พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 924


    ตอนที่ ๙๒๔

    ณ มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๕๗


    อ.กุลวิไล แม้แต่จิตก็ลึกซึ้ง รู้ได้ยาก

    ท่านอาจารย์ รู้ได้ยาก แต่ว่ากำลังมี เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่าทุกคำที่เราจะได้ฟัง ก็เป็นเรื่องของสิ่งที่มีจริงๆ ซึ่งทุกคนก็ทราบว่า ถ้าไม่มีการได้ยินได้ฟังก็ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ความจริงของสิ่งที่แม้มีจริงทุกวัน ทุกขณะ ทุกชาติ ก็ไม่เคยรู้ ด้วยเหตุนี้ถ้าจะพูดว่าขณะนี้มีจิต ก็ยากที่จะรู้ลักษณะของจิต เพราะขณะที่เห็นเดี๋ยวนี้ก็คือจิตชนิดหนึ่ง เพราะจิตเป็นสภาพที่รู้ ถ้ามีคนที่สิ้นชีวิตแล้วอยู่ตรงนี้ แม้ว่าคนที่กำลังมองเห็นว่าขณะนี้มีอะไรปรากฏ แต่คนที่สิ้นชีวิตนั้นไม่มีการที่จะรู้ได้เลยว่า ขณะนี้มีสิ่งที่คนที่ยังมีชีวิตอยู่สามารถที่จะรู้ว่ากำลังเห็น เห็นมี และก็เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็นด้วย ก็แสดงให้เห็นว่าการที่เราจะเข้าใจสภาพธรรมที่ยากที่จะรู้ได้ ก็โดยอาศัยการไตร่ตรอง และไม่ลืม ขณะนี้เป็นความไม่ประมาทเพราะว่ากำลังพูดถึงก่อนที่เราจะจากโลกนี้ไป ก็ควรที่จะได้เข้าใจความจริงของสิ่งที่กำลังมีทุกโอกาสไม่ว่าโอกาสใด เช้าสายบ่ายค่ำ เป็นโอกาสที่จะได้เข้าใจสิ่งที่กำลังมีจริงๆ ในขณะนั้น

    เพราะฉะนั้นขณะใดๆ ก็เหมือนขณะนี้ คือเห็นก็ยังคงเป็นเห็น เป็นสิ่งที่มีจริง แม้จะได้ยินได้ฟังว่าไม่ใช่เรา แต่เป็นจิตเป็นธาตุรู้ที่กำลังเห็น คำนี้ไม่เปลี่ยน เพราะว่าความจริงเปลี่ยนไม่ได้ แต่กว่าจะรู้ถึงความจริงเช่นนี้ก็ไม่ใช่ง่าย ถ้าไม่ฟังเลย ลืมไปหลายๆ วันก็หมดโอกาสที่จะเข้าใจว่าเห็นขณะนี้ ที่ถามกันว่าจิตเป็นอย่างไร จิตอยู่ที่ใด ก็คือขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้นั่นเอง คือขณะใดก็ตามที่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏ แสดงว่าขณะนั้นมีจิตที่กำลังรู้สิ่งนั้น เช่น ขณะหนึ่งขณะใดก็ตามเสียงปรากฏ แค่เสียงปรากฏก็แสดงว่าต้องมีจิตที่กำลังได้ยินเสียง เพราะถ้าไม่มีจิตที่ได้ยิน เสียงก็ปรากฏไม่ได้เลยด้วยเหตุนี้ ไม่ขาดจิตเลย นานแสนนานมาแล้ว จิตก็เกิดดับไม่ขาดสาย มีปัจจัยที่จะทำให้จิตที่เกิดแล้วดับเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด

    เพราะฉะนั้น แม้แต่ความละเอียดของการที่จะไตร่ตรองถึงสิ่งที่แม้มีในขณะนี้ก็รู้ยาก เช่น จิตเป็นธาตุรู้ ต้องมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏ จึงจะรู้ได้ว่าธาตุรู้นั้นมี สิ่งนั้นจึงปรากฏได้แต่ละหนึ่ง แต่ละหนึ่งนี่ยังหยาบมาก เมื่อเทียบกับการที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยการตรัสรู้ว่า จิตเพียงหนึ่งขณะที่เกิดขึ้นเห็น ดับทันทีที่เห็นดับแล้ว และการดับไปของจิตเห็นก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น ฟังดูเท่านี้เข้าใจ แต่ถ้าคิดให้ลึกซึ้งลงไปอีก ถ้าจิตนี้ไม่มีปัจจัยที่จะทำให้จิตขณะต่อไปเกิด เพราะว่าเมื่อจิตเกิดแล้วดับก็ไม่มีอะไรเกิดอีกต่อเลยใช่ไหม แต่เพราะเหตุว่าจิตนี้เองเป็นปัจจัยที่จะทำให้ทันทีที่ดับทำให้จิตขณะต่อไปเกิด เพราะฉะนั้นก็ทรงแสดงว่า ขณะนี้เองจิตเดี๋ยวนี้เกิดขึ้นแล้วเป็นนัตถิปัจจัย ไม่มี เมื่อดับ ดับแล้วมีได้หรือไม่ ไม่ได้ แต่ว่าไม่มีโดยการที่เคยมี แต่ดับคือปราศไป วิคตปัจจัย ปราศไปแล้วไม่เหลือเลย ไม่ใช่ไม่เคยมี แล้วก็ในขณะที่กำลังเป็นปัจจัยกำลังเกิดอยู่ ก็มีอีกปัจจัยที่ว่าทันทีที่ดับ ก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด ถ้าไม่มีปัจจัยนี้จิตดับแล้วไม่มีอะไรเกิดต่อ

    นี่คือการที่ทรงแสดงความละเอียดแม้แต่สิ่งที่กำลังมีขณะนี้ กว่าจะรู้จักจิตต้องฟังจนกระทั่งคลายความเป็นเรา ไม่มีโอกาสที่จะรู้จักสภาพที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ กำลังรู้ทางตาด้วยการเห็น กำลังได้ยินทางหู กำลังคิดนึกทางใจ ได้ยินแต่ชื่อว่าจิต แต่กว่าจะรู้ลักษณะแท้ๆ ซึ่งไม่ใช่ตัวตนไม่ใช่เราเลย ก็ต้องอาศัยการฟังประกอบกันมากมาย ที่จะค่อยๆ คลายการยึดถือสภาพธรรมเดี๋ยวนี้ว่าเป็นเรา เพราะเหตุว่าความเป็นเราเหนียวแน่นมาก เพราะฉะนั้นเมื่อรู้เช่นนี้ ก็มีอย่างเดียวคือฟังไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีความเข้าใจขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ก็ยังไม่หมดสงสัยใช่ไหม หรือใครหมดสงสัยในขณะที่ได้ฟัง รู้เลยว่านี่เป็นจิตที่กำลังเห็น เป็นเช่นนี้หรือไม่ เป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่าความสงสัยเป็นสภาพที่มีจริง แล้วก็ไม่ใช่เรา คือถ้ากล่าวถึงธรรมทุกอย่าง เป็นแต่เพียงธรรมแต่ละหนึ่งๆ ซึ่งไม่ใช่เรา

