ปกิณณกธรรม ตอนที่ 615


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๖๑๕

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๔๕


    ท่านอาจารย์ ถ้าเราเข้าใจความหมายของเมตตาง่ายๆ คือ ความเป็นเพื่อน ซึ่งความเป็นเพื่อนก็หมายความว่า เป็นผู้ที่หวังดี พร้อมที่จะเกื้อกูล ไม่หวังร้าย ถ้าใครเป็นเพื่อนใครแล้วหวังร้าย พูดร้าย คิดร้ายทำร้าย นั่นคือไมใช่เพื่อน แต่ถ้าเป็นเพื่อนจริงๆ จะไม่มีความรู้สึกอย่างนั้น แม้ข้อความในพระไตรปิฎก ท่านก็กล่าวว่าไม่แข่งดี เพราะฉะนั้น ถ้าใครเกิดคิดแข่งดีเมื่อไรกับใคร รู้ตัวเองว่าไม่ได้เป็นเพื่อนกับคนนั้น เพราะว่าธรรมสำหรับใคร ที่ทรงแสดงไว้ทั้งหมด สำหรับประโยชน์ ของผู้ฟัง ผู้ไตร่ตรอง ผู้เข้าใจความจริง เพราะฉะนั้น การที่เราจะรู้ว่าเรามีเมตตามีโลภะ หรือมีอะไรต่างๆ เหล่านั้น ก็พอที่จะเปรียบเทียบได้ว่าสำหรับโลภะ แล้วเป็นความติดข้อง เมื่อเช้าคุณสุรีย์ ก็เห็นเด็กน่ารัก ใช่ไหม โลภะ หรือเมตตา

    ผู้ฟัง เมตตา

    ท่านอาจารย์ แน่ใจนะ

    ผู้ฟัง ก็ดิฉันก็ไม่ได้ใกล้ชิดกับคุณหนูนั้น ว่าจะต้อง แต่พ่อแม่นี่ มันลื่นไหล บางครั้งมันก็เป็นโลภะ บางครั้ง แต่ถ้าเผื่อเป็นคนอื่น มันเสมอกัน เราน่ารัก เมตตาเด็กคนนี้อ่อนโยน เรียบร้อย ดิฉันว่าเป็น

    ท่านอาจารย์ ไปรักไปแล้วหรือนั่นนะ

    ผู้ฟัง น่ารักเหมือนกัน น่ารักผิดกับพ่อแม่ ซึ่งบางครั้งพ่อแม่ก็ขณะจิตหนึ่ง ก็อาจจะเมตตา อีกขณะจิต มันเลื่อนไหลเป็นโลภะได้ คือยึดติดในความน่ารักน่าเอ็นดูของเด็ก

    ท่านอาจารย์ ไม่ทราบคุณสุรีย์ มีสัตว์เลี้ยงที่บ้านหรือเปล่า

    ผู้ฟัง มีตัวดิฉันก็คอยจะเมตตา

    ท่านอาจารย์ ก็รู้สึกได้เลยทันที ใช่ไหม ว่าขณะไหนเป็นเมตตา ขณะไหนเป็นความผูกพัน ถ้าเป็นโลภะแล้วต้องผูกพัน แต่ถ้าเป็นเมตตาจะไม่ผูกพัน

    ผู้ฟัง อันนั้นเข้าใจ แต่อันนี้ พูดถึงสัตว์น่ารัก เด็กที่น่าเอ็นดู น่ารัก ถ้าเอาความรู้สึกของคนอื่น ซึ่งเขาน่ารัก เด็กคนนั้น เมตตาเกือบจะ ๘๐ เปอร์เซนต์ มันไม่มีโลภะ มันมีเมตตา รู้สึกว่าเป็นคนน่ารักอย่างที่เราให้เขาได้ประโยชน์ อยากจะช่วยเหลือเขา แต่ถ้าเป็นพ่อแม่ มันมีบางขณะจิต ซึ่งเลื่อน ดิฉันอยากจะใช้คำว่า เลื่อนไหล หรือลื่นไหล จากเมตตาไปหาโลภะได้ง่าย ถ้าใช้คำว่า น่ารัก

