ปกิณณกธรรม ตอนที่ 628


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๖๒๘

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๔๕


    ท่านอาจารย์ แม้แต่ยาจกเป็นผู้ที่ไม่มีอะไรเลย ก็ต้องขยันขอใช่ไหม ถ้ายาจกคนไหนขี้เกียจขอ ก็ไม่มีอะไร ที่จะได้ดำรงชีวิตต่อไป แม้ยาจกยังย่อมขอบ่อยๆ ซึ่งผู้ที่ไม่มีก็ขอ แต่ผู้ที่มีก็ให้ เพราะฉะนั้น ทานบดี ย่อมให้บ่อยๆ ด้วย เมื่อมีผู้ขอบ่อยๆ ก็มีผู้ให้บ่อยๆ นี่ก็เป็นเรื่องธรรมดาของการที่จะดำเนินชีวิตต่อไป ซึ่งทานบดีที่ให้บ่อยๆ แล้ว อย่าเข้าใจผิดว่าจะหมดไปเลย หรือว่าจะไม่เหลือ แต่ว่าย่อมเข้าถึงสวรรค์บ่อยๆ ไม่ใช่หมายความว่าเราต้องการที่จะให้ใครหวังสวรรค์ หรือว่าอยากจะเกิดในสวรรค์ หรือได้ผลของการเกิดในสวรรค์ เพราะว่าเป็นเรื่องของการติดข้อง แต่ให้ทราบเรื่องของเหตุ และผล ว่าสิ่งที่ดีต้องมาจากจิตที่ดี

    เพราะฉะนั้น ในขณะที่ให้ ถ้าเป็นการให้เพื่อประโยชน์ของผู้รับ ผลก็คือว่าเจตนาอันนั้นเอง ก็จะทำให้ได้รับผลที่ดี คือเกิดเป็นมนุษย์ หรือว่าเกิดในสวรรค์ เพราะว่าเจตนานั้น ต้องการที่จะให้ประโยชน์สุขแก่บุคคลอื่น ไม่ต้องการเบียดเบียนบุคคลอื่น

    ต่อจากนั้นก็ยังถึงเรื่องของส่วนตัว เช่น ผู้ต้องการน้ำนม ย่อมรีดนมบ่อยๆ นี่ไม่ใช่เรื่องผู้ขอ ผู้ให้ แต่เป็นเรื่องของผู้ที่ต้องการน้ำนม ถ้าต้องการน้ำนมก็ ต้องรีดนมบ่อยๆ หรือลูกโคย่อมเข้าไปหาแม่โคบ่อยๆ ไปหาทำไม แม่โค ถ้าเป็นลูกโค ไม่ไปหาแม่โคได้ไหม แล้วจะได้อะไร เพราะว่าเป็นลูกโคก็ต้องกินนมแม่โค ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ลูกโค ย่อมเข้าไปหาแม่โคบ่อยๆ บุคคลย่อมลำบาก และดิ้นรนบ่อยๆ ยักย้ายเทศนา ใช่ไหม จากชาวนาแล้วก็จากฝนตก แล้วก็จากแว่นแคว้น จนกระทั่งถึงผู้ขอ และผู้ให้ จนมาถึงลูกโคกับแม่โค จนกระทั่งถึงบุคคลย่อมลำบาก และดิ้นรนบ่อยๆ คือพูดถึงชีวิตจริงๆ ตามธรรมดาของแต่ละคน

    เพราะเหตุว่าทุกชีวิตก็ทราบ ไม่มีใครรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น บางทีเราคิดถึงวันข้างหน้า อาจจะคิดถึงยาวไกล ปีหน้าเราจะเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ หรือว่าใกล้เข้ามาอีกนิดหนึ่ง เดือนหน้าจะเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ แต่สำหรับสภาพธรรมตามความเป็นจริง แม้ขณะต่อไป ก็ไม่มีใครรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น จะเป็นได้ยิน หรือจะเป็นคิดนึก จะเป็นโลภะ หรือจะเป็นโทสะ จะเป็นมัจฉริยะ ตระหนี่ หรือจะเป็นริษยา ไม่มีใครสามารถรู้ได้ เพราะเหตุว่าตราบใดที่ยังมี อกุศลธรรมครบถ้วน ก็จะมีปัจจัยที่จะทำให้อกุศลธรรมนั้นๆ เกิดขึ้น หรือว่ากุศลธรรมก็เกิดขึ้นได้ตามการสะสม ถ้าเราสะสมกุศลธรรมมาบ่อยๆ เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องชีวิตจริงๆ ว่าบุคคลย่อมลำบาก และดิ้นรนบ่อยๆ