    เพราะฉะนั้นความสงสัยมีหรือไม่ มี เป็นเราหรือไม่ ไม่ใช่ ถ้าไม่ใช่เราเป็นอะไร ก็เป็นธรรม แต่เป็นธรรมประเภทใด ไม่ใช่จิตแต่เป็นเจตสิก นี่คือความละเอียด ฟังทำไม ฟังแล้วเบื่อ แต่ก็ไม่ได้รู้ความจริงว่าขณะที่ฟังเข้าใจนิดหนึ่งว่า แท้ที่จริงแม้แต่ความสงสัยที่มีก็เป็นธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นอนุสัยกิเลส คิดดู ในบรรดาสภาพธรรมที่จะเป็นอนุสัยสามารถที่จะนอนเนื่องอยู่ในจิตตามไปทุกขณะที่จิตเกิด มีจิตเมื่อใดก็มีอนุสัยกิเลสที่ยังไม่ได้ดับเมื่อนั้น เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่าแม้แต่ความสงสัยในธาตุที่รู้คือจิตที่กำลังเห็น มีหรือไม่ มี เพราะว่ายังไม่ได้ดับวิจิกิจฉานุสัย เพราะฉะนั้นก็ฟังไปก็สงสัยไป ก็เป็นของธรรมดา เพราะเหตุว่ายังไม่ได้รู้ชัดในความเป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้นแม้สิ่งที่กำลังมีในขณะนี้เดี๋ยวนี้ ฟังไปให้เข้าใจขึ้นเท่านั้นเอง จนกว่าจะรู้ว่าเริ่มเข้าใจ

    อ.อรรณพ จิตรู้แจ้งในอารมณ์หรือไม่

    ผู้ฟัง จิตก็ต้องรู้แจ้ง

    อ.อรรณพ อกุศลจิตรู้แจ้งในอารมณ์หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่รู้

    อ.อรรณพ ก็แสดงว่ายังไม่เข้าใจความหมายของคำว่าการรู้ของจิต เพราะฉะนั้นที่ว่าจิตรู้แจ้งในอารมณ์ เป็นธรรมชาติของจิตซึ่งเป็นธาตุรู้หลัก หรือสภาพรู้ที่เป็นใหญ่เป็นประธาน ท่านใช้คำว่า "มนินทรีย์" "มน" ที่แปลว่าใจ กับ "อินทรีย์" ที่แปลว่าเป็นใหญ่ เพราะฉะนั้นขณะนี้จิตเป็นมนินทรีย์ทุกขณะ ไม่ว่าจิตใดก็ตาม เพราะว่าจิตนั้นเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ เพราะอารมณ์นั้นเป็นอย่างไรจิตเขาก็รู้ตามนั้น แต่เขาจะรู้ด้วยโลภะ โทสะ โมหะ หรือรู้ด้วยปัญญา หรือไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ ไม่มีปัญญาเลย เช่น จิตเห็นไม่มีปัญญาแน่นอน แล้วก็ไม่มีอกุศลเกิดด้วย ตอนที่เกิดเป็นอกุศลแม้ไม่มีปัญญา แต่ก็ต้องรู้อย่างนั้น ไม่เช่นนั้นโลภะจะติดได้อย่างไร ส่วนปัญญานั้นรู้โดยความเข้าใจ

    อ.กุลวิไล รู้ด้วยวิญญาณ รู้ด้วยสัญญา และรู้ด้วยปัญญา ต่างกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เราคงไม่ต้องติดที่คำ ที่สำคัญที่สุดคือเข้าใจ เพราะฉะนั้นเราก็คงจะต้องค่อยๆ เข้าใจตามลำดับขั้น สภาพรู้ธาตุรู้มีไหม ง่ายๆ ธรรมดาแต่ต้องตรง และก็จริงใจ ไม่ใช่ไม่มีธาตุที่กำลังเห็น ธาตุที่กำลังได้ยิน เพราะฉะนั้นเราใช้คำว่าธาตุรู้หมายความว่ารู้ว่ามีสิ่งหนึ่งสิ่งใดกำลังปรากฏ นั่นคือ ถ้าไม่มีการได้ยิน เสียงปรากฏได้หรือไม่ สีสันวรรณะที่กำลังปรากฏตามโต๊ะ ตามเก้าอี้เช่นนี้ จะปรากฎได้หรือไม่ ก็ไม่ได้ใช่ไหม เพราะฉะนั้นในโลกนี้ ถ้าไม่มีธาตุรู้ อะไรๆ ก็ไม่ปรากฏ ถูกต้องไหม ยังไม่ต้องเรียกจิตเจตสิก หรืออะไร ปัญญาอะไร ก็ไม่ต้องทั้งสิ้น แต่ว่าธาตุรู้มีแน่นอน ถ้าไม่มีธาตุรู้ อะไรก็ไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้นธาตุรู้คือเมื่อใด ไม่ใช่ว่าเราฟังแล้วเราจำชื่อวิญญาณ สัญญา ปัญญา ไม่ใช่ไปจำ ๓ คำนี้ แต่ต้องเข้าใจความหมายของคำว่าสภาพรู้ หรือธาตุรู้ เดี๋ยวนี้มีหรือไม่ ให้ชัดเจนก็คือต้องเดี๋ยวนี้มีหรือไม่ มี

