ปกิณณกธรรม ตอนที่ 603


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๖๐๓

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๔๕


    อ.นิภัทร ถึงอย่างไรก็ตาม คนที่จะสำเร็จจุดประสงค์ของชีวิต จนถึงได้บรรลุสัจธรรม ต้องมีบารมี ต้องมีบารมี จะมาก จะน้อย ก็มีทานศีลภาวนา ๑๐ บารมีต้องมี แต่ไม่ต้องถึงขั้นเข้มงวดยวดยิ่งอย่างพระโพธิสัตว์ เพราะถ้าไม่อย่างนั้นแล้ว ก็ไม่สามารถที่จะบรรลุสัจธรรมได้ แน่นอน

    คุณอดิศักดิ์ อย่างที่ท่านอาจารย์พูด ที่สำคัญที่สุดคือปัญญา สำคัญมาก บารมีอื่นๆ ทั้งหมดเป็นบริวารของปัญญาทั้งนั้นเลย ต้องมีปัญญาเป็นหลักเป็นใหญ่

    ท่านอาจารย์ ต่อจากข้อความที่ยกมา จะมีข้อความต่อไปว่า จริงอยู่การบริจาคอันประกอบด้วยความฉลาดในอุบายด้วยปัญญา ย่อมเข้าถึงความเป็นทานบารมี มิฉะนั้นก็ไม่ใช่ทานบารมี เป็นแต่เพียงทานที่ผู้ที่ไม่มีปัญญา ก็กระทำได้ แต่ไม่มีความเข้าใจว่าการที่ทานนั้นจะเป็นปัจจัย ๑ เป็นบารมี ๑ ที่ทำให้ถึงฝั่งธรรมที่จะดับกิเลสได้ ต้องเป็นผู้ที่ประกอบด้วยปัญญา

    ผู้ฟัง ในทางโลกผู้บังคับบัญชา จะอนุเคราะห์ และอุปการะลูกน้องอย่างไร ไม่หวั่นไหวอย่างไร ในฐานะผู้บังคับบัญชา และเกื้อกูลอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ผู้บังคับบัญชากับลูกน้อง ต้องการจะถึงฝั่งหรือเปล่า ไม่รู้เรื่องอะไรเลย เพียงแต่ว่าเป็นชีวิตประจำวัน ที่จะเกื้อกูลกัน ด้วยประโยชน์ ทั้ง ๒ ฝ่าย เพราะว่าผู้บังคับบัญชาก็อยากจะให้ลูกน้องเป็นคนดี ทำงานดี ก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการงาน หรือว่าประโยชน์ แต่ว่านี่เป็นเรื่องของการที่จะดับกิเลส เพราะเหตุว่ามีพระพุทธเจ้า เป็นอาการปรากฏ พระพุทธเจ้า ทุกคนก็ทราบ เป็นผู้ที่หมดกิเลส เป็นพระอรหันต์ เพราะฉะนั้น เป็นอาการปรากฏของบารมี ถ้าไม่มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเป็นตัวอย่าง ทรงรู้แจ้งอริยสัจธรรม คนอื่นจะสามารถที่จะดับกิเลส ดับทุกข์ได้ไหม ถึงแม้ว่าจะไม่เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ก็ทรงแสดงหนทางที่จะให้ดับกิเลส หมดกิเลสได้ เพราะฉะนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องของผู้บังคับบัญชากับลูกน้อง แต่ว่าเป็นเรื่องของผู้ที่มีปัญญาสามารถที่จะเห็นความจริงของสภาพธรรม ตามลำดับขั้น เพราะฉะนั้น เมื่อมีปัญญาแล้วสิ่งใดๆ ซึ่งเกิดจากปัญญา แม้แต่การให้ทาน การรักษาศีล หรือบารมีอื่นๆ ก็ต่างกับบุคคลซึ่งไม่มีปัญญา แต่ก็ทำได้

