ปกิณณกธรรม ตอนที่ 614


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๖๑๔

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๔๕


    ท่านอาจารย์ เราเป็นคนนี้ เพราะกรรมหนึ่งที่ได้กระทำแล้ว แต่ละคนต่างๆ กันไปตามกรรมที่ได้กระทำแล้ว ขณะที่เรายังไม่ตาย เราก็รู้ว่า กรรมนั้นยังไม่ทำให้เราสิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้ ถ้ากรรมเพียงแต่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดหนึ่งขณะแล้วก็หมด ก็ไม่มีผลอะไรเพราะว่าขณะที่เกิดไม่มีการรู้อะไรทั้งสิ้น ของโลกใหม่ ขณะที่ปฏิสนธิเกิด สี ไม่ปรากฏ เสียงไม่ปรากฏ อะไรๆ ก็ไม่ปรากฏเลย โลกนี้ไม่ปรากฏ จะเป็นนรก จะเป็นสวรรค์ จะเป็นพรหมโลก หรือจะเป็นที่ไหน ไม่รู้เลย ทั้งสิ้น เหมือนกันหมดเลย เพราะเหตุว่าไม่ได้รู้อารมณ์หนึ่ง อารมณ์ใด ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย

    ถ้ากรรมให้ผลเพียงเท่านั้น จะพอเพียงไหม ไม่พอ เพราะฉะนั้น เมื่อเกิดมาแล้ว ยังมีชีวิตอยู่ก็ยังไม่พอ ระหว่างที่ยังไม่ตาย ก็กรรมทำให้จักขุปสาทรูปเกิด คนอื่นทำไม่ได้เลย นี่เป็นรูปที่เกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย

    เพราะฉะนั้น จะกล่าวได้ไหมว่า จักขุปสาทรูปเกิดเพราะกรรม ที่ได้กระทำแล้ว ทั้งหู ทั้งจมูก ทั้งลิ้น ทั้งกาย พร้อมที่จะให้มีการได้ยิน มีการเห็น มีการได้ยิน มีการได้กลิ่น มีการลิ้มรส มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทั้งหมดเป็นผลของกรรม เพราะว่าถ้ามีตาแล้วไม่เห็น ก็ไม่เป็นไรนี่ มีหูไม่ได้ยิน ก็ไม่ต้องรับผลของกรรมอะไร มีจมูก มีลิ้น มีกายก็ไม่ต้องรับผลของอะไร แต่เพราะเหตุว่ามีเพื่อกระทบ กับสิ่งที่สามารถกระทบได้ เช่น จักขุปสาท สามารถกระทบกับรูปๆ เดียว คือสิ่งที่กำลังปรากฏ ทางตา ขณะนี้มีแข็ง แต่มองไม่เห็นเลย แข็งกระทบจักขุปสาทไม่ได้ กลิ่นก็กระทบกับจักขุปสาทไม่ได้ เพราะว่าจักขุปสาทสามารถจะกระทบกับรูปธาตุ คือสิ่งที่กำลังปรากฏ ทางตาขณะนี้

    ซึ่งแสดงให้เห็นความเป็นอนัตตา ว่าเราทำอะไรไม่ได้เลย นอกจากถึงกาลที่วิบากจิตเกิด เพราะมีกรรมที่สุกงอมพร้อมที่จะทำให้วิบากจิตเกิด ก็มีการเห็นเกิดขึ้น หรือว่าอาจจะให้ผลทางหู ได้ยินหรืออาจจะให้ผลทางจมูก ได้กลิ่นหรืออาจจะให้ผลทางลิ้น คือ ลิ้มรส หรืออาจจะให้ผลทางกาย กระทบสัมผัส สุขบ้าง ทุกข์บ้าง ในวันหนึ่งๆ ขณะนี้มีใครปวดเมื่อยบ้างไหม นั่นแหละ คือการให้ผลของกรรมทางกาย

