ปกิณณกธรรม ตอนที่ 616


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๖๑๖

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๔๕


    ท่านอาจารย์ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแนะนำ ๓ ปิฎก พร้อมทั้งอรรถกถา แล้วเราหยิบมานิดเดียว แล้วก็บอกให้คนอื่นวางเฉย เราเองถ้าเกิดเหตุการณ์อย่างนั้น เราวางเฉยได้หรือเปล่า แต่เราสามารถจะบอกคนที่เขากำลังมีทุกข์ให้วางเฉย ซึ่งเขาก็ทำไม่ได้ ไม่มีใครทำได้เลย พระโสดาบันก็ยังร้องไห้ ยังมีโลภะ ยังมีโทสะ

    เพราะฉะนั้น ทางที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน ก็คือว่าไม่ประมาท ไม่ว่าจะเป็นคำแนะนำ หรือความคิดใดๆ ก็ตาม ที่จะให้เขาได้เข้าใจจริงๆ ถ้าเขายังไม่ได้ศึกษาพระธรรมยากมาก เพราะเหตุว่า แม้ผู้ที่ได้ศึกษาพระธรรมแล้ว ก็ยังไม่ได้เป็นอย่างที่ศึกษา จนกว่าจะอบรมปัญญาถึงระดับ ที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมเมื่อไร เมื่อนั้นก็จะละ อกุศลธรรม เป็นลำดับขั้น ซึ่งแม้ในขั้นพระโสดาบันก็ยังมีโลภะ ยังมีโทสะ ยังมีหัวเราะ ยังมีร้องไห้ เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่ลำบาก ถ้าเพียงคำพูด ๒, ๓ คำหรือว่าเหตุการณ์นิดๆ หน่อยๆ แล้วก็จะให้เขาเกิดระลึกได้ ก็เพียงชั่วครั้งชั่วคราว แต่ว่าไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท ทางที่ดีที่สุด ไม่มีอะไร เกินกว่าสำหรับเราเอง ถ้าไม่สามารถจะแนะนำใครให้ศึกษาธรรมได้ เราก็ควรที่จะศึกษาด้วยตัวของเราเอง เห็นประโยชน์จริงๆ

    ผู้ฟัง เราไม่ใช่ว่าวางเฉย โดยที่ว่าเราไม่กระดุกกระดิก แต่เราได้ช่วยเขาจนสุดๆ แล้ว มันก็ช่วยไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็ต้องนึกว่าอันนี้เป็นกรรมของสัตว์ ซึ่งมันเป็นเหตุใกล้ให้เกิดแล้ว อันนี้จะไม่ได้หรือ

    ท่านอาจารย์ คงไม่ใช่จะเป็นการพิจารณาด้วยคำ แต่ว่าขณะใด จิตของเราไม่หวั่นไหว ไม่ว่าสิ่งที่เรากำลังประสบ จะเป็นอะไรก็ตามแต่ ซึ่งบางคนก็อาจจะเกิด รักหรือชัง เศร้า ใจหรือเสียใจ สาหัส ร้องไห้ต่างๆ เพราะว่าเป็นสิ่งซึ่งทำให้มีปัจจัยที่จะเป็นอย่างนั้น สภาพขณะนั้นไม่เป็นกลาง คือรู้ว่าสัตว์มีกรรมเป็นของๆ ตนจริงๆ ชีวิตของเรา เท่าที่ผ่านมาแล้ว แล้วก็ที่จะผ่านต่อไป ก็จะต้องประสบกับเหตุการณ์ต่างๆ ของสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งเป็นที่รักที่ชังก็ตามแต่ หรือว่าไม่รู้จักเลยก็ตามแต่ แต่ว่าขณะนั้น เราสามารถที่จะรู้ ความเป็นกลาง คือ ความไม่หวั่นไหวของเรา ต่อสิ่งที่กำลังปรากฏหรือเปล่า ถ้าขณะนั้นเป็นความไม่หวั่นไหว ก็หมายความว่า เราได้พิจารณาว่า ขณะนั้นก็เป็นแต่เพียงสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้น ตามเหตุตามปัจจัยของแต่ละคนนั่นเอง ใครจะช่วยอะไรใครได้ ลูกเจ็บ แม่ขอเจ็บแทนไม่ได้ บิดามารดาป่วยไข้ ลูกขอป่วยแทนไม่ได้ ขณะนั้นถ้าหวั่นไหว ขณะนั้นก็ไม่ได้พิจารณาถึงกรรม แต่ว่าถ้าในขณะนั้น เป็นผู้ที่มีปกติ มีความเข้าใจธรรม มีการอบรมเจริญจนกระทั่ง สามารถที่จะเข้าใจธรรมจริงๆ

