พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 936


    ตอนที่ ๙๓๖

    ณ มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๕๗


    ท่านอาจารย์ พระธรรมทั้งหมดทุกคำเป็นไปเพื่อความเห็นถูกความเข้าใจถูก ถึงแม้ความต่างของกายสุจริตที่ยังไม่ได้กล่าวถึง เพราะเหตุว่าถ้ากล่าวถึงก็คือว่าสะอาด ก็แสดงให้เห็นว่ามีกายสุจริตที่สะอาด และกายสุจริตที่ยังไม่ได้ชำระกิเลส เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าจะเป็นกุศลที่ละเว้นทุจริต แต่ว่าใจยังไม่สะอาด แต่สำหรับผู้ที่ชำระกิเลสไปเรื่อยๆ ความสะอาดก็เพิ่มขึ้น ในขณะที่เป็นกายสุจริตก็รู้ ขณะที่รู้ขณะนั้นก็ชำระความไม่รู้ซึ่งเป็นความไม่สะอาด เพราะฉะนั้นทุกคำเป็นไปในเรื่องของปัญญา ตั้งแต่ธรรมดาไม่ได้ฟังพระธรรมเลย กายสุจริตมีไหม ไม่ได้ฟังพระธรรมมาก่อนเลย กายสุจริตมีไหม ไม่มีการเว้นทุจริตเลยหรือ มี แต่ไม่สะอาด เพราะเหตุว่ายังไม่มีปัญญาที่สามารถที่จะรู้ว่าขณะนั้นก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้น

    ด้วยเหตุนี้ความต่างก็คือว่ากายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ชั่วขณะที่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย แต่จิตยังคงไม่สะอาด เพราะฉะนั้นก็ต้องชำระจิตจนสะอาดถึงความเป็นพระอรหันต์ ก็จะรู้ได้ว่าค่อยๆ สะอาดขึ้นด้วยปัญญาที่มีความเห็นที่ถูกต้องว่าแม้แต่กายสุจริตขณะนั้นก็ไม่ใช่เรา

    อ.คำปั่น หมายถึงว่ากุศลที่เกิดขึ้นเป็นไป ก็ยังไม่สะอาด ยังไม่บริสุทธิ์ จนกว่าจะได้เข้าใจความจริงของสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจึงมีพระสูตรนี้ ที่กล่าวถึงความสะอาด ว่าความสะอาดแม้เป็นไปในกายสุจริต วจีสุจริต แต่ก็ต้องเป็นความเข้าใจถูกความเห็นถูกด้วย

    อ.คำปั่น ก็เป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ ซึ่งก็จะมีพระสูตรที่คล้ายๆ กัน ในบางพระสูตรแสดงถึงกัลยาณะคือความงาม แสดงโดยนัยที่แสดงถึงว่าผู้มีศีลงาม ผู้มีธรรมอันงาม และผู้มีปัญญางาม ท่านแสดงถึงสูงสุดถึงความเป็นพระอรหันต์ ผู้ที่ไม่ทำความชั่วด้วยกาย ด้วยวาจา และด้วยใจ ชื่อว่าเป็นผู้ที่มีศีลงาม ผู้ที่มีการอบรมเจริญตามหนทางที่ถูกต้อง เพื่อถึงการดับกิเลสเรียกว่าผู้มีธรรมอันงาม และผู้ใดก็ตามที่สามารถมีปัญญาที่อบรมเจริญแล้ว ถึงความสมบูรณ์พร้อมดับกิเลสได้เรียกว่าผู้มีปัญญางาม

    อ.ธิดารัตน์ เพราะฉะนั้นการศึกษาของเราก็เป็นไปเพื่อที่จะเข้าใจสภาพธรรมขณะนี้ เช่นในพระสูตรนี้ท่านก็กล่าวไว้ว่าให้รู้ยังมีโลภะอยู่ หรือว่าโลภะเกิดขึ้นก็รู้โลภะตามความเป็นจริง โลภะนั้นเกิดอาศัยทางใด ก็คือเกิดโดยอาศัยทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั่นเอง ดังเช่นในอรรถกถาท่านก็ได้อธิบายไว้ เรื่องความสะอาดทางกายก็หมายถึงว่าตั้งแต่กายทวารเลย เพราะฉะนั้นก็เป็นไปตามทวารทั้ง ๖ นั่นเอง กุศลก็เกิดทั้ง ๖ ทวารเหมือนกัน อกุศลหรือว่านิวรณ์ก็เกิดได้ทั้ง ๖ ทวารเหมือนกัน โดยรายละเอียดที่ท่านก็กล่าวไว้ ยกตัวอย่างเหมือนกับโดยลำดับ มีอกุศลอยู่ก็รู้ว่ามีอกุศล อกุศลไม่มีก็รู้ว่าขณะนั้นไม่มีนิวรณ์ และถึงแม้นิวรณ์นั้นเกิดอาศัยทางใดก็รู้ แล้วยังมีวิธีละอีก ที่ท่านกล่าวไว้ในพระสูตรนี้ รู้วิธีที่จะละนิวรณ์

