ปกิณณกธรรม ตอนที่ 620


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๖๒๐

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ.๒๕๔๕


    ท่านอาจารย์ แต่ไม่ใช่เป็นการรู้ ด้วยเราจะไปรู้ หรือเราจะพยายามทำทุกอย่างเพื่อจะรู้ อันนั้นก็ยังมีความเป็นเรา ซึ่งไม่ใช่หนทาง ถ้าเป็นหนทางแล้ว ผู้นั้นต้องไม่ลืมคำว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา มิฉะนั้นไม่ทรงแสดงมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งปกติก็เป็นมรรคมีองค์ ๕ ได้แก่เจตสิกซึ่งไม่มีเราเลย เพราะฉะนั้น ก็จะต้องเป็นผู้ที่ฟัง ด้วยความเข้าใจจริงๆ แล้วก็มีวิริยะซึ่งไม่ใช่เราทำ แต่ว่าวิริยเจตสิก ก็เกิดที่จะเพียร ที่จะฟังต่อไปอีก คนที่ฟังธรรมไม่ได้ฟังวันเดียว ใช่ไหม ฟังกันมากี่ปีแล้ว ทราบไหมว่าระหว่างนั้น วิริยเจตสิก มี ไม่ใช่เรา แต่ว่าขณะที่กำลังฟังก็คือ เพียร เพราะฉะนั้น การที่เจตสิกทั้งหลายก็มี จิตประเภทต่างๆ ก็มี แม้รูปในขณะนี้ก็มี จะรู้ได้ก็ต่อเมื่อมีสติสัมปชัญญะ ถ้าไม่เข้าใจลักษณะขอสติสัมปชัญญะ สภาพธรรมที่ได้ยินได้ฟังทั้งหมดก็เป็นเรื่องที่เราเพียรกำลังฟัง แล้วค่อยๆ เข้าใจ แต่ว่าตัวจริงของสภาพธรรม ในขณะนี้ก็มีปัจจัยปรุงแต่ง เกิดแล้วก็ดับ

    ผู้ฟัง อุเบกขาบารมี ที่เป็นความไม่หวั่นไหว จะต่างกับความไม่หวั่นไหวในอธิษฐานบารมีอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่างก็คือว่าต้องเข้าใจว่าเป็นอุเบกขาบารมี ก็ไม่หวั่นไหวทั้งหมด ในเรื่องของเมตตา กรุณา มุทิตา แล้วก็ถึงอุเบกขา เพราะเหตุว่าเมตตาก็ยังใกล้ ต่อการที่จะเมตตาบ้าง ไม่เมตตาบ้าง หรือว่ากรุณาบางครั้งก็เกิด บางครั้งก็ไม่เกิด มุทิตาก็เช่นเดียวกัน แต่ความไม่หวั่นไหว ถ้ามีเสมอเป็นประจำ ก็ย่อมจะเกิดกับทุกกรณีได้ ไม่จำกัด ถ้าเป็นผู้ที่ไม่หวั่นไหว แล้วก็มีคนที่กำลังเดือดร้อนมาก จิตใจก็มีเมตตา แล้วก็มีกรุณา ต้องการที่จะให้เขาพ้นทุกข์ ขณะนั้นหวั่นไหว หรือเปล่า

    ผู้ฟัง สักครู่ท่านอาจารย์ได้กรุณา กล่าวบอกว่า การฟังธรรมก็จะชัดเจนยิ่งขึ้นๆ ตรงนี้มันตรงกับที่ดิฉัน ก็คือว่า ฟังมาตั้งนานแล้ว เรื่องการเกิดดับ ก็ไม่เคยใส่ใจ เมื่อสักครู่ท่านอาจารย์ก็กล่าว เรื่องการเกิดดับ แล้วไม่นานมานี้เอง ดิฉันก็เพิ่งเข้าใจตรงนี้ มันมีประโยชน์จริงๆ ท่านอาจารย์ เพราะว่า เสียงไม่ว่าเขาจะชม หรือเขาจะว่า เราก็หลังจากนั้น เราก็จะคิดว่าถ้าชม เราก็จะชอบ ถ้าสมมติว่า ถ้าเขาว่าเราก็ไม่ชอบ พอมาเข้าใจถึง แล้วมันก็เกิด มันก็ดับไปแล้ว ตรงนี้เป็นความนึกคิดของเรา ตรงนี้ช่วยได้มาก

