ปกิณณกธรรม ตอนที่ 604


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๖๐๔

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๔๕


    ท่านอาจารย์ ฟังวันนี้จะสละหรือไม่สละ ข้าวของในบ้าน อะไรต่ออะไรต่างๆ ถึงฟังก็ขึ้นอยู่กับว่าขณะนั้นกุศลจิต จะเกิดหรือไม่เกิด ไม่ใช่เป็นการบังคับ แต่ละคนยังมีโลภะติดข้องอย่างมากมายมหาศาล รวมทั้งความติดข้องในความเป็นเราด้วย ก็จะสังเกตได้ ว่าเราจะสละเฉพาะสิ่งที่สละได้เท่านั้น ก็เป็นความจริงตามกำลังของปัญญา ตามกำลังของกุศลในขณะนั้น จนกว่าเป็นพระโสดาบันแล้วก็เหมือนกัน ก็ต้องสละสิ่งที่สละได้ มีคนถามบอกว่าแล้วพระโสดาบัน ก็มีคนไปขออะไรก็ต้องให้หมด หรืออย่างไร ขอบ้านขออะไรก็ต้องให้หมด ซึ่งไม่ใช่อย่างนั้น เพียงแต่ว่าท่านไม่มี อคติ ในการให้ เสมอกันหมดในสิ่งที่สามารถที่จะสละได้