    เมื่อเช้านี้มีใครถามเรื่องชาติก่อน ชาติหน้าอย่างไร อะไรอย่างนี้ แต่จริงๆ แล้วเราก็ไม่มีทางจะรู้เลย ว่าชาติก่อน เราเป็นอย่างไรมาแล้ว แล้วก็ชาติหน้าเราจะเป็นอย่างไรต่อไป แต่ก็มีเหตุทั้งนั้นเลย ที่จะให้ชาติก่อนที่เป็นมาแล้ว ก็เป็นอย่างนั้น หรือว่าชาติหน้าต่อไป ที่จะเป็นอย่างนั้นก็ต้องเป็นอย่างนั้น หรือแม้ชาตินี้ ขณะต่อไปจะเป็นอย่างไร ก็ต้องเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ทุกคนย่อมไม่พ้นจากความลำบาก และดิ้นรนบ่อยๆ มีใครไม่ดิ้นรนบ้าง ไม่มี สักนิดหนึ่ง ก็ต้องเป็นการดิ้นรนแล้ว

    คนเขลาย่อมเข้าถึงครรภ์บ่อยๆ นี่ก็เป็นของธรรมดา สัตว์ย่อมเกิดแล้วตายบ่อยๆ ยิ่งธรรมดา บุคคลทั้งหลายย่อมนำซากศพไปป่าช้าบ่อยๆ นี่เตือนแล้ว ให้ระลึกถึงความจริงว่า เราจะอยู่ในโลกนี้ไม่นาน ให้ระลึกถึงความจริงว่า เราจะอยู่ในโลกนี้ไม่นาน ไม่มีใครสามารถที่จะอยู่ไปได้นานเลย แต่ว่าใครก็ตาม ที่จากโลกนี้ไปแล้ว ก็เกิดทันที ตายแล้วก็คือเกิดแล้วนั่นแหละ ก็ต้องดิ้นรนต่อไปบ่อยๆ อีก บุคคลทั้งหลายย่อมนำศพไปป่าช้าบ่อยๆ ส่วนผู้มีปัญญาถึงจะเกิดบ่อยๆ จะเกิดอีกไหม บ่อยไหม นับไม่ถ้วนเลย ก็เพื่อได้มรรคแล้วไม่เกิดอีก นี่คือจุดประสงค์

    วิทยากร. คำว่า ทานบดี บางทีอาจจะไม่รู้ว่าคืออะไร ทานบดี คือ เป็นใหญ่ในการให้ ใครมาขอ ก็ให้ทั้งนั้น ไม่เลือก

    ท่านอาจารย์ พูดถึงการให้ การให้มี ๓ อย่าง ทาสทาน สหายทาน ทานบดี เพราะฉะนั้น ก็ต้องทราบว่าขณะที่ให้ เป็นชนิดไหน ทาสทานเคยเป็นไหม เป็นอย่างไร ทาสทาน

    วิทยากร. ให้ของที่เลวกว่าที่ตัวเองมีอยู่

    ท่านอาจารย์ ยังติด ยังเป็นทาส ของสิ่งที่จะให้ คือให้ไม่สามารถ ที่จะให้ของสิ่งที่ดี อย่างที่ใช้หรือว่าดีกว่าของที่ตนใช้สอยอยู่ได้ ให้ด้วยความเป็นทาส คือให้ก็จริง แต่ว่าก็ให้สิ่งที่ ตนเองอาจจะไม่ได้ใช้แล้ว หรือว่าไม่ใช่สิ่งที่ตนเองใช้อยู่ ถ้าเป็นสหายทานก็เสมอๆ กันเหมือนสหาย แต่ถ้าเป็นทานบดี คือเป็นใหญ่ในการให้จริงๆ เพื่อประโยชน์สุขของบุคคลอื่น ให้สิ่งที่ดีกว่าด้วยหรือเปล่า ทานบดี

