พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 932


    ตอนที่ ๙๓๒

    ณ มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๗


    อ.ธีรพันธ์ การที่จะสละชีพเพื่อความถูกต้อง เพื่อประโยชน์จริงๆ จะมีด้วยเหตุปัจจัยประการใด

    ท่านอาจารย์ กำลังเป็นเช่นนี้หรือเปล่า เดี๋ยวนี้อยู่ไหน

    อ.ธีรพันธ์ กำลังฟังพระธรรม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นการฟังพระธรรม สละอะไรบ้างหรือไม่ ไปเที่ยวดีกว่าไหม

    อ.ธีระพันธ์ ไม่ได้เที่ยว

    ท่านอาจารย์ ทำไม

    อ.ธีระพันธ์ เป็นประโยชน์ของความถูกต้อง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นสละความเพลิดเพลินหรือความต้องการ รวมไปถึงสละลาภ สละยศ สละชื่อเสียง สละการแสวงหา สละคำชม สละทุกอย่างซึ่งเคยติดข้อง เพราะรู้ว่าจริงๆ แล้วไม่มีอะไรที่จะมีประโยชน์ มีค่าเสมอกับการมีชีวิตด้วยการเข้าใจสิ่งที่มีซึ่งไม่เคยเข้าใจมาก่อน เพราะว่าจริงๆ แล้วชีวิตก็เพียงหนึ่งขณะจิต ดับไปเรื่อยๆ ก็ไม่เหลืออะไรเลย เพราะฉะนั้นก็สะสมอกุศล และความไม่รู้ไว้มาก และก็ต่อไปด้วย เพราะฉะนั้นสละความไม่รู้ด้วยการฟังธรรม สละอกุศลทั้งหลายซึ่งจะเกิดจากความไม่รู้ และความติดข้องกิเลสมากมาย เพื่อที่จะได้เบาบางจากกิเลสเหล่านั้น เพราะฉะนั้นสละชีวิต เดี๋ยวนี้กำลังเป็นชีวิตทุกขณะ เพื่อความถูกต้องซึ่งหมายความถึงเพื่อกุศลธรรม

    อ.ธีระพันธ์ เป็นขั้นจาคะหรือครับ

    ท่านอาจารย์ ถ้าสละก็ต้องจาคะ เพราะไม่หวังสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นการตอบแทน ไม่ใช่แสวงหาเพราะอยากได้ ถูกต้องไหม ได้มาแล้วก็บริโภคด้วยความสุข เสร็จแล้วยังเก็บไว้อีก รักษาไว้ ไม่ให้หมดไปเพราะความติดข้อง ท้ายที่สุดก็ยังสามารถสละด้วยการหวังผลจะได้สิ่งที่ตอบแทน เช่นนั้นจะเป็นจาคะหรือไม่ ง่ายๆ คือสละความไม่รู้ แต่ไม่ใช่เพื่อเรา แต่เพราะรู้ว่าความไม่รู้มีมากก็จริง แต่ค่อยๆ หมดไปได้เมื่อความเข้าใจเกิดขึ้นทีละเล็กทีละน้อย

    อ.อรรณพ แม้จะมีความเห็นถูกความเข้าใจถูก แล้วก็มีบางขณะซึ่งกุศลเกิด ขณะนั้นก็คือสละอกุศลชั่วคราว แล้วก็ปัญญาก็ปรุงแต่งให้ค่อยๆ สละอกุศลเพื่อกุศลยิ่งขึ้น แต่ว่าโดยชีวิตส่วนใหญ่ก็ยังชอบสละกุศลเพื่ออกุศลอยู่เรื่อยๆ

    ท่านอาจารย์ ก็ยังรู้ตัวว่ายังเป็นเช่นนี้ เพราะฉะนั้นสละความยินดีติดข้องหมดได้ไหม

    อ.อรรณพ ไม่ได้ ยังไม่ได้ อย่างเช่นพระโสดาบันทรัพย์สมบัติของท่าน เหมือนเป็นของพระศาสนาแสดงถึงกำลังของการสละด้วยปัญญาที่มั่นคงแล้ว ที่จะสละให้ทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อพระศาสนา แต่ท่านก็ยังมีขณะที่เป็นโลภะซึ่งไม่ประกอบด้วยความเห็นผิดที่เป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ขณะนั้นก็ยังสละโอกาสที่จะเป็นกุศลเป็นปัญญา แล้วก็ยังเป็นอกุศลอยู่

