พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 931


    ตอนที่ ๙๓๑

    ณ มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๗


    อ.กุลวิไล กราบเรียนท่านอาจารย์ สำหรับข้อความที่เราเคยได้ยินบ่อยว่าพลีชีพเพื่อชาติ

    ท่านอาจารย์ การศึกษาธรรมก็เพื่อเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง เพราะว่าภาษาไทยเรา จะใช้คำซึ่งเราพูดตั้งแต่เด็ก และก็เข้าใจต่อๆ กัน แต่ถ้าไม่ได้ศึกษาธรรมก็จะไม่เข้าถึงความลึกซึ้ง ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้แต่ละคำที่ใช้ในภาษาบาลี แล้วคนไทยก็ยืมภาษาอื่นก็ใช้ต่อๆ กัน เป็นเรื่องชีวิตประจำวัน แต่ว่าไม่ได้เข้าใจตามความเป็นจริงของแต่ละคำ อย่างที่พลีชีพเพื่อชาติ พลีคือสละ แต่ก็ยังไม่ได้เข้าใจคำว่าชีพ เพราะฉะนั้นจะสละอะไร เพราะฉะนั้นชีวะหรือชีพในภาษาไทย ก็คือชีวิตความเป็นอยู่ เกิดแล้ว ไม่ใช่เกิดเป็นแข็ง เป็นอ่อน เป็นเย็น เป็นร้อน แต่เกิดธาตุรู้ขึ้น เพราะฉะนั้นธาตุรู้เมื่อเกิดขึ้นรู้ ก็จะต้องรู้สืบต่อไปเรื่อยๆ เพราะเหตุว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เกิดแล้วดับไปเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้นเมื่อนามธาตุ หรือธาตุรู้เกิดขึ้นเป็นชีวิต ก็จะต้องเป็นไป ชา-ติ การที่เกิดแล้วก็ต้องเป็นไป แล้วแต่ว่าขณะที่เป็นไปนั้นจะเป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้างก็แล้วแต่ นี่คือความหมายเดิม แต่ว่าความหมายไม่ได้ศึกษาก็เหมือนกับว่าเรามีชีวิตอยู่ แต่เราจะอยู่อย่างไร เพราะฉะนั้นมีคำว่าพลีชีพเพื่อชาติ เหมือนกับเป็นสิ่งที่เป็นอุดมการณ์ว่าเราจะมีชีวิตอย่างไร เพราะเหตุว่า ชา-ติ ต้องหมายความถึงความเกิดขึ้นเป็นไปของธรรม ซึ่งเกิดแล้วเป็นชีวิตเป็นสิ่งที่มีชีวิต แต่ว่าเมื่อเกิดแล้วเป็นคนเป็นหลายๆ คนรวมกัน ภาษาหนึ่งก็ใช้คำว่านั่นคือชาติ แล้วแต่ว่าจะเป็นชาติใด อยู่ที่ใด เชื้อชาติใด ถึงจะอยู่ประเทศอื่นแต่เชื้อชาติเดิมคืออย่างไร นั่นคือที่เราเข้าใจกัน แต่ก็ต้องหมายความว่าต้องมีสิ่งซึ่งเกิดขึ้นเป็นไป

    เพราะฉะนั้นแต่ละหนึ่งซึ่งมีชีวิตเกิดขึ้นเป็นไปรวมกันเป็นประเทศอยู่ด้วยกัน ไม่ใช่อยู่คนเดียว ก็เรียกประเทศชาติ เป็นถิ่นกำเนิดของคนที่อยู่รวมกัน แต่ว่าตามความเป็นจริง ถ้าจะพิจารณาให้ตรงตามความเป็นจริง สละชีวิต พลีชีพ สละชีวิตเพื่อชาติ ชาติอยู่ที่ไหน ใครที่ไหน ถ้าเข้าใจตามตรงก็คือ แต่ละหนึ่งที่เกิดแล้ว ก็มีชีวิตที่ต่างคนก็ต่างเป็นไปตามกรรม ถูกต้องไหม แต่ละหนึ่งแต่ละหนึ่งซึ่งเป็นชาติก็ต่างกันไปเป็นแต่ละหนึ่งจริงๆ