    วิทยากร. บางสิ่งบางอย่าง เขาขอ เราก็ให้ตามความต้องการของเขา ถ้าเราให้ได้ แต่บางครั้งเขาไม่ขอ แต่เราพิจารณาดู คนนี้ต้องการสิ่งใด เราก็ให้สิ่งนั้น อันนี้ไม่ต้องขอ เรารู้ความประสงค์ของเขา ทาน มีอานิสงส์มากมายเป็นเสบียงในวัฏฏะ ทุกคนเดินทางไกล เรียกว่าเดินทาง วัฏฏะ วัฏฏะ แปลว่า ไกลมาก วนเวียน จนกว่าจะถึงพระนิพพาน ถ้าเราไม่ให้ทาน ก็เท่ากับว่า เราไม่มีเสบียงเดินทาง การเดินทางต้องมีเสบียง มีอาหาร เพราะว่าบางครั้งเราเกิด ไม่ได้เกิดด้วยอานิสงส์ของทาน ยากจน เป็นสัตว์เดรัจฉาน ตกอยู่ในอบาย เป็นสัตว์ที่ยากจนมาก เดือดร้อนมากไม่มีใครอุปการะ แต่ถ้าเราให้ทานแล้ว แม้เราเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ก็มีผู้อุปการะ อีกอย่างหนึ่ง ทานที่เป็นกุศลโดยปกติ ให้ผลในชาติหน้าโดยปกติ ให้ผลในชาตินี้มีน้อยเหลือเกิน เกิดน้อยมาก สมัยนี้อาจจะเกือบจะไม่มี ในชาตินี้ แต่ในชาติต่อไปต้องให้ผลแน่นอน ท่านเรียกว่า คุ-ณะ คุณธรรม ธรรมที่เป็นเครื่องผูก คือวิบาก เมื่อให้มีอยู่ ผลของการให้ก็ต้องมีอยู่ ต้องมีแน่นอนในชาติใด ชาติหนึ่ง ที่สมควรที่จะได้รับ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เราก็พอที่จะศึกษา เทียบเคียงได้ว่าจิตใจของเราในบางกาละ จะถึงลักษณะนี้หรือเปล่า หรือว่ายากที่จะเป็นอย่างนี้ เช่น ข้อความที่ว่า เป็นผู้มีอัธยาศัยในทาน เราเป็นอย่างนี้หรือเปล่า ยินดีในทาน เมื่อมีไทยธรรมย่อมให้ทีเดียว ของที่เรามี มีแน่ๆ เลย แต่ไม่พร้อมที่จะให้ ซึ่งจริงๆ แล้วก็มี ถ้าจะนึกถึง ของที่เรามีอยู่ ที่จะให้ได้แน่นอน แต่ยังไม่ได้ให้ เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่า ถ้าเป็นผู้ที่มีอัธยาศัยในการให้ เขาไม่ลังเล และไม่รีรอ สิ่งใดที่จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นก็ให้ เพราะถ้าไม่ให้ก็ อยู่เฉยๆ นั่นแหละ เป็นวัน เป็นเดือน เป็นปี หรืออาจจะไม่ได้ใช้เลย แต่แม้กระนั้นผู้ที่ไม่ได้สะสมอัธยาศัยที่เป็นอย่างนี้ก็ไม่เหมือนมหาบุรุษ ซึ่งเป็นผู้ที่เป็นอัธยาศัยในทาน ยินดีในทาน ไม่เบื่อหน่ายจากการเป็นผู้มีปกติแจกเนืองๆ สม่ำเสมอ มีความเบิกบานเอื้อเฟื้อให้ มีความสนใจให้ ถ้าเราจะพิจารณาละเอียด เราก็จะรู้ว่า ทานของแต่ละคนก็จะต่างกัน บางคนให้ แต่ไม่สนใจที่จะให้ แต่คนที่สนใจที่จะให้ เขาจะสนใจจริงๆ ในความละเอียดของผู้รับ ว่าผู้รับต้องการอะไร สิ่งนี้จะเหมาะกับใครหรือไม่เหมาะกับใครเป็นการเอาใจใส่ในเรื่องละเอียดแม้เล็กๆ น้อยๆ เขาก็มีอัธยาศัย ที่จะสนใจในสิ่งที่ให้ ในสิ่งที่ผู้นั้นสมควรที่จะได้รับ ครั้นให้ทานแม้มากมายก็ยังไม่พอ คือไม่เคยคิดว่าพอแล้ว ต่อไปนี้ไม่ต้องให้อีก บางคนก็อาจจะคิดว่าทำบุญมามากแล้ว ให้ก็มากมายแล้วก็พอเสียที แต่ความจริง ผู้ที่มีอัธยาศัยในการให้ ถึงให้มากแล้วก็ยังไม่พอ ก็ยังให้ต่อๆ ไปอีกได้ ให้โดยไม่ให้เกิดความเบียดเบียนแก่ใครๆ อันนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะเหตุว่าบางคนอยากให้ อย่าลืม คำว่า อยากให้ แต่ไม่คำนึงว่าการให้ของเขาเบียดเบียน คนอื่นหรือเปล่า เบียดเบียนบุคคลเหล่านี้ คือ มารดา บิดา ญาติสายโลหิต มิตร อำมาตย์ บุตร ภรรยา ทาส และกรรมกร บางที่เราอาจจะคิดไม่ถึง เพราะเหตุว่าเราคิดถึงคนไกล อยากจะให้คนโน้นไกลๆ กำลังลำบากเดือดร้อน แต่คนในบ้านลำบากเดือดร้อนหรือเปล่า ถ้าเราไม่ให้เขา แต่เราให้คนอื่น อย่างสมมติว่ามีอาหารที่อร่อย เราคิดถึงบ้านโน้น แต่คนในบ้านเรายังไม่ได้รับประทานเลย อย่างนี้จะเป็นการเบียดเบียน คนที่เป็นทาส กรรมกร บุตร ภรรยา มิตร อำมาตย์ ญาติสายโลหิต แม้มารดา บิดาหรือเปล่า

