พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 912


    ตอนที่ ๙๑๒

    ณ มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๕๗


    ท่านอาจารย์ ชาตินี้ก็เป็นชาติที่มีโอกาสได้ยินได้ฟัง แต่ว่าผลจริงๆ สังขารขันธ์จริงๆ ความเป็นผู้ละเอียดที่จะได้สาระจากพระธรรมอยู่ที่ชีวิตประจำวัน ซึ่งทำให้รู้ได้ว่าเมื่อวานเป็นคนไม่ค่อยดีตอนไหน แล้ววันนี้ความไม่ค่อยดีลดน้อยลง และนึกได้ ต่อไปชีวิตประจำวันก็จะเป็นคนที่ใช้คำว่า"น่ารัก" เพราะเหตุว่ากุศลจิตเกิด เพราะฉะนั้นแม้แต่เพียงใครได้เห็น เขาก็จะพูดได้เลยว่าคนนี้น่ารัก ถ้าอกุศลจิตเกิดจะน่ารักไหม ใช่หรือไม่

    นี่ก็เป็นเรื่องของธรรมโดยละเอียดที่จะต้องรู้ว่า การบูชาพระรัตนตรัยจริงๆ ด้วยกา ยด้วยวาจา ด้วยใจ คืออย่างไร แล้วก็จะนำไปสู่ปฏิปัตติธรรม หมายความว่าประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม เพราะได้มีความเข้าใจถูกในสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่าเป็นธรรมแต่ละหนึ่งจริงๆ มั่นคงขึ้น เพราะฉะนั้น ก็เป็นปัจจัยที่สามารถที่จะทำให้ทุกอย่างในชีวิตเป็นไปเพื่อการขัดเกลา เพื่อการละคลาย เพื่อการที่รู้ว่าตราบใดที่อกุศลที่ทำให้มืดสนิท กั้นสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ไม่เห็นความจริง ทั้งๆ ที่ดูเหมือนสว่างแต่อวิชามืดสนิท กั้นไม่ให้เห็นว่าความจริงจริงๆ นั่นก็คือสภาพธรรมซึ่งเป็นธาตุแต่ละอย่างซึ่งมีจริงๆ ปรากฏว่ามีก็ไม่รู้ว่าเป็นธาตุ เพราะอวิชาบัง จนกว่าอวิชาค่อยๆ จางการที่จะปกปิด ก็สามารถที่จะค่อยๆ เห็นธรรมตามความเป็นจริงได้ และถึงที่สุดของอริยสาวิตรี การบูชาพระรัตนตรัย ก็คือได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ในวันหนึ่ง แต่ไม่ใช่วันนี้ ใช่หรือไม่

    อ.อรรณพ เรื่องว่าเป็น "ร่างทรง" ของกุศลหรืออกุศล วันๆ หนึ่งที่มีกายวาจาที่ไหวไปด้วยจิตทั้งนั้นเลย เพราะฉะนั้น กายก็เหมือนเป็นไปตามจิต

    ท่านอาจารย์ โดยมากจะพูดคำที่ไม่รู้จักเลย แม้แต่คนพูดก็พูดคำว่า "ร่างทรง" แต่รู้จักไหม แต่ว่าทุกคนที่ฟังธรรมแล้วสามารถที่จะเข้าใจคำที่ได้ยิน และคำที่ได้ใช้ เช่น กายไม่ใช่สภาพรู้ ถ้าปราศจากจิตทำอะไรไม่ได้เลย ใช่หรือไม่ ถึงใครจะใช้คำว่า "ร่างทรง" ถึงใครจะใช้คำอะไรก็ตามแต่ แต่ความจริงก็คือว่ารูปไม่ใช่สภาพรู้ ถ้าปราศจากจิตที่เกิดที่รูป รูปนั้นก็ไม่สามารถที่จะเคลื่อนไหวทำอะไรได้เลยทั้งสิ้น