    ท่านอาจารย์ แล้วถ้าเข้าใจธรรมเพิ่มขึ้น ก็จะยิ่งเห็นว่า พระธรรมที่ทรงแสดง เมื่อผู้ฟังเกิดปัญญาแล้ว ก็จะรู้ว่าเบาจากการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน มิฉะนั้นแล้วก็ยังคงเป็นเรา ถึงแม้ว่าจะมีความเข้าใจขึ้น ความเข้าใจขึ้นก็ยังคงเป็นเรา แต่ให้ทราบว่าธรรม ตรงตามความเป็นจริงทุกอย่าง อย่างคำที่ว่าไม่มีใครรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นข้างหน้า พอถึงข้างหน้า ทุกคนคิดถึงเมื่อไร

    ผู้ฟัง พรุ่งนี้ หรือมะรืนนี้ไปเลย

    ท่านอาจารย์ พรุ่งนี้ หรือมะรืนนี้ หรือเดือนนี้ ทำไมไม่คิดถึงต่อไปจากขณะนี้ แค่ต่อไปจากขณะนี้จริงๆ ก็ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ว่า อะไรเกิด เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นสติสัมปชัญญะ ที่รู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม รู้เลยว่า ไม่สามารถจะรู้ได้ว่า ขณะต่อไปอะไรจะเกิด เพราะฉะนั้น คำที่ว่า ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่าอะไรจะเกิด ก็ตรงจากที่เคยคิดยาวมาก เดือนหน้า อาทิตย์หน้า วันหน้า เป็นเดี๋ยวนี้ ขณะนี้ ไม่มีใครรู้ว่าอะไรจะเกิด

    เพราะฉะนั้น ทุกอย่างที่เป็นความจริง ก็จะมีปัญญาที่ค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เข้าใจความจริง ชัดเจนยิ่งขึ้น ทุกอย่างตรงตามที่ได้ศึกษา มีใครรู้ไหม ขณะต่อไป อะไรจะเกิด แต่ปรากฏแล้ว เห็นไหมว่า น่าอัศจรรย์ ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิด แต่เกิดอีกแล้ว นี่คือความจริง แต่ว่าความรู้ขั้นต้น เป็นแต่เพียงรู้ ด้วยความเป็นเรา จนกว่าจะไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียง นามธรรม และรูปธรรมเท่านั้น ความเข้าใจเรื่อง อนัตตา คือไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ว่าอะไรจะเกิด ก็ยิ่งมั่นคงขึ้น

    ผู้ฟัง ขอขยายความว่า ไม่หวั่นไหวกับสภาพธรรมที่เป็น ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิกนี้ มันเหมือนกันหรือต่างกัน อย่างไร ดูมันเหมือนกับว่าไม่หวั่นไหว นี่คือขันติบารมี เพราะฉะนั้น เวลานี้จะสับสนระหว่าขันติบารมี กับว่าไม่หวั่นไหว และเป็นตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก

    ท่านอาจารย์ ที่นี่เป็น ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก

    ผู้ฟัง ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก นี้ก็คืออยู่เป็นกลาง ไม่กุศล และไม่อกุศล

    ท่านอาจารย์ ถ้าจิตไม่หวั่นไหว จะเดือดร้อนไหม กับคำชม และคำสรรเสริญ

    ผู้ฟัง ไม่เดือดร้อน แต่มันจะต่างกับขันติ คืออดทนอย่างไร อดทนก็คือความไม่หวั่นไหวนั่นเอง หรืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ อดทนอย่างไรบ้าง คนที่อดทนทั้งหลาย อดทนอะไร

