ปกิณณกธรรม ตอนที่ 613


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๖๑๓

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๔๕


    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นฝ่ายที่ตรงกันข้าม คือ เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ ก็เป็นของธรรมดาอีก ก็ให้รู้ความจริงว่าไม่มีใคร นอกจากสภาพธรรม เพราะฉะนั้น ก็เป็นผู้ที่ไม่หวั่นไหว ไม่ว่าจะกระทบกับอารมณ์ที่น่าพอใจ หรืออารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ ผู้นั้นจึงจะได้สาระจากธรรม แต่ถ้าเป็นผู้ที่แสวงหา ลาภ ยศ สรรเสริญ สักการะ ไม่ได้สาระจากธรรม และถ้าเป็นผู้ที่หวั่นไหวในเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ ก็ไม่ได้สาระอีกเหมือนกัน เพราะว่ามีความสำคัญในตน เมื่อมีความสำคัญในตนก็สละความเป็นตนไม่ได้ ซึ่งกว่าที่จะเข้าใจจริงๆ ว่าไม่มีเรา ไม่ใช่เพียงขั้นฟัง ขั้นฟังก็เป็นพียงขั้นเข้าใจ แต่เข้าใจขั้นฟังไม่พอ เพราะว่าขณะนี้ทุกคนก็เข้าใจว่า มีแต่นามธรรม กับ รูปธรรม แล้วละอะไร ถ้าไม่รู้มากขึ้นจนกระทั่งสามารถที่จะประจักษ์ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม ที่กำลังปรากฏ จริงๆ เพราะฉะนั้น ที่ว่าบารมี ต้องมีปัญญาเป็นหัวหน้า แล้วธรรมอื่นก็เป็นบริวารของบารมีทั้งหมด ที่จะทำให้ความเป็นบารมีนั้นมั่นคง ที่จะถึงฝั่งได้

    ผู้ฟัง อดหวั่นไหวไม่ได้ ทำไมถึงหวั่นไหว เพราะความมีตัวตน เพราะเรายังนึกว่าเราจะเป็นอย่างนั้น เราจะเป็นอย่างนี้ ยังติดอยู่ที่ ลาภ ยศ สุข สรรเสริญ เสื่อมลาภ เสื่อมยศ ทุกข์ นินทา เรายังหวังอันนี้อยู่ มันยังมีอยู่ เรานึกว่าเราจะเป็นอย่างนั้น เราจะเป็นอย่างนี้ มีเราอยู่ตลอด เพราะฉะนั้น ตราบใดที่ยังคิดอย่างนี้ ความหวั่นไหวต้องมี

    ท่านอาจารย์ เวลาที่เราจะพูดถึงเรื่องบารมีทั้งหลาย บางคนก็จะสงสัยว่า แล้วอย่างไร บารมี ๑๐ อย่างก็ไม่เกิดกับเราตลอด เพราะเหตุว่าบางครั้งโลภะ ก็เกิด บางครั้งโทสะก็เกิด แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ถ้ามีความตั้งใจมั่น มีความเข้าใจถูกต้อง ขณะนั้นก็ไม่ออกไปจากทางที่จะอบรมเจริญปัญญา แม้ว่าบางครั้งบางขณะ ทุกคนธรรมดา ต้องมีโลภะบ้าง ต้องมีโทสะบ้าง แต่ว่าเมื่อมีความมั่นคงในบารมี เราก็สามารถที่จะรู้ว่าขณะใด เป็นบารมีประเภทใด แล้วก็อบรมเจริญไป เพราะเหตุว่าถ้าเรายังไม่มีปัญญาถึงระดับ ที่สามารถจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง อย่างที่คุณนิพัฒน์กล่าว เราจะเอาอะไรไปกั้น ไม่ให้เกิดโลภะ ไม่ให้เกิดโทสะ เป็นของธรรมดา