    เพราะฉะนั้น เริ่มที่จะไม่ว่าฟังคำใด ก็สามารถที่จะรู้ แม้ผู้กล่าวอาจจะไม่เข้าใจ แต่คนฟังธรรมเข้าใจว่าความจริงของธรรมคืออะไร ไม่ว่าจะใช้คำอะไร และเมื่อสักครู่นี้มีคำตอบหรือไม่ จากการที่ได้ฟังธรรมมาก็นาน บางคนก็ก่อนที่จะมีมูลนิธิด้วย แล้วก็ได้ฟังแล้วเรื่องของจิต เรื่องของเจตสิก เรื่องของจิต กุศลอกุศล ละชั่วทำความดี แล้วชีวิตประจำวันมีความที่จะเพิ่มบารมีอะไรขึ้นบ้างหรือไม่ ง่ายมาก ไม่ยากเลย สั้นด้วย ทำความดี หรือว่าเป็นคนดี เพราะว่าคนอื่นจะไม่เดือดร้อนเพราะเรา ใครๆ ก็ไม่เดือดร้อนใช่ไหม มีใครบ้างที่ไม่ชอบ หรือไม่ได้รับประโยชน์จากความดี แม้เพียงเล็กน้อยที่เป็นสิ่งที่ดีคนอื่นก็ได้รับความสบายใจ ไม่เดือดร้อนเลย และความดีก็ไม่ยาก ใช่ไหม บางคนอาจจะเสียเวลานิดหน่อย แต่จริงๆ ไม่เสียเวลา เพราะเหตุเวลานั้นมีประโยชน์ ถ้าไม่ทำ เสียเวลา เพราะเหตุว่าเวลานั้นเสียไปแล้วโดยไร้ประโยชน์

    เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้วลองคิดดู เกิดมามีพ่อแม่หวังให้เราเป็นคนดี เพราะฉะนั้นการตอบแทนคุณ การบูชาคุณ ไม่มีอื่น นอกจากเป็นคนดี และยิ่งเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญพระบารมีเพื่อให้เรามีความเห็นที่ถูกต้องตามความเป็นจริง เพราะว่าความดีแม้มีมาจากการสะสม แต่ว่าไม่สามารถจะดีกว่านั้นถ้าไม่มีความเข้าใจธรรม

    ด้วยเหตุนี้การศึกษาธรรมก็เพื่อที่จะเป็นปัจจัย สังขารขันธ์ ที่จะให้ละอกุศล และกุศลก็เกิดเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นทำความดี หรือเป็นคนดี ไม่ยากถ้าเข้าใจ พูดก็พูดอยู่แล้ว ก็พูดดีเท่านั้นเองใช่หรือไม่ ก็ไม่ยากใช่ไหม หรือแม้แต่กาย วาจา ทุกสิ่งทุกอย่าง ก็เป็นผู้ที่ละเอียดขึ้น เพราะฉะนั้น ถ้าจะบูชาซึ่งเป็นพระประสงค์ที่ทรงบำเพ็ญพระบารมีเพื่อให้ทุกคนละอกุศล บำเพ็ญกุศล แล้วก็ชำระจิตให้บริสุทธิ์ด้วยปัญญา ก็คือเป็นคนดี เป็นการบูชาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย เป็นการบูชาคุณของพ่อแม่ผู้มีคุณด้วย และก็เพื่อนฝูงมิตรสหายทุกคน

    อ.วิชัย ท่านอาจารย์กล่าวถึงการเป็นคนดี ดูเหมือนว่าความดีก็เป็นสิ่งที่ดี แต่บางครั้งความไม่ดีก็มี เช่น คำพูดบางครั้งก็รู้ว่าเป็นคำพูดที่ไม่ดี แต่ก็มีกำลังที่จะพูดคำที่ไม่ดีหรือกายไม่ดีออกไป

