ปกิณณกธรรม ตอนที่ 601


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๖๐๑

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๔๕


    ท่านอาจารย์ นี่ก็คือการเรียนเรื่องสภาพธรรม ซึ่งมีจริงๆ เป็นอย่างนี้จริงๆ จากการตรัสรู้ พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ต้องรู้สัจธรรมเหมือนกันหมด ไม่ใช่รู้อย่างอื่น ที่ฟังไปฟังมาก็เชื่อ ๙๐ เปอร์เซนต์ ว่าอบรมเจริญปัญญาไม่ต้องไปสู่สำนัก แต่ก็ยังมีสำนักซึ่งคิดว่ามีประโยชน์ เพราะว่าหลายคนไป ทีนี้ไปแล้ว รู้อะไร สมถะ คืออะไร มีแต่ชื่อ ถ้าไม่เรียน แต่ถ้าเรียนแล้วจะรู้ทุกคำว่าได้แก่ สภาพธรรมอะไร เพราะฉะนั้น เราจะไม่ใช้คำที่ไปจำมา เขาว่าสมถะ เราก็สมถะ เขาว่าวิปัสสนา เราก็วิปัสสนา เขาว่าสติปัฏฐาน เราว่าสติปัฏฐาน อย่างนั้นไม่ใช่ความรู้ของเรา

    การศึกษาพระธรรมประโยชน์ สูงสุดคือ ทำให้สาวกคือผู้ฟัง สามารถเกิดปัญญาความรู้ที่ถูกต้อง ของตัวเอง มีธรรมเป็นสรณะ เป็นที่พึ่ง ซึ่งธรรมนี้มาจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น ผู้ใดที่รู้ธรรม มีธรรมเป็นที่พึ่ง ผู้นั้นก็มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งด้วย เพราะว่าถ้าพระองค์ไม่ตรัสรู้ พระธรรมไม่มี แต่การที่จะรู้จักพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ต่อเมื่อได้ฟังพระธรรม ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม พระพุทธรูปเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือเปล่า คิดว่าเป็น

    แต่ถ้าไม่รู้ว่าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสรู้อะไร พระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาคุณ คืออะไร ถ้าไม่รู้อย่างนี้ ก็ไม่รู้จักพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็เข้าใจว่าพระพุทธรูปเป็นพระพุทธเจ้า แล้วถ้าไม่มีผู้ที่รู้ตามพระองค์ เช่น ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ ท่านพระสารีบุตร ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านพระอรหันต์ทั้งหลาย ซึ่งได้กระทำสังคายนา สืบทอดมาจนกระทั่งจารึกเป็นพระไตรปิฎก เป็นสาวกเป็นผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรมตาม สาวกที่นี้ พระสงฆ์หมายควาามถึงอริยสาวก ไม่ใช่หมายความถึงผู้ที่เป็นพระภิกษุธรรมดา แต่หมายความถึงผู้ที่มีปัญญารู้แจ้งตาม เป็นรัตนะ มี ๓ รัตนะ ถ้าเป็นภิกษุที่ไม่ใช่พระอริยสงฆ์ ก็ไม่ใช่เป็นรัตนะ แต่นี่เป็นพุทธรัตน ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ

    เพราะฉะนั้น เมื่อมีพระธรรมคำสอน จารึกมาถึงเรา ได้เข้าใจความจริงเมื่อไร ขณะนั้นก็จะเข้าใจความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะได้ฟังพระธรรม แล้วก็เห็นคุณของพระสงฆ์ ซึ่งเป็นพระอริยสาวก ซึ่งท่านสืบต่อพระธรรมโดยถูกต้อง จนกระทั่งถึงสมัยที่เราสามารถที่จะได้ศึกษา ได้เข้าใจได้ถูกต้องด้วย