    สิ่งสำคัญที่สุด ขึ้นอยู่กับการอบรมเจริญปัญญายิ่งขึ้น ไม่ใช่ว่ามีความเป็นตัวเรา ที่พยายามจะไประงับไม่ให้มีโลภะ ไม่ให้มีโทสะ เป็นไปไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าสภาพธรรมทั้งหลาย เมื่อถึงกาละที่จะเกิด ก็ต้องเกิด ไม่ว่าจะเป็นในระดับใด แต่ถ้าปัญญาเพิ่มขึ้น เจริญขึ้น บารมีทั้งหลายก็จะเพิ่มขึ้นด้วย ไม่ใช่ว่าเราพยายามจะไปทำบารมี ให้มากๆ แล้วไปคิดว่าบารมีนั้นๆ จะทำให้ปัญญาเกิด แต่ความจริง เมื่อเรามีปัญญามากขึ้น บารมีทั้งหลายก็จะเพิ่มขึ้นด้วย

    ผู้ฟัง ในชีวิตที่ยังอยู่ในทางโลก โดยหน้าที่ที่จะต้องเสนอ เพื่อในความผิดที่เราเจอ โดยหน้าที่ เขาทำความผิดแล้วเราต้องเสนอ หรือว่าทำอะไรเพื่อเขาจะต้องถูกลงโทษตรงนี้ คือ สับสน เวลาที่มาเรียนธรรมกับทางที่ปฏิบัติหน้าที่การงาน

    ท่านอาจารย์ โดยมาก คนคิดว่าจะมาเอาคำตอบที่ธรรม ใช่ไหม แต่ว่าตามความเป็นจริง คำตอบอยู่ที่ความเข้าใจธรรม ไม่ใช่ว่าวางบรรทัดฐานว่าพุทธบริษัทจะต้องไม่ทำอย่างนั้น อย่างนี้ แต่ว่าขึ้นอยู่กับความเข้าใจของแต่ละคน เช่น พุทธบริษัททุกคนก็มีบ้านช่องทั้งนั้นเลย บ้านก็ปลวกขึ้น อะไรๆ สาระพัดอย่าง ปลวก มด หนู อะไรพวกนี้จะทำอย่างไร จะทำอย่างไรขอคำตอบ แต่ความจริงไม่มีใครตอบได้ เพราะว่าถึงจะตอบอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับการสะสมของแต่ละคน ขึ้นอยู่กับบารมี ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์นั้นๆ ที่จะเกิดขึ้น แต่ถ้าป็นผู้ที่เข้าใจสิ่งที่เป็นกุศล แล้วรู้ว่ากุศล คือ ความเมตตา ความหวังดี ไม่ใช่ความหวังร้าย แต่ไม่ใช่หมายความว่าเราจะไป สนับสนุนผู้ผิด เราไม่มีการสนับสนุนสิ่งที่ผิดเลย แต่จะช่วยให้เกิดกุศล เพราะว่าเราไปบังคับใครให้เป็นกุศลไม่ได้ ต้องเป็นปัญญาของคนนั้น เป็นความเข้าใจถูกของคนนั้นที่จะทำให้กุศลของคนนั้นเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น เราจะบอกไม่ให้ทำอย่างนั้น ไม่ให้ทำอย่างนี้ ไม่ได้เลย ในพระพุทธศาสนา ไม่มีคำว่า ห้าม ไม่มีคำว่า สั่ง ให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ทรงแสดงธรรม ธรรมสภาพที่เป็นจริงให้บุคคลนั้น เข้าใจ และพิจารณาด้วยตัวของตัวเอง ไม่อย่างนั้นทหารจะทำอย่างไร ตำรวจจะทำอย่างไร ผู้พิพากษาจะทำอย่างไร ครูจะทำอย่างไร ใช่ไหม ก็มีปัญหามากมาย แต่ว่าตามความเป็นจริงทุกอย่างเป็นธรรมหมด

    เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น สภาพจิตในขณะนั้นสำคัญ ที่ปัญญาสามารถจะรู้ได้ว่าขณะนั้นเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล แล้วใครยังมีอกุศลอยู่ ผู้ที่ไม่ใช่พระอริยบุคคล ใครไม่มีโทสะ พระอนาคามีบุคคล เพราะฉะนั้น ธรรมทำให้เข้าใจความจริง ตรงตามความเป็นจริง ไม่ใช่ให้ผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ ประพฤติอย่างพระอรหันต์ ผู้ที่ไม่ใช่พระอนาคามี ประพฤติอย่างพระอนาคามี แม้พระโสดาบัน พระสกทาคามี ท่านก็ยังติดในรูปในเสียง ในกลิ่น ในรส เพราะฉะนั้น ท่านก็ยังมีโทสะ มีความขุ่นใจ แต่ไม่มีพยาบาท ไม่มี เจตนาฆ่า ที่จะทำร้ายเบียดเบียนคนอื่นด้วยอคติ แต่ว่าสภาพธรรมที่ถูกต้อง คืออย่างไร เราก็พิจารณาตามความถูกต้อง แล้วก็ทำสิ่งที่ถูกต้องได้ ด้วยจิตที่เป็นกุศล ด้วยความหวังดี ไม่ใช่หวังร้าย