    เพราะฉะนั้นถ้าคนในชาติที่รวมกันเป็นชาติแต่ละหนึ่ง เป็นธรรมที่ดีเกิดขึ้นเป็นไป ก็จะไม่มีความเดือดร้อน ไม่มีปัญหาใดๆ เลยทั้งสิ้น แต่ทุกคนก็รู้ว่า อกุศลเพราะไม่รู้เป็นปัจจัยให้มีความติดข้อง มีความต้องการ มีการเป็นแต่ละหนึ่งที่สะสมมาในแสนโกฏิกัปป์ต่างๆ กัน โลภมาก โลภน้อย โกรธมาก โกรธน้อย สำคัญตนสารพัดอย่าง ชีวิตประจำวันจริงๆ ไม่ต้องไปหาดูไม่ต้องไปแสวงหาเลย แต่ชีวิตตามความเป็นจริงที่แต่ละคนจะรู้ได้ ก็คือชาติเมื่อเกิดมาแล้ว แต่ละขณะของแต่ละชีวิตเป็นอย่างไร นี่คือความเป็นไป

    เพราะฉะนั้นถ้าจะพิจารณาให้ลึกซึ้ง ตั้งแต่อย่างหยาบ สละชีพเพื่อชาติ เพื่อส่วนรวมที่จะให้ดำรงมั่นคงต่อไป ซึ่งไม่มีทางจะเป็นไปได้ถ้าทุกคนเป็นคนเลวใช่ไหม ความไม่ดีทั้งหมดจะทำให้มีความมั่นคงได้อย่างไร เพราะฉะนั้นตามที่พูดกันต่อมาก็คือว่าเพื่อคุณความดีใช่ไหม ชาติถึงจะได้มั่นคงได้ ทุกสิ่งทุกอย่างก็จะได้ไม่ถูกเบียดเบียน ทั้งด้วยสิ่งที่เกิดขึ้นกับธรรมที่เกิดขึ้นในแต่ละคนซึ่งเบียดเบียน เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วที่ถูกก็คือสละชีวิต ซึ่งไม่รู้เต็มไปด้วยโลภะ โทสะ และอกุศลต่างๆ เพื่อชา-ติ เพื่อความเป็นสิ่งที่ถูกต้องเป็นสิ่งที่ดี ถ้าเข้าใจอย่างนี้ทั้งหมดทุกคนเป็นอย่างนี้ก็เป็นประเทศชาติที่มีคุณความดี ที่จะไม่ได้รับความเดือดร้อน และมั่นคงในการที่จะช่วยกันทำให้ความเจริญเกิดขึ้นทั้งด้านของจิตใจ และในด้านของเหตุการณ์ต่างๆ

