พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 953


    ตอนที่ ๙๕๓

    ณ มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๗


    ท่านอาจารย์ จิตเป็นใหญ่ประการเดียวในการรู้แจ้งอารมณ์ ขณะใดที่อารมณ์ใดปรากฏ ให้ทราบว่าที่ใหญ่จริงๆ คือจิต ซึ่งเป็นใหญ่ในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์

    อ.อรรณพ ถ้าจะเข้าใจธรรมจริง ต้องเข้าใจจิต เจตสิก รูป ถ้าไม่เข้าใจเป็นเรื่องไปหมด เพราะฉะนั้นการสนทนาที่จะเข้าใจพื้นฐานความเป็นธรรม จิต เจตสิก รูป จึงเป็น สิ่งที่สำคัญเพราะว่าเป็นความจริง จริงๆ

    ท่านอาจารย์ ต้องไม่ลืม เพื่อเห็นถูกว่าไม่ใช่เรา ลืมไม่ได้เลย

    อ.อรรณพ จิตก็ไม่ใช่เรา เห็นก็ไม่ใช่เรา ความรู้สึกต่างๆ ที่เป็นเจตสิกก็ไม่ใช่เรา

    ท่านอาจารย์ กว่าจะดับการที่เคยยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรามานานแสนนาน ต้องอาศัยความเข้าใจถูก ความเห็นถูกนานเท่าใด แล้วต้องเป็นการประจักษ์แจ้งไม่ใช่เพียงขั้นการฟังด้วย

    อ.อรรณพ ตั้งแต่ขั้นฟังเป็นเบื้องต้น แต่ไม่ใช่เพียงแค่ปัญญาขั้นฟัง

    ท่านอาจารย์ แต่ถ้าขาดความเข้าใจถูกความเห็นถูก ไม่มีทางที่จะเข้าถึงลักษณะของสภาพธรรมได้เลย

    ผู้ฟัง ผมสงสัยว่าที่ฟังเรื่องของจิต ทรงแสดงเรื่องของจิตไว้มากมาย เพื่อให้พุทธบริษัทได้ฟัง ได้ศึกษา เรื่องของจิตโดยละเอียด จุดประสงค์ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ และทรงแสดงให้เราฟัง เพื่ออะไร เพื่อให้รู้ชื่อ รู้เรื่องราวโดยละเอียด หรืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ เพื่อละความไม่รู้ เพราะความไม่รู้เป็นต้นเหตุของอกุศลทั้งหมด

    ผู้ฟัง แล้วการรู้ชื่อ รู้เรื่องราว รู้ความละเอียด จะละความไม่รู้ได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีชื่อจะรู้ได้ไหมว่าหมายความถึงสภาพธรรมอะไร

    ผู้ฟัง หมายถึงก่อนอื่นก็ต้องรู้จักชื่อ รู้จักเรื่องราว

    ท่านอาจารย์ หมายความว่า ชื่อนั้นบ่งถึงลักษณะของสภาพธรรมใด ไม่ใช่ชื่อเปล่าๆ โดยไม่มีลักษณะของสภาพธรรม เช่น เห็นเช่นนี้ ไม่เรียกอะไรเลย แล้วก็ได้ยิน ก็ไม่เรียกอะไรเลย แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า เห็นไม่ใช่ได้ยิน

    ผู้ฟัง แล้วผู้ฟังจะมีความเข้าใจได้อย่างไรว่า ขณะนี้มีจิตต่างๆ เกิดขึ้น ไม่ใช่เรื่องของชื่อต่างๆ

    ท่านอาจารย์ เห็นจริงๆ เดี๋ยวนี้มีหรือเปล่า ไม่ต้องไปเชื่อใคร ไม่ต้องเรียกว่าจิต เห็นมีไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ แล้วเห็นเป็นคุณนิรันดร์หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ก็ยังไม่เข้าใจ ก็ยังเป็นผมเห็นอยู่ดี

