ปกิณณกธรรม ตอนที่ 602


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๖๐๒

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๔๕


    อ.สมพร จะเป็นใครก็แล้วแต่เแม้ พระพุทธเจ้า ก็ยังมีทุกข์ที่เป็นวิบากของเก่า ประพฤติมาแล้ว ปฏิบัติมาแล้ว มานาน แต่ทุกข์ที่เกิดจากกิเลสไม่มี ถ้าพูดง่ายๆ อะไรเป็นทุกข์ ถ้าเราจะพูดว่าจิตอย่างเดียวก็ไม่ถูก ก็เพราะว่ามันมีรูปด้วย เพราะฉะนั้น ท่านจึงบอกว่าขันธ์ ๕ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้ใครมีทุกข์บ้าง

    ผู้ฟัง หมายความว่า

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้ ใครไม่มีทุกข์บ้าง

    ผู้ฟัง สรุปแล้วหมายความว่า ความเข้าใจของผมคือทุกสิ่งทุกอย่างมันเกิดดับ เกิดดับ เพราะเหตุนั้นมันจึงเป็นทุกข์

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่เกิดแล้วดับ

    ผู้ฟัง ใช่ พอมาพูดตรงนี้ว่า นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิด ไม่มีอะไรดับ ทำให้เข้าใจยากขึ้นเท่านั่นเอง

    ท่านอาจารย์ โดยความหมายก็คือ การเกิดดับ เป็นทุกข์

    ผู้ฟัง แล้วตอนนี้มี อาจารย์พูดอยู่คำหนึ่งว่า จิตเป็นใหญ่ ผมมีความรู้สึกว่า น่าจะเจตสิกเป็นใหญ่กว่าจิต เพราะว่ามันมีความโลภะ ความโกรธ ความหลง ขึ้นมาแล้วก็มันช่วยทำให้จิต คือจิตรู้เฉย ไม่เห็นทำหน้าที่อะไร นอกจากรู้เฉยๆ โกรธก็ไม่เป็น โลภก็ไม่เป็น เพราะฉะนั้น สิ่งที่ทำให้เราเบี่ยงเบนไปจากพฤติกรรมธรรมดา น่าจะเป็นเจตสิก น่าจะเป็นใหญ่กว่าจิตหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ถ้าจิตไม่มี เจตสิกจะเกิดได้ไหม

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นก็ใช่ ถ้าใช้คำว่าอย่างนั้นก็ใช่

    ท่านอาจารย์ แล้วใหญ่ ในที่นี้ ใหญ่ในแต่ละความหมาย ถ้าพูดถึงอินทรีย์ ไม่ใช่เฉพาะจิตเท่านั้นที่เป็นอินทรีย์ ความรู้สึกทั้งหมดก็เป็นอินทรีย์ด้วย เพราะฉะนั้น เวลาที่เราศึกษา เราก็ต้องเข้าใจว่า คำว่า อินทรีย์ คืออย่างไร และอินทรีย์เฉพาะอย่างๆ คืออย่างไร ถึงแม้ว่าความรู้สึก เช่น โสมนัสเวทนาก็เป็นอินทรีย์ สุขเวทนาก็เป็นอินทรีย์ ทุกข์เวทนาก็เป็นอินทรีย์ อุเบกขาเวทนาก็เป็นอินทรีย์ ความรู้สึกทุกชนิด เป็นอินทรีย์ เพราะอะไร เป็นใหญ่เฉพาะ ความรู้สึกนั้นทำให้สภาพธรรมอื่น เป็นไปอย่างนั้นด้วย เช่น เวลาที่โสมนัสเวทนาเกิด คือขณะนั้นจิตเป็นอย่างไร ต่างกับเวลาที่โทมนัสเวทนเกิด เพราะฉะนั้น เขาเป็นใหญ่ในการครอบงำ สภาพธรรมอื่น หรือทำให้สภาพธรรมอื่นเป็นไปอย่างเขา นั่นคือลักษณะของเวทนา แต่โดยลักษณะของการรู้แจ้งอารมณ์ ไม่มีเจตสิกไหนจะทำหน้าที่นี้ของจิตได้

