ปกิณณกธรรม ตอนที่ 610


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๖๑๐

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๔๕


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ถ้าสามารถที่จะมีความดีเพิ่มขึ้น การติดข้องในตัวตนก็น้อยลง จนกว่าสามารถที่จะดับได้

    ผู้ฟัง ขอบคุณ

    ผู้ฟัง เรียนถามที่บอกว่า ไม่ควรคบคนอื่นจนหมดสิ้นก็หามิได้ ไม่ควรคบมากเกินไป ไม่ควรคบพร่ำเพรื่อ แต่ควรคบสัตว์ที่ควรคบตามกาลเทศะ มันเหมือนกับขัดกันเอง หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ประโยคที่ว่าไม่ควรคบในผู้อื่นจนหมดสิ้นก็หามิได้หมายความว่าต้องคบจนหมดสิ้น ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ต้องคบจนหมดหัวใจ หมายความว่าต้องหวังดีกับเขาตลอด อะไรอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ ถ้าใครคบใครอย่างนี้ คนที่ถูกคบด้วยคงดีใจ ใช่ไหม เป็นคนที่จริงใจ ตลอดเวลา สม่ำเสมอไม่ใช่ว่าบางครั้งจริงใจ บางครั้งไม่จริงใจ

    ผู้ฟัง แต่ประโยคถัดมา ไม่ควรคบมากเกินไป แถมไม่ควรคบพร่ำเพรื่อด้วย

    ท่านอาจารย์ เวลาที่เราคบใครมากเกินไป จะสังเกตไหมว่า มีอกุศลเกิดขึ้น จากความสนิทสนมคุ้นเคย เพราะฉะนั้น การคบก็เป็นเรื่องที่สำคัญที่เรา จะต้องรู้ว่าคบแล้วเกิดกุศลจิต หรือคบมากแล้วก็เกิดอกุศลจิต ถ้าเรารู้จักใครนิดหน่อย กายวาจาของเราก็ไม่เป็นภัยเป็นโทษกับเขา แต่พอคุ้นเคยมากขึ้นกิริยาอาการก็ชักจะ สนิทสนมเกินควรได้ ใช่ไหม มันก็เป็นโทษเป็นภัยได้ จริงๆ แล้วทรงแสดงถึงความเหมาะความควร ทุกอย่าง ความเป็นประโยชน์ ต่อกัน และกันในการคบ

    ผู้ฟัง ไม่ควรคบมากเกินไป นี่หมาย คบคนจำนวนมาก

    ท่านอาจารย์ ต้องเลือกคนที่จะคบ

    ผู้ฟัง เลือกคนที่จะคบ แล้วไม่ควรคบคนมากเกินไป ก็ต้องเลือกคนเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ ถ้าพร่ำเพรื่อ ก็คงลำบาก คบพวกทุจริต คบพวกอะไรๆ ต่างๆ เพราะฉะนั้น เวลาจะคบใคร เลือกคบด้วย

    ผู้ฟัง แต่คบสัตว์ที่ควรคบ ตามกาลเทศะนี่

    ท่านอาจารย์ ตามสมควร เวลาคบใครเรามีเพื่อนหลายคน แล้วก็ต่างอัธยาศัยกัน แต่ละคนเราจะคบเท่าๆ กันเหมือนๆ กันหรือว่าตามความสมควร

    ผู้ฟัง โดยพฤตินัยก็น่าจะเป็นตามสมควร ในที่นี้ก็เป็นเครื่องเตือน ก็ให้คบด้วยกุศล

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ตามประโยคแรกที่ว่า ปฏิบัติในสหายเหมือนอย่างที่เคยปฏิบัติมา ด้วยให้ออกจากอกุศล และให้ตั้งอยู่ในกุศล อันนี้คือการคบที่ดี ไม่ว่าคบใครก็ตาม ก็ให้เขาออกจากอกุศล และให้ตั้งอยู่ในกุศลเสมอๆ อย่างที่เคยปฏิบัติมา เมื่อเขาอยู่ต่ำกว่า ไม่ควรวางตนในที่สูงกว่า อันนี้ก็สำคัญสำหรับความเป็นมิตรจริงๆ คือไม่มีอะไรที่จะเป็นเครื่องกั้น