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่จะต้องรู้ความจริงว่ากุศลที่ไม่ใช่บารมี ก็มี ในเมื่อกุศลนั้นไม่ได้กำจัดตัณหา มานะ ทิฏฐิ แต่ว่าที่เป็นบารมีต้องไม่มีตัณหา มานะ ทิฏฐิ มากำจัดกุศลนั้น ให้เป็นกุศลประเภทอื่น แต่ต้องเป็นกุศลที่ทำด้วยปัญญาแล้วก็ รู้จริงๆ ว่าถ้าไม่เจริญกุศล กิเลสก็มีมาก แล้วก็เมื่อกิเลสมีมากจะดับกิเลสได้อย่างไร เพราะฉะนั้น บารมีเป็นเรื่องของผู้ที่มีปัญญา

    วิทยากร. บารมีทั้ง ๑๐ นี้ ทุกบารมีก็ประกอบด้วยปัญญาทั้งสิ้น ตั้งแต่ทานบารมี เป็นต้น แต่ว่ามีทานเป็นใหญ่ คือเป็นประธาน แท้จริงนั้นบารมี คือ ปัญญานั้น มีทุก ๑๐ อย่างทั้งหมดเลยมีปัญญาบารมี แต่ที่ท่านบอกว่าบารมีปัญญานั้น ต่างหากนั้น เฉพาะปัญญานั้น เป็นประธาน เป็นใหญ่กว่าเขา

    ท่านอาจารย์ ถ้ามีปัญญาแล้วคุณสุรีย์จะอนุเคราะห์คนอื่นไหม

    ผู้ฟัง ดิฉันข้องใจว่า คำว่า อนุเคราะห์กับอุปการะ มันดูเหมือนกับคล้ายกัน

    ท่านอาจารย์ ทางโลกมีปัญญาที่จะรู้ เรื่องการดับกิเลส ดับทุกข์ หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ตรงนั้น คงเป็นสูญ

    ท่านอาจารย์ อย่างนั้นก็ไม่ใช่บารมี เป็นทานได้ เป็นศีลได้แต่ไม่ใช่ทานบารมี ไม่ใช่ศีลบารมี ก็ต้องเป็นไปตามลำดับ แต่ข้อสำคัญที่สุดวันนี้ เราอยู่ที่นี่ แล้วเราฟังเรื่องบารมีประโยชน์ คือเราจะได้พิจารณาใจของเรา ทุกครั้งที่กุศลจิตประเภทหนึ่ง ประเภทใดเกิดว่าเป็นบารมีหรือเปล่า ไม่อย่างนั้น ถ้าเราเรียนเรื่องบารมีแล้วไม่เข้าใจ ก็ไม่มีการที่จะพิจารณาตัวเอง เพราะว่าทุกคนก็มีการให้ หรือว่าจะมีกุศลอื่น เช่น ศีลแต่ขณะนั้นๆ เป็นบารมีหรือเปล่า นี้เป็นเรื่องที่จะต้องเข้าใจ ไม่อย่างนั้นสิ่งที่เราเรียนไปก็คือไม่ใช่ชีวิตประจำวัน แล้วสิ่งที่มีอยู่ในพระไตรปิฎก ก็ไม่ทำให้เราเกิดความรู้ในตัวของเราเอง จริงๆ ว่าเป็นบารมีหรือเปล่า

    เพราะฉะนั้น ก็ควรจะได้รู้จริงๆ ว่าต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ ปัญญาด้วย ไม่ใช่ว่าการให้ทุกครั้งเป็นบารมี แต่ว่าการให้ขณะใดเป็นไปเพื่อตัวเราเอง หรือว่ามีความสำคัญตน หรือมีความติดข้องในขณะนั้น เราจะกล่าวว่าขณะนั้นเป็นบารมีได้ไหมแม้แต่เป็นการกระทำของเรา แต่ละครั้งแต่ละขณะ เราก็มีทางที่จะเข้าใจได้ถูกต้อง ว่าขณะนั้น กุศลนั้นๆ เป็นบารมี หรือไม่ใช่บารมี เพราะว่าเรื่องของการที่จะดับกิเลส หรือว่าหมดกิเลส เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ แต่เป็นไปได้ไม่ง่าย แล้วก็เป็นเรื่องของการที่จะต้องเป็นไปด้วยปัญญาจริงๆ ถ้าไม่มีปัญญา แล้วก็อยากจะหมดกิเลส แล้วก็เที่ยวไปทำทานต่างๆ อะไรต่างๆ จะหมดกิเลสได้ไหม ถ้าไม่มีปัญญา