    ผู้ฟัง ลักษณะของสัจจะบารมี ที่บอกว่ามีการไม่พูดให้ผิดจากความจริงเป็นลักษณะ สัจจะบารมีจริงๆ แล้วไม่ต้องพูด ได้ไหม

    ท่านอาจารย์ แล้วใครรู้

    ผู้ฟัง เรารู้อยู่คนเดียว

    ท่านอาจารย์ เรื่องจริง หรือเรื่องไม่จริง ก็รู้อยู่คนเดียว ใช่ไหม แต่เวลาที่พูด พูดจริง เรื่องจริง หรือพูดเรื่องไม่จริง นี่เป็นสิ่งที่สำคัญมาก โดยเฉพาะในเรื่องของธรรม เป็นเรื่องใหญ่ คือธรรมมีจริง ถ้าจะพูดให้คนเข้าใจธรรมที่ถูกต้อง ก็พูดถึงลักษณะจริงๆ ของธรรมนั้นให้คนเกิดปัญญา ความเข้าใจถูก ในความจริงของสภาพธรรม เท่าที่สามารถจะเข้าใจกันได้ อย่างคำว่า ธรรม หมายความถึงสิ่งที่มีจริง นี่ก็เป็นการเปิดเผย สิ่งที่มีจริง ด้วยปัญญา ของผู้รู้ เพราะว่าถึงแม้ว่าสภาพธรรม จะมีจริงเป็นธรรม แต่ถ้าไม่มีใครบอกกล่าว ไม่มีใครสามารถที่จะประจักษ์ความจริง ของธรรมนั้น คนอื่นก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นพุทธบริษัท มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดา ผู้ทรงแสดงธรรม ให้ผู้ที่ฟังเกิดปัญญาของตัวเอง เป็นความจริงทั้งหมด เพราะฉะนั้น ผู้ที่ศึกษาก็เป็นผู้ที่ตรง ต่อสภาพธรรม ความจริงนั้น คำพูดก็ต้องพูดจริง ในสภาพธรรมที่มีจริง ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้เรื่องอื่นก็ต้องจริงด้วย แม้คำพูดเรื่องอื่นก็จริงด้วย

    ผู้ฟัง พอมาถึงประเด็นที่พูดไม่จริง ไม่พูดผิดจากความเป็นจริง ก็เลยนึกถึงอาชีพหมอมักจะไม่บอกคนไข้ ที่รู้สึกว่าสุขภาพจิตท่านตอนนั้นไม่ดี เขาก็จะไม่บอกว่านี่นะ อีก ๒ วันตาย หรืออะไรก็แล้วแต่ ก็จะบอกว่าดี อันนี้มันจะผิดสัจจะหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ แต่ถ้าพูดจริงเป็นสัจจะ พูดไม่จริงก็เป็นเท็จ อย่างไรใครก็เปลี่ยนไม่ได้ เพราะว่าโดยความหมายของศัพท์ มุสา คือ ไม่จริง ถูกต้องไหม เพราะฉะนั้น เรื่องใดที่ไม่จริงแล้วพูด เป็นมุสาหรือเปล่า เพราะความหมายแปลว่า เรื่องไม่จริง เพราะฉะนั้น ใครจะไปเปลี่ยนคำ เปลี่ยนไม่ได้ แต่ว่าจิตที่พูดเป็นอย่างไร นี่ไม่ได้หมายความว่า ส่งเสริมให้พูดสิ่งที่ไม่จริง แต่หมายความว่าต้องเข้าใจ คำแปลของคำ ซึ่งเราเปลี่ยนไม่ได้ คุณสุรีย์ มีความจำเป็นที่ต้องพูดหรือเปล่า นี่ประการหนึ่ง ใช่ไหม ถ้าพูดก็ต้องพิจารณาว่า คำพูดที่พูดจริงหรือเปล่า ใครรู้