    ท่านอาจารย์ แล้วความจริงเห็นเป็นอะไร เราศึกษาเพื่อรู้ความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ ไม่ต้องไปคิดเองว่าเป็นเช่นนั้นเป็นเช่นนี้ เพราะว่าคิดอย่างไรก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ แต่มีผู้ที่ตรัสรู้ ทรงแสดงความจริงของสิ่งที่มีให้คนอื่นได้เริ่มเข้าใจถูกเห็นถูกว่าไม่มีเราเลย แต่มีธรรมทั้งหมด เป็นธาตุแต่ละหนึ่งแต่ละหนึ่ง เกิดแล้วดับไปแล้วก็ไม่กลับมาอีกเลยสักอย่าง ให้พิจารณาให้ไตร่ตรองว่าจริงหรือเปล่า เพราะหลงเข้าใจว่าสิ่งที่มีเป็นเรา เป็นเขา เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง เพราะมีรูปร่างลักษณะต่างกัน ทำให้คิดนึกเรื่องราวของสิ่งที่เคยเห็นมากมาย แต่ตามความจริงขณะนี้สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่กำลังมีเพราะเกิดขึ้นยังไม่ได้รู้ตามความเป็นจริง แล้วถ้าไม่มีขณะนี้ ขณะก่อนก็ดับไปแล้ว ขณะข้างหน้าก็ยังไม่เกิดขึ้น ถ้าจะเข้าใจก็เข้าใจสิ่งที่กำลังมีจริงๆ ในขณะนี้ เพราะมีจริง

    ธรรมไม่ใช่ชื่อ ไม่ใช่เรื่องราว ธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง แต่ถ้าไม่มีชื่อจะรู้ได้อย่างไรว่า ธรรมหลากหลายต่างกันอย่างไร จึงต้องอาศัยคำ ชื่อ แสดงลักษณะของสภาพธรรมแต่ละหนึ่ง เห็นก็เป็นหนึ่ง ได้ยินก็เป็นหนึ่ง แต่ไม่ใช่ชื่อเห็น แต่เป็นสภาพที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้

    ผู้ฟัง หมายถึงท่านอาจารย์บอกว่าขณะนี้มีสภาพที่เป็นจิตอยู่แล้ว โดยที่ไม่ต้องเรียกชื่อว่าเป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องเรียกก็จริง เห็นก็เห็น ไม่ต้องเรียกก็เห็น

    ผู้ฟัง ไม่ต้องเรียกว่าเป็นจิตด้วย

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องเรียกอะไรเลย สภาพธรรมนั้นก็เกิดแล้ว เปลี่ยนแปลงลักษณะนั้นให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้เลย นี่คือธรรม นี่ความหมายถึงธรรม ความหมายของธาตุ สิ่งที่มีจริงไม่มีใครสามารถจะไปทำอะไรให้เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นได้เลย เปลี่ยนเห็นให้เป็นได้ยินก็ไม่ได้ เปลี่ยนคิดให้เป็นโกรธก็ไม่ได้

    ผู้ฟัง แต่ถ้าเราไม่ฟังธรรมให้มีความเข้าใจ เราก็จะไม่รู้ว่าเห็นขณะนี้เป็นธรรมเป็นจิตเห็นเป็นสภาพธรรมซึ่งไม่ใช่เรา

    ท่านอาจารย์ ด้วยเหตุนี้มีใครเป็นที่พึ่ง

    ผู้ฟัง พระผู้มีพระภาค

    ท่านอาจารย์ พึ่งเมื่อใด

    ผู้ฟัง เมื่อได้มีความเข้าใจธรรม

    ท่านอาจารย์ เมื่อได้ฟังพระธรรม แล้วเข้าใจ

    ผู้ฟัง แต่ตราบใดที่ยังไม่เข้าใจความจริง

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ผู้ฟัง ก็จะยึดว่าเห็นนั้นเป็นเรา ฉะนั้นการฟังคือ ฟังเพื่อความเข้าใจความจริง

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง แม้จะไม่รู้ว่าเห็นขณะนี้เป็นธรรมตอนนี้ก็ตาม