    เพราะฉะนั้น เรื่องของการให้ ไม่ใช่เพราะเราอยากจะได้ผลของทาน แต่เป็นเรื่องที่คำนึงถึงประโยชน์ จริงๆ การให้ของเราต้องไม่เบียดเบียน เพราะว่าบางคนอยากจะให้ ลำบากไหม ไปแสวงหา ขวนขวาย ชักชวนใครต่อใคร แต่ว่าจริงๆ แล้ว เบียดเบียนคนเหล่านั้นหรือเปล่า เราไม่สามารถที่จะทราบได้ ว่าการกระทำของเราเบียดเบียนคนอื่นหรือเปล่า แต่ว่าสำหรับผู้ที่มีการเห็นประโยชน์ ของการให้ ให้เมื่อมี บางคนอยากให้แต่ยังไม่มี แต่ว่าถ้ามี ให้เมื่อมีก็ไม่เดือดร้อนเลย เมื่อมีก็ให้ ไม่มีจะต้องไปเดือดร้อนที่จะให้ไหม นี่ก็แสดงให้เห็นว่าถ้าเป็นเรื่องของการให้จริงๆ ที่เป็นประโยชน์ ไม่เดือดร้อนแม้ตนเอง และบุคคลอื่นด้วย ไม่ได้ให้เพราะหวังผล เว้นไว้แต่สัมมาสัมโพธิญาณ คือ การสละ หรือการละกิเลส การที่จะค่อยๆ คลายความเป็นผู้ติดข้อง ในวัตถุจนกระทั่งถึงในความเป็นตัวตน ให้เพื่ออนุเคราะห์ด้วยความเคารพอย่างเดียว เวลาให้ดูถูกคนรับหรือเปล่า

    นี่เป็นเรื่องที่น่าคิด บางคนก็คนนั้นยากไร้ แต่อย่าลืม คนยากไร้ วันหนึ่งเป็นมหาเศรษฐีได้ไหม หรือว่าชาติก่อนเคยเป็นใคร หรือว่าชาติหน้าจะเป็นใคร เพราะฉะนั้น แต่ละคนก็จะขึ้นๆ ลงๆ สูงๆ ต่ำๆ ตามกรรมที่ได้กระทำไว้ เพราะฉะนั้น ถ้าเขาอยู่ในฐานะที่เราสงเคราะห์ได้ ช่วยเหลือได้ ก็ให้ด้วยความเคารพ ไม่ใช่ให้ด้วยความดูหมิ่น หรือว่า ให้ด้วยความสำคัญตน ไม่ให้เพราะเชื่อมงคลตื่นข่าว แต่ให้เพราะเชื่อกรรม และผลของกรรม เท่านั้น ให้เพราะมงคลตื่นข่าวมีไหม ถ้าไม่ให้เดี๋ยวลำบาก หรือว่าเดี๋ยวจะถูกอะไร คนปีมะโรง มะเส็งอะไร ว่าราหู หรืออะไรต่างๆ ก็ให้เพราะความกลัว แต่ไม่ใช่เป็นการที่เชื่อผลของกรรม และกรรม แต่ถ้าเป็นการให้ด้วยการเชื่อผลของกรรม และกรรม เราจะไม่เป็นไปด้วยมงคลตื่นข่าว ใครจะมาบอกว่าอย่างไรก็รู้ว่า ความจริงไม่ได้เป็นไปตามอย่างนั้น นอกจากนั้นแม้เพียงเห็นคนอื่นให้ แต่คนอื่นก็พอใจ ไม่มีความตระหนี่ แล้วก็เห็นว่าเป็นสิ่งที่สมควรที่จะให้ด้วย ก็เป็นเรื่องที่ว่าถ้าเราค่อยๆ พิจารณา จากทานบารมีของมหาบุรุษ เราก็จะคิดว่าเรามีการให้ ในลักษณะใดบ้างในวันหนึ่งๆ

    ผู้ฟัง อาจารย์กล่าวถึง ที่บอกอนึ่งพึงทราบลักษณะแห่งทานบารมีของมหาบุรุษ อันนี้เรากำลังพูดถึงทานของมหาบุรุษ ทีนี้ในเรื่องของทานของมหาบุรุษนี้ก็ บอกว่าให้โดยไม่ให้เบียดเบียนแก่ใครๆ แต่ในขณะเดียวกันที่เราศึกษาชาดกของพระเวชสันดรชาดก ท่านก็ให้ทานลูก ทานเมีย ทานช้าง ทานม้า ซึ่งก็ให้เป็นการเบียดเบียนจิตใจของแม่ของลูก ที่ถูกเอาลูกให้ทานไป ทีนี้พออ่านไปอีกก็บอกว่า ไม่ให้เพราะหวังผล เว้นไว้แต่ สัมโพธิญาณ มันก็เลยทำให้ผมไม่เข้าใจ ถ้าเป็นเรา ชาวบ้านไม่ควรจะให้เพื่อเป็นการเบียดเบียนจิตใจคนอื่น แต่ถ้าให้เพื่อหวังผลโพธิญาณ เบียดเบียนจิตใจคนอื่นได้อย่างนั้น ใช่ไหม หรืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ พระนางมัทรีกับพระเวชสันดร ใช่ไหม ที่กล่าวถึงเรื่องนี้ พระนางมัทรีตั้งความปรารถนาที่จะร่วมบุญกุศลกับพระโพธิสัตว์หรือเปล่า