    เพราะฉะนั้นธรรมดาก็คือถ้าพูดโดยไม่เข้าใจ แล้วเราจะทำไม แล้วเราจะสละเมื่อใด แล้วเราจะสละแบบใด ใช่ไหม เดี๋ยวนี้กำลังมีชีวิตอยู่ จะสละอย่างไร เพื่ออะไร แต่ถ้ามีความเข้าใจจริงๆ ก็คือว่า เมื่อรู้ถึงปรมัตถธรรมที่แท้จริงของคำที่เราใช้ เช่น สละชีพเพื่อชาติ สละคือละสิ่งที่ไม่ดี เพื่อชีวิตที่ถูกต้อง เพื่อชา-ติที่เป็นกุศล เพราะฉะนั้น ถ้ามีความเข้าใจแล้ว ทุกชีวิตก็จะเจริญขึ้นในทางฝ่ายดีเพราะเข้าใจ บอกสละชีพ เดี๋ยวนี้มีชีพ กำลังเป็นชีวิต สละอะไร สละได้ไหม เพราะเหตุว่าสภาพของธาตุรู้เกิดขึ้นแล้วดับ ไม่ต้องไปทำอะไรเลย แต่เป็นปัจจัยให้ธาตุรู้คือจิต เจตสิก ต่อไปเกิดขึ้นเป็นอะไร ถ้าเป็นความไม่รู้ต่อไปเรื่อยๆ ก็เต็มไปด้วยอกุศลทั้งหลาย ซึ่งจะทำให้แต่ละคนอ่อนแอในทางฝ่ายธรรมที่เป็นกุศล เพราะฉะนั้นไม่สามารถที่จะมีความอาจหาญกล้าหาญในการที่จะทำความดี ในการที่จะให้ ชา-ติ ความเป็นไปเป็น ไปในทางกุศล เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้ว สละชีวิตที่จะต้องเกิดขึ้นเป็นไปด้วยการไม่รู้ ไม่เข้าใจธรรม ด้วยการศึกษาให้เข้าใจเพื่อถึงความดี เพื่อกุศลธรรม ซึ่งเป็นชาติที่จะต้องเกิดดับสืบต่อ ดีกว่าที่จะให้เป็นอกุศลชาติ ซึ่งเกิดดับเป็นอกุศลตลอดไป

    อ.กุลวิไล ลึกซึ้งมากกับคำว่า พลีชีพเพื่อชาติ ซึ่งท่านอาจารย์ได้ให้ความเข้าใจว่า ชีพ ก็คือชีวิต ซึ่งก็เป็นไปแต่ละขณะนั่นเอง เราจะสละได้อย่างไร เพราะว่าชีวิตก็ต้องเป็นไปอยู่ แต่ต้องเป็นการสละความไม่ดีเพื่อความดีที่จะเกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ กำลังสละหรือไม่ สละความสะดวกสบาย การเพลิดเพลินสิ่งอื่นที่คิดว่าสำคัญมาก เพราะรู้ว่าสิ่งที่สำคัญกว่าก็คือควรสละความไม่รู้ความไม่เข้าใจธรรม ซึ่งมีโอกาสทุกขณะที่สามารถที่จะได้ยินได้ฟังเมื่อมีปัจจัย นอกจากปัจจัยที่มีโอกาสจะได้ยินได้ฟังแล้ว ก็เมื่อมีศรัทธาสภาพจิตที่ผ่องใส ลองคิดดูว่า วันหนึ่งวันหนึ่งมีแต่เห็นแล้วติดข้องแล้วไม่รู้ กับขณะที่สามารถที่จะเห็นว่าสิ่งที่มีค่าที่สุดที่ประเสริฐที่สุดคือเกิดมาแล้วต้องจากโลกนี้ไป แต่ไม่มีความรู้ความเข้าใจถูกในสิ่งที่กำลังปรากฏเลย กับการที่สามารถมีโอกาสเพียงฟัง แล้วไตร่ตรอง แล้วเข้าใจขึ้น เพื่อที่จะเป็นผู้ที่อาจหาญร่าเริงที่จะสละความไม่รู้ และอกุศลทั้งหลาย เมื่อเข้าใจธรรมก็จะมีชีวิตที่เป็นไปในกุศลธรรมคือความถูกต้อง

    เพราะฉะนั้นวันนี้ทำสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ ถ้าเป็นกุศลถูกต้องแน่นอน ถ้าเป็นอกุศลถูกต้องหรือไม่ นี่ก็เป็นสิ่งซึ่งแต่ละคน ไม่ว่าจะใช้คำใด ไม่ว่ากุศลก็คือความถูกต้อง ถ้าเป็นอกุศลสิ่งนั้นต้องไม่ถูกต้องแน่นอน