    ผู้ฟัง ไม่ได้แน่นอน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่เราจะต้องเข้าใจว่า การกระทำกุศลของเราแต่ละครั้ง ไม่เป็นไปด้วยตัณหา ไม่เป็นไปด้วยมานะ ไม่เป็นไปด้วยทิฏฐิ ไม่ใช่อยู่ในตำรา แต่เมื่อการกระทำกุศลนั้นเกิดขึ้น เราสามารถที่จะเข้าใจสภาพจิตนั้นได้ ว่าด้วยสั่งต่างๆ เหล่านี้หรือเปล่า ถ้ายังเป็นด้วยตัณหา ด้วยมานะ ด้วยทิฏฐิ ขณะนั้นไม่ใช่บารมี

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์พูดอย่างนี้ก็แสดงว่า มันไม่ใช่เรื่องราวในชีวิตประจำวัน หรือ

    ท่านอาจารย์ เรื่องราวในชีวิตประจำวัน จะพ้นจากชีวิตประจำวันได้อย่างไร

    ผู้ฟัง ถ้าหากว่าผมเอง ยังไม่เข้าใจ หรือยังไม่รู้จักลักษณะของรูปธรรม และนามธรรม จะรู้ลักษณะของตัณหา มานะ ทิฏฐิได้หรือไม่ จากการอ่าน จากการสนทนา

    ท่านอาจารย์ เวลาให้ ให้เพราะอะไร

    ผู้ฟัง ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ก็จะไม่รู้

    ท่านอาจารย์ ให้ เพราะหวังจะได้ ตอบแทน เป็นบารมีหรือเปล่า แล้ววันๆ หนึ่งเคยให้อย่างนี้ไหม ให้เขา เขาจะได้ให้เราตอบ มีไหม ขณะนั้น ก็ไม่ใช่บารมี ให้เพราะว่าหวังจะได้ลาภ ได้ยศ เป็นบารมีหรือเปล่า นั่นคือความติดข้องแต่ว่า เรื่องของธรรมเรื่องของปัญญาเป็นเรื่องละ ความติดข้อง ปัญญากับโลภะ จะอยู่ร่วมกันไม่ได้เลย ขณะใดที่มีปัญญาขณะนั้นจะไม่มีโลภ ขณะใดที่โลภะเกิดขึ้น ขณะนั้นก็ไม่มีปัญญา เพราะฉะนั้น แม้แต่สิ่งที่เป็นกุศลในแต่ละวัน เมื่อศึกษาแล้วเราก็จะทราบได้ ว่ากุศลนั้น เป็นบารมี หรือไม่ใช่บารมี ไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีกุศลที่เป็นบารมีตลอดเวลา ถ้าเกิดกุศลที่ประกอบด้วย ความหวังหรือความต้องการ ด้วยความเห็นผิด หรือว่าด้วยความสำคัญตัว ขณะนั้นก็ไม่ใช่บารมี

    ผู้ฟัง ในชีวิตประจำวัน ถ้าหากว่าสติปัฏฐานไม่เกิด รู้ลักษณะของรูปธรรม และนามธรรมทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ โอกาสที่จะเข้าใจบารมีนี้ ก็น้อยมาก แต่เราเข้าใจจากการอ่านได้

    ท่านอาจารย์ แม้แต่การฟัง ค่อยๆ เริ่มฟังไป เข้าใจธรรมไป แล้วก็รู้สภาพจิตของเราด้วย แม้แต่จะเป็นเพียงการคิดนึก ยังไม่ถึงสติปัฏฐาน แต่ก็สามารถที่จะพิจารณาได้

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้น เมื่อเวลาผมมาศึกษาเรื่อง บารมีนี่ มันเป็นหัวข้อ สุดยอดของพระธรรมที่ทรงแสดงถึงเรื่องทาน เรื่องศีล เรื่องเนกขัมมะต่างๆ ทั้ง ๑๐ บารมี

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าคุณประทีป ศึกษาธรรมเพื่ออะไร

