ปกิณณกธรรม ตอนที่ 605


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๖๐๕

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๔๕


    ผู้ฟัง การปล่อยนก คือ มงคลตื่นข่าว

    ท่านอาจารย์ เราตั้งใจจะปล่อยเพื่อช่วยเราให้พ้นภัย หรืออายุยืน หรืออะไรก็แล้วแต่ ไม่ใช่หรือ ไม่ใช่ว่าตั้งใจจะปล่อย เพราะนกกำลังบาดเจ็บหรือว่ากำลังถูกผูก

    ผู้ฟัง แล้วทีนี้ เชื่อกรรม และผลของกรรม ก็หมายความว่าเป็นกรรมของนกที่เขาได้อิสระ หรืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ ทุกขณะจิต จิตใดเป็นวิบาก จิตนั้นเป็นผลของกรรม

    วิทยากร. ถ้าพิจารณาดู ว่าศีล ๕ พระองค์ตรัสว่า ศีล ๕ เป็นมหาทาน ถ้าหากว่าเราไม่พิจารณา เราจะไม่เห็นว่าเป็นทานเลย ศีล ๕ แต่พระองค์ตรัสว่าศีล ๕ เป็นมหาทาน เป็นทานอันใหญ่ ก็น่าพิจารณา คือเป็นการเบียดเบียนกิเลส เราไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ให้กิเลสมันเกิด ไม่ให้โลภะ โทสะ ขณะที่เราฆ่า ก็โทสะมีกำลัง โลภะเป็นปัจจัยให้โทสะเกิด เราเบียดเบียนกิเลสไม่ให้มันเกิด เพราะฉะนั้น ศีล ๕ จึงเป็นมหาทาน คือ ทานอันยิ่งใหญ่ พระองค์บอกว่าให้รักษาศีล ๕ การให้ทานไม่ใช่ว่า เพียงแต่วัตถุ อย่างเดียวสิ่งที่เราไม่กระทำลงไป บางอย่างก็เป็นมหาทานเหมือนกัน เช่น ศีล ๕

    วิทยากร. ในวรรคสุดท้าย ก็ตรงที่อาจารย์สมพรว่า ไม่ต้องไปให้วัตถุ ให้อภัยแก่คนอื่น ในฐานะที่เป็นภัย

    วิทยากร. การให้อภัย เท่ากับว่าเป็นธรรมทานอัน ๑ เหมือนกัน เป็นทานอันสูงสุด เช่นเรากำลังโกรธ ได้ผลปัจจุบัน ถ้าเราไม่โกรธแล้ว เราเปรียบเทียบดูจิตโกรธ กับจิตไม่โกรธ ใครจะมีความสุขกว่ากัน เราจะเห็นว่า ความไม่โกรธมีสุขมาก คือ อภัย เราไม่โกรธ ไม่โกรธตอบ เรียกว่าให้ความไม่โกรธ ให้ความไม่มีภัย คือ ให้อภัย ก็มีความสุข ถ้าเรามีความโกรธ มีความไม่ให้อภัย เราจะต้องโกรธครุ่นคิด แล้วมีความทุกข์แค่ไหน เปรียบเทียบดู ขณะที่เราโกรธคนอื่นกับไม่โกรธ ใครจะมีความสุขกว่ากัน เพราะฉะนั้น พระองค์จึงตรัสว่า การให้อภัยเป็นความสุขอย่างประเสริฐ

    ท่านอาจารย์ คุณสุรีย์ จะขยายให้อภัยอีกไหม ว่าให้อย่างไร ให้อภัยนี่

    ผู้ฟัง เมตตา

    ท่านอาจารย์ ให้ความไม่เป็นภัย เพราะว่าคนโกรธ บางคนก็คิด ที่อยากจะว่าคนอื่น อยากจะทำร้าย อยากจะประทุษร้าย ด้วยกาย ด้วยวาจา แต่ขณะที่ให้อภัยก็คือว่า ไม่ทำ ในสิ่งนั้น ไม่ให้ความเป็นโทษเป็นภัย คือใช้วาจา หรือกายที่จะเป็นการประทุษร้ายบุคคลอื่น ด้วยความโกรธ