    ผู้ฟัง ไม่ใช่จิต

    ท่านอาจารย์ จิตเป็นใหญ่เป็นประธาน ในการรู้แจ้งอารมณ์ ขณะนี้ทางตาที่กำลังเห็น อะไรที่กำลังปรากฏ จิตเป็นใหญ่ แต่ส่วนจำ เขาจะจำเท่านั้น แต่การเป็นใหญ่จริงๆ ในการรู้ความต่างของอารมณ์ ต้องเป็นลักษณะของจิต

    ผู้ฟัง ผมบังเอิญฟังเทปของอาจารย์วันก่อน ผมอาจจะจดไม่ได้ทัน กายวิญญัติรูป คือคล้ายๆ จิตต้องการให้มีรูปปรากฏตามนั้น เช่น โกรธ ดีใจ หรือก็มีร้องไห้ หัวเราะ ในขณะเดียวกันก็มีการพูดถึง คำว่า จิตสั่ง คือมันไม่ใช้คำว่า สั่ง แต่ว่าเราร้องไห้ มันก็ทำให้บังคับให้ น้ำตาเราไหลอย่างนี้ เราไม่เรียกว่าจิตสั่ง แต่ว่ามันก็ มีอิทธิพลทำให้น้ำตาไหล อะไรอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ ก่อนอื่น ต้องทราบว่า รูป ไม่ใช่สภาพรู้ รูปจะรับคำสั่งได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้แน่นอน แต่ รูปแต่ละรูปที่เกิดมี สมุฏฐานที่ให้รูปนั้นเกิดต่างกัน บางรูป หรือบางกลาป บางกลุ่มเกิตจากจิต เป็นสมุฏฐาน บางรูปเกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน บางรูปเกิดจากอุตุ ความเย็น ความร้อนเป็นสมุฏฐาน บางรูปเกิดจากอาหารเป็นสมุฏฐาน เพราะฉะนั้น แต่ละกลาปเล็กๆ ที่ซึมซาบอยู่ทั่วทั้งตัว ก็จะมีสมุฏฐานให้เกิดต่างกัน อย่างรูปที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน กรรมไหน ใครรู้ ว่าทำให้รูปนี้เกิดขึ้น แต่อำนาจของเจตนา ซึ่งเป็นกรรม ที่ได้กระทำแล้วก็เป็นกัมมปัจจัย ที่จะทำให้กัมมชรูปเกิดได้

    ผู้ฟัง คำนี้ ที่ทำให้ผมมีความรู้สึกว่ามันเหมือนกับมีอิทธิพล ทำให้

    ท่านอาจารย์ แต่ไม่สั่ง

    ผู้ฟัง ไม่ได้สั่ง

    ท่านอาจารย์ กรรมดับไปแล้ว สะสมอยู่ เป็นปัจจัยที่จะทำให้กัมมชรูปเกิด

    ผู้ฟัง ผมอาจจะไม่สั่งใคร แต่ผมขยิบตาอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ ใช่ อันนั้นวิญญัติ

    ผู้ฟัง ฆ่าเลยอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ อันนั้นวิญญัติรูปเกิดจากจิต ไม่ใช่เกิดจากกรรม

    ผู้ฟัง เกิดจากจิต

    ท่านอาจารย์ วิญญัติรูป ไม่ว่าจะเป็นกายวิญญัติ หรือวจีวิญญัติ ต้องเกิดจากจิตเป็นสมุฏฐาน