    ท่านอาจารย์ ทำไม เราพูดถึงสิ่งที่มีจริงๆ นี่คือฟังเรื่องสิ่งที่มีจริง ซึ่งต้องใช้คำว่าธรรมหรือธาตุ หมายความถึงสิ่งนั้นไม่ใช่ใครเลย มีลักษณะเฉพาะแต่ละหนึ่ง ไม่สับสนไม่ปะปนกัน มีแล้วก็ไม่มี แล้วก็ไม่กลับมาอีกด้วย

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์บอกว่าการฟังธรรมเพื่อให้เข้าใจเรื่องจิตตามความเป็นจริง

    ท่านอาจารย์ ให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏ พูดถึงความจริงของสิ่งที่กำลังมีจริงๆ ที่กำลังปรากฏซึ่งไม่เคยรู้ไม่เคยเข้าใจ

    ผู้ฟัง ขณะที่ท่านอาจารย์บอกว่าเห็นจะเป็นจิตได้อย่างไร ผู้ฟังก็อาจจะไม่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องใช้คำว่าจิต ถ้ารู้ว่าเห็นเป็นสิ่งที่มีจริงซึ่งกำลังเห็น และไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏให้เห็น ถ้าจะใช้คำก็คือธาตุชนิดหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะฉะนั้นในขณะที่กำลังเห็น ธาตุชนิดหนึ่งเกิดขึ้นรู้สิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็นว่าเป็นอย่างนี้ เห็นอย่างนี้ ก็คือธาตุนั้นรู้ว่าสิ่งที่ปรากฏเป็นอย่างนี้ จึงใช้คำว่าเห็น เวลาที่ได้ยินก็ธาตุอีกชนิดหนึ่งเกิดขึ้น ได้ยินเสียงจึงรู้ว่าเสียงนี้เป็นอย่างนี้ไม่ใช่เสียงอื่น แค่รู้เสียงที่ปรากฏ แล้วก็ดับไป มีหรือเปล่าได้ยิน มีได้ยิน แต่ไม่เคยรู้ว่าไม่ใช่เรา และไม่รู้ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่ผู้ที่ทรงตรัสรู้ทรงแสดงทุกคำเพื่อให้ผู้ฟังได้ไตร่ตรอง จนกระทั่งเข้าใจความจริงว่าเป็นสิ่งที่มีจริงเกิดขึ้นจึงปรากฏว่ามีจริงๆ เพียงแค่มี แล้วก็ดับไป แล้วก็ไม่กลับมาอีกเลย

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์บอกว่าในขณะนี้ก็มีสภาพธรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นทางตาทางหูทางจมูกทางลิ้น ให้ได้พิสูจน์ให้ได้รู้ความจริงว่าเป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง พิสูจน์ว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง เป็นลักษณะของสภาพธรรมแต่ละหนึ่งซึ่งเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ให้จิตที่ได้ยินไปเห็นก็ไม่ได้ แล้วก็ยังไม่ได้เกิดด้วย จนกว่าจะมีเสียงกระทบกับรูปที่กระทบได้คือโสตปสาท แล้วรูปนั้นก็จะเกิดไม่ได้ถ้าไม่มีกรรมเป็นปัจจัย และไม่ถึงเวลาที่กรรมจะให้ผลให้ได้ยิน ได้ยินก็เกิดไม่ได้ ทุกอย่างต้องมีปัจจัยที่จะทำให้เกิดขึ้น แล้วก็ดับไปเร็วมาก เพียงแค่เกิดแล้วก็ดับ

    ผู้ฟัง ซึ่งความจริงก็คือธาตุรู้ จะเรียกว่าจิตก็ได้ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เรียกมโนได้ไหม

    ผู้ฟัง ก็ได้

    ท่านอาจารย์ เรียกมนัสได้ไหม

    ผู้ฟัง ได้

    ท่านอาจารย์ เรียกใจได้ไหม

    ผู้ฟัง ได้

    ท่านอาจารย์ เรียกอะไรก็ได้ ถ้าเข้าใจถูกต้องว่าหมายความถึงสิ่งนั้นซึ่งสามารถที่จะรู้คือเห็นเดี๋ยวนี้ เห็นก็คือรู้ว่าสิ่งที่ปรากฏเป็นเช่นนี้