    ผู้ฟัง ถ้าเรานึกว่ามันแค่วิบากทางหู เพราะว่าเราเคยทำไว้ เขาก็มาทำเราให้อย่างนี้จะเป็นการให้อภัยไหม

    ท่านอาจารย์ อันนี้ไม่เกี่ยว เกี่ยวกับผู้โกรธ ให้อภัย หรือไม่ให้อภัย เพราะว่าถ้ามีใครที่ทำสิ่งที่ไม่ดีกับเรา ให้อภัยก็คือว่าเราไม่ได้ทำสิ่งที่ไม่ดีตอบแทนบุคคลนั้น คือ ไม่มีกาย วาจาที่จะทำร้ายเบียดเบียนคนอื่น ที่ทำสิ่งที่เป็นโทษกับเรา คือให้อภัย ไม่ให้ความไม่ดี เป็นการกระทำที่ไม่ดีทางกาย ทางวาจา เพราะว่าถ้าเราพูดว่า อภัยให้ แต่กาย วาจา ของเรากระทำสิ่งที่ไม่ดีเป็นการตอบแทน ขณะนั้นก็ไม่ใช่ให้อภัย

    ผู้ฟัง แต่นี้มันไม่มีแรง ไม่มีแรงจะทะเลาะ ก็เลยเฉยๆ อันนี้เป็นอภัย หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ อยู่ที่ใจๆ ไม่แสดงออกของวาจา

    ผู้ฟัง แต่มันก็ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างดีขึ้น เหตุการณ์มันดีขึ้นโดยที่ว่ามันไม่มีอะไรกัน การโต้ตอบ ความจริงมันอยาก อยากจะโต้ตอบ มันไม่มีแรง มันก็เลยเฉยๆ แต่มันก็ทำให้เหตุการณ์ดีขึ้น ดิฉันก็ว่ามันเป็นทางอ้อม

    ท่านอาจารย์ เราก็รู้ใจของเราสิ ว่าเราอยาก แต่ไม่มีแรงจะทำ ไม่ใช่ว่าอภัยจริงๆ

    ผู้ฟัง ถ้าอยากนั้นก็เป็นบารมี เป็นทานไปเลย

    ท่านอาจารย์ บารมี คือ อะไรที่อยากได้ แก้วแหวนเงินทอง อำนาจ วาสนา หรืออะไร แล้วบารมีคืออะไร ถ้าไม่รู้ว่าบารมีคืออะไร แล้วอยากได้บารมี จะได้ไหม ในเมื่อไม่รู้ว่าบารมีคืออะไร

    ผู้ฟัง ฟังเรื่องราว ไปเรื่อยๆ ก่อน

    ท่านอาจารย์ บารมีคืออะไร ที่บอกว่าจะได้เป็นทานบารมี ถ้าไม่เข้าใจบารมี แล้วจะเป็นทานบารมีได้อย่างไร

    ผู้ฟัง บารมี คือ ธรรม ทำให้ถึงฝั่งพระนิพพาน

    ท่านอาจารย์ มีโลภะเป็นปฏิปักษ์ ต่อบารมี

    ผู้ฟัง ถ้าพูดตามความเป็นจริงแล้วก็อยากได้ ทานบามี

    ท่านอาจารย์ อยากได้นี่ไม่ใช่ เข้าใจว่าเป็นเรื่องละ ไม่ใช่เป็นเรื่องได้ การศึกษาพระธรรมทั้งหมด เพื่อละความไม่รู้ เพื่อละกิเลส หรือใครอยากจะได้อะไร จากการศึกษาธรรม

    ผู้ฟัง ตามความเข้าใจของผม ผมคิดอย่างนี้ เมื่อไร ก็รู้สึกตัวว่า ขณะนี้มีโลภะเจือปน อยู่ในทานนั้นแล้ว

    ท่านอาจารย์ พระพุทธเจ้า ไม่ได้สอนให้ใครมีโลภะเลย ทุกอย่างแม้แต่บารมีก็ไม่ได้ เป็นไปเพื่อโลภะ