    เพราะว่าการศึกษาธรรม แม้ว่าจะบอกว่าศึกษาธรรม แต่เรื่องราว และคำถามกับเหตุการณ์แสดงว่าไม่ได้เข้าใจธรรมเลย บางคนก็ถามอย่างที่เคยพูดถึงว่า ทำไมศึกษาธรรมแล้วยังมีอิสสา ก็อิสสาก็เป็นธรรม ถ้ารู้ว่าอิสสาเป็นธรรมจะมีคำถาม เมื่อธรรมใดมีเหตุปัจจัย ธรรมนั้นก็เกิดก็ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ฉันใด เวลาที่สัตว์ประสบทุกข์ยาก หรือว่าลาภยศก็ตามแต่ ก็เป็นผู้ที่ไม่หวั่นไหว เพราะว่ารู้ว่า ก็เป็นไปตามกรรม สิ่งนั้นก็ไม่เที่ยง ใครซึ่งได้ลาภก็มีวันจะเสื่อมลาภ ใครที่ได้ยศก็มีวันที่จะเสื่อมยศ ใครที่เสื่อมยศ ก็มีวันที่จะได้ยศ ใครที่เสื่อมลาภก็มีวันที่จะได้ลาภ ตามเหตุตามปัจจัย เพราะว่าทุกคนไม่มีใครสามารถไปบันดาลได้นอกจากกรรมของตนเอง ถ้าเป็นอย่างนี้ก็จะเป็นผู้ที่มีปกติ ไม่หวั่นไหว

    ผู้ฟัง ขอเรียนถาม ไม่ควรคบในผู้อื่น จนหมดสิ้นก็หามิได้ หมายความว่าอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เวลาที่คุณแสงจันทร์ คบใคร คบในลักษณะไหนบ้าง ใช้คำว่า คบ คุ้นเคย ไปมาหาสู่ สนิทสนม

    ผู้ฟัง คบคนที่มีลักษณะคล้ายกับเรา แล้วก็อุดหนุนเกื้อกูลซึ่งกัน และกัน เพื่อนก็ให้เทปธรรมฟัง

    ท่านอาจารย์ อย่างนั้นหมายความว่า มีความจริงใจในการคบหา ใช่ไหม ไม่ใช่ว่าคบแล้วก็ไม่จริงใจ หรือกล่าวคำไม่จริง หรือพูดสิ่งซึ่งเป็นภัย เป็นโทษกับเขา เพราะฉะนั้น เวลาที่มีความจริงใจต่อใคร เราก็จะเป็นประโยชน์กับเขา ไม่ได้หวังร้ายกับเขา นี่คือการคบอย่างจริงใจ การไปมาหาสู่แต่ไม่จริงใจ มี ใช่ไหม บางคนคบแบบไปมาหาสู่ แต่ไม่จริงใจ อาจจะทำไปตามหน้าที่ หรือว่าตามอะไรอย่างนั้น แต่ถ้าเราจะคบใครจริงๆ ก็หมายความว่า มีความจริงใจต่อบุคคลนั้น ไม่ใช่ว่าไม่จริงใจ ภาษานี้ หมายความว่าอย่างนั้น

    ผู้ฟัง ประโยคที่ถาม รู้สึกว่ามันปฏิสธ ซ้อนปฏิเสธ ขึ้นต้นก็ปฏิเสธ ลงท้ายก็ปฏิเสธ ใช่ไหม ไม่ควรคบในผู้อื่นจนหมดสิ้นก็หามิได้ มันน่าสงสัยเหมือนกัน ปฏิเสธแล้วก็ยังปฏิเสธซ้อนอีก แปลว่า ควรคบ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ควรคบธรรมดา จนหมดสิ้น ด้วยความจริงใจ