    วิทยากร. ให้สิ่งที่ดีกว่าก็ได้

    ท่านอาจารย์ อย่างเวลาที่ถวายสิ่งหนึ่งสิ่งใด แก่พระภิกษุ ส่วนใหญ่ก็จะถวายสิ่งที่ดี

    วิทยากร. จะไปทำบุญ ไปวัด ไปตักบาตร หรือไปทำบุญสักทีหนึ่ง ก็ต้องเลือกเอาของที่ดีที่สุด ไม่ทานเอง ไม่กินเอง ไม่ให้ลูกให้เต้ากินด้วย เอาไว้เพื่อไปถวายวัด จะเป็นผลไม้ เป็นอะไรก็เลือกเอาอย่างดีๆ ไปถวาย คือเป็นอธิบดี เป็นทานบดี อย่างที่ท่านอาจารย์ว่า

    ผู้ฟัง เราใชัคำว่า สามีทานได้ไหม

    วิทยากร. ได้ สามีก็ได้

    ผู้ฟัง ผมอยากจะเน้นจุดที่ว่าคำพูดของพราหมณ์ตอนสุดท้ายที่บอกว่า พระสมณโคดมนี้ เป็นผู้ติดในรส จึงเสด็จมาบ่อยๆ จากคำนี้เองแป็นคำซึ่ง คิดเอาเอง ที่พระพุทธเจ้า สามารถใช้คำนี้ จะกลับให้พราหมณ์คนนี้ หันมาสู่ทางแห่งมรรคผลนิพพาน

    ท่านจึงย้ำใช้คำนี้บ่อยๆ ชายนาย่อมหว่านพืชบ่อยๆ ฝนย่อมตกบ่อยๆ บ่อยๆ ๆ ๆ จนเบื่อแล้ว ตัวเขาก็ฟังซ้ำๆ ซากๆ จนสุดท้าย ส่วนผู้มีปัญญา ถึงจะเกิดบ่อยๆ ก็เพื่อได้มรรคแล้วไม่เกิดอีก ตรงนี้ตัวสุดท้ายที่มาขมวดลงปั๊บ พราหมณ์ จึงเห็นประจักษ์แจ้งว่านี่ คือทางแห่งมรรคผล ผมต้องการจะชี้ตรงนี้ ท่านถึงได้มีวิธีการพูดถึงได้ไกล แล้วก็หักมุม

    ท่านอาจารย์ ไม่ว่าใครจะใช้ คำอะไร ทรงใช้คำนั้น แต่คนละความหมาย

    วิทยากร. ถ้าเราสังเกต ในพระสูตรนี้ ท่านอุทัยพราหมณ์ท่านได้ เพียงถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง แต่มันมีในสูตรอื่น อย่างใน สกุลุทายี แม้กระทั่งถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง แต่ว่าใน สกุลุทายีสูตร เขามีแสดงต่อไปว่า อีกข้างหน้า กี่ร้อยปี จะได้ดวงตาเห็นธรรม เป็นอุปนิสัย แล้วก็เป็นวาสนาที่สั่งสม ยังมีอีกสูตรหนึ่งก็อย่าง สัจจกนิครนถ์ ท่านเป็นปริพาชก แต่อีก ๒๐๐ ปีข้างหน้า เขาก็ได้ดวงตาเห็นธรรม มีแสดงไว้ในพระสูตร เพราะฉะนั้น อย่าไปนึกว่า นี่ท่านได้แค่พระรัตนตรัย เป็นวาสนาที่จะสะสมไปข้างหน้าของท่าน