    ผู้ฟัง ตัวหมอรู้

    ท่านอาจารย์ คนพูดรู้ แน่นอน ว่าพูดคำจริงหรือไม่จริง มีเจตนาที่จะเบียดเบียน ให้คนอื่นเดือดร้อนหรือเปล่า เพราะฉะนั้น ไม่ใช่อกุศลกรรมบถ แต่คำพูดนั้นจะปฏิเสธว่า เป็นคำพูดจริงไม่ได้ เพราะเหตุว่าเป็นคำพูดไม่จริง ก็ต้องไม่จริง

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้น เราคิดโดยขณะจิต ได้ไหมว่า ขณะนั้นจิตเขาเป็นกุศล ขณะนั้นจิตเป็นกุศล คือ ปรารถนาดี แต่คำพูดมันตาม มันต้องเป็นอกุศล อันนี้จะสลับฉากกันได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ธรรมต้องตรง ถ้าคำพูดที่ไม่จริง จะบอกว่าจริง คำพูดนั้นจริงไม่ได้

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นก็หมายความว่า จิต คนนั้น

    ท่านอาจารย์ แต่ขณะที่พูดนั้นต้องการเบียดเบียนประทุษร้าย บุคคลอื่นหรือเปล่า ถ้าไม่ ก็ไม่ใช่อกุสลกรรมบท มีความต่างกัน ถึงแม้ว่าเป็นคำไม่จริง แต่ไม่ได้เบียดเบียนคนอื่นให้เดือดร้อน ก็ไม่ใช่อกุศลกรรมบถ คุณสุรีย์ทานข้าวหรือยัง มักจะถามบ่อยๆ ใช่ไหม เวลาไปหาใคร ทานข้าวหรือยัง จะตอบว่าอย่างไร จริงหรือไม่จริง เพราะฉะนั้น ไม่ได้เบียดเบียนให้ใครเดือดร้อน ไม่มีเจตนา ที่จะให้ใครเดือดร้อน ไม่ใช่อกุศลกรรมบถ แต่จะปฏิเสธว่าคำพูดนั้น เป็นคำพูดที่ไม่จริงก็ไม่ได้ เพราะเหตุว่าไม่จริงก็ต้องไม่จริง

    ผู้ฟัง คนละขณะจิต ดิฉันเรียนถามต่อ มีความชื่นใจ เป็นอาการปรากฏ ในที่นี้หมายความว่า คนนี้พูดเรื่องจริงแล้ว หลังจากที่เข้าพูดไป อย่างคำว่า ชื่นใจนี้ ก็เป็นกุศลซึ่งประกอบด้วยโสมนัสเวทนาด้วย ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้าใครพูดจริง คนนั้นก็ไม่ต้องเดือดร้อนเลย เพราะเป็นคำจริง

    ผู้ฟัง ทีนี้ลักษณะของจิต จริงก็พูดจริง แต่ก็ไม่รู้มันโสมนัสหรือเปล่า นึกไม่ออก

    ท่านอาจารย์ แต่คุณสุรีย์ไม่เดือดร้อนใจเพราะคำพูดนั้นเลย เพราะเป็นคำพูดจริง ถามกี่ครั้งก็จริง เพราะฉะนั้น ก็ไม่เดือดร้อน