    ผู้ฟัง ประโยคที่ว่า ไม่ติเตียนคนที่รัก หรือสรรเสริญคนที่ไม่รักต่อหน้าผู้อื่น อันนี้จะมีข้อดีข้อเสียอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ถ้าใครทำอย่างนี้ คนอื่นที่ได้ยินก็ต้องว่า คนนี้ปากไม่ตรงกับใจ ใช่ไหม คนที่ควรติเตียนก็สรรเสริญ ไม่ติเตียนคนที่รัก เพราะว่าถ้าเรารักแล้วเราติเตียนต่อหน้าคนอื่น คนอื่นก็จะเข้าใจว่าเราต่อหน้าอย่าง ลับหลังอย่าง หรือว่าทำให้เขาเข้าใจผิด คิดว่าปากกับใจเรา ไม่ตรงกัน

    ผู้ฟัง ไม่วิสาสะกับคนที่ไม่คุ้นเคย อันนี้หากว่าเราจะถือว่า การวิสาสะเพื่อสร้างความคุ้นเคย มันก็น่าจะดีเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ แต่ตามมารยาท เราไม่คุ้นเคยแล้วเราจะไปทำวิสาสะ เหมือนอย่างเราคุ้นเคยได้ไหม พึ่งพบกันครั้งแรก แล้วเราก็ไปทำอะไร เหมือนอย่างที่เรา ประพฤติกับคนที่คุ้นเคย ก็ไม่ได้ ใช่ไหม

    ผู้ฟัง การเชื้อเชิญที่เป็นธรรม มีตัวอย่างอย่างไรบ้าง ที่บอกว่าไม่ปฏิเสธการเชื้อเชิญที่เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ ที่จริง เข้าใจว่าเป็นเรื่องของประโยชน์ในทางฝ่ายกุศลทั้งนั้น ถ้ามีใครเชื้อเชิญไปสนทนาธรรม ไปไหม

    ผู้ฟัง ไป

    ท่านอาจารย์ ถ้าเชื้อเชิญไปทำอย่างอื่น

    ผู้ฟัง ก็ต้องนึกดูก่อนว่า ให้ไปทำอะไร

    ท่านอาจารย์ แล้วจะเป็นประโยชน์ หรือไม่ ถ้าการคบกันจริงๆ ประโยชน์ สำคัญที่สุดคือให้คนนั้นเกิดกุศล อันนี้จะเป็นเพื่อนที่ดี ทีนี้ ถ้ามีการเชื้อเชิญที่เป็นธรรม เช่นสนทนาธรรม จะเป็นประโยชน์ กับเขา ก็ควรจะไป แต่ถ้าเชื้อเชิญอย่างอื่น เราก็ต้องคิดอย่างที่ว่า จะเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์

    ผู้ฟัง เราอ่านมาทั้งหมด เมื่อกี้ ที่บอกว่า ไม่ควรคบในผู้อื่นจนหมดสิ้นก็หามิได้ หรือว่าอะไรต่างๆ ไม่วิสาสะกับคนที่ไม่คุ้นเคย อะไรเหล่านี้ ก็เหมือนข้อปฏิบัติธรรมดาๆ เลย อย่างนี้จะเป็นบารมีอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ธรรมดามี ๒ อย่าง ธรรมดาอย่างดี กับ ธรรมดาอย่างไม่ดี เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นบารมีก็ต้องธรรมดาอย่างดี โดยเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ เพราะความละเอียดทั้งหมด ต้องมาจากใจ ถ้าเราสามารถที่จะรู้ใจที่ละเอียด กาย วาจาของเราก็จะละเอียดขึ้นในทางที่ดี แต่ถ้าเราเป็นคนที่กิริยาอาการที่ไม่ละเอียดเลย แล้วก็ไม่สนใจฟังธรรมเลย แล้วไม่มีการขัดเกลาเลย เราย่อมเป็นผู้ที่ไม่ละเอียดมากขึ้น ศีลก็เป็นเรื่องของกายวาจา ซึ่งเกิดจากใจ เพราะฉะนั้น เราจะรู้ว่าใจของใครเป็นอย่างไร ก็ต้องจากกาย วาจา เท่านั้น ถ้านั่งเฉยๆ จะรู้ไหม ไม่มีทางรู้ได้เลย

