ปกิณณกธรรม ตอนที่ 618


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๖๑๘

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๔๕


    ท่านอาจารย์ เพียงขั้นฌานจะง่ายหรือจะยาก แล้วก็โลกุตตรจิตง่ายหรือยาก แล้วทั้ง ๒ อย่างนี้จะเป็นอย่างไร ถ้าไม่มีปัญญาขณะนี้ จะถึงโลกุตตรได้ไหม แต่โดยมากไม่คิดถึงเดี๋ยวนี้ ข้ามไปก่อน แล้วก็ไปทำอะไรเพื่อที่จะให้ถึงโลกุตตระ โดยที่ไม่รู้สภาพธรรม ที่มีจริงๆ ในขณะนี้ ก็ไม่ถึง อยากไปเท่าไรก็ไม่ถึง

    ผู้ฟัง ผมก็ยังสงสัยอยู่ คืออย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราท่านก็เรียนผิดเรียนถูก ทุกรกิริยาก็ทำ ทำอะไรๆ ก็ทำมาหมด ถึงได้รู้ว่ามันถูกมันผิด

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เรียนผิดเรียนถูก สะสมปัญญาบารมีแล้ว บารมีครบทั้งหมด

    ผู้ฟัง แล้วที่ท่านนั่งบำเพ็ญ ทุกรกิริยา ก็ทำไปด้วย ปัญญา หรือเปล่า

    วิทยากร. เราอย่าไปเอาอย่าง พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะว่า พระองค์ตรัสรู้แล้ว แล้วทรงแสดงพระธรรม ๔๕ พรรษาท่านว่าไว้หมดทุกอย่าง เราไม่ต้องไปคิดหาเอาใหม่ เราไม่ต้องค้นคว้าใหม่ เราขวนขวายศึกษาในพระธรรมที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้แล้ว มันจะไม่ดีกว่าหรือ ที่จะไปลองผิดลองถูก เพราะว่าท่านลองผิดลองถูกให้เราเห็นมาแล้ว แล้วท่านก็เอาสิ่งที่ถูก ไว้หมดแล้วในพระไตรปิฎก เรื่องอะไรเราจะไปทดลองให้เสียเวลา เราศึกษาในสิ่งที่พระพุทธองค์ ทรงสอนไว้แล้วนี้จะไม่ดีกว่าหรือ ชีวิตของเราก็น้อยเหลือเกิน จะตายเมื่อไรก็ไม่รู้

    ท่านอาจารย์ ถ้าเดี๋ยวนี้เราไม่สะสมปัญญา จะคอยสะสมเมื่อไร เพราะว่าเป็นเรื่องของการสะสมจริงๆ ถ้าปัญญาขณะนี้ไม่มี ก็ไม่ได้สะสม ทุกวันก็เป็นอย่างนี้ไป แล้วก็คิดถึงว่าจะเป็นโลกุตตระ เป็นไปไม่ได้เลย ก่อนอื่นต้องเดี๋ยวนี้ ขณะนี้ มีปัญญาระดับไหน สภาพธรรม มีจริงๆ กำลังปรากฏ กำลังฟังเรื่องสภาพธรรมมีความเข้าใจ ถูกต้อง แล้วก็สามารถที่จะรู้หนทาง ที่จะทำให้รู้ความจริงของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ จนกว่าจะประจักษ์แจ้ง ต้องปรารภคือเริ่ม เริ่มแล้วเริ่มอีก ซึ่งไม่ใช่เราเลย ก็เป็นสภาพธรรมทั้งหมด

    ผู้ฟัง ผู้มีปัญญาเท่านั้น ไม่ทำการแบ่งแยกคนที่รัก คนกลางๆ และคนที่เป็นศัตรู เป็นผู้ฉลาดในการนำประโยชน์ เข้าไปในที่ทั้งปวง