    ผู้ฟัง ผมถาม ก็ทำอย่างไร ถึงจะเป็นทานบารมี

    ท่านอาจารย์ อยากได้ จะเป็นได้อย่างไร

    ผู้ฟัง ทำไมถึงไม่อยากได้

    ท่านอาจารย์ อยากได้เป็นโลภะ ละ เป็นปัญญา

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์พูดในลักษณะจิต เกิดขึ้นทีละหนึ่งขณะ

    ท่านอาจารย์ เราต้องเข้าใจจริงๆ พอพูดถึงบารมีอยากได้บารมี ถูกต้องไหม

    ผู้ฟัง อันนี้ไม่ถูกต้องแน่นอน

    ท่านอาจารย์ แต่ถ้าเข้าใจว่าบารมี คืออะไร ขณะที่เข้าใจทุกอย่างที่ทำไม่ว่าจะเป็นกุศลประเภทใดก็เป็นบารมี เพราะเข้าใจถูกให้ทานโดยไม่หวังอะไร นอกจากโพธิญาณ หรือการสละกิเลส การละกิเลส ไม่ได้ต้องการอะไรจากการให้นั้น

    ผู้ฟัง ที่คิดจะเป็นทานบารมี นี่ก็ห้ามไม่ได้

    ท่านอาจารย์ มีแต่ชื่อ อยากได้ชื่อ

    ผู้ฟัง ได้ยินชื่อ

    ผู้ฟัง ถ้าเรื่องศีลไม่มี ข้ามไปเนกขัมมะ ถามอาจารย์ว่า เนกขัมมะบารมี มีการออกจากกาม และจากความมีโชคเป็นลักษณะ ออกจากความมีโชค เป็นอย่างไร

    วิทยากร. ความมีโชค เรามีสิ่งที่ได้มามากๆ หรือได้มา สิ่งที่ได้มา เรียกว่า โชค สละหมดเลย สละเพราะว่านั้นเป็นวัตถุกามทั้งสิ้นเลย ก็สละออกเสีย เมื่อสละสิ่งนั้นแล้ว ไม่ยินดี เหมือนเราพอใจในสติปัฏฐาน เราก็มนสิการ พิจารณาทั้งนาม และรูปเสมอ ไม่ต้องการสิ่งอื่น นี่เป็นเนกขัมมะ สำหรับฆราวาส หรือเราจะได้สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ที่เราชอบใจวัตถุ เป็นสีที่สวยงาม กลิ่นที่หอมเป็นต้น เราก็ไม่เอา สละโชคสิ่งที่ควรจะได้ เราก็สละ เราเห็นว่าสิ่งทั้งปวง เป็นของไม่มีสาระ

    ผู้ฟัง การออกจากกาม คำว่า ออกจากกาม ถ้าเราตีความ จากความมีโชคเป็นวัตถุกาม ออกจากกามในที่นี้ก็เป็นกิเลสกามหรือ หรือใช้ทั้งวัตถุ ทั้งกิเลส

    ท่านอาจารย์ ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นก็ออกจากความติดข้อง ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เวลาที่ให้ทานอย่างนี้ ขณะนั้นเพราะว่าไม่ติดในวัตถุ ที่จะให้ไม่เป็นอกุศล ในขณะใด ไม่ติดข้อง