    ผู้ฟัง ก็แสดงว่าจิต เป็นใหญ่

    ท่านอาจารย์ จิตเป็นสมุฏฐาน ข้อสำคัญที่ต้องทราบก็คือว่า จิตตชรูป เกิดพร้อมอุปาทขณะของจิตไม่มีเวลาจะสั่งเลย มีหลายอย่างที่จะทำให้เราเข้าใจชัดเจนขึ้น ว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะสั่ง เพราะเหตุว่ารูปที่เกิดจากรรม กรรมในอดีตที่ดับไปแล้ว เป็นปัจจัยให้กัมมชรูปเกิดในอดีต แต่ว่าสำหรับจิตตชรูป เวลาที่ทันทีที่จิตเกิดในอุปาทขณะ เพราะว่าจิตมี ๓ ขณะย่อย อุปาทขณะ ฐีติขณะ ภังคขณะ จิตตชรูปทุกกลาปเกิดพร้อมกับอุปาทขณะของจิต ไม่มีเวลาสั่งเลย แต่เป็นไปตามสภาพของจิต เมื่อจิตสภาพนี้เป็นอย่างนี้ก็ เป็นปัจจัยให้รูปนั้นเป็นอย่างนี้ อย่างเวลาโกรธ หน้าแดง หน้าซืด

    ผู้ฟัง ไม่ได้สั่ง

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้สั่งเลย แต่ลักษณะของสภาพจิตนั้น ทำให้รูปนั้นเกิดพร้อมจิตเป็นอย่างนั้น

    ผู้ฟัง เวลาอาจารย์บรรยายเรื่องเคี้ยวอาหาร รู้สึกว่ามันเหมือนกับครบ อะไรอย่างนี้ มันเหมือนกับว่าจิตสั่งให้ฟันข้างบน เคี้ยวข้างล่าง

    ท่านอาจารย์ ก่อนอื่น ที่จะเข้าใจได้ ค่อยๆ พิจารณา จิตเป็นสภาพรู้อารมณ์หมดเรื่องเลย ไม่มีทางสั่ง เพราะจิตเกิดเมื่อไร รู้อารมณ์เมื่อนั้น เช่นในขณะนี้ที่กำลังเห็น จิตเป็นสภาพที่เห็น สิ่งที่กำลังปรากฏ ในขณะที่กำลังคิด จะคิดอะไรก็ตามแต่ จิตเป็นสภาพที่รู้คำที่จิตคิดไม่มีโอากาสจะสั่งอะไรได้เลยทั้งสิ้น จิตเป็นสภาพรู้เท่านั้น ถ้าเข้าใจลักษณะของจิตจริงๆ จิตเป็นสภาพที่รู้ลักษณะต่างๆ ของอารมณ์ ไม่มีโอกาสที่จิตจะสั่งเลยสักขณะเดียว แล้วถ้าพิจารณา ตามวิถีจิต โดยอนันตรปัจจัย สมานันตรปัจจัย ปฏิสนธิจิตเกิด ไม่มีจิตตชรูปเกิดร่วมด้วย แต่มีกัมมชรูปเกิด กรรมทำให้ปฏิสนธิจิต และเจตสิก ซึ่งเป็นวิบากเกิดพร้อมกับกัมมชรูป ผลของกรรมนั้น นี่หนึ่งขณะ เวลาที่ปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว ภวังคจิตเกิดต่อ ภวังคจิตเกิดพรัอมกับจิตตชรูป ไม่มีโอกาสสั่งเลย เพราะว่าจิตเป็นสภาพรู้อารมณ์ ต้องรู้เท่านั้น รู้อารมณ์อย่างเดียว ไม่ใช่สั่ง

    ผู้ฟัง เจตสิกจะสั่งจิตได้ไหม

    ท่านอาจารย์ เจตสิกเกิดพร้อมจิต ดับพร้อมจิต จะไปสั่งได้อย่างไร เกิดพร้อมกัน

    ผู้ฟัง มีอิทธิพลต่อกัน

    ท่านอาจารย์ อาศัยกันเกิดได้ โดยปัจจัยต่างๆ

    ผู้ฟัง ผมยังนึก ถ้าเราไม่โกรธ เราก็ไม่ฆ่า อะไรอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ ใช่ แต่ทีนี้ถ้าเราใช้คำว่าสั่ง หมายความว่าอย่างไร สั่ง