    ผู้ฟัง จนหมดสิ้น ด้วยความจริงใจ การพิจารณาเห็นโทษ และอานิสงส์ จะเริ่มต้นอย่างไร ถึงจะสามารถ พิจารณาเห็นโทษ และอานิสงส์ได้

    ท่านอาจารย์ ฟังดู เหมือนเรื่องราวที่จะต้องมาพิจารณา คุณ และโทษ ใช่ไหม แต่ใครกำลังพิจารณา

    ผู้ฟัง รู้สึกจะเป็นเรา

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้วเป็นเราหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่เป็น

    ท่านอาจารย์ แต่เป็นการสะสมของศรัทธา ของปัญญา ของสติ ของโสภณธรรมทั้งหลาย ซึ่งเคยสะสมมาแล้ว เพราะฉะนั้น อย่างบางคน คิดที่จะสนใจศึกษาธรรม มาจากไหนความหมายอันนั้น มีไหม ทุกคนที่มาที่นี่ ก็คิดที่จะฟัง หรือว่าจะศึกษา จะเข้าใจธรรม ความคิดอย่างนี้ มาจากไหน เป็นคนอื่นเอามาให้เราหรือเปล่า หรือว่าสะสมมา จึงได้เกิดขึ้น ที่จะสนใจ ที่จะฟัง ที่จะเข้าใจ

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องซึ่งเมื่อไม่ใช่เรา ก็ต้องเป็นสภาพธรรมทั้งหมด แม้แต่การที่จะเห็นโทษ หรือว่าการที่จะละอาย ก็ไม่ใช่ว่าตัวเรามานั่งละอาย เห็นโทษ แต่เป็นหน้าที่ของโสภณเจตสิกซึ่งเราเรียน การเรียนธรรมคือ การเรียนสภาพที่ละเอียด ที่มีจริงๆ ซึ่งเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่การงานของสภาพธรรมนั้นๆ แต่ด้วยความไม่รู้ ก็มาเป็นเราหมดเลย เราพิจารณา เราเห็นโทษ เราต่างๆ แต่ว่าแม้แต่การที่ยังไม่ได้พิจารณา แต่ให้ทาน มีไหม มี พิจารณาแล้ว ยังไม่ได้พิจารณาเลย แต่วิรัติทุจริต มีไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ เพราะขณะนั้นไม่ใช่เรา แต่ว่าเป็นสภาพธรรมของธรรม ที่สะสมมาที่จะเกิดขึ้น เป็นกุศลในขณะนั้น แต่ก็ไม่พอ เพราะฉะนั้น เราก็ยังคงเป็นผู้ที่ มีกิเลสมาก แล้วก็จะต้องมีการขัดเกลามาก จึงต้องอาศัยการฟังอีกทั้ง อย่าคิดว่าฟังพอแล้ว แล้วเมื่อฟังแล้ว ยังต้องพิจารณาอีก จนกว่าจะเป็นปัจจัยให้ มีปัญญาเพิ่มขึ้น แล้วปัญญานั้นก็ทำหน้าที่ของปัญญาเอง

    ผู้ฟัง อย่างนี้ก็แสดงว่า เวลามีการให้ทาน อะไรเกิดขึ้น ก็แสดงว่ามีการพิจารณาเห็นโทษแล้ว และ อานิสงส์เรียนร้อยแล้ว

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าจริงๆ แล้ว บางคนอาจจะเป็นคิดว่าให้ดี หรือไม่ให้ดี มากกว่าที่จะคิดว่ามีโทษ หรือมีคุณ ใช่ไหม ขณะนั้นก็จะเห็นได้จริงๆ ว่า อะไรคิด ให้ อะไรคิดไม่ให้ แล้วในที่สุดที่ให้ ก็อะไรอีก คือ ไม่ใช่เรา