    ผู้ฟัง เราอดทนที่จะมาเรียนธรรม เพื่อให้เกิดปัญญา แต่เขาเกิดทีละนิดๆ หรือบางทีไม่เกิดเลย อันนี้บางครั้งมันก็หมดความอดทนที่อยากจะไปหาอย่างอื่น ซึ่งง่ายกว่า

    ท่านอาจารย์ โดยมาก ทุกคนจะติดคำ ลืมธรรม หรือว่าลืมสภาพธรรม พยายามจะหา ว่าคำนี้คืออะไร เมื่อไร อย่างไร แต่ว่าจริงๆ แล้วก็คือคำที่แสดงลักษณะของสภาพธรรมนั่นเอง เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะเข้าใจธรรมได้ ต่อเมื่อเราไม่ติดในคำ เพราะว่าคำจะมีมาก แล้วแต่ละคำแสดงสภาพธรรมที่ละเอียด อย่างอธิษฐานความมั่นคงจิตที่ตั้งมั่นคง ไม่หวั่นไหว หมายความว่า คนที่ฟังธรรม ฟังเพื่ออะไร

    ผู้ฟัง เพื่อรู้ความจริง

    ท่านอาจารย์ เพื่อรู้ความจริง เพื่อเข้าใจธรรม ทั้งๆ ที่ธรรมก็ยาก มั่นคงไหม ที่จะไม่ท้อถอย ถึงอย่างไรๆ อริยสัจจธรรมก็คือ เดี๋ยวนี้ ขณะนี้ ถ้าปัญญาสามารถจะรู้ความจริงได้

    เรื่องของบารมี บางคนอยากจะให้แสดงเป็นเจตสิกแต่ละประเภท เจาะจงลงไป แต่อย่าลืมว่า แต่ละขณะที่จิตเกิด ก็จะประกอบด้วย เจตสิกหลายๆ ประเภท

    เจตสิก ๑ เช่น สัญญาเจตสิก เมื่อเกิดร่วมกับระดับของ วิริยะขั้นต่างๆ สัญญานั้นก็เพิ่มกำลังเป็นอีกชื่อหนึ่งแล้ว เพราะฉะนั้น เราก็ใช้ชื่อ สำหรับแสดงถึงสภาพธรรมจริงๆ หลากหลายมาก แต่อย่างไรก็ตาม ปัญญาของเราดูเหมือนทุกคน อยากจะรู้เพียงคำ แต่ตัวธรรมจริงๆ ถ้าจะเข้าใจคำในพระไตรปิฎก ที่ทรงแสดงไว้ เป็นภาษาบาลี คำต่างๆ ได้ต่อเมื่อเรารู้จักสภาพธรรมละเอียด แล้วก็เห็นความต่าง แม้แต่ของสภาพธรรม ที่เป็นเจตสิก ๑ ซึ่งประกอบด้วยเจสิกอื่นๆ ในกุศล และอกุศล ประเภทต่างๆ ระดับขั้นต่างๆ เราไม่ต้องมากังวลเลย เรื่องชื่อ แต่ว่าเราสามารถที่จะเข้าใจรู้ลักษณะของสภาพธรรม และอีกประการ ๑ ซึ่งไม่ควรลืมก็คือ เรียนเพื่อละความไม่รู้สภาพธรรม ไม่ใช่เพื่อที่จะจำคำ หรือว่ารู้คำแปล แต่ว่าเรียนเพื่อที่จะละความไม่รู้ ในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จนกว่าจะเป็นความรู้ที่แจ่มแจ้งชัดเจน ประจักษ์แจ้งได้ บารมีเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล

    ผู้ฟัง เป็นกุศล ซึ่งต้องไปกับปัญญาด้วย

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น อุเบกขาที่นี่เป็นกุศล หรือ อกุศล

    ผู้ฟัง ต้องเป็นกุศล

    ผู้ฟัง เรื่องอุเบกขาบารมี ในคำบรรยายท่านอาจารย์ก็ได้พูดถึงว่าเป็นสุดยอดของบารมีทั้งหมด เป็นบารมีที่จะบำเพ็ญยาก ด้วยเหตุนั้นท่านจึงแสดงสุดท้าย ทำไมถึงต้องบำเพ็ญยาก ในเรื่องของ อุเบกขาบารมี