    ท่านอาจารย์ ถ้ามีความติดข้องเมื่อไร ก็เป็นเหตุนำมาซึ่งทุกข์ อีกอย่างหนึ่ง ก็จะรู้ได้ก็ตอนที่เป็นทุกข์หรือเปล่า แต่นั่นก็ไกลไป เพราะว่า กว่าทุกข์จะเกิดถึงได้รู้ว่าขณะนั้นแท้จริงไม่ใช่เมตตา แต่เป็นโลภะ เพราะฉะนั้น ความรู้สึกที่ยากที่จะรู้ได้ ต้องเป็นปัญญาเท่านั้นที่สามารถจะรู้ได้ แม้แต่ความต่างขณะของกุศล และอกุศล

    ผู้ฟัง ในชีวิตประจำวัน เรานี้ก็หวั่นไหวไปเพราะรักบ้าง เพราะยินดีบ้าง ไม่ยินดีบ้าง ถ้าไม่ใช่ผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน หรือว่าผู้ที่มีปัญญาเจริญ จะเข้าใจตามข้อความตรงนี้ไหม

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วก็เป็นลักษณะของกุศลจิต เพราะเหตุว่าทั้งหมดก็เป็น ขณะที่เป็นทานบ้าง เป็นศึลบ้าง เป็นภาวนาบ้าง เพราะฉะนั้น เวลาที่มีการอบรมเจริญปัญญาแล้ว ก็แล้วแต่ว่าขณะนั้น มีปัจจัยที่จะทำให้สภาพธรรมใดเกิด ผู้ที่รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง ก็จะรู้จักตัวเองยิ่งขึ้น ว่าเป็นผู้ที่มีบารมีใดที่เพิ่มขึ้น หรือว่ายังขาดบารมีใด อย่างเรื่องของทานบารมี การให้ บางคนก็ไปคิดถึงการให้มากๆ การให้มากๆ การให้ใหญ่ๆ แล้วก็พยายามที่จะให้เป็นบารมี เพื่อที่จะได้ถึงการรู้แจ้ง อริยสัจจธรรม แต่ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ต้องเป็นผู้ตรงด้วย ขณะนั้นมีความหวัง มีความต้องการอะไรหรือเปล่า จึงทำ แต่ถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจธรรมจริงๆ ขณะนั้นถ้ามีที่จะให้ ก็ให้ แล้วก็ไม่เลือกบุคคลด้วย ไม่ว่าจะเป็นใคร จะให้น้อย จะให้มากก็แล้วแต่ ขณะนั้นมีปัจจัยอะไรที่จะให้ แต่ไม่ใช่เป็นผู้ที่ขวนขวายอย่างมาก ด้วยความหวัง หรือด้วยความต้องการ ซึ่งย่อมจะทำให้ตัวเองเดือดร้อน อันนั้นไม่ทราบว่าทุกคนคิดอย่างนี้หรือเปล่า เดือดร้อนหรือเปล่า ขณะที่คิดอย่างนั้น กับขณะที่ให้ ได้ ไม่ว่าจะมีอะไรก็ให้ เท่าที่จะให้ได้ แล้วก็ไม่เดือดร้อนเลย เพราะว่าแม้ขณะที่ให้ก็เพื่อประโยชน์สุขของผู้รับเท่านั้นจริงๆ คือธรรมเป็นเรื่องที่ตรง แล้วก็ในขณะนั้น เป็นธรรมที่เห็นประโยชน์สุขของคนอื่น จึงได้ให้ ไม่ได้มุ่งหวังสิ่งใดเพื่อตนเอง ขณะนั้นก็จะเป็นการที่จะสละละ ความต้องการเพื่อตัวเอง เพราะว่าความต้องการเพื่อตัวเอง ถ้าไม่เห็นจริงๆ แล้วไม่หมด ไม่ว่าจะทำอะไรทั้งนั้น แม้แต่กุศลบางคนก็หวังเพื่อตัวเอง หวังเกิดในสวรรค์ หวังลาภ หวังยศ หวังสรรเสริญ คือเป็นไปด้วยความหวัง แต่ถ้าเป็นกุศลจริงๆ ผู้นั้นก็จะรู้ตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรม เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ให้ทราบว่าประโยชน์จริงๆ ที่ได้รับจากการเข้าใจธรรม คือ การขัดเกลากิเลส จะมีการละ การคลาย แต่ไม่ใช่โดยรวดเร็ว หรือว่าไม่ใช่ด้วยความเป็นเราที่อยากจะหมดกิเลส เพราะว่าบางคน เรียนก็เรียนด้วยกิเลส เรียนแล้วก็รู้มาก แล้วก็อยากจะทำอะไรๆ ที่พยายามที่จะขัดเกลา ไม่ให้มีกิเลสเลย แต่ไม่รู้เลยว่า ขณะนั้น เป็นเราหรือเปล่า ที่กำลังหวัง หรือว่ากำลังพยายาม ถ้าเป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ คือ เข้าใจธรรมว่าเป็นธรรม แม้แต่เพียงคำนี้ เข้าใจธรรมว่าเป็นธรรม ลึกซึ้งลงไปถึงหัวใจระดับไหน เพราะว่าบางคน ก็ถามว่าเรียนแล้ว ทำไมยังมีโลภะ เรียนแล้วทำไมยังมีโทสะ เรียนแล้วทำไมยังมีริษยา ก็ทราบแล้วไม่ใช่หรือว่า ทุกอย่างเป็นธรรม เมื่อรู้แล้วว่าทุกอย่างเป็นธรรม ริษยาก็เป็นธรรม โลภะก็เป็นธรรมโทสะก็เป็นธรรม ทุกอย่างเป็นธรรม ซึ่งจะดับได้เมื่อถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ไม่ใช่ปัญหาเลย ที่มีตัวเราที่เรียนแล้วก็มานั่งคิดถึงตัวเรา ว่าทั้งๆ ที่เรียนแล้วทำไม มีโลภะ เรียนแล้วทำไมมีโทสะ เรียนแล้วมีอิสสา ก็เรียนแล้วว่าเป็นธรรม แล้วทำไม ไม่เข้าใจว่าทุกอย่างขณะนั้นเป็นธรรมจริงๆ