    ผู้ฟัง คำว่า ชื่นใจ นี้คือไม่เดือดร้อน

    ท่านอาจารย์ สบายใจได้

    ผู้ฟัง แต่เราไม่ต้องคิดถึงตัวลักษณะ ว่าเป็นโสมนัสหรืออะไร

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้ว เป็นเรื่อง เรื่องของธรรม โดยยังไม่รู้จักตัวธรรมเลย สักนิดเดียว รู้จักแต่ชื่อทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นอดทน อดกลั้น หรืออะไรๆ ก็แล้วแต่ทั้งหมดลักษณะ กิจ อาการปรากฏ เหตุใกล้ให้เกิด ผู้ที่แสดงคือผู้รู้ ไม่ใช่ว่าผู้ที่ไม่รู้แล้ว คิด แต่เป็นผู้ที่รู้จริง แม้แต่เพียงสภาพธรรมที่ปรากฏ สามารถจะรู้ถึงลักษณะของสภาพธรรมนั้น กิจของสภาพธรรมนั้น อาการที่ปรากฏ และเหตุใกล้ให้เกิด แต่ผู้ที่ยังไม่รู้ธรรม ต้องยอมรับว่า ขณะนี้รู้เรื่อง หรือว่ารู้ธรรม ถ้ารู้ธรรม คือ ขณะนี้เป็นธรรมที่กำลังเห็น สามารถที่จะเข้าใจในสภาพที่เป็นนามธรรม ธาตุรู้ทางตา ซึ่งต้องอาศัยจักขุปสาทเท่านั้น เป็นปัจจัยให้จิตขณะนี้ ที่เป็นจิตเห็นเกิดขึ้น จิตอื่นจะเกิดไม่ได้เลย นี้คือการที่เราจะค่อยๆ พิจารณาเข้าใจ ความเป็นนามธรรม และรูปธรรมของสภาพธรรม เดี๋ยวนี้ขณะนี้ ค่อยๆ เข้าใจขึ้น นั่นคือการรู้ธรรม หรือค่อยๆ เข้าใจลักษณะของธรรม จนกว่าจะประจักษ์แจ้ง ซึ่งมีลักษณะที่ปรากฏทุกอย่าง ตลอดชีวิต ทรงแสดงเรื่องลักษณะของสภาพธรรมทั้งหมด โดยลักษณะ โดยกิจ โดยอาการปรากฏ โดยเหตุใกล้ให้เกิด เพื่อให้เห็นว่าเป็นธรรมจริงๆ ซึ่งไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาได้ ใครจะพูดอย่างไร จะคิดอย่างไร จะทำอย่างไร ก็ได้ เมื่อเข้าใจธรรมแล้ว เมื่อเข้าใจธรรมแล้ว ว่าธรรมคือ ถ้าจริงก็คือจริง เปลี่ยนไม่ได้ ถ้าไม่จริงก็คือไม่จริง เปลี่ยนไม่ได้ ขณะนี้มีกุศลจิตไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ มีอกุศลจิตไหม

    ผู้ฟัง ยังมองไม่เห็น

    ท่านอาจารย์ มีวิบากจิตไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ มีกิริยาจิตไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ แต่ไม่รู้ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่สติปัฏฐาน ต้องทราบไว้เลย ขณะที่กำลังฟังเข้าใจ ขณะที่จิตสงบก็ไม่ใช่สติปัฏฐาน แต่สติปัฏฐาน คือขณะที่มีความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมแล้วระลึกที่ลักษณะนั้นด้วยความเข้าใจขึ้นทีละเล็ก ทีละน้อย ว่าเป็นนามธรรม หรือเป็นรูปธรรม ขณะนั้นเป็นสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น ก็ต้องทราบ คำว่าสติปัฏฐาน คืออะไร ถ้าไม่มีการเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมว่าเป็นนามธรรม หรือรูปธรรม ขณะนั้นไม่ใช่การอบรมเจริญสติปัฏฐาน

    ผู้ฟัง หมายความว่า ขณะที่ตาเห็นก็เกิดสติ อย่างนั้นใช้ไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ตาเห็น ฟังเข้าใจว่าไม่มีใครเลย แต่มีสภาพธรรม ๒ อย่างไม่ว่าจะที่ไหนในโลก ในสากลจักรวาล สภาพธรรม ๒ อย่างมีลักษณะที่ต่างกัน อย่างหนึ่ง ไม่สามารถจะรู้อะไรเลย ไม่ใช่ของใคร มีปัจจัยก็เกิด เสียงนี่ อยากจะเกิดหรือเปล่า ตัวเสียง

    ผู้ฟัง เราบังคับไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ ตัวเสียงอยากจะเกิดหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เสียงไม่มี