    ผู้ฟัง ไม่ใช้คำว่า สั่ง แต่เสียงคำบรรยายเหมือนกับว่ามันมี

    ท่านอาจารย์ เป็นปัจจัยให้จิตเกิด ปัจจัยถูกต้อง แต่สั่งไม่ได้ เพราะว่าจิตเป็นสภาพรู้อารมณ์ ไม่ว่าจิตไหน โลกุตตรจิต รูปาวจรจิต อรูปาวจรจิต จิตใดๆ ทั้งหมด เป็นสภาพรู้อารมณ์เท่านั้น

    ผู้ฟัง จุติจิต กับ ปฏิสนธิจิต มันติดกันเลย ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ โดยอนันตรปัจจัย หมายความว่าไม่มีจิตอื่นคั่นเลย

    ผู้ฟัง ไม่มีจิตอื่นคั่นเลย ทีนี้เท่าที่เราได้ทราบนี่ บางคนจุติที่นี่ แล้วไปเกิดที่ประเทศอื่น หรือเมืองอื่นไกลๆ มันไปได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ โดยมากจะคิดในลักษณะของการเดินทาง ความจริงไม่ต้องเดินทางเลย แล้วแต่ปัจจัย อย่างจิตเห็นเกิดที่จักขุปสาท แต่จิตที่เกิดก่อนจิตเห็น เกิดที่หทยวัตถุ ไกลไหม แล้วแต่ปัจจัย ถ้าเอาสถานที่ออกหมดเลย ไม่ต้องคิดถึงเรื่องระยะทางใดๆ ทั้งสิ้น เพียงแต่ว่าเมื่อมีปัจจัยให้จิตนี้เกิดที่ไหน ก็เกิด เพราะฉะนั้น จักขุวิญญาณจะเกิดที่มนุษย์ จะเกิดที่สวรรค์ เกิดที่รูปพรหม ย่อมได้ทั้งนั้น ไม่ต้องมีการเดินทางใดๆ เลยทั้งสิ้น แล้วแต่ปัจจัยพร้อมที่ไหนก็เกิดที่นั่น

    ผู้ฟัง แต่ปัจจัย มันก็น่าจะอยูใกล้กัน ติดกัน

    ท่านอาจารย์ อย่างจักขุปสาท กับ หทยวัตถุ อยู่ไกลกันแล้ว ใช่ไหม แล้วต้องเดินทางไหม จากจิตขณะที่เกิดที่หทัยวัตถุ มาที่จักขุปสาท ไม่ใช่เลย เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจโดยนัยนี้ก็ เข้าใจโดยตลอด

    ผู้ฟัง อุบายที่จะให้เกิดคุณธรรม สำหรับพวกเรายังไม่เป็นพระโพธิสัตว์แน่นอนอยู่แล้ว จะมีพื้นฐานอย่างไร ที่จะได้ประโยชน์ จากบารมีอันนี้

    ท่านอาจารย์ ใช่ คุณวีระต้องการเข้าใจ ชัดเจนตั้งแต่ต้นเลย ตั้งแต่คำว่า ธรรม ก่อนจะถึงคำว่า คุณธรรม ธรรมก็คือ ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริง สิ่งที่ไม่ดี เช่น โลภะ มี ก็เป็นธรรม แล้วธรรมที่ตรงกันข้ามกับโลภะ คือความไม่ติดข้องก็มี เป็นธรรม เพราะฉะนั้น ธรรมก็แยกอย่างใหญ่ๆ กว้างๆ เป็น ๒ อย่าง คือธรรมที่เป็นฝ่ายไม่ดี กับธรรมที่เป็นฝ่ายดี ถ้าธรรมที่เป็นฝ่ายไม่ดี ก็เป็นอกุศลธรรม ไม่ใช่บารมีแน่นอน