    การศึกษาธรรมต้องทราบว่า เพื่อประโยชน์ คือ ความรู้ ความเข้าใจชัด ลึก คม ที่ว่าไม่เข้าใจผิด แล้วก็จะรู้จักสภาพธรรม ที่เกิดกับตนตามความเป็นจริงไม่ใช่ว่าพอเรียนธรรมแล้วก็อยากจะหมดกิเลส แล้วก็พยายามหาทางที่จะหมดกิเลส ซึ่งขณะที่กำลังหาทางก็คือโลภะ ก็มองไม่เห็นโลภะเลย เรียนไป แล้วก็มีโลภะ ที่ละเอียดติดตามไป ก็ทำให้ไขว้เขว แล้วก็ไม่ได้ประโยชน์จริงๆ

    ผู้ฟัง ทานบารมี มีความถึงพร้อมด้วยภพ และความเจริญเป็นอาการปรากฏ อย่างนี้ไม่เข้าใจ ถึงพร้อมด้วยภพ และความเจริญ

    ท่านอาจารย์ เวลานี้ทุกคนเก็เกิดมาแล้วต่างกัน เป็นที่ดู สะท้อนถึงกรรมในอดีต ได้ไหม คนที่เกิดมาแล้วก็มีลาภ มียศ มีสรรเสริญ มีสุข มีฐานะ มีความมั่งคั่ง มีความบริบูรณ์ มีมิตรสหายดี สะท้อนถึงกรรมในอดีตหรืทอเปล่าว่า ถึงพร้อมด้วยภพ และความเจริญ เป็นอาการปรากฏ นี่คือผล

    เพราะฉะนั้น ทุกชีวิตที่เกิดมา ย้อนกลับไปถึงอดีตได้ โดยอาการที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้ ถ้าคนกำลังได้ลาภ ทราบไหมว่ามาจากไหน ถ้ากำลังเลื่อมลาภ ทราบไหมว่าเพราะอะไร ได้ยศ เสื่อมยศ เพราะอะไร กำลังเจ็บป่วย ทราบไหมว่าใครทำ ทำเอง ไม่มีใครทำให้เลย นี่คือการเข้าใจธรรมจริงๆ แล้วก็รู้ได้ว่า แม้จะมีพยัญชนะอย่างไร ก็สามารถที่จะรู้ได้ว่า สัตว์โลกเป็นที่ดูผลของกรรม และกรรมที่ได้ทำในชาตินี้ ซึ่งต่อไปก็จะต้องนำมาซึ่ง แล้วแต่เหตุ