    ท่านอาจารย์ ผู้มีปัญญาย่อมมีความหวังดี ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ว่าจะหวังดีเฉพาะคนที่รัก คนกลางๆ ทั้งหมดเลย ถึงแม้ศัตรูก็หวังดีได้ ไม่ใช่ส่งเสริม ความชั่วของใคร แต่ว่าไม่หวังร้ายต่อใคร

    ผู้ฟัง มีอุเบกขา หรืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ ก็ทั้งนั้น บารมีทั้ง ๑๐ อย่าไปแยก เกิดด้วยกันได้

    ผู้ฟัง ลักษณะความเพียรอย่างไร หรือว่าลักษณะธรรมประการใดที่จะเป็นความเพียรที่ไม่ย่อหย่อน

    ท่านอาจารย์ ขอยกตัวอย่าง คุณแสงจันทร์ได้ไหม ขอโทษด้วย เพราะเหตุว่า ถ้าคุณแสงจันทร์เริ่มไม่เพียรที่จะฟังธรรม ก็ไม่มีทางเลยที่จะอบรมเจริญปัญญายิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น ความเพียรที่นี่ไม่ใช่หมายความว่า คุณแสงจันทร์ไปเพียรอ่านพระไตรปิฎก ๓ เดือน หรือว่าเพียรทำอะไรก็ได้ เพื่อที่จะเร่งรัดให้ปัญญาคุณแสงจันทร์เกิดเร็วๆ แล้วก็รู้แจ้งอริยสัจจธรรม อย่างนั้นไม่มีทางที่จะเป็นไปได้เลย ความเพียรชั่ว ๓ เดือน หรือความเพียรชั่ว ๓ ปี กับความเพียรที่เป็นระยะเวลายาวนาน อันไหนจะเป็นความเพียรที่ถูกต้อง ที่ใช้คำว่า วิริยะ คือเพียรจริงๆ เพราะรู้ว่าอีกนานแสนนาน กว่าผู้ที่ได้ฟังพระธรรมสมัยพระทีปังกร จะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมใน สมัยพระสมณโคดม ผ่านพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒๔ พระองค์ แล้วท่านเหล่านั้นไม่เคยได้ยินคำว่าความเพียรเลย ไปทำความเพียรแบบที่ว่า เพียรเอาให้ได้ ว่าต้องเพียรด้วยความเป็นตัวตน แต่เพียรหรือ แต่ท่านไม่ได้ไปทำความเพียรแบบที่ว่าจะเพียรเอาให้ได้ หรือว่าจะต้องเอาด้วยความเป็นตัวตน แต่เพียรที่จะรู้ความจริง ว่าเป็นธรรมซึ่งไม่ใช่ตัวตน อันนี้กว่าเราจะละความเห็นผิด ที่เคยยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน มานานแสนนาน แล้วเพียงแต่จะเกิดความเป็นเราที่จะทำให้ได้รู้ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย

    เพราะเหตุว่าการที่จะรู้ว่าเป็นธรรมต้องเป็นปัญญา ไม่ใช่เป็นเราพยายามไปทำให้รู้ว่าไม่ใช่เรา แต่ต้องเป็นปัญญาที่อบรมจริงๆ โดยที่ว่ามีการรู้ด้วยตัวเองว่า ขณะนี้ที่กำลังเห็น รู้ไหม ว่าเป็นธรรม ถ้าไม่รู้เพียรอย่างไร จะไปทำอย่างอื่น หรือว่ามีความเข้าใจโดยการฟังแล้วฟังอีก แล้วก็เข้าใจจริงๆ ว่าขณะนี้ แม้เห็นขณะนี้ก็มีจริง แล้วก็เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้น เพราะอาศัย เหตุปัจจัย แล้วก็ดับไป ไม่เหลือเลย ไม่กลับมาอีกเลย นี่ก็จะทำให้มีความเพียรแม้ว่าจะนานแสนนาน ที่จะค่อยๆ รู้ว่าขณะนี้ เป็นธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งมีจริงๆ เป็นสภาพรู้ซึ่งเราได้ยินได้ฟัง มาบ่อยมาก แล้วก็คงจะไม่ใช่ชาตินี้ ชาติเดียว แล้วไม่ใช่เฉพาะวันนี้ ต่อไปก็ฟังอีกต่อไป แม้จะได้ยินอย่างนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่การที่จะรู้ว่าขณะนี้ เป็นสภาพธรรม หรือเป็นธาตุรู้ ซึ่งไม่ใช่เรา ที่กำลังเห็น มีสิ่งที่กำลังปรากฏ ทางตาให้เห็น สภาพเห็นก็มี เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่าจะ เข้าใจความหมายของความเพียร และความหมายของขันติ ว่าไม่ใช่เพียรชนิดซึ่ง แค่ ๓ เดือน หรือว่ากี่วันก็แล้วแต่ ที่จะกำหนด แล้วคิดว่าจะพยายามทำให้รู้ ซึ่งการพยายามทำให้รู้ จะปิดกั้น เพราะเหตุว่าขณะนั้นไม่ได้เข้าใจควาามจริงว่าเป็นธรรม ถ้าเข้าใจความจริงว่าเป็นธรรม จะลดความที่เป็นตัวเราที่จะทำ แต่เริ่มรู้จักตัวเอง ตามความเป็นจริงว่าไม่รู้อะไร เพราะว่าผู้ที่เป็นพระโสดาบัน ต้องรู้ทั่ว แล้วก็ละคลายความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา ตามลำดับขั้นของปัญญา ไม่ใช่ว่าไม่มีปัญญาเลย แล้วก็จะไปละความเป็นตัวตนได้

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่ตรงแล้วก็จริง แล้วเครื่องพิสูจน์ก็มีทั้งวัน ขณะเห็น ขณะโกรธ ขณะที่ได้ยินเรื่องราวต่างๆ กำลังเพลิดเพลิน ทุกขณะเป็นธรรมทั้งหมด ถ้ายังคงมีความสงสัย ความไม่รู้ หรือการพยายามที่จะทำอย่างอื่น ที่ไม่เริ่มที่จะค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมขณะนี้ ก็ไม่มีทางที่จะรู้ความจริงได้ นี้คือความหมายของความเพียร

    ผู้ฟัง ความเพียรต้องทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ ไม่ย่อหย่อน

    ท่านอาจารย์ ไม่ย่อหย่อน ที่นี่ก็ไม่ใช่ว่าไปนั่งกำหนดกันว่าจะเอาอย่างนั้น จะเอาอย่างนี้ ไม่หยุด รู้ว่ากว่าจะเกิด กว่าจะเป็นปัญญาที่ประจักษ์แจ้งจริงๆ ก็อบรมด้วยการละ แล้วก็ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง ในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน การถึงที่สุดแห่งความปรารถนาของบุคคลนั้น ผู้มีความเพียรย่อหย่อนไม่สามารถให้เกิดขึ้นได้ ข้อความที่ว่าเพราะหมู่กิเลส เป็นเครื่องประทุษร้าย มีราคะ เป็นต้น ห้ามได้ยากดุจช้างตกมัน ตอนนี้ข้อความนี้อยู่ในหนังสือ ถูกต้องไหม

    แต่เวลาที่คุณแสงจันทร์อยากจะทำสมาธิ ช้างตกมันหรือเปล่า ห้ามไม่ได้เลย ใช่ไหม นี่ เพราะฉะนั้น เวลาที่เราอ่านพระไตรปิฎก เราจะรู้สภาพนั้น เมื่อสภาพนั้นเกิดขึ้น มีความอยากมากๆ ที่จะทำ ใครจะยั้งอย่างไรก็ไม่ได้ นั่นคือลักษณะของข้อความที่กล่าวขึ้นที่นี่ มิฉะนั้นเราก็ผ่านไปโดยที่ไม่รู้ว่าขณะไหนที่กำลังกิเลสเป็นช้างตกมัน คือขณะที่ไม่สามารถที่จะห้ามได้ แม้แต่ขณะที่ไม่ได้ไปทำทุจริตอะไรเลย เพียงแต่ความอยากทำสมาธิ