    ผู้ฟัง ขอเรียนถาม เรื่องเนกขัมมะ ที่เป็นบารมี มีลักษณะเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เวลาที่จะสละอาคารบ้านเรือน ที่เราเข้าใจว่าเนกขัมมะ คือ การออกบวช ใช่ไหม ออกจากอะไร ที่เราออกจากบ้าน

    ผู้ฟัง อย่างอยู่บ้าน ใช่ไหม ก็มีสิ่งที่ให้ติดให้อะไรมากมาย

    ท่านอาจารย์ กามทั้งนั้นเลย ใช่ไหม ออกจากความติดข้องในกาม ในลักษณะของบ้านเรือน ญาติพี่น้องวงศาคณาญาติ ความเพลิดเพลินอย่างคฤหัสถ์ ดูหนัง ดูละคร ดูทีวี ฟุตบอลอะไรก็แล้วแต่ ทั้งหมดก็เป็นการติดในกาม เพราะฉะนั้น ออกจริงๆ ก็คือขณะที่กุศลจิตเกิด ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นจะเป็นความติดในกามไม่ได้ แต่ว่ากุศลจิตก็เกิดไม่มาก ไม่บ่อย แล้วก็เป็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ด้วยทานบ้าง ด้วยศีลบ้าง เรายังไม่หมดที่จะออกจากกามจริงๆ

    ผู้ที่ออกจากเรียนบวชเป็นบรรพชิต ท่านเห็นโทษของการคลุกคลี การติดข้อง ในบ้านเรือนในวงศาคณาญาติ แล้วต้องเป็นผู้ที่มีอัธยาศัยใหญ่ ใช้คำว่า อัธยาศัยใหญ่ ในการที่ออกจากเรือน เพราะว่าออกยากไหม ที่บ้านมีตั้งหลายคน พี่ก็มี น้องก็มี หลานก็มี ทั้งหมดเลย ใช่ไหม เพราะฉะนั้น การที่จะออก ต้องค่อยๆ ออก ถ้าจะออกจริงๆ ไม่ใช่ว่าออกได้ง่ายๆ คฤหัสถ์ก็เป็นพุทธบริษัทได้ บรรพชิต ก็เป็นพุทธบริษัทได้ ไม่มีการบังคับเลย แล้วแต่อัธยาศัย ว่าผู้ใดจะมีอัธยาศัยในการออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิตในการอบรมเจริญปัญญา หรือว่าผู้ที่ไม่มีอัธยาศัย ท่านก็เจริญปัญญาในเพศของคฤหัสถ์ได้ ท่านก็ออกจากกามแน่นอน เวลาที่กุศลจิตเกิด แล้วก็เวลาที่ปัญญาเกิด เวลาที่รู้แจ้งอริยสัจธรรม อย่างเวลาที่แสดงธรรมกับ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี แสดงอะไร

    ผู้ฟัง แสดง อนุปุพพิกถาก่อน

    ท่านอาจารย์ มีอะไรบ้าง

    ผู้ฟัง มีทานกถา สีลกถา สัคคกถา กล่าวถึงสวรรค์ กามาทีนวกถา กล่าวถึงโทษของกาม เนกขัมมานิสังสกถา กล่าวถึงอานิสงส์ของเนกขัมมะ

    ท่านอาจารย์ แส้วท่านอนาถบิณฑิกะ ผลคืออะไร เมื่อฟังพระธรรมเสร็จแล้ว

    ผู้ฟัง ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้บวช ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้บวช

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น การออกจากกาม ก็คือขณะที่กำลังอบรมเจริญปัญญา เป็นกุศลจิต สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ แต่ถ้าออกได้เด็ดขาดไม่เกิดอีกเลย ก็ต้องถึงขั้น พระอนาคามีบุคคล

    ผู้ฟัง บวชเนกขัมมะ มีทั้งหญิง ชาย คือแค่ศีล ๘ แล้วก็ทำสมาธิ สมถะ ฝึกจิตเท่านั้น เท่าที่ไปประสบมา

    ท่านอาจารย์ ฟังธรรมไม่ต้องใส่ชุดขาวได้ไหม

    ผู้ฟัง ได้

    ท่านอาจารย์ แล้วทำไมต้องใส่

    ผู้ฟัง คิดว่าเป็นธรรมเนียมของเขาที่ ชุดขาวเหมือน เป็นความบริสุทธิ์มากกว่าที่ เขาถึงให้ใส่ชุดขาว