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น คุณวิชัยฟังธรรมเพื่ออะไร

    อ.วิชัย เพื่อเข้าใจแล้วก็ละความไม่ดี

    ท่านอาจารย์ สิ่งนี้เท่านั้นที่สามารถจะเป็นไปได้ ต่อให้รู้ว่าไม่ดี แต่ว่าไม่ได้ฟังธรรมไม่ได้เข้าใจธรรม จะรู้ไหมว่าขณะไม่ดีนั่นไม่ใช่เราใช่ไหม เพราะฉะนั้น จุดประสงค์จริงๆ ก็คือว่าศึกษาอะไร ศึกษาธรรม ธรรมคืออะไร คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรื่องอะไรก็เรื่องสิ่งที่มีจริงๆ ให้รู้ความจริงของสิ่งนั้น เพราะฉะนั้น ให้รู้ความจริงของสิ่งนั้น ถ้าโกรธเกิด คำสอนว่าอย่างไร เพื่อรู้ความจริงของโกรธ ถ้าตกใจ ก็เกิดแล้ว บังคับบัญชาไม่ได้ ทุกอย่างบังคับบัญชาไม่ได้ แม้แต่ว่าจะเป็นความโกรธ หรือจะเป็นอะไรก็ตามแต่ที่คุณวิชัย และคนอื่นกล่าวถึง มีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้น คำสอนเพื่ออะไร เพื่อเข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีในขณะนั้น ตรงตามที่ได้ฟังว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา

    เพราะฉะนั้น ไม่ข้ามไปถึงอย่างอื่น ชีวิตเป็นไปตามการสะสม แต่ละคนจะมีโลภะ โทสะ โมหะ ความประพฤติ ความดีใจ เสียใจ แล้วแต่ แต่ละหนึ่งไม่เหมือนกันเลย แต่ทั้งหมดถ้าไม่รู้ก็เป็นอุปาทานขันธ์ ไม่ต้องไปหาที่ไหน ได้ยินคำนี้แล้วก็รู้เลย เดี๋ยวนี้มีไหม เป็นคนตรง เพราะฉะนั้น ศึกษาธรรมจริงๆ แล้วก็คือว่า อยู่คนเดียว แล้วก็เข้าใจธรรม

    อ.วิชัย ได้มีโอกาสได้ยินได้ฟังก็เป็นชั่วขณะหนึ่งที่สามารถระลึกได้ จากการได้ยินได้ฟังว่า นี้เป็นธรรม แต่ว่าก็หลงลืมเป็นปกติเหมือนเดิม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น นานไหมกว่าจะรู้ทั่ว

    อ.วิชัย นานแน่นอน

    ท่านอาจารย์ ขันติบารมีคืออะไร วิริยะบารมีคืออะไร

    อ.วิชัย ความอดทน ความไม่ท้อถอย

    ท่านอาจารย์ สัจจะบารมีทั้งหมด ถ้าปราศจากบารมี กิเลสก็เต็มเหมือนเดิม เพิ่มขึ้นด้วย

    อ.วิชัย ขอกล่าวถึง "ภาระสูตร" ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ตรัสว่า "อุปาทานขันธ์ ๕ นี่แหละเป็นภาระ คือเป็นของหนัก" ถ้ากล่าวถึงว่าโดยปกติก็ไม่ได้คิดถึงคำว่าเป็นภาระ แต่เมื่ออ่านในพระสูตรแล้วก็แสดงถึงว่า รูปร่างกายก็ต้องมีการบำรุงดูแลรักษาต่างๆ แต่ถ้าในส่วนของนามธรรมที่จะเห็นว่านามธรรมเป็นภาระ ดูเหมือนจะยังไม่เข้าใจว่านามธรรม คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เป็นภาระคืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีเลย ดีไหม