    ส่วนธรรมที่เป็นฝ่ายดี ก็ต้องรู้ด้วยว่าดีระดับไหน และเป็นบารมีหรือเปล่า เพราะเหตุว่าบารมี อย่างที่ท่านอาจารย์สมพร ท่านก็ให้ความหมายเมื่อกี้นี้ ปาระ เป็นฝั่ง บารมี ก็คือถึงฝั่ง เพราะฉะนั้น ฝั่งต้องตรงกันข้ามกับขณะนี้ คนละฝั่งเลย ฝั่งของกิเลสกับฝั่งของการรู้แจ้งอริยสัจธรรม ฝั่งของกิเลส ทำอย่างไรๆ ก็ไม่หมดกิเลส แต่ว่าถ้ามีหนทางที่จะทำให้ถึงอีกฝั่ง ๑ คือหมดกิเลส บางคนฟังแล้วก็ไม่ชอบ เพราะว่ากิเลสก็สนุกดี เพราะฉะนั้น จะหมดกิเลส รู้สึกว่าไม่อยากหมดกิเลส แต่ ถ้าบอกว่าหมดทุกข์ เริ่มจะเห็นแล้ว ใช่ไหม ไม่มีใครอยากมีทุกข์ เพราะฉะนั้น ก็อยากจะหมดทุกข์ คนที่ไม่มีปัญญา ก็ไม่รู้เลย ว่าขณะนี้เป็นทุกข์หรือเปล่า แล้วก็เป็นทุกข์อะไร และอะไรที่ทำให้สามารถที่จะหมดทุกข์ได้

    การศึกษาธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด และก็ต้องเป็นเรื่องที่เข้าใจจริงๆ ถ้าพูดถึงธรรมฝ่ายดี ที่เป็นกุศล ก็มีกุศลหลายระดับ เพราะเหตุว่าถ้าเราเอาเชื้อชาติ เอาบุคคลออก คนที่ทำความดีไม่ได้จำกัดเชื้อชาติเลย ชาติอื่น เป็นเด็กผู้ใหญ่ นับถือศาสนาอะไรก็ตาม แต่ขณะใดที่มีจิตใจที่ดีงาม ขณะนั้นก็เป็นกุศล แต่ว่าลำพังจิตใจที่ดีงามที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา ก็ลองคิดดู ว่าจะเป็นที่ตั้งหรือว่าเป็นที่พอใจ ของอกุศลไหม เพราะเหตุว่าอกุศลชนิดหนึ่ง ซึ่งเห็นยาก ว่าเป็นสิ่งซึ่งร้ายกาจมาก คือความติดข้อง แต่จริงๆ แล้วความติดข้องก็ต้องมาจากความไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม เพราะฉะนั้น ถ้าใครก็ตามที่ไม่มีปัญญา หรือว่าไม่เข้าใจธรรม เวลาที่ให้ทานก็ยังเป็นตัวเขา ที่ให้ ไม่ใช่เป็นปัญญาที่รู้ตามความเป็นจริงว่าขณะนั้นก็เป็นธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งเมื่อมีปัจจัยก็เกิดขึ้น แล้วก็ดับไป กุศลไม่ได้ยั่งยืนเลย เมื่อมีปัจจัยก็เกิด แล้วก็หมดเหมือนอย่างสภาพธรรมอื่นๆ

    เพราะฉะนั้น เวลาที่ไม่มีความรู้เรื่อง อนัตตา สภาพธรรมที่เป็นธรรมไม่ใช่ตัวตน เขาก็สามารถที่จะมีธรรมฝ่ายดี เช่น ทาน เช่นศีล แต่ก็ยังเป็นผู้ที่มีความไม่รู้ เพราะฉะนั้น จึงมีตัณหา ความติดข้อง ในทานในศีลด้วยความเป็นเรา ด้วยมานะ ด้วยความสำคัญตน หรือว่าด้วยทิฏฐิ ความเห็นผิด

    การศึกษาธรรมต้องละเอียด ถ้าเป็นกุศลประเภท นั้นๆ ซึ่งไม่ได้กำจัดโลภะ หรือว่ามานะ หรือทิฏฐิ ขณะนั้นก็ไม่ใช่บารมี เราก็เห็นการกระทำกุศลต่างๆ ด้วยความไม่รู้ไม่เข้าใจ ขณะนั้นคนนั้นก็จะอดไม่ได้ ที่จะเข้าใจว่า เป็นกุศลของเรา หรือว่าเราทำกุศล หรือว่ามีความสำคัญตนในขณะที่ทำกุศล อย่างนั้นจะเป็นบารมีไหม ไม่ใช่