    ผู้ฟัง แล้วประกาศโทษ ประกาศโทษของกามนั้นเป็นกิจ

    วิทยากร.เป็นกิจคือการงานของเนกขัมมะ ประกาศโทษว่ากามมีโทษอย่างนี้ๆ ราคะคิ โทสะคิ โมหะคิ กาม คือ โลภะเป็นไฟ นี่ประกาศโทษว่ามีความเร่าร้อน แต่ว่าความเร่าร้อนจะปรากฏในภายหลัง หรือบางคนก็ปรากฏ กำลังปรากฏเลย ประกาศโทษไม่ดี กามไม่ดี เพราะฉะนั้น จึงมีการออกจากกาม คำว่า ออกจากกามมี ๒ อย่าง เป็นพระที่ต้องการจะบวชอย่างหนึ่ง เป็นฆราวาสที่มีสติปัฏฐานอีกอย่างหนึ่ง เป็นการออกจากกาม ขณะที่มีนามรูป ก็เป็นการออกจากกาม เพราะเห็นนามรูปเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา คำว่า อนัตตา อย่าเข้าใจเพียงว่าไม่มีตัวตนเท่านั้น ต้องเข้าใจถึงว่า บังคับบัญชาไม่ได้ เช่น ตัวเราไม่มี มีแต่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ เราบังคับรูปได้ไหม ไม่ได้ เราบังคับ คำว่าเราคืออัตตานั่นเอง บังคับไม่ได้ เมื่อบังคับไม่ได้ ท่านจึงเรียกว่า เป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ เป็นไปตามปัจจัย เนกขัมมะ แปลว่า การออกจากกาม

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นในขณะซึ่งเรากำลังฟังธรรม ขณะสติปัฏฐานเกิด ขณะจิตนั้นก็เป็นการออกจากกามใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นไม่ได้ติดข้อง จึงเป็นกุศล แล้วที่ว่ามีการประกาศโทษของกาม เวลาที่คุณสุรีย์จะให้อะไรใคร ต้องประกาศหรือเปล่า ต้องประกาศโทษ หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ต้อง

    ท่านอาจารย์ แต่หมายความว่า ขณะนั้นเห็นโทษของกาม โดยที่ว่าเราไม่จำเป็นต้องมานึกไป นึกมา เห็นโทษอย่างนั้น อย่างนี้แล้ว ถึงจะให้ แต่ในขณะนั้นเอง จิตของเราที่เกิดกุศล ขณะนั้นก็แสดงว่าเห็นประโยชน์ หรือว่าเห็นโทษของการที่ยังติดอยู่ ในขณะนั้นจึงมีการให้ โดยไม่ใช่หมายความว่าเราต้องคิดเป็นคำ หรือต้องมานั่งไตร่ตรอง

    ผู้ฟัง ภาษาทำให้ไม่เข้าใจ ถ้าเราเห็นโทษในสิ่งนี้เราก็ ละ แล้ว ก็ใช้คำว่า ประกาศ ดิฉันก็เหมือนกับโฆษณาหนัง อะไรก็เลยต้องถาม

    ท่านอาจารย์ ลองคิดถึงความจริง พอคุณสุรีย์ จะให้อะไรใครต้องประกาศหรือเปล่า เวลาที่จะรักษาศีล หรือว่าเว้นวิรัติการฆ่า การกระทำทุจริต ต้องประกาศโทษหรือเปล่า แต่เห็นว่าสิ่งนั้นไม่สมควรจะกระทำ เท่ากับว่าเราเห็นโทษของสิ่งนั้นหรือเปล่า ที่เรางดเว้น อย่างการฆ่า ถ้าเราเว้นไม่ฆ่า หมายความว่า เราเห็นโทษของการฆ่า เราจึงไม่ฆ่า แต่ไม่ใช่ว่าต้องมาประกาศโทษใช่ไหม แต่การที่เราไม่ฆ่า ก็เหมือนกับเราประกาศโทษของการฆ่าอยู่ในตัว

    ผู้ฟัง สุดท้าย มีความสลดใจเป็นเหตุใกล้ให้เกิด คือภาษาไทยสลดใจ มันเศร้าโศก ร้องไห้ แล้วตอนนี้ อันนี้มันหมายความว่าอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ไม่ติด ออกจากกาม แปลว่าไม่ติดในกาม

    ผู้ฟัง เป็นกุศล คำว่า สลดใจ ในที่นี้ ไม่ติดในกาม

    ท่านอาจารย์ เวลานี้ถ้าเกิด อะไรๆ ก็สวย อะไรๆ ก็ดี อะไรๆ ก็อร่อย สลดใจหรือเปล่า

    ผู้ฟัง น่าจะสลดใจ โลภะ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็ตรงกันข้าม ก็น่าสลด มันชั่วขณะจริงๆ เห็นนิดเดียวอร่อยนิดเดียว อะไรๆ ก็อย่างละเล็ก อย่างละน้อย แล้วมันก็หมดทั้งนั้น น่าสลดใจไหม