    อ.วิชัย สุขโสมนัสก็ไม่มี

    ท่านอาจารย์ ไม่มีเลย ไม่ต้องเห็นแล้วสุข เพราะว่าไม่เหลือ

    อ.วิชัย ก็ยังไม่เห็นอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ ไม่เห็น แต่ต้องเป็นความจริง พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ความจริงทรงแสดงความจริงให้รู้ว่าความจริงเป็นอย่างนี้ เมื่อสักครู่นี้สิ่งที่ปรากฏทางตา ยังเหลือไหม

    อ.วิชัย ตามความเข้าใจคือหมดแล้ว

    ท่านอาจารย์ แล้วเห็นดับไหม

    อ.วิชัย เห็นแล้วก็ต้องดับไป

    ท่านอาจารย์ แล้วมีประโยชน์อะไร ทั้งเห็น ทั้งสิ่งที่ปรากฏให้เห็น ดับหมดแล้วไม่เหลือเลย มีแต่ภาระที่ต้องเห็น ไม่เห็นไม่ได้

    อ.วิชัย ไม่ให้เกิดก็ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เกิดมาเป็นภาระ ต้องเป็นด้วย

    อ.วิชัย หมายความว่าที่เป็นภาระคือต้องเกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ ต้องเป็นไปอย่างนี้ ต้องเห็น รู้ว่าเห็นเกิดแล้วดับ และสิ่งที่ปรากฏทางตาก็เกิดแล้วดับ แต่ก็ยังต้องเห็น ภาระไหม ยังไม่หมดภาระ

    อ.วิชัย ถ้ายังไม่เข้าใจถึงลักษณะจริงๆ ก็เป็นการเข้าใจยาก

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ทำไมทรงแสดงพระธรรม ๔๕ พรรษา ในเมื่อธรรมก็คืออย่างนี้ เพราะเหตุว่าอัธยาศัยของผู้ฟังหลากหลายมากกว่าจะได้รู้ และเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏทีละหนึ่งเดี๋ยวนี้ได้

    อ.วิชัย ก็ดูเหมือนฟัง แต่ว่าก็ยังไม่ซาบซึ้ง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ถ้าคุณวิชัยไม่ได้ยินคำว่าเห็นเกิดดับ สิ่งที่ปรากฏทางตาเกิดดับ มีวันไหนหรือไม่ ที่จะเริ่มรู้สึกว่าเป็นภาระที่ต้องเห็น ก็จะไม่มีเลย เพราะฉะนั้นแต่ละคำที่ทรงแสดง เพื่อที่จะได้เข้าใจจริงๆ ยังไม่เข้าใจอย่างนี้ก็ยังไม่เข้าใจ จะเปลี่ยนเป็นเข้าใจไม่ได้ แต่ความจริงเปลี่ยนไม่ได้ ความจริงต้องเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ศึกษาธรรมเพื่อเข้าใจถูกเพื่อเห็นถูก ไม่ใช่เพื่อเราความเป็นตัวตนจะไปทำอย่างนั้น หรือทำอย่างนี้

    อ.วิชัย ในพระสูตรนี้ กล่าวถึงการถือภาระ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือเป็นความยินดีพอใจ หรือ ตัณหาที่ถือเอาในอุปาทานขันธ์ ๕ "ลักษณะของการถือภาระ ที่กล่าวว่าเป็นตัณหา" ขอความละเอียดในสภาพนี้