    ท่านอาจารย์ ไม่หวั่นไหวทั้งนั้น ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ยากหรือง่าย

    ผู้ฟัง ยากกว่าทาน ยากกว่าศีล ใช่ไหม หรือว่าขั้นวิริยะเหล่านี้ ไม่หวั่นไหวโลกธรรม ทั้งฝ่ายดี และฝ่ายไม่ไดี จึงแสดงไว้สุดท้าย

    ท่านอาจารย์ หนทางที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระอริยสาวกทั้งหลายดำเนิน คือ ไม่หวั่นไหว ไม่ยินดี ยินร้ายในทุกอย่าง

    ผู้ฟัง แต่ก็ต้องเป็นกุศล ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ แล้วจะเป็นไปได้ไหม ไม่ยินดี ยินร้ายในทุกอย่าง ได้ด้วยอะไร หนทางที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระอริยสาวกทั้งหลาย ดำเนินด้วยอะไรจึงไม่หวั่นไหว

    ผู้ฟัง ก็ต้องปัญญา

    ท่านอาจารย์ ปัญญาขนาดไหน

    ผู้ฟัง ต้องเป็นปัญญาขั้นมีกำลัง ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เกิดพร้อมกับสติปัฏฐาน หนทางเดียวที่จะไม่หวั่นไหว

    ผู้ฟัง แล้วถ้าก่อนหน้านั้น

    ท่านอาจารย์ ก่อนหน้านั้น ก็ค่อยๆ สะสมอบรมไป แต่ว่าตราบใดที่ยังมีเรา เป็นเรา แล้วก็ลองคิดดูก็แล้วกัน เราดีบ้าง เราไม่ดีบ้าง หวั่นไหว หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ก็หวั่นไหว แต่สำหรับพระโพธิสัตว์ ในคำบรรยายท่านอาจารย์ในเรื่องของบารมี ก็จะเป็นพระชาติที่เป็น ผู้หนึ่งตอนนั้น แสดงว่าท่านไม่ได้อบรมสติปัฏฐาน เป็นนอกพุทธกาล

    ท่านอาจารย์ แต่ว่าสะสมมาหรือเปล่า

    ผู้ฟัง สะสมมา

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น คนที่สะสม ความเข้าใจเรื่องธรรม แม้ว่าในชาตินั้น จะไม่ได้ยินไม่ได้ฟัง แต่สภาพของจิตที่มีธรรม ที่สะสมมาแล้ว จะทำให้เขาเป็นอย่างไร ต่างกับบุคคลอื่น แม้แต่ในความคิดนึก ก็ต่างกันได้

    วิทยากร. ผมอยากจะมีตัวอย่างเรื่อง พระสัมมาสัมพุทธเจ้า สมัยเป็นพระโพธิสัตว์ บำเพ็ญอุเบกขาบารมี ในชาตินั้นพระโพธิสัตว์ได้เป็นมหาพรหม นามว่า นารท แต่งองค์แล้วเหาะมา พระเจ้าอังคติ ถามว่า ท่านยืนบนอากาศได้อย่างไร ทำไมถึงเหาะได้ พระโพธิสัตว์ ก็กล่าวว่า เราทำ ๔ ประการ คือ สัจ ธรรม ทมะ จาคะ อาตมาภาพ ได้ทำไว้ในภพก่อน สัจจัง ได้แก่วจีสัจจะ ธัมโม ได้แก่สุจริต ๓ และฌาน ทโม ได้แก่ การฝึกอินทรีย์ จาโค ได้แก่ การสละกิเลส และไทยธรรม พระเจ้าอังคติราชไม่เชื่อเรื่องปรโลก พระเจ้าอังคติราช บอกว่าถ้าปรโลกมี ขอยืมเงินสัก ๕๐๐ แล้วก็จะไปใช้ในที่ปรโลก จะใช้ให้ ๑ พัน พระมหานารท ก็บอกว่า จะไปทวงท่านที่นรกได้อย่างไร หมายความว่า ท่านต้องไปตกนรก เราจะไปทวงได้อย่างไร แล้วก็เล่าเรื่องให้ทรงละ มิจฉาทิฏฐิ ให้ตั้งอยู่ในศีล ให้ละบาป เข้าใกล้กัลยาณมิตร อย่าประมาท แล้วพรรณาคุณของนางรุจา ให้โอวาทแก่ ราชบริษัท และทั้งนางแล้ว กลับไปพรหมโลก อังคติราช ตั้งอยู่ในโอววาท ละมิจฉาทิฏฐิ บำเพ็ญบารมี มีทานเป็นต้น ได้เป็นผู้มีสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า

