ปกิณณกธรรม ตอนที่ 621


    ตอนที่ ๖๒๑

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ.๒๕๔๕


    ท่านอาจารย์ สภาพที่กำลังเห็น ที่จะเข้าใจว่าเป็นธรรม หรือว่าสภาพที่กำลังได้ยิน ที่จะเข้าใจว่าเป็นธรรม หรือสภาพคิดนึกที่จะเข้าใจว่าเป็นธรรม ทั้งๆ ที่ฟังเข้าใจ แต่ว่าลักษณะเหล่านี้ก็มีตลอด เห็นก็มีตลอด ได้ยินก็มีตลอด คิดนึกก็มีตลอด แต่ก็ไม่มีสติสัมปชัญญะ ซึ่งบ่ายหน้าตรงลักษณะของสภาพธรรม ไม่ไปอื่นเลย แต่ว่ามีลักษณะของสภาพธรรมขณะนี้ ที่สติระลึก เมื่อนั้นถึงจะรู้ว่าการศึกษาธรรมทั้งหมด ไม่ใช่เรื่องชื่อ แต่เป็นการศึกษาเพื่อที่จะรู้จริงว่าสิ่งที่มี เป็นนามธรรม หรือเป็นรูปธรรม

    ผู้ฟัง ความรู้สึกที่ว่าเป็นสภาพธรรม เราจะต้องคิดหรือเปล่า ว่าอันนี้รูป อันนี้รูปนาม อันนี้รูป ถ้าไม่ทวนอย่างนั้นมันเฉย มันก็ไปของมันเรื่อยๆ

    ท่านอาจารย์ อย่าลืม ทุกคำทิ้งไม่ได้เลย ไม่มีใครรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น นี่คืออนัตตา แต่ถ้าคิดว่าจะทำ เป็นอนัตตา หรือไม่ใช่อนัตตา

    ผู้ฟัง ถ้าไม่ซ้อมความเข้าใจ แล้วมันก็หายไปเลย

    ท่านอาจารย์ ไม่หาย มีสภาพธรรม

    ผู้ฟัง ได้ยินอะไร ก็นึกถึงคำอาจารย์ว่าให้มันเห็นเอง แต่มันไม่เห็น มันต้อง เออ นี่ เสียงกระทบอันนี้ๆ เป็นอันนี้ๆ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก่อน ที่คุณเด่นพงษ์จะคิดอย่างนี้ คุณเด่นพงษ์ไม่รู้ว่าต่อไปจะคิดอย่างนี้ ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ไม่คิด

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น นี่คืออนัตตา ซึ่งเห็นความจริงว่า แม้แต่คำที่ว่า ไม่มีใครรู้เลยว่าอะไรจะเกิด ก็ต้องเป็นความจริง เพียงแข็ง ไม่รู้เลยว่าต่อไป จะคิดว่าแข็ง เป็นรูป แล้วก็มีสภาพที่กำลังรู้แข็ง ไม่ได้คิด เพราะว่าจะคิดหรือไม่คิด ก็ไม่รู้ แล้วแต่เหตุปัจจัย แต่เมื่อสภาพธรรมใดเกิด แสดงว่าสภาพธรรมมีปรากฏ เพราะเกิดตามเหตุตามปัจจัย

    การเข้าใจธรรม ไม่ใช่เป็นเรื่องไปทำ หรือคิดจะทำ แต่ให้เข้าใจให้ถูกต้องว่ามีสภาพธรรมอยู่แล้ว ไม่เคยขาดเลย ขึ้นอยู่กับว่า เราเข้าใจคำว่า สติสัมปชัญญะ หรือว่าสติที่ไม่ใช่สติสัมปชัญญะหรือไม่ อย่างเวลาที่เราให้ทาน ไม่ต้องมีสติสัมปชัญญะเลย แค่สติ โสภณสาธารณเจตสิกอื่นๆ ที่เกิดร่วมกัน ก็ทำให้ทานกุศลนั้นสำเร็จ แต่เป็นเรา ตั้งแต่เริ่มคิดจะให้ทาน ก็เป็นนามธรรม แต่เป็นเรา ตั้งแต่กำลังแสวงหาสิ่งของ การเห็นทางตา ทางหู การคิดนึกทั้งหมด ก็เป็นเราทั้งหมด