    อ.กุลวิไล เพราะว่า ชา-ติ ก็คือความเป็นไปของธรรม และโดยธรรมแล้วก็ไม่พ้นกุศลธรรมก็มี อกุศลธรรมก็มี แล้วธรรมที่ไม่ใช่กุศลธรรม และอกุศลธรรมก็มี ฉะนั้นกุศลธรรมถ้าไม่ได้ศึกษาพระธรรม การที่จะเจริญขึ้นของกุศลธรรม และก็การที่จะรู้ว่ากุศลธรรมเป็นกุศลธรรมที่เป็นความถูกต้อง ก็ไม่ได้เลย ถ้าไม่ได้ศึกษาพระธรรม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นสละสิ่งอื่นซึ่งเข้าใจว่าสำคัญทั้งหมด ไม่ว่าความเพลิดเพลินหรือเรื่องอื่นใดทั้งสิ้น ลาภยศสรรเสริญสุขเพื่อที่จะได้เข้าใจถูกต้องในความเป็นจริงของสภาพธรรม ซึ่งขณะใดก็ตามที่เป็นความเห็นถูกความเข้าใจถูก เป็นความดีขั้นต้นซึ่งจะทำให้ดีต่อไป เพราะฉะนั้นสละความชั่วเพื่อกุศลนั่นเอง

    อ.คำปั่น เพราะฉะนั้นแม้คำที่ได้ยินได้ฟังกันอยู่เสมอ พลีชีพเพื่อชาติ แต่เมื่อได้ยินได้ฟังพระธรรม ก็ทำให้เข้าใจในความเป็นจริงของธรรม ตามครรลองของธรรมจริงๆ เท่าที่ฟังท่านอาจารย์เมื่อสักครู่ ก็พอที่จะสรุปได้ว่า มีชีวิตที่เป็นไปก็เพื่อ ชา-ติ คือการเกิดขึ้นเป็นไปของกุศลธรรม เพื่อความเกิดขึ้นของความดีทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือปัญญาที่เข้าใจถูกเห็นถูกในธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งก็ตรงกับคำที่ได้ยินได้ฟังว่า สละชีวิตเพื่อความถูกต้อง ก็คืออรรถความหมายอย่างเดียวกัน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นสละความไม่รู้ ดีไหม หรือจะเก็บความไม่รู้ต่อไป สละความไม่รู้เพื่อความรู้ เพราะว่าความรู้ถูกต้องนำมาซึ่งความดีงามทุกอย่าง

    อ.กุลวิไล ความรู้ก็เป็นปัญญา ปัญญาก็ต้องอาศัยการฟังพระธรรมนั่นเอง ถ้าไม่ได้ยินได้ฟังพระธรรม เราก็ไม่รู้ว่าความถูกต้องเป็นความถูกต้องจริงหรือไม่ อาจจะเป็นการเข้าข้างตัวเองก็ได้ว่าสิ่งนี้ถูกต้อง และสิ่งนี้เป็นความดี

    อ.วิชัย ดังนั้นการที่จะสละ ตั้งแต่เริ่มต้นว่าสิ่งใดที่เป็นสิ่งที่ควรสละ เพราะเหตุว่าโดยชีวิตประจำวันก็อาจจะมีสิ่งที่สะดวกสบายเพลิดเพลินในสิ่งต่างๆ ซึ่งถ้าไม่ศึกษาก็จะไม่รู้เลยว่าความติดข้องบ้าง ที่เป็นไปในทางตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือแม้แต่ใจเองก็ตาม ก็เป็นไปด้วยความเพลิดเพลินยินดี ขณะนั้นก็เป็นธรรมอย่างหนึ่ง เพราะเหตุว่าเป็นสิ่งที่มีจริงๆ แต่ก็ทรงแสดงว่าขณะนั้นเป็นธรรมที่เป็นอกุศลธรรม ซึ่งถ้าไม่รู้ถึงความละเอียดขณะนี้ ก็จะไม่รู้ว่าขณะนั้นเป็นไปด้วยอกุศลธรรม คือความเพลิดเพลินยินดี ซึ่งถ้ามีการที่จะสละความที่เพลิดเพลินยินดีในสิ่งที่เคยเป็นไปในชีวิตประจำด้วยความสะดวกสบายต่างๆ เริ่มที่จะมีการที่จะสนใจใส่ใจที่จะมีความรู้ความเข้าใจถูกในพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ก็เพื่อความเกิดขึ้นของกุศลธรรมต่างๆ