    ท่านอาจารย์ ก่อนถึงพระโสดาบัน มีอกุศลมาก มีความไม่รู้มาก แล้วขณะที่ได้ฟัง ก็สละความไม่รู้ก่อนฟัง แล้วยังจะต้องสละความอยากจะมีให้มากถึงพระโสดาบัน สละหรือยังขณะนี้ หรือจะไปสละขณะใด คนที่ฟังธรรมแล้วบอกว่ามีปัญญาน้อย รู้สึกจะรำคาญกับปัญญาน้อยๆ อยากจะมีมากๆ แล้วสละความรำคาญ และความอยากจะมีมากขณะนั้นหรือไม่ ยังไม่ต้องไปสละอื่น เพียงแค่ตรงนั้นเอง ที่กำลังอยากจะมีปัญญามากๆ สละได้ไหม สละความอยากมีปัญญาได้หรือยัง

    อ.อรรณพ ก็ซ้อนเข้าไปอีก

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะฉะนั้นเห็นได้เลยว่าความไม่รู้มากมาย ไม่ต้องไปกังวลจะหมดเมื่อใด ไม่ใช่วันนี้แน่ ไม่ใช่ชาตินี้ด้วย เพราะว่าเหตุยังไม่พอ ตราบใดที่ยังไม่สละแม้ความต้องการจะมีปัญญามาก เพราะรำคาญปัญญาน้อย อยากจะให้ถึงปัญญามากเร็วๆ ก็ยังไม่สละตรงนั้นเลย แล้วก็พอกพูนเข้าไปอีกก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก แล้วก็จะเห็นได้ว่ากิเลสมากๆ จะตรงกับที่คุณอรรณพถามไหมว่ากิเลสนั้นจะหมดไปทีเดียว ไม่เหลือเลย เกลี้ยงเกลาไปเลยได้ไหม เพราะฉะนั้นก็มีเดี๋ยวนั่นเดี๋ยวนี่อยู่ตลอดเวลาตามเหตุตามปัจจัย

    อ.อรรณพ แต่เมื่อมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น ก็สละเพิ่มขึ้น แล้วก็สละละเอียดขึ้น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นปัญญาเท่านั้นที่รู้ว่าคลายบ้างไหม ขณะที่กำลังอยากจะมีปัญญามากๆ เดี๋ยวนี้บ้างหรือเปล่า แล้วก็จะสละได้เพราะอะไร

    อ.อรรณพ เพราะความเข้าใจว่าขณะนั้นเป็นอกุศล

    ท่านอาจารย์ เพราะปัญญารู้ ถ้าปัญญาไม่รู้ไม่สละ ปัญญาทำทุกอย่างที่ตรงกันข้ามกับความไม่รู้

    อ.วิชัย ถ้าพูดถึงความสะดวกสบายหรือความเพลิดเพลินยินดี บางครั้งก็สามารถที่จะสละได้ในการที่จะมาฟังพระธรรมตามโอกาสตามฐานะที่จะเป็นไปได้

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้ แต่ที่อื่นสามารถจะฟังธรรมได้ แต่ฟังอย่างอื่น สละหรือไม่ แต่ก็ยังดีที่สามารถสละตรงนี้ แม้ตรงอื่นยังสละไม่ได้

    อ.วิชัย แต่ถ้าพูดถึงว่าสละพลีชีพคือถึงกับสิ้นชีวิต อย่างเช่นฟังเรื่องท่านสุตโสม ท่านให้คำสัตย์แก่เจ้าโปริสาท ท่านก็จะไม่สละคำสัตย์นั้นแม้เหตุแห่งชีวิต

    ท่านอาจารย์ ตอนนั้นยังไม่ได้เป็นพระโสดาบัน ยังไม่ได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใช่ไหม แต่ว่าธรรมดาๆ เช่นนี้ เหมือนกับว่าชีวิตทุกขณะไม่มีความสำคัญ แต่ความจริงสำคัญทุกขณะ เพราะฉะนั้นพูดคำไม่จริงด้วยเหตุใดก็ตาม หรือจะฆ่าสัตว์ตัดชีวิตก็ตาม ศีล ๕ ทั้งหลาย เมื่อยังไม่ถึงความเป็นพระโสดาบัน สละชีพเพื่อรักษาศีล หรือว่าสละศีลเพื่อรักษาชีวิต ยังไม่ถึงความเป็นพระโสดาบัน แต่ก็ต้องสะสมไปจนกว่าจะมีกำลัง ถ้าไม่มีกำลังเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน แล้วจะไปถึงขณะนั้นได้อย่างไร

    อ.วิชัย ถ้าเหตุปัจจัยของธรรมที่ถึงขณะนั้นได้ ก็สามารถที่จะรักษาศีลได้แม้จะสิ้นชีวิตก็ตาม