    เพราะฉะนั้น พระธรรมที่ทรงแสดงจากการตรัสรู้ ก็เพื่อให้ผู้ที่ได้ยินได้ฟังได้อบรมเจริญปัญญา อีกขั้น ๑ ที่จะเห็นตัวจริงของธรรมว่าเป็นธรรมโดยการประจักษ์แจ้ง เราไม่ได้บังคับ ว่าไม่ให้คิด หรือให้คิด เพราะว่าทุกคนต้องไม่ลืมว่า ไม่มีใครรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป

    ผู้ฟัง แม้แต่เราจะทำทาน เราก็ต้องคิดจะทำ แล้วก็ไปหาซื้อของ

    ท่านอาจารย์ ตลอดเวลานั้นเป็นเราหมด ตราบใดที่สติ

    ผู้ฟัง คิดว่าเราจะมีเมตตา กับคนนี้ไหม กรุณากับคนนี้ไหม ทุกอย่างมันติดหมด

    ท่านอาจารย์ เป็นเราตลอด จนกว่าสติสัมปชัญญะ เกิดแล้วก็บ่ายหน้าตรงลักษณะของสภาพธรรม

    ผู้ฟัง มันก็เลยทำให้ผม คิดว่า อุเบกขา มันยากๆ ผมก็ว่ามันไม่น่าจะยาก เมตตาไม่ได้ กรุณาไม่ได้ มุทิตาไม่ได้ ก็อุเบกขามันเสีย มันก็ จะง่ายไหม แล้วก็ค่อยๆ สะสมให้ความรู้สึกอย่างนี้ ให้มันค่อยๆ ขึ้นมาเอง

    ท่านอาจารย์ เราทั้งหมด เรามานานแล้ว เพราะเราก็ให้ทานมานานแล้ว เราก็มีศีลมานานแล้ว เราก็มีความนึกคิดเรื่องนามธรรม และรูปธรรมมานานแล้ว ตั้งแต่เริ่มฟัง เราก็เริ่มคิดนึก เรื่องนามธรรม และรูปธรรม แต่ว่าเราไม่ได้รู้ตัวจริงของธรรม

    ถ้าเราฟังเรื่องการอบรมเจริญปัญญา ที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้บ่อยขึ้น อันนั้นก็จะทำให้เราตรงต่อความเข้าใจที่ถูกต้อง ว่าจะต้องเพราะสติสัมปชัญญะเกิด ไม่ใช่สติขั้นทาน หรือว่าไม่ใช่สติขั้นศีล หรือว่าไม่ใช่ขั้นความสงบของจิต แต่ว่าต้องเป็นขั้นที่ขณะนี้ มีลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ กำลังปรากฏ ให้รู้ ให้เข้าใจในความเป็นนามธรรม หรือเป็นรูปธรรม ถ้าไม่สะสมตอนนี้ จะสะสมเมื่อไร คอยไปหรืออย่างไร

    ผู้ฟัง จะเหมือนอย่างนี้ไหม เหมือนกับว่า เราจะปลูกต้นไม้ เราคิดถึงปุ๋ย ถึงน้ำ ถึงดิน ถึงสภาพอากาศ ถึงพันธุ์ที่เราจะปลูก แล้วก็ทำไปตามนั้น

    ท่านอาจารย์ เราเคยคิดมาแล้ว เคยคิดมาหลายชาติ ชาตินี้เราก็คิด ก่อนจะได้ฟังพระธรรมเราก็คิด เราก็คิดอย่างนี้ แต่ว่าเมื่อเราได้ฟังพระธรรม ว่าขณะนี้เป็นธรรม เราจะฟังต่อไป ให้เข้าใจขึ้นในสภาพธรรม เพื่อสติจะเกิดตามรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง มันอดไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ให้อด

    ผู้ฟัง อดคิดไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ไม่ให้คิด ก็บอกแล้ว ว่า ทุกคนไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น หยุดตรงนี้เลย ไม่มีใครรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น จะคิดหรือไม่คิดก็ไม่รู้ทั้งนั้น ต่อเมื่อสิ่งใดเกิด มีปัจจัยปรากฏให้รู้ว่าลักษณะนั้นเป็นสภาพที่เป็นอนัตตา มีปัจจัยก็เกิด ทุกขณะเป็นอย่างนี้

