ปกิณณกธรรม ตอนที่ 623


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๖๒๓

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๔๕


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น กว่าจะถึงวันนั้น แม้ว่ามีการฟังแล้วเราก็รู้ว่า สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา การสะสมความเข้าใจธรรมก็ จะทำให้กุศลจิตเกิด แล้วก็สามารถที่จะรู้หนทางที่ถูกต้อง ที่จะทำให้ปัญญาสามารถประจักษ์อริยสัจจธรรมได้ ข้อสำคัญที่สุด คืออย่าหลงทาง แล้วก็อย่าเข้าใจผิดในหนทางปฏิบัติ

    ผู้ฟัง อาจารย์บอกว่า อย่าหลง ใจจริงดิฉันก็ไม่อยากหลง แต่มันก็เกิดตามเหตุปัจจัย ใจเขาก็ไม่อยากไปทางผิด เขาก็นึกตรงนั้นถูก อันนี้เราจะตัดสินใจอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ถ้าต้องเป็นผู้ที่ไม่ประมาทพระธรรม ประมาทสักนิดหนึ่งก็ไม่ได้เลย พระธรรมเป็นเรื่องที่ลึกซึ้ง และต้องประกอบด้วยเหตุผลครบถ้วน อย่างขณะนี้มีธรรม แค่นี้เราก็ต้องไตร่ตรอง กำลังปรากฏ แล้วปัญญาจะรู้อะไร ถ้าปัญญาไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วปัญญาจะรู้อะไร ถ้ามีสิ่งที่กำลังปรากฏแล้วจะรู้ เพราะอะไร ไม่ใช่เพราะความเป็นเรา ที่ต้องการจะรู้ หรือพยายามจะรู้ แต่ต้องมีปัญญาที่สามารถจะรู้ ขณะที่สติเกิดกับขณะที่หลงลืมสติ เพราะ ๒ ขณะนี้ต่างกัน ถ้าไม่รู้ความต่างกันของ ๒ ขณะก็เจริญปัญญาไม่ได้เลย

    ผู้ฟัง เหตุปัจจัย บังคับบัญชาไม่ได้ คล้ายๆ กับว่าบังคับทางให้เขาเดิน ทั้งๆ ที่เขาก็ไม่อยากจะเดิน แต่เหตุการณ์บังคับอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ ตามการสะสม แต่ละคนที่นั่งอยู่ที่นี่ สะสมมาต่างกัน ความคิดต่างกัน ความเข้าใจธรรมต่างกัน ความสนใจต่างกัน อาจจะคล้ายคลึงกัน แต่มากน้อยต่างกันอีก เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องเฉพาะตัวของแต่ละคน ซึ่งจะต้องไม่ประมาท อย่างสัจจญาณในอริยสัจ ๔ หรือว่า อริยสัจ ๔ มี ๓ รอบ คือ สัจจญาณ กิจจญาณ กตญาณ ทำไมทรงแสดงไว้ ทรงแสดงไว้เพื่อให้เห็นว่าผู้ที่ไม่มีปัญญาเลย ไม่มีญาณะแม้แต่ขั้นต้น คือ สัจจญาณ ก็ไม่สามารถที่จะอบรมเจริญปัญญา ที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นเหตุผล คนที่ไม่รู้อะไรเลย แล้วก็ไปนั่ง แล้วก็ไปทำสมาธิ แล้วก็คิดจะถึงนิพพาน ก็หมายความว่า คนนั้นไม่รู้ว่านิพพานคืออะไร แล้วก็ไม่รู้ว่าปัญญาคืออะไร ไม่รู้ว่าปัญญารู้อะไร ต้องศึกษาโดยละเอียด แล้วไม่ประมาท อย่างสัจจญาณ ปัญญาที่รู้ความจริงของอริยสัจ ๔ คือ ทุกขอริยสัจ จะไปหาทุกข์ที่ไหน ถ้าไม่ใช่ขณะนี้ ทั้งๆ ที่ขณะนี้เป็นทุกข์ก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้น จึงต้องฟังแล้วฟังอีก ฟังแล้วฟังอีก เพื่อให้รู้ว่าขณะนี้ มีธรรมที่จะศึกษาให้ค่อยๆ เข้าใจ ลักษณะนั้นให้ถูกต้อง อย่างนี้ก็ไม่หลงทาง