    ผู้ฟัง ท่านกล่าวถึงเรื่องของจิตใจเท่านั้น ในเมื่อขณะที่เราทำความดี มันก็มีทั้งวาจา ทั้งกาย แล้วจิตใจจะมาเกี่ยวข้องอะไรกับวาจาที่เรากล่าวด้วยดี วาจาที่ไม่ใช่ผรุสวาจา หรือกายที่เราทำนอบน้อมหรือว่าช่วยเหลือผู้อื่นด้วยดี หรือทำกุศล เช่น ทาน โดยให้ทานอย่างนี้ ก็ต้องให้ด้วยกาย เป็นส่วนมากที่มองเห็นกัน แล้วทำไมถึงจะต้องกล่าวว่าจิตใจด้วย

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีจิต ไม่มีใจ จะทำอะไรได้ไหม

    ผู้ฟัง ก็คงเป็นคนตาย

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีจิต ไม่มีใจ การกระทำใดๆ ก็ไม่มี เพราะฉะนั้น จิตใจนี้ เป็นสิ่งซึ่งรู้ยากมาก เพราะเหตุว่าไม่สามารถที่จะดูได้จาก เพียงการกระทำภายนอก ถ้าเห็นคนไหว้กราบใคร ด้วยอะไร ด้วยความกลัวก็ได้ ยกมือไหว้ขอชีวิตด้วยความกลัว ไม่ใช่ไหว้ด้วยความเคารพ อย่างจริงใจ เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่า บางคนไหว้เพื่อจะประจบ หรือเพื่ออะไรก็ตาม มิฉะนั้นก็คงจะไม่มีคำว่า ปากอย่างใจอย่าง หรือการกระทำใดๆ ซึ่งไม่ตรง ด้วยการแฝงไว้ซึ่งประโยชน์

    เพราะฉะนั้น ก็ต้องทราบว่า แท้ที่จริงแล้ว ใจมีเป็นอย่างไร แต่ละคนก็สามารถจะพิจารณา ด้วยตัวของตัวเอง ไม่สามารถจะไปรู้ซึ้งถึง จิตใจของคนอื่นได้ แต่ใจเป็นเหตุให้มีการกระทำทางกาย และวาจา เพราะเหตุว่าไม่ใช่มีแต่ใจ กายก็มี แล้วกายที่จะเคลื่อนไหวไปหรือว่าวาจาที่จะกล่าวคำใดๆ ก็มาจากจิต ถ้าเป็นอกุศลจิต วาจาเป็นอย่างหนึ่ง ถ้าเป็นกุศลจิตจริงๆ วาจาก็อีกอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณา ด้วยความละเอียดจริงๆ ว่าบารมีต้องเป็นเรื่องของจิตใจ

    ผู้ฟัง จิต ใจ นี่ ตัวเดียวกันหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ใช่ ภาษาไทยเราใช้คู่กัน จิตใจ เพราะว่า จริงๆ เราชินกับคำว่า ใจ ภาษาไทย ส่วนจิตเราก็รู้เหมือนกัน แล้วก็ใช้ด้วยกัน ตามรูปศัพท์ จิตกับใจก็มีความหมายอย่างเดียวกัน แต่ว่าถ้าในภาษาไทยเรา ถ้าเราจะคิดถึง คำที่เราใช้บ่อยๆ คนนี้ใจดี เราใช้อย่างนี้หรือเปล่า คนนี้ใจร้าย เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้วที่เราใช้คำว่า ใจ แสดงถึงสภาพของ ซึ่งเกิดร่วมกับจิต เราถือว่าเป็นอย่างเดียวกันคือ จิตใจ