    อ. ธิดารัตน์ สภาพของโลภะก็เป็นสภาพที่ยึดทุกสิ่งที่เป็นอารมณ์ ก็เหมือนกับยึดถือไว้ ติดข้องเล็กน้อยก็เป็นลักษณะของโลภะ ติดข้องมากๆ ยึดไว้มั่นไม่ปล่อยก็เป็นอุปาทาน การยึดมั่นนั้น ยิ่งยึดมั่นเท่าไหร่ ก็เหมือนกับเป็นภาระที่หนัก เพราะว่ายึดไว้เราก็ต้องแสวงหาด้วยอำนาจของตัณหา ซึ่งเป็นสิ่งที่แสวงหาไม่จบ เพราะว่าโดยลักษณะของตัณหาไม่พอไม่อิ่มอยู่เสมอ ก็จริงๆ ก็เป็นลักษณะของอกุศลธรรมทั้งหลาย เป็นเรื่องที่เข้าใจยาก ที่ว่าโลภะยึดเอาไว้ แต่ลักษณะของธรรมอื่นๆ ถึงแม้กุศลก็เป็นขันธ์ ถ้าอกุศลเป็นภาระ ก็เข้าใจได้ แต่ถ้ากุศลเป็นภาระเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ กุศลเกิดหรือไม่

    อ.ธิดารัตน์ เกิด

    ท่านอาจารย์ แล้วดับหรือไม่

    อ.ธิดารัตน์ ดับ ถ้าโดยนัยที่เกิดดับ เพราะฉะนั้น ที่กล่าวถึงขันธ์ คือสภาพธรรมที่เกิดดับทั้งหมด

    ท่านอาจารย์ ปกติ ความน่าพอใจเป็นที่ตั้งของความยึดถือ เพราะฉะนั้น จะละจะวางได้ไหม เมื่อยังพอใจอยู่ แต่เมื่อใดที่ได้มีความเข้าใจเพิ่มขึ้น ก็ค่อยๆ คลาย จะใช้คำว่าละคลาย หรือวางก็ได้ คือไม่ติดข้องอีกต่อไป

    อ.ธิดารัตน์ ท่านใช้คำว่า "ปลงภาระ" หรือว่า "วางภาระ" ก็คือเมื่อปัญญาสามารถที่จะดับความยึดถือทั้งหมด กิเลสทั้งหมด

    ท่านอาจารย์ ควรจะติดข้องไหม สิ่งที่เพียงเกิดขึ้น และดับไป

    อ.ธิดารัตน์ ไม่ควร

    ท่านอาจารย์ แต่ไม่รู้ก็ถือไว้ ไปเรื่อยๆ เพิ่มภาระขึ้นไปเรื่อยๆ ทุกสิ่งทุกอย่าง

    อ.วิชัย ขั้นแรกคือต้องรู้จักภาระก่อน

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ทุกคำที่ทรงแสดงเพื่อให้มีความเข้าใจถูก เป็นเรื่องของปัญญาโดยตรง เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะทำอะไร ให้ทำอะไร แต่ไม่เข้าใจ อย่างนั้นไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ผู้ฟัง กล่าวถึงว่าจะต้องทราบการเกิดดับของขันธ์จริงๆ ถึงจะเห็นว่าเป็นภาระ มีความสงสัยว่าจะต้องเลี้ยงดูรูปขันธ์เพื่อให้สืบต่อไป ไม่น่าจะใช่ภาระที่เราสนทนากัน ใช่หรือไม่

    อ.วิชัย ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าขันธ์ทั้ง ๕ เป็นภาระ เช่น รูปที่จะเป็นไปได้ก็ต้องมีเหตุปัจจัยต่างๆ ถูกต้องไหม อย่างเช่น ถ้าร่างกาย ถ้าไม่มีการรับประทานอาหารเลยจะเป็นอยู่ได้ไหม ถ้าไม่มีการที่จะชำระร่างกายเลยจะเป็นไปอย่างไร เพราะเหตุว่าทุกวันก็สามารถที่จะพิจารณาได้ว่าการที่ต้องบำรุงดูแล ตามความเป็นจริงโดยปรมัตถ์แล้ว รูปก็เกิดดับตลอดเวลา แต่ว่ารูปที่จะเป็นไปที่จะมีชีวิตเป็นไป ก็ต้องอาศัยปัจจัยต่างๆ ด้วย และมีการรับประทานอาหาร มีการชำระร่างกายต่างๆ ให้รูปนี้เป็นไปได้ ดังนั้นก็แสดงตามความที่สามารถที่จะเข้าใจได้ ในการที่จะรู้ ในระดับที่ความเป็นภาระของรูปนี้ แต่ว่าโดยตามความเป็นจริงสามารถที่จะมีความรู้ยิ่งกว่านั้น ก็คือ แน่นอนว่า รูป มีปัจจัยให้เกิดขึ้น แล้วก็ดับไป สามารถที่จะรู้ละเอียดยิ่งขึ้นไปอีก