    ท่านอาจารย์ คนที่ไปก็มีกิเลสกันทั้งนั้น เหมือนตอนที่ไม่ได้ใส่

    ผู้ฟัง เพียงแต่กดไว้ พยายามจะกดกิเลสไว้

    ท่านอาจารย์ ไม่ ไม่ได้เลย คืออะไรที่ไม่เป็นเหตุผล เราไม่ได้เหตุผลเลย แล้วเราทำตามนั้นแต่ว่า เราเริ่มเข้าไปหาความไม่มีเหตุผล แล้วเราก็จะไม่มีเหตุผลยิ่งขึ้น

    ผู้ฟัง ปรากฏว่า เขาไปบวชเนกขัมมะ แต่งตัวอย่างไรก็ได้นี่ แล้วผู้ที่ดูแลรู้ได้อย่างไรว่า

    ท่านอาจารย์ บวชเนกขัมมะ แปลออกมาแล้ว แปลว่าอะไร นี่คือไปรักษาศีล ๘ แล้วก็ไปฟังพระธรรม เพราะฉะนั้น ควรจะแต่งอะไรก็ได้ เพราะว่าการที่เราจะรักษาศีล ๘ ไม่จำเป็นต้องใส่สีขาว แล้วการที่เราจะฟังพระธรรม ก็ไม่จำเป็นต้องใส่สีขาว เพราะฉะนั้น ยังไม่ได้ชี้แจงให้เข้าใจว่า ทำไมต้องสีขาว

    ผู้ฟัง เพื่อแยกแยะว่าใครที่อยู่ตรงส่วนนี้บ้าง

    ท่านอาจารย์ แยกไม่ได้ เพราะว่าก่อนใส่สีขาวก็มีกิเลส ใส่แล้วก็มีกิเลส

    ผู้ฟัง แปลว่าคนที่มีกิเลส แต่ว่าไม่แต่งสีขาว ไม่ได้เข้ามาเพื่อ

    ท่านอาจารย์ เขาตั้งใจฟังธรรมก็ได้ ตั้งใจฟังธรรมแล้วก็ย่อมขัดเกลา ความไม่รู้ เพราะฉะนั้น ทุกอย่าง ต้องตั้งต้นด้วยความถูกต้อง ถ้าไม่ตั้งต้นด้วยความถูกต้อง เราจะไม่เข้าใจเหตุผลที่ทำไม เราทำอย่างนั้น ถ้าเราเริ่มเป็นคนที่ไม่มีเหตุผล เราก็จะไม่มีเหตุผลไปตลอด ใครบอกให้ทำก็ทำ ใครบอกให้เชื่อก็เชื่อ แต่ถ้าเราสามารถที่จะมีเหตุผล ตั้งแต่ต้น เราก็จะไม่ถูกใครหลอกเลย

    ดิฉันเคยได้รับเชิญไปพูดธรรม เวลาที่มีการ สมัยนั้นเขาเรียกบวชชีพราหมณ์ ยังไม่มีเนกขัมมะ ทุกคนก็ใส่สีขาวหมดเลย แล้วดิฉันก็ถามบอก ทำไมถึงใส่สีขาว เขาบอกว่ารักษาศีล ๘ รักษาศีล ๘ ไม่ต้องใส่สีขาวก็ได้ เขาบอกเพราะสวยดี นี่คือคำตอบ ไม่ทราบคิดอย่างไร

    พวกเราที่นั่งอยู่ที่นี่มีเนกขัมมะกันบ้างหรือเปล่า นี่ก็เป็นเรื่องที่เราจะพิจารณา การเกิดดับอย่างรวดเร็วของจิต ทุกคนยังไม่หมดความติดข้อง ยังไม่หมด ความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส แต่ว่าแม้อย่างนั้น เราก็ฟังพระธรรม นี่ลองคิดดู เราสละอะไรบ้างหรือเปล่า ในการที่เราฟังพระธรรม แทนที่เราจะกลับไปบ้านแล้วก็ เปิดดูหนัง ดูละครทำอะไร เราก็ยังมีการที่จะสละสิ่งต่างๆ เหล่านั้นแล้วก็นั่งได้ แล้วก็ฟังกันได้ ตั้งแต่เช้า จนกระทั่งถึงเดี๋ยวนี้ นี่ก็แสดงว่า กว่าเราจะหมด ความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสจริงๆ ก็ต้องค่อยๆ อบรม โดยการที่รู้ตัวเอง ตามความเป็นจริงว่าเรายังมี แต่เราก็ยังสะสม เนกขัมมะ คือการที่จะละคลายความติดข้องในกาม ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส

    เพราะฉะนั้น เราจึงจะได้เข้าใจในความหมายของคำว่า เนกขัมมะ คือขณะที่ไม่ติดข้อง ไม่เป็นอกุศล เพราะฉะนั้น ขณะใดที่เป็นกุศล ชนิดหนึ่งชนิดใด ขณะนั้น สละออกจากการติดข้องในกาม แต่ก็ต้องอบรมเจริญให้มากขึ้น จึงจะสามารถที่จะรู้แจ้ง อริยสัจจธรรมได้ เพราะเพียงขั้นฟังนิดหนึ่งก็สละไปหน่อย นิดเดียวชั่วขณะที่ฟัง แล้วฟังอีกเมื่อไร นั่นก็คือทุกขณะที่เรามีปัญญาเกิดขึ้น แล้วเราก็รู้ประโยชน์ แล้วเราก็รู้ว่าเป็นเรื่องจะต้องละ แม้ว่ายังละไม่ได้ เพราะว่า โลกุตตรจิตยังไม่เกิดถึงขั้นพระอนาคามีบุคคล แต่การฟัง และความเข้าใจ ก็จะเป็นหนทางทุกครั้งที่กุศลประเภทหนึ่ง ประเภทใดเกิด ขณะนั้นก็เป็นเนกขัมมะบารมี แต่ต้องไม่ใช่ในขณะที่นุ่งขาว ไม่ใช่ในขณะที่ติดในสีขาว ไม่ใช่ในขณะที่เป็นอกุศลโดยไม่รู้ตัว แต่ต้องเป็นกุศลจริงๆ

    ผู้ฟัง ลักษณะของปัญญาบารมี มีการแทงตลอดตามสภาวะเป็นลักษณะ หรือว่ามีการแทงตลอดไม่พลาดเป็นลักษณะ แทงตลอดอย่างไร

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าเข้าใจถูก ในลักษณะของสภาพธรรม ต้องเริ่มจากการเข้าใจถูก อย่างขณะนี้มีนามธรรม และรูปธรรมเกิดดับ มีความเข้าใจถูกในสภาพธรรม ที่เป็นนามธรรม มีความเข้าใจถูกในลักษณะของรูป แล้วเวลาที่สามารถที่จะประจักษ์แจ้งสภาพธรรมที่เกิดดับ ขณะนั้นก็มีการแทงตลอดไม่พลาดในลักษณะ

    ผู้ฟัง ตอนนี้เราก็รู้จักลักษณะของสภาพธรรม แค่ขั้นการได้ยินได้ฟัง แต่ว่าถ้าจะแทงตลอดจริงๆ ต้องตอนไหน

    ท่านอาจารย์ ต้องอบรมปัญญาจนกระทั่ง ขณะนี้ เป็นธรรมไม่ใช่เรา แล้วก็เกิดดับด้วย

    ผู้ฟัง ที่จะเรียกว่าแทงตลอด นี้ถ้าสมมติว่าเป็นพระอริยบุคคล ตั้งแต่ระดับไหนขึ้ันไปถึงจะเรียกว่าแทงตลอดได้ ปฏิเวธ เริ่มจากโสดาบันหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ถ้าใช้โดยอุกฤษฏ์ ก็ต้องเป็นโลกุตตรมรรค โลกุตตรจิต แต่ก่อนนั้นต้องมีวิปัสสนาญาณด้วย ต้องมีความเห็นถูกในเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน

    ผู้ฟัง ถ้าเราจะใช้ว่าพระโสดาบัน ท่านเป็นผู้แทงตลอดแล้วนี่ ใช้ได้ไหม

    ท่านอาจารย์ แล้วได้ แต่ว่าก่อนนั้นก้ต้องมีการ รู้ลักษณะของสภาพธรรม จนกว่าจะดับกิเลสได้