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องเป็นปัญญา วิธีอื่นไม่มีเลย ถ้าปัญญาไม่เกิดก็ละไม่ได้ ข้อสำคัญที่สุดก็คือว่า แม้นิวรณ์ประเภทใดเกิดก็รู้ แสดงให้เห็นว่าการรู้หรือการเข้าใจ เข้าใจอะไร เข้าใจสิ่งที่มีจริงที่เกิดขึ้นในขณะนั้นไม่ว่าจะเป็นอะไร ไม่ใช่เลือก นิวรณ์เกิดไม่รู้ พยายามให้ไม่มีนิวรณ์ หรือว่าอกุศลเกิดก็ไม่รู้ แต่ว่าตามความเป็นจริงการที่จะละการยึดถือสภาพธรรมเพราะไม่รู้จึงยึดถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง ก็โดยเมื่อสภาพนั้นปรากฏแล้วรู้ ถ้านิวรณ์ไม่เกิด จะไปรู้นิวรณ์ได้หรือไม่ ถ้ากามฉันทะไม่เกิด พยาปาทะไม่เกิด วิจิกิจฉา ความสงสัยไม่เกิด จะไปรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ได้ไหม ไม่ได้ นี่แสดงให้เห็นแล้วว่าปัญญาต้องรู้ และเข้าใจถูกในสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนั้น มิฉะนั้นแล้วไม่ใช่ปัญญา ถ้ารู้แล้วก็เป็นเหตุที่จะทำให้ค่อยๆ คลายการที่เราโกรธ หรือว่าเราสงสัยเพราะว่าละเอียดมาก แม้ว่าขณะนี้ทุกคนเห็น เหมือนกับว่าไม่เคยมีใครคิดว่าเราเห็น ใช่ไหม ไม่ต้องมานั่งบอกว่าเราเห็น กำลังเห็นเช่นนี้แล้ว แล้วอย่างไร อนุสัยคือแม้ไม่เกิดคิดเช่นนั้น แม้ไม่ต้องพูด แต่อะไร ใครที่เห็น ก็ไม่พ้นจากความเป็นเรา

    เพราะฉะนั้นการที่จะมีอนุสัยกิเลสอย่างละเอียด ไม่ใช่ต้องกล่าวหรือว่าต้องเอ่ย แต่ความจริงก็นอนเนื่องพร้อมอยู่ที่สภาพธรรมที่ปรากฏ แต่ว่าแล้วแต่ว่าขณะนั้นสภาพธรรมใดกำลังปรากฏ ด้วยเหตุนี้ขณะนี้สิ่งหนึ่งสิ่งใดกำลังปรากฏ ปัญญาที่ได้อบรมแล้วเท่านั้นจึงสามารถที่จะรู้ว่านั่นคือสิ่งที่มีจริงๆ ชั่วขณะแล้วก็หมดไป ถ้ายังไม่คลายการที่รู้จริงๆ ว่าขณะนั้นเพียงชั่วขณะ ก็ยังคงติดตามด้วยความต้องการที่จะรู้ แม้แต่ต้องการที่จะรู้ก็เป็นเครื่องกั้น