    ผู้ฟัง ความสลดใจ มีความหมายหลายอย่าง เช่น เราเป็นฆราวาส เป็นที่ตั้งของกิเลส เป็น อโภกา ไม่มีช่องว่าง เป็นที่ตั้งของกิเลสคือ นิวรณ์ ๕ เมื่อเป็นบรรพชิต เป็นโอกาส อันนี้ก็สลดใจๆ นี่ ถ้าเราไม่มี ก็ไม่มีความเพียร ความเพียรเกิดจากความสลดใจ ทุกวันนี้เราไม่มีความสลดใจ ความเพียรของเราจึงอ่อน มีความหมายหลายอย่าง ความสลดใจ แต่ขณะที่สลดใจ ถ้าสลดใจด้วยอำนาจกิเลส ก็มี เช่น เราเห็นคนกำลังทุกข์ ตกทุกข์ได้ยาก มีความสลดใจ มีความเสียใจ ตอนนี้ยังไม่เป็นกุศล เป็นอกุศล สลดใจ เกิดจากโทสะ เมื่อเราช่วยเหลือเป็นกรุณา ตอนนั้นเป็นกุศล เพราะฉะนั้น เป็นการสลดใจ ต้องมุ่งถึงว่าสิ่งใดที่ท่านกล่าวถึง ต้องพูดถึงให้พร้อมกับสิ่งนั้น

    ท่านอาจารย์ สัง-เว-ชะ ต้องเป็นเรื่องของปัญญาแน่นอน ไม่อย่างนั้นไม่มีทางที่จะสลดใจ หรือว่าจำหน่าย คลายความยินดี

    วิทยากร. พิจารณา กุศลกับอกุศล ตรงนี้ก็ได้ ขณะที่จิตของเราเศร้าหมอง หรือผ่องแผ้ว ถ้ามันเศร้ามอง ก็ทำนองขณะนั้นเป็นกิเลส มีกิเลสปกคลุมอยู่ เราไม่ได้พูดถึงปัจจัย ถ้าขณะนั้นเป็นจิตผ่องแผ้ว ต้องเป็นกุศลแน่นอน แต่ว่าขณะที่จิตเราเศร้าหมอง เป็นอกุศลแน่นอน แต่พูดถึงปัจจัยอีกอย่างหนึ่ง แต่ว่าเป็นปัจจัยให้อะไรเกิดนั้นอีกส่วนหนึ่ง เป็นคนละขณะ เพราะว่าจิตมั่นแล่นเร็วเหลือเกิน เร็วมาก

    ท่านอาจารย์ เวลาไปนมัสการสังเวชนียสถาน คุณสุรีย์ รู้สึกอย่างไร

    ผู้ฟัง ถามจริงๆ ก็บอกว่าเหนื่อยๆ ๆ

    ท่านอาจารย์ ไม่มีทั้ง ๒ อย่าง คือไม่ทั้งสลดใจ ไม่ทั้งผ่องแผ้ว

    ผู้ฟัง ไม่ ถ้าพูดถึงจริงๆ ดิฉันเหนื่อยๆ ตรงนั้น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ขณะนั้น ตรงนั้น ไม่ใช่กุศล แต่ถ้าคนที่ไปมีปัญญา ก็จะได้สาระจาก สถานที่ทุกแห่ง เห็นความไม่เที่ยง แม้แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ปรินิพพาน ไม่มีใครที่สามารถจะอยู่ ไปได้เรื่อยๆ โดยที่ไม่ตาย เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นถึง ความสลดจากการที่เคยติดข้อง ในสิ่งที่มี และด้วยความที่ไม่เคย เข้าใจถูกต้อง

