ปกิณณกธรรม ตอนที่ 611


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๖๑๑

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๔๕


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมมี ๓ ขั้น ขั้นฟังที่เป็นปริยัติ แล้วก็ปฏิบัติ แล้วก็เป็นปฏิเวธ ๓ อย่างนี้ปนกันไม่ได้ จะเอาปริยัติมาเป็นปฏิบัติไม่ได้ จะเอาปริยัติ ปฏิบัติมาเป็นปฏิเวธไม่ได้ ถ้าไม่มีจิตที่คิดบัญญัติจะมีหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ ไม่มี เมื่อรู้ว่าไม่มีแน่นอน แต่ว่าเมื่อมีบัญญัติเพราะจิตคิดเท่านั้นเอง อะไรเป็นปรมัตถ์

    ผู้ฟัง จิตที่คิด

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น แม้ในขณะที่คิด เป็นสติปัฏฐานได้ แต่ไม่ใช่ตัวบัญญัติเป็นสติปัฏฐาน เพราะเหตุว่าสติปัฏฐาน เป็นการที่จะรู้ สัจจธรรม ความจริงซึ่งไม่ใช่ตัวตน แล้วเป็นสิ่งที่เกิดดับ จึงจะสามารถที่จะให้ปัญญาประจักษ์ชัดจนไถ่ถอนความเป็นตัวตนได้ แต่บัญญัติไม่มีการเกิดดับ เพราะฉะนั้น บัญญัติ จะไปให้ปัญญาสามารถที่จะประจักษ์ ที่จะไปไถ่ถอนความเป็นตัวตนได้อย่างไร

    เพราะฉะนั้น ถ้าศึกษาสติปัฏฐาน หรือมหาสติปัฏฐานสูตร ก็จะเข้าใจความจริงว่า ทุกอย่างอยู่ในมหาสติปัฏฐานทั้งหมด เพราะอะไร เพราะเหตุว่า ตลอดชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่ว่าใครจะเจริญสมถะ หรือไม่เจริญสมถะก็ตาม ก็เป็นเรา เป็นตัวตนทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ไม่ว่าขณะนั้น จิตจะสงบ ถึงระดับอุปจารสมาธิ ถึงระดับของอัปปนาสมาธิ หรือไม่ถึงขั้นนั้น เพียงแต่ว่ามีการที่จะรู้ลักษณะของลมหายใจบ้าง หรือว่าจะมีการคิดนึกเรื่อง อสุภะบ้างก็ตามแต่ ไม่ว่าจิตระดับไหนอย่างไร สามารถที่จะเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานได้ เพราะเหตุว่าสติเป็นอนัตตา

    สติจะเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรม ต้องใช้คำว่า สภาพธรรม ที่กำลังเป็นอยู่ หรือว่ามีอยู่ในขณะนั้นเพื่อรู้ความจริงได้ ด้วยเหตุนี้มหาสติปัฏฐาน จึงกว้างมาก ไม่จำกัดบุคคลเลย นอกจากผู้ที่ไม่ได้ฟัง ไม่เข้าใจ สติปัฏฐานก็เกิดไม่ได้ แต่ถ้ามีความเข้าใจที่ถูกต้อง เป็นสังขารขันธ์ ใครจะยับยั้งสติปัฏฐาน ไม่ให้เกิด ระลึกลักษณะของสภาพธรรมก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น อะไรกั้น ความเห็นผิด ไม่เข้าใจหนทางปฏิบัติ ไม่สามารถที่จะทำให้สติปัฏฐานระลึก ลักษณะของสภาพธรรมได้

    วิทยากร. บัญญัติไม่มีสามัญลักษณะด้วย จะเอาอะไรมาเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