    เพราะฉะนั้นธาตุรู้ก็คือหลากหลาย ไม่ใช่มีอย่างเดียว เพราะเหตุว่าคิด รู้หรือไม่ เห็น ได้ยิน จำ ชอบ ไม่ชอบ เป็นสภาพรู้หรือไม่ ไม่ใช่ว่าฟังจำนวน แล้วก็โดยชื่อ แต่ว่าไม่ได้คิดไตร่ตรองว่า แท้ที่จริงแล้วลักษณะรู้ รู้โดยอาการต่างๆ เพราะเหตุว่าถ้าไม่รู้จะชอบได้อย่างไร ถ้าไม่รู้จะโกรธไม่ชอบได้อย่างไร เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเกิดชอบ พอใจติดข้อง ต้องชอบในสิ่งที่ปรากฏให้รู้ว่าเป็นสิ่งนั้น เสียงมีหลายเสียง เสียงดนตรีก็มีมาก ชอบดนตรีเสียงใดก็ต่างกันแล้ว และเสียงเพลงที่เกิดจากดนตรีนั้นหลากหลายออกไปอีก ก็แสดงให้เห็นว่า ต้องมีลักษณะที่ชอบ แต่ต้องมีสิ่งที่ถูกชอบ เพราะฉะนั้นชอบเป็นสภาพธรรมที่มีจริงเป็นสภาพรู้ชนิดหนึ่งแต่รู้โดยชอบ ไม่ใช่รู้โดยอย่างอื่น เวลาโกรธลักษณะที่โกรธมีทุกวัน โกรธน้อยโกรธมาก ขุ่นใจนิดหนึ่งมีหรือไม่ ต้องมี มีแล้วแต่ไม่รู้ แต่ว่าสิ่งนั้นเกิดแล้ว เพราะรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏโดยความไม่ชอบในสิ่งนั้น ต้องมีสิ่งที่กำลังถูกไม่ชอบ ไม่ใช่ไม่ชอบเกิดขึ้นมาได้ลอยๆ หรือว่าชอบจะเกิดขึ้นมาได้ลอยๆ แต่ต้องมีสิ่งที่ถูกชอบ ถูกไม่ชอบ เพราะฉะนั้นก็เป็นสภาพรู้ ซึ่งมีลักษณะหลากหลายมากมายหลายอย่าง

    เพราะฉะนั้น เราจะจำแนกให้เข้าใจลักษณะที่ต่างกันอย่างไร ถ้าไม่มีเห็นขณะนี้จะชอบสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็นได้หรือไม่ ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเห็นเป็นตาหรือไม่ เป็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นหรือไม่ ไม่ใช่ แต่เป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งขณะนี้ไม่ปรากฏว่ามีรูปร่างสัณฐานเลย เพียงเห็น เพราะฉะนั้นเห็นเป็นกิจหน้าที่ของธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นธาตุรู้ซึ่งต้องเกิดขึ้นรู้คือเห็น หรือจะบอกว่าเกิดขึ้นเห็นก็ได้ เวลานี้เห็นแล้ว เกิดแล้ว แต่ไม่รู้ว่าเห็นก็คือสภาพรู้ชนิดหนึ่ง อย่างเดียวไม่ใช่สภาพรู้อื่น แต่เป็นสภาพรู้ชนิดหนึ่ง เวลาที่มีเสียงปรากฏ ได้ยินเกิดแล้วใช่ไหม เสียงจึงปรากฏ ถ้าได้ยินไม่เกิด เสียงก็ปรากฏไม่ได้ แต่ธาตุได้ยิน ไม่ใช่เสียง และไม่ใช่หู เพราะฉะนั้นเป็นธาตุรู้ที่สามารถรู้เฉพาะเสียงที่ปรากฏ ไม่ต้องใช้คำว่าแจ้ง ไม่ต้องใช้คำอะไรเลยทั้งสิ้น เพียงแต่กล่าวถึงสภาพรู้ก่อนเท่านั้น