    ผู้ฟัง เพื่อเข้าใจธรรม

    ท่านอาจารย์ แม้แต่จุดตั้งต้นก็ต้องถูก เพื่อลาภ หรือเปล่า

    ผู้ฟัง บางทีก็มีนิดๆ

    ท่านอาจารย์ อย่างนั้นไม่ใช่บารมี เพื่อยศ หรือเปล่า

    ผู้ฟัง อันนี้คงไม่มี

    ท่านอาจารย์ เพื่อสรรเสริญหรือเปล่า

    ผู้ฟัง อันนี้มีแน่นอน

    ท่านอาจารย์ อย่างนั้นก็ไม่ใช่บารมี เพื่อบริวารหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ก็อาจจะมี

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นก็เป็นผู้ตรงว่า ไม่ใช่บารมี เพราะว่าบารมีเป็นเรื่องละกิเลส อย่าลืม ศัตรูตัวใหญ่ก็คือกิเลส เพราะฉะนั้น อะไรจะละกิเลสได้ ก็เป็นธรรมที่ตรงกันข้ามกับกิเลสคือ คุณความดี ซึ่งต้องประกอบด้วยปัญญา ถ้าไม่มีปัญญาอย่างไรๆ ก็ต้องเป็นเราที่ทำกุศล

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์บรรยายแล้วรู้สึกยากขึ้นทุกที ยากขึ้นทุกที เพราะว่าบางทีที่ผมอยากจะมีบริวาร มันเกิดขึ้นเอง โดยเราไม่ได้ตั้งใจที่จะให้มีบริวาร มีบรวิาร หรือว่ามีลาภ อะไรอย่างนี้ บางขณะ คงจะเป็น จากการที่ผม เป็นคนสะสมอย่างนั้นมา เป็นคน ที่อยากมีบารมี อยากมีบริวาร อยากมีลาภ อะไรอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ ทราบหรือยังว่าขณะที่อยาก เป็นอะไร

    ผู้ฟัง เป็นอกุศล แน่นอน

    ท่านอาจารย์ แล้วจะเอาอกุศล ไปละ อกุศลได้อย่างไร เมื่อมีความอยาก จะเอาอะไรละความอยาก ความอยากเป็นของธรรมดาสำหรับทุกคน เพราะเหตุว่ายังไม่ได้ดับความอยาก แต่ยังไม่เห็นโทษของความอยากเลย แม้เพียงแต่จะเห็นโทษของความอยากก็ยัง ไม่เห็น แล้วจะพูดเรื่องบารมี บารมีเป็นเรื่องของการละความอยาก เป็นเรื่องขัดเกลากิเลส เป็นสภาพธรรม ที่จะถึงการดับกิเลสได้ เพราะฉะนั้น ถ้ามีกิเลสเรื่อยๆ แล้วจะเอาอะไรไปดับกิเลสหรือไปละกิเลส

    ผู้ฟัง เพราะว่ากิเลสมันเกิดขึ้นเอง ผมไม่ได้อยากให้เป็นอย่างนั้นเลย เขาก็เกิด

    ท่านอาจารย์ แล้วกุศล เกิดขึ้นเองหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ก็มี บางครั้งบางคราว

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ธรรมที่เป็นกุศลก็เป็นกุศล ธรรมที่เป็นอกุศลก็เป็นอกุศล ใครรู้ ต้องเป็นปัญญาที่รู้ เมื่อเป็นปัญญาที่รู้ จึงเห็นโทษของอกุศล อย่างโลภะ ใครจะบอกว่ามีโทษสักเท่าไร เชื่อไหม

    ผู้ฟัง เหมือนจะเชื่อ แต่เวลาอะไรอร่อยๆ ก็ลืมทุกที

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร

    ผู้ฟัง ยังมีโลภะ

    ท่านอาจารย์ เพราะปัญญาไม่พอ จึงต้องอบรมเจริญปัญญา แล้วก็จะเห็นโทษของโลภะ แล้วก็รู้ว่าเรื่องของบารมี เป็นเรื่องที่จะละโลภะ ที่เกิดร่วมกับความเห็นผิดก่อน แล้วก็ละโลภะ ในความติดข้องใรรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส แล้วก็ละโลภะ ความติดข้องในภพในชาติ