    ผู้ฟัง มันจะเหมือน คำเดียวกับดวงตาเห็นธรรมไหม

    ท่านอาจารย์ เหมือน สำหรับโลกุตตรจิต

    ผู้ฟัง คำเดียวกัน

    ท่านอาจารย์ แต่แทงตลอดนี้ ก่อนเป็นพระโสดาบัน ก็ต้องมีวิปัสสนาญาณ ขั้นต่างๆ

    ผู้ฟัง ก่อนโสดาบัน

    ท่านอาจารย์ ก่อนโสดาบัน ก็ต้องแทงตลอด

    ผู้ฟัง คำว่า มีการรุ่งเรืองในอารมณ์ โอกาส โอ-ภา-สะ-นะ แปลว่า สว่างไสว หรือว่า ทำให้แจ้ง จะมีความหมายอย่างไร

    ท่านอาจารย์ รู้ความจริง ของอารมณ์

    ผู้ฟัง อันนี้เป็นกิจของปัญญา

    ท่านอาจารย์ ปัญญาไม่รู้ได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ อันนี้ ถ้าขณะใดที่ไม่รู้จะบอกว่าเป็นปัญญาไม่ได้เลย แล้วขณะที่กำลังรู้จริงๆ จะบอกว่าไม่ใช่ปัญญาก็ไม่ได้

    ผู้ฟัง คำนี้คงมีคนสงสัยกันมาก มีสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิด

    ท่านอาจารย์ สมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดอะไร

    ผู้ฟัง ให้เกิดปัญญา

    ท่านอาจารย์ ปัญญารู้อะไร

    ผู้ฟัง ปัญญารู้สภาพธรรม ตามความเป็นจริง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ปัญญานั้นต้องเกิดกับอะไร ก็ต้องสาวไปเรื่อยๆ เพราะว่าคนไม่เข้าใจเลย พอได้ยินคำว่าสมาธิ สมาธิอะไรก็ได้ แต่สมาธิอะไรก็ได้ไม่เป็นเหตุให้เกิดปัญญา เพราะเหตุว่าสมาธิ ได้แก่ เอกัคคตาเจตสิก ซึ่งเกิดกับจิตทุกขณะ

    เพราะฉะนั้น สมาธิที่เกิดกับจักขุวิญญาณ จะทำให้เกิดปัญญาหรือเปล่า สมาธิ หรือเอกัคคตาเจตสิกที่เกิดกับปฏิสนธิจิต ภวังคจิต พวกนี้ ปัญจทวาราวัชชนจิต เพราะเหตุว่า เอกัคคตาเจตสิกเกิดกับจิตทุกขณะ สมาธินั้นจะทำให้เกิดปัญญาหรือเปล่า หรือสมาธิ เอกัคคตาเจตสิก ซึ่งเกิดกับโลภมูลจิตจะทำให้เกิดปัญญาหรือเปล่า

    เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมนี้ต้องตลอด คือ ไม่ใช่เพียงฟัง แล้วก็คิดว่าสมาธิอะไรก็ได้ แต่ต้องหมายความถึงสมาธิ ถ้าเป็นการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ต้องหมายความถึงสัมมาสมาธิ ที่เกิดพร้อมกับสัมมาทิฏฐิ จึงจะเป็นเหตุใกล้ให้เกิด การรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้ เพราะว่าเวลาที่สภาพธรรมปรากฏ ลักษณะของสมาธิก็จะปรากฏ ที่ว่าเป็นธรรมเอกผุดขึ้น ก็หมายความว่า ขณะนั้นปัญญาสามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้ทีละหนึ่งอย่างซึ่งเป็นลักษณะของสมาธิ เวลาที่สติปัฏฐานเกิด ระลึกลักษณะของสภาพธรรม ทีละอย่าง หรือทีละ ๒ หรือทีละ ๓ อารมณ์ที่ปรากฏขณะนี้ จิตก็จะต้องสามารถรู้ได้ทีละหนึ่ง แม้จิต ก็ต้องรู้อารมณ์ทีละหนึ่งขณะ หรือทีละประเภท เพราะฉะนั้น เวลาที่สมาธิ เป็นสภาพธรรม ที่ตั้งมั่นในอารมณ์เดียว หรือในอารมณ์หนึ่ง ซึ่งเกิดกับจิตทุกขณะอยู่แล้ว แต่เวลาที่เกิดพร้อมกับความเห็นถูก พร้อมกับสติสัมปชัญญะ ขณะนั้นสมาธิ สามารถที่จะตั้งมั่นในอารมณ์ที่สติกำลังระลึก จนกระทั่งเวลาที่ประจักษ์แจ้ง ลักษณะของสมาธิก็ชัด จึงเป็นเหตุให้กล่าวว่ามีสมาธิ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด

