ปกิณณกธรรม ตอนที่ 647


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๖๔๗

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๔๖


    ท่านอาจารย์ ที่จะรู้โดยความเป็นธาตุ รู้เมื่อไร

    ผู้ฟัง เห็นอยู่ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ข้อสุดท้าย ข้อที่ว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเพ่งพินิจโดยความเป็นธาตุ ๑ โดยความเป็นอายตนะ ๑ โดยเป็นปฏิจจสมุปบาท ๑ ที่จะรู้โดยความเป็นธาตุ จะรู้ได้อย่างไร

    ผู้ฟัง ก็ต้องมีธาตุนั้นปรากฏอยู่

    ท่านอาจารย์ เมื่อสติปัฏฐานเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรม ถ้าระลึกลักษณะแข็ง เป็นคนหรือเปล่า เป็นโต๊ะหรือเปล่า ลักษณะนั้น คือโดยความเป็นธาตุ สีสันวัณณะ รูปารมณ์ หรืออะไรก็ได้ ที่กำลังปรากฏทางตา ในขณะนี้ เป็นธาตุหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็นธาตุ

    ท่านอาจารย์ จะรู้ก็คือ รู้โดยความเป็นธาตุแน่นอน เพราะว่าธาตุกับธรรม ความหมายเหมือนกัน โดยความเป็นอายตนะ จะรู้เมื่อไร

    ผู้ฟัง ตอนสติปัฏฐาน เกิด

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ต้องเมื่อสติปัฏฐานเกิด แต่ปัญญาจะเพิ่มขึ้นเพราะเหตุว่ารู้ลักษณะของสภาพธรรม แต่ละอย่าง เมื่อรู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง ก็รู้อายตนะ แต่ละอายตนะ จะเหมือนกันไม่ได้เลย อย่างสิ่งที่ปรากฏทางตา รูปายตนะ กับ สัททายตนะ เราก็บอกว่าเป็นธรรมที่ต่างกัน พูดได้จริง ตรงถูกต้องทุกอย่าง แต่ความรู้ถึงระดับที่สติสัมปชัญญะเกิดแล้วก็รู้ ความต่างของทวาร แต่ละทางโดยความเป็นอายตนะ แต่ละอย่าง

    วิทยากร. ยกตัวอย่างว่า รูปารมณ์ อายตนะ อายตนะต้องฟังให้เข้าใจ ถ้าเป็นเสียงก็เป็นสัททายตนะ ถ้าจะยกตัวอย่างๆ เดียว ๒ อย่าง ต้องเข้าใจตรงนี้ โดยอายตนะก็ดี โดยธาตุก็ดี ที่ปรากฏทางตาก็เป็นรูปธาตุ เป็นรูปธาตุแล้วก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น อย่างไรๆ ก็ คำสอนเดิมๆ ต้นๆ ที่ท่านอาจารย์เน้นอยู่เสมอ อันนั้นต้องจำไว้ๆ แล้วก็พอมาเจอพยัญชนะพวกนี้แล้ว ต้องเข้าใจให้สอดคล้องกัน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จะรู้ยิ่งซึ่งรูป และนาม ใช่ไหม ถึงเป็นอายตนะก็เป็น นาม และรูปหรือเปล่า ต้องรู้จริงๆ ว่า อย่างไรๆ ก็ไม่พ้นจากการรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมยิ่งขึ้น คือหยั่งลงไปถึงลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม ปัญญาสมบูรณ์ขึ้น การประจักษ์ลักษณะโดยความเป็นธาตุ โดยความเป็นอายตนะ โดยนัยอื่นๆ ก็สามารถที่จะรู้ได้ แต่ขณะนั้นจะต้องมีนามหรือรูปนั่นเอง เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏที่หยั่งลงลึกแล้วก็สามารถที่จะประจักษ์ลักษณะนั้นโดยนัยต่างๆ แต่ต้องมีนามธรรม และรูปธรรม เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานนั่นเอง ไม่ใช่ว่าไม่มีนามรูป เป็นอารมณ์ แล้วก็ไปรู้ ความเป็นอายตนะ