    ผู้ฟัง อันนี้ผมไม่แน่ใจ ทราบชัดเจน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ถ้าใครจะทำความดี อย่างสูงสุด เราร่วมทำด้วยดีไหม ถ้าเราสามารถที่จะกระทำได้

    ผู้ฟัง แต่พระนางมัทรีก็โศกเศร้าเสียใจจน

    ท่านอาจารย์ เป็นของธรรมดา แต่ผล คืออะไร ความสุขเล็กๆ น้อยๆ กับความสุขที่จะหมดทุกข์เลย แล้วไม่ใช่สำหรับพระองค์เดียวด้วย สำหรับการที่จะบรรลุถึงความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วไม่ได้หมดทุกข์เพียงพระองค์เดียว ถ้าเราเป็นส่วนที่สามารถจะช่วยได้ เราจะช่วยไหม แม้ว่าเราจะเป็นทุกข์ลำบาก

    วิทยการ. มีอานิสงส์มาก บางครั้งพระองค์ตรัสไว้ก็บอกว่า เมื่อครั้งพระองค์เป็นพระเวชสันดร ให้ทาน สละบุตร และภรรยา เป็นต้น ยังแผ่นดินใหญ่ให้ไหวถึง ๗ ครั้ง ด้วยการให้ทาน ไม่ใช่เป็นของเล็กน้อย ของที่จะให้แผ่นดินไหวได้ ต้องเป็นอานิสงส์อย่างแรงกล้า พระองค์ตรัสไว้บอกว่า เมื่อครั้งเราเป็นพระเวชสันดร ให้ทานแล้วก็ยังแผ่นดินใหญ่ให้ไหวได้ถึง ๗ ครั้ง แต่ละครั้งๆ ก็โดยการให้ทานทั้งสิ้น เราเริ่มให้ทานเล็กๆ น้อยๆ ก็วันหนึ่ง อาจจะถึงเป็นทานที่ใหญ่ ที่ยิ่งใหญ่ เพราะว่าทานนั้นเป็นเสบียงทุกคน เดินทางไกล ถ้าไม่มีเสบียงแล้วก็เดินทางไกลก็ลำบาก

    ท่านอาจารย์ ถ้าคุณเด่นพงษ์ จะลำบากสักหน่อย อดนอนหรือว่าอาจจะไม่ไปเที่ยวที่ไหนสนุกสนาน แต่ว่าสามารถจะใช้เวลาเหล่านั้น เพื่อประโยชน์แก่คนอื่น จำทำไหม

    ผู้ฟัง ทำ

    ท่านอาจารย์ ใช่

    ผู้ฟัง ดิฉันไม่เข้าใจประโยคที่ว่า ไม่ให้ทานทอดทิ้งแก่ยาจกผู้ไม่สำรวม

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นผู้ให้ เราก็ไม่ต้องกังวลถึงผู้รับว่าเขาเป็นอย่างไร เพราะว่าอย่างยาจก พวกขอทาน เขาก็อาจจะมีกิริยมารยาทที่อาจจะ บางคนเห็นว่าเงินที่ให้น้อยไป เขาก็อาจจะไม่พอใจ หรือแสดงอาการกิริยาที่ไม่พอใจก็ได้ แต่จิตของผู้ให้ก็ไม่ควรที่จะหวั่นไหว เพราะว่าเรามีจิตใจที่บริสุทธิ์ ที่ต้องการจะอนุเคราะห์ ช่วยเหลือ ผู้รับจะเป็นอย่างไรไม่ใช่หน้าที่ของเรา เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ให้ไม่สำรวม หรือด่า หรือโกรธ เพราะบางคนก็อาจจะบอกว่า ให้เขาไปแล้วเขาไม่ค่อยชอบ เพราะว่าเป็นเงินนิดหน่อย หรืออะไรอย่างนี้ แต่เราก็ให้ไม่หวั่นไหว เขาจะรู้สึกอย่างไร จะพูดอย่างไรก็เรื่องของเขา