    ผู้ฟัง ที่เห็นว่า มีการแทงตลอดตามสภาวะเป็นลักษณะ หรือว่ามีการแทงตลอด ไม่พลาด ตรงนี้จะเห็นความสัมพันธ์ว่าถ้าเผื่อพลาดแล้วคงไม่ถึงฝั่ง จากตรงนี้เอง ดิฉันได้ฟังเทปของท่านอาจารย์เมื่อปี ๔๔ ท่านอาจารย์กล่าวบอกว่าไม่ ต้องห่วงเรื่องจำนวน หรือว่าชื่อ แสดงว่าเวลาที่สภาพธรรมเกิด ชื่อ และจำนวน ไม่มี มีแต่ลักษณะเท่านั้น ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ อย่างเวลานี้เห็น ต้องนับไหม

    ผู้ฟัง ไม่ต้องนับ

    ท่านอาจารย์ เวลาที่โลภมูลจิตเกิดต้องนับไหม

    ผู้ฟัง ไม่ต้อง

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่ต้องนับ

    ผู้ฟัง ตอนนี้ดิฉันจะเห็นให้ชี้ชัดไปเลยว่า ที่กล่าวว่าบัญญัติที่จะเป็นสติ ระลึกได้ ตรงนี้พออาจารย์กล่าวอย่างนี้ มันก็ เป็นไปไม่ได้เลย ที่จะมีบัญญัติ เป็นอารมณ์ ของสติปัฏฐาน ได้

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้ ถ้าไม่เข้าใจเรื่องับัญญัติ กับปรมัตถสติปัฏฐาน ก็เกิดไม่ได้ อีกเรื่องหนึ่ง การอบรมเจริญปัญญา หรือการฟังธรรมของเรา ในขณะนี้เพื่ออะไร เพื่อไม่รู้สภาพธรรม ตามความเป็นจริง หรือเพื่อสามารถประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ถ้าเราเรียน ไม่ใช่เพื่อที่จะรู้ หรือประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เราเรียนทำไมในเมื่อสภาพธรรมกำลังปรากฏ แล้วทรงแสดงว่าเกิดขึ้น และดับไป แล้วก็ถ้าไม่มีใครสามารถที่จะประจักษ์แจ้งได้ เรียนทำไม เรียนเพื่ออะไร เรียนแล้วก็ไม่สามารถที่จะประจักษ์แจ้งได้ แล้วเรียนเพื่ออะไร ใช่ไหม

    เพราะฉะนั้น ต้องทราบแม้จุดประสงค์ ในการที่เริ่มศึกษาธรรม แม้ว่าขณะนี้โดยการฟัง จะทราบว่าสภาพธรรม เกิดแล้วก็ดับ นี่โดยการฟัง แต่ต้องรู้ว่าไม่ใช่เพียงเท่านี้ วันหนึ่งเมื่อปัญญาอบรมแล้ว ก็สามารถที่จะประจักษ์การเกิดขึ้น และดับไป ทุกขอริยสัจได้ มิฉะนั้นคำว่า ทุกขอริยสัจ จะไม่มีความหมายเลย อริยสัจ ๔ ไม่มีความหมาย

    แต่ทุกขอริยสัจ หมายความถึง สภาพธรรมที่เกิดแล้วดับ ไม่ใช่เป็นแต่เพียงคำพูด ไม่ใช่เป็นแต่เพียงโวหาร ไม่ใช่เพียงแต่เป็นการคิดไตร่ตรองว่าขณะนี้ เมื่อไม่เที่ยง สภาพธรรมก็เกิดแล้วก็ดับ แต่เป็นความจริงซึ่งผู้ที่ได้อบรมเจริญปัญญาบารมี ถึงความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า สามารถที่จะแสดงลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ เพียงหนึ่งขณะซึ่งเกิดแล้วดับ โดยประการต่างๆ เพื่อที่จะให้ผู้ที่เริ่มฟัง เริ่มเข้าใจ เริ่มพิจารณา ได้เข้าใจถูกต้อง ตามความเป็นจริงว่า แม้เพียงหนึ่งขณะ ก็ต้องมีเหตุมีปัจจัย ถ้าเป็นจิตก็มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไร ซึ่งจิตแต่ละประเภท มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่ากันก็มี ไม่เท่ากันก็มี แม้ว่าจะเป็นจิตต่างประเภทกัน นี่คือผู้ที่ประจักษ์แจ้งจริงๆ เมื่อได้ทรงแสดงให้ผู้ฟังเกิดความเข้าใจขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ผู้ฟังก็สามารถจะรู้ได้ว่านี่ขั้นฟัง นี่ปัญญาขั้นฟัง ฟังแล้วก็เข้าใจ แต่ขณะนี้จิตกำลังเกิดดับ พร้อมเจตสิกที่เกิดร่วมกัน ถ้ายังไม่ประจักษ์แจ้ง ก็หมายความว่าเป็นความรู้ขั้นการฟังเท่านั้น

