้ากระทบแข็ง แข็งนั้นก็ยังอยู่ เป็นลักษณะนั้น ที่ยังไม่ประจักษ์การเกิดขึ้น และดับไป จนกว่าจะรู้จริงๆ เข้าใจถูกจริงๆ ว่า นั่นเป็นนามธรรม และรูปธรรมทั่วหมด

    ผู้ฟัง ถ้าเป็นรูปธรรม เราจะเห็นการเสื่อมไป เปลี่ยนแปลงไปอยู่เรื่อยๆ

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้แข็งปรากฏ เสื่อมหรือยัง

    ผู้ฟัง ถ้าพิจารณาอย่างนี้มันก็ไม่เห็น

    ท่านอาจารย์ นั่นคือคิดว่าเสื่อม แต่เสื่อมจริงๆ คือเกิดดับ ทั้งนามธรรม และรูปธรรมเกิดดับ

    ผู้ฟัง ทีนี้มาถึงเกิดดับ เกิดดับเราก็มองไม่เห็นจริงๆ ก็คือไม่รู้ นั่นแหละ

    ท่านอาจารย์ เราไม่มีทาง ต้องเป็นปัญญาไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้น ความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ค่อยๆ เพิ่มขึ้นแม้แต่กำลังฟังเดี๋ยวนี้ แล้วก็มีเห็นกำลังปรากฏ ค่อยๆ เข้าใจลักษณะที่กำลังปรากฏ เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง แล้วก็มีธาตุที่สามารถเห็น ขณะที่กำลังเห็นนี้ เพื่อที่จะรู้ว่าจริงๆ แล้ว ธาตุรู้มีตลอดตั้งแต่เกิดจนตาย ลักษณะ ต่างๆ กัน แต่ในขณะที่เห็นปรากฏ ก็เป็นธาตุที่สามารถเห็น เป็นธาตุที่รู้สิ่งที่ปรากฏ ก็ต้องเป็นอย่างนี้ทุกชาติทุกชาติ ก็จะได้ยิน แต่อย่างนี้ แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจไปทีละเล็กทีละน้อย

    ผู้ฟัง ทีนี้มาถึงอัธยาศัยนี้ ถ้าเราพิจารณาอนัตตลักษณะแล้วก็ อนิจจลักษณะ หรือทุกขลักษณะนี้ มันแต่ละคนเป็นไตรลักษณ์เหมือนกัน แต่ว่าถ้าเราพิจารณานัยใด นัยหนึ่งได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่ว่าอัธยาศัยอย่างไร เมื่อเป็นความเห็นถูก ความรู้ถูก ต้องตรงเหมือนกันหมด เพราะฉะนั้น อัธยาศัย จะคิดเรื่องไม่เที่ยง จะคิดเรื่องอนัตตา จะคิดเรื่องทุกข์ก็ตามแต่ หรือจะคิดเรื่องอื่นก็ตามแต่ ทั้งหมดจะต้องเป็นอารมณ์ เป็นสิ่งที่ปัญญาสามารถเข้าใจถูกต้อง ว่าไม่ใช่เรา

    เพราะฉะนั้น เรื่องอัธยาศัยก็แต่ละคน ก็แล้วแต่ว่าจะมีความเข้าใจมั่นคงจริงๆ ว่าขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏ สิ่งที่ยังไม่ปรากฏ ยังไม่มาถึง แล้วสิ่งนี้ความจริงก็เกิดแล้วดับ แล้วก็เกิดอีก ก็ยังไม่สามารถที่จะประจักษ์ได้ เพราะฉะนั้น ก็จะทราบตามความเป็นจริงว่า แม้สิ่งที่กำลังปรากฏธรรมดาๆ ความรู้ก็จะต้องมีการระลึก แล้วก็เข้าใจ ขณะที่ระลึก คือกำลังค่อยๆ เข้าใจ ว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรม ตามปกติ จะนิดๆ หน่อยๆ ก็เหมือนน้ำที่หยดลงไปทีละหยด ในตุ่ม วันหนึ่งก็เต็ม

    ผู้ฟัง เราพิจารณารูปธรรม ภายนอกไม่ใช่ภายใน ภายนอกเราจะเห็น เห็นชัดกว่า

    ท่านอาจารย์ ทั้งหมดก็ต้องมีนามธรรม และรูปธรรม คือถ้าไม่มีจิต ที่เห็นที่คิดก็จะไม่มีภายในภายนอก เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องของจิตทั้งหมดเลย ต้องรู้ในสภาพที่มีจริงๆ ว่าเป็นสภาพรู้ ซึ่งทุกคนมี เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

    ผู้ฟัง สภาพรู้นี่ จึงรู้ได้ยากจริงๆ

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง แต่ก็อบรมได้ รู้ได้ เพราะมีจริงๆ

    ผู้ฟัง อบรมได้เข้าใจได้ แต่ก็รู้ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เข้าใจ คือ ความรู้ ทีละเล็กทีละน้อยจนกว่าจะสมบูรณ์ เพราะว่าจะไม่มีปัญญาที่ไม่มีความเข้าใจ ปัญญาจะต้องมี เมื่อมีความเข้าใจขึ้นเรื่อยๆ ความเข้าใจขั้นต้น ก็จะสมบูรณ์ขึ้น เป็นญาณ หรือว่าเป็นปัญญา แต่ละระดับ แต่ต้องเริ่มจากความเข้าใจ ความเห็นถูก

    ผู้ฟัง การเข้าใจในขั้นปริยัติ การฟัง หรือการเรียน การอ่าน ก็ยังไม่พอ

    ท่านอาจารย์ ไม่พอ ต้องมี ๓ ระดับ

    ผู้ฟัง ไม่พอ ที่จะรู้ ถึงขั้นรู้ความจริงตามปรมัตถ

    ท่านอาจารย์ ยังคงเป็นปริยัติ จนกว่า สติสัมปชัญญะจะระลึกเมื่อไร เมื่อนั้นก็เป็นขั้นปฏิบัติ

    ผู้ฟัง แต่ก็จำเป็นใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ถ้าไม่มีปริยัติ เราไม่สามารถจะเข้าใจสภาพธรรมได้ว่า ไม่ใช่เรา แม้ในขั้นการฟัง

    ผู้ฟัง ถึงแม้ว่าการฟังจะจำหรือไม่จำ หรือจะท่องหรือไม่ท่อง จะอะไร แต่ก็จำเป็นใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เข้าใจ ฟังเพื่อเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ

    ผู้ฟัง คำว่า เสแสร้ง มายา สาไถ เป็นตัวโลภะส่วนใหญ่ ใช่ไหม

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 103
    25 มี.ค. 2567