    ผู้ฟัง แล้วคำว่า ทอดทิ้ง

    ท่านอาจารย์ ให้ทานอย่างทอดทิ้งโยนให้ หรือว่าให้อย่างไม่คิดถึงผู้รับว่าให้ด้วยน้ำใจ และเป็นพื่อนกันจริงๆ คือจริงๆ เมตตาเป็นสิ่งที่สำคัญมาก คือความรู้สึกเป็นมิตรกับเป็นพื่อนกับทุกคน ไม่ว่าเขาจะมีฐานะ มีกิริยาอาการอย่างไรก็ตาม เราก็พร้อมที่จะเป็นเพื่อน คือ ช่วยเหลือพร้อมที่จะช่วยเหลือ ไม่ว่าคนนั้นจะมีกิริยาอย่างไร จะทำอะไรก็แล้วแต่ แล้วการให้ของเรา เป็นการให้ด้วยใจจริง เราก็อยากให้ผู้รับเกิดโสมนัส วิธีโสมนัสก็คือว่าไม่ได้ให้แบบดูหมิ่น ดูถูก หรือโยนให้ อะไรอย่างนั้น ก็เป็นเรื่องของความละเอียดของจิตซึ่งเป็นกุศลยิ่งขึ้น เพราะว่าบางคนอาจจะมี ความรู้สึกว่าอยากจะช่วยคนจน แต่ว่าในขณะเดียวกันก็บางคนอาจจะรังเกียจในใจก็ได้ ใช่ไหม ก็มีคนที่เขาให้อาหารสุนัข แต่เป็นสุนัขขี้เรื้อน แล้วสุนัขมันก็ตะกาย พยายามที่จะขอบคุณ แต่ว่าเขาก็เห็นว่ามันไม่มีขนเลย ในใจของเขาก็คงมีความรู้สึกรังเกียจบ้าง ถ้าเป็นคนตรง แล้วอกุศลจิตเกิดขณะนั้นเราก็รู้ว่าเป็นอกุศล ถ้ากุศลจิตก็รู้ว่าเป็นกุศล ถ้าเราไม่ตรงอย่างนี้เราละ อกุศลไม่ได้ การที่จะละอกุศลได้ต้องเป็นผู้ตรง เพราะแม้ขณะนั้นก็ไม่ใช่เรา โลภะเกิดขึ้นก็ทำอาการติดข้อง ต้องการ ถ้าโทสะเกิดขึ้น ก็มีอาการที่ไม่พอใจ ขุ่นใจ ในสิ่งที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง เรื่องการให้ไม่ใช่ของง่ายๆ ผมสังเกตตัวผมเอง เมื่อวานก็เจอ เดินไปคนขอทานอยู่ โดยมากก็อยู่สะพานข้ามถนน เขาก็มาก้มแล้วก้มอีก เวลาเราเดินผ่านไป เราก็ไม่ควักสตางค์ให้เสียที การที่ขอทานแม้เขาจะไม่เอ่ยปากขอ แต่เขาทำด้วยกิริยาว่าเขาจะต้องการ เราก็ยังไม่ให้เขา คิดๆ มันก็น่าละอายเหมือนกัน น่าละอายตัวเอง คือเราไปเห็นแก่กิเลส เห็นกิเลสมัน เราจะรีบไปมัวควักสตางค์ก็จะเสียเวลา อะไรอย่างนี้ จะรีบไป เราเห็นแก่ตัว เราเอาตัวเองขึ้นมาอ้าง เห็นแก่ตัวมันก็พลาดโอกาส ที่เราจะได้บำเพ็ญทานบารมี มันไม่เป็นทานบารมีเราอย่างนี้ ถึงบางทีจะให้ด้วยความเสียไม่ได้ แบบโยนให้ ทิ้งให้ อะไรอย่างนี้ เป็นการให้โดยไม่เคารพในทาน

    เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะเริ่มต้นที่จะบำเพ็ญเรื่องการเสียสละ เรื่องการให้ เราก็ต้องตั้งจิต ให้ซื่อตรง ให้ตรงต่อตัวเอง แล้วไม่ตกอยู่ในอำนาจของกิเลส ความเห็นแก่ตัว เราต้องเสียสละมากน้อยก็ให้ไป บาท ๒ บาท ๕ บาท สิบบาทอะไรก็แล้วแต่ที่จะพึงให้ได้ เศษสตางค์ มันก็มีค่า แล้วเราอย่าไปเพ่งเล็ง เพ่งโทษ ถึงผู้ที่รับทาน คนนี้เดี๋ยวเอาไป มันก็ไปซึ้อเหล้ากิน บางทีมันรวยกว่าเราอีก เขาว่ามันมีเงินปล่อยในธนาคารก็มี บางคน เราไปคิดอย่างนี้เรียกว่าเพ่งเล็งถึงผู้รับทาน ก็ไม่มีประโยชน์ อีกเหมือนกัน เราไม่ต้องไปเพ่งเล็ง เขา ให้ไปแล้วเขาจะไปทำอะไร ก็เป็นเรื่องของเขา เราทำหน้าที่ในการเสียสละก็เป็นการบำเพ็ญบารมีของเรา

    ท่านอาจารย์ คุณหมอคงจะไม่ได้อ่านข้อความต่อไป หรืออาจจะไม่สนใจที่ว่า ให้เพื่ออนุเคราะห์ ด้วยความเคารพอย่างเดียว จะแสดงให้เห็นว่ากิริยาอาการของผู้ให้ ถ้าเข้าใจเรื่องนี้ก็จะดีขึ้น กว่าการที่ไม่เข้าใจ เพราะว่า ถ้าไม่เข้าใจเราก็อาจจะให้ แต่ว่าไม่ มีความรู้สึกว่า มีความเคารพในการให้ ในขณะนั้นด้วย แล้วข้อความต่อไปที่ว่า ไม่ให้เชื่อมงคลตื่นข่าว อันนี้ก็กล่าวถึงแล้ว ให้เพราะเชื่อกรรม และผลของกรรมเท่านั้น นอกจากนั้นยังมีข้อความที่ละเอียดว่า ให้ด้วยการพูดน่ารัก พูดก่อน พูดพอประมาณ บางที่ให้แล้วก็ไม่ได้ทักทาย หรืออะไรอย่างนี้ก็ได้ แล้วแต่โอกาส แต่เวลาที่จะให้อะไร มีคำพูดที่น่ารักด้วย คนรับก็จะสบายใจขึ้น พูดก่อนดีไหม เขาจะได้ไม่เก้อเขินก็ได้ อะไรๆ ที่เป็นกุศลถ้าจิตเป็นกุศลแล้ว ขณะนั้นกายก็เป็นอย่างหนึ่งใจก็เป็นอย่างหนึ่ง ซึ่งดีกว่าขณะที่เป็นอกุศลแน่นอน บางคนก็ไม่ยอมพูดกับใคร ถ้าคนนั้นไม่พูดด้วยก่อนก็มี คือเรื่องของจิตเป็นเรื่องที่ แล้วแต่การสะสม แล้วแต่การคิด บางคนก็ไม่กล้าที่จะทักคนอื่น แต่ความจริงถ้าพูดก่อนก็ทำให้เขาสบายใจขึ้นได้