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าแม้แต่ตัวปสาทรูป ก็ไม่ได้เกิดขึ้น เพราะเราตั้งใจ แต่เพราะกรรมที่ได้กระทำแล้ว แล้วมีตาเห็นสิ่งที่ดี ไม่ดี เลือกไม่ได้อีกเหมือนกัน แล้วแต่ว่าจะเป็นผลของกุศลกรรม หรืออกุศลกรรม เพราะฉะนั้น ทั้งหมดก็เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่าจิตที่เห็น จิตที่ได้ยิน ได้กลิ่นลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เป็นผลของกรรม แต่หลังจากนั้นแล้ว ชอบหรือชัง กุศลหรืออกุศล อันนั้นก็เป็นเหตุใหม่ที่จะทำให้เกิดกรรมแล้วก็วิบาก ข้างหน้า

    ผู้ฟัง เมื่อไรก็ตาม รู้ธรรมตามความเป็นจริง วินาทีนั้น นี่รูปนะ นี่นามนะ นี่จิตนะ นี่เจตสิกนะ นี่นิพพานนะ เป็นสติปัฏฐานแล้ว

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยว ขณะนี้เป็นไหม

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ สติปัฏฐาน

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ นี้คือความต่างของปัญญา ๓ ขั้น ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ

    ปริยัติ คือความเข้าใจเรื่องราวของสภาพธรรม รู้ว่าขณะนี้ เราไม่มี เพราะว่าบางครั้ง เราอาจจะใช้คำพูดที่ชิน เช่น ขณะใดที่เรามีการเห็น ความจริงไม่มีเรา ขณะใดที่สภาพธรรม ที่เป็นนามธรรมที่เห็นเกิดขึ้น อันนั้นคือความถูกต้อง แต่อาจจะพูดผิวเผินก็ได้ ใช้คำที่แสดงว่าไม่ใช่คนอื่น จะใช้คำว่า เรา ถ้ามีความเข้าใจที่ถูกต้อง ว่าขณะนั้น ไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นสภาพธรรม จริงคือเป็นจิต เป็นเจตสิก เป็นรูป นี่คือความรู้ขั้นฟัง ถ้าขณะนี้เป็นสติปัฏฐาน แล้วเมื่อไรจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ที่กำลังเกิดดับ เพียงฟังอย่างนี้ เมื่อไรจะรู้ว่าสภาพธรรมเกิดดับจริงๆ เป็นไปไม่ได้เลย เพราะนี่เป็นความรู้ขั้นปริยัติ แต่ถ้าขาดความรู้ขั้นปริยัติ สติปัฏฐานเกิดไม่ได้ อย่างคนที่ไม่เคยฟังธรรมเลย ทุกคนก่อนที่จะมาฟังธรรม สติปัฏฐานเกิดหรือเปล่า ไม่เกิด แต่พอฟังเข้าใจแล้ว ก็ไม่ใช่ว่าสติปัฏฐาน เกิด ขณะที่ฟังเข้าใจ เป็นสติขั้นฟัง ขณะที่เข้าใจก็เป็นปัญญา ซึ่งเกิดกับกุศลจิต ที่มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ขณะนั้นก็ไม่ใช่เรา แต่สภาพรู้ หรือธาตุรู้ ยังไม่ได้ปรากฏตามความเป็นจริง หรือปรากฏแล้ว เพียงแต่ฟังว่าขณะนี้มีนามธรรม มีธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถเห็น แล้วเวลาโกรธไม่ใช่เห็นแล้ว เป็นนามธรรมอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นสภาพที่หยาบกระด้าง เพราะฉะนั้น สภาพธรรม แต่ละอย่างนี่ ก็มีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่างจริงๆ ซึ่งเกิดแล้วก็ดับ แต่ขณะนี้เป็นเพียงการฟังเรื่องราวของสภาพธรรม เข้าใจถูกว่าสภาพธรรมเกิดแล้วดับ แต่ไม่ได้ประจักษ์เลย รวดเร็วมากขณะนี้ ที่กำลังเห็น กำลังเกิดดับ

    เพราะฉะนั้น ปัญญาอีกระดับหนึ่ง สามารถจะประจักษ์แจ้งความเกิดดับได้ เพราะฉะนั้น จึงมีการอบรมตั้งแต่ขั้นฟัง แล้วก็เป็นปัจจัยให้มีการระลึก ลักษณะของสภาพธรรมเดี๋ยวนี้ที่กำลังปรากฏ เช่น แข็ง ขอยกตัวอย่างง่ายๆ วันนี้แข็งกี่ครั้ง มีแข็งปรากฏกี่ครั้ง หรือไม่มีเลย