    ผู้ฟัง เพราะว่าเขาต้องเคยหลงทางมาแต่ปางก่อน มันถึงเป็นเหตุปัจจัยให้เขาต้องเดินหลงทาง

    ท่านอาจารย์ คงจะไม่พูดถึงอัญเดียรถีย์ คนอื่น แต่ละท่านเองต้องพิจารณาตนเอง ถ้าหลงทางทำอย่างไร คุณอรรณพ

    วิทยากร. ถ้าหลงทาง แล้วไม่มีโอกาสได้ยินพระธรรม ก็คงจะหลงทางไปเรื่อยๆ แต่ว่าถ้ามีโอกาสได้ฟังพระธรรม ก็รู้ว่าหนทางที่จะออกจาก ความหลงทาง คืออะไร

    ท่านอาจารย์ คนที่หลง ไม่รู้ใช่ไหม จึงหลง ถ้ารู้แล้วไม่หลง เพราะฉะนั้น คนที่หลงทาง เขาจะประพฤติปฏิบัติ อย่างไร ที่คนอื่นทราบ หรือรู้ว่า เขาหลงทางแล้ว

    วิทยากร. ก็ต้องด้วยความเข้าใจผิด ด้วยความเห็นผิดประการต่างๆ ก็คือไปหาวิธีการ ที่เขาคิดว่าจะไปสู่หนทางที่ถูกต้อง แต่จริงๆ แล้ว เต็มไปด้วยความเห็นผิด การเข้าใจผิด สีลัพพตปรามาสประการต่างๆ

    ท่านอาจารย์ ต้องไม่ประมาท ต้องรับฟัง ความคิดเห็นของคนอื่น ต้องศึกษาพระธรรม โดยละเอียดรอบคอบ ก็มีทางเดียวคือ รู้ว่าตัวเองไม่สามารถที่จะเข้าใจพระไตรปิฎก และอรรถกถาได้โดยตลอด เพียงลำพัง ต้องอาศัยหลายคนช่วยกัน ผู้ที่ศึกษาธรรมร่วมกันต้องเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว ในการที่จะศึกษาเพื่อละกิเลส แล้วก็เพื่อที่จะเผยแพร่พระธรรมที่ถูกต้อง โดยการที่ต่างรับฟังความเห็นพร้อมทั้งหลักฐาน แล้วในครั้งอดีตก็มี กติกา เวลาที่ท่านจะสนทนากัน ท่านก็ให้สัญญากันก่อนว่า สิ่งใดถูกก็ต้องยอมรับว่าถูก สิ่งใดผิดก็ต้องยอมรับว่าผิด ตามหลักฐาน และตามเหตุผล แม้แต่เวลาที่ท่านพระนันทกะ ถึงเวรหรือเวลาที่ท่านจะไปแสดงธรรมกับภิกษุณี ท่านก็กล่าวอย่างนี้

    ผู้ฟัง พูดถึงเรื่องทุกข์ อยากให้ท่านอาจารย์ ช่วยขยายความ

    ท่านอาจารย์ คุณประเชิญขยายหน่อยได้ไหม

    วิทยากร. ที่จริงทุกข์ ท่านแสดงโดยหลายนัย ทุกขอริยสัจ แต่ถ้าทุกขอริยสัจ จำแนกโดยเวทนา ทุกขทุกข์ ท่านหมายถึงความไม่สบายกาย และความไม่สบายใจที่เป็นไปทางใจ อันนี้เป็นทุกขทุกข์ วิปรินามทุกข์ เป็น สุขเวทนา ที่แปรปรวนไปเป็นวิปรินามทุกข์ ส่วนสังขารทุกข์ ถ้าเป็นเวทนา จะต้องอุเบกขาเวทนา ส่วนอย่างอื่นก็เป็นสังขารทุกข์ เช่นเดียวกัน ใช่ไหม

    ส.ทั้งหมด

    วิทยากร. ทั้ง จิต เจตสิก รูป

    ท่านอาจารย์ คุณสุรีย์มีทุกข์ไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ รู้ทุกข์ไหม