    ผู้ฟัง การระลึกรู้สภาพธรรม ท่านอาจารย์ก็จะกล่าวว่า สติปัฏฐานเกิดรู้รูป หรือนาม ตรงนี้เป็นการกล่าวรวม แต่จริงๆ แล้ว ถ้าลักษณะปรากฏ มันก็ต้องแยกไปเลยว่า ถ้าเป็นรูปก็คือเป็นลักษณะของสิ่งที่ไม่รู้อะไร เช่น สี เสียง กลิ่น แต่ถ้าเผื่อเป็น นาม จะเป็นจิตที่เป็นสภาพรู้ ถ้าเป็นเจตสิกก็เป็นลักษณะของโทสะ หรือโลภะ

    ท่านอาจารย์ เป็นสภาพรู้เท่านั้น ที่ต่างกับรูป

    ผู้ฟัง ไม่ใช่บอกว่า รู้รูป หรือนาม ตรงนี้ แบบยังไม่ลงลึกลงไป ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้าเข้าใจว่าอะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม สติปัฏฐานจึงระลึกได้ ถ้าไม่มีความเข้าใจ จะไประลึกอะไร

    ผู้ฟัง ไประลึกชื่อ รูปหรือนาม

    ท่านอาจารย์ เป็นตัวเรา ที่คิดเท่านั้นเอง ต้องเข้าใจความหมายของจิตแต่ละอย่างด้วยว่า คิดก็เป็นสภาพธรรม ที่ไม่ใช่เรา

    วิทยากร. แล้วพูดถึงเรื่องชื่อ อาจารย์ก็เพิ่งจะกลับจากอินเดีย ผมก็มีโอกาสได้ฟังเทปที่อาจารย์พูดว่า ในขณะที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ ขณะนั้นไม่มีชื่อ ผมก็มาพิจารณาแล้วคิดดู แล้วมันจริง ขณะนั้นมีชื่อ กว่าที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะมาเทศนา จะมาอะไรต่ออะไร ในขณะที่พระองค์ตรัสรู้ขณะนั้นไม่มีชื่อจริงๆ แต่มีสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน รู้ลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งขณะนี้ก็มี ลักษณะของสภาพธรรม แต่ไม่รู้ พอฟังแล้ว ถ้าขณะใดที่สติไม่ระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรมหนึ่ง สภาพธรรมใด ก็ไม่สามารถที่จะรู้ว่าลักษณะนั้นเป็นนามธรรม หรือเป็นรูปธรรม ยังคงมีความเป็นเราอยู่ตลอดเวลา แต่เมื่อใดที่สติระลึกลักษณะของสภาพนามธรรมบ้าง รูปธรรมบ้าง อบรมจนกว่าจะถึงระดับที่ไม่ว่าจะเมื่อไรสติปัฏฐาน ก็สามารถที่จะเกิด ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมทั้ง ๖ ทาง จะมีอะไร ที่นั่น เพราะว่าจะมีการคิดนึกก็เป็นธรรม คือเป็น มนินทรีย์ เป็นใหญ่เป็นประธาน ในขณะที่กำลังคิดทั้งหมดเลย จะต้องมีลักษณะ ของสภาพของปรมัตถ์เท่านั้นที่กำลังปรากฏ เพื่อที่จะเห็นความจริงว่า แท้ที่จริงแล้วขณะใดที่สติปัฏฐานไม่เกิด จะไม่มีลักษณะของสภาพธรรมปรากฏ แต่เมื่อสติปัฏฐานเกิด ก็มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา สติก็ระลึกลักษณะนั้น ขณะที่กำลังคิดสติก็รู้ ถ้ารู้ลักษณะของมนินทรีย์ สามารถที่จะรู้ความเป็นใหญ่ในการ รู้อารมณ์ทั้ง ๖ ทางได้ว่านั้นคือ ลักษณะของนามธรรม จะไม่มีความสงสัยในสภาพ หรือคำอธิบายเรื่องของสภาพธรรมแต่ละอย่าง เพราะว่าขณะนั้น เป็นลักษณะของสภาพธรรม ตรงตามที่ได้ทรงแสดงไว้จริงๆ ที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง สถานที่หรือเปล่า ที่ว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ไม่รู้ชื่อที่มีปัญหา คือ บางคนที่บรรลุ เขาบรรลุได้ด้วยตัวเอง อย่างเช่น หลานท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขาว่าเขาได้พระโสดาบัน โดยที่ตอนที่จะกลับไปรับเงิน ค่าจ้างฟังธรรม เขารู้ตัวเองหรือเปล่า ทีนี้ ถ้าจะบอกว่าไม่รู้ชื่อแล้ว ชื่อนี้มาจากไหน