    ผู้ฟัง มี จำไม่ได้

    ท่านอาจารย์ มี แต่ขณะใดที่มีแข็งปรากฏ แล้วรู้ตรงแข็ง ขณะที่มีแข็งปรากฏ โลกนี้มีไหม สีสันวัณณะที่รวมอยู่ในแข็ง ปรากฏหรือเปล่า มีไหม

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ ไม่มี ศีรษะตลอดเท้ามีไหม ปรากฏหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ ไม่มี มีแต่แข็ง เพราะฉะนั้น ย่อลงมา จากโลกที่กว้างใหญ่ จากเพื่อนฝูง มิตรสหาย ในความคิดนึก มาเหลือสภาพธรรมเท่านั้น ที่กำลังปรากฏจริงๆ โดยเราไม่ต้องสร้างเลย ไม่ต้องทำอะไรเลย เพราะว่าแข็งมี แล้วสภาพที่รู้แข็งก็มีจริงๆ แต่ปกติเคยเป็นเรารู้แข็ง เราเห็น เราได้ยิน กว่าจะไม่มีเรา จางลงไปจนกระทั่งไม่เหลือเลย จริงๆ แม้ในความทรงจำว่าเป็นอัตตา แต่ว่าลักษณะที่แข็งปรากฏ กับสภาพที่รู้แข็ง

    เพราะฉะนั้น ก็จะทำให้เราค่อยๆ เข้าใจสภาพธรรมอื่นๆ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แม้เพียงขั้นฟัง ว่าตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่เคยขาดนามธาตุเลย แต่เราไม่เคยรู้เลยในลักษณะของธาตุซึ่งเป็นนามธาตุ เพราะว่าเห็นก็นึกถึงสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นคนเป็นสัตว์ต่างๆ พอได้ยินก็เป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ พอได้กลิ่นก็ เป็นเรื่องราวต่างๆ ไม่มีการที่จะรู้ว่า ทุกอย่างที่ปรากฏในขณะนี้ เพราะจิตเกิดขึ้น เจตสิกเกิดร่วมกัน ทำกิจร่วมกัน ทำให้มีสภาพธรรมปรากฏกับจิต แต่นั่นก็เป็นเพียงจิตต่างชนิด ยังไม่ใช่สติปัฏฐาน จนกว่าจะมีความรู้ความเข้าใจว่าเป็นธรรมมั่นคง ไม่ทำอย่างอื่น สัมมาสติระลึกจึงสามารถที่จะรู้ได้ว่า สติ ไม่ใช่สมาธิ

    เพราะฉะนั้น การฟังต้องฟังอย่างละเอียด และก็ต้องรู้ความต่าง ของปัญญาขั้นต่างๆ หรือว่าสมถะ ต่างกับวิปัสสนาอย่างไร แล้วเวลาที่สัมมาสติเกิด ผู้นั้นก็จะรู้เอง ว่าขณะนั้นไม่ใช่หลงลืมสติ เพราะวันหนึ่งก็กระทบแข็งหลายครั้ง แต่เมื่อใดที่กระทบแล้วรู้ตรงแข็ง ไม่มีอย่างอื่น เข้ามาปะปนเลย แล้วค่อยๆ เข้าใจในลักษณะที่เป็นนามธรรม หรือรูปธรรม ทีละเล็กทีละน้อย ขณะนั้นเป็นสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น เป็นปกติจริงๆ จะเป็นทางหูก็ได้ จะเป็นทางตาก็ได้ จะเป็นทางอะไรก็ได้ ไม่มีการทำ แต่ว่าตอนต้นๆ ก็ยากที่จะละทิ้ง ความคิดว่าเป็นเราทำ เพราะฉะนั้น จนกว่าเมื่อไร ที่รู้จริงๆ เพราะว่าสภาพของนามธรรม ปรากฏ ทั่วทั้ง ๖ ทาง เมื่อนั้นจะไม่มีเรา