    ผู้ฟัง รู้บ้าง ไม่รู้บ้าง

    ท่านอาจารย์ นี่คือความต่าง ทุกคนยอมรับว่าสภาพธรรมเกิดแล้วก็ดับ เพราะฉะนั้น ก็เป็นทุกขลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้ แต่ต้องรู้ด้วยปัญญาที่สมบูรณ์ คือ ประจักษ์แจ้งจริงๆ ไม่อย่างนั้นก็เป็นแต่เพียงคำที่เราจำ แล้วก็คำที่เรากล่าว แล้วคำที่เราคิด ว่าขณะนี้ เป็นอย่างนั้น แต่ว่ายังไม่ได้ประจักษ์ พระธรรมคำสอนไม่ใช่เพียงแต่ให้เรา เข้าใจ แต่สามารถที่จะอบรมเจริญปัญญาถึงขั้นที่ประจักษ์แจ้งได้เป็นลำดับ

    ผู้ฟัง สังขารทุกข์ ก็รวมทุกขทุกข์ กับ วิปรินามทุกข์ด้วย คือเป็นทุกข์ที่เกิดตามเหตุปัจจัย เหตุใดท่านจึงต้องแจงออกมาเป็น ๓ ทุกข์ แทนที่จะบอกสังขารทุกข์อย่างเดียว

    ท่านอาจารย์ ทุกข์ไหนเห็นง่ายที่สุด

    ผู้ฟัง ทุกขทุกข์

    ท่านอาจารย์ อีกอย่างหนึ่ง ที่เห็นง่ายขึ้นมาอีกหน่อยหนึ่ง

    ผู้ฟัง วิปรินามทุกข์

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่เห็น

    ผู้ฟัง แต่ทั้ง ๒ อัน คือ สังขารทุกข์

    ท่านอาจารย์ ทั้งหมด ซึ่งเห็นยาก จะกล่าวโดยนัย ที่ว่าสังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ ไม่เว้นอะไรเลย ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ

    เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้วเรากำลงเรียนเรื่อง ชื่อ แต่ว่าสภาพธรรมทั้งหมดกำลังมีอยู่ ในขณะนี้ อย่างสังขารทุกข์ ก็เป็นในขณะ เดี๋ยวนี้เอง ที่เป็นสภาพธรรมที่เราเห็นว่ามี แต่ไม่ประจักษ์การเกิดดับ เพราะฉะนั้น ปัญญาก็จะต้องอบรมจนกระทั่งสามารถ ที่จะประจักษ์ได้ ถ้าสิ่งนี้เกิดจริงๆ ดับจริงๆ จะไม่รู้เลย หรือ ถ้าอบรมเจริญปัญญา

    ผู้ฟัง สรุปคือ การเกิดดับนั่นเอง

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง พระโยคาวจร มีจิตไม่คำนึงถึงกาย และชีวิต พึงสละวัตถุอันเป็นที่หวงแหนของตน เพื่อช่วยเหลือสัตว์ แม้ทั้งปวง จะหมายความว่าอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ในขณะที่มีปัญญาเกิด ก็สามารถที่จะรู้ได้ว่า อะไรมีประโยชน์ในชีวิต

    ผู้ฟัง เวลาปัญญาเกิดจะไม่คำนึงถึงกาย และชีวิตเลยหรือ

    ท่านอาจารย์ ในขณะนั้นก็รู้ว่า อะไรเป็นประโยชน์สูงสุด เวลาที่มีปัญญา

    ผู้ฟัง หมายความว่า รู้ว่าอะไร มีประโยชน์มากที่สุด

    ท่านอาจารย์ ผู้ที่เป็นพระโสดาบัน แล้วยังมีโลภะไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็ต่างกันแล้ว

    ผู้ฟัง ในข้อความตรงนี้ท่านกล่าวว่า ตลอดเวลา พระมหาสัตว์พิจารณาทุกๆ วันว่า วันนี้เรา จะสะสมบุญสมภาร หรือญาณสมภารอะไรหนอ อันนี้จะเป็นข้อเตือนใจแก่เราผู้ศึกษาตามอย่างไรบ้าง