    ผู้ฟัง คำว่า คม ชัด และลึก ทีละอย่างๆ สิ ยกตัวอย่างด้วย

    ท่านอาจารย์ เป็นเรื่องภาษา แต่ความหมายปัญญา คือ รู้ รู้นิด รู้หน่อยพอหรือยัง

    ผู้ฟัง ยัง

    ท่านอาจารย์ ชัดหรือยัง

    ผู้ฟัง ยังไม่ชัด

    ท่านอาจารย์ ลึกหรือยัง

    ผู้ฟัง ยังไม่ลึก

    ท่านอาจารย์ ก็ยังไม่คมด้วย ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ขอบพระคุณ

    วิทยากร. เรียนชื่อเรียนจำนวน ไม่คม แล้วก็ไม่ชัดด้วย ชัดมันต้องในขณะนี้ ธรรมมีในขณะนี้ เห็นก็เป็นธรรม สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นธรรม คุณวีณาคงฟังมามากๆ แล้ว แต่ไม่คมสักที ไม่ชัดสักที ยังวิ่งไปเอาชื่อเอาจำนวนอีก

    ผู้ฟัง ต้องรู้ชื่อรู้จำนวนก่อน แล้วถึงจะรู้ตัวธรรมได้

    ท่านอาจารย์ การเรียนหวังอะไร

    ผู้ฟัง หวังรู้ตัวธรรม หรือ ลักษณะ

    ท่านอาจารย์ หวัง ใช่ไหม หรือว่าการเรียนเพื่อเข้าใจจริงๆ ทุกอย่างที่เป็นการศึกษาไม่ว่าจะศึกษา เรื่องอะไรทั้งหมด เพื่อเข้าใจถูก ถ้าศึกษาพระธรรมก็คือเข้าใจพระธรรมถูกเท่านั้น ไม่ใช่ไปหวังอะไร เพราะถ้าหวังก็คือ โลภะที่ไม่รู้ตัวเลย สิ่งที่ชักจูงให้วนเวียนอยู่ในสังสารวัฏฏ คือโลภะ ซึ่งมองไม่เห็นแม้แต่เมื่อตรัสรู้ก็ทรงอุทานว่าได้พบนายช่างเรือน คือตัวโลภะ

    ผู้ฟัง ถ้าความจริงมันก็หวัง แต่ว่าอยากจะเข้าใจตัวธรรม

    ท่านอาจารย์ ต่อไปนี้ไม่ต้องหวัง เรียน เพราะว่ามีประโยชน์ แล้วยิ่งเข้าใจถูกต้อง ก็ยิ่งละความหวัง

    วิทยากร. คุณวีณา เข้าใจว่าธรรมอยู่ที่ไหน

    ผู้ฟัง อยู่ที่ขณะนี้ เดี๋ยวนี้ ก็รู้แค่เพียง แค่นี้

    วิทยากร. แล้วที่เรียนๆ ธรรม เรียนอย่างไร ฟังเพื่อจะให้รู้สิ่งที่มีอยู่จริงๆ

    ผู้ฟัง ใช่

    ผู้ฟัง ไม่ใช่ฟังเพื่อจะได้มากๆ

    ท่านอาจารย์ ที่ว่าได้มากๆ ได้ความเข้าใจ หรือได้อะไร

    ผู้ฟัง ได้เรื่องราว

    ท่านอาจารย์ เรื่องราวกับความเข้าใจ ต่างกัน หรือเหมือนกัน

    ผู้ฟัง ไม่เหมือนกัน เรื่องราว คือ เราเรียนไปตามที่เขาอธิบาย ให้ฟังแต่เข้าใจ ต้องเข้าใจอีกอย่างหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ มีลักษณะของสภาพธรรม กำลังพูดถึงเรื่องจริง ที่ทุกคนมี แล้วก็เวลาฟังแล้วก็พิจารณาแล้วก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้นในสภาพธรรมที่มีจริงๆ