    แต่ว่าปัญญาจะต้องสมบูรณ์เป็นขั้นๆ จนกว่าจะสามารถดับสักกายทิฏฐิ คือ การยึดถือสภาพธรรม ว่าเป็นเราได้ หมดสิ้นเป็นสมุจเฉท รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพาน รู้ความจริงว่าหนทางนี้เป็นทางที่สามารถที่จะรู้อริยสัจจธรรมได้ เมื่อนั้นก็เป็นพระอริยบุคคลดับความเห็นผิดทั้งหมด ความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมทั้งหมด ไม่มีความเห็นคลาดเคลื่อนว่า เที่ยง หรือว่าเป็นอัตตา หรือว่าเป็นเรา เมื่อนั้นก็ไม่ว่าจิตต่อไป จะเกิดขึ้นเมื่อไรก็ไม่มีความเห็นผิดใดๆ เกิดร่วมด้วยเลย ตอนนี้เป็นสติปัฏฐาน หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่เป็นแล้ว

    ท่านอาจารย์ ความเห็นถูก สำคัญมากเลย คือไม่เข้าใจผิด

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ก็พยายามพูดย้ำเตือนพวกเราอยู่เสมอ ว่าตาเห็น หูได้ยิน จมูกได้กลิ่น ลิ้นรู้จักรส แล้วอาจารย์ก็บอกว่าหูไม่มีสิทธิที่จะเห็น ตาไม่มีสิทธิที่จะได้ยิน อะไรเหล่านี้ ซ้ำแล้ว ซ้ำอีก ผมก็ยังไม่เข้าใจ ด้วยความเคารพจริงๆ

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่รู้พวกนี้แล้วจะรู้อะไร

    ผู้ฟัง รู้แล้ว

    ท่านอาจารย์ รู้ไม่แล้ว

    ผู้ฟัง ตาผมไม่มีสิทธิได้ยินแน่ๆ

    ท่านอาจารย์ แต่ตาที่กำลังเห็น เป็นอะไร เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ ที่กล่าวถึงอย่างนี้ ก็เพื่อแสดงให้เห็น ความวิจิตรของธรรมที่ไม่มีใครสามารถจะดลบันดาลได้เลยทั้งสิ้น แม้แต่จักขุปสาทรูป เป็นรูปชนิดหนึ่ง ใครเห็นบ้าง จักขุปสาทรูป

    ผู้ฟัง ไม่เห็น

    ท่านอาจารย์ ต้องบอกไม่เห็น อยากเห็นจักขุปสาทรูปไม่มีทางเห็นได้เลย แต่มี ใช่ไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ แล้วจักขุปสาทรูป ทั้งๆ ที่มีแต่ไม่เห็น ก็สามารถจะกระทบเฉพาะสี นี่คือแสดงความเป็นอนัตตา ซึ่งเราไม่รู้ แต่เวลาเราเรียนตำรา อายตนะ มาแล้วใช่ไหม แต่ว่าลองคิดถึงความหมายของ อายตนะจริงๆ ขณะที่นอนหลับ ไม่มีอะไรปรากฏ ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ แล้วเกิดเสียงปรากฏขึ้นมา ไม่น่าอัศจรรย์ ลองคิดดู

    ผู้ฟัง ก็มีปัจจัยให้เกิดเสียง

    ท่านอาจารย์ ก็ใช่ เพราะฉะนั้น แม้แต่เสียง ก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งใครก็เปลี่ยนลักษณะของเสียงไม่ได้ ก็น่าอัศจรรย์อยู่แล้ว เสียงต้องเป็นเสียง แล้วแต่ว่าจะเป็นเสียงอะไร ก็ตามเป็นปัจจัยนั้นๆ เสียงก็เป็นเสียง ก็ส่วนหนึ่ง แล้วยัง มีจิตที่ได้ยินเสียงอีก ลองคิดดูสิ จิตเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ ซึ่งเมื่อเกิดต้องรู้ แต่ต้องรู้ตามปัจจัย ไม่ใช่ว่าจิตเองก็ อยากจะรู้อะไรก็ได้ แล้วเมื่อจิต ยังไม่เกิด ก็ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น แต่เมื่อมีการรู้เกิดขึ้น หมายความว่า จิตเกิดจึงรู้ อย่างอื่นไม่สามารถจะรู้ได้ นี่คือการพยายามที่จะให้เข้าใจ ลักษณะแท้จริงของสภาพธรรม แต่ละอย่างด้วยความเป็นอนัตตา ว่าจิตเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ ซึ่งสามารถจะรู้ทุกอย่าง ขณะที่ไม่ได้ฟังธรรม มีคิดนึกไหม มีเห็น มีได้ยิน ใช่ไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ เป็นสภาพธรรมที่ต้องเป็นอย่างนั้น แล้วพอเรียนธรรมเกิดอยากจะให้จิต คิดอย่างโน้น ทำอย่างนี้ขึ้นมาก็แปลก ก็แต่ก่อนนี้จิตก็เกิดตามเหตุ ตามปัจจัย ไม่มีใครบังคับ แต่พอเรียนธรรมอยากจะให้จิต เป็นอย่างนั้น อยากจะไม่ให้เป็นอย่างนี้ขึ้นมา นี่แสดงว่าเราเรียนธรรมโดยเข้าใจหรือเปล่า แต่ถ้าโดยเข้าใจยิ่งเรียน ยิ่งเห็นความเป็นอนัตตา