    อ.คำปั่น เรื่องของนิวรณ์ก็เป็นเรื่องของสิ่งที่มีจริงๆ แต่เป็นทางฝ่ายที่เป็นอกุศล เป็นเครื่องกลุ้มรุมจิต กางกั้นไม่ให้คุณความดีเกิดขึ้นเป็นไป ทรงแสดงไว้ มีกามฉันทะคือความพอใจในกาม ซึ่งก็คือโลภะความติดข้องนั่นเอง พยาปาทะคือความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ ถีนมิทธะ คือ ความท้อแท้ ท้อถอย ง่วงเหงาหาวนอน อุทธัจจะเป็นความฟุ้งซ่าน เป็นความไม่สงบของจิต กุกกุจจะคือความรำคาญใจ ท่านแสดงไว้ ๒ นัยว่า รำคาญใจเดือดร้อนใจที่ได้กระทำอกุศลกรรมลงไปแล้ว และเดือดร้อนใจที่ไม่ได้ทำกุศล ไม่ได้ทำความดี ในส่วนของวิจิกิจฉาซึ่งเป็นความลังเลสงสัยในสภาพธรรม ซึ่งก็มีจริงๆ เป็นธรรมที่มีจริงทางฝ่ายอกุศล กามฉันทะมีจริงๆ พยาปาทะมีจริงๆ ถีนมิทธะมีจริงๆ อุทธัจจะ กุกกุจจะก็มีจริงๆ ความลังเลสงสัยก็มีจริงๆ

    ท่านอาจารย์ มีจริงๆ แล้วเดี๋ยวนี้รู้ไหม เห็นไหม การฟังธรรมต้องรู้ มีจริงได้ยิน เชื่อด้วยว่ามีจริงแต่ว่าเดี๋ยวนี้รู้ไหม เพราะฉะนั้นไม่มีทางละแน่นอน จนกว่าจะรู้ โดยการที่ฟังธรรมจนกระทั่งเข้าใจ จนลักษณะของสภาพธรรมปรากฏให้รู้ ถ้าถามว่าเดี๋ยวนี้มีนิวรณ์ใด เห็นไหม ก็ไม่รู้อีก แต่มี มีแน่ๆ ใช่ไหม เพราะฉะนั้นแม้ว่ามีนิวรณ์ ถ้าถามแล้วก็ไม่รู้ว่านิวรณ์อะไร แสดงว่าขณะนั้นไม่ใช่ความเข้าใจจริงๆ ในลักษณะของนิวรณ์ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมทุกอย่างเกิดขึ้น และดับไปเร็วมาก จนกว่ามีความเข้าใจขึ้น และสภาพธรรมเพียงหนึ่งปรากฏ เมื่อนั้นรู้ได้ว่าขณะนั้นมีอะไร หรือถ้าถามว่าเป็นนิวรณ์อะไร ก็สามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏหนึ่งให้รู้ แต่ถ้าปนๆ กันเช่นนี้ ก็ตอบไม่ได้เลย เดี๋ยวนี้รู้แต่ว่ามีนิวรณ์ แต่นิวรณ์อะไร หาไม่เจอไม่รู้ว่าอันไหน หรือใครพบ ใครรู้นิวรณ์ใดบ้าง ถ้านิวรณ์นั้นไม่ได้ปรากฏ โดยถ้าเราจะใช้คำสติสัมปชัญญะเกิดแล้วก็รู้ลักษณะเพียงหนึ่ง เมื่อนั้นจึงสามารถที่จะกล่าวได้ว่าเป็นความรู้เป็นความเข้าใจ แต่ก็ยังไม่ละ จนกว่าความรู้ความเข้าใจจะถึงความเข้าใจที่เพิ่มขึ้น ค่อยๆ คลายการที่เคยยึดถือ และก็จนกว่าจะละได้ แต่ต้องเป็นความจริง ไม่ใช่ฟังแล้วก็ตอบได้ เดี๋ยวนี้มีนิวรณ์ นิวรณ์อะไร ๕ นิวรณ์หรือไม่ ตอบไม่ได้ เพราะว่าธรรมไม่ได้ปรากฏเพียงทีละหนึ่ง