    วิทยากร. ชื่อ ชื่อก็มาเกิดขึ้นภายหลังทั้งนั้น ถ้าพระปัจเจกพุทธเจ้าตรัสรู้ คุณวิจิตรไม่มีโอกาสเลย จิต ๘๙ เจตสิก ๕๒ ไม่มีเลย เพราะพระปัจเจกพุทธเจ้า ไม่สามารถที่จะตั้งชื่อเหล่านั้นได้ นี่เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในขณะที่ตรัสรู้ไม่มีชื่อ แต่มีสภาพธรรม แล้วหลังจากนั้น จึงมีชื่อ เนื่องจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านแตกฉานทั้งอรรถ แตกฉานทั้งพยัญชนะ แตกฉานทั้งนิรุตติศาสาตร์ และอะไรต่ออะไร ซึ่งจะต้องมาตั้งชื่อให้พวกเราเรียนกันอยู่ทุกวันนี้

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้เห็น ใช่ไหม แล้วก็จะอธิบายอย่างไร ที่จะให้เข้าใจว่าไม่ใช่ตัวตน

    ผู้ฟัง ก็เพราะเป็นชื่อสมมติ

    ท่านอาจารย์ ต้องใช้คำ

    ผู้ฟัง ใช้คำสมมติขึ้นมา

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จะมีคำที่สามารถ ที่จะให้คนอื่นเข้าใจลักษณะของธาตุ หรือนามธาตุชนิดนี้ได้ ไม่ใช่ว่าไม่มีคำ แล้วจะไปบอกใครว่าอย่างไร ว่าไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ ซึ่งเกิดขณะนี้กำลังเห็น มีสิ่งที่ปรากฏให้จิตชนิดนี้รู้ทางตา นี่ก็เป็นเรื่องที่ต้องใช้คำทั้งนั้น ถ้าไม่มีการใช้คำ ก็ไม่สามารถที่จะให้คนอื่นเข้าใจได้ แต่ขณะที่กำลังเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ต้องเรียกชื่อสภาพธรรมนั้นหรือเปล่า กำลังเห็นต้องเรียกว่าเห็นไหม

    ผู้ฟัง รู้ว่าเห็น

    ท่านอาจารย์ สภาพเห็นมีให้ศึกษาให้เข้าใจแต่ไม่ใช่ให้เรียกชื่อ เรียกชื่อเท่าไรก็ไม่รู้ เรียกไปเถอะจักขุวิญญาณๆ ๆ เรียกเท่าไรก็ไม่รู้ ลักษณะของจักขุวิญญาณ แต่อาศัยการฟังการพิจารณา การเข้าใจว่าสิ่งที่มีจริง มีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่างเป็นธาตุ ถ้าพูดถึงเรื่องธาตุ คนก็จะไม่ยึดถือว่าเป็นตัวตน

    เพราะฉะนั้น นามธาตุ ไม่ใช่ของใครเลย โลภะก็เป็นธาตุชนิดหนึ่ง โทสะก็เป็นธาตุชนิดหนึ่ง จิตแต่ละชนิดก็เป็นวิญญาณธาตุ เป็นมโนธาตุ พวกนี้อาศัยอะไร ที่จะทำให้คนเห็นความต่างกันของมโนธาตุกับมโนวิญญาณธาตุ ของจักขุวิญญาณธาตุ กับโสตวิญญาณธาตุ พวกนี้ต้องอาศัยชื่อ ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงโดยละเอียด เพื่ออธิบายสภาพธรรมที่มีจริง แต่ขณะที่กำลังรู้ จะไม่มีชื่อ ไม่ต้องไปเรียกชื่อ จักขุวิญญาณ ไม่ต้องไปเรียกชื่อ สติปัฏฐาน เมื่อสติกำลังระลึกลักษณะของสภาพธรรม