    เพราะฉะนั้น การที่จะให้ความเข้าใจ ความเป็นอนัตตา ทรงแสดง ๔๕ พรรษา ถ้าไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จะไม่มีคำ ที่จะให้คนอื่นสามารถที่จะพิจารณา จนกระทั่งหยั่งลงถึงความเป็นอนัตตา แม้ด้วยความเข้าใจ แต่ว่าเวลาที่เราลองค่อยๆ คิด ขณะนี้ไม่มีเสียง แล้วเกิดเสียงปรากฏ ต้องน่าอัศจรรย์ สภาพที่รู้เสียงมี แต่ต้องมีทางที่จะรู้เสียง สภาพที่กำลังปรากฏทางตามี แต่ต้องมีทางที่จะเห็น กลิ่นมีก็จริง แล้วจิตก็เป็นสภาพรู้ แต่ต้องมีทางที่จิตจะรู้กลิ่น นี่ก็เป็นเรื่องที่แสดง ให้เห็นความเป็นอนัตตา แล้วก็ทรงแสดงโดยนัยต่างๆ เช่น โดยขันธ์ โดยธาตุ โดยอายตนะ ๔๕ พรรษา แล้วเราฟังมาเท่าไร ที่จะไม่ให้พูดเรื่องนี้ ซ้ำแล้วซ้ำอีก ซึ่งพระไตรปิฎก ก็ไม่พ้นจากเรื่องนี้เลย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สิ่งที่มีจริงๆ ทุกขณะไม่ต้องทำ แต่ให้รู้ตามความเป็นจริง ยังไม่ทราบซึ้งในอายตนะ ใช่ไหม

    ผู้ฟัง มันก็จริง แต่ทีนี้ทำไมถึง

    วิทยากร.แต่จริงของเรามันจริงแบบ จำได้เหมือนชาวบ้าน มีใครบ้างที่ไม่รู้ว่าตาเห็น หูได้ยิน จมูกได้กลิ่น ลิ้นรู้รส

    ผู้ฟัง ผมก็ว่าไม่มีคิดอย่างนั้น

    วิทยากร. ใครบ้างที่ไม่รู้ รู้ทุกคน แต่รู้อย่างเรารู้ มันรู้ว่า เรา เราเห็น เราได้ยิน เราได้กลิ่น เรารู้รส เราถูกต้องสัมผัส เราคิดนึก มันมีเราอยู่ทั้งนั้น ก็เลยไม่เห็นธรรม

    ผู้ฟัง ตรงนี้ที่อยากจะรู้ อาจารย์อยากจะบอกเราว่าอะไร

    วิทยากร. อาจารย์อยากจะให้เห็นธรรม

    ผู้ฟัง จะตัดคำว่า เราออกไปอย่างไร

    วิทยากร. อยากจะเห็นธรรมคือ ถ้ามีเราไปอยู่เมื่อไร ธรรมมันก็ไม่มี ใช่ไหม

    ผู้ฟัง หมายความว่าจิต เป็นคนเห็น

    วิทยากร. จิตทั้งนั้นนะเห็น จิตทั้งนั้นที่ได้ยิน จิตทั้งนั้นที่ได้กลิ่น จิตทั้งนั้นรู้รส จิตทั้งนั้น