    จริงๆ แล้ว ถ้าเรามาดูแล้วมันเป็นอุเบกขาบารมี ตรงไหน ท่านไม่ได้หวั่นไหวเลย แม้ในชาตินั้น ยังไม่สามารถที่จะให้ พระเจ้าอังคติราชได้รู้ธรรมเห็นธรรมได้ แต่ก็ได้ให้ไปนิดหนึ่ง ให้ละมิจฉาทิฏฐิ นี่แหละคืออุเบกขาบารมี แล้วเรื่องความไม่หวั่นไหวต่างๆ มันเป็นเรื่องที่จะต้องหลายๆ อย่างรวมกัน ทั้งต้องให้ธรรม ให้ละเว้นอธรรม ให้ทำแต่สิ่งที่ถูกต้องอย่างนี้ เรื่อยๆ เรื่อยๆ อย่างนี้ เป็นเรื่องที่พระสัมมาสมัพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ ท่านก็เกื้อกูลให้ทุกอย่าง ประโยชน์ในชาตินั้นได้แค่นี้ ก็ให้ เพราะฉะนั้น ถ้าเจาะจงอันใดอันหนึ่ง ว่าเป็นอุเบกขาบารมี มันก็จะแคบไป ถ้าจะให้กว้างแล้ว ความจริงข้อความมันยาวมาก นี่ผมก็สรุปให้ฟัง เรื่องละ มิจฉาทิฏฐิ

    ท่านอาจารย์ แล้วพวกเราตอนนั้นอยู่ที่ไหน มีโอกาสจะได้พบท่านเหล่านี้บ้างหรือเปล่า ในสังสารวัฏฏหรือไม่มี หายไปจากสังสารวัฏฏ มี แต่ว่าไม่ทราบว่าจะอยู่ที่ไหน แต่ว่า ณ บัดนี้เราก็ยังมีโอกาส ที่จะได้ยินได้ฟัง แต่อย่าคิดเรื่องที่จะไปเข้าใจพระไตรปิฎก ครบถ้วน เพียงแต่ว่าปัญญาของผู้ที่ตรัสรู้แล้ว ทรงแสดงโดยละเอียด เราเพียงแต่ให้เข้าใจถูก เหมือนตอนต้นที่เราได้ยินได้ฟังว่าทุกอย่างเป็นธรรม แค่นี้ แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจว่าการที่เราไม่ลืม คำนี้เลย เมื่อฟังไปก็เพิ่มความเข้าใจขึ้นว่าขณะนี้เป็นธรรม อันนี้จะเกื้อกูลมาก ที่จะทำให้รู้สภาพธรรม ทีกำลังปรากฏ มิฉะนั้นแล้วเราก็จะอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ ใน คราวโน้น แล้วก็ต่อไปอีกจนกระทั่ง ถึงพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ต่อไป ก็จะจำไม่ได้ว่าเราเคยอยู่ตรงนี้

    ผู้ฟัง อุเบกขาบารมี ที่จะเกิด ลักษณะเขา ต้องเกิดพร้อมสติปัฏฐาน

    ท่านอาจารย์ คุณสุรีย์ หมายความว่า เมื่อกี้นี้พูดถึงเรื่องความไม่หวั่นไหว ไม่ยินดียินร้าย ก็ถามว่าจะเกิดได้เมื่อไร ความไม่ยินดียินร้าย แต่คำตอบคำหนึ่งก็คือว่า เมื่อสติเกิด ระลึกลักษณะของสภาพธรรม แล้วรู้ลักษณะนั้นตามความเป็นจริง ขณะนั้นก็จะทำให้ไม่ยินดี ยินร้าย