    ผู้ฟัง สรุปแล้วคือ ชื่อทั้งหลายนี่พระพุทธเจ้า ทรงบัญญัติขึ้น

    ท่านอาจารย์ เพื่อทรงเทศนาให้คนอื่นเข้าใจ

    ผู้ฟัง ในลักษณะของบารมี มีข้ออื่นๆ อย่างเช่น ปัญญาบารมี มีการแทงตลอดตามสภาวะ เป็นลักษณะ เหมือนกับว่าเราต้องศึกษาให้รู้ว่าอะไรคือสภาวะ อะไรคือไม่ใช่สภาวะ ต้องได้ยิน ต้องได้ฟังอะไร ตั้งมากมาย กว่าที่จะเข้าใจปัญญาบารมีนี้ อันนี้มีความละเอียดแตกต่างกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ต้องเป็นเรื่องการอบรมที่จะรู้แจ้ง อริยสัจจธรรม เพราะเหตุว่าเพียงขั้นทานขั้นศีลเท่านั้น ก็ไม่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ กุศลทั้งหมด ทำ ทำไม บำเพ็ญทำไม ทำไมต้องบำเพ็ญ

    ผู้ฟัง เพื่อไม่ต้องบำเพ็ญอีก

    ท่านอาจารย์ ใช่ เพราะเหุตว่าไม่ต้องบำเพ็ญ ดูเหมือนจะสบาย ใช่ไหม พอพูดถึงเรื่องกุศล ยากทั้งนั้นเลย ทานก็ยาก ศีลก็ยาก ปัญญาก็ยาก เนกขัมมะก็ยาก แต่ทำไมถึงต้องอบรม

    ผู้ฟัง เพื่อไม่ต้องมาอบรมอีก

    ท่านอาจารย์ ใช่

    ผู้ฟัง ในกิจหน้าที่ของวิริยะบารมี ท่านอาจารย์ ที่บอกว่ามีการอุดหนุน สหชาตธรรมเป็นกิจ อุดหนุนอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เป็นลักษณะทั่วๆ ไปของวิริยะ อุปมาเหมือนกับเสา เสาบ้าน ไม่มีเสาได้ไหม บ้านไม่มีเสา หน้าที่ของเจตสิกแต่ละประเภท มีเฉพาะอย่างๆ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจิตประเภทใดจะเกิด ก็ทรงแสดงไว้ว่าขณะนั้น มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วยหรือเปล่า เราอาจจะไม่รู้เลย แล้วก็ถือวิริยะเป็นเรา แต่ความจริงขณะใดที่วิริยะเกิด วิริยะก็ทำหน้าที่ของวิริยะ

    ผู้ฟัง อย่างวิริยะก็เกิดกับจิตแทบจะทุกดวง ถ้าเป็นกุศล ก็เป็นวิริยะที่เป็นไปในทางกุศล แล้วที่จะเป็นวิริยะบารมีด้วย ก็คือมีวิริยารัมพวัตถุ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด อย่างเรา นั่งตอนนี้ท่านอาจารย์ อันไหนบ้าง ที่จะเป็นวิริยารัมพวัตถุบ้าง

    ท่านอาจารย์ ต้องอธิบายความหมายของวิริยารัมพะ ก่อน วิริยารัมพวัตถุ โดยศัพท์

    วิทยากร. วิริยารัมพะ วัตถุ ก็แปลว่า เป็นที่ตั้ง อารัมพะ ก็แปลว่า ปรารถ วิริยะก็แปลว่าความเพียร คือ นึกถึงวัตถุ อันเป็นที่ตั้ง แห่งความเพียรบ่อยๆ

    ท่านอาจารย์ ที่ต้องเป็นกุศลด้วย ใช่ไหม เพราะว่าถ้าเป็นบารมี จะเป็นอกุศลไม่ได้เลย ขณะนี้นั่งกันมาตั้งนาน มีวิริยะหรือเปล่า นี่แหละที่กำลังฟัง นี่ละ เป็นวัตถุของวิริยะ