    ผู้ฟัง รู้ ผมก็รู้ มันเป็นอย่างนั้น

    วิทยากร. รู้อย่างชาวบ้านรู้ แต่รู้อย่างนี้ไม่สามารถที่จะละความเป็นตัวตนได้ รู้อย่างเรารู้ ไม่สามารถที่จะละความเป็นตัวตนได้ ที่อาจารย์ ท่านพูดซ้ำพูดซาก พูดย้ำ พูดอีกแล้ว ถ้าเราฟังให้ดี จะเห็นว่าท่านอาจารย์ ต้องการให้เรา นี่มันเป็นเรื่องราวที่เราจำไว้ จนมั่นคงเหนียวแน่นเหลือเกิน มันแกะไม่ออก มันติดกันสนิทเหลือเกิน สนิทกับเรากับสิ่งที่เป็นจริง คือธรรม มันติดกัน จนไม่รู้ว่ามันเป็นคนละอัน ก็เป็นอันเดียวกัน แต่ความจริง เรามันเป็นเรื่องราว เป็นผู้บัญญัติที่เราจำ ไว้สภาพธรรม เป็นของจริงที่ปรากฏอยู่ เกิดเมื่อไรก็จริงเมื่อนั้น ไม่มีเราไม่มีใคร ไม่มีอะไรๆ ทั้งสิ้น เป็นแต่ธรรมเท่านั้น ท่านอาจารย์ ท่านต้องการให้เรารู้ ตรงนี้ ถ้ารู้ตรงนี้ได้เมื่อไร มันก็เป็นเรื่องที่ น่าอัศจรรย์อย่างอาจารย์ว่า มันไม่มีอะไร ไอ้ที่เราว่ามันมี มันมี เป็นความเข้าใจผิดของเรา สั่งสมมาไม่รู้เท่าไรๆ แล้วเมื่อไรมันจะรู้สักที มันจะแกะออกได้สักที

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นเราไม่อัศจรรย์เลย ใช่ไหม แต่ถ้าเป็นสภาพธรรม เห็นความอัศจรรย์ของธรรม ว่ามีธาตุรู้ซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานจริงๆ ไม่ว่าสภาพธรรมใดปรากฏ เพราะมีธาตุชนิดนี้ ซึ่งไม่มีรูปร่างใดๆ เจือปนในธาตุนั้นเลย แต่ธาตุนั้น สามารถที่จะคิด สามารถที่จะรู้สึก สามารถที่จะจำ ลองคิดถึง ว่าขณะนี้ เต็มไปด้วยรูป ทั้งๆ ที่ปรากฏทางตา แต่สีสันมากมาย ก็เลยเป็นกล่องกระดาษ เป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ เป็นรูปตั้งหลายอย่าง เป็นความหลากหลาย

    แต่ถ้าตามความเป็นจริงแล้ว ธาตุที่สามารถจะเห็น ลองคิดดู ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏเลย แต่เป็นนามธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นสภาพรู้ซึ่งเป็นใหญ่ ขณะนั้นจะไม่มีอะไรเป็นใหญ่เท่ากับ ธาตุชนิดนี้ซึ่งกำลังเห็น ตรงตามที่ทรงแสดงเรื่องของมนินทรีย์ เพราะฉะนั้น กว่าเราจะเข้าใจว่าทั้งหมด ที่ทรงแสดงก็คือทรงแสดงความจริงของสภาพธรรมนั้นๆ ตรงตามความเป็นจริง แต่ปัญญาเท่านั้น ที่จะต้องอบรมจนกว่าจะประจักษ์จริงๆ