    เพราะฉะนั้น สำคัญที่ปัญญาของเรา ถ้าบอกว่า สมถะ ต้องตอบได้ สมถะ คืออะไร จึงจะเป็นปัญญา แต่ถ้าตอบไม่ได้ก็หมายความว่าเราไม่เข้าใจคำนี้ ใครจะไปทำอะไรที่ไหนอย่างไร เราก็ไม่มีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง แต่ถ้ามีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง สิ่งที่ใครทำนั้นเป็นสมถะหรือเปล่า เราก็สามารถที่จะเข้าใจได้ เป็นวิปัสสนาหรือเปล่า เป็นสติปัฏฐานหรือเปล่า เราก็สามารถที่จะเข้าใจได้ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าเมื่อใครทำ ตามๆ กัน แสนคน ล้านคนผิด เราจะต้องตามผิดไปด้วย ๑ คนที่ถูก ก็ยังเป็นความถูกต้อง ไม่ใช่เป็นความผิด เพราะสามารถที่จะอธิบาย สามารถที่จะเข้าใจในเหตุผล สามารถที่จะแสดงหนทางที่จะทำให้ผู้อื่น สามารถเกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ที่จะอบรมเจริญปัญญา รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ได้จริงๆ เพราะฉะนั้น ไม่มีปัญหา ที่ว่าถ้ามีคนที่ไปสู่สำนักต่างๆ แล้วก็บอกว่าสมถะบ้าง สติปัฏฐานบ้าง วิปัสสนาบ้าง เราเป็นผู้ที่จะต้องรู้ ไม่ใช่เป็นผู้ที่จะเชื่อตาม ว่าขณะนั้นการกระทำอย่างนั้นเป็นอะไร

    ผู้ฟัง ขออนุญาต เรื่องสมถกัมมัฏฐานก็ได้ศึกษา แต่เลยลองปฏิบัติแล้ว ก็ไม่ได้เชื่อ

    ท่านอาจารย์ ก่อนที่จะไปไหนทั้งหมด ถ้าเราจะคุยกัน ๓ ชั่วโมง โดยไม่รู้ว่าสิ่งที่เราคุยกันนี่เรื่องอะไร ก็ไม่ได้ไปถึงไหน ไม่ใช่ความเข้าใจที่แท้จริง เพราะฉะนั้น ถ้าตั้งต้นก่อน เราจะพูดเรื่องสมถะ ก็ต้องตั้งต้นว่า สมถะคืออะไร

    ผู้ฟัง ในความเข้าใจของผม สมถะ คือ ทำจิตให้ นิ่งแล้วก็เข้าสู่ฌาน หรือญาณอะไรนี่ ผมก็ไม่มีสติปัญญาที่จะมาอธิบายได้ เพราะว่า ศึกษาไม่มากนัก คือให้เราละกิเลส

    ท่านอาจารย์ ละกิเลส ละอย่างไร

    ผู้ฟัง อย่างปุถุชน การละกิเลสก็คือ การที่รู้ว่าทุกข์ คืออะไร

    ท่านอาจารย์ ทุกข์คืออะไร

    ผู้ฟัง ทุกข์ก็ ทุกข์กับสุข ก็คือทุกข์เหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ เวลานี้เดี๋ยวนี้ ความจริง ทุกข์เท่านั้นเกิด ทุกข์เท่านั้นตั้งอยู่ และเสื่อมสิ้นไป นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิด นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับ ที่เป็นพุทธวจนะ นี่เป็นข้อความที่ วชิราภิกษุณี กล่าวประมาณ แต่คำใดที่เป็นคำจริง ไม่ว่าใครจะกล่าว คำนั้นเป็นคำของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าแม้พระองค์จะตรัส พระองค์ก็ตรัสอย่างนี้ และผู้ที่ศึกษาตาม ปฏิบัติจนปัญญาเกิดตามรู้ตาม ก็จะกล่าวตรงกัน เพราะฉะนั้น ที่วชิราภิกษุณีกล่าวว่า ความจริง ทุกข์เท่านั้นเกิด ทุกข์เท่านั้นตั้งอยู่ และเสื่อมสิ้นไป นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิด นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับ พระอริยบุคคลกล่าวอย่างนี้ ท่านสอนให้ละ ให้รู้อย่างไร

    ผู้ฟัง ผมคงจะสรุปไม่ได้ ว่าเท่าไร เพราะว่า ยังแข้าใจน้อย

    ท่านอาจารย์ สมถะ เป็นภาษาบาลี แล้วภาษาไทยเราเอามาใช้ ในความหมายต่างๆ กันเหมือน บาดาล มาจากคำว่า บาตาละ แล้วก็ไม่รู้ว่าแปลว่าอะไร ไม่รู้อะไร เราก็เลยมาเรียกเมืองพญานาค เรียกอย่างนั้นหรือเปล่า ภาษาไทย เมืองบาดาล อยู่ใต้น้ำ ใช่ไหม