    ผู้ฟัง อันนี้ดิฉันจะบาป ต้องขอประทานโทษพระอริยบุคคลด้วย อย่างท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี มองอีกแง่หนึ่ง รู้สึกว่าท่านจะเบียดเบียนตัวเอง หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ อย่าคิดถึงคนอื่น ทีนี้กำลังเป็นตัวคุณสุรีย์ที่ไม่เข้าใจ จริงๆ นี้เป็นชีวิตประจำวัน ซึ่งถ้าไม่ศึกษาธรรม เราก็มานั่งวิจารณ์กัน เขาจะเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล แต่ถ้าเราศึกษาธรรมสภาพของจิต ไม่มีการเปลี่ยนแปลงจิตที่เป็นอกุศลก็เป็นอกุศล จิตที่เป็นกุศลก็เป็นกุศล อกุศลก็คือไม่คิดถึงคนอื่น ไม่ให้ไม่ทำสบายกว่าไหม

    ผู้ฟัง บางทีมารยาทมันก็ฝืน

    ท่านอาจารย์ ต้องตรง กุศลก็เป็นกุศล อกุศลก็เป็นอกุศล เพราะฉะนั้น เวลาที่มีใจคิดถึงคนอื่น แล้วอยากจะทำอะไรให้ ขณะนั้นเป็นกุศลหรือเปล่า ที่คิดถึงคนอื่น เราไม่คิดถึงความผูกพัน หรือโลภะ เพราะว่าธรรมต้องเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก แล้วคนที่จะได้สาระจากพระธรรม คือ เป็นผู้ที่ตรง ถ้าไม่มีปัญญาเราก็ตรงไม่ได้ เราก็เพียงแต่เทียบเคียงแล้วอนุมานว่าเป็น กุศล หรือเป็น อกุศล แต่ถ้าจะรู้จริงๆ เราจะต้องเข้าใจในเหตุผลด้วย เพราะเหตุว่าสภาพของ กุศลจะเป็นอกุศลไม่ได้ แล้วสภาพของอกุศลก็จะเป็นกุศลไม่ได้ ถ้าเรามีความผูกพันในบุตร หลาน ในมิตรสหาย แล้วเราทำให้เขาด้วยความรัก ขณะนั้นเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล แต่ถ้าเป็นการช่วยเหลือด้วยจิตที่เมตตา ไม่ว่าจะกับใคร ไม่จำกัด ความเมตตา ความหวังดี หวังประโยชน์ เกื้อกูล ขณะนั้นก็ ต้องเป็นสิ่งที่ดี แม้ว่าเราอาจจะลำบาก แต่กุศลจิตก็ทำ เพราะว่าถ้าคนคิดถึงแต่ความสบาย ทำดีลำบากก็ไม่ทำดีเสียเลย สบายกว่า ถ้าคิดอย่างนั้นกุศลจิตก็ไม่เกิด

    เพราะฉะนั้น ก็ต้องแยกโดยขณะจิต เวลาที่เกิดความเหนื่อย ขณะนั้นไม่สบายแน่ ก็เป็นอกุศล แต่จิตกุศลก็มีกำลังมาก ที่แม้จะเหนื่อยก็ทำ เพื่อคนอื่นหรืออะไรอย่างนี้ เพราะฉะนั้น เราก็ต้องดู ว่าขณะนั้นเป็นอกุศลจริง แล้วเราจะถือเป็นการเบียดเบียนตัวเราหรือเปล่า เพราะเรา ทำด้วยความสมัครใจ เต็มใจ ที่จะให้เกิดประโยชน์อย่างนั้น

    ผู้ฟัง แต่นี้มันก็เป็นขณะจิตๆ นั้นก็ตั้งใจทำ แต่ร่างกายมันก็อ่อนแอ อ่อนเพลียลงเรื่อยๆ อันนั้นเป็นการเบียดเบียนหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ถ้าเบียดเบียนคนอื่นไม่ดีแน่

    ผู้ฟัง เบียดเบียนตัวเอง

    ท่านอาจารย์ เบียดเบียนตัวเอง ด้วยความเต็มใจที่จะทำประโยชน์ ไม่คำนึงถึงความไม่สบายกาย ความทุกข์เดือดร้อนกาย เพราะว่า ธรรมดาทุกคนเกิดมา เมื่อมีร่างกายก็ต้องมีความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า แล้วเราไปเล่นกีฬาเหนื่อยกับเราทำประโยชน์เหนื่อย อย่างไหนจะดีกว่ากัน