    ท่านอาจารย์ เสียงมี

    ผู้ฟัง เสียงมี

    ท่านอาจารย์ ตัวเสียงอยากจะเกิดหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เสียงเขาอยากจะเกิดหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ อันนี้เป็นการที่จะพิจารณาสภาพธรรม ให้เข้าใจความจริงว่าทุกอย่าง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่มีใครสามารถจะบันดาลสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ แม้แต่เสียง ตัวเสียงก็ไม่ใช่ว่าอยากจะเกิด แต่มีปัจจัยก็เกิดเป็นเสียง คุณวิจิตรทำให้เสียงเกิดได้ไหม

    ผู้ฟัง ก็บังคับได้ เพราะว่ามี

    ท่านอาจารย์ ไม่มีทาง ทำอย่างไร

    ผู้ฟัง ก็มีวจีวิญญัติ

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่ใช่คุณวิจิตร ถ้ากล่าวว่าเป็นวจีวิญญัติ ก็ไม่ใช่คุณวิจิตร เพราะฉะนั้น ตัวคุณวิจิตร ไม่มี มีแต่สภาพธรรม ทั้งหมดที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ฟังจนกว่าจะเข้าใจเป็นความจริงอย่างนี้เมื่อไร เมื่อนั้นก็รู้จักธรรม โดยการฟัง แต่ตัวธรรมจริงๆ เกิดตลอดเวลา ดับตลอดเวลา เกิดดับอยู่ตลอดเวลา ไม่มีสภาพธรรม ใดที่เกิดแล้วไม่ดับ แล้วเวลาที่สภาพธรรมใดจะเกิด ก็ต้องมีปัจจัยเฉพาะสภาพธรรมนั้นๆ จึงเกิด เช่น จักขุปสาทมี ก็เป็นปัจจัยให้จิตเห็นเกิดได้ แต่ถ้าจักขุปสาทมีจะเป็นปัจจัยให้จิตได้ยินเกิดไม่ได้ เห็นไหม ความต่างกันของสภาพธรรม แต่ละอย่าง ซึ่งต้องอาศัยปัจจัยแต่ละอย่าง เพียงเท่านี้ ถ้าเราสะสมปัญญามามากในอดีต สามารถจะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้ เพราะว่าสภาพธรรม มีปัจจัยเกิดดับอยู่ตลอดเวลา แต่อะไรกั้น ไม่ให้ประจักษ์ความจริงของสภาพธรรม

    เพราะเหตุว่าไม่ใช่ตัวคุณวิจิตร จะรู้สภาพธรรม แต่ต้องเป็นปัญญาเท่านั้น จึงสามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมได้

    เพราะฉะนั้น ก็เริ่มเห็นสภาพธรรม อีกอย่างหนึ่ง คือปัญญาเจตสิก ไม่มีใครเป็นเจ้าของ แล้วก็ไม่ใช่ของใคร ปัญญาเจตสิกจะเกิดเมื่อมีเหตุปัจจัย แล้วปัญญาเจตสิกก็ดับเหมือนสภาพธรรมทั้งหลายซึ่งเกิดแล้วก็ดับ แต่สะสมสืบต่อ เจริญขึ้นได้ สามารถจะรู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ เมื่อไรที่ปัญญาสมบูรณ์ แต่ไม่ใช่หมายความว่าเมื่อเราต้องการ ทำอย่างไร จะเป็นอย่างนั้น นั่นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น จึงต้องศึกษาธรรมด้วยความเข้าใจ ทุกอย่างที่ได้ยินได้ฟัง เช่น สติปัฏฐาน ก็ต้องเข้าใจให้ถูกต้องจริงๆ สติเป็นโสภณเจตสิก เป็นธรรมฝ่ายดี ขณะใดที่กุศลจิตเกิด โสภณจิตเกิด ขณะนั้นต้องมีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย แม้แต่สติขณะนี้ ขณะนี้ที่ฟังเข้าใจก็มี แต่ไม่รู้เลยว่าสติกำลังทำหน้าที่ของสติ วิริยะทำหน้าที่ของวิริยะ ศรัทธาทำหน้าที่ของศรัทธา หิริทำหน้าที่ของหิริ โอตัปปะทำหน้าที่ของโอตัปปะ ไม่รู้อะไรเลย จนกว่าจะเข้าใจว่าเป็นธรรม แล้วก็สติเกิดเมื่อไรก็ ระลึกลักษณะที่เป็นธรรม นั่นคือสติปัฏฐาน