    นี่ก็หมือนกัน เห็นใครเรียบๆ ง่ายๆ ก็บอกว่า สมถะ แต่ว่าจริงๆ แล้ว สมถะคืออะไร ปัญญาทุกอย่างต้องตั้งต้น ถ้าเรายังไม่รู้ ไม่เข้าใจสิ่งนั้นจริงๆ ไม่มีทางที่เราจะรู้จริง ยิ่งขึ้น ไม่มีทางเลย เพราะฉะนั้น แต่ละคำที่ได้ยิน ต้องเข้าใจให้ตรง แล้วก็ถูก แล้วไม่คลาดเคลื่อน แล้วต่อไปเมื่อศึกษาเพิ่มเติมมากขึ้น ก็จะมีคำอธิบายที่จะทำให้คำนั้นกระจ่างขึ้นอีก จนกระทั่งเวลาที่อบรมเจริญปัญญา สามารถที่จะประจักษ์แจ้ง ความประจักษ์แจ้งนั้นเอง จะรู้ว่าทั้งหมดข้อความที่มีอยู่ในพระไตรปิฎก ตรงตามความเป็นจริง เพราะได้ประจักษ์ความจริงนั้น เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นต้องรู้ว่าสมถะ คืออะไรก่อน

    ผู้ฟัง อยากให้อาจารย์ ได้อธิบาย คำว่า สมถะ

    ท่านอาจารย์ สมถะ คือสงบ สงบคิดว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง ไม่พลุ่งพล่าน

    ท่านอาจารย์ อยู่คนเดียวเงียบๆ

    ผู้ฟัง ก็ไม่ไช่

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่หรือ ถ้าอย่างนั้นใครที่ไม่พลุ่งพล่านเวลานี้สงบ

    ผู้ฟัง ก็ในจิตใจนี่ ไม่พลุ่งพล่านก็มีความสงบ

    ท่านอาจารย์ คุณแก้ว กำลังนั่งอยู่ที่นี่ไม่พลุ่งพล่าน สงบไหม

    ผู้ฟัง จิตใจ เราไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ จิตใจ

    ผู้ฟัง จิตใจ เราไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ เราไม่ทราบ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีสติสัมปชัญญะ แม้จิตใจของตัวเอง ก็ไม่รู้ ว่าสงบหรือเปล่า เพราะว่าสัมปชัญญะ เป็นปัญญา ต้องเป็นปัญญาถึงจะรู้ได้ ถ้าไม่ใช่ปัญญาพร้อมสติ ระดับสติสัมปชัญญะ ก็รู้ไม่ได้แต่เดาได้ เรียกชื่อได้ คิดได้แต่ไม่รู้จริงๆ เพราะว่าสภาพธรรมเกิดแล้วดับเร็วมาก ขณะที่เกิด ดับแล้ว เราก็ไปนั่งคิด เรื่องชื่อ ลักษณะนี้ต้องเป็นอย่างนี้ อย่างนั้น แต่ความจริงลักษณะนั้นเกิดแล้วดับแล้ว สมถะ คือสงบจากอกุศลธรรม จากโลภะ โทสะ โมหะ เพราะฉะนั้น ต้องเป็นกุศล เวลาที่ให้ทาน จิตสงบไหม

    ผู้ฟัง บางทีก็สงบ บางทีก็ไม่สงบ แต่ว่าตอนให้ จะสงบ ถ้าเรามีความตั้งใจ

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่สงบก็คงจะสละสิ่งที่เป็นประโยชน์ สุขแก่คนอื่นไม่ได้ เพราะยังมีความติดข้อง ต้องสงบ ขณะนั้นไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ จิตจึงเป็นกุศลได้