    ท่านอาจารย์ สั้นๆ ก็คือว่า ถ้าไม่เกิดเลย มีภาระไหม

    ผู้ฟัง ไม่มีภาระอะไร

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่เกิดเลยก็ไม่มีภาระอะไร แต่เกิดเมื่อไหร่ก็มีภาระเมื่อนั้น

    ผู้ฟัง ภาระที่ว่าหมายถึง

    ท่านอาจารย์ ภาระของจิตเห็น มีไหม จิตเกิดขึ้นต้องเห็น ไม่เห็นไม่ได้เพราะเป็นจิตที่อาศัยตากับสิ่งที่กระทบตาได้ กระทบกัน และก็มีกรรมที่ได้กระทำแล้วเป็นปัจจัยทำให้จิตต้องเกิดขึ้นเห็น ขณะนี้ต้องเกิดขึ้นเห็น ไม่ใช่เลือกได้ตามใจชอบว่าจะไม่ให้เกิดขึ้น หรือว่าไม่ให้เห็นสิ่งนั้น ให้เห็นสิ่งนี้ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วสภาพธรรมที่เพียงเกิดขึ้นทำกิจการงานแล้วดับไป ทำภาระแต่ละขณะ เพราะฉะนั้น ถ้าจะไม่ต้องทำภาระเลย ก็คือว่าไม่ต้องเกิดเลย หมดภาระ

    ผู้ฟัง พระอรหันต์ท่านก็ไม่มีภาระ

    ท่านอาจารย์ หลังปรินิพพานแล้ว ไม่มีจิตเกิดเลย แต่ว่าหลังจากที่กิเลสดับแล้ว แต่ยังไม่ปรินิพพานก็มีการเห็นการได้ยิน เพราะฉะนั้น จึงมีข้อความว่า "มีชีวิตอยู่เป็นไปเหมือนลูกจ้างที่คอยเวลาเลิกงาน ยังต้องทำงานไปเรื่อยๆ จนกว่าจะไม่มีการเกิดอีก"

    อ.วิชัย พระผู้มีพระภาคตรัสเรื่องของความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนันตาของขันธ์ ในขั้นนี้ก็เหมือนกับเป็นการคิดถึง เช่น ท่านอาจารย์ได้กล่าวว่า "เห็น" เกิดแล้วดับไหม จากการที่เคยได้ยินได้ฟังก็รู้ว่าดับ แต่ว่าตอนนี้คือไม่เห็นว่า "เห็น" ดับ