    เพราะเหตุว่าถ้าเอารูปออกหมด ไม่มีเหลือเลยสักอย่างหนึ่ง มีแต่เฉพาะธาตุรู้ น่าอัศจรรย์ไหม ธาตุรู้ ไม่ใช่เราด้วย เป็นนามธาตุชนิดหนึ่ง ไม่มีรูปร่างใดๆ เลย แต่รู้ สามารถจะรู้ได้ทุกอย่าง แล้วในขณะนั้นต้องไม่มีอะไรด้วย แต่เมื่อมีสภาพธรรมหนึ่ง สภาพธรรมใดปรากฏ แยกแล้วกับธาตุรู้ รูปไม่ใช่ธาตุรู้ เพราะฉะนั้น ก็ดูเหมือนปกติในขณะนี้ รูปไม่ใช่ธาตุรู้ แต่เพราะเหตุว่าลักษณะของนามธาตุ ยังไม่ได้ปรากฏความอัศจรรย์ ของความเป็นมนินทรีย์ จนกว่าจะประจักษ์จริงๆ ว่าขณะนั้นไม่ใช่เรา เพราะว่าลักษณะของสภาพรู้หรือธาตุรู้ ปรากฏความเป็นใหญ่ ซึ่งไม่มีสิ่งอื่นใดเจือปนเลยทั้งสิ้น

    ผู้ฟัง เจตนาของอาจารย์สุจินต์อยากจะบอกเราว่าอย่างไร ทั้งๆ ที่หูก็ไม่มีสิทธิที่จะเห็น ตาไม่มีสิทธิที่ได้ยิน จะให้ผมเข้าใจว่าอย่างไร ผมก็รู้ว่าตามันก็เห็นแค่สี ไอ้ที่ผมเห็นเป็นหน้าต่าง ผมว่าคนในห้องนี้ หลายสิบคนก็เห็นเหมือนผม แต่ว่าไม่พูดเท่านั้นเอง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก่อนอื่น ขณะใดที่สติเกิด รู้ว่าต่างกับขณะที่หลงลืมสติ นี่เป็นขั้นต้น แล้วก็เป็นปกติธรรมดา สติเกิดแล้วก็ดับไป ก็เป็นของธรรมดา แต่รู้ว่าขณะนั้นสติเกิดแล้วก็ระลึกลักษณะใด เป็นปัจจัตตังเฉพาะตัว ต้องบอกคนอื่นไหม ไม่ต้อง

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่เมื่อไรสติเกิด สติก็ระลึกลักษณะ แล้วก็รู้ว่ากำลังนั้น มีลักษณะของปรมัตถธรรม ที่จะค่อยๆ เข้าใจขึ้น แล้วก็จะรู้ด้วยว่า ถ้าตราบใดที่สติอย่างนี้ไม่เกิด ไม่มีทางที่จะรู้ลักษณะจริงๆ เป็นแต่เรื่องราว หรือว่าเป็นการคิดนึกเรื่องสภาพธรรม แต่ลักษณะจริงๆ ไม่ต้องคิดเลย อย่างแข็งกำลังปรากฏจริงๆ เพียงแต่ขณะนั้นจะค่อยๆ เข้าใจในสภาพที่รู้ และในลักษณะที่แข็ง ทีละนิดทีละหน่อย ทีละเล็กทีละน้อย ตามกำลังของปัจจัย ไม่ใช่ว่าเป็นไปตามที่เราต้องการ หรือว่าหาทางที่จะไปทำให้รวดเร็วขึ้น นั่นก็ผิดแล้ว ตังมาแล้ว ติดตังอีกแล้ว คอยแต่จะมีตังทั้งวัน คุณเด่นพงษ์บอกว่า ที่นี่คงจะมีหลายสิบคนที่เห็นเป็นหน้าต่าง

    ผู้ฟัง คิดว่าอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ ที่จริงแล้วทุกคน ใช่หรือเปล่า ทุกคนยอมรับ เพราะว่าเป็นความจริง แต่ว่าใครก็ตามที่กำลังเห็น เห็นเป็นคุณนิพัฒน์ เห็นเป็นคุณประทีป เห็นเป็นเก้าอี้ เห็นเป็นกล่องก็เห็น แต่เริ่มรู้ ว่านี้เป็นเพียงสภาพธรรม อย่างหนึ่ง ซึ่งปรากฏทางตา กว่าจะไปถึงการที่รู้ชัดจริงๆ ว่าแท้ที่จริงมีสิ่งที่ปรากฏ แล้วคิด ถ้าไม่คิด จะไม่มีอะไรเลย สิ่งที่ปรากฏทางตานี้ก็สั้นมาก แต่ว่าสืบต่อเร็ว จนทำให้คิดว่าเป็นสิ่งหนึ่ง สิ่งใด