    วิทยากร. มีอีกข้อหนึ่งที่ คุณวีณาเคยคุยกับผม มันทำให้ การเข้าไม่ถึงธรรม คมแล้วก็ชัด แล้วก็ลึก ก็คือว่าคุณวีณา บอกว่าคุณวีณายังไม่สามารถที่จะเลิกคลุกคลีด้วยหมู่คณะได้ ต้องคลุกคลีวันๆ อยากจะเพลิดเพลิน พระพุทธเจ้าบำเพ็ญบารมีมา ๔ อสงไขยแสนกัป เพื่อสอนภิกษุ ไม่ให้คลุกคลีด้วยหมู่

    ผู้ฟัง คุณอดิศักดิ์ เราก็ยังเป็นปุถุชน เราก็ยังมีเพื่อนบ้าน มีมิตรสหาย อะไรอย่างนี้ มันก็ธรรมดา แต่วีณา เลิกมาได้มากแล้ว

    วิทยากร. ค่อยๆ

    ท่านอาจารย์ ทีนี้ความคลุกคลี คืออะไร ถ้าพูดถึง ก็ต้องเข้าใจให้ชัดเจนด้วย ความคลุกคลี

    ผู้ฟัง ก็คบหาสมาคม ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ คบหาสมาคม แล้วก็ให้ละความคลุกคลีอะไร

    ผู้ฟัง ละ อกุศล ที่ในที่นั้นจะเกิดอกุศล

    ท่านอาจารย์ เราก็คงจะยาก มีใครบ้าง ที่ไม่มีอกุศลไปไหนก็ไปด้วยอกุศลกันทั้งนั้น ใช่ไหม ไม่มีโลภะจะไปไหม ที่นั้นๆ ก็ไม่ไป ใช่ไหม แต่อันตรายที่สุด คือ คลุกคลีกับความเห็นผิด อันนี้สำคัญมาก

    ผู้ฟัง ขอบพระคุณ

    ผู้ฟัง เรียนถาาอาจารย์สุจินต์ ที่บอกว่าอุเบกขาบารมี มีความเป็นไปในอาการที่เป็นกลาง เป็นลักษณะ อันนี้หมายถึง ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก ที่ว่าไม่มีอคติ แล้วก็เป็นกลางในอารมณ์ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ อุเบกขาบารมี ได้แก่ ตัตรมัชฌัตตตา ด้วย

    ผู้ฟัง ทั้งอุเบกขาบารมี และก็อุเบกขาพรมหวิหาร มีความเหมือนกัน และต่างกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เป็นเรื่องชื่อ เมื่อมีสัตว์ มีบุคคล ขณะนั้นก็เป็นอุเบกขาพรหมวิหาร แต่อุเบกขาพรหมวิหารก็เป็นบารมีด้วย ทุกอย่างที่เป็นกุศล เป็นไปเพื่อการถึงฝั่ง

    ผู้ฟัง แต่อุเบกขาบารมี ก็มีสัตว์ ที่มีกรรมเป็นของๆ คนเป็นเหตุใกล้ ให้เกิดนี่

    ท่านอาจารย์ โดยมากเรา จะไปนั่งคิดแต่เรื่องชื่อ ชื่อนี้เป็นอย่างไร ชื่อนั้นเป็นอย่างไร แล้วต่างกันอย่างไร แต่ตามความจริงแล้วสภาพธรรม ก็คือสภาพธรรม และเราก็จะรู้ได้ว่าขณะนั้น ที่เรามีความเป็นกลาง เป็นอุเบกขาบารมี เป็นอุเบกขาพรหมวิหาร ก็เป็นอุเบกขาบารมีนั่นเอง