    ผู้ฟัง ขอขยายตรงนี้นิดหนึ่ง วิญญาณ ทำไมเป็นนามรูป ทำไมไม่เป็นผัสสะ

    ท่านอาจารย์ ก็เหมือนกัน เพราะว่าผัสสะก็เป็นนามธรรมด้วย โดยนัยของเทศนา แสดงให้เห็นว่าวิญญาณ ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ต้องมีนามรูปเป็นปัจจัย

    ผู้ฟัง อันนี้โดยนัยของปฏิจจ หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ถึงไม่บอกเราก็รู้ หมายความว่าพอพูดโดยนัยไหน เราก็ทราบได้เป็นโดยนัยนั้น

    ผู้ฟัง ถ้าจะเป็นนัยของอายตนะ จะได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ได้หมดเลย

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ช่วยขยายความสมถะด้วย

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นเรื่องที่เราก็ต้องเข้าใจ ความหมายของสมถะก่อน ว่าสมถะคือกุศลจิตซึ่งไม่ใช่ ขั้นทาน ขั้นศีล แล้วถ้าเป็นสมถภาวนา ก็ไม่ใช่วิปัสสนาภาวนา เพราะเหตุว่าประสงค์ที่จะระงับกิเลส เท่านั้น แต่ไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญา รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม และเป็นรูปธรรม แต่ถ้ากล่าวคู่ ยุคนถะ ก็คือขณะที่สติสัมปชัญญะเกิด ขณะนั้นต้องสงบ นี่แน่นอน เพราะฉะนั้น มรรคมี ๘ องค์ ก็จัดว่าเป็นปัญญา เป็นวิปัสสนา ๒ แล้วที่เหลือก็เป็นสมถะ ก็หมายความว่าขณะที่สติปัฏฐานเกิด จะขาดสมถะไม่ได้เลย แต่ถ้าเป็นสมถภาวนาโดยที่ว่าไม่มีการรู้ลักษณะของสภาพธรรมไม่เกิดกับสติปัฏฐาน ขณะนั้นก็เป็นสมถะที่เป็นโลกียะที่ไม่ใช่การรู้ลักษณะของสภาพธรรม โลกียะที่นี้หมายความถึงว่า เป็นความสงบที่จะทำให้ถึง ฌานจิต แต่ว่าไม่ใช่การสงบที่เกิดพร้อมกับสติที่รู้ลักษณะของสภาพธรรม

    ขณะนี้สมถะหรือเปล่า ไม่ใช้คำว่า ภาวนา ขณะนี้สมถะหรือเปล่า จะได้เข้าใจคำว่าสมถะหรือความหมายของสมถะ ถ้าถามถึงเดี๋ยวนี้ แล้วก็เข้าใจได้ ก็คือเข้าใจความหมายของสมถะ ขณะนี้ สมถะหรือเปล่า เดี๋ยวก็ว่าคนโน้น คนนี้สมถะ แต่ความจริงต้องเป็นขณะจิตว่าขณะนี้ เป็นสมถะหรือเปล่า เป็นไหม เป็น เพราะเป็นกุศล แล้วก็ไม่ใช่กุศลขั้นทาน ขั้นศีล แต่ขณะที่กำลังฟังพระธรรม ศรัทธาเจตสิกต้องเกิดร่วมกับกุศลจิต ทุกประเภท โสภณจิตทั้งหมด ต้องมีศรัทธาเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพธรรม ที่ผ่องใส แล้วก็สภาพธรรมอื่นทั้งหมด เกิดร่วมด้วยก็ผ่องใส คือปราศจากการแผ้วพานของอกุศลเจตสิก ที่จะเกิดในขณะนั้นไม่ได้ เลย แม้ว่าเป็นเพียงเล็กน้อย ชั่วขณะที่เรานั่งมาตั้งแต่เช้า เราไม่ค่อยรู้สึกถึงความสงบ ใช่ไหม กำลังฟังกำลังค่อยๆ เข้าใจ กำลังพิจารณาสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง แต่ขณะนั้นไม่ใช่โลภะ ไม่ใช่โทสะ ไม่ใช่โมหะ