    เพราะฉะนั้น การศึกษามีประโยชน์ ที่จะทำให้รู้ว่า จิตของแต่ละคน ของทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ในโลกนี้ หรือโลกไหน เกิดดับเร็วมาก จิตหนึ่งขณะมีอายุเท่ากัน คือ อุปาทขณะ ฐีติขณะ ภังคขณะ แบ่งเป็น ๓ ขณะย่อยได้ ในขณะที่เกิดดับอย่างเร็ว ก็ยังสามารถที่จะรู้ความต่าง ของ อุปาทขณะ ฐีติขณะ และภังคขณะ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่รู้จริงๆ ด้วยสติสัมปชัญญะ เราก็จะไม่รู้ว่าแม้ขณะที่ให้เป็นกุศลจิต ขณะนั้นสงบ แต่สั้นมาก เล็กน้อยมาก เพราะว่าวันนี้ ทานกุศลมีบ้างหรือยัง มีน้อยหรือมาก กุศลก็ไม่ใช่มีแต่เฉพาะในเรื่องของทาน การสละวัตถุ เพื่อประโยชน์สุขของคนอื่น

    ขณะที่มีกายวาจา ที่สงบจากอกุศล ที่เราใช้คำว่า ศีล มีทั้ง วาริตศีล คือ วิรัติทุจริต และ จาริตศีล คือการประพฤติสิ่งที่ควรประพฤติ เพราะว่าเรามีทั้งนาม และรูป ไม่ได้มีแต่นามอย่างเดียว เราไม่ได้มีแต่จิต กับ เจตสิกเรามีรูป ด้วย เพราะฉะนั้น รูปเป็นทางแสดงออกของจิต และเจตสิก โดยที่เราอาจจะไม่ทราบ เราเดินไปเดินมา รูปเคลื่อนไหวไปเพราะอะไร จิตประเภทไหน ช่วยบอกเราเดินไป เดินมา ไม่มีจิตเดินได้ไหมไม่ได้ แต่เวลาที่เดินไป เดินมา ด้วยจิตชนิดไหน ปกติด้วยจิตชนิดไหน

    ผู้ฟัง อันนี้ไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ กุศล หรือ อกุศลแคบเข้ามาอีก ใช่ไหม คือการที่เราจะรู้จักสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะทรงแสดงไว้ทั้งหมด ในพระไตรปิฎก และในอรรถกถา พร้อมที่จะให้ผู้ที่เป็นสาวก ผู้ฟัง ติดตามศึกษาให้เข้าใจถูก ไม่เข้าใจผิด มีพระธรรมเป็นสรณะจริงๆ เพื่อที่จะได้มีพระรัตนตรัยเป็นสรณะ จริงๆ ไม่ใช่มีคนโน้นคนนี้ ซึ่งเราเดาหรือเราคิด ว่าจะเป็นสรณะ หรือเป็นที่พึ่งของเรา แต่ต้องเป็นพระธรรม

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าขณะไหนที่กุศลจิต ซึ่งเป็นไปในทานบ้าง ศีลบ้าง เกิดขึ้นวันหนึ่งๆ เล็กน้อยมาก หมดแล้ว เวลาที่จิตเป็นกุศล เป็นไปในทาน เป็นไปในศีล จิตเป็นอะไร

    ผู้ฟัง อกุศล

    ท่านอาจารย์ อกุศลใช่ไหม แต่ผู้ที่มีปัญญา สามารถจะรู้ได้ ความมีปัญญาของเขาเห็นโทษของความติดข้อง ในรูปในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ทำให้กระทบกับสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ทำให้จิตติดข้องทันทีในสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นไปอย่างรวดเร็วมาก เกินกว่าใครจะยับยั้งได้ ต้องเป็นผู้ที่มีปัญญาเท่านั้น ที่จะเห็นโทษว่าวันนี้ โลภะ ติดข้องมากเท่าไร ก็ติดกันทุกคน มากด้วยแต่ไม่รู้เลยสักคน ว่ามากแค่ไหน แล้วก็เพิ่มขึ้นอีกด้วย ทางตาก็ติด ทางหูก็ติด ทางจมูกก็ติด ทางลิ้นก็ติด ทางกายก็ติด ทางใจก็ติด ทุกขณะไป ที่ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่วิบาก ไม่ใช่กิริยา เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ นับไม่ถ้วน นานมาก ตั้งแต่เช้าจนถึงเดี๋ยวนี้

    ผู้ที่จะทำให้เราเข้าใจสภาพธรรม จนปัญญาค่อยๆ รู้ความจริง จนสามารถที่จะละความติดข้องได้ มีผู้เดียว คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ต้องฟังคำสอน แล้วเราจะรู้ได้เลยว่า นี่เป็นคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะสอนเรื่องสิ่งที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีปัญญามาก ก็จะเจริญกุศลอีกระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นความสงบของจิต แต่ถ้าไม่มีปัญญาก็ไม่สามารถที่จะอบรม ความสงบของจิตให้ตั้งมั่นคงได้ ถ้ามีใครที่ทำให้เราเสียหาย โกรธไหม