    แต่ถ้าได้เห็นทั้งสถานที่ประสูติ กว่าจะได้บำเพ็ญพระบารมีถึงพระชาติสุดท้าย ซึ่งจะไม่มีการเกิดอีกต่อไปเลย นั่นก็แสดงให้เห็นถึงพระมหากรุณาคุณ พระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ เพราะว่าคนที่จะไม่เกิดก็คือ ผู้ที่เป็นพระอรหันต์ เรื่องการเกิดใครยับยั้งไม่ได้เลย นามธาตุจิต ใครต้องการให้เกิด หรือไม่ต้องการให้เกิด ไม่ได้อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร เพราะเหตุว่าเป็นธาตุ เป็นสิ่งที่มีจริง ซึ่งใครจะเปลี่ยนลักษณะนั้นไม่ได้เลย สิ่งที่มีจริงที่มีลักษณะพิเศษ เป็นสภาพรู้ หรือธาตุรู้ คือจิต และเจตสิก ซึ่งเกิดขึ้น เกิดแล้วเป็นธาตุที่จะทำให้ เมื่อจิตนั้นหมดสิ้นไป ก็เป็นปัจจัยให้จิต เจตสิกขณะต่อไป เกิดขึ้น ไม่มีใครต้องทำอะไรเลย เป็นลักษณะของความเป็นธาตุชนิดนั้น ซึ่งไม่มีใครไปยับยั้งการเกิดของจิต เจตสิก ซึ่งจะต้องสืบต่อกันไป

    เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ใดที่มีปัญญา ถึงขั้นที่จะดับความเกิดของจิต เจตสิกได้ ต้องอบรมเจริญปัญญา แล้วก็ เวลาที่มีความสลดใจ คือเห็นจริงๆ ว่าการเกิดไม่มีใครยับยั้งได้ ต้องเกิด จนกว่าปัญญาที่สามารถจะหยุดเกิดได้ ถึงจะไม่มีการเกิดขึ้นอีก ถ้าจะเป็นปัญญาที่พิจารณา เห็นความไม่เที่ยง แม้ว่าจะได้บำเพ็ญพระบารมีมา ประสูติเป็นครั้งสุดท้าย แล้วก็ปรินิพพาน ไม่มีการเกิดอีกเลย และยังมีการตรัสรู้ด้วย ก็จะได้เห็นความจริงว่าทุกแห่งเป็นสถานที่ที่ควรสลด สังเวชที่นี่ ไม่ใช่เสียใจ ไม่ใช่ร้องไห้ แต่สลดจากการที่จะคงมีความต้องการปรารถนาในสังสารวัฏฏ์อีกต่อไป ถ้าไม่เกิดก็ไม่เกิด ไปนมัสการกี่ครั้งก็เป็นอย่างนั้นแหละ บางคนก็ไปร้องไห้ที่นิพพานก็ไม่ได้เข้าใจความจริงของการเป็นสังเวช ที่จะต้องมีปัญญาที่จะรู้ และที่ทำให้ความรู้นั้นหน่ายจากการที่ เราต้องการจะเกิดอีกต่อๆ ไป ถ้าใครก็ตามที่นับถือพระพุทธศาสนา แล้วก็ยังต้องการจะเกิดอีกต่อๆ ไป ก็แปลว่า ยังไม่ได้มีปัญญา ถึงระดับที่จะเกิดสังเวช คือความสลดจากการที่จะติดข้องในสภาพธรรม เวลาที่มหากุศลญาณสัมปยุตต เกิดร้องไห้หรือเปล่า เศร้าใจหรือเปล่า เกิดพร้อมกับอุเบกขาเวทนา หรือโสมนัสเวทนา แต่ไม่ใช่โทมนัสเวทนา

    ผู้ฟัง ศีลต่อจากทาน ถ้าเรารู้เรื่องศีลโดยเฉพาะฆราวาสปกติอย่างเช่น พวกเรา เราก็จะรู้จักศีล ๕ ในขณะที่สมาทานศีล ให้มีศีล เช่น การไม่ฆ่า เป็นต้น ให้ชีวิตกับคนอื่น ที่เราจะฆ่า แล้วเราก็ไม่ฆ่าเสีย อาจจะเป็นเรื่องของวิรัติ หรือเป็นเรื่องของการที่สมาทานไว้ ว่าจะปฏิบัติอย่างนั้น ตรงนี้มันน่าจะศีลมาก่อนทาน ทำไมท่านถึงจัดทานมาก่อนศีล