    ผู้ฟัง ก็รู้แต่ว่ามันก็อดไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ถ้ามีเราที่จะทำ มีเราที่จะอดได้ อดไม่ได้ อันนั้นไม่ใช่ปัญญา

    ผู้ฟัง ไม่ทราบจะมีทางออกอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ก็มีสภาพธรรมกำลังปรากฏ ขณะนี้เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏ ฟังอีก ขณะนี้เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏ ถูกหรือผิด

    ผู้ฟัง ถูก

    ท่านอาจารย์ ถูก สติไม่ได้คิดเรื่องอื่น แต่บ่ายหน้าตรงลักษณะของสภาพธรรม ไม่ไปไหนเลย ตรงลักษณะที่กำลังปรากฏ มีสภาพธรรม แล้วก็สติระลึก ตามรู้ลักษณะของสภาพธรรมตรงที่ปรากฏ ลักษณะที่ปรากฏมีจริงๆ ไม่ใช่สภาพรู้ เพราะฉะนั้น ก็เริ่มที่จะรู้ว่า ลักษณะซึ่งรู้ต่างกับสภาพรู้ เราพูดเรื่องจิต เราพูดเรื่องเจตสิก แล้วจิตเจตสิกอยู่ที่ไหนมีหรือเปล่า เดี๋ยวนี้

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ มี ต้องรู้ ถ้าไม่รู้ ก็เป็นเรา แต่ไม่ใช่บังคับ

    ผู้ฟัง ก็มันไม่รู้ ยังไม่รู้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็ฟัง ฟังไปอีกไม่รู้ว่า จะอีกนานสักเท่าไร

    ผู้ฟัง ก็เชื่ออาจารย์ไปก่อนแล้วกัน

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ มีหนทางจริงๆ เพราะว่ามีสภาพธรรมปรากฏให้รู้ได้

    วิทยการ. การทำเหตุ มันเหตุในอดีต ปุพเพกตปุญญตา ของแต่ละท่านก็คงไม่ทราบ แต่เหตุในปัจจุบัน เราทำเหตุในปัจจุบัน ก็คือการฟัง ที่อาจารย์สั่งสอนเรา เป็นเหตุในปัจจุบัน

    วิทยการ. วันหนึ่งความเข้าใจตัวนั้น มันก็ทำงานของมัน ระลึกรู้ในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏบ้างเล็กๆ น้อยๆ ก็มีมากขึ้นๆ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก่อนอื่น ต้องเข้าใจความต่างของขณะที่หลงลืมสติกับขณะที่สติเกิด อันนี้เป็นขั้นแรก

    ผู้ฟัง ที่เราศึกษามาในความหมายของคำว่า บารมีที่ว่า บารมีคือสภาพของจิตที่ดีงามทั้งหมด อันตัณหามานะทิฏฐิ เข้าไปทำลาย พูดถึงกุศลจิต ที่เป็นสภาพธรรมที่ดีงาม แล้วถ้ากุศลจิตจากการศึกษา เราก็รู้ว่ามีทั้งขั้นทาน ขั้นศีล ขั้นอบรมปัญญา ที่เป็นสมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนา เพราะฉะนั้น กุศลที่จะเป็นกุศลที่ อันตัณหามานะ ทิฏฐิ ไม่เข้าไปทำลาย กุศลนั้นก็จะต้องเป็นไปเพื่อการขัดเกลากิเลส แล้วก็ต้องประกอบด้วยปัญญาไม่ว่าจะเป็นขั้นทาน ขั้นศีล หรือว่าขั้นอบรมภาวนา

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะเหตุว่าถ้าเรียนๆ ไปแล้ว มีมานะ มีความสำคัญตน เกิดขึ้นก็ทำลายแล้ว หรือว่ามีตัณหา มีความเป็นเรา หรือของเรา หรือว่ามีทิฏฐิ ก็ทำให้เกิดความเห็นผิด แทนที่จะเห็นถูกได้

    ผู้ฟัง แม้แต่การศึกษาพระธรรม ถ้าเกิดเรามีความเข้าใจในสภาพธรรม ที่ผิดหรือคลาดเคลื่อนก็จะเป็นกุศลไม่ได้ ขณะนั้นก็ต้องประกอบไปด้วยทิฏฐิ ที่จะเป็นตัว ทำลาย