    ผู้ฟัง อุทัยพราหมณ์ท่านได้ฟังพระธรรมที่เป็นพระกถานี้ คงจะถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ เป็นที่พึ่ง แต่ถ้า ผู้ที่ไม่ฟังพระธรรมแล้ว จะถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง ตลอดชีวิตได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ยังไม่รู้จักพระธรรมแล้วจะถึงพระธรรมเป็นที่พึ่งได้อย่างไร

    ผู้ฟัง ถ้ารู้ว่าเป็นพระพุทธเจ้า

    ท่านอาจารย์ แต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร มีพระปัญญาอย่างไร มีพระบริสุทธิคุณอย่างไร มีพระมหากรุณาคุณอย่างไร จะถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะก็ไม่ได้ เพราะว่าไม่รู้ว่ามีปัญญาอย่างไร

    ผู้ฟัง ถ้าพึ่งในลักษณะที่ว่าได้ถวายทานกับท่าน

    ท่านอาจารย์ ก็ยังไม่รู้จักพระพุทธเจ้า อยู่ดี

    ผู้ฟัง สมมติว่าในครั้งพระพุทธกาล เห็น ท่านมีปาฏิหาริย์ เป็นผู้ที่คนเคารพบูชาก็เลย ถึงท่านเป็นสรณะโดยไม่ได้ฟังพระธรรม

    ท่านอาจารย์ คนที่มีปาฏิหาริย์ แต่ไม่ใช่ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็มี

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ แล้วอย่างไร ก็ไม่ถึงพระพุทธเจ้าโดยปาฏิหาริย์ เพราะผู้ที่ไม่ใช่พระพุทธเจ้า ก็มีปาฏิหาริย์ได้ เหาะเหินเดินอากาศได้แน่นอน แต่ไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมแล้ว จะมีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งไม่ได้ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ แน่นอน มีแต่ชื่อ

    วิทยากร. คุณประเชิญพูดถึงตรงนี้ ก็ถึงท่านอุรุเวลากัสสปะ พระพุทธเจ้า แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ เท่าไรๆ ท่านก็บอก ก็ไม่ได้เป็นพระอรหันต์เหมือนเรา สุดท้าย แล้วก็ฟังธรรม ถ้าไม่ฟังธรรม ปาฏิหาริย์เท่าไรๆ ท่านก็บอกยังไม่เป็นอรหันต์เหมือนกัน

    ผู้ฟัง สำหรับสรณะ นี้ ในอรรถกถาใน เถวรสูตร ท่านแสดงว่า ที่ว่าสรณะ หมายถึง เบียดเบียน อธิบายว่าย่อมกำจัด คือทำความกลัว ความบาปสะดุ้ง ความทุกข์กิเลส ที่เป็นเหตุให้ถึงทุคติของบุคคลเข้าถึงสรณะให้พินาศไป แสดงว่า ถ้าไม่ฟังพระธรรม แล้วไม่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่ใช่ปัญญา

    ผู้ฟัง ก็ไม่ใช่ปัญญา

    ท่านอาจารย์ อันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด อย่าคิดว่าฟังแล้ว แต่ต้องเข้าใจหรือเปล่า ในขณะที่ฟัง เข้าใจถูกต้องหรือเปล่าด้วย

    ผู้ฟัง มีพวกส่วนใหญ่เขาค้านผม เขาบอกว่า เรื่องอะไรจะไม่เกิด เขาอยากเกิดๆ เขาบอกอยากเกิด ก็อยากเกิด เพราะคุณยังไม่มีปัญญาพอที่จะรู้ว่า ไม่เกิดมันเป็นอย่างไร ก็ต้องเกิด ถึงไม่อยาก มันก็ต้องเกิด แล้วก็อยาก ถึงไม่อยากจะไปนิพพาน ก็ไม่ได้ไปอยู่แล้ว เพราะไม่ได้ไปด้วยความอยาก ผู้มีปัญญาเท่านั้น ถึงจะไปได้ ผู้มีปัญญาเท่านั้น ถึงจะเข้าถึงพระนิพพาน รับรองว่าต้องได้เกิดแน่ๆ ไม่มีปัญหา ไม่ต้องกลัวจะไม่ได้เกิด ฟังธรรมแล้วกลัวจะไม่ได้เกิด อะไรต่ออะไรอย่างนี้ ไม่ต้องกลัว