    ผู้ฟัง ก็ไม่ค่อยตรงเท่าไร

    ท่านอาจารย์ ก็ต้อง มีสภาพธรรม ที่เข้าใจแต่ละอย่าง แต่ละอย่าง ตรง อย่างเห็นก็ไม่ใช่ได้ยิน แต่เป็นนามธรรมเป็นสภาพรู้ ไม่ใช่รูปธรรม เพราะว่ารูปธรรมไม่รู้อะไร เพราะฉะนั้น การฟังธรรมต้องละเอียด แล้วต้องเข้าใจ มั่นคง เป็นพื้นฐานที่มั่นคง เมื่อได้ยินได้ฟังอะไรเพิ่มเติมก็เข้าใจ ได้ละเอียดขึ้นด้วย

    ผู้ฟัง สติที่เป็นไปในทาน ศีล สมถะ ไม่ใช่สติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น สติปัฏฐาน เป็นพื้นฐานของวิปัสสนากรรมฐาน อันนี้ใช่หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ จะใช้คำว่า สติปัฏฐาน เป็นการอบรมเจริญปัญญา ที่จะถึงความเป็นวิปัสสนาคือการรู้แจ้งสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง แต่ว่า เขาคนละระดับกับสติที่เป็นไปทาน ศีล และ สมถะ

    ท่านอาจารย์ คนละระดับ

    ผู้ฟัง ทีนี้ ขณะซึ่งสติปัฏฐานเกิด เป็นสมถะได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ต้องเข้าใจความหมายของสมถะก่อน ว่าสมถะหมายถึงอะไร

    ผู้ฟัง คือความสงบ

    ท่านอาจารย์ จาก

    ผู้ฟัง จาก

    ท่านอาจารย์ อกุศล

    ผู้ฟัง อกุศล

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น กุศลทุกประเภทสงบ แต่ว่าสงบระดับไหน ระดับทาน สงบจากมัจฉริยะ ความตระหนี่ ระดับศีล หรือว่าระดับ สมถะ คือความสงบจากอกุศล ที่เกิดกับจิต

    ผู้ฟัง ทีนี้ในขณะซึ่งสติปัฏฐานเกิด ขณะนั้นสติก็สงบจากอกุศลด้วย

    ท่านอาจารย์ สติมีหน้าที่ระลึก เป็นไปในกุศล

    ผู้ฟัง เป็นไปในกุศล ขณะนั้นก็เป็นสมถะ ที่ดิฉันเรียนถาม เมื่อกี้ด้วยได้หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ แน่นอน แต่ไม่ใช่สมถภาวนา เป็นสมถะ สั้นๆ เล็กๆ น้อยๆ

    ผู้ฟัง แต่อย่างไรก็ตาม สติปัฏฐาน ก็เป็น พื้นฐานที่จะเข้าหา วิปัสสนากัมมัฏฐานนั้นเอง

    ท่านอาจารย์ วิปัสสนาคือปัญญาที่รู้แจ้ง ประจักษ์ความจริงของสภาพธรรม ที่เป็นนามธรรมหรือรูปธรรมซึ่งเกิดแล้วดับในขณะนี้

    ผู้ฟัง แต่ต้องมีสติปัฏฐาน

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ปัญญาจะถึงระดับประจักษ์ได้

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ผู้ฟัง ในเรื่องของจิต ผมมีความสงสัยว่าเราเห็น เกิดจากรูปภาพมาชนกับดวงตาของเราซึ่งมีจักขุปสาท เกิดเป็นการเห็นทางตา วินาทีนั้นเกิดเป็นจักขุวิญญาณขึ้นมา แต่ในหนังสือเขียนว่า จิตเห็น จิตที่ได้ยิน จิตที่ได้กลิ่น เกิดจากอดีตกรรมเก่า กรรมเก่าอาจจะเป็นส่วนหนึ่ง ทำให้เราเห็นภาพดี เห็นภาพที่สวย ภาพที่น่ามองหรือไม่น่ามอง แต่บางครั้งอาจจะเกิดจาฝนตก ฟ้าแลบ ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า อาจจะเกิดจากอุตุก็ได้ อาจจะเกิดจาก ปัจจัยอื่นก็ได้ที่ไม่ใช่กรรมก็ได้ ที่ทำให้เราเห็น เกิดเป็นประเด็นสงสัยขึ้นมา