    ท่านอาจารย์ หลายคนก็มีอัธยาศัย บางทีก็คิดว่า วันนี้จะทำอะไร ที่เป็นประโยชน์ ก่อนที่จะศึกษา บางคนก็มีอัธยาศัยอย่างนั้น จะทำความดีอะไรบ้าง จะเว้นไม่ดีอะไรบ้าง มีแค่นี้ก็ยังไม่พอ มีอะไรอีกที่จะต้องดีกว่านี้ได้ การศึกษามีประโยชน์ ที่ค่อยๆ ประพฤติปฏิบัติตาม จนกว่าสามารถที่จะดับกิเลสได้

    ผู้ฟัง ที่บอกว่าการเกิดขึ้นแห่งทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่ง จะพึงมีแก่สัตว์ทั้งหลาย พึงหวังการเกิดขึ้นแห่งทุกข์ทั้งปวงนั้นไว้ในตน อันนี้จะเกิด กับเราได้ ขณะไหน หรือว่าจะเกิดกับใครได้

    ท่านอาจารย์ บางทีเวลาที่เป็นโรคร้ายมากเจ็บปวดทรมานมาก ก็อาจจะเกิดความคิดว่า ขออย่าให้คนอื่น อย่าเป็นอย่างเราเลย ไม่ใช่ขอให้เขาเป็นเหมือนเรา กำลังปวดเจ็บแล้วก็ขอให้เขาเป็นเหมือนเราไม่ใช่แน่ แต่ต้องทั้งๆ ที่เจ็บปวด ขออย่าให้ใครได้ปวด เจ็บอย่างนี้เลย ขณะนั้นก็คล้ายๆ อย่างนี้ ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ในคำว่า โยคาวจร เป็นโยคีหรือเปล่า นอกเหนือจากที่ปัญญา จะไม่เกิดแล้ว ก็ไม่ใช่โยคี ในขณะนั้น คนนี้

    ท่านอาจารย์ ดิฉันก็เลยถามต่อไป ว่า โยคีหลงลืมสติบ้างหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นก็เข้าใจว่า ถ้าขณะที่เป็นกุศลจิต ซึ่งมีสติเกิดร่วมด้วย ถึงแม้จะไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วยก็เป็นโยคี

    ท่านอาจารย์ ที่จริงแล้ว ผู้ที่มีความเข้าใจถูก ก็เป็นผู้ที่มีความเพียร จะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตามแต่ แม้แต่ในการฟังเพื่อที่จะให้เข้าใจถูกต้องขึ้น แล้วเพื่อที่จะอบรมเจริญปัญญา เพราะรู้ว่า ไม่ใช่มีความเป็นตัวตนที่สามารถ จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ได้ แต่ต้องเป็นปัญญาที่มีความเข้าใจยิ่งขึ้นในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จากการฟัง และเข้าใจ แล้วไม่หลงลืม ก็จะเป็นการที่ปัญญาจะค่อยๆ เจริญขึ้น เพราะฉะนั้น ความเพียรเหล่านี้ ก็เป็นลักษณะของผู้ที่มีความเพียร แม้ว่าจะต้องมีการหลงลืมสตินี้แน่นอน จะไม่มีใครที่ไม่หลงลืมสติ นอกจากพระอรัหนต์ แม้กระนั้นก็ต้องเว้นวาระ ขณะที่เป็นจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ พวกนี้ใช่ไหม ที่สติก็ไม่ได้เกิด แต่ผู้ที่มีความเพียร ก็ไม่ได้ละทิ้งความเพียร ก็ยังเห็นเพียรฟังกัน ๑๐ ปีบ้าง ๒๐ ปีบ้าง แล้วก็เพียรอบรมเจริญปัญญา ด้วยการสนทนา ด้วยการแสดงธรรม ที่ได้อ่านมา ศึกษามา คุณอรรณพ คุณประเชิญ คุณวิชัย หลายท่าน ทุกคนนี้ ที่มีวิทยากรของเราเพิ่มขึ้นอีก นั่นก็เป็นด้วยความเพียร ที่จะเจริญกุศล เพราะฉะนั้น ท่านเหล่านี้ก็คงจะไม่ละทิ้ง ความเพียร เท่าที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ต่อไป ท่านก็คงจะกระทำอย่างนี้ ขณะนั้นก็เป็นผู้ที่มีความเพียร ในเรื่องของการที่จะอบรมเจริญปัญญา แต่แม้ว่าบางกาลจะหลงลืมสติ ก็เป็นของธรรมดา