    เพราะฉะนั้นชัดเจน อย่างไรๆ ก็ตอบไม่ได้ จนกว่าสภาพธรรมจะปรากฏทีละหนึ่ง แล้วสภาพธรรมจะปรากฏได้อย่างไรทีละหนึ่ง ถ้าไม่มีความเข้าใจปริยัติ ปฏิปัตติ ไม่มีเลย ไม่สามารถที่จะทำให้มีสภาพธรรมที่กำลังรู้เฉพาะลักษณะหนึ่ง สภาพธรรมนั้นจึงปรากฏหนึ่ง แม้เช่นนั้น ในขณะนั้นก็ไม่ใช่ไปเรียกชื่อว่าขณะนี้สติสัมปชัญญะเกิด กำลังรู้ลักษณะสภาพธรรม สภาพธรรมนั้นปรากฏด้วยดีคือหนึ่ง นี่คือชั่วขณะที่มีความเข้าใจ แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    อ.ธิดารัตน์ ผู้สนทนายังสงสัยอยู่ เพราะว่าลักษณะของโลภะก็มีหลากหลายลักษณะ และก็มีลักษณะของนิวรณ์ด้วย ก็จะค่อยๆ เข้าใจลักษณะของนิวรณ์ เพราะว่าโลภะที่มีกำลังน้อยก็มี โลภะที่กลุ้มรุมมีกำลังก็มี

    ท่านอาจารย์ วันหนึ่งๆ ความติดข้องไม่เท่ากัน ไม่เหมือนกันเลย แล้วแต่ละทางด้วย จะถามใครดี ใครก็ได้ คิดถึงอะไรมาก มีเรื่องอะไรที่กำลังคิดถึงอย่างมากเลย คุณอรรณพมีใช่ไหม

    อ.อรรณพ คิดถึงเรื่องงานเรื่องภาระทั้งหลาย

    ท่านอาจารย์ พอรู้หรือไม่ว่านั่นคือนิวรณ์

    อ.อรรณพ เป็นความไม่สบายใจ

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เพียงกำลังเห็นเดี๋ยวนี้แล้วจะเป็นนิวรณ์ แต่ต้องเป็นธรรมที่มีความติดข้องนานจนปรากฏว่ากลุ้มรุม ไม่ให้ไปอื่นเลย นอกจากอยู่ตรงนั้นเอง เรื่องนั้นเอง แล้วแต่ว่าจะนานเท่าใด เพราะฉะนั้นก็เข้าใจความหมายของนิวรณ์ ไม่ใช่เพียงแค่อาสวะ หรือว่ากิเลสที่ไม่ปรากฏ แต่ว่าต้องเป็นขณะที่ไม่ลืม และก็คิดถึงแต่เรื่องนั้น ซึ่งเป็นไปด้วยอกุศล จนกระทั่งปรากฏว่าเป็นการที่จิตใจขณะนั้นไม่สงบเพราะมีเครื่องกั้น คือไม่พ้นจากเรื่องนั้นไปได้

    อ.อรรณพ ไม่ต้องใช้คำว่านิวรณ์ แต่เขาก็เป็นในตัว เช่น กลุ้มใจ

    ท่านอาจารย์ ธรรมทั้งหมดไม่ต้องเรียกชื่อแต่มี แต่ถ้าไม่เรียกจะรู้ได้อย่างไรว่าหมายความถึงระดับใด เพราะฉะนั้นที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมก็เพราะเหตุว่าเพื่อที่จะให้รู้ว่ามุ่งหมายถึงสภาพธรรมใด แต่เวลาที่กำลังเป็นนิวรณ์ไม่ต้องเรียก ถ้าเรียกขณะนั้นไม่รู้ลักษณะของนิวรณ์ แต่ขณะที่ไม่เรียกนั่นเองลักษณะนั้นปรากฏให้เห็นความเป็นธรรมที่เป็นขั้นนั้น คุณอรรณพชอบต้นไม้

    อ.อรรณพ เป็นนิวรณ์

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเรียกชื่อ เพราะได้ฟังมา แต่เวลาที่กำลังเป็นเช่นนั้นจริงๆ ไม่ใช่เรียกชื่อ แต่รู้ในลักษณะที่ขณะนั้นไม่เป็นอย่างอื่น เป็นลักษณะสภาพนั้นจริงๆ เพราะฉะนั้นรู้จึงเข้าใจถูกต้อง เพื่อที่จะละว่าขณะนั้นไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นเมื่อนิวรณ์มีก็รู้คือเกิดแล้ว ขณะนั้นก็เห็นการเกิดขึ้นของนิวรณ์ เมื่อนิวรณ์ไม่มี คือดับไปก็รู้ในขณะที่นิวรณ์ดับไป ปัญญาระดับใด เพราะฉะนั้นปัญญาต้องเพิ่มขึ้นๆ จนกระทั่งถึงการดับกิเลสหมดถึงความเป็นพระอรหันต์