    ผู้ฟัง ต้องทำประโยชน์

    วิทยากร.ให้ทานเป็นการเบียดเบียนกิเลส เบียดเบียนโลภะ หมายความว่าถ้าเรามีโลภะจริงๆ ชอบใจในทาน ในสิ่งนั้นเราให้ไม่ได้ แต่เมื่อเราให้ได้ เราก็เบียดเบียนโลภะ ไม่ให้โลภะมันเกิด การที่เราเบียดเบียนโลภะ เป็นกุศลที่มีกำลัง และบารมีทุกอย่าง จะเว้นจากปัญญาไม่ได้ ถ้าให้ด้วยปัญญา แล้วย่อมไม่เดือดร้อน แต่เราก็ไม่ได้ให้ด้วยปัญญา เราย่อมเดือดร้อนเหมือนกัน เมื่อคิดถึงในภายหลังก็เดือดร้อน เราไม่ควรจะให้ทาน ควรจะเอาสิ่งนี้มาบริโภค อย่างนี้เป็นการเดือดร้อนในภายหลัง หรือเรียกว่าการให้ทานไม่ดี เป็นอกุศล หรือเป็นอะไรก็แล้วแต่ อย่างนี้ก็เรียกว่าเดือดร้อนในภายหลัง แต่ขณะให้ทานเรา ก็พิจารณาว่า เป็นคนละขณะ ขณะให้ก็ขณะหนึ่ง ขณะที่เราเดือดร้อนก็อีกขณะหนึ่ง ขณะที่เป็นกุศล ก็เป็นกุศล ขณะที่เดือดร้อนก็เป็นอกุศล เป็นคนละขณะ ถึงอย่างไรก็ตาม ถ้าเราให้ด้วยปัญญา ไม่มีความเดือดร้อน

    ท่านอาจารย์ ถ้าคุณสุรีย์ไปกู้หนี้ยืมสินมาให้ทานอย่างนั้น เดือดร้อนแน่ ใช่ไหม เบียดเบียนตัวเองแน่ ทำให้ตัวเองเดือดร้อน

    ผู้ฟัง ดิฉันมานึกถึงมารยาทในสังคม บางครั้งก็ไม่ได้เต็มใจ ฝืนๆ ๆ อันนี้เป็นการให้ด้วยการเบียดเบียนหรือเปล่า ที่ดิฉันเรียนถาม

    ท่านอาจารย์ ต้องรู้ใจตัวเอง

    ผู้ฟัง อีกประโยค ไม่ให้เพราะเชื่อมงคลตื่นข่าว ให้เพราะเชื่อกรรม และผลของกรรมเท่านั้น อยากให้ท่านอาจารย์ขยายว่า ไม่ให้เพราะเชื่อมงคลตื่นข่าว ให้เพราะเชื่อกรรม และผลของกรรมเท่านั้น คำว่า มงคลตื่นข่าว มันไปยุ่งอะไรกันกับกรรม และผลของกรรม

    ท่านอาจารย์ สะเดาะเคราะห์ เอานกไปปล่อย แล้วเราทำกรรมมาตั้งมากมาย กรรมของเราจะไม่ให้ผล เพราะเราปล่อยนกเท่านั้นหรือ

    ผู้ฟัง การปล่อยนก คือ มงคลตื่นข่าว

    ท่านอาจารย์ เราตั้งใจจะปล่อยเพื่อช่วยเราให้พ้นภัย หรืออายุยืน หรืออะไรก็แล้วแต่ ไม่ใช่หรือ ไม่ใช่ว่าตั้งใจจะปล่อย เพราะนกกำลังบาดเจ็บหรือว่ากำลังถูกผูก

    ผู้ฟัง ทีนี่ เชื่อกรรม และผลของกรรม ก็หมายความว่าเป็นกรรมของนกที่เขาได้อิสระ หรืออย่างไร

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 103
    25 มี.ค. 2567