    ท่านอาจารย์ คือต้องทราบ ว่าจิตมีกี่ชาติ ทราบหรือยัง

    ผู้ฟัง มี ๔ ชาติ

    ท่านอาจารย์ มี ๔ ชาติ กุศล ๑ อกุศล ๑ วิบาก ๑ กิริยา ๑ แสดงว่ากุศลไม่ใช่อกุศล ไม่ใช่วิบาก ไม่ใช่กิริยา อกุศลไม่ใช่กุศล ไม่ใช่วิบาก กิริยา กุศลกับอกุศลเป็นเหตุ ที่จะทำให้เกิดวิบากซึ่งเป็นผล เพราะฉะนั้น ที่สงสัยเรื่องของวิบาก ว่ามาจากอดีตกรรมที่ได้กระทำแล้ว ก็แสดงให้เห็นอยู่แล้วว่า จิตมี ๔ ชาติ จิตที่เป็นกุศล จะเป็นวิบากไม่ได้ จิตที่เป็นอกุศล ก็เป็นวิบากไม่ได้ แต่เมื่อกุศล และอกุศลเกิดแล้วดับแล้ว กระทำกรรมแล้ว ก็สะสมสืบต่อในจิต ทุกขณะ เป็นปัจจัยหนึ่ง เป็นกัมมปัจจัย ที่จะทำให้เกิดผล คือวิบากจิต และเจตสิกเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ขณะใดก็ตาม ที่จิตเห็นเกิด จะเป็นกุศลได้ไหม จิตเห็น เพียงเห็น เป็นกุศลได้ไหม ไม่ได้ทำหน้าที่อะไรเลยนอกจากเห็น ชั่วขณะแว็ปเดียวสั้นๆ เป็นอกุศลได้ไหม จิตเห็นเป็นอกุศลได้ไหม ก็ไม่ได้ เป็นกิริยาได้ไหม เพราะฉะนั้น เป็นอะไร

    ผู้ฟัง เป็นวิบาก

    ท่านอาจารย์ เป็นวิบาก คือต้องเป็นผลของกรรม ซึ่งเรามีกรรมสะสมมาเนิ่นนาน ไม่มีใครสามารถจะรู้ได้ ว่าเราสะสมกรรมอะไรมาบ้าง แต่จะเห็นผลของกรรม เมื่อวิบากจิตเกิด วิบากจิตนี้มาจากไหน เจตนาที่จงใจตั้งใจที่จะทำกรรม ถ้าเป็นอกุศลกรรม ดับไปแล้วเจตนานั้นดับไปแล้วก็จริง แต่ไม่ได้สูญหายไปไหนเลย เพราะมีเจตนานั้น เป็นปัจจัยที่จะทำให้ จิตประเภทหนึ่งเกิดขึ้น พร้อมเจตสิกซึ่งเป็นผล ของความจงใจตั้งใจนั้น อย่างเราคิดว่าเราจงใจ ตั้งใจจะฆ่า สัตว์ มด ปลวก หรือคน หรืออะไรก็แล้วแต่สิ่งที่มีชีวิต แล้วได้กระทำไปแล้ว การกระทำนั้นก็สำเร็จไปแล้ว แต่ตัวเจตนานั้น เป็นกัมมปัจจัย มีกำลังที่จะทำให้วิบากจิต ซึ่งเป็นผลเกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้น เราก็ต้องทราบว่าจิตที่เป็นผลของกรรม ครั้งแรกในชีวิต คือ ปฏิสนธิจิต เราเลือกไม่ได้เลยว่า กรรมไหนจะให้ผล เพราะว่า แต่ละคนก็สะสมกรรมมามาก แต่เรารู้เลย เราเป็นคนนี้ เพราะกรรมหนึ่ง ที่ได้กระทำแล้วแต่ ละคนต่างๆ กันไปตามกรรมที่ได้กระทำแล้ว ขณะที่เรายังไม่ตาย เราก็รู้ว่า กรรมนั้นยังไม่ทำให้เราสิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้ ถ้ากรรมเพียงแต่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด หนึ่งขณะแล้วก็หมดก็ไม่มีผลอะไร

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 103
    25 มี.ค. 2567