    เพราะฉะนั้นแค่ประโยคที่ว่า เมื่อมีก็รู้ เมื่อไม่มีก็รู้ แล้วแต่ว่าเป็นปัญญาระดับใด ปัญญาขั้นฟัง นิวรณ์เกิดดับ ถ้านิวรณ์ไม่เกิดจะไปรู้นิวรณ์ได้อย่างไร นี่คือขั้นฟัง แต่ว่าแม้ว่านิวรณ์ขณะนี้เกิด แต่ปัญญาไม่พอที่จะรู้เฉพาะหนึ่ง เพราะเหตุว่าขณะนั้นไม่มีปัจจัยที่จะทำให้สติสัมปชัญญะรู้เฉพาะหนึ่ง เวลาที่สภาพธรรมหนึ่งปรากฏไม่ต้องบอกว่าสติสัมปชัญญะกำลังรู้ แต่ว่าจากธรรมดาปกติที่ไม่ปรากฏแล้วปรากฏต้องเป็นความต่าง และความต่างในขณะที่มีความเข้าใจในขณะนั้นไม่ต้องเรียกชื่อ แต่เริ่มเข้าใจลักษณะนั้น เพราะฉะนั้นจนกว่าจะถึงขณะที่เกิดก็รู้ ดับก็รู้ จึงจะค่อยๆ คลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้ เพราะเหตุว่าจิตจะสงบขึ้น เมื่อไม่มีนิวรณ์ ๕ แต่ที่จะดับกิเลสได้ ต้องไม่มีนิวรณ์ ๖

    ผู้ฟัง ผมก็คิดว่าท่านที่นำพระภิกษุมาเทศน์ แต่ว่าท่านไม่ได้ทำคุณประโยชน์แก่พระพุทธศาสนา ท่านกำลังทำลายพระพุทธศาสนา ผมก็มากราบเรียนกับท่านอาจารย์ตามเรื่องตามความเป็นจริงของสิ่งที่มีจริง

    ท่านอาจารย์ ฟังแล้วเป็นอย่างไร ไม่เหมือนเหตุการณ์ ณ พระวิหารเชตวัน พระวิหารโกสัมพี หรือที่หนึ่งที่ใดเลยในครั้งพุทธกาล เพราะฉะนั้นนี่ก็แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่กำลังเป็นอยู่ในขณะนี้เพราะขาดการศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ เพราะฉะนั้นชาวพุทธส่วนใหญ่เข้าใจว่าตัวเองเป็นชาวพุทธ แต่เมื่อไม่ได้ศึกษา เพราะฉะนั้นก็เป็นเช่นนี้คือไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น ไม่รู้แม้แต่ว่าคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ๔๕ พรรษาเพื่อให้คนฟังเกิดความเข้าใจถูก เกิดความเห็นถูก ไม่ว่าจะเป็นเทศน์มหาชาติ หรือเทศน์ใดๆ ทั้งสิ้น ประโยชน์ก็คือเพื่อให้คนฟังเข้าใจธรรม มีความเห็นที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นถ้าไม่เป็นเช่นนี้ ก็ไม่ใช่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่นอน แต่ว่าเราสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงคนที่ไม่ได้ศึกษาธรรมให้เข้าใจได้ไหม ถ้าเขาไม่สนใจที่จะศึกษาพระธรรม

    เพราะฉะนั้นกล่าวได้เลย เขาไม่ฟัง เขาไม่เห็นด้วย และเขาไม่เห็นประโยชน์ของการศึกษาพระศาสนา เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคลที่รู้ว่าอนัตตาคือไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร เพราะความไม่รู้ กล่าวได้เลยทั้งหมดที่ประพฤติกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็เพราะความไม่รู้ เพราะฉะนั้นเมื่อความไม่รู้ทำให้เป็นเช่นนี้ ก็เป็นหน้าที่ของชาวพุทธที่คงจะได้มีโอกาสได้เคยฟังพระธรรม ณ พระวิหารเชตวัน หรือว่าที่ไหนก็ตามในครั้งโน้น ที่สามารถที่จะเข้าใจถูกว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้เพื่ออนุเคราะห์สัตว์โลก สัตตูปการคุณ มิฉะนั้นก็ไม่สมกับการที่ได้ทรงบำเพ็ญที่จะเป็นถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถ้าไม่ได้อนุเคราะห์ใคร