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง ผมพิจารณาจากรูปหยาบ สี เสียง กลิ่น รส อะไรนี้ เย็นร้อน อ่อนแข็ง ตึงไหว แต่ว่าปสาทรูปทั้ง ๕ นี้ พิจารณาอย่างไรก็ไม่มี ในชีวิตประจำวัน

    ท่านอาจารย์ แล้วจะทำอย่างไร

    ผู้ฟัง ก็ พิจารณาจากรูปหยาบแล้ว ก็จะต้องมีลักษณะที่เราพอจะใส่ใจ หรือว่าศึกษาในชีวิตประจำวันได้

    ท่านอาจารย์ รูปหยาบที่ปรากฏในขณะนี้ รู้หรือยัง

    ผู้ฟัง ยังไม่รู้

    ท่านอาจารย์ แล้วจะทำอะไร

    ผู้ฟัง ก็ศึกษาไปเรื่อยๆ

    ท่านอาจารย์ ข้อสำคัญที่สุด การอบรมเจริญปัญญา ต้องไม่หลง

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ ต้องรู้ว่าเพื่อละ ความไม่รู้ ไม่ใช่เพื่อต้องการรู้ แต่ว่าการอบรมเจริญปัญญา เพื่อละ ความไม่รู้ เพราะว่าตราบใดที่ยังมีความไม่รู้อยู่ ความไม่รู้จะไม่ทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม เพราะฉะนั้น ต้องรู้ว่ากำลังไม่รู้อะไร ที่ปรากฏแล้วก็ไม่รู้ แล้วค่อยๆ รู้สิ่งนั้น ค่อยๆ ละความไม่รู้ในสิ่งนั้น จึงสามารถที่จะประจักษ์ความจริงได้ ว่าสภาพธรรม ที่มี ไม่มีใครไปเลือกให้ปรากฏ หรือไม่ปรากฏ แล้วแต่ว่าสภาพธรรมที่มีนั้นปรากฏหรือไม่ เมื่อสิ่งนั้นปรากฏแล้ว จะรู้หรือจะไม่รู้ แล้วก็จะไปรู้สิ่งที่ไม่ปรากฏ

    ผู้ฟัง จากที่พระองค์ได้ทรงแสดงไว้ว่าลักษณะของรูปหยาบมี ๑๒ รูปนี้

    ท่านอาจารย์ แล้วรูปอะไรที่ปรากฏในรูปหยาบ ๑๒ รูป รูปใดเป็นโคจรรูป รูปใดเป็นโคจรวิสยรูป ที่ปรากฏเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ทรงแสดงหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ทรงแสดง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น รูปใดที่ปรากฏแล้วไม่รู้ แล้วจะทำอย่างไร

    ผู้ฟัง ก็คงจะต้องศึกษา และฟังพระธรรมไปเรื่อยๆ

    ท่านอาจารย์ เพื่อรู้อะไร

    ผู้ฟัง เพื่อรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังจะปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ที่ปรากฏในขณะนี้ เพราะเกิดแล้วจึงปรากฏ ไม่ใช่ไปอยากรู้ สิ่งที่ไม่ปรากฏ

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้น ความเข้าใจในขั้นการฟังของผมเอง ถึงแม้ว่าจะมีรูปทั้งหมด ๒๘ รูป และมีรูปหยาบ ๑๒ รูป ที่พอจะรู้ได้ ความเข้าใจของผม หรือท่านผู้ฟังทั่วๆ ไป ก็จะต้องรู้ตามความเป็นจริงว่าในชีวิตประจำวัน ก็มีเพียง ๗ รูปที่ปรากฏเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ เพื่อไม่ให้หลงไปทำอย่างอื่น ต้องมีความมั่นคงจริงๆ ว่าสิ่งที่ปรากฏมี ๗ รูปที่ปรากฏ ทางตา๑ ทางหู๑ ทางจมูก๑ ทางลิ้น๑ ทางกาย๓, ๗ รูป เป็นรูปที่มีจริงที่ปรากฏให้รู้ เพราะฉะนั้น ไม่ไปหลงทำอย่างอื่น ไม่ไปหลงอยากรู้อย่างอื่น ไม่ไปหลงคิดอย่างอื่น แต่รูปเหล่านี้กำลังปรากฏ เผชิญหน้า แล้วก็ไม่รู้ไปเรื่อยๆ ไม่รู้มานานเท่าไรแล้ว ในนามธรรม และในรูปธรรม ที่มีจริงๆ ซึ่งเกิดดับ ศึกษาจิตเพื่ออะไร