    ผู้ฟัง นี่ก็คือลักษณะของอุเบกขา ไม่ยินดี ยินร้าย ไม่หวั่นไหว อันนี้ที่เรากำลังเรียนอยู่ คิดก่อนนี้มันเป็นเรื่องบารมีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งอย่างไรก็ตาม เราก็ไม่ถึง ดิฉันก็ได้ความคิดว่า

    ท่านอาจารย์ เป็นบารมีของเราที่ไม่ถึงความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ผู้ฟัง ใช่ ไม่ถึงแน่ๆ เพราะว่ายิ่งไปจำกัดความว่า ถ้าไม่หวั่นไหวนั้น มันจะไปเกิดในขณะซึ่งสติเกิด สติปัฏฐานเกิดนี้ น้อยนิด เราจะเกิดสติปัฏฐานนี้ มันก็เกือบจะไม่มีเลย ก็เลยทำให้หมดกำลังใจ

    ท่านอาจารย์ แต่ว่าเราฟังทำไม เห็นไหม บอกว่าน้อยนิดแทบจะไม่เกิดเลย แต่ว่าเราฟังทำไม เราฟังเพื่อ เป็นปัจจัย อย่าลืม ไม่อย่างนั้น เราก็ไม่ต้องฟังเลย คิดว่าไม่เกิดแน่ๆ ไม่ฟังแล้ว แต่เมื่อฟังแล้ว มีความเข้าใจ ก็จะทำให้สติปัฏฐานเกิดได้

    ผู้ฟัง ทีนี้ ก็ฟังเพื่อจะเกิด มันก็ผลักต่อไปอีกว่า ถ้าไม่เกิด อุเบกขาก็ไม่เกิด จะทำให้ท้อใจว่า ในชาตินี้ อุเบกขา คงไม่มี อุเบกขาบารมี

    ท่านอาจารย์ ก็ยัง เราทั้งนั้นแหละ เมื่อมีความเป็นตัวเรา ก็ต้องหวั่นไหว

    เพราะฉะนั้น การฟังธรรมเป็นเรื่องเข้าใจตามลำดับ ไม่ใช่ว่าข้ามขั้น ขณะนี้ทุกคนรู้ว่า กำลังเห็น ผู้ที่รู้ ตรัสรู้แล้ว ละความเป็นตัวตนที่เห็น แล้วลองคิดดู ว่าเห็นเป็นเรา นานแสนนานมาแล้ว ดีใจเป็นเราหรือเปล่า เสียใจ สติ ปัญญา ทุกอย่างเป็นเราหมด แล้วกว่าจะละ ความเป็นเราออกจากสภาพธรรมทุกอย่าง ที่กำลังเป็นอยู่ในขณะนี้ ต้องเป็นสิ่งซึ่งใช้เวลานานมาก แต่ว่าจากการฟังพระธรรม ก็จะทำให้มีความเข้าใจค่อยๆ เพิ่มขึ้น แล้วไม่ต้องไปคิดด้วยความเป็นตัวตน ว่าเราจะทำ แล้วเมื่อไรเราจะหมด นี่คือตัวเรา นำหน้าอยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าในขณะที่ฟัง มีความเข้าใจเพิ่มขึ้นที่ถูกต้อง แม้ว่าจะยังไม่ประจักษ์ แต่ก็รู้ว่านามธรรมมี รูปธรรมมี แล้วการฟังธรรม เพื่อรู้ รู้เพื่ออะไร รู้เพื่อละความเป็นเราจากทุกอย่าง ตั้งแต่เช้ามาจนถึงเดี๋ยวนี้ ละบ้างหรือยัง