    ผู้ฟัง หมายถึงสิ่งที่เรากำลังเรียนศึกษาก็เป็นสิ่งที่สามารถรู้ได้ในขณะนี้

    ท่านอาจารย์ เพราะมีจริงๆ แล้วฟังจนกระทั่งเข้าใจขึ้น

    ผู้ฟัง แต่ถ้ายังไม่รู้ขณะนี้

    ท่านอาจารย์ แล้วจะรู้เมื่อใด รู้อะไร ในเมื่อไม่มี สิ่งที่เกิดแล้วดับแล้วไม่กลับมาอีกเลย สิ่งที่ยังไม่เกิดก็ยังไม่เกิดแล้วจะมีให้รู้ได้อย่างไร แต่สิ่งที่กำลังมีในขณะนี้เพราะมีจึงรู้ได้

    ผู้ฟัง ฉะนั้นการฟังธรรมอบรมฟังเรื่องของจิตเพื่อเข้าใจ ก็เพื่อเข้าใจสภาพธรรมในขณะนี้นี่เอง

    ท่านอาจารย์ แน่นอน นี่คือการศึกษาธรรม เพราะไม่มีเราแต่มีธรรม จะไปว่าศึกษาเรื่องนั้นเรื่องนี้ก็ไม่ได้ แต่ศึกษาสิ่งที่มีจริงที่กำลังมีจริงๆ แล้วก็เรียกสิ่งนั้นว่าธรรมคือสิ่งที่มีจริง

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์บอกว่าให้เกิดความมั่นคงว่าไม่ใช่เราไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตน

    ท่านอาจารย์ จริงหรือเปล่า ไม่ใช่เราจริงหรือเปล่า

    ผู้ฟัง โดยความเข้าใจ จริง

    ท่านอาจารย์ มั่นคงหรือยัง

    ผู้ฟัง ยังไม่มั่นคง

    ท่านอาจารย์ ก็ฟังจนกว่าจะมั่นคง

    พระภิกษุ จากการได้ฟังสนทนามาก็รู้สึกเข้าใจเพิ่มขึ้น แต่ในอรรถกถาไขความของ คัมภีร์ธรรมอรรถกถาคือ ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นประธาน แต่ในอรรถกถาท่านอธิบาย ว่าธรรมทั้งหลายหมายถึง เจตสิกขันธ์ ๓ เจตสิกขันธ์ ๓ นี่ก็หมายถึง เวทนาเจตสิกเป็นเวทนาขันธ์ สัญญาเจตสิกเป็นสัญญาขันธ์ เจตสิกที่เหลืออีก ๕๐ เป็นสังขารขันธ์ ที่เป็นไปในเตภูมิกถา ๓ แต่ไม่ทราบความละเอียดว่า จะเป็นไปได้อย่างไร ขอให้โยมอาจารย์ช่วยอธิบาย

    อ.อรรณพ มีข้อความว่า อรูปขันธ์ ๓ ประการ คือ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ เหตุว่าอรูปขันธ์ ๓ นั่น ชื่อว่ามีใจเป็นหัวหน้าของอรูปขันธ์ ๓ ประการนั้น ตามที่พระคุณเจ้าได้กล่าว

    ท่านอาจารย์ ตามที่เราได้กล่าวไว้ตั้งแต่ต้นว่า เพราะเหตุว่าจิตเป็นธาตุรู้ซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ แต่จิตจะเกิดโดยไม่มีเจตสิกไม่ได้ แต่แม้กระนั้นเจตสิกที่เกิดพร้อมจิตก็มีหลายเจตสิก จะให้ผัสสะเป็นหัวหน้า หรือจะให้เวทนาเป็นหัวหน้า หรือจะให้สัญญาเป็นหัวหน้า หรือว่าตัวจิตนั่นเองที่ว่าเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ ต้องฟังความละเอียดด้วยว่าจิตเป็นใหญ่เป็นประธานเมื่อใด ในขณะที่อารมณ์กำลังปรากฏ ผัสสะเพียงกระทบ เพราะฉะนั้นไม่ใช่เป็นใหญ่เป็นประธาน เวทนาก็เป็นเพียงความรู้สึกในสิ่งที่ปรากฏเพราะจิตรู้แจ้ง แต่ถ้าจิตไม่รู้แจ้งในอารมณ์นั้นเวทนาก็จะรู้สึกในอารมณ์นั้นไม่ได้