    ผู้ฟัง ปรารภเนืองๆ บ่อยๆ แล้วก็ ปรารภอะไร ก็ปรารภสภาพธรรมที่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ อารมณ์ของวิริยะ

    ผู้ฟัง อารมณ์ของวิริยะ

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้ทุกคนไม่รู้เลย ว่าไม่ใช่เรา ที่นั่งที่ฟัง แล้วก็ที่คิดทั้งหมด ต้องมีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย เกิดกับอะไร เกิดกับการฟังธรรม ถ้าเกิดฟังไม่ได้ไปแล้ว ก็คงจะมีคนไปหลายคนเหมือนกัน แต่ถึงไปอื่นก็มีวิริยะ แต่วิริยะที่เป็นอกุศล ที่จะไปอื่น วิริยารัมพวัตถุ ก็เป็นที่ตั้งของความเพียร ที่เป็นบารมี ฟังวิทยุ ปรารภหรือเปล่าขณะนั้น จิตเกิดขึ้น และดับไป เพราะฉะนั้น แต่ละขณะของชวนจิตที่เกิด ก็ต้องเป็นการปรารภถึงอารมณ์ของจิตในขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็นการฟังธรรม หรือว่ากุศลใดๆ ทั้งสิ้น

    วิทยากร. วิริยะ ก็มีความหมายหลายอย่าง ในที่บางแห่ง คำว่า วิริยะ หมายถึง ความเป็นผู้แกล้วกล้า จริงถ้าจิตไม่เข้มแข็ง ไม่แกล้วกล้า วิริยะก็เกิดขึ้นไม่ได้ ท่านบอกว่ามีการอุตสาหะเป็นลักษณะ อุตสาหะ หมายความ มีความขยันหมั่นเพียร อดทน มีความขยันหมั่นเพียร ไม่เห็นแก่หนาว ไม่เห็นแก่ร้อน หรืออีกอย่างหนึ่ง มีการลุกขึ้น คือ ไม่นอนจมอยู่เป็นลักษณะ การนอนจมอยู่เป็นลักษณะของคน เกียจคร้านไม่ใช่วิริยะ ในที่นี้เป็นวิริยะบารมี บารมี คือ ความเพียรของพระโพธิสัตว์ มักจะลุกขึ้นแม้จะหนาวจะร้อน จะลำบากอย่างไร ก็พยายามจนกระทั่งกิจนั้นๆ สำเร็จไป

    ผู้ฟัง อยากขอความกรุณาท่านอาจารย์ ช่วยให้ความเข้าใจ ระหว่างเหตุใกล้ให้เกิดของวิริยะบารมี ที่มีความสลดใจ แล้วก็เนกขัมมะบารมี

    ท่านอาจารย์ สลดใจ นี่เป็นกุศล หรือ เป็นอกุศล

    ผู้ฟัง ต้องเป็นกุศล

    ท่านอาจารย์ กุศลที่ประกอบด้วยปัญญา เวลากำลังสนุกๆ นี่มีวิริยะหรือเปล่า

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ รู้ไหม ว่ากำลังมีวิริยะ ในขณะที่กำลังหัวเราะ สนุก นี่