    ด้วยเหตุนี้ผู้ที่ได้มีการเข้าใจถูกในครั้งนั้น ก็ยังสามารถที่จะเข้าใจว่าอะไรถูก อะไรผิด และอะไรควร เพราะฉะนั้นเมื่อเข้าใจเช่นนี้ก็เป็นผู้ที่มั่นคง พร้อมที่จะเกื้อกูลคนที่สามารถเกื้อกูลได้ แต่ถ้าไม่สามารถที่จะเกื้อกูลได้ก็เสียเวลาเปล่า คือทำสิ่งซึ่งไร้ประโยชน์ เพราะว่าถึงแม้ว่าจะมีความหวังดีสักเท่าใด ก็ไม่มีใครเห็นว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องจนกว่าจะได้ศึกษาพระธรรม และการศึกษาพระธรรมจะเห็นได้ว่า ไม่มีทางที่จะไปฝืนใครได้เลย ได้ยินเสียงพระธรรมก็ไม่ฟัง ไม่ใช่ว่าไม่มีโอกาสได้ยิน ได้ยินอยู่ก็ไม่ฟัง เพราะฉะนั้นการที่แต่ละบุคคลคือแต่ละธาตุซึ่งเกิดมา ธาตุดินก็ต้องเป็นธาตุดินจะเป็นธาตุน้ำไม่ได้ ธาตุโลภะก็ต้องเป็นธาตุโลภะ ธาตุโมหะก็ต้องเป็นธาตุโมหะ ใครจะไปเปลี่ยนแปลงธาตุทั้งหลายได้

    ในสมัยพุทธกาลมีพวกเดียรถีย์ คือนับถือครูบาอาจารย์อื่นมาก แต่พระผู้มีพระภาคก็ไม่ได้เสด็จไปทรงแสดงธรรมกับบุคคลเหล่านั้น แต่ไม่ว่าใครที่ไหนสามารถที่จะเข้าใจพระธรรมได้ ทรงพระมหากรุณาเสด็จไปแม้แสนไกล เพื่อความเข้าใจของคนนั้นเพียงคนเดียว แสดงให้เห็นว่าถ้าพระองค์ไม่เสด็จไป เขาไม่มีโอกาสจะได้มีความเข้าใจถูกต้องเลย ด้วยเหตุนี้เมื่อเข้าใจในความเป็นอนัตตา และในการที่ยากที่ใครจะสามารถไปเปลี่ยนแปลงธาตุซึ่งไม่ใช่ใครเลย แต่เป็นธาตุที่สะสมมาเช่นนั้นที่จะเห็นเช่นนั้น แม้แต่จะเห็นผิดก็ไปกลับความเห็นไม่ได้ กล่าวว่าเป็นชาวพุทธแต่ว่าไม่ได้ศึกษาธรรมเลย เพราะฉะนั้นผู้ที่ศึกษาก็รู้ว่าถ้าเป็นชาวพุทธเคารพในพระศาสดาก็ต้องศึกษาพระธรรมที่ทรงแสดง ไม่ใช่คิดเองไม่ใช่กล่าวเองแล้วอ้างว่า นี่เป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ต้องศึกษาโดยความเคารพอย่างยิ่ง

    เพราะฉะนั้นก็ไม่เดือดร้อนใจกับธาตุทั้งหลาย ซึ่งใครก็ยับยั้งไม่ได้ที่จะให้เป็นเช่นนั้น แต่ว่าสำหรับผู้ที่มีบุญที่ได้สะสมแล้วแต่ปางก่อน ซึ่งขณะเดี๋ยวนี้ขณะนี้ เป็นบุญแต่ปางก่อนสำหรับชาติหน้า ที่สามารถที่จะมีโอกาสได้ยินได้ฟัง แล้วก็ได้เข้าใจธรรมต่อไป

    อ.วิชัย เริ่มต้นด้วยการศึกษาพระธรรม ที่กล่าวถึงธรรมคุณว่า สวากขาโต ภควตา ธัมโม พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว ก็คือทรงมีเทศนาด้วยความงามทั้งเบื้องต้นท่ามกลาง และที่สุด นั่นก็คือเริ่มต้นด้วยการศึกษาพระธรรมให้เกิดความรู้ความเข้าใจ

    ผู้ฟัง ผมเข้าใจถูกหรือไม่ว่าทุกข์กายนั้นเกิดจากวิบากกรรมเท่านั้น แต่ว่าทุกข์ใจ หรือโทมนัสเกิดจากกิเลสเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ ก่อนอื่นธรรมละเอียดไหม