    ผู้ฟัง ในสมัยนี้เราก็ไม่ได้เห็นพระพุทธองค์ แต่ถ้าเราฟังธรรมของพระพุทธองค์แล้ว ชื่อว่าเรารู้จักพระพุทธองค์ได้ รู้จักแต่ชื่อ

    ท่านอาจารย์ ใครสอนเราให้เข้าใจว่าขณะนี้เป็นธรรม

    ผู้ฟัง พระพุทธเจ้า

    ท่านอาจารย์ รู้จักโดยคำสอน ใช่ไหม

    วิทยากร.ก็มี พระพุทธภาษิตที่พระพุทธองค์ตรัสกับพระวักกะลิ พระวักกะลิ บวชเพื่อจะดู พระพุทธองค์ เพราะว่าติดในพระรูป พระโฉม ต้องบวช ถึงจะได้ดูตลอด ทั้งวันทั้งคืนได้ดู พระพุทธองค์ ก็ทรงรออยู่จนกระทั่ง เห็นว่าญาณแก่กล้า พอที่จะบอกได้แล้ว ก็บอกว่า เธออย่ามัวติดตามร่างกายอันเปื่อยเน่าอยู่ทำไหม บุคคลผู้ติดตามเรา แม้จะถือชายผ้าสังฆาฏิตลอดเวลา ก็ไม่ได้ชื่อว่าเห็นเรา โย ธัมมัง ปัสสติ โส มัง ปัสสติ ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นจึงชื่อว่าเห็นเราตถาคต เพราะฉะนั้น ผู้เห็นธรรม ไม่ต้องกลัวว่า จะไม่เห็นพระพุทธเจ้า

    ผู้ฟัง การที่อุบาสก ผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต จำเป็นด้วยหรือที่จะต้องประกาศ อย่างเช่นว่า ท่านอุทัยพราหมณ์ ท่านก็ประกาศตัวของท่านเองว่า ขอพระองค์โปรดจงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะจนตลอดชีวิต จำเป็นหรือไม่

    วิทยากร.ถ้าไม่ประกาศก็ไม่รู้ การประกาศ คือ เป็นการแสดงความจริงใจว่า พระพุทธองค์ ทรงแสดงธรรม โดยเอนกปริยาย เหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกกทางแก่คนหลงทาง หรือเหมือนตามประทีปในที่มืด เพื่อผู้มีตาดี จะได้เห็นรูปต่างๆ ได้ เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงขอถึง เพราะได้เข้าใจในพระธรรม มันอดไม่ได้ที่จะเปล่งออกมา เปล่งออกมาด้วยความปิติ ด้วยความปราโมช ปิติในธรรม ปราโมชในธรรม อดไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถึงตอนสุดท้าย ข้าพระพุทธองค์ขอถึงพระโคดมผู้เจริญว่าเป็นที่พึ่ง ถึงพระธรรม และพระสงฆ์ว่าเป็นที่พึ่งด้วย ขอพระพุทธองค์จงทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยตลอดชีวิตตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ประกาศให้ทราบ ถึงอย่างนั้นประกาศอย่างนี้ อย่างมหาอำมาตย์ ชื่อ สีหมหาอำมาตย์ พระพุทธองค์ยังย้ำ เขานับถือ เดียรถีย์อยู่ก่อน ใช่ไหม ปริพาชกอยู่ก่อน คิดให้ดี นะ อำมาตย์ นะ ท่านเป็นคนทีชื่อเสียง ใครๆ ก็รู้ว่าท่านเป็นสาวกของเดียรถีย์ คิดให้ดี จะถึงพระรัตนตรัยตลอดชีวิต คิดให้ดี ถึงได้กล่าวเป็นครั้งที่ ๒ ทุติยัมปิ พุทธัง ธัมมัง สังฆัง ก็ต้องตรัสอีก คิดให้ดีก่อนหนา ชั่งให้ดีก่อน พูดไปแล้วกลับไม่ได้หนา อะไรอย่างนี้ ก็ต้องประกาศเป็นครั้งที่ ๓ ตติยัมปิ พุทธัง ธัมมัง สังฆัง สรณังคฉามิ เพื่อจะย้ำให้เกิดความมั่นใจ