    ผู้ฟัง ผมคงจะติดในทางโลกมาก เพราะว่าคิดว่าบารมีนี้ ชอบพูดกันบ่อย ชอบพูดกันมาก แต่ไม่เข้าใจความหมายในทางธรรมอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ ถ้ามีคนที่บอกว่า คนนี้มีบารมีมาก แต่ใจของเขาเป็นอกุศล เราจะรู้ว่าเราพูดผิดหรือพูดถูก ที่ว่าเขามีบารมี

    ผู้ฟัง ก็ถ้าอย่างนี้ผิดแน่นอน

    ถ. ฝากเรียนถามว่า เขาก็อนุเคราะห์อยู่ อุปการะอยู่ ถ้าไม่เป็นบารมี แล้วเป็นอะไร

    ท่านอาจารย์ กุศล ด้วยความหวังหรือเปล่า คือ อนุเคราะห์คนอื่นให้พ้นทุกข์ แล้วตัวเราจะพ้นทุกข์ได้ด้วยอะไร ตัวคนอนุเคราะห์จะพ้นทุกข์ได้ด้วยอะไร

    ผู้ฟัง ด้วยการสะสมกุศลจิต ที่ประกอบด้วยปัญญา

    ท่านอาจารย์ ใช่

    ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์แสดงว่า มีหลายระดับขั้น อันนี้ก็ปัญญาที่เข้าใจสภาพธรรม ที่เป็นจริง แล้วก็ไม่หวั่นไหวเมื่อประสบ ไม่ว่าจะเป็นคำสรรเสริญ หรือนินทา หรือการได้ลาภ หรือเสื่อมลาภ

    ท่านอาจารย์ ลาภ เที่ยงไหม

    ผู้ฟัง ก็ไม่เที่ยง

    ท่านอาจารย์ สรรเสริญ เที่ยงไหม

    ผู้ฟัง ไม่เที่ยง

    ท่านอาจารย์ สุข เที่ยงไหม

    ผู้ฟัง ไม่เที่ยง

    ท่านอาจารย์ ยศเที่ยงไหม

    ผู้ฟัง ไม่เที่ยง

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่ต้องหวั่นไหว เมื่อไรก็มีลาภ ก็เสื่อมลาภได้ มียศก็เลื่อมยศได้ มีสุขก็มีทุกข์ได้ มีสรรเสริญก็มีนินทาได้ ก็เป็นของธรรมดา หรือว่าทุกอย่างก็ต้องเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่มีใครสามารถที่จะเลือกได้ แม้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง เสื่อมลาภไหม เสื่อมยศมีไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ นินทามีไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ ทุกข์มีไหม แล้วจะเดือดร้อนก็ลำบากเปล่าๆ เพราะว่าใครก็บังคับบัญชาไม่ได้ เมื่ออะไรจะเกิดก็ต้องเกิด

    ผู้ฟัง ขณะที่เดือดร้อน แล้วก็หวั่นไหว จิตเป็นอกุศล แล้วท่านอาจารย์เคยแสดงว่า ขณะใดที่เราไม่เข้าใจสภาพธรรมที่เป็นจริงขณะนั้น จิตเป็นอกุศล

    ท่านอาจารย์ ขณะใดที่อกุศลธรรม เกิดขณะนั้น จะไม่มีกุศลธรรมเกิดร่วมด้วย

    ผู้ฟัง คำว่า ไทยธรรม คือสิ่งที่ให้ หมายความว่า ในขณะซึ่งเราให้ เราก็ยังเสียดายอยู่ หรืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ ถ้ายังเสียดายก็ให้ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ขณะใดที่ให้ก็หมายความว่า สามารถกำจัดโลภะในสิ่งที่จะให้ ได้

    ผู้ฟัง คือมันเป็นอย่างนี้ ดิฉันบ่อยมาก ให้ไปแล้วก็เสียดาย เพราะฉะนั้น เวลาจะให้อะไรใครต้องบอก รีบเอาไปเร็วๆ นะเดี๋ยวฉันกลับใจ ไม่ให้ อันนี้มันเรื่องจริง

    ท่านอาจารย์ ให้ไปแล้วก็อาจจะเสียดายอีกก็ได้

    ผู้ฟัง แล้วต้องบอกให้เขารีบเอาไป เอาไปเสียเดี๋ยวนี้ มิฉะนั้นเดี๋ยวฉันกลับใจ ไม่ให้ กลับใจบ่อยมาก อันนี้มันก็ไม่ได้กำจัดโลภะ อะไรเท่าไร