    ผู้ฟัง โกรธ

    ท่านอาจารย์ แล้วความโกรธดีไหม

    ผู้ฟัง ไม่ดี

    ท่านอาจารย์ ถ้ามีปัญญาเห็นว่าไม่ดี จึงสามารถที่จะคลายความโกรธได้ หรือละความโกรธได้ แต่ถ้าไม่มีปัญญา

    ผู้ฟัง ละไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ตอนนี้ก็มีเรื่องจริง ในชีวิตประจำวันของทุกคน มีเรื่องที่ต้องโกรธเวลาดูโทรทัศน์ ว่ากันใหญ่ ว่า ว่า ว่า ว่ากันใหญ่ ขณะที่ว่า กุศล หรืออกุศล

    ผู้ฟัง อกุศล

    ท่านอาจารย์ พระพุทธเจ้า สอนให้มีอกุศล หรือเปล่า แต่ก็ยังดูทีไรก็ว่า ว่า ว่ากันอย่างนั้นทุกที แล้วดีไหม คือถ้าเอาชื่อออกหมด เหลือแต่สภาพธรรมล้วนๆ จะเป็นผู้ตรง ขณะนั้นเป็นอกุศลแน่ แล้วก็เพิ่ม อกุศลขึ้นมากๆ ด้วย แต่ถ้ามีปัญญา ไม่จำแป็นต้องว่าใคร หรือโกรธใคร เพราะเหตุว่าแต่ละคน เป็นโลกแต่ละใบจริงๆ แล้วก็เอาเรื่องที่เกิดจากตา หู จมูก ลิ้น กาย มาเก็บ มารวม มาคิด จนกระทั่งว่า ว่า ว่า ว่า นี่ก็คือทำอกุศลอยู่เรื่อยๆ โดยที่ว่าไม่เห็นโทษเลย แต่ว่าคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จะไม่ให้เกิดอกุศล

    คนที่จะเจริญสมถภาวนา ต้องเห็นโทษของอกุศล แล้วรู้ว่าโทษมากที่สุด ที่มากในวันหนึ่งๆ คือโลภะ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะฉะนั้น เขาก็จะรู้หนทางที่เมื่อตรึกถึงอารมณ์อะไร ก็จะทำให้จิตสงบระงับจากอกุศล เช่น พุทธานุสติ หรือ ธัมมานุสติ หรือสังฆานุสติ หรือมรณสติ หรืออะไรก็ได้ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา นี่ก็สามารถจะเป็นสิ่งที่เกิดได้ในชีวิตประจำวัน ใครอยากจะเกิดตอนดูโทรทัศน์บ้าง ไม่มีใครตอบเลย ยังอยากเหมือนเดิม ช่วยกันด้วย

    ผู้ฟัง สิ่งที่ตัดได้ คือไม่ดู

    ท่านอาจารย์ ไม่ดู ก็คิด หนีไม่พ้นเลย

    ผู้ฟัง คิดนี้ คงช่วยไม่ได้ แต่ว่า ต้องคิดในทางที่ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แนะนำไว้ เช่น การท่องมนต์ท่องคาถา ผมก็เห็นว่า แม้แต่คนท่อง เขาไม่รู้เรื่อง เขาก็ยังมีเวลาที่หยุดไปคิดสิ่งที่ไม่ดี อันนี้ผมก็เห็นด้วยกับเขา

    ท่านอาจารย์ อันนี้ต้องเป็นเรื่องที่ละเอียด เพราะเหตุว่า อกุศลมีหลายอย่าง อกุศลที่จะต้องละก่อน คือความเห็นผิด เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่ต้องศึกษา และต้องเข้าใจ และต้องพิจารณา พระธรรมที่เข้าใจแล้ว จะทำให้ เป็นผู้ตรงขึ้น แต่ถ้าศึกษาเพียงเรื่องราวก็ไม่เป็นผู้ตรง เพราะว่าไม่ได้เข้าใจธรรมจริงๆ ก็คงจะตอบทุกข้อ เหลือข้อชาติหน้าก็คงค่อยๆ เชื่อแล้วใช่ไหม หรือว่าถึงป่านนี้แล้วก็ยังไม่เชื่อเรื่องชาติหน้า