    เพราะฉะนั้นสภาพรู้นี้ก็หลากหลายมาก สามารถที่จะรู้ได้ว่าขณะที่เห็นต้องเป็นสภาพรู้อย่างหนึ่ง จะเป็นชอบสิ่งที่ปรากฏให้เห็นหรือไม่ ไม่ใช่ นี่คือความละเอียด เห็นเป็นเห็น แต่ชอบสิ่งที่เห็น ไม่ใช่เห็น เพราะฉะนั้นจิตกับเจตสิกต่างกันที่จิตเกิดขึ้นรู้ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ เจตสิกก็เกิดขึ้นรู้ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ แต่รู้ต่างกับจิต เพราะเหตุว่าเจตสิกชอบบ้าง ไม่ชอบบ้างในสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้นจิตจะเป็นเจตสิกไม่ได้เลย

    เดี๋ยวนี้มีจิตไหม มีเจตสิกไหม และจิตเป็นเจตสิกหรือไม่ ไม่ใช่ และเจตสิกเป็นจิตหรือไม่ นั่นคือเริ่มเข้าใจในธาตุรู้ซึ่งไม่ใช่มีแต่เฉพาะธาตุที่เพียงรู้ว่าสิ่งที่ปรากฏเป็นอย่างนี้ เสียงเป็นอย่างนี้ กลิ่นที่ปรากฏให้ได้กลิ่นเป็นอย่างนี้ รสที่ปรากฏเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่เพียงเท่านั้น แต่ยังมีชอบไม่ชอบ และอีกมากของเจตสิกซึ่งเกิดในขณะนั้นโดยไม่ปรากฏ เช่น ความรู้สึกในขณะที่เห็น ต้องมีแน่นอน แต่ไม่ปรากฏเลยว่าขณะนี้ที่กำลังเห็น รู้สึกอย่างไร ไม่สนใจเลย ไม่ปรากฏเลย แต่ก็มี

    เพราะฉะนั้นความรู้สึกมี เป็นจิตหรือไม่ ไม่ใช่ เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ หรือเฉยๆ หรือว่าดีใจเสียใจ เพราะฉะนั้นลักษณะนั้นต่างกับสภาพที่เพียงเกิดขึ้นรู้สิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้นสภาพที่เพียงเกิดขึ้นรู้สิ่งที่ปรากฏ ต่างกับสภาพที่รู้สิ่งนั้น แต่ว่ารู้ด้วยการชอบ หรือไม่ชอบในสิ่งนั้น เพราะฉะนั้นนี่ก็เป็นความต่างกัน ซึ่งหนึ่งขณะจิตใครรู้สภาพที่มีปัจจัยเกิดขึ้น และดับไปอย่างเร็วว่าไม่ใช่เรา และจิตก็ต่างประเภทมากมายตามสภาพธรรมซึ่งเป็นเจตสิก ซึ่งเกิดกับจิตเท่านั้นไม่เกิดกับอย่างอื่นเลย และเจตสิกนี้ก็หลากหลายมาก