    ผู้ฟัง ละเอียดมาก

    ท่านอาจารย์ ลึกซึ้งไหม

    ผู้ฟัง ลึกซึ้ง

    ท่านอาจารย์ ควรเข้าใจได้ในภาษาอะไร คนที่ไม่ได้พูดภาษาบาลี จะเข้าใจคำภาษาบาลีซึ่งไม่ได้ใช้ในชีวิตประจำวันถูกต้องได้ไหม เพราะฉะนั้นได้มีคำกล่าวไว้แม้ในพระไตรปิฏก เมื่อเสียงมาสู่คลองของโสตะควรที่จะได้เข้าใจในภาษาของตน เพราะฉะนั้นได้ยินคำว่าโทมนัสหรือโสมนัสคืออะไร ก่อนอื่นต้องเข้าใจ อย่าเพิ่งไปรับพูดตามโดยไม่รู้ว่าแล้วเราเข้าใจคำนั้นถูกต้องหรือไม่ เพราะฉะนั้นคำนี้ไม่ใช่ภาษาไทยแน่นอน เป็นภาษาอะไร

    ผู้ฟัง เป็นภาษาบาลี ภาษามคธ

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าอะไร

    ผู้ฟัง คือความทุกข์ใจ

    ท่านอาจารย์ ความทุกข์ใจ เพราะฉะนั้นเราใช้คำว่าทุกข์ใจ ถ้าร่างกายแข็งแรงดีไม่ป่วยไข้ เจ็บปวดเลย อาหารก็อร่อย ที่หลับที่นอนก็สบาย ที่พักอาศัยก็สะดวกทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ใจเป็นทุกข์ได้ไหม

    ผู้ฟัง เป็นได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นทุกข์ใจเกิดจากอะไร

    ผู้ฟัง เกิดจากกิเลส

    ท่านอาจารย์ เกิดจากกิเลส แต่ว่ากายใครจะยับยั้งไม่ให้เป็นทุกข์ได้เมื่อถึงกาลที่กรรมจะให้ผล ทุกข์กายเป็นวิบากเป็นผลของกรรม เพราะฉะนั้นแต่ละคำต้องเข้าใจว่า เมื่อใดที่ใช้คำว่าวิบากในภาษาไทย ภาษาบาลีคือวิปาก หมายความว่ากรรมที่ได้กระทำแล้วแม้ดับไปแล้ว แต่กำลังของการที่เกิดกรรมนั้นสำเร็จไป ก็สะสมอยู่ในจิต พร้อมที่จะทำให้จิตที่เป็นผลของกรรมนั้นเกิดขึ้น และผลของกรรมในชีวิตประจำวันหลังจากที่การเกิดก็เป็นผลของกรรมที่เราเลือกเกิดไม่ได้ เกิดมาแล้วก็ยังต้องเห็น เลือกได้ไหม

    ผู้ฟัง เลือกไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ได้ยิน เลือกได้ไหม

    ผู้ฟัง เช่นเดียวกัน

    ท่านอาจารย์ ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย แม้เดี๋ยวนี้ทุกข์ทางกายก็เกิดได้ สุขทางกายก็เกิดได้ เมื่อมีกายซึ่งเกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย กายที่นี่คือกายปสาท คือ รูปพิเศษที่สามารถจะกระทบกับเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว แล้วก็จิตเกิดขึ้นรู้ลักษณะนั้น พร้อมด้วยความรู้สึกอย่างหนึ่งอย่างใด คือสุขหรือทุกข์ ซี่งเราไม่ได้สังเกตเลย มีตั้งแต่อย่างบางมากจนกระทั่งถึงเจ็บจนกระทั่งทนไม่ได้ และรู้ว่าขณะนั้นเป็นทุกข์ แต่แค่หิว เป็นทุกข์ไหม

    ผู้ฟัง เป็นทุกข์

    ท่านอาจารย์ บังคับไม่ให้หิวได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ เพราะว่ามีธาตุไฟซึ่งเกิดจากกรรม เมื่อมีมากเกินไปถึงเวลาที่จะทำให้ต้องเผาผลาญ ต้องการอาหาร ก็เป็นเหตุให้ไม่รับประทานอาหารไม่ได้


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 194
    14 มี.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