    ผู้ฟัง เพื่อรู้ว่าจิต ในขณะนี้ มีจริงๆ ชีวิตประจำวัน

    ท่านอาจารย์ แล้วการที่จะรู้ว่าขณะนี้มีจิต จะรู้ได้อย่างไร

    ผู้ฟัง รู้ได้โดย สติสัมปชัญญะ หรือสติปัฏฐาน ระลึกลักษณะของจิต ที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้เอง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ขณะนี้มีจิต ยังไม่รู้ ใช่ไหม หรือรู้แล้ว

    ผู้ฟัง ไม่แล้ว

    ท่านอาจารย์ ยังไม่รู้ ใช่ไหม เพราะฉะนั้น อบรมเจริญปัญญา เพื่อรู้สิ่งที่มีที่เรียน ที่เข้าใจแล้วได้

    ผู้ฟัง การที่เรียนหรือศึกษามากๆ เพื่ออะไร เพื่อ

    ท่านอาจารย์ ละความไม่รู้ ในสิ่งซึ่งมีปรากฏตั้งแต่เกิดจนตาย แล้วไม่เคยรู้เลย อะไรปรากฏตั้งแต่เกิดจนตาย

    ผู้ฟัง มีรูปกับนามปรากฏ ตั้งแต่เกิดจนตาย

    ท่านอาจารย์ รูปอะไรที่ปรากฏตั้งแต่เกิจนตาย

    ผู้ฟัง รูปที่ปรากฏก็มีทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

    ท่านอาจารย์ นี่ศึกษาให้รู้ว่าไม่ใช่เรา เพื่อละความไม่รู้ ในรูปที่ปรากฏ ถ้ารูปไม่ปรากฏ คุณประทีปจะศึกษาอะไร

    ผู้ฟัง ก็ศึกษาจากตำรา จากเรื่องราว

    ท่านอาจารย์ แต่ไม่ปรากฏ แล้วจะศึกษาลักษณะของอะไร

    ผู้ฟัง ก็ไม่ สามารถศึกษาลักษณะจริงๆ ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น สิ่งใดที่ปรากฏ มีลักษณะให้ศึกษา อย่าลืม ที่ปรากฏคือลักษณะ ให้ศึกษาให้เข้าใจถูก สิ่งใดก็ตามที่ปรากฏ มีลักษณะให้ศึกษาได้ ให้เข้าใจถูกได้

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้น ก็เป็นเรื่องยาก ที่จะเข้าใจ เพราะว่าผมคงสะสมมาที่อยากจะรู้มากๆ ก็ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น อริยสัจ ๔, ๒ อริยสัจแรกลึกซึ้งจึงเห็นยาก ๒ อริยสัจแรกคืออะไร

    ผู้ฟัง ทุกข์

    ท่านอาจารย์ ทุกข์ คือ การเกิดดับของสภาพธรรม ในขณะนี้ อริยสัจที่ ๒

    ผู้ฟัง โลภะ

    ท่านอาจารย์ เห็นยากไหม

    ผู้ฟัง มันก็เหมือนเห็นยาก แต่บางทีมันก็เหมือนเห็นง่าย

    ท่านอาจารย์ กำลังอยากรู้ สิ่งที่ไม่ปรากฏเห็นสมุทัยไหม

    ผู้ฟัง ตอนนี้เริ่มจะเห็นลางๆ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ต้องละสมุทัย ไม่ใช่เป็นตัวเราที่อยาก รู้แจ้งอริยสัจจธรรม แต่ละความไม่รู้เพราะเคยเป็นเรา จนกระทั่งไม่ใช่เราที่เห็น ไม่ใช่เราที่ได้ยิน ไม่ใช่เราที่คิดนึก ไม่ใช่เราทั้งหมด ต้องละเอียดจนกระทั่งทุกอย่าง ที่เคยเป็นเรา ต้องไม่ใช่เรา ด้วยความรู้ที่เพิ่มขึ้น ต้องรู้จุดประสงค์