    เพราะฉะนั้น สภาพธรรมทั้งหลายจะเกิดตามลำพังไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ในขณะที่จิตเกิดก็ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย หรือเจตสิกนั่นเองเวลาเกิดก็ต้องเกิดกับจิต และเจตสิกอื่นๆ ด้วย นี่คือหนึ่งขณะจิตซึ่งกำลังเกิดดับโดยไม่มีใครรู้ ถ้าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงแสดง และทรงแสดงโดยความชัดเจนด้วย ที่จะเข้าใจจิตต้องไม่คิดว่าจิตเป็นเจตสิก ไม่เข้าใจเอาเอง แต่ว่าจิตก็ต่างกับเจตสิก เพราะฉะนั้นให้ต่างกันชัดๆ ก็คือว่าจิตรู้แจ้ง จะใช้คำว่ารู้ เจตสิกอื่นก็รู้เหมือนกันใช่ไหม แต่รู้ด้วยความหลากหลาย แต่จิตถึงอย่างไรก็เพียงแค่รู้แจ้งเฉพาะสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่แจ้งด้วยความเห็นถูกต้อง นั่นเป็นอีกสภาพธรรมหนึ่งรู้สิ่งนั้น และไม่ได้ทำหน้าที่อื่นเลยทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นก็ใช้คำว่า ลักษณะของเจตสิกอื่น รู้แต่ทำหน้าที่อื่นด้วย ชอบบ้างไม่ชอบบ้าง แต่จิตรู้แต่ไม่ได้ทำหน้าที่อื่น เพราะฉะนั้นก็ใช้คำว่ารู้แจ้งอารมณ์คือสิ่งที่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้นในขณะนี้เอง จิต และเจตสิกเกิดพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน แต่เจตสิกแต่ละหนึ่งก็ทำหน้าที่ลักษณะต่างๆ กันไปตามเจตสิกนั้นๆ แต่จิตก็รู้แจ้งสิ่งที่กำลังปรากฏ ขอเชิญคุณคำปั่นให้ความหมายคำในภาษาบาลี "วิญญาณ สัญญา และปัญญา"

    อ.คำปั่น สำหรับคำว่า "วิญญาณ" เรียกเป็นคำไทยว่า "วิญญาณ" เป็นคำที่มาจาก ๒ คำ คือคำว่า "วิ" ที่แปลว่าแจ้ง แล้วก็ "ญาณ" คือรู้ เพราะฉะนั้น วิญญาณ ก็คือ "วิ" บทหน้า แล้วก็รวมกับคำว่า "ญาณะ" ซ้อน "ญะ" เข้าไป จึงเป็นวิญญาณ ก็เป็นความเป็นจริงของจิตที่เกิดขึ้น มีลักษณะเดียวเท่านั้นคือลักษณะรู้แจ้งในอารมณ์ที่ปรากฏ ไม่ได้มีลักษณะอย่างอื่นเลย มีลักษณะเพียงรู้แจ้งในอารมณ์เท่านั้น เพราะว่าอารมณ์ก็คือสิ่งที่จิตรู้ นี่คือความหมายของวิญญาณ ซึ่งในภาษาบาลีก็จะมีคำที่กล่าวถึงความเป็นจริง ก็คือ "วิชานนัง" ก็จะเห็นถึงว่าเวลาได้ศึกษาในหมวด ๔ ของสภาพธรรม มีลักษณะเป็นต้น ที่แสดงถึงลักษณะของจิตก็คือ วิชชานนลักขณัง" หมายถึงว่ามีการรู้แจ้งซึ่งอารมณ์เป็นลักษณะ

    คำต่อมาคือคำว่า "สัญญา" สัญญานี้ตรงตัว บาลี สัญญา แต่โดยรากศัพท์ ก็คือ "สํ บทหน้า "ญา" แปลว่ารู้ ก็จะมีคำว่ารู้อีกเหมือนกัน เพราะฉะนั้นรู้โดยการจำ สัญญาคือสภาพธรรมที่มีจริงที่ทำกิจหน้าที่จำในอารมณ์ เพราะว่าเป็นเจตสิกที่เกิดร่วมกับจิตทุกขณะ ก็จำในอารมณ์ที่กำลังรู้ในขณะนั้น ในภาษาบาลีอีกคำหนึ่งก็คือ "สัญชานนัง" ก็คือการรู้พร้อมด้วยการจำ ไม่ได้ทำกิจหน้าที่อื่น เพียงทำหน้าที่จำเท่านั้น