    ผู้ฟัง รู้จากการศึกษา

    ท่านอาจารย์ แต่จริงๆ แล้ว แม้มีวิริยะเกิดก็ไม่รู้ แต่เวลาที่เราเพียรอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งฝืนกระแสของโลภะ ฝืนกระแสของโลก เรารู้เลยว่าต้องอาศัยวิริยะ แม้แต่การจะฟังธรรม บางคนก็ไม่ตื่นตี ๕ ก็มีความเพียรที่จะตื่นแล้ว อย่างนี้เป็นต้น ก็จะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องของการที่จะเห็นวิริยะชัด เพราะว่าฝืนกระแสที่เราเคยเป็น โดยมีสังเวคะ เป็นปทัฎฐาน สังเวคะ ไม่ใช่ตัวเราต้องไปนั่งสลด แต่ว่าสภาพธรรม ทั้งหมดที่เกิด เราเกือบจะไม่รู้เหตุเลย ว่าการที่เรามานั่งฟังพระธรรมนี้ เพราะอะไร เพราะไปมี สังเวคะ หรือเปล่า หรือว่าเพราะมีปัญญาเกิดขึ้นเห็นประโยชน์ ของการที่จะเข้าใจธรรมเป็นไปเอง ที่เป็นเหตุให้ เรามาที่นี่ ไม่ต้องไปนั่งคร่ำครวญ คิดว่าเราจะต้องมีสังเวคะ จะต้องมีหิริ จะต้องมีโอตตัปปะ แต่สภาพธรรมเหล่านี้ก็เกิดพร้อมกับกุศลจิต

    ผู้ฟัง ยถาภูต ทัสนปทัดทานา มีการเห็นตามความเป็นจริงเป็นเหตุใกล้ให้เกิด การเห็นตามความเป็นจริง นี่จะเป็นเหตุใกล้ให้เกิดขันติบารมีอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เป็นเรื่องที่ยาก เพราะเหตุว่า ถ้าไม่มีปัญญาที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็ย่อมเป็นโลภะบ้าง โทสะบ้าง เพราะฉะนั้น ที่จะอดทนต่ออารมณ์ทั้งดี และไม่ดี ก็ต้องเป็นด้วยขณะนั้นสามารถที่จะเข้าใจถูกว่า สภาพธรรมนั้นเป็นอะไร นี่ก็เป็นเรื่องย่อๆ เพราะเหตุว่า ธรรมทั้งหมดต้องทราบ และก็ต้องศึกษาตามลำดับจริงๆ คือ ต้องทราบว่าเพื่อประโยชน์

    ถ้าอย่างเราเรียนเรื่องขันติบารมี ดูแต่ชื่อ แล้วก็จำได้ แล้วก็รู้ลักษณะ แล้วก็รู้อะไรเป็นเหตุใกล้ อะไรเป็นอาการปรากฏก็อยู่ในหนังสือ ไม่มีทางที่เราจะสามารถเข้าใจได้ว่าเป็นความจริงในชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมที่ลืมไม่ได้ คือไม่ลืมว่าศึกษาให้เข้าใจ สิ่งที่มีจริง ซึ่งสิ่งที่มีจริงก็คือธรรมแต่ละอย่าง ในชีวิตประจำวันนั่นเอง มิฉะนั้นจะเป็นโมฆะบุรุษ หรือว่าเป็นใบลานเปล่า เพราะเหตุว่าสามารถที่จะจำชื่อ จำลักษณะ จำเหตุใกล้ จำเรื่องราวได้ แต่ว่าสภาพธรรม ที่กำลังมีอยู่ในขณะนี้ตามความเป็นจริง ไม่สามารถที่จะรู้ความจริงได้