    ฉะนั้นแม้กุศลธรรมก็ต้องเป็นผู้ที่รู้จักด้วย หรือว่ามีความเข้าใจด้วยว่าขณะใดก็ตามที่เป็นกุศล ขณะใดที่เป็นอกุศล เห็นไหม ถ้าถามว่าขณะนี้ใจของแต่ละบุคคลเป็นกุศลหรืออกุศล ธรรมเป็นสิ่งที่มีจริงๆ ก็รู้ว่าขณะนี้จิตแต่ละบุคคลก็กำลังเป็นไปอยู่ แต่ว่าธรรมคือแม้มี แต่ก็รู้ได้ยาก แต่สามารถจะเข้าใจได้ว่าขณะใดก็ตามที่เป็นไปในกุศลกรรมบถ ๑๐ หรือบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ เป็นไปในการฟังพระธรรม ฟังแล้วมีปัจจัยให้เกิดความรู้ความเข้าใจถูก ขณะนั้นความรู้ความเข้าใจถูกเกิดขึ้น จะกล่าวว่าขณะนั้นเป็นอกุศลได้ไหม ก็ไม่ได้ใช่ไหม ดังนั้นก็ต้องเป็นผู้ที่รู้แล้วก็เข้าใจว่าอะไรที่จะเป็นเหตุที่จะให้กุศลธรรมเจริญขึ้น ฉะนั้นจากความที่เคยสะดวกสบาย หรือว่าเพลิดเพลินที่เป็นชีวิตประจำวัน ก็สละที่จะเริ่มที่จะเข้าใจ และก็เจริญกุศลธรรมให้ยิ่งๆ ขึ้นไป

    อ.อรรณพ เริ่มต้นที่ว่าสละชีพเพื่อชาติ ความเข้าใจธรรมคือขณะนี้สละความยินดีพอใจติดข้องไหม แล้วเป็นกุศลเพื่อประโยชน์ตน แล้วก็ประโยชน์ผู้อื่นที่จะมีความเข้าใจธรรมเพิ่มขึ้น สละบ้างไหม หรือยังคิดแต่ประโยชน์สุขของตัวเองอยู่ตลอด แล้วก็ถือเอาสิ่งที่ไร้สาระ เพราะฉะนั้นอกุศลก็ต้องชอบสิ่งที่ไม่มีสาระ ใช่หรือไม่ ถ้าเป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญาก็ถือเอาในสาระเพิ่มขึ้นๆ เพราะฉะนั้นจึงเป็นสภาพธรรมความเข้าใจอภิธรรมที่เป็นกุศลกับอกุศล ถึงจะเป็นจุดเริ่มของความเจริญในทางกุศลต่อไป