    ผู้ฟัง จะเป็นไปได้ไหม ถ้าผู้ที่ศึกษา พอเข้าใจบ้างแล้ว แต่ว่า ไม่ได้ประกาศที่จะถึงพระรัตนตรัย เหมือนกับที่เป็นพิธีการที่ เวลาเราทำพิธีกรรมของสงฆ์ อันนั้นจะประกาศ แต่ว่าอาจะไม่ค่อยได้ มีการฟังธรรมเลย แต่ว่าหลังจากนั้นคือ ถ้าไม่ได้เข้าไปในพิธีกรรมต่างๆ เหล่านี้ แต่ว่ามีการศึกษาธรรมมาตลอด แล้วก็ไม่มีโอกาสที่จะมาประกาศ อย่างนี้

    ท่านอาจารย์ อย่างในอดีต ประกาศกับใคร อย่างอุทัยพราหมณ์ ประกาศกับใคร ก็ประกาศกับพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ได้ทรงแสดงธรรมแก่ อุทัยพราหมณ์ ให้ทราบว่าเขาเข้าใจถูกต้องแล้ว เขาซาบซึ้งจริงๆ ในคำสอน ที่ทรงแสดงก็แสดงให้ผู้ที่แสดงธรรม ได้เห็นประโยชน์ว่า เขาสามารถที่จะเข้าใจได้ จากธรรมที่ได้แสดง เพราะฉะนั้น เรื่องของการประกาศ ต้องหนึ่ง ประกาศกับใคร ใช่ไหม ด้วยอะไร ด้วยการที่จะให้ผู้นั้นได้ทราบ ถึงผลของการฟังธรรม นี่ประการ ๑ และอีกอย่างหนึ่ง ถ้าเพียงพูดแต่ไม่ ทำ หรือว่าประกาศจริง พอถึงเวลาก็ เขาว่าก็ว่าตาม พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ นี่ก็ว่าตามกันตลอด แต่ว่ามีการถึง พระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งถูกต้องหรือเปล่า ในลักษณะไหนหรือเปล่า ถ้าการนับถือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง ไม่ใช่พึ่งเพื่อลาภ ยศ สรรเสริญ สุข แต่พึ่งเพื่อสามารถละความติดข้อง ในทุกสิ่งทุกอย่างได้ อันนั้นเป็นการถึงที่ถูกต้อง หรือการถึงพระธรรมเป็นสรณะ ไม่ใช่กล่าวเฉยๆ แต่ไม่ฟังเลย พระธรรมเป็นอะไรก็ไม่รู้ แต่ก็กล่าววาจาว่า ถึงพระธรรมเป็นสรณะ นั่นก็ไม่ถูก

    เรื่องของการกล่าวด้วยวาจา เป็นเรื่องซึ่งไม่แน่นอน เพราะเหตุว่าใครพูดก็พูดได้ ไม่เหมือนความจริงใจ ที่ได้ฟังพระธรรมแล้วเข้าใจ แล้วก็ประกาศ เพราะฉะนั้น เรื่องของการจะประกาศเป็นทางการ หรือไม่เป็นทางการ หรืออะไรก็ขึ้นอยู่กับ ความจริงใจของบุคคลนั้น แต่ส่วนใหญ่ในพระไตรปิฎก ก็จะแสดงแก่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อได้ฟังพระธรรม ว่าเขาขอถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ

    และข้อสำคัญที่สุดก็คือว่า เป็นผู้ที่จริงใจ และตรง ต่อพระธรรมที่จะมีการเคารพสูงสุด เหนือสิ่งอื่นใด ยิ่งกว่าชีวิต ไม่ว่าจะกี่ชาติ ก็ตามแต่ พระธรรมเป็นใหญ่ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงแสดงพระธรรม ก็จะเคารพพระองค์ โดยการที่ว่า ศึกษาโดยละเอียดโดยรอบคอบ แล้วก็เป็นไปเพื่อการละ เพราะเหตุว่าเรื่องของการละ ถ้ายังไม่มีลาภ ยศ สรรเสริญ สุข อย่างมากๆ ก็อาจจะไม่รู้ตัวว่าติด อาจจะคิดเองว่า เป็นผู้ที่สละแล้ว ละแล้ว