    เพราะฉะนั้น เวลาที่เป็นความสงบสั้นๆ ชั่วขณะจิต ๗ ขณะที่เป็นชวนจิตที่เกิดสืบต่อกัน ก็จะไม่ปรากฏลักษณะของความตั้งมั่น เพราะว่าอารมณ์หลากหลาย ใช่ไหม แต่ว่าเวลาที่เป็นสมถภาวนา ความสงบในขณะที่กุศลจิตเกิด ตามปกติธรรมดา จะมีอกุศลเกิดแทรกได้อย่างรวดเร็ว เช่น ในขณะที่กำลังฟัง ก็เห็นดอกไม้บนโต๊ะ เห็นไหม ดอกไม้ ทราบไหมว่าขณะที่เห็นดอกไม้นั้นเป็นกุศลจิต หรืออกุศลจิต ขณะที่กำลังฟัง เพราะฉะนั้น ๗ ขณะของชวนะ ที่สงบสั้นๆ ทีละ ๗ ขณะที่ไม่ใช่ภาวนา ที่มั่นคง อกุศลชวนะก็มีโอกาสที่จะเกิดแทรกได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าทางตาเห็น สิ่งที่น่าพอใจ หรือว่าทางหู อาจจะได้ยินเสียงที่ไม่น่าพอใจ ทางจมูกเกิดจะมีกลิ่น ก็แล้วแต่ ขณะนั้นก็จะเห็นได้ว่าไม่ตั้งมั่น

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่เข้าใจลักษณะของความสงบว่าเกิดกับโสภณจิต จิตที่ดีงามแล้วต้องสงบ แต่ก็ลักษณะของความสงบไม่ปรากฏ เพราะเหตุว่าอารมณ์เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่ว่าผู้ที่มีปัญญาเพียงขั้นที่จะสามารถให้กุศลจิตเกิดสืบต่อมากขึ้น ให้ตั้งมั่นที่จะทำให้จิตสงบ ขณะนั้นเขาไม่รู้เรื่องของสติปัฏฐานเลย เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีความรู้เรื่องการอบรมเจริญปัญญา ก็จะมีความรู้ระดับที่เพียงทำให้กุศลจิตเกิด โดยที่มีปัญญาที่รู้ว่า ตรึกหรือว่านึกถึงอารมณ์อะไรแล้วกุศลจิตจะเกิด ต้องเป็นกุศล ไม่ใช่ว่าโดยความไม่รู้อะไรเลย แล้วก็ไปนั่งตั้งใจให้จดจ่ออยู่ที่หนึ่งที่ใด แล้วจะเข้าใจว่าเป็นกุศล ไม่ได้ อย่างสมมติว่าถ้าในขณะนี้มีปฐวีกสิณ ตั้งอยู่จิตเป็นกุศล หรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ ไม่เป็น เป็นไม่ได้ เพราะเหตุว่าต้องมีปัญญาที่จะรู้ว่าจิตสงบเพราะอะไร เห็นกสิณด้วยกัน ปฐวีกสิณ คนหนึ่งสงบ อีกคนหนึ่งไม่สงบก็ได้ เพราะว่าสงบต้องมีปัญญาเกิดร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นสมถภาวนา หรือวิปัสสนาภาวนา จะปราศจากปัญญาหรือสติสัมปชัญญะ ไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องที่เราคาดคะเน ว่าพอชื่อว่ากสิณ หรือว่าเห็นซากศพแล้วจิตจะสงบ เป็นไปไม่ได้เลย ต้องเป็นผู้ตรงว่าขณะนั้น สงบหรือเปล่า ถ้าเห็นซากศพ กลัวไหม ตกใจไหม เห็นกระดูก เห็นหัวกระโหลก เห็นอะไรก็แล้วแต่ จิตหวั่นไหวหรือเปล่า ขณะนั้นก็ไม่สงบ แต่จะสงบได้อย่างไร นั่นก็เป็นปัญญาระดับของสมถะ ซึ่งขณะนั้นจะไม่รู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม

    เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ ไม่มีใครสามารถที่จะบังคับ ให้จิตชนิดไหนเกิดได้เลย ไม่มีสักช่วงเวลาสักนิดสักหน่อย ซึ่งใครจะทำอะไรได้ เพราะว่า อนันตรปัจจัย จิตขณะหนึ่งเกิดแล้วก็ดับไป เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด สืบต่อทันทีไม่มีระหว่างคั่น ไม่มีใครไปจัดแจงไปเลือก ให้จิตประเภทนั้น ประเภทนี้เกิดได้ ทุกอย่างต้องเป็นไปตาม สมันตรปัจจัย แม้ว่าจิตจะเกิดดับสืบต่อ ก็ต้องตามลำดับด้วย แล้วก็ต้องตามการสะสมด้วย มิฉะนั้น แต่ละคนที่เห็นสิ่งเดียวกัน ก็ต้องเหมือนกันหมดใช่ไหม แต่ทั้งๆ ที่เห็นสิ่งเดียวกัน ได้ยินอย่างเดียวกัน แต่จิตต่างกันมาก ตามการสะสม อย่างที่กล่าวถึงปฏิสนธิจิต ในปฏิสนธิจิต มีอะไรบ้าง มากใช่ไหม อาสยานุสย มีครบ สิ่งที่สะสมมา ไม่ใช่เฉพาะชาตินี้ชาติเดียว กี่ภพกี่ชาติก็ตาม สะสมอยู่ในจิตสืบต่อ

    แม้ปฏิสนธิจิต ซึ่งเป็นนามธรรม ไม่มีใครมองเห็นเลย แล้วก็มีเจตสิกซึ่งเกิดร่วมด้วย ขณะนั้นทำกิจการงานของเจตสิกนั้นๆ แต่ส่วนที่ไม่ได้เกิดขึ้น ที่เป็นอัธยาศัยที่สะสมมา ทั้งฝ่ายดี ทั้งสัมมาทิฏฐิ แล้วมิจฉาทิฏฐิก็มีอยู่ ตามการสะสมนั้นๆ พร้อมที่จะเกิดเป็นกุศลจิต หรืออกุศลจิต เมื่อมีเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น ก็ต้องทราบ ว่าสงบ คือขณะที่เป็นกุศล ไม่ว่าจะเป็นกุศลประเภทใด แต่ว่าถ้าไม่ใช่สมถภาวนา คือไม่ใช่การอบรมที่จะให้กุศล นั้นมั่นคงมากขึ้น บ่อยๆ ขณะนั้นก็เป็นแต่เพียง ความสงบที่เกิดกับกุศลจิต หรือโสภณจิตเท่านั้น

    เวลาที่สติสัมปชัญญะเกิด ทั้งสมถะ และวิปัสสนา วิปัสสนาที่นี่ไม่ใช่วิปัสสนาญาณ แต่เป็นการอบรมเจริญ เพื่อที่ไม่ให้ถึงวิปัสสนาคือการเห็นแจ้งสภาพธรรม ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ขณะนี้สงบแน่ แต่ก็มีความไม่สงบเกิดสลับด้วย

    ผู้ฟัง ขอบพระคุณมาก

    ผู้ฟัง อบรมใหม่ๆ ก็จะทราบว่า หลงลืมสติต่างกับมีสติ แต่ก่อนที่จะถึงตรงนี้ ท่านอาจารย์ก็ได้กล่าวเหมือนกันว่า มักจะระลึกเป็นคำๆ ก่อน ตรงนี้ถูกไหม มักจะเข้าใจเป็นคำๆ ก่อนๆ ที่จะมาระลึกรู้ว่าหลงลืมสติ ต่างกับมีสติ