    ท่านอาจารย์ คุณธีรพันธ์ เกรงใจอกุศลไหม

    อ.ธีรพันธ์ มีเหมือนกันครับ ที่ว่าไม่กล้าที่จะกระทำกุศลเพื่อละอกุศล

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นต้องเป็นผู้ที่อาจหาญ หมายความว่าต้องรู้ว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด ไม่เกรงใจไปคิดว่าสิ่งที่ผิดเป็นถูก เป็นไปไม่ได้เลย ถูกคือต้องเป็นถูก ผิดก็คือต้องเป็นผิด แต่ว่าเป็นกาล เป็นโอกาส และเป็นประโยชน์หรือยัง ที่ควรที่จะพูดถึง หรือว่าควรที่จะกล่าวถึง แต่ไม่ได้หมายความว่าคนนั้นเป็นคนเกรงใจอกุศล ไม่ต้องเกรงใจ อกุศลเป็นอกุศล ให้รู้ไปว่าเป็นอกุศล ผิดก็คือผิด ถูกก็คือถูก ต้องอาจหาญร่าเริงที่จะมีความเข้าใจถูกด้วยตัวเอง เพื่อที่จะให้คนอื่นได้มีโอกาสที่จะมีความเข้าใจถูก เมื่อถึงเวลาหรือสามารถหรือในขณะที่เป็นประโยชน์ แต่ว่าก่อนอื่นตัวเองก็ต้องไม่เกรงใจอกุศล อะลุ่มอล่วยว่าแค่นี้ก็ได้ไม่เดือดร้อน หรือว่านิดๆ หน่อยๆ หรืออะไรเช่นนี้ แต่ก็ต้องเป็นผู้ที่มีความเข้าใจที่ถูกต้องตรงจริงๆ ว่าอกุศลต้องเป็นอกุศล เมื่อมีความเข้าใจถูกเช่นนี้ จึงสามารถที่จะเริ่มเห็นประโยชน์ของการที่จะเป็นผู้ตรงยิ่งขึ้นเพราะเหตุว่าจิตใจเป็นสิ่งซึ่งยากที่จะรู้ได้ แล้ววันหนึ่งๆ เราคิดถึงสิ่งที่จิตรู้ทั้งนั้นที่กำลังปรากฏ แต่ลืมนึกถึงสภาพจิตซึ่งเป็นสิ่งที่ปัญญาสามารถจะเห็นถูกต้องตามความเป็นจริงว่าขณะนั้นไม่ใช่เรา แต่ธรรมที่เป็นกุศลก็เป็นกุศล ธรรมที่เป็นอกุศลก็เป็นอกุศล

    อ.วิชัย ท่านอาจารย์ถามเรื่องของความเกรงใจในอกุศล ฉะนั้นการที่จะรู้จักว่าอกุศลคืออย่างไร บางครั้งความรู้ความเข้าใจก็ไม่เพียงพอ บางครั้งก็ลืม เป็นการอาจจะไม่แน่ใจ หรือว่าไม่ทราบชัดว่าสิ่งนี้เป็นอกุศล

    ท่านอาจารย์ หนทางเดียวคือมีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง พระธรรมรวนเรหรือไม่ พระธรรมเกรงใจใครหรือไม่

    อ.วิชัย ความจริงก็ต้องเป็นความจริง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเมื่อไม่รู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด ถ้าไม่ศึกษาธรรมไม่มีทางรู้ เพราะฉะนั้นคำว่ามีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง ไม่ใช่พึ่งขณะอื่น แต่พึ่งเพื่อที่จะให้มีความเห็นถูกต้องตรงตามความเป็นจริงยิ่งขึ้น เดี๋ยวนี้เป็นเราหรือเป็นธรรม

    อ.วิชัย เพียงเริ่มการเข้าใจว่าเป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ ตรงหรือยัง อุชุปฏิปันโน ปฏิบัติเพื่อความตรงความถูกต้อง ขณะนี้เป็นสิ่งที่มีจริงที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป แค่นี้พอจะเริ่มเข้าใจถูกว่าอะไรถูกอะไรผิด อะไรตรงอะไรไม่ตรง

    อ.วิชัย ก็พอรู้สึกว่าขณะที่เกรงใจก็เริ่มจะไม่ตรงแล้ว

    ท่านอาจารย์ โดยเฉพาะเกรงใจอะไร ถ้าใช้คำว่าเกรงใจ กุศลต้องเกรงใจไหม

    อ.วิชัย กุศลก็เป็นกุศล

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องเกรงใจ กุศลพร้อมที่จะให้ความจริงใช่ไหม แต่อกุศลเกิดขึ้นขณะนั้นไม่ตรง เกรงใจอกุศลหรือไม่

    อ.วิชัย บางครั้งก็รู้ว่าทั้งๆ ที่ไม่ถูกต้องด้วย

    ท่านอาจารย์ แต่ก็เกรงใจ ไม่กล้าพอที่จะแม้คิด แม้พูด แม้ทำ สละชีพเพื่อความถูกต้อง เพื่อความเข้าใจพระธรรม เพื่อประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ถูกต้องคือธรรม