    ในพระไตรปิฎก มีพระสูตรเรื่อง ๑ ซึ่งแสดงว่าผู้ที่ได้ ลาภ ยศ สรรเสริญ เพียงเล็กน้อย ก็ไม่ติดในสิ่งที่เล็กๆ น้อยๆ แต่พอได้ลาภ ยศ สรรเสริญ สุขมาก เมื่อไร เมื่อนั้นเป็นผู้ที่ติดอย่างมากใน ลาภ ยศ สรรเสริญ นั้น เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่จะต้องเป็นผู้ที่มีความมั่นคง ในการศึกษา หรือว่าพวกเราทุกคน มีโอกาสที่จะเผยแพร่พระธรรม ด้วยประการใดๆ ก็ตาม ก็เป็นไปเพื่อการละ ซึ่งทุกคนจะต้องระลึกอยู่เสมอ แล้วก็จะไม่ลืม เพื่อที่จะประคับประคอง ความตรงต่อพระธรรม ความจริงใจต่อธรรม ด้วยการที่ว่าทุกอย่าง ที่จะตอบแทนพระรัตนตรัยได้ ก็คือ ต้องเป็นผู้ที่เพื่อการละคลาย

    ผู้ฟัง แสดงว่า ในยุคสมัยปัจจุบันนี้ รูปแบบที่จะถึงพระรัตนตรัย ต้องฟังจากครั้งพระพุทธกาล ใช่ไหม ถึงแม้ว่าไม่ได้ประกาศต่อ หน้าพระสงฆ์ หรือพระบรมสารีริกธาตุ คงไม่ใช่อย่างนั้น ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ต้องเป็นส่วนตัว แต่ละบุคคลที่มีความจริงใจที่มั่นคง ถ้ามีความจริงใจที่มั่นคง ไม่ใช่ฟังที่คำพูด แต่ต้องดูที่การกระทำ

    ผู้ฟัง หมายความว่าขณะที่มีความจริงใจที่จะตรงต่อพระธรรม ในการที่จะขัดเกลา ที่จะช่วยเหลือ ในการที่จะเผยแพร่พระธรรม ตรงนั้นก็คือ เป็นการประกาศไปในตัวอยู่แล้ว ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วก็ใครจะรู้หรือไม่รู้ ก็ไม่สำคัญ ถ้าเป็นผู้ที่จริงใจ และตรงต่อพระธรรมจริงๆ ก็คือว่า เป็นผู้ที่ละคลายกิเลส และก็ลดความสำคัญตน ลงเลยๆ จนกระทั่งถึงแม้ว่าจะมีลาภ มียศก็คือ ชั่วคราว เป็นสิ่งธรรมดา มีแล้วก็ไม่มี มีแล้วก็ เกิดแล้วก็หมดไป เพราะฉะนั้น ก็เป็นผู้ที่มีความมั่นคง ในพระธรรมยิ่งๆ ขึ้น

    ผู้ฟัง การประกาศอย่างนี้ก็คือ หมายความว่า ท่านแสดงตนออกมา เป็นการแสดงออก ทางกาย ทางวาจา และก็มาจากใจจริงๆ ด้วย ที่ว่าเป็นการแสดงตน

    ท่านอาจารย์ แล้วแสดงกับใคร

    ผู้ฟัง แสดงกับพระพุทธเจ้า

    ท่านอาจารย์ แล้วสมัยนี้มีไหม พระพุทธเจ้า

    ผู้ฟัง พระธรรมเป็นองค์แทนของพระพุทธเจ้า

    ผู้ฟัง เวลาที่กราบพระรัตนตรัยแต่ละครั้ง มีความนอบน้อมตามกำลังของความเข้าใจ ถ้าเรายังไม่เข้าใจพระธรรมเลย แต่ว่ามีความเลื่อมใส แต่ยังไม่ได้ศึกษา เราก็ต้องมีความรู้ ว่าความนอบน้อมของเรา จะนอบน้อมยิ่งขึ้น เมื่อสามารถที่จะเข้าใจพระธรรมยิ่งขึ้น