    ด้วยเหตุนี้ไม่ว่าจะเป็นผัสสเจตสิก เวทนาเจตสิกหรือว่าเป็นสภาพจำคือสัญญาเจตสิก ก็เกิดเพราะจิตในขณะนั้นรู้แจ้งในอารมณ์ เพราะฉะนั้นสภาพที่รู้จริงๆ แจ้งจริงๆ ในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏไม่ใช่เจตสิกแต่เป็นจิต เพราะฉะนั้นจิตจึงเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์

    อ.อรรณพ พระคุณเจ้าพอเข้าใจที่ท่านอาจารย์ได้แสดงไหมว่า จิตเป็นใหญ่หรือเป็นหัวหน้าในที่นี้โดยสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ เพราะฉะนั้นถ้าจิตเกิดขึ้นต้องรู้แจ้งสิ่งหนึ่งสิ่งใดคือรู้อารมณ์ ขณะนั้นจิตก็เป็นหัวหน้าหรือเป็นใหญ่เป็นประธาน เป็นมนินทรีย์ที่จะทำให้เจตสิกธรรมทั้งหลายเกิดขึ้น ซึ่งขันธ์มี ๕ ขันธ์ ขันธ์แรกคือรูปขันธ์ไม่ใช่สภาพรู้ ส่วนสภาพรู้ก็คือขันธ์ ๔ ซึ่งเป็นนามขันธ์ ๔ ก็มีเวทนาขันธ์ ๑ สัญญาขันธ์ ๑ สังขารขันธ์ ๑ และวิญญาณขันธ์ ๑ วิญญาณขันธ์คือจิตเป็นใหญ่เป็นประธานเป็นหัวหน้าโดยความที่เป็นมนินทรีย์

    พระภิกษุ ที่เป็นไปในภูมิ ๓ หมายถึงอะไร

    อ.อรรณพ กามภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ ก็ต้องมีจิตเจตสิก เพราะฉะนั้นจิตเจตสิกก็เป็นไปในภูมิ ๓ กามภูมิคือ อบายภูมิ มนุษย์ สวรรค์ รูปภูมิคือ รูปพรหมภูมิที่มีจิตเจตสิก และอรูปพรหมภูมิก็ต้องมีจิตเจตสิก

    ท่านอาจารย์ พอจะเข้าใจความต่างของภูมิไหม ภูมิที่เกิดของสัตว์โลกกับภูมิของจิตคือระดับขั้นของจิต เพราะฉะนั้นเวลาที่โลกุตรจิตเกิด ภูมิใด ระดับของจิตเหนือจากกามภูมิ รูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ เพราะเป็นขณะที่กำลังรู้แจ้งอริยสัจธรรม แต่เกิดที่ภูมิของสัตว์ภูมิใด เห็นไหม นี่ต้องแยกกันแล้ว เกิดในเทวโลกได้ไหม ก็เป็นกามภูมิ หมายความว่าโลกุตรจิตนั่นเอง ตัวจิตเป็นโลกุตรภูมิ ระดับของจิตเหนือจิตอื่น แต่จิตนั้นเกิดในสวรรค์ เพราะฉะนั้นคนนั้นก็คือผู้ที่เป็นเทพที่มีโลกุตรจิตเกิด เพราะฉะนั้นบุคคลนั้นอยู่ในกามภูมิ แต่จิตระดับนั้นเป็นโลกุตรภูมิ

    เพราะฉะนั้นแม้แต่คำว่าภูมิก็ต้องเข้าใจด้วย ที่เกิดของสัตว์โลก ๑ แล้วก็ระดับขั้นของจิต ๑ ถ้าระดับขั้นของจิตก็มี ๔ คือ จิตที่มีรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ อย่างไรๆ ก็ต้องเป็นกามาวจรจิต เมื่อใดก็ตามที่ยังไม่มีระดับของฌาณจิตคือ ความสงบที่ถึงขั้นปฐมฌาณ ทุติยฌาณเป็นต้นไป จิตนั้นก็ยังคงเป็นกามาวจรจิต