    ผู้ฟัง ขอบพระคุณ

    ท่านอาจารย์ มีกุศลอะไรบ้าง ที่ไม่เป็นบารมี

    ผู้ฟัง แต่บารมี หมายถึง การถึงฝั่งไม่ใช่หรือ เพราะออกจากวัฏฏะ

    ส.ใช่ เพราะฉะนั้น กุศล ทุกอย่างเป็นบารมีได้ เมื่อมี ความเข้าใจที่ถูกต้อง

    ผู้ฟัง ในเหตุใกล้ให้เกิด หรือว่า ปทัฏฐานของอุเบกขาบารมี ท่านบอกว่า มีการพิจารณาความที่สัตว์มีกรรมเป็นของๆ ตนเป็นเหตุใกล้ให้เกิด ในการศึกษา หรือว่าพระพุทธศาสนา เริ่มต้นจริงๆ ก็คือว่า เชื่อในเรื่องกรรม และผลของกรรม เขาก็กล่าวกันมาอย่างนี้อยู่แล้ว ว่า คนที่เริ่มศึกษาหรือว่าเริ่มจะเข้ามาในทางพระพุทธศาสนา คือ เชื่อเรื่องกรรม และผลของกรรม ถ้าจะเป็นการพิจารณา ความที่สัตว์มีกรรมเป็นของๆ ตน ได้จริงๆ หรือว่าเข้าใจเรื่องกรรม และผลของกรรมได้ ละเอียดยิ่งขึ้น เข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น จะเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่ใช่คำพูดลอยๆ ว่าทุกคนมีกรรมเป็นของๆ ตน นี่เป็นความเข้าใจระดับ ๑ แต่ยังมีความเป็นตน สำหรับผู้ที่ไม่ได้ศึกษา สำหรับผู้ที่ไม่เข้าใจจริงๆ ว่าไม่มีตัวตน แต่ว่ามีปรมัตถธรรม เพราะฉะนั้น เวลาที่พูดว่าทุกคน มีกรรมเป็นของๆ ตน เวลานี้อะไรเป็นผลของกรรม ที่ว่าเป็นของๆ ตน เพราะว่าเมื่อมีกรรม ก็ต้องมีผลของกรรม แล้วผลของกรรมจะเป็นของคนอื่นได้ไหม นอกจากของผู้ที่ได้กระทำกรรมนั้น

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ในขณะนี้ อะไรเป็นผลของกรรม ของตนที่ได้กระทำแล้ว

    ผู้ฟัง มีเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัส

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ลอยๆ ว่าทุกคนมีกรรมเป็นของๆ ตน แต่ต้องรู้ว่าทุกขณะที่เห็น ได้ยินได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งทีกระทบสัมผัส นั่นคือผลของกรรม ซึ่งมีกรรมเป็นเหตุ ทำให้มีผลเป็นของๆ ตน ไม่ใช่ของคนอื่น นี้คือความเข้าใจขั้นปริยัติ คือขั้นฟัง แล้วมีใครบ้างไหม ที่กำลังเห็น รู้ว่านี่เป็นผลของกรรม หรือว่ากำลังได้ยิน รู้ไหมว่าเป็นผลของกรรม บางคนที่มีการฟังพอสมควร แล้วมีการระลึกได้ เวลาได้ยินเสียง ที่เขาทะเลาะกัน เขาไม่ได้ว่าคนที่ได้ยินเลย เขาว่าคนอื่น แต่หูของคนที่ได้ยินก็มีที่จะได้ยินเสียงนั้น เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นพอจะรู้ได้ไหมว่า เป็นผลของกรรมของเราเอง เขาไม่ได้จงใจจะว่าเราเลย แต่ก็มีกรรมเป็นเหตุที่จะให้ได้ยินเสียงนั้น นี่คือการเข้าใจธรรม ซึ่งค่อยๆ ใกล้ สิ่งที่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน ที่จะรู้ว่าขณะไหนเป็นกรรม ขณะไหนเป็นวิบาก ซึ่งเป็นผลของกรรม แต่สามารถที่จะรู้ชัดเจนกว่านั้นอีก เมื่อรู้ว่าขณะนี้ ที่กำลังเห็น เป็นสภาพธรรม ไม่มีใครสามารถที่จะสร้างได้เลย มีใครทำอะไรได้ ไหมกับเห็น จะให้เห็นสิ่งนั้น จะให้เห็นสิ่งนี้ จะไม่เห็นสิ่งนี้ จะไม่ให้เห็นสิ่งนั้น ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้เลย เมื่อมีจักขุปสาท มีตาซึ่งเกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน พร้อมที่จะมีการเห็น แล้วแต่ว่ากรรมนั้น จะให้เห็นสิ่งที่น่าพอใจ หรือไม่น่าพอใจ เป็นไปตามกรรม สิ่งใดก็ตามที่เป็นผลของกรรม ต้องมีกรรมเป็นเหตุ ทุกขณะไป ไม่สามารถที่จะกล่าวได้ว่าเกิดขึ้นมาลอยๆ หรือว่าเราเป็นคนทำให้เกิด ถ้าขณะนั้นเป็นสติปัฏฐาน ค่อยๆ ฟังเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงๆ แล้วไม่ต้องทำอะไรเลย เพราะเหตุว่าถ้าเป็นเราทำ ขณะนั้นจะปิดบังการที่จะรู้ว่าแม้ขณะนี้ ก็เป็นสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย

    แม้ขณะที่ฟัง ถ้าฟังพอสมควร แล้วมีความเข้าใจพอสมควร มีการอบรมพอสมควร จะมีการระลึกคือ เข้าใจลักษณะของธรรมที่กำลังปรากฏ ตรงตามที่เข้าใจ ทีละเล็กทีละน้อยก็ จะเห็นความต่างของเห็น กับจิตที่เกิด ภายหลังซึ่งเป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง เพราะฉะนั้น ก็เห็นความต่างกันของจิตที่เป็นผล กับจิตที่เป็นเหตุ นี่คือการที่จะรู้ว่ามีกรรมเป็นของๆ ตนแล้วก็รู้ว่าในขณะไหนจริงๆ มีความมั่นคง ในเรื่องของกรรมเพิ่มขึ้น

    ผู้ฟัง ตอนจะเข้ามาข้างใน มีเพื่อนนักศึกษาธรรม เขาถามผมว่า เราจะรู้ได้อย่างไรว่า สิ่งที่เราเห็นเกิดจากกุศลวิบาก หรือว่าอกุศลวิบาก เพราะว่าเขาบอกว่าเขาเห็นลูกสุนัข มันก็น่ารักดี นั่นมันเป็นกุศลวิบากหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ โดยมากพยายามที่จะรู้ว่า ขณะที่เห็น เดี๋ยวนี้ เป็นอะไร แต่ที่จริงที่พูดเมื่อกี้นี้ เห็นเป็นวิบาก เป็นผลของกรรม เพราะฉะนั้น เดี๋ยวนี้ที่กำลังเห็น จะรู้ไหมว่าเป็นกุศลวิบาก หรือกุศลวิบากเป็นผลของกรรมใด มีใครสามารถที่จะรู้ได้บ้างไหม คิด แต่ไม่ใช่รู้ นี่คือความต่างกันของรู้กับคิด ใครทรงแสดง เรื่องของกรรม เรื่องของวิบาก เรื่องผลของกรรมที่เป็นการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เพราะว่าถ้าไม่ใช่ศาสดาที่ตรัสรู้ก็จะพูดลอยๆ มีกรรมเป็นของๆ ตน เมื่อมีกรรมก็ต้องมีผลของกรรม ฟังดูก็ถูกต้อง ตรงตามเหตุ แต่ไม่ได้เจาะลึกว่า จริงๆ แล้วชั่วขณะที่เห็น รวดเร็วแค่ไหน ลองคิดดู มีจักขุปสาทซึ่งอยู่กลางตา เล็กมาก แล้วก็ไม่มีใครมองเห็นเลย แต่รูปนี้เป็นรูปพิเศษ ที่สามารถจะกระทบเฉพาะวัณณะรูป หรือวัณณะธาตุ ซึ่งเป็นสิ่งที่เมื่อกระทบแล้วก็ปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ในขณะนี้สิ่งที่กำลังปราฏทางตามีจริง แล้วสิ่งที่มีจริง ไม่ต้องไปเรียกอะไรเลยทั้งสิ้น แต่สิ่งนี้ก็ปรากฏแล้ว สั้นมาก แล้วถ้าศึกษาเรื่องของวิถีจิต จะทราบได้ว่า เมื่อจักขุวิญญาณคือจิตเห็นดับไปแล้วมีจิตอะไรเกิดสืบต่อ กว่าจะถึงความชอบหรือไม่ชอบ อกุศล หรือกุศล ในสิ่งที่กำลังปรากฏ ซึ่งขณะนี้เป็นไปอยู่ตลอดเวลาที่มีการเห็น แต่เมื่อเป็นผู้ไม่ตรัสรู้ หรือว่าไม่ประจักษ์แจ้งความจริงก็จะมานั่งคิดว่าที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ เป็นกุศลวิบาก หรืออกุศลวิบาก ทั้งๆ ที่รู้ไม่ได้ เพราะเหตุว่า จักขุวิญญาณกุศลวิบากดับไปก่อน แล้วถึงจะกุศลจิตหรือ อกุศลจิต เกิดทีหลัง จะเป็นอกุศลประเภทโลภะ หรือว่าจะเป็นอกุศลประเภทโทสะ ก็เกิดหลังจากจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณพวกนี้ แล้วใครจะรู้ได้ สิ่งที่ดับไปแล้ว