    การศึกษาธรรมมีหลายระดับ ถ้าจะศึกษาด้วยความเป็นตัวตนก็ไม่สามารถที่จะละ การยึดถือสภาพธรรม ว่าเป็นเราได้ แต่เมื่อเราเรียนธรรม ก็ต้องเจาะลึกอีก ธรรมเป็นธรรมไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้น เมื่อไรเรียน แล้วเข้าใจจริงๆ ว่าเป็นธรรม นั่นคือเข้าใจถูก ไม่ใช่เพียงชื่อว่าทุกอย่างเป็นธรรม แต่เป็นเราทั้งหมดที่จะจัดการกับตัวเรา ขณะนั้นก็ไม่ได้เข้าใจธรรมตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง คำว่า บริจาค กับ ทาน คนละความหมาย ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ คุณเด่นพงษ์จะบริจาค หรือคุณเด่นพงษ์จะให้ทาน หรืออย่างไร

    ผู้ฟัง อันนี้ผมมรู้สึกเสียใจมาหลายหน ไปเวียดนามก็เหมือนกัน เช่าสามล้อมา ๑๐ คัน แล้วก็ไกด์ก็บอกไม่ต้องไปทิปเขาหรอก เขาได้แล้ว แต่ถีบไกลเหลือเกิน แล้วให้สัก สิบบาท ก็น่าจะให้ เขาบอกไม่ให้ เราก็อยากจะให้ คุณให้ไม่ได้นะ ให้คนหนึ่งมากันอีกสิบ ก็เลยอย่างนี้ มันก็เลยเกิดความรู้สึก บางที่เราก็เลยต้อง ทำบาปในขณะที่เราอยากจะทำบุญ

    ท่านอาจารย์ เราที่นี่ เป็นใคร จะไปเอาใครที่ไหนมารู้จัก หรือว่ารู้จักตัวเอง ซึ่งไม่เคยรู้มาก่อนเลย จะให้ไปรู้จักคนอื่น แล้วตัวเองไม่รู้ กับเวลาที่ศึกษา ก็ทำให้เข้าใจตัวเองตามความเป็นจริง เราอาจจะเคยคิดอย่างนี้ อย่างที่คุณเด่นพงษ์คิด ที่เกิดความเสียใจที่ว่า ไม่ได้ทำสิ่งที่น่าจะทำ เช่น การที่จะให้สิ่งที่ควรจะให้ แล้วก็ถูกขัดขวางหรืออะไรอย่างนั้น แต่ว่าตามความเป็นจริง ก็คือว่าชั่วขณะหนึ่ง เราอาจจะมีชั่วขณะเล็กๆ น้อยๆ ที่คิดอย่างนี้ แต่เราไม่ได้ทำจนกระทั่งถึงความเป็นโพธิญาณ ที่จะตรัสรู้ เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่อย่างไรก็ตาม ถ้ากุศลจิตเกิด ย่อมดีแน่ๆ เป็นทางที่จะทำให้เราเป็นผู้ตรง แล้วแต่ว่าขณะนั้น จะมีอะไรเกิดขึ้น อย่างบางคนก็อาจจะคิดว่า วันนี้จะให้ทาน คิดใช่ไหม มีใครบ้างไหม ไม่เคยคิด พออ่านแล้วก็วันนี้จะให้ทาน หรือว่าเราก็ไม่ได้ให้ทาน วันนั้นเราเห็นแล้วเราก็ไม่ได้ให้ วันนี้จะให้ ก็คิดได้ ใช่ไหม เพราะฉะนั้น เวลาที่คิดอย่างนั้นก็ไม่ใช่เรา แต่ก็ต้องเป็นโสภณเจตสิกที่เกิดขึ้น จริงๆ แล้วก็คือว่าให้ รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง คิดจะให้แล้วไม่ให้ จริงไหม ก็จริงอีก เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นลักษณะของสภาพจิตซึ่งเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา ที่จะทำให้เราเป็นผู้ที่ตรงว่า ผู้ที่ท่านจะตรัสรู้ ท่านคิดอย่างไร ทานบารมีของเราจะพึงเต็มได้อย่างไร นี่คือท่าน เราอนุเคราะห์โลกแม้ทั้งหมด เหมือนตัวเรา นี่ก็คือท่านอีกเหมือนกัน เมื่อยาจกไม่มี ทานบารมีของเราจะพึงเต็มได้อย่างไร แล้วเราคิดอย่างนี้หรือเปล่า เราทำอย่างนี้หรือเปล่า เพียงแต่ว่า เมื่อเห็นก็คิดที่จะให้ ซึ่งบางครั้งก็ให้ บางครั้งก็ไม่ให้ แต่ถ้าเป็นผู้ที่สามารถจะให้ได้ในขณะนั้นก็ตรงตามความที่คิด แต่บางคนก็มีเหตุการณ์ที่ไม่สามารถจะให้ได้