    แล้วก็ทรงแสดงหนทางที่จะทำให้ประจักษ์ลักษณะของสภาพด้วย แต่ทนทาง ไม่ใช่เพียงฟัง และไม่ใช่เพียงคิด เพราะเหตุว่าปัญญามี ๓ ระดับ ขั้นสุตตมยปัญญา ฟัง ถ้าไม่ฟังมีใครจะคิดได้ไหม ขณะนี้ไม่ใช่เราเป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้น แม้แต่การฟัง ก็ต้องรู้ว่าใครสอน ถ้าคนที่ไม่ประจักษ์แจ้งสอนได้ไหมอย่างนี้ จะพูดได้ เป็นความจริงทุกคำ ถึงความละเอียดของสภาพธรรม จากการไม่มีอะไรปรากฏเลย แล้วก็มีสภาพธรรมปรากฏ สำหรับคนที่ไม่รู้ก็คิดว่าเป็นของธรรมดา แต่ถ้าประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมนั้นจริงๆ ก็จะต้องเข้าใจถึงว่าน่าอัศจรรย์ จากไม่มีแล้วก็มาปรากฏขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นเสียง เสียงอยู่ที่ไหน เวลาที่ไม่ปรากฏ ไม่มีเสียง แต่เมื่อเสียงปรากฏ เสียงมีลักษณะอย่างไร เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ได้ยินแล้วก็ปรากฏได้เพราะอะไร ถ้าไม่มีโสตปสาท ไม่มีอายตนะ เสียงก็ปรากฏไม่ได้ ก็สามารถที่จะเข้าใจ ความจริงของสภาพธรรม ในขณะนี้ ด้วยสติปัฏฐานค่อยๆ ระลึกไปจนกระทั่งมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น จนกระทั่งสามารถที่จะประจักษ์แจ้งได้

    สำหรับผู้ที่ศึกษาเข้าใจ ปรมัตถธรรม ผู้นั้นจะรู้เลยว่าก่อนนั้นมีแต่บัญญัติ ทั้งๆ ที่ปรมัตถก็มี แต่เพราะความไม่รู้ลักษณะของปรมัตถ รู้แต่บัญญัติ เพราะฉะนั้น บัญญัติที่เขารู้ เป็นเรื่องราวของสภาพธรรม แต่ไม่ใช่ตัวปรมัตถ เพราะว่าบัญญัติไม่ได้เกิดไม่ได้ดับ ไม่มีลักษณะที่เป็นปรมัตถเลย การอบรมเจริญปัญญา ถึงความสมบูรณ์ของวิปัสสนาญาณแรกคือ นามรูปปริจเฉทญาณ ประจักษ์ความต่างกันโดยเด็ดขาดสิ้นเชิงทางมโนทวารของนามธรรม และรูปธรรม ไม่มีบัญญัติตรงนั้น เวลาที่พระผู้มีพระภาคตรัสรู้ ขณะนั้นก็ไม่ได้มีบัญญัติ แต่ว่าหลังจากที่ตรัสรู้แล้ว ทรงแสดงสภาพธรรม ต้องอาศัยคำ ที่จะเทศนาด้วยประการต่างๆ ที่จะให้คนเข้าใจสภาพธรรม ให้สามารถจะรู้ได้ ว่าขณะที่กำลังฟัง เป็นการรู้เรื่อง แต่ไม่ใช่สติที่จะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมมี ๓ ขั้น ขั้นฟังที่เป็นปริยัติ แล้วก็เป็นปฏิบัติ แล้วก็เป็นปฏิเวธ

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 103
    25 มี.ค. 2567