    ท่านอาจารย์ ขณะให้

    ผู้ฟัง อ๋อ ขณะให้ ต้องเป็นขณะจิต แล้วมีกำลังสามารถเป็นอาการปรากฏ กำลังสามารถ แปลว่าอะไร

    ท่านอาจารย์ ให้ได้

    ผู้ฟัง ให้ได้โดยไม่ขอกลับคืน

    ท่านอาจารย์ ปรากฏว่ามีการให้ ให้แล้ว ให้ได้

    ผู้ฟัง อาจารย์บอกว่าขณะจิต ใช่ ในขณะจิต เราให้เขาจริงๆ บริสุทธิ์ใจให้เขาจริงๆ แต่เดี๋ยวมันเสียดายแล้ว เขายังไม่ได้ไป ขอกลับคืนได้ไหม ฉันยังใช้ประโยชน์อยู่ อะไรอย่างนี้เป็นต้น นี้อันนี้เป็นกำลังสามารถหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ขณะให้ หรือขณะที่เอาคืน

    ผู้ฟัง ขณะให้ดิฉันเข้าใจ ดิฉันให้ เขาจริงๆ แต่ดิฉันเป็นโรค อันนี้มันคงจะได้ประโยชน์ รีบเอาไป ประเดี๋ยวฉันเอากลับคืน ทีนี้ มีพร้อมถึงพร้อมด้วยภพ คำว่า ภพนี้ ถึงพร้อมด้วยภพนี้ไม่เข้าใจ

    วิทยากร. ภพมีความหมายหลายอย่าง ในที่นี้ท่านก็ไม่ได้บอกว่าภพ หมายความว่าอย่างไร แต่เราเข้าใจเองว่า ภพ คือการเกิด เมื่อเกิดขึ้นมา ภวะ วิภวะ สัมปฏิ หมายความว่าการถึงพร้อมด้วย ภพ และ วิภวะภพ อีกอย่าง ๑ วิภวะ แปลว่า ไม่เกิดก็ได้ ถึงพระนิพพาน หมายความว่าทาน บารมีทั้งหมด เริ่มจากทานเป็นต้น เมื่อครบแล้วก็ถึงพระนิพพาน ไม่ต้องเกิดต่อไปก็ได้ วิภวะ สัมปฏิ แปลว่า การถึงพร้อม คือ สมบัติก็ได้ เพราะว่า บาลีศัพท์ ๑ มีความหมายลึกซึ้งมาก มีความหมายหลายอย่าง วิภาวะ แปลว่าความเจริญก็ได้ ภวะ หมายถึงการเกิด โดยเฉพาะ ทุกวันนี้เราทำกุศลแล้วเราต้องเกิดนอกจากถึงพระนิพพานแล้ว ถ้ายังไม่ถึงพระนิพพาน ตราบใดก็ต้องเกิด แล้วก็แยกศัพท์ดู ภว วิภว สัมปฏิ ปัจจุปัฏฐานา หรือว่า คำว่า หรือว่า อีกอย่างหนึ่ง หรือว่ามีความถึงพร้อมด้วยภพ และความเจริญ เป็นอาการปรากฏ วิภวะ ในที่นี้หมายถึงความเจริญก็ได้ ความเจริญ คือ พระนิพพาน เป็นความเจริญที่สูงสุด วิภวะ อีกอย่างแปลว่าไม่เกิดก็ได้ คือ ถึงพร้อมด้วยการเกิด และการไม่เกิด ก็ได้

    ผู้ฟัง มีวัตถุ อันสมควรสละเป็นเหตุใกล้ ให้เกิด อันนี้ก็คือ ไทยธรรม ที่ท่านอาจารย์ได้พูดเมื่อกี้นี้นั่นเอง คำว่า วัตถุในที่นี้ คือ ไทยธรรม ใช่หรือเปล่า