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นก็หมายความว่า ผมฟังที่อ่านไปนี้ ผมเห็นว่ามีประโยค หลายประโยคที่นำหน้าด้วยคำว่า พึงๆ ๆ แล้วก็ท่านอาจารย์ได้กล่าวถึง เรื่องของความเพียร กับที่จะมาเกี่ยวข้องกับคำถามที่ว่า เป็นโยคีหรือไม่ ใครเป็นโยคีหรือเปล่า ตกลงว่าผู้ที่เป็นโยคี ก็คือผู้ที่ไม่หลงลืมสติ ในขณะที่หลงลืมสตินั้น ก็ไม่ใช่โยคี

    ท่านอาจารย์ ผู้มีความเพียรทำอะไร โยคีนี้ ผู้มีความเพียรทำอะไร

    ผู้ฟัง ความเพียรเจริญกุศล

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่นุ่งหนังเสืออยู่ในป่า อย่างนั้นก็ไม่ใช่แน่ ใช่ไหม

    ผู้ฟัง คือต้องนุ่งหนังเสือด้วย หรือ ต้องทำรูปแบบด้วย

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้อง ไม่ต้องเลย เพราะว่าไมใช่เรื่องของกาย แต่เป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญา ด้วยความเพียร แล้วก็ไม่ต้องไปนั่งที่ไหน ไม่ต้องไปนั่งทำความเพียรให้คนอื่นเห็นว่า กำลังเป็นโยคี ไม่ใช่อย่างนั้น

    ผู้ฟัง อย่างความเพียร ผมขออนุญาตขยายคำถามผมอีกนิดหนึ่งว่า ความเพียรนี้ ในขณะที่ท่านพระมหาสัตว์ ท่านทราบแน่ปัญญาท่าน ท่านมากมายมหาศาล ท่านทราบว่าสัมมาสัมโพธิญาณ นี่ก็คือว่าจะไปถึงซึ่ง ความเป็นพระอริยบุคคล ที่สามารถจะละอะไรต่างๆ ได้โดยที่รู้ ในขณะนั้นท่านยังไม่ได้เป็นพระอริยบุคคล แต่ท่านก็รู้ว่าพึงสละวัตถุที่หวงแหนของตนเพื่อช่วยเหลือสัตว์ทั้งปวง หรือแม้กระทั่งรู้ว่าการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ด้วยกาย หรือวาจาซึ่งต้องเป็นกุศลเท่านั้น ไม่ใช่ การกระทำอย่างหนึ่ง ด้วยกาย หรือวาจา ที่ไม่ได้เกี่ยวกับกุศลเลย นี่ก็ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นความคิดดีทำดีทั้งนั้นเลย

    ผู้ฟัง ท่านคิดขึ้นมาเอง ขณะนั้นท่านก็ มีเหตุ มีผล

    ท่านอาจารย์ มีการสะสมมา ที่จะเห็นประโยชน์ ของกุศลธรรม เดี๋ยวอีกนิดหนึ่ง คฤหัสถ์อย่างนี้ เป็นโยคีหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ แน่ใจหรือ

    วิทยากร. เป็นแน่นอน เพราะพระโยคาวจรที่พระพุทธโฆษาจารย์ ท่านพูดไว้ในอรรถกถามากมาย ก็คือผู้ที่ประกอบความเพียร และส่วนมากจะต้องเป็นผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน กับสมถกรรมฐาน จะเป็นวิปัสสนา กับสมถ เท่านั้น จะเป็นพวกโยคาวจร