    ผู้ฟัง อย่างนั้นที่เราว่าเราเห็น ลูกสุนัข น่ารักก็ไม่ใช่แล้ว

    ท่านอาจารย์ โดยมากจะใช้ส่วนใหญ่เป็นเครื่องตัดสิน ว่าสิ่งที่ปรากฏขณะนี้ เป็นสิ่งที่ทุกคนพอใจ เพราะฉะนั้น จึงเป็นสิ่งที่น่าพอใจ จิตที่เห็นสิ่งที่น่าพอใจก็เป็นกุศลวิบาก

    ผู้ฟัง เป็นแต่เพียง

    ท่านอาจารย์ ประมาณ

    ผู้ฟัง ประมาณตามความรู้สึกของคนส่วนใหญ่

    ท่านอาจารย์ แต่ถ้ารู้จริงๆ ต้องเป็นขณะที่จิตนั้นเกิดแล้วก็ดับไป

    ผู้ฟัง แต่ความจริงจักขุวิญญาณนี้ก็เห็น ลูกสุนัขไม่ได้อยู่แล้ว ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เห็นสิ่งที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง เห็นสิ่งที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง มีญาติ เขามีลูกชายเขาก็มีความทุกข์มาก ในลูกชายของเขา ดิฉันก็แนะนำเขาว่าอันนี้ จะต้องวางเฉย ก็มาสะกิดใจ คำว่า วางเฉย มันอาจจะ อยากจะช่วย แต่ว่าใจดำก็เลยวางเฉย กับอุเบกขาวางเฉย อันนี้อยากให้ท่านอาจารย์ ช่วยกรุณาแจงระหว่างอุเบกขาที่เป็นวางเฉย กับ อุเบกขาในภาษาไทยมันต่างกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เป็นเรื่องของคำอีก บอกให้เขาวางเฉย แล้วตัวคนบอก วางเฉยด้วยหรือเปล่า หรือว่าบางทีเราก็บอกคนอื่น ได้ทุกอย่างเลย แต่เขาวางเฉยได้หรือเปล่า ไม่ใช่เรื่องที่ใครจะทำวางเฉย แต่ต้องเป็นเรื่องของปัญญา ความรู้จริง แม้แต่คำ ที่เราก็มานั่งสงสัยว่า คำนี้เป็นอย่างนั้น คำนั้นเป็นอย่างนี้ หรือคำนี้เป็นอย่างไร ไม่กระจ่าง ทั้งผู้พูด และผู้ฟัง จะให้วางเฉย แล้วก็วางอย่างไร เฉยอย่างไร ประเดี๋ยวก็มีคำว่า วาง ประเดี๋ยวก็มีคำว่า เฉย ก็เลยอยู่กันตรงนี้

    ผู้ฟัง อันนี้จะแนะนำเขาอย่างไร อันนี้เป็นเรื่องจริงด้วย

    ท่านอาจารย์ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแนะนำ ๓ ปิฎก พร้อมทั้งอรรถกถา แล้วเราหยิบมานิดเดียว แล้วก็บอกให้คนอื่นวางเฉย เราเองถ้าเกิดเหตุการณ์อย่างนั้น เราวางเฉยได้หรือเปล่า แต่เราสามารถจะบอกคนที่เขากำลังมีทุกข์ให้วางเฉย ซึ่งเขาก็ทำไม่ได้

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 103
    25 มี.ค. 2567