    แต่ว่าขณะใดก็ตามจิตนั้นพ้นจากการติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ถึงระดับที่ไม่มีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเป็นอารมณ์ แต่มีรูปเป็นอารมณ์ที่ทำให้จิตสงบ ถ้าเป็นผลของกรรมนั้น คือของรูปาวจรจิตนั้นก็เป็นเหตุให้จากโลกนี้ไปแล้วมีผลคือทำให้ผลคือรูปาวจรวิบากจิตเกิดในพรหมโลก ไม่ได้เกิดในมนุษย์หรือสวรรค์ หรืออบายภูมิเลย

    ถ้าเป็นอรูปภูมิก็โดยนัยเดียวกัน แต่ว่าระดับของจิตไม่ได้มีเพียงแค่จิตที่เป็นไปในรูปเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ยังเป็นกุศลที่ปราณีตถึงขั้นฌาณจิตที่มีรูปเป็นอารมณ์ แล้วก็สูงกว่านั้นอีกก็คือเป็นความสงบของจิตซึ่งพ้นจากการมีรูปเป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้นผลก็คือว่าจะไม่เกิดในมนุษย์หรือสวรรค์สำหรับรูปาวจรจิต ถ้ามีผลก็คือเกิดในพรหมโลก ถ้าไม่มีรูปเป็นอารมณ์ก็เกิดในอรูปพรหมคือเป็นพรหมที่ไม่มีรูปเลย มีแต่จิตเจตสิกเท่านั้นที่เกิด พ้นทุกข์ไป ไม่ต้องมานั่งมีรูปเป็นอารมณ์เลย

    แต่ก็ยังมีจิตอีกระดับหนึ่ง ซึ่งรู้แจ้งนิพพานดับกิเลส ระดับนั้นก็คือโลกุตรภูมิ แต่จะเกิดโลกุตรจิตซึ่งเป็นโลกุตรภูมิในภูมิใดก็ได้ ไม่มีภูมิเฉพาะ

    เพราะฉะนั้นเวลากล่าวถึงภูมิ ๓ ก็กล่าวถึงกามภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ แต่ถ้ากล่าวถึงระดับของจิต ก็เป็นกามาวจรจิต รูปาวจรจิต อรูปาวจรจิต และโลกุตรจิต

    อ.อรรณพ เพราะฉะนั้นธรรมไม่ได้ง่ายที่จะศึกษาแล้วเข้าใจ แม้แต่คำๆ หนึ่งใช้ในความหมายใด ต้องการที่จะให้ได้เกิดความเข้าใจในแง่มุมใด ก็ต้องพิจารณา

    ท่านอาจารย์ เวลานี้กำลังอยู่ในภูมิใด

    อ.อรรณพ ที่เกิดก็อยู่ในกามาวจรภูมิ ที่เป็นที่เกิด

    ท่านอาจารย์ แล้วจิตภูมิใด

    อ.อรรณพ ก็ภูมิเดียว กามาวจรภูมิ สมกับเป็นคนที่ตกอยู่ในกามาวจรภูมิ ทั้งที่เกิด และทั้งระดับของจิต

    ท่านอาจารย์ รูปพรหมบุคคลในรูปพรหมภูมิมีกามาวจรจิตไหม ขณะใดก็ตามที่มีเห็นมีได้ยิน ไม่ใช่รูปาวจรฌาณ อรูปาวจรฌาณ ขณะนั้นก็เป็นระดับขั้นของกามาวจรจิต

    อ.คำปั่น ได้ฟังก็ชัดเจนขึ้นในความเป็นจริงของธรรม ซึ่งเวลาที่ท่านกล่าวถึงว่าเมื่อมีจิตใจร้าย ก็แสดงถึงความเป็นอกุศลจิต ถ้ากล่าวถึงว่าความเป็นผู้มีใจดีก็กล่าวถึงความเป็นกุศลจิตเป็นสภาพจิตที่ดีงาม ก็ตามการสะสมของแต่ละบุคคลว่า จะเกิดกุศลจิตในระดับใด หรือว่าเป็นอกุศลประเภทใด ก็เป็นธรรมที่มีจริงๆ ที่สามารถเป็นไปได้ทั้งหมด ตราบใดที่ยังมีเหตุที่จะให้อกุศลหรือกุศลเกิดขึ้นเป็นไป