    ผู้ฟัง ในประโยคสุดท้าย ที่บอกว่า และเพราะมิตรชั่ว ผู้ชักชวนในกรรมนั้น ได้เตรียมไว้แล้วในการทุกเมื่อ อันนี้ จะให้เราระวังตัวว่า คนที่เราคบหรือว่ามิตรสหายอะไร อย่างไรหรือเปล่า

    วิทยากร. คนเราก็ส่วนใหญ่ก็มีมิตรกันทุกคน เพราะว่าคน ไม่มีมิตร ก็คือคนที่ ว้าเหว่ แต่ว่าเพื่อนที่มี เราก็ควรจะมีเพื่อนที่ดี เรียกว่าเป็นมิตรที่ดี เป็นกัลยาณมิตร ไม่ใช่มิตรชั่วที่จะชักชวน เราไปทางเสียหาย อันนี้สำคัญมาก เพราะว่าส่วนใหญ่คนจะเสียคนเพราะมิตรก็มาก ผมก็ระวังอย่างนี้มากเหมือนกัน เพราะผมถือว่า ผมเองเรียนมามากกว่าเขา แต่ก็ ไม่ได้หมายความว่า ผมรู้มากกว่าเขา เขาอาจจะมีอะไรดีๆ ที่พูด แล้วเราให้สติ ให้เรายั้งคิดได้

    เพราะฉะนั้น ความเป็นผู้คบเพื่อน เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเขาเป็นมิตรชั่ว หรือว่าเป็นมิตรดี เราก็ต้องดูจากคำพูด และการกระทำของเขา ที่เขาพูด และกระทำต่อเรา ถ้าเขาชักชวน ให้เราไปในทางที่ไม่ดี ต้องไปอย่างนั้นสิ ต้องไปอย่างนี้สิ ในทางที่เสียหาย ชักชวนให้ดื่มน้ำเมา ชักชวนให้เที่ยวกลางคืน ชักชวนให้ไปเล่นการพนัน ชักชวนต่างๆ นานา ที่จะเป็นเหตุให้เสื่อม เราก็รู้แล้วว่า มิตรคนนั้น เป็นมิตรไม่ดี ไม่ควรจะคบ เพราะเขาไม่พยายามชักชวนเราไปในทางที่ดี

    ถึงแม้ว่าไม่มีใครเลย แต่เราเองนี้แหละ จะเป็นมิตรชั่วของเราเองในตัวก็ได้เพราะว่าความคิดของเราเป็น ทั้งดี ทั้งชั่ว ส่วนใหญ่มันจะชั่ว มันจะคิดไปในทางที่ไม่ดี ถ้าเรามีความคิดที่ชั่วๆ มากๆ มันก็เท่าๆ กับมีมิตรชั่วอยู่ในตัว พาให้เราเสียหายได้มากยิ่งกว่าคนอื่น คนอื่นที่จะทำให้เรา ก็ยังน้อยกว่าจิตที่เราตั้งไว้ผิด ที่ไม่ดี จะทำให้เราเสียหาย เพราะฉะนั้น จึงเป็นสิ่งที่ควรระวังอย่างยิ่ง ในเรื่องนี้ แต่ว่าถ้าเราตั้งใจดีอยู่แล้ว แล้วก็มีมิตรดีด้วย มีผู้สนับสนุนที่ดีด้วยได้กัลยาณมิตรด้วย ก็จะเป็นเครื่องส่งเสริมให้เราได้ดำเนินไปในทางที่ดีที่ถูกต้อง สะดวกง่ายขึ้น