    ท่านอาจารย์ มีใครกลัวเป็นโยคีบ้างไหม

    วิทยากร. ไม่ต้องไปไว้หนวด หรือไว้เครา ไปใส่หนังเสือ

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวก็ไม่อยากจะเป็น เดี๋ยวใครมาเรียกว่า โยคี ก็ตกใจ ใช่ไหม แต่เรียกหรือไม่เรียก ไม่ได้อยู่ที่ชื่อ เพราะฉะนั้น ถ้าจะมีใครเรียกใครว่าโยคี ไม่ได้หมายความว่าคนนั้นเป็นโยคีจริงๆ หรือเป็นโยคาวจรจริงๆ แต่ต้องเป็นผู้ที่มีปัญญา และก็คงจะต้องมีความมั่นคงด้วย ไม่ใช่เพียงแต่นิดๆ หน่อยๆ แล้วก็จะเป็นโยคี แต่หมายความว่า ต้องเป็นผู้ที่มีความมั่นคง

    ผู้ฟัง คำว่า พึง พึงนี้ก็คงจะมาจาก ความตั้งใจที่จะประกอบความเพียร ซึ่งความเพียรที่เกิดขึ้นคงจะเป็นเรื่องของ พระธรรมซึ่งเป็นสภาพธรรม ตรงนี้มันเป็นลักษณะคล้ายๆ กับว่า ถ้าเราเข้าใจ ซึ่งคำว่า พึง ผิดก็เป็นว่าทำอย่างนั้นสิ ทำอย่างนี้สิ ถูกหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ จริงๆ ในพระไตรปิฎก ก็จะมีธรรมที่เป็นฝ่ายกุศล และฝ่ายอกุศล พึงเจริญฝ่ายไหนเหมือนกับทวน โดยการที่รู้ว่าเป็นเหตุ เป็นผล แต่ไม่ใช่สั่ง สั่งไม่ได้ แต่แสดงเหตุ และผลไว้ให้ชัดเจน

    ผู้ฟัง คำว่า โยคี มันก็เป็นขณะจิต เหมือนกับ พาล กับ บัณฑิต ถ้าเผื่อเป็น พาล ในคนๆ เดียวกัน ขณะจิตบางขณะจิตก็เป็นพาล บางขณะจิตก็เป็นบัณฑิต เพราะฉะนั้น ดิฉันคิดว่า โยคีนี้ก็เหมือนกัน ขณะจิตบางขณะจิตก็เป็นโยคีได้ เราไม่ได้ไปนุ่งหนังเสืออยู่ในป่า นั่งอยู่ตรงนี้ก็เป็นได้ในขณะจิตนั้น แต่บางขณะจิตก็ไม่ใช่ มันแล้วแต่สภาพธรรม ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วเรากลัวศัพท์ หรือว่าเราอาจจะไม่เข้าใจความหมายพอ แล้วอีกอย่างหนึ่ง เราก็เอามาใช้ในภาษาไทย ที่ฟังดูก็น่ากลัว อย่างไปเจอโยคีในป่า ก็รู้สึกว่า จะต้องเป็นบุคคลที่อาจจะทำอะไรที่ไม่เหมือนคนทั้งหลายในเมือง อันนี้ก็เป็นความเข้าใจของคนไทย ในภาษาที่เอามาใช้ แต่จริงๆ ตามรูปศัพท์ ผู้ประกอบความเพียร ถ้าเป็นผู้ที่ศึกษาธรรม เข้าใจธรรมแล้ว ถึงเราจะไม่ใช้คำว่าโยคี หรือโยคาวจร แต่ความประพฤติเป็นไปอย่างนั้นหรือเปล่า เพราะฉะนั้น เรื่องศัพท์ก็ไม่ใช่เป็นปัญหาที่เราจะต้องมาตัดสิน คนนี้เป็นโยคี คนนั้นไม่ใช่เป็นโยคี หรืออะไรอย่างนั้น แต่หมายความว่า เวลาที่มีความเพียรที่จะกระทำกุศล มั่นคง ขณะนั้นก็เป็น ผู้ที่กล่าวได้ว่าเป็นผู้ที่ประกอบ ความเพียรหรือจะไม่กล่าวว่า คนนั้นไม่ใช่ประกอบก็ไม่ได้ ใช่ไหม เมื่อไม่สามารถจะกล่าวว่าคนนั้น ไม่ประกอบความเพียรไม่ได้ ก็เกี่ยวกับศัพท์เท่านั้นเอง ว่าเราจะใช้คำนี้ หรือไม่ใช้ คำนี้ก็เหมือนกัน