    เพราะฉะนั้น จะไปยับยั้งไม่ให้เห็นแล้วก็เป็นสิ่งหนึ่ง สิ่งใดไม่ได้ แต่เริ่มที่จะเข้าใจ ไม่ใช่เป็นเรื่องไปทำให้ ไม่เห็น เป็นคน แต่เป็นเรื่องที่เริ่มตั้งแต่เดี๋ยวนี้เลย แม้สักนิดเดียว ที่จะรู้ว่า แม้ขณะนี้ ก็เป็นเพียงธรรมที่ปรากฏทางตา จะค่อยๆ ละการติด ในนิมิต อนุพยัญชนะ ในขณะที่กำลังเริ่มเข้าใจ แต่พอในขณะนั้นไม่ได้รู้ว่าเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ได้น้อมไป ความติดในนิมิต อนุพยัญชนะ รูปร่าง และสัญฐานก็มี แต่ว่าแม้อย่างนั้นก็ตาม เริ่มทีละเล็กทีละน้อย จะเข้าใจให้ถูกต้องว่า ขณะนี้ก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งมีจริงๆ ไม่ต้องไปเปลี่ยนแปลงอะไร แต่เพราะความเข้าใจเริ่มมี ว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา อีกหน่อยความรู้ในสิ่งนี้ก็ จะค่อยๆ จางความเป็นสิ่งหนึ่ง สิ่งใด จากสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ต้องมีความเข้าใจถูกว่า ถึงอย่างไรจะเป็นคนเป็นอะไรด้วยความทรงจำ แต่ลักษณะแท้จริงก็คือสิ่งนี้เป็นธรรม ที่สามารถปรากฏทางตาเท่านั้น

    แต่ถ้าเริ่มจะเจริญสติปัฏฐาน จะค่อยๆ เข้าใจความอัศจรรย์ขึ้น จะเข้าใจความหมายของคำที่มีในพระไตรปิฎก โดยขันธ์ โดยอายตนะ ก็จะรู้เลย ว่าความหมายของอายตนะที่ประชุม จะขาดสิ่งหนึ่ง สิ่งใด ขณะนั้นไม่ได้ ต้องมีอยู่ในที่นั้น สิ่งนั้นจึงจะมีปรากฏได้ แต่ความรู้ของผู้ทีเจริญสติปัฏฐาน ต้อง ไกลมากจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ห่างไกลจากกิเลสทั้งปวง ไม่มีอะไรเหลือเลย แต่คนที่กำลังอบรมเจริญสติปัฏฐาน ยังไม่ได้ห่างไกลจากกิเลสทั้งปวง เพราะฉะนั้น ก็เป็นผู้ที่ห่างไกลจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยคุณธรรม แต่ค่อยๆ ใกล้ เมื่อมีการฟังธรรม ก็เริ่มเข้าใจถูกต้อง ในพระปัญญาคุณ แล้วรู้ว่าพระองค์ตรัสรู้อะไร แล้วทรงแสดงธรรมที่กำลังมีในขณะนี้ให้เข้าใจได้

    ผู้ฟัง เมตตามันใกล้กับโลภะ มาก อันนี้ให้เห็นความชัดระหว่าง เมตตา กับโลภะ เห็น กับที่น่ารัก อันนี้ มันคล้ายๆ กันว่า ลูกก็เป็นสัตว์ที่น่ารัก เวลาเราเมตตาก็เป็นสัตว์ที่น่ารัก เป็นเหตุใกล้ ปัญญาเท่านั้น ที่จะชึ้ชัดว่า อันนี้มันเป็นโลภะ หรือเมตตา เพราะว่าลักษณะ พ่อกับลูก มันก็คือน่ารัก ถ้าคุณพ่อจะเมตตาลูกก็คือ เมตตา อันนี้ อาจารย์ คำสุดท้ายที่เป็นเหตุใกล้ให้เกิด รู้สึกมันจะเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ ถ้าเราเข้าใจความหมายของเมตตาง่ายๆ คือความเป็นเพื่อน ซึ่งความเป็นเพื่อนก็หมายความว่า ผู้ที่หวังดี พร้อมที่จะเกื้อกูล ไม่หวังร้าย

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 103
    25 มี.ค. 2567