    อ.อรรณพ จิตนี่เกิดดับสลับมากมาย เดี๋ยวกุศล เดี๋ยวอกุศล สมมติถ้าเราเกรงใจด้วยกุศลก็มี

    ท่านอาจารย์ ถ้าเขาพูดผิดเกรงใจไหม หรือควรที่จะให้เขาได้เข้าใจถูกต้อง เพราะฉะนั้นถ้าเราเองเป็นผู้ที่มีความเห็นถูก แล้วคนอื่นมีความเห็นผิด พร้อมที่จะเกื้อกูลให้เขาเกิดความเห็นถูก เมื่อสามารถจะเป็นไปได้ในกาลที่สมควร ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ด้วย เพราะว่าไม่ใช่คำพูดที่ถูกต้องทุกคนจะรับได้ว่าถูก เพราะอกุศลที่สะสมมาก็มีความเกรงใจ แม้จะบอกว่าก็ถูกเหมือนกัน ใช่ไหม อย่างนั้นไม่ถูกต้อง

    อ.อรรณพ แล้วเกรงใจแบบกุศล

    ท่านอาจารย์ หมายความว่ามีความเห็นที่ถูกต้องพอที่จะตรงต่อเหตุผล สิ่งใดถูกก็ถูก สิ่งใดผิดก็ผิด ถ้าคนอื่นพูดในสิ่งที่ผิด แล้วเรารับรองว่าถูก หรือถ้ามีโอกาสที่จะให้เขาได้เข้าใจความจริง แต่ก็ไม่กล้าพูด กลัวอะไร เป็นมิตรที่ดีหรือไม่ แต่ถ้าเป็นมิตรที่ดีกัลยาณมิตร พร้อมที่จะเกื้อกูลให้เขาเกิดความเห็นที่ถูกต้อง เกิดมาแล้วก็พบกันครั้งเดียว ในชาตินี้เป็นคนนี้ และชาติต่อไปก็ไม่รู้ว่าเป็นใครแล้ว หรือเคยเป็นใครมา จะเกรงใจอะไร ที่จะให้เขาเข้าใจถูกต้อง ถ้าเขาสามารถที่จะรับฟังได้

    อ.อรรณพ ตรงนี้ยากมาก เพราะว่าถ้าสมมติเราอธิบายอย่างละเอียดแล้วก็บอกว่าอย่างนี้ไม่ถูก ไม่ถูกทั้งหมดเลย เขาก็อาจจะรับไม่ได้ในช่วงนั้น แต่บางครั้งก็ไม่แน่ บางครั้งก็มีความรู้สึกว่า เวลาเหลือน้อยก็ว่ากันตรงๆ ก็คือรับได้ก็จะได้ประโยชน์ รับไม่ได้ จะไปก็ไป

    ท่านอาจารย์ ถ้าบอกเขา เขาไม่เชื่อก็ได้ใช่ไหม

    อ.อรรณพ เขาไม่เชื่อก็ได้

    ท่านอาจารย์ ถามเขา ให้เขาคิด ไม่ต้องบอกใครเรื่องอะไรเลยทั้งสิ้น แต่ถามได้ ให้เขาคิด เพื่อเขาจะได้รู้ว่าถูกผิดคืออย่างไร

    อ.อรรณพ ก็คือเป็นผู้ที่หวังดีจริงๆ

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ความหวังดีคือไม่ให้เขาตกไปในทางฝ่ายความเห็นผิด ซึ่งจะติดตามไปทุกชาติ ถ้าถามเขา เขาคิดแล้วเขาตอบ จะได้รู้ว่าคำตอบของเขาถูกหรือไม่ แต่ถ้าไม่ได้ศึกษาธรรมเลย คำตอบจะถูกได้ไหม

    อ.อรรณพ ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเขาเองก็จะค่อยๆ เข้าใจขึ้นว่า แท้ที่จริงแล้วที่เขาเข้าใจนั้น เขาไม่ได้เข้าใจอะไรเลย