    ผู้ฟัง ต้องบอกว่ายัง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ต้องอีกนานเท่าไร ก็ตั้งแต่เช้าจนถึงเดี๋ยวนี้ ก็ยังไม่ได้ละ แล้วก็ฟังเพื่อที่จะเข้าใจ แล้วปัญญาละ ไม่ใช่เราละ เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า ต้องขึ้นอยู่กับความเข้าใจ เมื่อมีความเข้าใจแล้ว ความเข้าใจก็ทำหน้าที่ของความเข้าใจนั้น

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่มีความเป็นตัวตน ที่จะเร่งรัดเลย แต่ให้รู้ว่า ถ้าใครคิดว่ายาวนาน ก็ให้รู้ว่า ทำไมจะไม่ยาวนาน ในเมื่อเห็น ได้ยิน คิดนึก แข็งอ่อน เย็นร้อนทุกอย่าง ตั้งแต่เช้ามาจนถึงเดียวนี้ มีความเป็นเราทั้งหมด ปัญญาจะต้องละความเป็นเรา จากสภาพธรรมทั้งหมด ที่เคยยึดถือว่าเป็นเรา เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่อดทน แล้วก็เพียร แล้วก็อุเบกขา แล้วก็ทุกอย่างที่เป็นบารมี ที่จะต้องค่อยๆ สะสมไป

    ผู้ฟัง เกี่ยวกับเรื่องสติปัฏฐาน เรื่องความเกิดบ่อย หรือไม่บ่อย ท่านอาจารย์ว่า ถ้าสมมติว่า มีความเข้าใจในเรื่องสติปัฏฐานแล้ว มันจะเกิดบ่อย หรือไม่บ่อย มันก็คงจะไม่มีปัญหาอะไร ใช่ไหม เพราะเราเข้าใจไปถึงตรงนั้นแล้ว

    ท่านอาจารย์ สติปัฏฐาน เป็นเรื่องเฉพาะตัวจริงๆ ต้องบอกใครไหม ว่าเดี๋ยวนี้สติกำลังระลึกลักษณะของสภาพธรรม หรือว่าขณะนี้สติปัฏฐานไม่เกิด หรือสติปัฏฐาน ก็เกิดบ้างไม่เกิดบ้าง หรือว่าสติปัฏฐานเกิดบ่อย หรือไม่เกิดบ่อย แต่ความเป็นเรายังมีอยู่ ตามความเป็นจริงที่จะต้องรู้ ว่าต้องอาศัยสติมากแค่ไหน ที่จะอบรมเจริญ จนกว่าจะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมด้วยปัญญาที่เป็นวิปัสสนาญาณ ตามลำดับขั้นจริงๆ

    นี่ก็เป็นเรื่องธรรมดาจริงๆ เป็นเรื่องเหตุกับผล เป็นเรื่องของการที่ ไม่เคยรู้เลยว่า เป็นธรรมจนกระทั่งจากการฟัง แล้วก็รู้ว่าเป็นธรรม แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ค่อยๆ เข้าใจขึ้น นี่เป็นหนทางเดียว แต่ว่าอย่าไปหมกมุ่นเรื่องตัวหนังสือ เรื่องคำนี้ เรื่องอะไรต่ออะไร เพราะเหตุว่า ขณะนั้นไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ถ้ามีความเข้าใจสภาพธรรม แล้วเวลาที่สภาพธรรมปรากฏ ไม่มีชื่อ เกินกว่าชื่อ ที่จะใช้คำใดๆ ที่จะอธิบายสภาพธรรมที่หลากหลาย ซึ่งเมื่อสติระลึกก็จะค่อยๆ รู้จนกว่าจะรอบรู้

    ผู้ฟัง จากที่ท่านอาจารย์กรุณาบรรยาย มานี่ ความเข้าใจตรงนี้มันก็ลึกซึ้งสำหรับขั้นที่จะเข้าใจอยู่แล้ว ว่าสภาพธรรม ก็มีอยู่ตลอด เพราะฉะนั้น ตรงนี้ มันก็เหมือนกับว่าเป็นการจุดประกายแล้วละ ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ขั้น สติปัฏฐานจริงๆ ตรงนี้ ดิฉันก็เห็นประโยชน์อยู่แล้ว