    ก็มีท่านผู้หนึ่ง ซึ่งท่านเห็นสุนัขลำบากมากเลย ขี้เรื้อนอดอาหาร ท่านก็สงสาร เตรียมอาหารไปที่จะให้ วันที่เตรียมไปที่จะให้สุนัขนั้นก็ไม่อยู่ เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องซึ่งแล้วแต่อะไรจะเกิด ข้อสำคัญที่สุดก็คือผู้ที่ได้ตรัสรู้แล้ว รู้ว่าไม่มีเรา อันนี้สำคัญที่สุด แม้แต่ที่จะคิดให้ ไม่ให้ ก็ด้วยความเป็นเรา แต่ถ้ารู้จริงๆ ว่าไม่มีเรา ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็คือสภาพที่เป็นนามธรรม หรือรูปธรรมเท่านั้น นี่เป็นทางที่ผู้ที่จะเป็นสาวก ที่จะอบรมจนกว่า จะรู้ตามโดยการรู้แจ้งอริยสัจ จริงๆ ไม่ต้อง ไปกังวลถึง เราจะทำอย่างนี้ แล้วก็จริงๆ ทำได้หรือเปล่า

    ผู้ฟัง พึงพิจารณาในทานบารมี ตั้งความน้อมใจในการบริจาคว่า ผู้นี้ยกย่องเราในกรรมอันยิ่ง เพราะฉะนั้น ควรทำความยกย่องนั้นให้เป็นความจริง

    ท่านอาจารย์ ฟังดูเหมือนกับเป็นมานะ ความสำคัญตน หรือเปล่า แต่ผู้ที่จะขัดเกลากิเลสจริงๆ มีความละอายในการที่คนอื่นยกย่องในสิ่งที่ตัวเองไม่เป็นจริง เพราะฉะนั้น ก็พยายามที่จะทำให้เป็นจริง ตามที่เขายกย่อง เกิดความละอายที่บางที เขายกย่องสรรเสริญมาก อย่างพระเถระท่านหนึ่ง ที่มีคนยกย่องว่าท่านเป็นพระอรหันต์ แต่ท่านไม่เป็น ท่านก็เกิดความละอาย ว่าเขายกย่องท่านทั้งๆ ที่ท่านไม่เป็น ท่านก็อบรมเจริญปัญญาจนถึงความเป็นพระอรหันต์ เพราะฉะนั้น ก็ขึ้นอยู่กับขณะนั้นใครจะรู้จิตของใคร ความมานะ ความสำคัญตนของคนบางคน มี ถ้ามีคนยกย่องว่าคนนี้ใจดี ใครขออะไรก็ให้หมด ถ้าเกิดมีใครว่าอย่างนี้ แล้วเกิดมีคนอื่นไปขอ คนนั้นก็กลัวว่า ใครๆ เขาบอกว่า เราใจดี ใครๆ ขอก็ให้ เราไม่ให้คงไม่ได้นั่นเป็นกุศล หรืออกุศล ถ้าคิดอย่างนั้น แต่ถ้าเป็นผู้ที่ขณะนั้น ระลึกถึงคำที่คนอื่นยกย่องแต่ว่าตัวเองไม่มีคุณธรรมอันนั้น ก็มีความพากเพียรที่จะทำให้เป็นอย่างนั้น ก็แล้วแต่กุศลจิต หรืออกุศลจิต ซึ่งเป็นเรื่องซึ่งยากที่จะรู้ได้ เพราะเหตุว่าตราบใดที่ยังมีอกุศลจิตอยู่ ก็มีปัจจัยที่จะให้อกุศลจิตเกิดขึ้น แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องของเราเลย ใช่ไหม หรือว่าเราจะเป็นอย่างนี้