    ผู้ฟัง ผมไม่ได้ คือเชื่อ แต่ว่า จะเป็นจริง หรือไม่จริงอีกเรื่องหนึ่ง แต่ตอนนี้เชื่อแล้ว

    ท่านอาจารย์ แล้วจะเชื่อ จริงๆ ได้เมื่อไร ว่ามีชาติหน้า

    ผู้ฟัง ก็จะต้อง ศึกษาเจริญสติปัญญาขึ้นอีก

    ท่านอาจารย์ ถ้าประจักษ์การเกิดดับของจิต จะไม่มีความสงสัยเลย เพราะเหตุว่ามรณะ มี ๓ อย่าง ขณิกมรณะ สิ่งที่เกิดแล้วต้องดับ ดับ ดับเลย ที่เกิดใหม่ก็ไม่ใช่อันเก่า แต่มีปัจจัยสืบต่อจากอันเก่า ที่ทำให้ขณะนี้จิตแต่ละขณะเกิดดับสืบต่อกัน ถ้าประจักษ์การเกิดดับก็จะรู้ได้ ชาติก็เป็นการสมมติ เพราะว่าจิตอย่างไรๆ ก็เกิดดับอยู่แล้ว ทันทีที่จุติจิต คือ จิตขณะสุดท้ายของชาตินี้ดับ ก็เป็นปัจจัยให้จิตต่อไปเกิดเหมือนเดี๋ยวนี้ จิตขณะนี้ดับ ก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด ฉันใด จิตขณะสุดท้ายดับ ก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปซึ่งเป็นขณะแรกของชาติหน้าเกิดฉันนั้น ไม่มีต่างกันเลย เพราะฉะนั้น สังสารวัฏ ไม่มีหยุด

    เห็นอย่างนี้ สืบต่อมาในแสนโกฏิกัปป์ ชาติก่อนมาถึงชาตินี้ ห่างกันเท่าไร ก็เดาเอาตามอายุ ก็ถอยไปจนกระทั่งถึงจุติจิต แล้วก่อนนั้น ก็ต้องมีเห็น มีได้ยิน และถ้าวันนี้เป็นอดีตของชาติหน้า คือหมายความว่า ถ้ามีใครเสียชีวิตเดี๋ยวนี้ พรุ่งนี้ แล้วแต่เขาจะเกิดที่ไหน ตายบุ๊ปเกิดบั๊ป ก็แล้วแต่ว่าจะเกิดเป็นอะไรก็ เห็นอีก ก็ไม่ได้ห่างกันเลย ไม่ว่าจะเป็นเห็น หรือเป็นได้ยิน ก็เป็นอย่างนี้แหละไม่จบสิ้น

    เพราะฉะนั้น ความคิดของคนธรรมดา กับความคิดของผู้ที่เป็นพระโพธิสัตว์ต่างกัน พระโพธิสัตว์ คิดถึงว่าสภาพธรรม ใดจะสามารถดับการเกิด ซึ่งมีปัจจัยจึงเกิดได้ ไม่ใช่ไม่สามารถจะดับได้ จิต เจตสิก รูป กิเลสทั้งหลาย ที่มีสามารถที่จะดับได้แต่ ต้องด้วยปัญญา ที่รู้จริงๆ ในสภาพธรรมนั้นจน ละคลายความติดข้อง แล้วก็ไม่มีการยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เพราะฉะนั้น เราอาจจะคิดเรื่องเกิด ถ้าตายจะเกิดที่ไหน แต่ไม่ได้คิดเรื่องดับไม่ต้องเกิดอีกเลย เพราะว่าทุกข์เท่านั้นเกิด ทุกข์เท่านั้นตั้งอยู่ และเสื่อมสิ้นไป นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิด นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับ ทุกคำเป็นความจริง