    ในขณะนี้ มีความอดทนอะไรหรือเปล่า ถ้ามี ก็คือสภาพธรรม ที่เรากำลังกล่าวถึง หรือแม้ในขณะนี้ เห็น มีไหม เมื่อมีก็เป็นสภาพธรรม ที่เรากล่าวถึง เพราะเหตุว่ามีเห็น จึงมีสิ่งที่ปรากฏเป็นสิ่งที่น่าพอใจบ้าง ไม่น่าพอใจบ้าง เพราะฉะนั้น ก็หวั่นไหว ไปตามสภาพธรรมที่ปรากฏ จนกว่าจะรู้ความจริงว่าก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรม ซึ่งปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    เพราะฉะนั้น ธรรมทุกคำ เรื่องยาว ไม่ใช่เรื่องเพียงพูดถึง ขันติ ก็จบตรงนี้ แต่ว่าไม่ว่าจะเป็นการพูดถึงเรื่องอะไรก็ตาม แม้แต่เพียงเรื่อง ธรรม คำเดียว ขอให้มีความเข้าใจจริงๆ มั่นคงที่จะรู้ว่า เป็นสิ่งที่มีตลอดชีวิตทุกชาติ แต่ถ้าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ทรงตรัสรู้ ไม่ทรงแสดง ก็ไม่มีใครสามารถที่จะให้ผู้ฟังได้มีความเข้าใจถูก ในสิ่งที่เคยยึดถือว่า เป็นเราซึ่งความจริงก็เป็นแต่เพียงธรรม แต่ละอย่าง ทุกคำทุกเรื่อง ขอให้อย่าคิดว่าเป็นเรื่องที่จบ หรือว่าเรื่องที่สั้น แต่ว่าเป็นเรื่องที่มีอยู่ทุกขณะในชีวิตประจำวัน ยิ่งเข้าใจความเป็นธรรมมากเท่าไร ก็จะอดทนต่ออิฏฐารมณ์ และอนิฏฐารมณ์ได้ แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจสภาพธรรม ตามความเป็นจริงไม่มีทางเลย ที่จะไม่เกิดโลภะ และโทสะ

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่ทุกคนมีธรรมแล้ว ก็พิจารณาให้เข้าใจธรรมยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่จะทำให้เกิด บารมีทั้งหลาย แต่ไม่ใช่ว่าเราตั้งอกตั้งใจจะทำบารมี จะสร้างบารมีด้วยความเป็นตัวตน ถ้าเป็นอย่างนั้น ความไม่รู้ก็จะกั้นหมดทุกอย่าง คือแม้แต่ ขันติ ก็กลายเป็นเรา วิริยะก็เป็นเรา ทุกอย่างที่เคยเป็นเราก็เป็นเราต่อไป ไม่มีการที่จะเห็นว่าเป็นธรรม แต่ละอย่าง

    การศึกษาธรรมก็ต้องอดทน ที่จะรู้ว่าอกุศลมีมาก แล้วก็ความไม่รู้มีมาก ความติดข้องในสิ่งที่เคยติด ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีมาก เพราะฉะนั้น ก็ต้องฟังธรรมทุกประการ ด้วยการพิจารณาให้เข้าใจธรรม ซึ่งการเข้าใจธรรม มีตั้งแต่ขั้นฟัง ขณะนี้ที่ได้ฟัง แล้วก็เริ่มเข้าใจ จนกว่าจะสามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ กำลังเป็นจริง ในขณะนี้ได้

    ผู้ฟัง จากการศึกษามา ก็ทราบว่าสภาพธรรมที่มีจริง ถ้าท่านแสดงไว้ในตำรา ก็คือว่าท่านจะแสดง ว่ามีลักษณะ มีกิจอย่างไร มีอาการปรากฏอย่างไร มีเหตุใกล้ให้เกิดอย่างไร ถ้าเป็นสภาพธรรม ทุกอย่างที่มีจริง พระพุทธเจ้าจะแสดงไว้ ในบารมีทั้ง ๑๐ ท่านก็แสดง ลักษณะเป็นต้นนี้ไว้เหมือนกัน ก็แสดงว่าเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เพราะฉะนั้น แสดงว่าเราสามารถ หมายถึงว่า ถ้ามีปัญญาแล้วก็เจริญปัญญาถูกต้อง สามารถรู้ลักษณะของบารมีเหล่านี้ได้ ใช่หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่มีจริง สามารถที่จะรู้ได้ แต่ไม่ใช่เรา คือเราแล้วจะไปรู้สภาพธรรม เป็นไปไม่ได้เลย ต้องเป็นปัญญาเจตสิก เพราะว่าที่เคยเป็นเรา ก็มีทั้งที่เป็นอกุศลธรรมทั้งหมด และกุศลธรรมด้วย ก็เป็นเราทั้งนั้น เพราะฉะนั้น บางคนเวลาเข้าใจธรรม ก็ยังเป็นเรา จนกว่าจะฟังแล้วฟังอีก จนกว่าจะจรดกระดูก ที่ว่ามีความเข้าใจยิ่งขึ้น ในรื่องของสภาพธรรมว่าเป็นธรรม