    ท่านอาจารย์ ความจริง ต้องเป็นความจริง ใช่ไหม ทุกคนเป็นอย่างนี้หรือเปล่า เพราะเราชินกับความคิด ทุกคนคิดมาก สิ่งที่ปรากฏทางตาเล็กน้อยสั้น แต่ความคิดเรื่องสิ่งที่ปรากฏยาวแล้วก็มากด้วย และแม้จะไม่มีสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจก็คิด เพราะฉะนั้น เมื่อปกติเป็นคนที่คิดหรือว่าสะสมความคิดนึกมามากๆ จะให้ไม่คิดเลย เป็นไปไม่ได้

    ผู้ฟัง ขณะทีคิด เป็นคำๆ ก่อน อย่างนั้นมันจะเหมือนกับว่า ยังไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่ว่า ขณะที่คิด เข้าใจหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์กล่าวบอกว่าที่มาเรียน ไม่ใช่เพื่อที่จะรู้ แต่ละความไม่รู้ ตรงนี้อาจารย์ก็กล่าวอยู่บ่อยๆ

    ท่านอาจารย์ ขอประทานโทษ คือจุดประสงค์ของการเรียน เพื่ออะไร เพื่อต้องการรู้แบบการศึกษาทั่วไป เพราะอยากรู้ สิ่งนั้นเป็นอะไร จิตมีเท่าไร เจตสิกมีเท่าไร หรือเพื่อละความไม่รู้สภาพธรรม

    ผู้ฟัง ตรงนี้ท่านอาจารย์สอนลึกซึ้งเหลือเกิน ก็แปลกใจ เพราะว่า ส่วนมากคนเรียนก็ต้องอยากจะรู้ แต่ท่านอาจารย์ บอกว่า ละความไม่รู้ เสียอีก ละ ความโง่

    ผู้ฟัง เรื่องเครื่องอยู่ ในพระไตรปิฎก ก็จะแสดงเรื่องของเครื่องอยู่ของพระอริยบุคคลมากมาย สำหรับปุถุชนที่ กำลังศึกษา ควรจะมีอะไรเป็นเครื่องอยู่

    ท่านอาจารย์ ควรทั้งนั้นเลย ในพระสูตรทุกสูตรเลย แต่ว่าแล้วแต่เหตุปัจจัย

    ผู้ฟัง แล้วแต่ความเข้าใจด้วย ใช่ไหม ถ้าอย่างใน มหานามสูตร ในเรื่องของเครื่องอยู่ ที่เป็นอนุสติ ๖

    ท่านอาจารย์ อนุสติ ๖

    ผู้ฟัง อย่างนั้น ก็ ถ้าเข้าใจ สามารถเจริญได้

    ท่านอาจารย์ ท่านพระมหานามเป็นใคร

    ผู้ฟัง พระอริยบุคคล

    ท่านอาจารย์ คุณประเชิญพูดถึง ปุถุชน หรือพระอริยบุคคล

    ผู้ฟัง ปุถุชน ถ้าเราจะมีเครื่องอยู่ของพระอริยบ้าง จะเป็นไปได้แค่ไหน

    ท่านอาจารย์ เป็นไปได้ ขณะนี้ เป็นไปได้ไหม ที่เรากำลังระลึกถึงพระธรรม แล้วก็พระปัญญาคุณ ไม่ใช่ว่าเราต้องไปท่องอะไรเลย ขณะใดที่ระลึกถึงธรรม จะโดยขั้นไตร่ตรอง หรือว่าโดยการระลึกลักษณะของสภาพธรรม ขณะนั้นเป็นอนุสติ หรือเปล่า หรือว่าเราต้องไปท่อง พระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาคุณ โดยที่ขณะนั้นไม่รู้ลักษณะ ของสภาพธรรม