    ผู้ฟัง ผมใคร่จะเรียนถามท่านอาจารย์ ในเรื่องนี้ ก็เรื่องของการที่ได้โสดาบัน สกทาคามี อนาคามี พระอรหันต์ ผมก็มองเมื่อก่อนนี้ก็มองไม่ออก เมื่อเรามาปฏิบัติ คือเรามามีสติปัญญาในเรื่องนี้มากขึ้นก็มองเห็นว่า มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ ค่อยๆ ละไป ทำให้ผมเชื่อว่าในการที่เขาแบ่ง เมื่อคนตายแล้วไปเกิดเป็น เทวดาชั้นที่ ๑ ถึงชั้นที่ ๖ รูปพรหม อรูปพรหม เนื่องจากว่าการละในชั้นที่ปฏิบัติเป็นมนุษย์ อยู่นี้ อันนี้ อาจารย์จะมีข้อสั่งสอนอย่างไร

    ท่านอาจารย์ กุศลมีหลายระดับ กุศลที่เป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็ทำให้เกิดในภูมิที่มีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แล้วในภูมิที่ดี ถ้าเป็นผลของกุศลที่สูงกว่าระดับนั้น เป็นระดับของฌานจิต ก็ไปเกิดเป็นพรหมที่มีรูป หรือว่าถ้าเป็นระดับของฌานจิตซึ่ง ไม่มีรูปเป็นอารมณ์ก็ไปเกิดในอรูปพรหมภูมิ

    ผู้ฟัง ทำให้มีความเชื่อมั่นมากขึ้น แต่ยังไม่ร้อยเปอร์เซนต์

    ท่านอาจารย์ จนกว่าอะไร

    ผู้ฟัง จนกว่าปัญญา

    ท่านอาจารย์ ปัญญาของเราเองจะประจักษ์แจ้ง แต่คำสอนนี้แน่นอน คำสอนทุกข้อ คัดค้านไม่ได้เลย เพียงแต่ว่าเราจะเข้าใจคำนั้น มากน้อยแค่ไหนเท่านั้นเอง

    ผู้ฟัง ผมอ่านแล้วผมก็ยังอ่านไม่เข้าใจ ความจริง ทุกข์เท่านั้นเกิด ทุกข์เท่านั้นตั้งอยู่ แล้วเสื่อมสิ้นไป นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิด นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับ มันเหมือนกับมันค้านกันหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ไม่ หมายความว่าสิ่งที่เกิด ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ต้องดับ สิ่งที่เกิดดับเป็นทุกข์

    วิทยาการ. ความจริง ภพเท่านั้นเกิดขึ้น สิ่งทั้งปวง มันเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปจึงเรียกว่า เป็นทุกข์ ทุกข์ในที่นี่ก็คืออุปาทาน ขันธ์ ๕ นั่นเอง ไม่นอกจากนี้ พระองค์ตรัสไว้ในปฏิจจสมุปบาท อุปาทานขันธ์ เป็นทุกข์

    เพราะฉะนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ อุปาทานขันธ์ การเกิดขึ้นเฉพาะรูปอย่างเดียว หรือนามอย่างเดียว หรือทั้งรูปทั้งนามก็ตาม การเกิดขึ้นนั้น เป็นทุกข์ คือ ทนได้ยาก ลำบาก ทุกข์ ทนไม่ได้ ใครๆ ก็ทนไม่ได้ ท่านเรียกว่าทุกข์ แต่ขณะนั้นอาจเป็นโสมนัสเวทนาก็ได้ แต่ว่ามันเปลี่ยนไป นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิด นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับ คือ นอกจากขันธ์ ๕ อุปาทาน นอกจากอุปาทานขันธ์ ๕ แล้วไม่มีอะไรเกิด สัตว์ทั้งหลาย คือ อุปาทานขันธ์ ๕ นั่นเอง เป็นทุกข์ทุกวันนี้ คือ อุปาทานขันธ์ ๕ ถ้าเราไม่มีอุปาทานขันธ์ ๕ ก็เป็นพระอรหันต์ ถึงว่าทุกข์จะมี ก็มีทุกข์ที่เป็นวิบากเท่านั้น วิบากเก่า ทุกข์ที่เกิดจากกิเลสไม่มี เรียกว่าทุกข์กายที่เกิดจากวิบากเก่ามี จะเป็นใครก็แล้วแต่เแม้พระพุทธเจ้า ก็ยังมีทุกข์ที่เป็นวิบากของเก่า ประพฤติมาแล้ว ปฏิบัติมาแล้ว มานาน แต่ทุกข์ที่เกิดจากกิเลสไม่มี

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 103
    25 มี.ค. 2567