    เราฟังเรื่องจิต เพื่อรู้ความจริง ของจิตซึ่งมี เดี๋ยวนี้ก็มี

    เราฟังเรื่องเจตสิกเพื่อรู้ ความจริงของเจตสิก ซึ่งเกิดปรากฏ ถ้าไม่ปรากฏจะรู้ไม่ได้

    เราฟังเรื่องรูป รูปปรากฏตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่เคยรู้ ก็จะต้องศึกษารูปที่ปรากฏ จนกระทั่งหมดความสงสัย แล้วเห็นหัวใจ เห็นได้ไหม

    ผู้ฟัง เห็น ก็เห็นไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ธรรมก็เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก สิ่งที่มีปรากฏชั่วขณะที่สั้นมาก ขณะนี้ให้ทราบว่าสั้นมาก รูปที่ปรากฏทางตาชั่วกระทบแล้วก็ดับไปเลย ๑๗ ขณะ จะน้อยสักแค่ไหน เพราะฉะนั้น ถ้าสติสัมปชัญญะ ไม่เกิดไม่มีทางที่จะรู้ว่าขณะนี้ เป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ ซึ่งเป็นทุกขอริยสัจ อันนี้จะหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย นามธรรม และรูปธรรม เป็นสภาพธรรมที่มีปัจจัยจึงเกิดปรากฏ แล้วก็ดับไป เพราะขณะนี้ สิ่งที่ปรากฏ หมายความว่า สิ่งนั้นมีปัจจัยเกิดปรุงแต่งเกิดแล้ว แล้วก็ดับ เร็วมาก

    ลักขณาทิจตุกะ ของสภาพธรรม มี ๔ อย่าง ใช่ไหม อย่างเดียวนี้รู้หรือยัง ไม่ต้องถึง ๔ ลักษณะของจิต ลักษณะของจิต ยังไม่ต้องถึง กิจ ยังไม่ต้องพูดถึงอาการปรากฏ ยังไม่ต้องพูดถึงเหตุใกล้ เพียงแค่ลักษณะของจิต คืออะไร เพียงอย่างเดียว ลักษณะของจิตคืออะไร

    ผู้ฟัง เป็นสภาพรู้

    ท่านอาจารย์ เป็นสภาพรู้อารมณ์ คือสิ่งที่กำลังปรากฏ ปรากฏเพราะจิตรู้ ไม่ว่าจะเป็นอะไรทั้งสิ้น ขณะนี้สิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะจิตเห็น เสียงปรากฏทางหู เพราะจิตได้ยิน

    จิตเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ มีลักษณะรู้อารมณ์ เพียงแค่ลักษณะ ยังไม่ต้องถึงกิจ ยังไม่ต้องถึงอาการปรากฏสืบต่อ ยังไม่ต้องถึงเหตุใกล้ให้เกิด รู้หรือยัง เพียงแค่ลักษณะ

    ผู้ที่มีปัญญาที่รู้แจ้งแล้ว จึงสามารถที่จะทรงแสดงลักษณะทั้ง ๔ เช่น ลักษณะ กิจ อาการปรากฏ เหตุใกล้ให้เกิดของสภาพธรรมแต่ละอย่าง แต่ผู้ที่จะรู้ไม่ใช่ไปรู้ ๔ เพียงแค่ลักษณะ ๑ เท่านั้น รู้ หรือยัง เพราะฉะนั้น เรื่อง ๔ เป็นเรื่องใครรู้ก็ต้องทราบด้วย เราจะรู้ได้ไหมอย่างนั้น แค่ลักษณะก็ยังไม่ได้รู้ แล้วจะไปรู้ ๔ เพียงแค่ ๑ ก็ยังไม่รู้

    ผู้ฟัง ความเข้าใจในขั้น การฟัง อย่างผมฟังวิทยุเมื่อเช้า ท่านอาจารย์ ได้ตอบท่านพระภิกษุประพาส ว่าในขณะที่คิดเรื่องจักขุปสาท นั้น ขณะนั้นไม่ใช่เป็นการรู้ลักษณะของจักขุปสาท ผมก็มาคิดพิจารณาอีกต่อไปว่า เขาว่าจักขุปสาท ไม่สามารถปรากฏได้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วผมจะรู้ได้ทางไหน ถ้าไม่คิด ทางใจ