    ท่านอาจารย์ ในบรรดาสิ่งที่ชั่ว อะไรชั่วที่สุด

    ผู้ฟัง คนที่ไม่มีปัญญา ชั่วที่สุด

    ท่านอาจารย์ คนที่ไม่มีปัญญายังชั่วน้อยกว่าใครอีก เพราะฉะนั้น ที่มีโทษ หรือว่าชั่วกว่าคนที่ไม่มีปัญญา ก็คือคนที่มีความเห็นผิด ไม่มีปัญญาแต่ไม่มีความเห็นผิดก็ได้ ใช่ไหม แต่ว่าเวลาที่มี ความเห็นผิด จะเห็นผิดไปอีกนานเท่าไร ไม่ใช่ชาตินี้ชาติเดียว เริ่มเห็นผิด แล้วก็สะสมความเห็นผิด จึงได้ชาตินี้มีความเห็นผิด แล้วก็ยังคงจะเห็นผิดต่อไป ถ้าไม่พิจารณาด้วยความถูกต้องจริงๆ

    ผู้ฟัง ไม่มีปัญญาก็ยังดีกว่า

    ท่านอาจารย์ ดีกว่า มีความเห็นผิด ถ้าทุกคนเข้าใจว่า ตัวเองเห็นถูกหมด แล้วจะรู้ได้อย่างไร ว่าถูกหรือผิด ประโยชน์ของการที่เราจะรู้เรื่อง ความเห็นผิดอยู่ตรงไหน

    เพราะดูเหมือนกับว่า มีตั้งหลายอย่าง เอกสัจจะ อะไรต่างๆ สัตสัตต อะไรพวกนี้แล้วก็ อุทเฉกทิฏฐิ มากมาย ๖๒ ประเภทอย่างใหญ่ แล้วประโยชน์ ของการรู้เรื่อง มิจฉาทิฏฐิ หรือความเห็นผิด อยู่ตรงไหน รู้หมดท่องจำได้ว่ามันคืออะไรบ้างทั้งหมดเป็นหน้าๆ หรืออะไรก็ตาม ประโยชน์ จริงๆ ในการที่จะรู้เรื่องเห็นผิด หรือมิจฉาทิฏฐิ อยู่ที่ไหน

    ผู้ฟัง ประโยชน์ ยังไม่มี แต่ทำไมเราต้องไปรู้เขา

    ท่านอาจารย์ ที่ตัวเอง ว่าเรามีหรือเปล่า ไม่อย่างนั้นจะมีประโยชน์ ไหม อยู่ในหนังสือหมดเลย แล้วที่ตัวเอง เรามีอะไรบ้างก็ไม่รู้ กับการที่เราเรียนรู้เรื่อง ธรรมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง มิจฉาทิฏฐิประการต่างๆ เพื่อให้รู้ว่าที่ตัวเอง มีอะไรบ้างหรือว่าไม่มี หรือยังมีอะไรอยู่ เพื่อที่จะได้รู้ชัดจริงๆ นี้เป็นปัญญา เป็นประโยชน์ของการศึกษาธรรม คือมีตัวธรรมที่ปรากฏ ให้รู้ให้เข้าใจ แทนที่จะอยู่ในตำรา แล้วเราก็อาจจะตอบได้ หรือว่าคุยกัน ๖๒ อย่าง มีอะไรต่างกันอย่างไร ตรงไหน แต่เวลาที่มิจฉาทิฏฐิ หรือความเห็นผิดเกิด ขึ้นกับเรา มีบ้างไหม แล้วมีในประการไหนบ้าง มีไหม

    ผู้ฟัง พอเราไปอ่าน ๖๒ ไม่เข้าใจเลย แล้วทำไมเราจะต้องมาเรียน แล้วก็เคี่ยวเข็ญ ให้รู้ ทำไมเราจะต้องรู้ทั้งๆ ที่มันเป็นคำว่าผิดก็ไม่ถูกต้อง