    วิทยากร. ไทยธรรมแปลว่าของที่จะพึงให้

    ผู้ฟัง ของที่ให้ อันนี้คือวัตถุ อันนี้หรือเปล่า อันเดียวกันหรือเปล่า

    วิทยากร.ธรรมกับวัตถุ มีความหมายเหมือนกัน คล้ายๆ กัน ธรรมในที่นี้หมายความว่าสิ่งของที่จะพึงให้ คือหมายความว่าเราจะให้ของอะไรแก่ใคร เราก็จะต้องมีของ มีของที่จะให้ ถ้าไม่มีของก็ให้ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ของนั้นแหละท่านเรียกว่า ธรรม เมื่อมาบวกกับ ทัย แปลว่าให้ได้ ของนี้มีไว้เพื่อจะให้ หรือของนี้พึงให้ ของที่จะพึงให้ อย่างคุณหญิงท่านทำวันนี้ท่านก็มีของมากมาย ของทั้งหลายแหล่ เรียกว่า ไทยธรรม คือ ของที่จะให้ ตั้งไว้เพื่อจะให้ เรียกว่า ไทยธรรม

    ท่านอาจารย์ เวลาที่คุณสุรีย์ได้อะไรมา ทราบไหม ว่ามาจากไหน จะเป็นวัตถุ จะเป็นอาหาร จะเป็นเสื้อผ้า จะเป็นของใช้ จะเป็นอะไรก็ตาม

    ผู้ฟัง จากกรรมทำไว้แต่ปางก่อน

    ท่านอาจารย์ มาจากการให้ ที่เคยให้ เพราะฉะนั้น เวลาถึงพร้อมด้วยภพ จะเกิดในภูมิที่ดีหรือ ว่าแม้ในภูมินี้ก็ตามแต่ ขณะใดที่มีหรือเป็นขึ้น ซึ่งสิ่งที่เราได้มา ความเจริญต่างๆ สมบัติต่างๆ ก็เพราะมาจากการให้ เพราะว่าบางคนกลัวการให้ ไม่กล้าให้ ให้แล้วก็จะหมด แต่ว่าสิ่งที่แต่ละคนได้รับ ควรจะทราบว่า มีเหตุ คือการให้เป็นเหตุ ด้วย

    ผู้ฟัง หมายความว่าในชาตินั้นก็เกิด

    ท่านอาจารย์ ผลของทาน

    ผู้ฟัง สมบูรณ์ด้วยทรัพย์สิน แล้วก็ในชาตินั้นก็มีโอกาสที่จะบรรลุมรรคผลได้ด้วย

    ท่านอาจารย์ เป็นอาการปรากฏ ของทานของผลของทาน

    ผู้ฟัง เกิดมาสมบูรณ์ด้วยแล้วโอกาสที่จะบรรลุธรรม ก็มีด้วย

    ท่านอาจารย์ อันนี้เดี๋ยวก็เลยให้ทานอย่างเดียว แล้วก็ถึงธรรม

    วิทยากร. ต้องเรียกว่า ปัญญาประกอบทุกอัน ปัญญาประกอบทุกอันเลย ไม่ใช่ว่าให้ๆ เพื่อจะได้บรรลุอะไรอย่างนี้ ถ้าไม่ประกอบด้วยปัญญาแล้วก็ไม่มีทาง พระพุทธองค์ท่านให้ทุกอย่างที่มี ตั้งแต่ยังไม่ได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งแต่สมัย ที่เป็นพระสุเมธดาบส ของมีทุกอย่างตั้งแต่ปู่ ย่า ตา ยาย สะสมมา หลายชั่วคน ท่านให้หมด ท่านให้หมด แล้วเป็นอย่างไร ท่านจนไหม แม้แต่ในสมัยเป็นพระโพธิสัตว์ชาติสุดท้ายที่ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านก็เสียสละหมด แล้วทุกอย่างที่ท่านเสียสละ ท่านก็มีหมด แต่ท่านไม่ติด ไม่ติด ไม่ข้อง คนให้ก็นึกว่าจะจน มีอะไรๆ ก็ขนไปให้เขาหมดเดี๋ยวก็จนตาย อะไรอย่างนี้ แต่ความจริงยิ่งให้ยิ่งรวย อย่างที่ท่านอาจารย์ว่า ทุกอย่างที่เรามีในชาตินี้ อย่านึกว่าเรานึกอยากได้อะไร มันก็ได้ บางคนค้าขายลงทุนไปตั้งพันล้านหมื่นล้าน ก็ขาดทุนไปพร้อมกับการทำนั้น นั้น เพราะอะไร เพราะว่า เราเคยตัดรอน ไม่เคยเสียสละไม่เคยให้อะไรใครแต่ก่อน มาชาตินี้กรรมอันนั้น มันก็ยังให้ผลอยู่ แทนที่จะรวย มันก็ไม่รวย ถ้าเราทำดีไว้ แล้วเคยให้ทุกสิ่งทุกอย่าง มาชาตินี้ทำอะไรมันก็ดี มีอะไรก็มี คือมันมีได้หมด ถ้าเราทำสิ่งที่ ทำดีไว้ ที่เราได้มามันก็เป็นผลของความดีที่เราทำมาชาติก่อน เพราะฉะนั้น อย่ากลัวว่าให้แล้วจะจน เราให้ข้าวให้น้ำ ให้อะไร เราก็ต้อง ได้ข้าวได้น้ำ เราไม่เคยให้ของใครเลย โอกาสที่เราจะได้อะไรจากใคร มันก็ไม่มี