    ท่านอาจารย์ ก็ทำไมผมจะรู้เล่า สิ่งที่ผมเห็น ทำไมไม่รู้ แล้วไปรู้อะไร

    ผู้ฟัง คือในขั้นการฟังก็ยังไม่เข้าใจ แล้วผมจะไปสามารถคิด

    ท่านอาจารย์ ฟังพระธรรมของใครแสดง นี้ลืมไม่ได้เลย แสดงจากการตรัสรู้ หรือแสดงเพียงแค่คิดแล้ว บอก

    ผู้ฟัง ต้องจากการประจักษ์ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ปัญญาระดับไหนที่จะรู้ จนกระทั่งถึงลักษณะ แล้วก็กิจ แล้วก็อาการปรากฏ แล้วเหตุใกล้ให้เกิด ของสภาพธรรมทุกอย่าง เพราะฉะนั้นผู้ฟัง เป็นผู้ที่ตรง ต้องรู้จักตัวเอง ว่าอะไรๆ ก็ยังไม่รู้เลย ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม ก็เพียงฟัง มาแต่ขณะนี้ที่กำลังเห็น ระลึกอย่างไร จึงจะรู้ว่าเป็นสภาพ รู้ ที่ไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงธาตุรู้ซึ่งเกิดขึ้น สามารถเห็น ต้องฟังอย่างไร แล้วไม่ใช่ เพียงไปคิดเอา ว่าเป็นธาตุรู้ซึ่ง สามารถเห็น อันนี้ก็อดคิดกันไม่ได้ ใช่ไหม แต่ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด ที่จะรู้ว่าขณะที่คิดไม่ใช่ขณะที่รู้ลักษณะของสภาพธรรม ต้องมีความละเอียดขึ้นๆ ๆ

    ผู้ฟัง ที่กล่าวว่า รูปที่ไม่ปรากฏเกิดแล้วดับแล้ว คือหมายความว่าจิตซึ่งเป็นสภาพรู้ ไม่ได้เกิดรู้รูปนั้น รูปนั้นจึงไม่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ใครจะรู้ หรือไม่รู้ รูปเกิดเพราะสมุฏฐาน รูปที่เกิดจากกรรม ใครจะรู้หรือไม่รู้ กรรมก็ทำให้รูปนั้นเกิด มีอายุ ๑๗ ขณะ แล้วก็ดับ ใครจะรู้หรือไม่รู้ เมื่อมีจิตเว้นทวิปัญจวิญญาณจิต จิตอื่นก็เป็นปัจจยให้รูปเกิด ใครจะรู้หรือไมรู้ก็ตามแต่ รูปเกิดแล้วมีอายุ ๑๗ ขณะ แล้วก็ดับไป รูปที่เกิดจากอุตุ รูปที่เกิดจากอาหารก็เช่นเดียวกัน แล้ว ๑๗ ขณะเร็วแค่ไหน คิดดู เรามีแต่ความทรงจำ ว่ามีเราตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า มีคนซึ่งเราเคยเห็น แม้แต่เดี๋ยวนี้เราก็จำได้ ว่าเป็นคนนั้น คนนี้ เราไม่ได้รู้ความจริงเลยว่า แท้ที่จริงแล้วก็เป็นรูป สภาวะรูป มีลักษณะจริงๆ ปรากฏแต่ละทาง เช่น สีสันวัณณะ ปรากฏทางหูไม่ได้ ต้องกระทบจักขุปสาท แล้วที่จะกระทบเพราะเกิดขึ้น นี่เราก็ยังไม่เห็นความเกิดของรูปที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น จะประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรมได้อย่างไร