    ท่านอาจารย์ ไม่มีใครเคี่ยวเข็ญ แต่ความเห็นผิดคืออย่างไร ไม่ต้องครบ เพราะว่าจริงๆ แล้วต้องมาจาก สักกายทิฏฐิ ความเห็นผิดว่ามีเรา มีตัวตน จะเป็นต้นเหตุของความเห็นผิดทั้งหมด ซึ่งถ้าดับความเห็นผิดว่ามีเรา ความเห็นผิดอื่น ก็มีไม่ได้ เรื่องของความเห็นผิด นี่ก็เป็นเรื่องที่ละเอียด เราอาจจะเห็นข้อความต่างๆ ในพระไตรปิฎก สักกายทิฏฐิ อัตตานุทิฏฐิ อิตังสัจนานิเวสะ อะไรก็ตามแต่ สีลัพพตปรามาส ทั้งกายคันถะ ทั้งอุปาทาน ชื่อมากมาย แต่สิ่งต่างๆ เหล่านี้มีกับเรา เมื่อไ รอย่างไรหรือเปล่า นี้ถ้าศึกษาแล้วเราก็จะทราบได้ แล้วเราก็จะรู้ เช่น ขณะนี้เรา มีความเห็นผิดหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็นเรา เห็นผิด สักกายทิฏฐิ

    ท่านอาจารย์ นอกจากสักกายทิฏฐิ ยังเห็นอะไรผิดบ้างไหม

    ผู้ฟัง อันนี้ไม่รู้ เรียนแล้วยังไม่เข้าใจเลย

    ท่านอาจารย์ โดยเฉพาะในเรื่องหนทางอบรมเจริญปัญญา ที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม พระไตรปิฎก เป็นพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาคุณ ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้ง ๓ ปิฎก แล้วยังเป็นปัญญาของพระอรหันต์ทั้งหลาย ที่ท่านทรงจำสืบทอดมา จนกระทั่งปรากฏถึงเรา เป็นพระไตรปิฎก แล้วปัญญาของเราสามารถที่จะรู้อะไรทั้งหมด ทิฏฐิ ๖๒ อะไรต่ออะไร ข้อความในอรรถกถา ในอะไร หรือสามารถจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดกับเรา โดยอาศัยการฟัง การศึกษา เรื่องสภาพธรรม ที่มีจริงๆ แล้วก็เข้าใจธรรมนั้น เวลาที่ธรรมใดเกิดขึ้นก็สามารถที่จะเข้าใจถูกต้อง ในความเป็นธรรมไม่ใช่เรา มิฉะนั้นก็เป็นเราต่างหากที่เรียนพระไตรปิฎก แล้วก็เราทำไม ถึงเป็นอย่างนี้อย่างนั้น เราอยากจะเป็นอย่างนั้น ก็ยังคงเป็นเราอยู่ แต่ถ้าเรามีความเข้าใจลึกลงไปถึงความเป็นธรรม ได้มากเท่าไร เวลาที่เราศึกษาธรรม ก็จะเป็นผู้ที่ตรง แล้วก็สามารถที่จะรู้ได้ ความเห็นผิดเป็นอย่างไร ความเห็นถูกเป็นอย่างไร ไม่ว่าจะอ่านเอง หรือว่าจะมีมิตร เราก็สามารถที่จะรู้ได้ว่า มิตรนั้นเป็นมิตรชั่ว หรือว่าเป็นมิตรดี คือเป็นกัลยาณมิตร ถ้าเป็นกัลยาณมิตรก็ทำให้เรา สามารถเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังมีในขณะนี้ พร้อมทั้งหนทางที่จะอบรมเจริญปัญญา ที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรม ที่มีจริงๆ ในขณะนี้ ด้วย ไม่ใช่เวลาเรียนเป็นอย่างหนึ่ง แล้วเวลารู้ ไปรู้อย่างอื่น หรือว่าเวลาเรียนเป็นอย่างนี้ แต่เวลาอบรมเจริญปัญญาไปทำอย่างอื่น อย่างนั้นก็ไม่สอดคล้องกัน จะกล่าวว่าเป็นมิตรดีได้ไหม ในเมื่อไม่ให้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง ในการที่จะให้ปัญญาค่อยๆ อบรม ค่อยๆ เกิด ที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ที่มีจริงๆ เพราะฉะนั้น ทั้งหมดไม่ว่าเรื่องความเห็นถูกหรือความเห็นผิด ก็มีจริงอยู่ที่ตัว เพราะฉะนั้น ประโยชน์ของการศึกษาพระธรรมคือ รู้ว่าขณะนี้เป็นธรรมอะไร