    ส่วนคำสุดท้าย ที่มีคำว่ารู้อีกคือคำว่า "ปัญญา" เป็นสภาพธรรมที่รู้ถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง "ปะชานนัง" เป็นการรู้โดยถูกต้องไม่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ก็จะเห็นถึงความเป็นจริงของกิจหน้าที่ของปัญญาที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญญาในระดับใด กิจของปัญญาก็คือรู้ถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง นี่คือความหมายของพยัญชนะ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเมื่อเข้าใจภาษาไทยแล้ว ยิ่งได้รู้ความหมายในภาษาบาลี ยิ่งชัดเจน เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า ขณะใดก็ตามสิ่งที่มีเกิดแล้วปรากฏ ถ้าไม่รู้ เป็นอะไร ก็เป็นแค่จิต และเจตสิก แต่ไม่มีปัญญาความเห็นถูกต้องเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นก็แสดงเห็นว่าเดี๋ยวนี้ขณะนี้ใครจะว่าอย่างไร จะพูดว่าอย่างไร คนนั้นมีปัญญาไม่มีปัญญา แต่ปัญญาตรง ปัญญาเกิดเข้าใจเมื่อใดเป็นปัญญาเมื่อนั้น แต่ถ้าไม่ใช่ปัญญา คนอื่นจะบอกว่าปัญญาสักเท่าใดก็ไม่ใช่สภาพลักษณะของปัญญา คือความเห็นถูกต้องตามความเป็นจริงของสิ่งที่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้นขณะนี้มีเห็น มีอะไรบ้าง จิตมีแน่ สัญญามีไหม มี ปัญญาหรือไม่ เพราะฉะนั้นแต่ละคนก็จะได้เข้าใจลึกซึ้งขึ้นอีกว่า อย่าคิดว่าเพียงเท่านี้ ฟังแล้ว แล้วก็จะไปมีปัญญาเจตสิกเกิดกับจิตทุกประเภทในขณะที่กำลังฟัง ไม่ใช่ แต่ละเอียดยิ่งกว่านั้นอีกคือแต่ละหนึ่งขณะจิต เพราะฉะนั้นสำหรับจิตเห็นขณะนี้ ไม่มีใครจะรู้ได้ ว่ามีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียง ๗ ประเภท ถ้าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงตรัสรู้ และไม่ทรงแสดง จะรู้หรือไม่ว่าขณะนี้เห็นมี แล้วก็จำ มีหรือไม่ในขณะที่เห็น ต้องมี เพราะฉะนั้นเห็นไม่ใช่จำ แล้วมีความเข้าใจเกิดกับจิตที่เห็นหรือไม่ ไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าต้องเป็นขณะอื่นไม่ใช่ขณะเห็น ตามเหตุตามปัจจัยจริงๆ อย่างละเอียดยิ่ง เพื่อให้เข้าใจถูกต้อง ว่าไม่มีเรา ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตนใดๆ ทั้งสิ้นในสภาพธรรมที่เป็นจิตเจตสิก และรูป ปรมัตถธรรมทั้งหมดที่เกิดขึ้นก็เป็นแต่ละหนึ่ง

    ผู้ฟัง โมหมูลจิตเป็นอวิชชา เป็นความไม่รู้ แต่ปัญญาเป็นสภาพธรรมที่สามารถรู้ได้ทุกอย่าง เรียนถามว่า ปัญญารู้ได้แม้กระทั่งความไม่รู้ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ รู้ได้ทุกอย่าง ความไม่รู้มีหรือไม่

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเมื่อมีแล้ว ขณะที่รู้ว่ามีความไม่รู้ ขณะนั้นเป็นอะไร

    ผู้ฟัง ต้องเป็นความรู้

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นความรู้จริงๆ จะรู้ลักษณะที่ไม่รู้ ไม่ใช่เพียงชื่อ บางคนสงสัย ไม่รู้ในอะไร ตัวไม่รู้เป็นอย่างไร กำลังเห็นอย่างนี้แล้วบอกว่าไม่รู้หมายความว่าอย่างไร ความจริงก็คือว่าไม่รู้ความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ ตามความเป็นจริงของสิ่งนั้น เวลาที่จิตเห็นดับแล้วอะไรเกิดต่อ