    แต่ว่าข้อความต่อไป น่าจะเป็นได้ แม้เขาไม่ขอเราก็ให้ อันนี้น่าที่จะประพฤติมาก เพราะชีวิตเขาชัดแจ้งอยู่แล้ว ถ้าเห็นคนลำบาก เขายังไม่เอ่ยปากขอเราเลย แต่เราก็มีจิตคิดว่า ควรจะให้เขา หรือว่าให้เขาไปอย่างที่คุณเด่นพงษ์พูดถึง ชีวิตของเขาลำบาก ขณะนั้น ชัดแจ้งอยู่แล้วว่าชีวิตของเขาลำบาก ถึงเขาไม่ขอก็ให้ อันนี้ก็จะเป็นประโยชน์ ไม่ต้องให้เขาขอก็ให้ได้ ถ้าเป็นพระโพธิสัตว์ก็มากยิ่งกว่านั้น ผู้นั้นมาขอ ผู้มาแล้วเอง จากที่เราแสวงหา ด้วยอัธยาศัยอันยิ่ง คือท่านแสวงหาผู้ให้ เพราะฉะนั้น เขามาเองโดยไม่ต้องแสวงหา ท่านก็สามารถที่จะให้ได้ เพราะว่า ท่านเป็นผู้ที่แสวงหาผู้ที่ท่านจะให้อยู่เสมอ

    ผู้ฟัง ฉะนั้นคำที่ว่า เมื่อทรัพย์มี ยาจกมี การไม่บริจาคเป็นการหลอกลวงของเรา อย่างใหญ่หลวง คำนี้ก็หมายความว่า ท่านตั้งใจว่าจะบริจาคอะไรอยู่แล้ว อย่างนี้ ใช่ไหม จะบำเพ็ญทานบารมี คือถ้ามียาจกมาก็จะให้แล้วละ ถ้าเรา มีทรัพย์มีอะไรอย่างนี้ ถ้าเกิดไม่ให้ก็แสดงว่าเป็นการหลอกตัวเองอย่างนั้น ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ พอเรียนเรื่องทาน ก็เลยเป็นเรื่องคิดมาก ใช่ไหม เพื่อใคร ที่คิดอย่างนั้น

    ผู้ฟัง เพื่อตัวเอง

    ท่านอาจารย์ เพื่อตัวเอง มาอีกแล้ว ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ถ้ามีปัญญาแล้วก็รู้ว่า เป็นเรื่องของสภาพธรรม ก็จะสบายใจ ไม่ต้องคิดมากเลย ทุกอย่างแล้วแต่ การให้หรือการไม่ให้ก็เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้น ขอให้รู้จริงๆ ว่าเป็นธรรม เพราะเหตุว่าเราเรียน เราศึกษาธรรม แต่เราก็มากังวล เรื่องของตัวเรามากมาย แล้วเมื่อไร เราจะรู้จริงๆ ว่าเป็นธรรม เพราะฉะนั้น ความเป็นผู้ตรง คือ เมื่อศึกษาธรรมเข้าใจธรรมก็ควรที่จะรู้ ชัดประจักษ์แจ้งว่าเป็นธรรมจริงๆ ด้วย แทนที่จะกังวลเรื่องอื่น

    ผู้ฟัง ยิ่งอาจารย์พูดคำนี้ ผมยิ่งงงเข้าไปอีก คือถ้าเราต้องการที่จะขัดเกลากิเลสของเรา ถ้าปล่อยให้จิตให้ปัญญาคิด ว่านั้นเป็นเรื่องของธรรม ธรรม มันยังมองไม่เห็น ก็เลยค่อยๆ พัฒนาจิตให้บริสุทธิ์ ให้ดีขึ้น อย่างนี้ไม่ถูก วิธีหรือ

    ท่านอาจารย์ ก็มีเราปล่อยให้จิต หรือเราจะพัฒนา ยังมีความเป็นเรา แต่ถ้ามีความเข้าใจจริงๆ ว่าเป็นธรรมแล้วเราทราบ เราเรียนมาก็นาน ฟังเรื่องธรรมก็นาน แต่ยังไม่ประจักษ์ลักษณะของธรรม ว่าเป็น ธรรม จนกว่าปัญญาจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริง ถ้าเป็นอย่างนี้เราจะสนใจเรื่องตัวเรา จะปล่อย หรือจะไม่ปล่อย หรือว่ารู้ว่า