    ผู้ฟัง ได้สนทนาธรรมกับท่านผู้ร่วมสนทนาท่าน ๑ ในด้านที่ว่าผู้ที่ถือศีล ๕ ได้บริสุทธิ์ คงจะต้องเป็นพระโสดาบัน แล้วท่านก็แย้งว่า ที่จริงอย่างท่าน ไม่ได้ล่วงศีลอะไรอย่างเช่น ข้อ ๑ ก็ไม่ได้ล่วงศีล ข้อ ๒ ข้อ ๓ ข้อ ๔ ก็ไม่ได้ไปพูดปดอะไร ข้อ ๕ ดื่มน้ำเมา ก็ไม่ได้ดื่ม อย่างนี้จะมีแค่พระโสดาบันที่ถือศีล บริสุทธิ์ได้อย่างไร แต่คิดว่าคงจะต้องมีล่วงอะไรบ้าง

    ท่านอาจารย์ วันนี้ไม่ล่วง ต่อไปล่วงได้หรือเปล่า ถ้าคุณธรรมยังไม่ใช่ คุณธรรมของพระโสดาบัน

    ผู้ฟัง แต่ถ้าล่วงน้อยมาก นานๆ ที

    ท่านอาจารย์ ยังมีกิเลสอยู่ วันหนึ่งวันใดก็ล่วงได้

    ผู้ฟัง ก็แสดงว่าแม้แต่น้อยนิดก็ จะถือว่าไม่บริสุทธิ์

    ท่านอาจารย์ ยังมีเหตุ ที่ทำให้ล่วงได้

    ก่อนจะถึงเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน ก็เป็นเรื่องที่ทุกคนก็คงจะระลึกถึงพระกรุณาคุณ ที่ได้ทรงแสดงพระธรรม แม้แต่เทวดามาทูลถาม ซึ่งคำถามพวกเราจะคิดอย่างนี้หรือเปล่า ถ้ามีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ประทับอยู่ เราจะไปเฝ้า แล้วทูลถามว่า โลกอันอะไรหนอดักไว้แล้ว จะไปถามอย่างนี้หรือเปล่า หรือว่าจะไปถามอย่างอื่น เพราะว่ายุคนี้สมัยนี้ พอไปที่สำนักก็จะถามว่า จะปฏิบัติอย่างไร แต่นี่เทวดา แล้วก็ทูลถามว่า โลกอันอะไรหนอดักไว้แล้ว รับรองได้ว่า ถ้าไม่เคยฟังสูตรนี้ ไม่มีใครคิดจะถามเรื่องนี้เลย ใช่ไหม

    แต่น่าคิดไหม โลกอยู่ที่ไหนอย่างไร ถ้าไม่ศึกษาธรรมโดยละเอียด เราไม่สามารถที่จะเข้าใจโลกจริงๆ ได้ แม้แต่คำว่า โลก ยังไม่ต้องไปทูลถามที่ไหนเรื่องอะไรต่อไปเลย เพียงแต่คำว่า โลกคำเดียว ก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ เพราะว่าทุกคนเกิดมาก็เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก คิดนึกเรื่องโลกหรือเปล่า หรือคิดนึกเรื่องอะไร ธรรมสำหรับไตร่ตรอง สำหรับเข้าใจ สิ่งที่มีจริงๆ ซึ่งถ้าไม่มีการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่มีใครสามารถที่จะเข้าใจโลกอย่างถูกต้อง ถ้าเป็นพวกภูมิศาสตร์ ก็จะเข้าใจโลกแบบหนึ่ง โลกของคนแต่ละคน ก็เป็นแต่ละอย่างไป แต่ว่าผู้ที่ตรัสรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ทรงแสดงธรรม ซึ่งถึงที่สุดโดยการตรัสรู้ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าผู้ถามจะเป็นใคร คำตอบก็จะได้ฟัง คำที่ทำให้เข้าใจความหมายของสิ่งนั้นจริงๆ เช่น คำว่า โลก พอจะนึกออกไหม ผู้ที่ได้ฟังธรรมาแล้ว โลกคืออะไร