    ผู้ฟัง สัมปฏิจฉันนจิต

    ท่านอาจารย์ สัมปฏิจฉันนจิตดับแล้วอะไรเกิดต่อ

    ผู้ฟัง สันตีรณจิต

    ท่านอาจารย์ สันตีรณจิตดับแล้วอะไรเกิดต่อ

    ผู้ฟัง โวฏฐัพพนจิต

    ท่านอาจารย์ โวฏฐัพพนจิตดับแล้วอะไรเกิดต่อ

    ผู้ฟัง ชวนจิต

    ท่านอาจารย์ ชวนจิตอะไร เพราะฉะนั้นขณะนั้นไม่รู้ใช่ไหม หาความไม่รู้พบหรือยัง ไม่รู้อะไร ไม่รู้เมื่อใด พบหรือยัง เพราะฉะนั้นฟังธรรมเดี๋ยวนี้คิดนึกตามที่ได้ฟังยังไม่ได้รู้ความจริงของสภาพธรรมสักหนึ่งตามที่เป็นจริง เพราะฉะนั้นพระธรรมที่ทรงแสดง ปริยัติ ปฏิปัตติ ปฏิเวธ แล้วเราจะจากไหนไปไหน

    อ.วิชัย ความไม่รู้ ไม่รู้คือไม่รู้ตามความเป็นจริง ขณะนี้เห็นเป็นธรรมหรือยัง หรือว่าเริ่มที่จะมีความเข้าใจเพื่อขณะนี้ไม่รู้ตามความเป็นจริง ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดว่าขณะที่ไม่รู้คือขณะใดด้วย ถ้าเป็นอกุศลแน่นอนขณะนั้นเป็นไปพร้อมกับความไม่รู้ แต่ขณะที่เป็นกุศล ขณะนั้นมีความไม่รู้หรือไม่ เกิดร่วมด้วยหรือไม่ขณะที่เป็นกุศล ไม่มีความไม่รู้เกิดร่วมด้วย แล้วก็ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดว่าขณะใดที่จิตเกิดขึ้นมีเจตสิกเกิดพร้อมกับจิตในขณะนั้น ประเภทไหน อย่างไรบ้าง จึงจะรู้ว่าจิตที่ทรงแสดงไม่ใช่มีประเภทเดียว แต่ว่าต่างๆ กัน มีที่เป็นอกุศลจิตก็มี หมายถึงว่าจิตเป็นอกุศลเพราะเป็นไปกับอกุศลเจตสิก จิตที่เป็นกุศลก็มี เพราะเหตุว่าจิตนั้นเป็นไปพร้อมกับกุศลเจตสิก ฉะนั้นธรรมก็มีลักษณะที่จะรู้แล้วก็เข้าใจว่าความไม่รู้เมื่อเกิดเกิดขณะใด ขณะที่เป็นอกุศล ขณะที่โกรธ มีโทสะด้วยใช่ไหม มีโมหะด้วยหรือไม่ ขณะนั้นมีโมหะด้วยคือความไม่รู้ด้วย แต่ยังทรงแสดงความละเอียดลงไปอีก ว่ายังมีธรรมอื่นๆ ด้วย ที่เป็นอกุศลธรรมเป็นไปพร้อมกับอกุศลนั้นด้วย อย่างเช่น อหิริกะ อโนตตัปปะ ความไม่ละอายความไม่เกรงกลัวบาปเป็นไปด้วย แล้วอุทธัจจะ ความไม่สงบ ขณะนั้นก็เป็นไปด้วย ดังนั้นการเริ่มที่จะมีความรู้ความเข้าใจถูก ก็ต้องเข้าใจทีละอย่างๆ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 194
    21 ก.พ. 2567

    ซีดีแนะนำ