    ท่านอาจารย์ สละวัตถุนี่ยากไหม สละวัตถุ สละอะไรยากกว่า สละอะไรยากกว่า สละกิเลส เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าเราจะเห็นว่า สละวัตถุยาก แต่ให้ทราบว่า สิ่งที่ยากกว่านั้น คือสละความเป็นเรา สละความเป็นตัวตน สละกิเลส ถ้าเราไม่มีการเริ่มสละวัตถุ ซึ่งสละง่ายกว่า แต่เราก็ยังไม่ค่อยจะสละ หรือว่าสละยาก การสละความเป็นเราจะยากสักแค่ไหน เพราะฉะนั้น ก็เริ่มด้วยการสละ ให้เป็นสิ่งที่รู้ว่าเมื่อมันเป็นประโยชน์ กับคนอื่นก็สามารถที่จะสละเพื่อประโยชน์แก่คนอื่นได้ ในขณะเดียวกันก็จะทำให้เป็นผู้ที่มีอุปนิสัย ในการสามารถสละ หรือละ เพราะว่าเราติดในวัตถุ ไม่เท่ากับเราติดในความเป็นตัวตน ในนามธรรม ในเวทนาขันธ์ ในสัญญาขันธ์ ในสังขารขันธ์ ในวิญญาณขันธ์ และในรูปขันธ์ ทั้งตัวจะให้ใครได้ เอาแขนให้ไปหรือว่าจะเอาอะไรให้ไป ก็ไม่ยอมสละ สละวัตถุข้างนอกก็พอจะให้ได้ แต่พอมาถึงตัวเริ่มยาก และถ้าจะสละความเป็นเราหรือ ความเห็นผิดซึ่งติดข้องในทุกสิ่งทุกอย่าง ที่เคยยึดถือว่าเป็นเรา ก็ต้องยากกว่า เพราะฉะนั้น การบำเพ็ญบารมี จึงต้องเป็นไปด้วยปัญญญาจริงๆ แล้วค่อยๆ อบรมค่อยๆ บำเพ็ญไปจนกว่าสามารถที่จะถึงการสละความเป็นตัวตนได้

    วิทยากร. พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ให้สละอันนี้ก่อน สละตัวเรา คือ สักกายทิฏฐิ ซึ่งอาจารย์ก็บอกเป็นเรื่องยาก ก็เทวดามาทูลถาม พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ตอบอย่างนี้ แล้วท่านอาจารย์ก็บอกพวกเราอย่างนี้ มันก็ต้อง รู้สภาพธรรม ตามความเป็นจริงที่กำลังปรากฏ ถ้ารู้สภาพธรรม ตามความเป็นจริง ที่กำลังปรากฏ แล้วก็จะค่อยๆ ละ ก็จะค่อยๆ สละ ความเป็นเราขึ้น

    ท่านอาจารย์ ฟังวันนี้จะสละ หรือไม่สละ ข้าวของในบ้าน อะไรต่ออะไรต่างๆ ถึงฟังก็ขึ้นอยู่กับว่าขณะนั้นกุศลจิต จะเกิดหรือไม่เกิด

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 103
    25 มี.ค. 2567