    แม้ขณะนี้ก็เป็นธรรมแต่ละอย่าง ขณะนี้ที่ปรากฏเป็นธรรม แต่เรื่องที่เราคิดมากมาย เรื่องทาน เรื่องอะไรนั้น ก็เป็นเพียงเรื่องราว ที่เป็นเรื่องตัวเรา จะทำหรือจะไม่ทำ ก็ยังคงเป็นเรื่องตัวเราอยู่ แต่ถ้ามีความเข้าใจจริงๆ ว่าเป็นธรรมทั้งหมดแล้ว ธรรมทั้งหมดที่ว่าไม่ใช่เพียงคำพูด ถ้าเป็นคำพูดก็ง่าย ที่จะพูดว่าทุกอย่างเป็นธรรม แต่ที่จะให้ประจักษ์ว่าทุกอย่างเป็นธรรมจริงๆ ต้องเป็นปัญญาที่อบรมจริงๆ แล้วก็รู้ชัดจริงๆ จึงสมควรที่เราจะรู้ว่า ที่พูดว่าทุกอย่างเป็นธรรมเป็นความจริงแล้ว ไม่ใช่ว่าเป็นเราที่เรียนธรรม แล้วก็เอาธรรมนั้นมาคิดถึงตัวเรา ว่าจะเป็นอย่างไร แต่เรียนธรรมเพื่อที่จะรู้ธรรมจริงๆ ว่าเป็นธรรม

    ผู้ฟัง จาริตศีล คนนอกศาสนาก็สามารถทำได้ ใช่ไหม ถ้าเป็นการออกด้วย กาย วาจา ที่เหมาะสม

    ท่านอาจารย์ คือทั้งหมดเป็นกุศล ต้องเกิดจากจิต เวลาที่กุศลจิตเกิด กายเป็นอย่างไร จะไม่เหมือนกับเวลาที่เป็นอกุศล วาจาก็เหมือนกัน เวลาที่กุศลจิตเกิดจะต่างกับวาจาที่เป็นอกุศล เวลาพูดกับคนในบ้าน ที่เขาช่วยเหลือทำการงานในบ้าน มีคำพูด ๒ อย่าง ใช่ไหม จะพูดอย่างกุศล หรือจะพูดอย่างอกุศล

    วาริตศีล ก็คือไม่ใช่คำหยาบ ไม่ใช่คำที่ทำให้เขาไม่สบายใจ คำผรุสวาจา พวกนั้น แต่ว่าถ้าเป็น จาริตศีล จารีต หรือความประพฤติที่ควรกระทำ วาจาเปลี่ยนได้ไหม

    ผู้ฟัง ได้ อย่างฝรั่ง ดูเขาสุภาพมาก คำพูดของเขาต้องมีกรุณา ดูเหมือนกับ ว่าสุภาพ แต่เราไม่รู้สภาพจิตเขาหรอก เรารู้แต่ความหมาย อันนี้เราจะเอาเข้ามาอยู่ใน จาริตศีลได้หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ โดยมากแต่ละชาติ ก็จะมีวัฒนธรรมหรือการอบรม ตั้งแต่เด็กในสิ่งที่ดีงาม ทุกอย่างที่เป็นสิ่งทีดีงามเกิดจากจิตที่อ่อนโยน เป็นกุศล แต่เราไม่ได้สอนลึกลงไปเท่านั้นเองว่า อันนี้เป็นกุศลจิตหรือเกิดจากกุศลจิต เช่นคนไทยเราเวลาพบปะกัน เราก็ยกมือไหว้แสดงความนอบน้อม ขณะนั้นเราฝึกที่จะให้เด็กรู้จักเคารพผู้ใหญ่ ขณะนั้นก็ต้องเป็น จาริตศีล สิ่งที่ควรประพฤติ ถ้าเราเจอเด็ก ไม่มีการสอนให้เคารพผู้ใหญ่เลย ไม่เคยเคารพใครเลยตั้งแต่เด็กจนโต เขาก็เป็นคนแปลก ในสายตาของคนซึ่งอยู่ในวงของผู้ที่สะสมมา ที่รู้ว่าสิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร เพราะฉะนั้น ในเรื่องของคำพูดก็เหมือนกัน คำพูดกับผู้ใหญ่ หรือว่าคำพูดกับคนอื่น ซึ่งแสดงความสามารถ แสดงความเก่ง หรือว่าแสดงความสำคัญตน พวกนี้ กับคำพูดซึ่งตรงกันข้าม แม้แต่ทางวาจา เราก็สามารถที่จะรู้ได้ว่า คำพูดอย่างไหนเกิดจากจิตชนิดไหน