    การที่เราศึกษาพระไตรปิฎก หรือแม้แต่พระอภิธัมมัตถสังคหะ ซึ่งเป็นเบื้องต้น เราก็จะได้ทราบว่า เรา ปัญญาของเรา จริงๆ แค่ไหน ปัญญาจริงๆ พอจะทราบหรือยัง ปัญญาจริงๆ แค่ไหน แค่อ่านเข้าใจ เพราะฉะนั้น อย่าไปเทียบกับที่ท่านแสดงไว้ในพระไตรปิฎก ๔๕ พรรษา ทั้งพระวินัยปิฎกก็ลึกซึ้งโดยกิจ

    พระสูตรทั้งหมดลึกซึ้งโดยอรรถ ใครจะอ่านพระสูตรแล้วก็เข้าใจอรรถทั้งหมด คนนั้นต้องมีปัญญาอย่างมาก เพราะฉะนั้น พระสูตรลึกซึ้งโดยอรรถ เพราะเหตุว่าอ่านแล้วเราก็จะต้องมานั่งพิจารณา เช่น วันนี้ เราอ่านแล้วเราก็ต้องพิจารณา เพื่อที่จะให้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง

    พระอภิธรรมลึกซึ้งโดยสภาวะ ขณะนี้ทุกคนเข้าใจแล้ว โดยการฟังว่าเป็นธรรมทั้งนั้นเลย เห็นก็เป็นธรรม สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นธรรม ได้ยินก็เป็นธรรม กำลังคิดนึกก็เป็นธรรม แต่ลึกซึ้งโดยสภาวะ ใครสามารถจะเข้าถึง ใครสามารถจะประจักษ์แจ้งลักษณะของธรรมว่าเป็นธรรม

    นี่คือจุดประสงค์ของการศึกษา ถ้าการศึกษา เราไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ว่าเป็นธรรม จะไม่มีประโยชน์ใดๆ เลย ต้องเป็นใบลานเปล่าแน่นอน คือมีแต่คำ มีแต่เรื่องราว ทั้งๆ ที่สภาพธรรม ก็กำลังมีให้ศึกษา ให้เข้าใจ เพราะฉะนั้น ทุกคนก็คงจะไม่ลืม ไม่ว่าจะได้ยิน ได้ฟังอะไรก็รู้ว่าขณะนี้ เป็นเรื่องธรรมที่มีจริงๆ จนกว่าสามารถที่จะเข้าใจได้ว่าเป็นธรรม

    อย่างขันติ เราก็ยังต้องถามว่าเป็นอะไร ทั้งๆ ที่ชื่อก็บอกว่าขันติ แล้วคำแปลก็บอกว่ามีการอดทนเป็นลักษณะ แต่แม้อย่างนั้น เมื่อไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมก็ต้องสงสัย เพราะเหตุว่าแม้ลักษณะของธรรม ซึ่งมี ๒ อย่างที่ต่างกันเป็นประเภทใหญ่ๆ คือสภาพที่เป็นรูปธรรม ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย ขณะนี้ก็มี กำลังมี

    เพราะฉะนั้น เวลาฟังน้อมระลึกถึง สิ่งที่มีที่ปรากฏ ให้เข้าใจด้วย ว่ากำลังนี้พูดถึงสิ่งที่มี เช่น รูปธรรมก็กำลังปรากฏทางตา เสียงก็กำลังปรากฏทางหู ถ้ามีกลิ่นปรากฏทางไหน ปรากฏทางตาได้ไหม ไม่ได้ ต้องปรากฏทางจมูก สภาพธรรมจริงๆ เป็นสิ่งที่ลึกซึ้งแม้มีอยู่ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทุกวัน ไม่ขาดเลย เมื่อวานนี้มีใครขาดเห็นบ้างไหม มีใครขาดได้ยินบ้าง

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 103
    25 มี.ค. 2567