    ท่านอาจารย์ แล้วที่ฟังเมื่อสักครู่ ลืมหรือไม่ แต่ว่าทำไมจะไม่ลืม ในเมื่อสิ่งที่กำลังปรากฏแท้ๆ เดี๋ยวนี้ก็ยังลืมที่จะเข้าใจ แล้วจะไปเข้าใจคำที่ได้ยินมากในพระสูตรต่างๆ ได้อย่างไร ในเมื่อสิ่งนั้นขณะนี้ ยังไม่สามารถที่จะรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏจริงๆ เพราะฉะนั้นลืมแน่ แต่ก็ได้ฟังแล้ว เพราะฉะนั้นสิ่งที่ได้ฟังแล้วไม่ได้หายไปไหนเลย แต่ความเข้าใจในสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมากพอที่จะทำให้สามารถเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ หรือไม่ ประการนี้สำคัญ ไม่ใช่ว่าเพียงเราฟังมาก เดี๋ยวฟังเดี๋ยวฟัง แต่ว่าความเข้าใจของเราสามารถจะเข้าใจสิ่งที่ได้ฟังแค่ไหน เพราะฉะนั้น เพียงสิ่งที่มีจริงๆ พูดถึงแล้วพูดถึงอีกทุกครั้ง ก็คือ "เห็น" กับ "สิ่งที่ปรากฏให้เห็น" ก็ลืมแล้ว ว่าความจริงของ "เห็น" ก็คือว่าเป็นสิ่งที่มีจริง เกิดขึ้นเห็นแล้วดับ อย่างนี้เลย เดี๋ยวนี้เลย แล้วจะไปรู้อื่นคงยากกว่า จะไปจำอื่นก็คงยากกว่า เพราะว่าสิ่งที่มีให้จำมีอยู่ทุกขณะ คือกำลังเห็น จำหรือยังว่าไม่เที่ยง เกิดขึ้นเห็นแล้วก็ดับไป แล้วก็เป็นที่ตั้งของความยึดถือเพราะไม่รู้

    เพราะฉะนั้น หนทางเดียวที่สามารถที่จะเข้าใจว่า พระวาจาสัจจะที่พระผู้มีพระภาคตรัสเป็นความจริง ไม่ใช่ว่าฟังแล้วทิ้งไปเลย แต่ทุกคำเป็นความจริงก็ต่อเมื่อไม่ลืม แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้นว่าขณะนี้สิ่งที่ควรจะเข้าใจกำลังเผชิญหน้า ไม่ต้องไปหาที่ไหนเลยทั้งสิ้น ทั้งเสียง ทั้งได้ยิน ทั้งเห็น ทั้งคิดนึก ทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้ยินได้ฟังทั้งหมด มีพร้อมที่จะให้รู้ความจริงได้ แต่ก็ลืม

    เพราะฉะนั้น การฟังแล้วก็เข้าใจขึ้น เป็นสิ่งเดียวที่จะทำให้ค่อยๆ ไม่ลืม แต่หมายความว่าก็ยังลืมอยู่มาก แต่ก็ยังมีโอกาสซึ่งจะไม่ลืมเพราะระลึกได้ แต่การระลึกได้บังคับบัญชาไม่ได้ว่าจะระลึกได้ตอนไหน ตอนกำลังโกรธ คิดว่าระลึกไม่ได้หรือ ก็ดูสังขารขันธ์ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา แล้วแต่ว่าจะระลึกได้เมื่อใด เย็นกระทบทุกวัน แต่สังขารขันธ์จะเกิดขึ้นแล้วก็เริ่มเข้าใจ"เย็น"ที่กำลังปรากฏ โดยที่ว่าไม่มีใครสามารถที่จะบังคับบัญชาได้ แต่เพราะเหตุว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ ถ้าไม่รู้ก็ไม่สามารถจะเข้าใจคำอื่นๆ ในพระไตรปิฏก เพราะเพียงแต่ได้ยินได้ฟังว่าสิ่งที่มีจริงเป็นธรรม ยังไม่คุ้นเลยใช่ไหม ไม่คุ้นแม้แต่คำเดียวว่าธรรม เพราะธรรมต้องไม่ใช่ใคร ไม่ใช่คุณวิชัย ไม่ใช่ดอกไม้ ธรรมต้องเป็นสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ถ้าจะเข้าใจธรรมจริงๆ ไม่ใช่จำชื่อ เข้าใจชื่อว่าทุกอย่างเป็นธรรม แต่สิ่งที่กำลังมีในขณะนั้น จากการฟังพระสูตรบ้าง พระวินัยบ้าง พระอภิธรรมบ้าง ชีวิตประจำวันที่มีจริงบ้าง ก็ล้วนแต่เป็นธรรมซึ่งพร้อมที่จะให้สังขารขันธ์ที่เกิดจากการฟังเข้าใจเกิดขึ้นได้ มิฉะนั้นเกิดไม่ได้เลย เพราะว่าแข็งก็ปรากฏเวลากระทบสัมผัสทุกสิ่งทุกอย่างตั้งแต่เช้า เย็นร้อนก็ปรากฏ ทุกสิ่งทุกอย่างก็เป็นปกติ แต่จะไปมีปัจจัยอะไรที่จะทำให้เข้าใจสิ่งนั้นตรงตามที่ได้ฟังว่าเป็นธรรม เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจได้ ว่าสิ่งที่จะเข้าใจได้ก็คือสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ และฟัง และก็เข้าใจขึ้น หนทางเดียว ลืมหรือยัง