    การศึกษาธรรม ศึกษาเพื่อให้เข้าใจตามความเป็นจริงระดับขั้นปริยัติ คือ ขั้นเรื่องราวของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จนกว่าสติปัฏฐานจะเกิดเพราะรู้ว่าไม่ใช่เพียงเรื่องราว แต่มีสภาพธรรมจริงๆ แต่เมื่อมีสภาพธรรมจริงๆ แล้วปัญญาของใคร ระดับไหน จะรู้อะไร และจะเริ่มรู้อะไร ข้อสำคัญที่สุด คือ จะเริ่มรู้อะไร เมื่อมีสิ่งที่กำลังปรากฏทั้งวัน ทั้งเดือน ทั้งปี กี่ชาติมาแล้วก็ไม่เคยรู้ แต่เมื่อฟังพระธรรม ก็เป็นปัจจัยที่จะให้รู้ว่า สติก็ไม่ใช่ว่าจะยากอะไรมากมาย แต่บ่ายหน้าตรงลักษณะของสภาพธรรม ไม่ไปอื่น เพราะว่าโดยมาก กำลังเห็น แล้วเราก็จะคิดเรื่องอื่น หรือว่ากำลังกระทบแข็ง เราก็จะคิดเรื่องอื่นทันที แต่ว่าถ้ามีลักษณะแข็งปรากฏ แล้วรู้ลักษณะนั้น ขณะนั้นเป็นสติที่มี ลักษณะของปรมัตถธรรม ซึ่งเมื่อค่อยๆ ระลึกบ่อยขึ้น ชินขึ้น เข้าใจขึ้น ลักษณะของสภาพธรรมนั้นก็เหมือนเดิม กับตอนที่เพิ่งเริ่มระลึก เช่น ลักษณะที่แข็ง ก็ไม่เปลี่ยนเป็นอย่างอื่น แต่ความรู้ความเข้าใจ จากการระลึกแล้วระลึกอีกบ่อยๆ ก็จะรู้ความต่างกัน ว่าลักษณะที่แข็งปรากฏ ต่างกับลักษณะของรูปอื่นๆ แล้วก็ไม่ใช่สภาพรู้ด้วย แล้วก็ต้องมีสภาพรู้ ซึ่งมองไม่เห็นเลย สภาพรู้ไม่มีใครมองเห็นเลย ไม่มีรูปร่างลักษณะ แต่สามารถรู้ทุกอย่าง เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ ไม่ว่าจะแข็ง สภาพนั้นก็รู้ ไม่ว่าจะเสียง เบาดังค่อย อย่างไร สภาพนั้นก็รู้

    เพราะฉะนั้น เมื่อค่อยๆ ระลึก ค่อยๆ รู้ไป ก็ ละคลายความไม่รู้ เพราะความรู้เพิ่มขึ้น จนกระทั่งสามารถที่จะละความเป็นตัวตน จากสภาพธรรม ซึ่งต้องละเอียดขึ้นๆ เรื่อยๆ แต่ไม่พ้นจากสภาพธรรมที่ปรากฏ เพราะเกิด แล้วก็อย่าลืม ไม่มีใครรู้ล่วงหน้า ว่าอะไรจะเกิด นี่คือความเป็นอนัตตา

    ผู้ฟัง จากที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า ขณะนั้นสภาพธรรมปรากฏอยู่ตลอด ถ้าพูดตามการศึกษาก็ไม่ใช่หยุดแค่ที่ว่าเป็นสภาพธรรมปรากฏอยู่ตลอด ใช่ไหม จะต้องมีลักษณะอะไรอย่างหนึ่งอย่างใด ตรงนั้น ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ใช้คำว่า สภาพธรรมปรากฏ จะไม่มีลักษณะได้ไหม

    ผู้ฟัง คงไม่ได้ ตรงนี้ พอท่านอาจารย์บอก สภาพธรรมปรากฏ ก็หยุดอยู่ตรงนี้ ไม่ได้พิจารณาอะไร ที่จริงแล้วมันจำเป็นต้องมีอะไรปรากฏอยู่

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่ปรากฏมี แต่เวลาที่สติปัฏฐานไม่เกิด ไม่รู้ เป็นความไม่รู้ ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร ยังคงเป็นดอกไม้ เป็นคนนั้น คนนี้ เต็มห้องเลย ยังเป็นอยู่หรือเปล่า ยังเป็น แต่ถ้าเราคิดถึงว่าความจริงเป็นอย่างนั้น หรือเปล่า หรือความจริงเป็นรูปชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถปรากฏทางตาเท่านั้น คือต้องแยก ความจริงออก ความจริงกับความคิดเดิมๆ ต่างกัน ความคิดเดิมๆ คิดด้วยความไม่รู้ ด้วยอวิชชา แต่ว่าเมื่อได้ฟังธรรมแล้ว เริ่มเข้าใจจริงๆ ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนี้ เมื่อมีจักขุปสาท

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 103
    25 มี.ค. 2567