    ท่านอาจารย์ อะไรจะง่ายในชีวิตประจำวัน ทาน หรือศีล

    ผู้ฟัง ถ้าเผื่อไม่มีอะไรให้ ก็ศีลดีกว่า ไม่เสียสตางค์

    ท่านอาจารย์ แต่ถ้าพูดถึง เรื่องทาน มีโอกาสที่จะเกิดน้อย หรือมากกว่าศีล

    ผู้ฟัง สมมติว่าวิรัติที่จะพูดปด ก็ทำได้ง่ายอยู่แล้ว หรือว่าหลายคนอาจจะบอกว่าทำได้ยาก

    ท่านอาจารย์ วันนี้ศีลเกิดหรือยัง

    ผู้ฟัง วันนี้หรือ ศีล ถ้าเผื่อศีล ๕ ก็มี บางอย่างที่เราคิดอยากจะฆ่าแล้วเราก็ไม่ได้ฆ่า ก็เป็นวิรัติ

    ท่านอาจารย์ ตั้งแต่เช้ามานี่มีอะไร ที่จะฆ่าบ้าง

    ผู้ฟัง มีพวกมดที่เดินมาแล้วมันมาทำให้เรารำคาญ เราก็ไม่ฆ่าเขา ขณะนี้ก็วิรัติแล้ว

    ท่านอาจารย์ คุณวีระคงเห็นมดบ่อย ตั้งแต่เช้าที่จริงแล้วคงไม่ใช่เรื่องอย่างนี้ แต่แสดงให้เห็นว่าเรื่องของศีล เป็นเรื่องของกายวาจาซึ่ง มีประจำอยู่ตลอด กายเราก็มี วาจาเราก็มี แต่ว่ามีโอกาสที่จะล่วงได้ ถ้าขณะนั้นกุศลจิตไม่เกิด แล้วสำหรับทานนี้ก็เป็นการสละวัตถุเป็นครั้งคราว ซึ่งการสละวัตถุเป็นครั้งคราวน่าจะทำ ได้ เป็นบางกาละ แต่สำหรับศีลบารมี เป็นเรื่องของกายวาจาซึ่งจะต้องงดเว้น หลายอย่าง เช่น งดเว้นการฆ่า งดเว้นการถือเอาสิ่งของที่คนอื่นไม่ได้ให้ หรือทางกาย แล้วก็ทางวาจา ยังวจีทุจริตอีก นี่ก็เป็นเรื่องที่ถ้ารู้ความละเอียดของวาจา ก็จะรู้ได้ว่าวันนี้เราเว้น อะไรบ้างที่เกี่ยวกับวาจา ถ้าเราเว้นไม่พูดปด ไม่พูดสิ่งที่ไม่จริง คำหยาบ คำที่ทำให้คนอื่นไม่สบายใจ เราเว้นบ้างไหม เพราะบางทีเราก็ลืมคิดถึงคนฟัง บางทีคำธรรมดา แต่เสียงแข็ง เวลาจะบอกให้ใครให้ทำอะไร แต่ก็เสียงแข็ง แทนที่จะบอกด้วยความนุ่มนวล หรือว่าใช้คำพูดที่จะทำให้เขาสบายใจ ก็เป็นลักษณะประจำตัวของบางคน ซึ่งเขาก็บอกว่า เขาเป็นอย่างนี้ เป็นนิสัยของเขา ก็เพิ่งคุยกับบางคน เขาก็เล่าว่า เสียงเขาเป็นอย่างนี้ แต่คุณแม่เขา ก็โกรธทุกครั้งที่เขาพูดด้วย คุณแม่ก็จะต้องบอกว่า ทำไมใช้เสียงอย่างนี้กับแม่ แต่ว่าเขาก็บอกว่านี่เป็นธรรมดาของเขาที่เป็นอย่างนี้ แต่ถ้าเขาศึกษาธรรมเพิ่มขึ้นก็จะมีการเข้าใจจิตใจของคนฟัง แล้วเสียงที่แข็งก็อาจจะลดลง จริงๆ แล้วเราจะเห็นตัวอย่างจากหลายๆ คนซึ่งเหมือนกับเป็นการสอนใจเรา เพราะบางคนเขามีคำพูดที่น่าฟังมาก เขาจะไม่บอกให้ใครทำอะไรด้วยเสียงแข็งๆ แต่ทั้งๆ ที่เขามีโอกาส ที่จะพูดได้ แต่เขาก็บอกว่าทำนี่ได้ไหม อะไรอย่างนี้แม้ว่าเป็นคนที่เขาอาจจะออกคำสั่งได้ แต่เขาก็บอกทำนี่ได้ไหม ไปนี่ให้หน่อยได้ไหม คือทุกอย่างของเขา ไม่ว่าจะเป็นคำที่พร้อมทั้งเสียง และวาจาด้วย ทีนี้เราก็ไปเพ่งเล็งแต่เฉพาะคำหยาบ แต่ทีนี้คำหยาบเกิดจากอกุศลจิตนี้แน่นอน แต่คำที่เราใช้เป็นปกติประจำวัน เกิดจากกุศลจิต หรือจากอกุศลจิต นี่ก็เป็นเรื่องซึ่งก็ละเอียดขึ้น เพราะว่าสภาพธรรม แต่ละข้อ ก็จะค่อยๆ ละเอียดขึ้น