    ท่านอาจารย์ แล้วอกุศลจิตเป็นภูมิใด กามาวจรภูมิ ก็เป็นเรื่องที่ต้องตามลำดับที่จะต้องเข้าใจแต่ละคำ

    อ.วิชัย เมื่อสักครู่ท่านอาจารย์กล่าวว่ามีชาติ ฉะนั้นระดับกับชาติก็ต้องมีความหมายลักษณะอย่างไร ชา-ติหรือชาติของจิต

    ท่านอาจารย์ ชา-ติ หมายความถึงการเกิดขึ้นของจิตจะต้องเป็นอย่างหนึ่งอย่างใดคือ เกิดเป็นกุศลหนึ่ง เกิดเป็นอกุศลหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุ เกิดเป็นวิบากซึ่งเป็นผลของกุศล และอกุศลหนึ่ง และเกิดเป็นกิริยาคือไม่ใช่กุศล และอกุศล ไม่ใช่วิบาก เพราะฉะนั้นชาติของจิตมี ๔ แต่ว่าจิตเกิดขึ้นหนึ่งต้องเป็นชาติหนึ่ง แล้วแต่ว่าจะเป็นกุศลหรือเป็นอกุศลหรือเป็นวิบากหรือเป็นกิริยา

    อ.อรรณพ นี่เป็นความจริงของเรื่องจิตทั้งนั้นเลย จิตเกิดขึ้นเป็นกุศลหรือไม่ก็เป็นอกุศล ซึ่งเป็นเหตุที่จะทำให้ได้รับผลต่อไป เพราะฉะนั้นก็เป็นจิตที่เป็นวิบากก็มีซึ่งเป็นผลของกุศลหรืออกุศลจิต เป็นวิบากจิต เช่น เห็น และจิตที่เกิดขึ้นเพียงสักแต่ว่าทำกิจการงานโดยไม่เป็นกุศล อกุศล ซึ่งเป็นเหตุ หรือไม่ได้เป็นผลซึ่งเป็นวิบาก ก็มีเป็นกิริยาจิต แต่จิตเหล่านี้ซึ่งมีการเกิดเป็นชาติขึ้นมาแล้ว จะเกิดในภูมิคือที่เกิดใด ในกามภูมิก็คือในอบายภูมิ ๔ มนุษย์ สวรรค์ หรือจะเกิดในภูมิที่เกิดที่เป็นรูปพรหมบุคคล หรือจะเกิดในอรูปพรหมบุคคล และก็ยังจะมีระดับของจิตนั้นว่าเป็นระดับอะไรใน ๔ ระดับ นี่ก็เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ที่จะทำให้เข้าใจเรื่องจิตด้วย ทั้งชาติ และทั้งภูมิ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นต้องรู้ กล่าวถึงจิตโดยชาติหรือว่ากล่าวถึงจิตโดยภูมิ เพราะฉะนั้นถ้ากล่าวถึงจิตโดยชาติเปลี่ยนชาติของจิตได้ไหม ไม่ได้ จิตที่เป็นอกุศลจะเป็นกุศลไม่ได้ เป็นวิบากไม่ได้ เป็นกิริยาไม่ได้ ถ้ากล่าวโดยกุศล ชาติกุศลเป็นภูมิที่เป็นกามาวจรก็ได้ ระดับขั้นของกามหรือว่าระดับของรูปฌาณหรือระดับของอรูปฌาน หรือว่าระดับของโลกุตระเป็นกุศลได้ เพราะฉะนั้นก็ต้องรู้ว่าเมื่อกล่าวถึงชาติ ไม่ได้กล่าวถึงภูมิ ไม่กล่าวถึงระดับขั้น แต่กล่าวถึงการเกิดนั้นเกิดเป็นอะไร เกิดเป็นกุศลระดับใด ระดับกามาวจรกุศล ระดับรูปาวจรกุศล ระดับอรูปาวจรกุศล หรือระดับโลกุตรกุศล เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นผู้ที่รู้ว่าขณะนั้นกำลังพูดโดยนัยใด