    ผู้ฟัง หนูเป็นผู้ที่เริ่มต้นผิด ถึงได้ว่าติดตรึง อยู่กับการทำสมาธิ ทีนี้ถ้าหนูเริ่มใหม่ ว่าปล่อยให้ความอยากนั่งสมาธิ คือมันจะต้องอยากนั่งจนใจสั่น ตัวสั่น อะไรอย่างนี้ แต่ก็ต้องปล่อยมัน อะไรอย่างนี้ กับกลายเป็นว่า หนูทำอะไรที่ผิดปกติ นิสัยหนูหรือเปล่า หรือว่าหนูก็พยายามจะอดทนว่าจะไม่นั่งแล้ว

    ท่านอาจารย์ นี่เหมือนกับมีตัวเรา ที่จะตัดสินว่า จะทำอย่างไร แต่ว่าความจริงตัวเรา ไม่มี มีการสะสมของสภาพธรรม ถ้าคุณแสงจันทร์ ไม่ได้เคยฟังพระธรรมเลย จะไม่มีความคิดความเข้าใจเรื่องแม้คำว่า จิต เจตสิก หรือรูป หรือนิพพาน แต่ว่าความเข้าใจ นั้นจะมากจะน้อย อย่างไรก็ขึ้นอยู่กับ การได้ยินได้ฟังบ่อยไหม แล้วก็เวลาที่ได้ยินได้ฟังแล้ว มีการเข้าใจสิ่งที่ได้ยิน ได้ฟังมากน้อยแค่ไหน เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เป็นเรา แต่เป็นการสะสมของความเห็นถูก ที่จะค่อยๆ เพิ่มขึ้น ถ้าเรา สะสมต่อไป ไม่ใช่มีตัวเราจะปล่อย หรือว่าตัวเราจะทำ

    ผู้ฟัง ขณะที่ว่าอยากจะหลับตา แล้วก็ให้มันสงบ มันนิ่งแล้วก็ไม่ แล้วก็อดกลั้นเอาไว้อย่างนี้ ไม่เป็นตัวเรา

    ท่านอาจารย์ ก็แสดงว่าขณะนั้นคุณแสงจันทร์ไม่ได้คิด พิจารณาว่าเราจะรู้ ความจริง ของสิ่งที่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวันได้อย่างไร เพียงแต่ต้องการทำอะไรสักอย่าง ช่วยให้เราสบายเท่านั้นเอง แต่ว่าไม่สามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมได้ เพราะฉะนั้น ก็เลือกว่าขณะนี้ เลือกจริงๆ ว่าต้องความสบายๆ หลับตาหรือว่า เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เป็นธรรมอย่าลืม ขณะที่หวั่นไหวก็เป็นธรรม อาจหาญร่าเริงที่จะรู้ว่าขณะนั้น เป็นสภาพธรรม ซึ่งไม่ใช่เห็น ไม่ใช่ได้ยิน ไม่เที่ยงเกิดขึ้นมา เพราะมีเหตุปัจจัย ถ้าไม่มีเหตุปัจจัย อย่างนั้นความหวั่นไหวอย่างนั้นก็ไม่เกิด

    ผู้ฟัง แต่มันจะเร่าร้อน

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นธรรมอีก ก็เป็นธรรมทั้งหมด ทุกอย่างเป็นธรรม ต้องอาจหาญร่าเริงที่จะรู้ ว่าเป็นธรรมจริงๆ ทีละเล็กทีละน้อย