    ผู้ฟัง ฟังแล้ว ก็เหมือนกับว่า ขณะที่เราจะอ่อนน้อมหรือเราจะทำความเรียบร้อย หรือแม้กระทั่งคำพูดที่จะออกมาให้เป็นคำพูดที่ไพเราะ แล้วก็แสดงความเคารพ มันค่อนข้างที่จะทำยาก ถ้าเผื่อเรามีอุปนิสัยอย่างนั้น แต่ถ้าเผื่อเป็นทานแล้ว เราสามารถจะทำออกไปได้ง่าย เช่น การให้ของผู้อื่น อย่างนี้หรือ

    ท่านอาจารย์ ละเอียดขึ้นๆ จากทาน ซึ่งก็เป็นการให้โดยที่ว่าไม่ต้องมีความละเอียดมากมาย ถึงกายวาจา เพียงแต่สามารถที่จะสละวัตถุให้ แต่ว่าเมื่อถึงศีล เนกขัมมะหรืออะไร ก็เป็นการละเอียดขึ้นๆ ของการที่จะเป็นกุศลจิต

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น การที่เรียบเรียงเป็นทานบ้าง แล้วก็ศีล แล้วก็เนกขัมมบารมีก็คือแสดงให้เห็น ความละเอียดของแต่ละบารมี ที่จะสูงๆ ขึ้นไปอย่างนั้น ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เพิ่มขึ้น แต่แม้แต่ทานก็อย่างที่เราพูดถึง เมื่อเช้านี้ ให้ด้วยความเคารพ แต่ก่อนนี้ เราอาจจะให้ด้วยการที่ว่าเป็นผู้ให้ มีฐานะเป็นผู้ให้ แต่ต่อไปเราจะคิดถึงใจคนรับ ว่าถ้าเราให้อีกอย่างหนึ่ง เขาจะสบายใจกว่า ก็เป็นเรื่องความละเอียดของกุศล

    ผู้ฟัง บารมี ๑๐ อย่างนี้ ที่เราให้ทาน เราให้ด้วยของ ในที่สุดให้ด้วยชีวิต คือหมายความว่าเรามีศีลแค่ศีล ๕ กับเรามีการให้ทานด้วยชีวิต มันต่างกันมาก นั่นคือระดับของบารมี ใช่ไหม เช่น บารมีของทาน และ บารมีของศีล เป็นต้น

    ท่านอาจารย์ ถ้าจะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องครบ ๓๐

    วิทยากร. บารมีมี ๓ ขั้น ขั้นต้นก็เรียกว่า บารมี อุปบารมี บารมีที่มีกำลัง เรียกว่า เป็นขั้นกลาง แล้วปรมัตถบารมี บารมีที่มีประโยชน์สูงสุด

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 103
    25 มี.ค. 2567