    ท่านใดที่สนใจ ศึกษาพิจารณา เข้าใจธรรม ประโยชน์ที่สำคญที่สุดคือรู้ว่า การฟัง จุดประสงค์คือเพื่อ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ จะโดยวิธีใดก็ได้ ไตร่ตรอง หรือว่าอ่านซ้ำไปซ้ำมา สนทนาธรรม หรืออะไรก็ได้ แต่เพื่อเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมให้ถูกต้อง เพื่อที่จะเป็นปัจจัยให้ รู้ยิ่ง หรือรู้ชัด ในลักษณะของสภาพธรรม ทั้งหมดเป็นเรื่องที่ต้องคิด ต้องไตร่ตรอง แม้แต่ว่าธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือธรรมที่รู้ยิ่งแล้วพึงรอบรู้ คือไม่ข้ามพยัญชนะ ค่อยๆ ไตร่ตรองว่า ธรรมที่รู้ยิ่ง เรามีความมั่นคงจริงๆ หรือเปล่า ว่าได้แก่ ธรรม ที่เราจะใช้คำว่า ขันธ์ ๕ แต่ถ้าไม่ใช้คำว่าขันธ์ ๕ ก็คือสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ใช่หรือเปล่า ที่ควรจะรู้ยิ่ง เพราะว่าถ้าไม่รู้สิ่งที่ปรากฏในขณะนี้ จะรู้อะไรได้ นี่ต้องไตร่ตรองจนกระทั่ง เราไม่หลงทาง ไม่ผิดทาง จะรู้จริงๆ ว่า ปัญญาคือขณะที่สภาพธรรม นั้นเกิดขึ้น แล้วเข้าใจถูกต้อง ในสิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริง ไม่คลาดเคลื่อนไปจากสิ่งที่ปรากฏในขณะนี้ คือไม่ใช่ไปคิดถึงสิ่งที่ยังไม่มาถึง หรือว่าสิ่งที่ผ่านไปแล้ว แต่สิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ เป็นธรรมที่พึงรู้ยิ่ง พึงรอบรู้หรือเปล่า ถ้ามีความมั่นใจ เราก็สามารถที่จะอบรมเจริญปัญญาต่อไปได้ ว่าไม่ใช่ธรรมอื่น แต่ต้องเป็นเดี๋ยวนี้ แล้วก็ไม่ใช่ขั้นคิดด้วย เพราะว่าปัญญาที่เกิดจากการฟัง ด้วยโสต ปัญญา ไม่ใช่ความไม่รู้ ไม่ใช่ว่าเพียงฟัง แต่ว่าเมื่อได้ยินได้ฟังแล้วไตร่ตรอง จนกระทั่งเป็นความเห็นที่ถูกต้อง เป็นปัญญาจริงๆ เมื่อรู้ว่าขณะนี้ เป็นสิ่งที่พึงรอบรู้ แล้วจะอยู่เฉยๆ ไหม

    ผู้ฟัง ก็ไม่เข้าใจก็ต้อง ลุกขึ้นมาถาม นี่แหละ

    ท่านอาจารย์ มิได้ หมายความว่ารู้ ละว่าขณะนี้ สิ่งที่ปรากฏทางตาต้องรอบรู้ สิ่งที่ปรากฏทางหูก็ต้องรอบรู้ ทุกอย่างที่ปรากฏในชีวิตประจำวันก็ต้องรอบรู้ ถ้ารู้อย่างนี้แล้วจะอยู่เฉยๆ ไหม หรือยังคงเป็นจะต้องรอบรู้ จะต้องรอบรู้ แต่ยังไม่รู้ แต่สามารถที่จะเข้าใจได้ ต้องมีหนทางแน่นอน ที่จะรู้ได้ เพราะว่าสิ่งนี้มีจริง แล้วก็กำลังปรากฏด้วย แล้วหนทางนั้นจะไม่ใช่เพียงขั้นฟัง เพราะว่าพระพุทธศาสนาจากการตรัสรู้ ไม่ใช่จากการประมวลความคิด เหตุผล แล้วก็ทรงแสดง แต่จากการประจักษ์ เพราะฉะนั้น ก็ต้องมีหนทาง ที่จะอบรมเจริญปัญญาจนสามารถประจักษ์ได้ จึงทรงแสดงธรรมที่เป็น ๑ ไม่เป็น ๒ คือไม่ เป็นอย่างอื่น ผิดจากความจริงไม่ได้ อันนี้คงไม่สงสัยเรื่องสภาพธรรม ที่มีในขณะนี้ เป็นสิ่งที่ควรรอบรู้ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ เพียงแต่คิดว่าควรละ