    สิ่งที่ดีงาม ทางกาย ทางวาจา ก็มาจากกุศลจิต และถ้าขณะใดที่เราเกิดมีความสำคัญตน กาย วาจาของเราก็จะเป็นอีกอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องของความประพฤติทางกาย ทางวาจา ซึ่งแต่ละชาติก็สะสมมาต่างๆ กัน อย่างบางชาติ ก็คงจะมีมารยาทในการรับประทานอาหาร ซึ่งดูสุภาพ ดูอะไรดี แม้แต่อาหาร จะเผ็ด จะเค็มไป เขาไม่พูด เพราะว่าเขาอบรมมา แต่สำหรับเราลึกลงไปยิ่งกว่านั้น คือสอนให้อดทน ที่เราจะรู้ได้ทันทีว่า ที่เราไม่พูดเพราะเรามีขันติ หรือมีความอดทน ที่จะไม่ทำร้ายใคร ด้วยกาย ด้วยวาจา แต่บางคนก็บอกว่าก็จริง ก็เผ็ดจริงๆ ก็เค็มจริงๆ ก็บอกสิ อะไรอย่างนี้ อันนั้นก็ต้องเล้วแต่ว่าเขาอยู่ที่ไหน แล้วก็สมควรไหมที่จะบอก ถ้าเป็นภายในบ้านบอกได้ แต่ถ้าเราเป็นแขก หรือเราไปตามสถานที่ต่างๆ แล้วเราจะใช้กิริยากับคำพูดอย่างนั้น เรามีความอดทนหรือเปล่า เพราะฉะนั้น กาย วาจาทั้งหมด ถ้าคนพูดที่รู้สภาพของจิต เขาก็จะอ่านออกมาเป็นจิต เจตสิกต่างๆ ได้ จากคำพูดนั้นๆ จากกาย วาจานั้นๆ แต่คนที่ไม่รู้ เขาก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่าขณะนั้น เป็นกุศลจิต หรือเป็นอกุศลจิต ก็คิดแต่ว่าเป็นธรรมเนียมเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น ความสุภาพ ความเรียบร้อย ความมีมารยาททั้งหมด ที่เราได้รับการอบรมมา ก็เพราะเหตุว่าเป็นเรื่องของจิตซึ่งอ่อนโยน ทำให้กายวาจาเป็นอย่างนั้น ไม่หยาบกระด้าง

    ผู้ฟัง พูดถึงเรื่องศีล มันใกล้กับคำว่า วินัย มันผนวกเข้าไปในหมวดเดียวกันหรือเปล่า ศีลกับวินัย

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องประยุกต์ ถ้าเรามีความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะเหตุว่าธรรมก็คือธรรม เป็นความจริงอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ถ้าเราเข้าใจความหมายของศีล หมายความถึง ปกติของกาย วาจา ถ้าเป็นอกุศลศีล ก็คือเป็นผู้ที่มีปกติกายวาจา เป็นไปด้วยอกุศลจิต แล้วก็ถ้าเป็นกุศลศีล ก็เป็นผู้ที่มีปกติกาย วาจาเป็นไปด้วยกุศล ถ้าเป็นพระอรหันต์จะไม่มี กุศลศีล และอกุศลศีลเลย เพราะเหตุว่าดับกิเลสหมด เมื่อดับกิเลสก็ไม่มีทั้งกุศล และอกุศล เป็นแต่เพียงกิริยาซึ่งเป็นอพยากต

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 103
    25 มี.ค. 2567