    เพราะฉะนั้น ความนอบน้อมนี้ต้องตามลำดับ ซึ่งไม่มีใครไปบังคับ ดูจากกิริยาอาการภายนอก เราอาจจะคิดว่าคนนี้ นอบน้อมมาก อย่างตามแบบของ แต่ละประเทศชาติ ใช่ไหม อย่างชาวธิเบต เขาก็อาจจะแสดงจนกระทั่ง อัษฏางคประดิษฐ์ไม่ใช่แค่เบญจางคประดิษฐ์ นอนราบลงไปเลย แล้วก็คืบไปเรื่อยๆ เราก็อาจจะคิดว่า เขามีศรัทธา มีความจริงใจ หรืออะไร แต่จริงๆ แล้วต้องเป็นเรื่องความเข้าใจ ต้องเป็นเรื่องของปัญญาที่ จะทำให้เราสามารถที่จะเข้าใจได้ ว่าที่เราเคยคิดว่าเรามีความเข้าใจ มั่นคง หรือว่าประกาศตนเป็น พุทธศาสนิกชน หรืออะไรก็ตามแต่ ต้องเข้าใจว่า เรามีความเข้าใจพระธรรมแค่ไหน ถ้าเรายังไม่มีความเข้าใจ แม้ว่าเราจะแสดงกิริยาอาการคำพูด เพียงใดก็ตาม แต่ก็เป็นไปด้วย ความเข้าใจเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเอง ที่ว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นบุคคลผู้ประเสริฐสุด ทรงพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาคุณแต่ก็ยังไม่เห็น ถ้าไม่ได้ศึกษาธรรม ไม่ควรจะถือเพียงอาการภายนอก

    ผู้ฟัง เรื่องการที่ว่าตอนนี้พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่มี จิต เจตสิก รูปแล้ว ความคิดของดิฉัน ดิฉันไปคิดถึง พระศรีอริยเมตไตร เวลานึกทีไรก็นึกว่า พระพุทธเจ้าองค์หน้าก็คือพระศรีอริยเมตไตร และขณะนี้ท่านก็ยังมีจิต เจตสิก รูป อยู่ก็ไม่ทราบว่า

    ท่านอาจารย์ คุณบง ได้ฟังพระธรรมจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ไหน

    ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์อัญเชิญมาแสดง ก็พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น นอบน้อมต่อใคร

    ผู้ฟัง ก็ท่านไม่มีจิต เจตสิก รูป แล้ว มีแต่พระธรรม

    ท่านอาจารย์ ไม่สำคัญเลย แต่ว่าคุณบง ได้ความเข้าใจจากคำสอนของใคร พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เสมอกันทุกพระองค์ ต่างกันเพียงพระรูปกายบ้าง หรือว่าอายุของการที่จะดำรงอยู่ในโลกนี้บ้าง แต่ว่าพระธรรมเหมือนกัน อริยสัจ ๔ เหมือนกัน ไม่ว่าพระองค์ไหนทั้งนั้น แต่ที่เรากล่าวว่า นะโม ตัสสะ พระพุทธเจ้า พระองค์นี้ ใช่ไหม อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ พระพุทธเจ้า พระองค์ไหน พระองค์ ที่เรามีโอกาสได้ฟังพระธรรม แล้วคุณบงก็จะไม่นึกถึงพระพุทธเจ้า พระองค์นี้ ไม่มีความกตัญญู รู้คุณต่อพระพุทธเจ้า พระองค์นี้ แต่ไปนอบน้อมพระพุทธเจ้า ที่ยังไม่ได้เกิดด้วยซ้ำไป ใช่ไหม

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 103
    25 มี.ค. 2567