    อ.อรรณพ เพราะฉะนั้นก็คือควรถาม เพื่อฟังความเห็นของเขา

    ท่านอาจารย์ เราไม่ได้บอกอะไรเลยทั้งสิ้น แต่เขามีโอกาสที่จะฟัง แล้วก็คิดด้วยตัวเขาเอง ถูกต้องเป็นเรื่องความคิดของเขา ซึ่งเราสามารถที่จะถามต่อไปอีก ถามต่อไปอีกได้ จนกระทั่งเขาเองจะเป็นฝ่ายเข้าใจว่าความคิดของเขาถูกหรือผิด

    ผู้ฟัง ความรวดเร็วความละเอียดลึกซึ้งของรูปธรรมนั้นเป็นสภาพที่ไม่รู้อะไรเลย

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีธาตุรู้ อะไรๆ ก็ไม่ปรากฏ ถูกต้องไหม

    ผู้ฟัง ถูกต้องครับ

    ท่านอาจารย์ ตามลำดับ เข้าใจอย่างนี้จริงๆ หรือเปล่า เดี๋ยวนี้

    ผู้ฟัง ความเข้าใจของกระผมด้วยความโง่เขลาเบาปัญญา ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ท่านอาจารย์ ทีละเล็กทีละน้อยค่อยๆ เข้าใจขึ้น เพราะว่ากว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงตรัสรู้ความจริงตามที่ได้ทรงแสดง ตามที่ทุกคนได้ฟัง บำเพ็ญพระบารมี๔ อสงไขยแสนกัป เพราะฉะนั้นแต่ละคำมาจากการที่ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีจนกระทั่งสามารถที่จะรู้ เพราะฉะนั้นคนที่เพิ่งจะฟังธรรม บารมีอยู่ไหน เท่าใดแล้ว สามารถที่จะเข้าใจความจริงหรือเปล่า ในขั้นการฟังก็ต้องไตร่ตรองแล้ว ขณะนี้กำลังเห็น ไม่ใช่ขณะที่ได้ยิน ถูกต้องหรือไม่

    ผู้ฟัง ถูกต้อง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นในขณะที่ได้ยินมีแต่เสียงเท่านั้นที่กำลังปรากฏว่า จิตเกิดขึ้นได้ยิน ไม่ใช่จิตเกิดขึ้นเห็น ถูกต้องไหม

    ผู้ฟัง ถูกต้อง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเห็นขณะนี้ต้องดับไป จึงสามารถที่จะมีธาตุที่เกิดขึ้นได้ยินเสียง ซึ่งเสียงกำลังปรากฏขณะนี้ถูกต้องไหม

    ผู้ฟัง ถูกต้อง เข้าใจเช่นนั้น เพียงแต่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะเหตุว่าคุณประทีปบำเพ็ญบารมีมาเท่าใด

    ผู้ฟัง ด้วยความโง่เขลาเบาปัญญา เมื่อฟังท่านอาจารย์ว่าขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏทางตา นั่นคือลักษณะของรูปธรรมที่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจะเข้าใจมากขึ้นโดยวิธีไหน โดยคิดเองต่อไป หรือไตร่ตรองสิ่งที่ได้ฟังทุกครั้งที่มีโอกาสได้ยิน หรือแม้ไม่ได้ยินก็ยังจำได้ระลึกได้ มั่นคงขึ้นที่จะรู้ว่าทุกอย่างทุกคำที่ได้ยิน ต้องไตร่ตรอง ต้องไม่ลืม ไม่ใช่ต้องไปคิดเอง

    ผู้ฟัง ด้วยเหตุนี้แม้แต่พระธรรมที่แสดงว่าขณะนี้สภาพธรรมกำลังปรากฏ ธรรมนั้นเกิดแล้วดับแล้ว

    ท่านอาจารย์ นี่คือพระปัญญาคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มิเช่นนั้นจะไม่ถึงการเข้าใกล้พระศาสดา ไม่เข้าใกล้คำสอน เพราะคิดเอง


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 194
    21 ก.พ. 2567

    ซีดีแนะนำ