    ผู้ฟัง ถ้าเผื่อเริ่มต้นที่จะไม่ทำนี้ จะเป็นขันติ หรือว่าเป็นตัวเรา

    ท่านอาจารย์ เราคงจะไม่ทำสิ่งที่สะสมมานาน ไม่ได้ แต่เราสะสมใหม่ได้ ที่รู้ว่าอะไรดีกว่ากัน มีประโยชน์กว่ากัน ประเสริฐกว่ากัน การู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ยากที่จะรู้ได้ นานแสนนานกว่าจะได้ยินได้ฟัง เรื่องหนทางที่จะอบรมปัญญา ที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ถ้าไม่มีการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็จะมีสมาธิขั้นต่างๆ ที่เป็นมิจฉาสมาธิ หรือสัมมาสมาธิ ที่สงบขึ้นจนกระทั่งถึงอรูปฌาน ขั้นสูงที่สุด แต่ก็ไม่สามารถจะรู้ลักษณะของสภาพที่เป็นนามธรรม และรูปธรรม ในขณะนี้ เพราะฉะนั้น โอกาสที่หายาก แล้วก็จะมีนานมากน้อยแค่ไหน ก็ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ จะทำอะไร ในช่วงที่เป็นโอกาสที่หายากอันนี้

    ผู้ฟัง อยากให้ท่านอาจารย์อธิบายว่า ความมีสติของปุถุชน จึงควรออกจากสังสารทุกข์ได้ เพราะเหตุนั้นมิจฉาวิตกย่อมอยู่ไกล ด้วยอนุภาพของความเพียร

    ท่านอาจารย์ ความมีสติก็ต้องหมายความถึง สัมมาสติ จึงออกจากสังสารวัฏฏ ออกจากสังสารทุกข์ได้ ถ้ามีสัมมาสติ แล้วก็เป็นอันว่า มิจฉาวิตกก็ต้องอยู่ไกล

    ผู้ฟัง เรียนถามคุณนิพัฒน์ ท่านบอกว่าขันติบารมีเป็นปกติของผู้มีปัญญายอดเยี่ยมผู้ตั้งอยู่ในสังวร เป็นสาครเพราะอาศัยความลึกซึ้ง ลึกซึ้งอย่างไร

    วิทยากร. เป็นสาครใหญ่ก็หมายความว่า ถ้าผู้มีขันติแล้วก็เปรียบเหมือนน้ำในมหาสมุทรสาคร เพราะว่าผู้มีขันตินี้ จะต้องเป็นผู้ที่ มีความสงบเยือกเย็น แล้วลึกซึ้งคือยาก ที่ผู้ใดจะทำลายขันติ หรือยากที่ปฏิบัติธรรม ซึ่งความโกรธเป็นต้น จะทำลายได้

    ผู้ฟัง วันนี้รู้สึกท่านจะให้ความโกรธ เป็นตัวอย่าง ต้องใช้คำว่า ขันติ เป็นต้น ขันติบารมี มันจะมีขันติจากโลภะได้ไหม โลภะนี้ ดิฉันว่ามันรุนแรงกว่าโกรธ

    ท่านอาจารย์ ขันติต้องเป็นกุศล แล้วถ้าสติไม่เกิด จะเป็นกุศลได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ขณะที่สติเกิด แล้วมีการสังวร คือระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ทางตา ทางหูทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ในขณะที่สติเกิด และสังวร เสียงใครจะว่าอย่างไรก็หมดแล้ว แต่ถ้าเวลาที่สติไม่เกิด เก็บไว้แล้วก็เดือดร้อน แล้วก็เป็นทุกข์มากมาย เพราะไม่อดทน ต่อการที่จะเข้าใจสภาพธรรม ตามความเป็นจริงยังคงยึดถือว่าเป็นเรื่อง เป็นคน เพราะฉะนั้น ก็ทำให้เกิดอกุศลหลากหลาย ขันติ ก็ต้องมีสติ แล้วก็เป็นการสังวรด้วย หมายความว่าขณะนั้น รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ มีความเข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมนั้น จึงเหมือนสาครใหญ่ เพราะเหตุว่า สภาพธรรม ทั้งหมดเลย ไม่มีอะไรซึ่งไม่ใช่สภาพธรรมในขณะนั้น เพราะฉะนั้น ลักษณะของความเป็นธรรมเท่านั้นที่ปรากฏ ไม่มีอย่างอื่น

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 103
    25 มี.ค. 2567