    วิทยากร. ก็ต้อง โลก ๓ สังขารโลก สัตวโลก แล้วก็โอกาสโลก แต่ถ้าในสูตรนี้แล้ว ก็ต้องหมายถึงตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แน่นอน

    ท่านอาจารย์ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ พูดสั้นๆ แค่นี้ ก็ยังต้องฟังอีกนาน กว่าจะรู้ความหมายจริงๆ เพราะว่าตามศัพท์ ของโลก็คือ สภาพธรรมที่แตกดับ โล-กะ แล้วใครบ้างเล่า ที่วันนี้จะคิดเรื่องสภาพธรรมที่แตกดับ ตั้งแต่ก้าวเข้ามาในห้องนี้ มีใครคิดเรื่องสภาพธรรมที่กำลังแตกดับบ้าง นี่แสดงให้รู้ว่า ความไม่รู้ ความไม่เข้าใจธรรม ของเรา มากน้อยแค่ไหน

    ถ้ายังไม่ได้ศึกษาธรรม ยังไม่ได้ฟัง โดยละเอียดก็จะคิดว่า เราพอจะรู้จักธรรม ได้ยินได้ฟัง ที่โน่น ที่นี่ ที่นั่นบ้าง แต่ว่าถ้าจะให้เข้าใจจริงๆ ก็ต้องศึกษาจริงๆ โดยละเอียด แล้วก็โดยลึกซึ้ง แล้วก็โดยเป็นความเข้าใจสิ่งที่กำลังมี ตามความเป็นจริงด้วย

    เพราะฉะนั้น โลกคือสภาพธรรม ที่กำลังแตกดับ เพียงแค่นี้ ต้องคิดไหม อะไรกำลังแตกดับในขณะนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างที่มี ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ ว่าเป็นสภาพธรรมที่เกิดแล้วดับ แต่ต้องค่อยๆ คิด ถ้าสภาพธรรมนี้ ไม่เกิด จะปรากฏไหม ก็ไม่มีอะไรจะปรากฏเลยสักอย่าง แต่อะไรก็ตามที่ปรากฏ หมายความว่าต้องเกิด

    สภาพธรรมที่เกิด ในขณะนี้ ผู้ที่ตรัสรู้ ตรัสรู้ถึงการดับ หรือการสิ้นไป เมื่อเกิดแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างสภาพธรรมใดๆ ก็ตาม ที่เกิดแล้วจะไม่ดับ ไม่มี แต่ว่าดับเร็วจนกระทั่งต้องอาศัย พระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ตรัสรู้ ทรงแสดงโดยละเอียด ให้ผู้ที่ฟังค่อยๆ พิจารณา ค่อยๆ เข้าใจ ค่อยๆ รู้ว่าความจริงเป็นอย่างนี้ ขั้นการฟัง แต่ว่าสิ่งใดที่ได้ฟังแล้ว เข้าใจว่าจริง เท่านั้นไม่พอ เพียงแต่ว่าขั้นฟัง แล้วก็คิดตาม แล้วก็เข้าใจ แต่ต้องถึงขั้นที่สามารถจะประจักษ์ความจริง คือสภาพธรรม ที่กำลังเกิดดับ จึงจะเข้าใจความหมายของโลกได้ มิฉะนั้นโลกก็คือโลกที่คิด ต่างคนก็ต่างคิด แต่ว่าจริงๆ แล้วในขณะนี้ สิ่งใดก็ตามที่กำลังปรากฏ สิ่งนั้นเกิดแล้วก็ดับ สิ่งนั้นๆ เป็นโลกทั้งหมด อันนี้พอจะมาถึงตัวเองได้หรือยัง ขณะนี้เห็น เป็นโลกหรือเปล่า คือ การศึกษาธรรมอย่าเผิน เพราะเหตุว่าถ้าเผิน เราก็เข้าใจเผิน แล้วไม่สามารถที่จะรู้ว่า ความจริงแล้วลักษณะนั้นๆ ที่แท้จริง เป็นอย่างไร

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 103
    25 มี.ค. 2567