    พระภิกษุ จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้อารมณ์เช่น ก่อนจะถึงวันอาทิตย์ ก็รู้ว่าพรุ่งนี้วันอาทิตย์ ก็เตรียมตัวเดินทางมาฟังธรรม แล้วก็ในขณะนั้นมีศรัทธาความเป็นใหญ่ หรือ มีจิตใจเป็นใหญ่

    ท่านอาจารย์ ใครรู้ ถ้าสติปัญญาไม่เกิดจะรู้ได้ไหม

    พระภิกษุ ไม่ได้ แต่ในขณะนั้นสภาพที่เป็นตัวศรัทธาหรือว่าฟังธรรมเพื่อความเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ศรัทธาไม่ใช่ปัญญา ศรัทธาเจตสิกกับปัญญาเจตสิกต่างกัน ศรัทธาเกิดโดยไม่มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วยได้ไหม

    พระภิกษุ ได้

    ท่านอาจารย์ และปัญญาเกิดโดยไม่มีศรัทธาเจตสิกเกิดร่วมด้วยได้ไหม

    พระภิกษุ ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเดี๋ยวนี้มีศรัทธาหรือมีปัญญา

    พระภิกษุ ศรัทธามากกว่า

    ท่านอาจารย์ คิดแต่ไม่รู้ เพราะไม่ใช่สติสัมปชัญญะที่รู้ลักษณะของสภาพธรรม และสิ่งนั้นก็ดับไปแล้ว

    พระภิกษุ เมื่อสักครู่ท่านอาจารย์พูดถึงเรื่องกามาวจรจิต จิตที่เป็นไปในกาม

    ท่านอาจารย์ ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะเหตุว่าคำว่ากามหมายความถึงรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

    พระภิกษุ เมื่อก่อนไม่เข้าใจว่ากามไม่ได้หมายถึงว่า

    ท่านอาจารย์ มี ๒ อย่าง กิเลสกามหรือวัตถุกาม กิเลสกามก็ได้แก่โลภเจตสิก เพราะฉะนั้นก็ได้แก่โลภะ ส่วนวัตถุซึ่งเป็นที่ตั้งของความยินดีติดข้องก็คือวัตถุกาม สิ่งใดๆ ก็ตามที่โลภะติดข้องสิ่งนั้นเป็นวัตถุกาม ที่ตั้งของความติดข้องของความยินดี

    พระภิกษุ กล่าวว่าพระอรหันต์ก็ยังมีจิตเป็นไปในกามหมายถึงอะไร

    ท่านอาจารย์ พระอรหันต์เห็นไหม

    พระภิกษุ เห็น

    ท่านอาจารย์ แล้วเห็นอะไร กามได้แก่รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ามีกามาวจรจิตไหม มีกามาวจรจิตแต่ไม่มีกิเลสกาม ไม่มีกิเลสใดๆ เลย

    พระภิกษุ แสดงว่าการเห็นกับปุถุชนกับพระอรหันต์เสมอกัน

    ท่านอาจารย์ เห็นเหมือนกันหมด เห็นเป็นเห็น จิตเห็นมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าใด มีเจตสิกเกิดกับจิตเห็นเพียง ๗ นกเห็น มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าใด งูเห็น เห็นมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าใด เทวดาเห็น เปลี่ยนสภาพธรรมไม่ได้ นี่คือปรมัตถธรรม ธรรมซึ่งต้องเป็นเช่นนั้น ปุถุชนเห็นแล้วไม่รู้ เพราะฉะนั้นก็มีอาสวะ มีโอฆะ มีโยคะ มีสารพัดกิเลส แต่พระอรหันต์เห็นแล้วเป็นกิริยา กุศลก็ไม่มี อกุศลก็ไม่มี เพราะว่าถ้ายังมีกุศลอกุศลก็ยังเป็นเหตุที่จะให้เกิดผล


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 194
    7 พ.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