    ผู้ฟัง เมื่อกี้นี้มีการพูดถึงว่า เราละ บ้างหรือยัง เราเริ่มละบ้างหรือยัง อาจารย์ถามอย่างนี้ จะหมายความว่า เราตั้งใจว่าเราจะละ ตื่นเช้าขึ้นมา เราได้ลดอะไรไปบ้าง ลดอะไบ้าง กลายเป็นตัวตนหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ มิได้ มิได้ ไม่ได้ให้ไปทำ แต่เรารู้ไหมว่า ตั้งแต่เช้ามา ละ บ้างหรือเปล่า ตามความเป็นจริง ใครจะรู้นอกจากตัวเอง

    ผู้ฟัง ใช่ คือ แต่ว่าถ้าเราพูดแบบรวมๆ ตั้งแต่ศึกษาธรรมมา ผมคิดว่ามันก็มีลักษณะมีอาการ ด้วยตัวเอง จิตมันจะบอกว่าพยายามที่จะลดละ โกรธไปแล้วถึงมานึกทีหลัง หรือว่าให้ทานน้อยไป ควรจะให้ทานมากกว่านี้ อาจจะมานึกถึงทีหลัง อะไรแบบอย่างนี้ อธิษฐานว่าจะต้องลดให้ได้ทุกวัน อย่างนี้ ไม่ใช่อย่างนั้น ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ เพราะเหตุว่าละทีนี่ ละ ความเป็นเราจากสภาพธรรมทั้งหมด ที่ผ่านมาแล้วตั้งแต่เช้าจนกถึงเดี๋ยวนี้ เราเห็นมากี่ขณะ เรา ได้ยินมากี่ขณะ คิดนึกกี่ขณะ สุข ทุกข์ เฉยๆ กี่ขณะ ทั้งหมดเป็นเราหมด แต่การที่จะมีความเห็นถูกก็คือ ละการยึดถือสภาพนั้นๆ ว่าเป็นเรา ก่อนที่จะไปละ โลภะ โทสะ โมหะ หรืออกุศลอื่น ต้องละความเห็นผิด ที่มีอยู่ในขณะที่กำลังเห็น มีอยู่คือ อวิชชาไม่รู้ ลักษณะของนามธรรมก็ไม่รู้ ลักษณะของรูปธรรมก็ไม่รู้ ถ้าไม่ฟังเลย ใครจะรู้ว่า เป็นนามธรรม หรือรูปธรรม ไม่มีการรู้เลย แต่เมื่อฟังก็สามารถที่จะเข้าใจได้ว่าความรู้ขั้นฟัง ในขณะที่สภาพธรรมจริงๆ เป็นนามธรรมกำลังเห็น เป็นนามธรรมที่กำลังได้ยิน

    เพราะฉะนั้น จึงมีความรู้หลายขั้น หลายระดับ ขั้นฟัง คนนั้นก็เป็นผู้ตรง ว่ามีความเข้าใจขึ้น จากการที่ไม่เคยรู้เลยว่าเป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม ก็เริ่มฟังแล้วเข้าใจ ว่าจริงๆ แล้ว ก็คือ ทั้งหมดที่เคยยึดถือว่าเป็นเรา ก็คือนามธรรมซึ่งเป็นสภาพรู้ กับรูปธรรมซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ ถ้ารู้อย่างนี้จริงๆ เราก็รู้ความต่างของขณะที่สติสัมปชัญญะเกิด กับขณะที่หลงลืมสติ เพียงแค่รู้ว่าขณะนี้ เป็นธรรมเท่านั้นทั้งหมด ทางตา ทางหู ฟังนี่เข้าใจ แต่ไม่มีการรู้ลักษณะ ของสภาพที่กำลังเห็น ที่จะเข้าใจว่าเป็นธรรม หรือว่าสภาพที่กำลังได้ยิน ที่จะเข้าใจว่าเป็นธรรม หรือสภาพคิดนึก ที่จะเข้าใจว่าเป็นธรรม ทั้งๆ ที่ฟังเข้าใจ

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 103
    25 มี.ค. 2567