    แต่ในพระธรรม จิตเป็นอย่างหนึ่ง แต่สภาพธรรม ที่เป็นนามธรรม ที่เกิดกับจิต ไม่แยกจากจิตเลย เกิดพร้อมจิต ทุกขณะที่จิตเกิด สภาพธรรมนั้นเป็นสภาพที่มีจริง มีลักษณะต่างๆ กัน ภาษาบาลีใช้คำว่า เจตสิก หรือว่า เจ-ตะ-สิ-กะ เพราะฉะนั้น ถ้าศึกษาธรรม จะได้ยิน ๒ คำ คือ จิตกับเจตสิก แสดงว่าจิต เป็นสภาพที่มีจริง เป็นสภาพที่รู้ เป็นสภาพที่สามารถจะเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก เพราะเหตุว่ารูปไม่ใช่สภาพรู้ ความจริงในโลกนี้ หรือโลกไหนๆ ก็ตาม จะมีธรรมที่ต่างกัน เป็น ๒ ลักษณะ คือสภาพธรรม อย่างหนึ่ง ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น เช่น แข็ง อ่อน เปรี้ยว หวาน ขม ขื่น พวกนี้ก็เป็นสภาพธรรม ที่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้ แต่ว่าแม้ว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้มี แต่ถ้าไม่มีจิต หรือไม่มีสภาพรู้ ซึ่งเห็นสิ่งต่างๆ ทางตา ได้ยินเสียงทางหู ได้กลิ่นทางจมูก ลิ้มรสต่างๆ ทางลิ้น กระทบสัมผัสสิ่งต่างๆ ทางกาย หรือคิดนึก เป็นสุข เป็นทุกข์ต่างๆ ก็จะไม่มีความเดือดร้อนใดๆ ทั้งสิ้น เพราะว่ารูปไม่รู้อะไรเลย ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้าของทุกคน ลักษณะที่แข็ง ไม่ใช่สภาพรู้ แต่ว่าขณะใดที่แข็งปรากฏ หมายความว่ามีธาตุรู้ หรือสภาพรู้ ซึ่งสามารถที่จะรู้ลักษณะแข็งนั้นได้ เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นความต่างกันของสภาพธรรม ๒ อย่าง ซึ่งต้องเข้าใจตั้งแต่ต้น แม้ว่ากายจะเกิดขึ้นเพราะจิตที่เป็นกุศล แต่รูปกายนั้นก็ไม่ใช่สภาพรู้ ไม่สามารถจะรู้อะไรได้ ทั้งสิ้น แต่สภาพรู้ หรือจิต เจตสิก ก็เป็นสภาพที่เป็นเหตุให้เกิดการกระทำทางกาย หรือว่าคำพูดต่างๆ

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้น เวลาจิตดี หรือใจดี คือ คุณธรรมนั่นเอง ถ้าเผื่อ จิตกับใจเป็นคุณเป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่มีชื่อ ได้ เช่นไม่ใช่ชื่อคุณวีระ หรือว่าไม่ได้ชื่อ คุณอัญมณี แต่ว่าเราเรียกชื่อ เพราะเหตุว่าเราไม่สามารถที่จะ กล่าวยาวๆ ได้ ใช่ไหม แต่ว่าจริงๆ แล้วก็ให้รู้ว่าจิตขณะนั้น เป็นจิตที่เกิดขึ้นกับบุคคลใด แต่ถ้าไม่มีจิต ก็ไม่มีคนนั้นแน่

    วิทยากร. ธรรมเป็นทั้งดี ทั้งชั่ว เป็นทั้งกุศล อกุศล ใน อรรถกถา ธรรมบท ขุททกนิกาย กถาแรกที่ว่า มโนปุพพังคมา ธัมมา ซึ่งส่วนใหญ่ก็เคย ได้ยินได้ฟังบ่อยๆ คำว่า ธัมมาในที่นั้น ท่านหมายเอาธรรม ๔ อย่าง คือคุณธรรมอย่าง ๑ เทศนาธรรมอย่าง ๑ ปริยัติธรรมอย่าง ๑ แล้ว นิสสัตตนิชชีวิตธรรม อีกอย่าง ๑