    ท่านอาจารย์ สมุทัย นี้ก็ตรงกับอริยสัจ ๔ อริยสัจที่ ๑ คือ ทุกขอริยสัจ สิ่งที่ปรากฏในขณะนี้ เกิดดับ นี้คือทุกขลักษณะที่ ต้องรู้ แล้วสมุทัย ก็คือโลภะ เป็นสิ่งที่ควรละ ถ้าไม่ใช้คำว่า ภวตัณหา ยังมีตัณหาอื่นไหม ที่ละก่อน ที่เกิดร่วมกับความเห็นผิด จนกระทั่งถึงโลภะซึ่งไม่ได้มีความเห็นผิด เกิดร่วมด้วยก็ต้องละด้วย แล้ววิธีละก็ต้องมีอีก ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ อยู่เฉยๆ มีใครจะละได้ไหม พอบอกว่าพึงละ ไม่มีทางเลย ด้วยความเป็นตัวตน แต่ต้องเป็นการอบรมเจริญปัญญาเท่านั้น ที่จะละได้ ธรรมที่รู้ยิ่งแล้วพึงให้เจริญได้แก่อะไร ถ้าเจริญก็ต้องเป็นมรรค คือ สติปัฏฐาน

    ผู้ฟัง แต่ก่อนจะถึงมรรคก็ มันก็ยังมีขั้นอื่นๆ อีก

    ท่านอาจารย์ ขั้นรู้ยิ่ง แน่ใจจริงๆ ว่าไม่ใช่ทางอื่น

    ผู้ฟัง แล้วศีลไม่บริสุทธิ์ จะถึงขั้นมรรคไม่ได้

    ท่านอาจารย์ แล้วขณะไหนบริสุทธิ์ แล้วขณะไหน ไม่บริสุทธิ์ ต้องมีเหตุมีผลทั้งหมดเลย ขณะที่ฟังมีศีล หรือเปล่า

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ ไม่มีการก้าวล่วงทุจริตทางกาย ทางวาจา แล้วถ้าขณะใดที่เป็นกุศล ขณะนั้นก็คือว่าเว้น ไม่มีทุจริตใดๆ เลยทั้งสิ้น แต่บริสุทธิ์หรือยัง

    ผู้ฟัง ยัง

    ท่านอาจารย์ จะบริสุทธิ์เมื่อไร อบรมเจริญปัญญา ขณะนั้นไม่มีความเป็นเรา จนกว่าจะถึงทิฏฐิวิสุทธิ เพราะเหตุว่าศีลวิสุทธิ จิตตวิสุทธิ เป็นบาทของทิฏฐิวิสุทธิ แต่จริงๆ แล้ว ในขณะนั้นเอง ที่สติสัมปชัญญะเกิดระลึก ลักษณะของสภาพธรรม ขณะนั้นก็เริ่มต้นของการที่จะอบรมปัญญาที่จะรู้ ว่าเป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม วิสุทธิจากความเป็นเรา

    ผู้ฟัง ขอบพระคุณมาก

    ผู้ฟัง ธรรมที่รู้ยิ่งแล้ว พึงรอบรู้ เป็นไฉน คือ อุปาทานขันธ์ ๕ อุปาทานขันธ์ ๕ อันนี้ คือความเป็นตัวเป็นตน ใช่ไหม นี่คือคำถามที่ ๑ คือเรายึดตัวเราว่าเป็นเรา ยึดทุกอย่างในขันธ์ ๕ ทั้งหมดว่าเป็นของเรา เป็นเรา แล้วก็ไม่ใช่เป็นอัตตาด้วย เพราะฉะนั้น ที่คุณสุกิจถามเมื่อกี้นี้ สิ่งที่จะละอันแรกคือ สักกายทิฏฐิ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นตัวตนซึ่งเป็นสักกายทิฏฐิ เป็นต้นก่อน ใช่ไหม อันนี้