    อ.อรรณพ ตอนต้นท่านอาจารย์ก็แสดงว่าบูชาด้วยความเป็นคนดี แล้วก็มาสนทนาถึงภาระ การปลงภาระ กราบเรียนถามว่า การค่อยๆ เป็นคนดีขึ้น เป็นทั้งการบูชาแล้วเป็นทั้งการค่อยๆ ปลงภาระไปอย่างไร

    ท่านอาจารย์ พระพุทธเจ้าไม่ต้องการอะไรเป็นการตอบแทน หรือว่าบูชาสักการะเท่ากับให้ผู้ที่ฟังมีความเข้าใจ แล้วสภาพธรรมที่เป็นฝ่ายดี ก็มีปัจจัยที่จะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น เพียงแต่ว่าเมื่อสักครู่ถ้าคุณอรรณพไม่พูดถึงคำว่า บูชาด้วยการเป็นคนดี ลืมแล้วใช่ไหม เพราะฉะนั้น ก็ต้องพูดถึงบ่อยๆ และรู้จริงๆ ว่าการได้ยินได้ฟังบ่อยๆ จะทำให้พรุ่งนี้สังขารขันธ์ทำอะไรหรือเปล่า หรือสังขารขันธ์เก่าๆ ที่เคยชินคุ้นเคยที่จะไม่ดีเกิดขึ้นทำกิจการงาน เพราะฉะนั้น ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าความเข้าใจธรรมจะเพิ่มขึ้น และก็ค่อยๆ ปรุงแต่ง เนียนสนิท ไม่มีใครรู้เลยว่าขณะนี้เดี๋ยวนี้ การได้ยินได้ฟังคำเหล่านี้จะเป็นปัจจัยให้ไม่ลืม และเป็นคนดี เมื่อขณะนั้นสังขารขันธ์เกิดขึ้นปรุงแต่งให้เป็นกุศลธรรม

    อ.อรรณพ ก็ค่อยๆ เป็นไปในการทำกิจที่ควรทำ

    ท่านอาจารย์ ไม่หวัง แต่รู้ความจริงว่าความจริงเป็นอย่างนี้ หวังก็คือสภาพธรรม ซึ่งไม่สามารถที่จะทำให้สิ่งที่หวังจะสำเร็จได้ด้วยความหวัง แต่ต้องด้วยเหตุตามความเป็นจริง

    อ.อรรณพ ได้ข้อคิดว่า แม้ได้ยินเรื่องขันธ์ เรื่องภาระ การปลงภาระ ก็มีความรู้สึกว่าอยากจะปลงขึ้นมา อย่างนี้คือหวัง แต่ค่อยๆ สะสมความดีไป ความดีนั้นก็เป็นไปเอง แม้ว่ายังไม่ถึงขั้นที่จะปลงภาระได้ ก็ยังมีกิเลสมีขันธ์ ยากจนกว่าจะปลง"กิเลสภาระ"ลงได้เมื่อไหร่ ก็รอวันเลิกงานเมื่อนั้น แต่ตอนนี้ก็ทำงานกันไปไม่มีวันเลิก


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 194
    21 ก.พ. 2567

    ซีดีแนะนำ