    คุณธรรมก็ให้ตรงกับที่พูดในที่นี้ แต่ในที่นั้น ท่านอธิบายคำว่า คุณธรรม หมายทั้งกุศล และอกุศล เพราะว่าทั้ง ๒ อย่างนี้ ให้ผลไม่เหมือนกัน คำว่า คุณ ในที่นั้น รู้สึกว่าจะเป็น ลักษณะของการให้ผล เช่น ท่านบอกว่า นะหิธัมโม อธัมโมจะ อุโภ สะมะวิปากิโน อธัมโม นิระยัง เนติ ธัมโม ปาเปติ สุคะติง ธรรม และอธรรม ๒ อย่างนี้ มีวิบากไม่เหมือนกัน อธรรม นำสัตว์ให้ไปสู่นรก ให้ไปสู่อบาย ให้ไปสู่ทุคติ ธรรมนำสัตวให้ไปสู่สุขคติ นี้เป็นคุณธรรม ซึ่งต่างจากคำว่า บารมี ในที่นี้ บารมีท่านหมายเอาถึงคุณธรรมอย่างเดียว ไม่เกี่ยวกับฝ่านอกุศลเลย เป็นฝ่ายกุศลอย่างเดียว

    ส่วนเทศนาธรรม อย่างสมมติว่า พระพุทธเจ้า ทรงแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด อาทิกัลยาณัง มัชเฌกัลยาณัง ปริโยสานกัลยาณัง พระพุทธเจ้า ทรงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ถึงพร้อมด้วยอรรถ และพยัญชนะบริสุทธิ์ บริบูรณ์โดยสิ้นเชิง เป็นเทศนาธรรม

    ส่วนปริยัติธรรม ก็ได้แก่ สุตตัง เคยยัง เวยยกัลยาณัง เกี่ยวกับลักษณะ นวังคสัตถศาสตร์ เป็นองค์ของคำสั่งสอนของพระศาสดา สัมมาสัมพุทธเจ้า ประกอบด้วยองค์ ๙ ประการ มี สุตตัง เคยยัง เวยยกัลยาณัง เป็นต้น นี่เป็นปริยัติธรรม

    ส่วน นิสสัตตนิชชีวิตธรรม ได้แก่ อภิธรรม ที่ว่าด้วยเรื่องจิต เจตสิก รูป ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล นิสัตต ไม่มีสัตว์ นิชชีวิต ไม่มีชีวิต ไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพธรรมล้วนๆ คือเป็นของจริงล้วนๆ เป็น ปรมัตถธรรมล้วนๆ นี้เรียกว่า นิสสัตตนิชชีวิตธรรม ที่เป็นบารมีในที่นี้ ท่านกำหนดเอาถึงคุณความดี ที่พระโพธิสัตว์ท่านบำเพ็ญเพื่อให้บรรลุ ถึงฝั่งเพื่อเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถึงฝั่งคือพระนิพพาน เบื้องแรกที่ท่านได้รับพุทธพยากรณ์จากพระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงคิดได้เอง บารมี ๑๐ ทัศ คิดได้ตั้งแต่ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขา ท่านคิดได้เองตลอด เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะคิดธรรมได้เองก็ต้องต่างจากบุคคลธรรมดาอย่าง ที่คุณวีระพูดว่า สำหรับคนเราธรรมดาก็ไม่ต้องการขนาดถึงจะบำเพ็ญบารมีให้ได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็คงทำคุณงามความดีกันไปตามปกติธรรมดาเท่าที่กำลังสามารถจะทำได้ ถึงอย่างไรก็ตาม คนที่จะสำเร็จจุดประสงค์ของชีวิต จนถึงได้บรรลุสัจจธรรม ต้องมีบารมี ต้องมีบารมี จะมาก จะน้อย ก็มีทานศีลภาวนา ๑๐ บารมีต้องมี แต่ไม่ต้องถึงขั้นเข้มงวดยวดยิ่งอย่างพระโพธิสัตว์

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 103
    25 มี.ค. 2567