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่า ถ้ายังมีอุปาทานก็คือว่า ยึดขันธ์ ๕ ว่าเป็นเรา

    ผู้ฟัง เมื่อยึดขันธ์ ๕ ว่าเป็นเราแล้ว ท่านจึงแสดงว่า สิ่งที่ควรละอันแรก คือ สักกายทิฏฐิ นั่นก็หมายความว่าเราจะต้องละ อุปาทานขันธ์หรือ

    ท่านอาจารย์ ละอุปาทาน ละขันธ์ ๕ได้ไหม

    ผู้ฟัง ถ้ายังเป็นบุคคลอยู่ ก็ยังไม่สลัดออก

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ละอุปาทานที่ยึดถือ ขันธ์ ๕ ว่าเป็นเรา อุปาทานขันธ์ ๕ ก็รู้ ใช่ไหม ว่าได้แก่อะไรบ้าง คงไม่มีใครไม่รู้เลย ใช่ไหม รูปขันธ์ เวทนขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ รู้ยิ่งหรือยัง

    ผู้ฟัง ก็ไม่รู้ เพราะมันยังเป็นของเรา

    ท่านอาจารย์ ที่พีงรอบรู้ ไม่ใช่รู้อื่น จะต้องเป็นอุปาทานขันธ์ ๕

    ผู้ฟัง บางคนก็ใช้ นะ รอบรู้ เขาบอกทำปริญญา ดิฉันก็ไม่รู้จะทำอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ที่นี้เราก็ต้องพิจารณา ว่ามีขันธ์ ๕ ที่ยึดถือว่าเป็นเรา ใช่ไหม ขณะนี้ เพราะฉะนั้น เมื่อมีการยึดถือขันธ์ ๕ ว่า เป็นเราจริงๆ นี่คือรู้ยิ่ง ว่าขณะนี้เรายึดถือขันธ์ ๕ ว่า เป็นเรา เป็นตัวตน มีความมั่นใจจริงๆ ว่า เราไม่เคยรู้ขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น อย่างไรๆ กำลังเห็นนี้แหละ ก็คือเรา กำลังได้ยินก็คือเรา

    เมื่อมีความรู้ยิ่ง ว่าขันธ์ ๕ นี่แหละ พึงรอบรู้ หรือว่าพึงรอบรู้ขันธ์ ๕ หมายความว่าจะต้องอบรมเจริญปัญญา ที่จะประจักษ์ลักษณะของขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริง จึงจะชื่อว่า รอบรู้ เพราะว่าถ้ายังไม่รอบรู้ก็คือ เพียงแต่รู้ว่าเป็นสิ่งที่ควรรู้ยิ่ง หรือว่าอุปาทานขันธ์ ๕ นี่แหละ ไม่ใช่รู้อย่างอื่น แต่มีความเข้าใจที่ถูกต้อง แต่โดยชื่อ ว่าจะต้องรู้อุปาทานขันธ์ ๕ รู้ยิ่งว่าเป็นอุปาทาน แต่รู้ยิ่งโดยชื่อ หรือว่าโดยรู้สึกจริงๆ ว่าเรายังไม่ได้พ้นจาก การยึดถือขันธ์หนึ่งขันธ์ใดเลย ไม่ว่าจะเป็นกำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังคิดนึก ทั้งหมดเรายึดถือว่าเป็นเรา อยู่ตลอด นี่คือความรู้ยิ่ง ในขันธ์ ๕ ที่เรายึดถือว่าเป็นเรา

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 103
    25 มี.ค. 2567