    ท่านอาจารย์ ตามกำลังของปัญญา ๐๗.๒๒

    ผู้ฟัง อกุศลของคนอื่น จะไปทุกข์กับอกุศลของคนอื่นทำไม สู้การดูแลจิตของตัวเองให้ผ่องใส เพื่อที่จะให้พ้นจากทุกข์ ความคิดอย่างนี้ถูกต้องหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก การฟังธรรมจึงต้องพิจารณาว่าขณะที่ฟังมีความเห็นของตนเองเข้าไปในขณะที่กำลังฟังหรือไม่ หรือว่าเป็นคำที่คนอื่นพูดแล้ว เราจะต้องไตร่ตรองถึงความละเอียดว่าหมายความว่าอะไร เรื่องเมตตาตัวเองนี่รู้สึกว่าคนอื่นคงจะพูด แต่ว่าถ้ามีความเข้าใจความหมายจริงๆ คือศึกษาธรรมไม่มีคน ไม่มีสัตว์ แต่ธรรมมีแน่นอน เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีธรรม อะไรๆ ก็ไม่มี เพราะฉะนั้นธรรมหนึ่งซึ่งชื่อว่าเมตตา หมายความถึงความไม่โกรธ ความไม่เป็นโทษ และความเป็นมิตร เป็นเพื่อนหวังดี ดีไหม ไม่ว่าใคร ยังไม่ต้องคิดถึงว่าเราหรือเขา หรือจะเมตตาใคร ไม่เมตตาใคร แต่คิดถึงสภาพของเมตตา เป็นสภาพที่หวังดีเป็นมิตรพร้อมที่จะเกื้อกูล คุณปริญญาต้องการมิตรหรือไม่

    ผู้ฟัง ถ้ามีโอกาสได้มิตรที่ดีก็ยินดี

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นถ้าถามทุกท่านที่นี่ ต้องการพบใครมากที่สุดเวลานี้ ต่างคนต่างตอบ แต่คำตอบหนึ่งซึ่งทุกคนไม่ปฏิเสธ ต้องการพบคนดี ไม่ได้ทำให้คนอื่นเดือดร้อนเลย เพราะฉะนั้นไม่ว่าเป็นใครชื่ออะไรไม่สำคัญเลย จะมีความรู้ความสามารถทางวิทยาศาสตร์ ทางอะไรมากมาย ก็ไม่มีความสำคัญเลย สำคัญที่เป็นคนดี เพราะฉะนั้นทุกคนต้องการพบใครเพราะว่าเราต้องพบเสมอ แล้วเราจะไปพบคนร้ายๆ คนเห็นแก่ตัว คนทุจริต หรืออะไรก็แล้วแต่ ก็ไม่ได้เป็นประโยชน์กับเรา ถูกต้องไหม แต่ต้องเป็นคนดีเท่านั้นที่ไม่ทำร้าย หรือว่าไม่เป็นโทษกับใครเลย เพราะฉะนั้นคนดีคือคนที่เป็นเพื่อน ไม่ใช่เป็นศัตรู ถูกต้องไหม

    ผู้ฟัง ถูกต้อง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นปัญหานี้รู้สึกคุณปริญญาจะสงสัยเรื่องเป็นมิตรกับคนทุจริต ถูกต้องไหม คอร์รัปชั่นก็คือทุจริตนั่นเอง แล้วทุจริตนี้ก็มีตั้งหลายระดับขั้น เล็กๆ น้อยๆ เล่นด้วยกัน เล่นไพ่ เล่นพนัน ทุจริตเพียงนิดเดียวมีไหม สับไพ่หรือโกงหรืออะไรก็แล้วแต่ นั่นก็คือทุจริต เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วทุจริตทั้งหมดคืออกุศล แต่กุศลคือสุจริต ความประพฤติในทางที่ดี ซึ่งทุจริตทั้งหมดไม่ว่าทางกาย ทางวาจา ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือ ผู้ใหญ่ ตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่ จะพ้นทุจริตได้ไหม โดยที่ว่าเกิดแล้วตามเหตุตามปัจจัย แม้แต่ละชีวิตในพระไตรปิฏก ขุชชุตตรายักยอกเงินค่าดอกไม้ทุกวัน ก่อนจะเป็นพระโสดาบัน ทุจริตแล้วใช่ไหม แต่ว่าเรื่องของคนอื่น หรือว่าเรื่องของใคร ที่จะไปโกรธไปเกลียดไปชังบุคคลใดๆ ก็ตาม ไม่ว่าคนดีคนชั่วทั้งหมด

    เพราะเหตุว่าพระธรรมที่ทรงแสดง สิ่งสำคัญที่สุดที่เราอ่านจากพระไตรปิฏก เหมือนตรัสกับพราหมณ์ผู้นั้นผู้นี้ที่ไปเฝ้าทูลถาม แล้วเราก็มีโอกาสได้ฟัง เพราะฉะนั้นคำนั้นเหมือนตรัสกับเราหรือเปล่า ทุกคำ เพราะฉะนั้นก็ต้องรู้ด้วย ไม่ใช่แต่เฉพาะบุคคลที่ไปเฝ้า แล้วเราก็มานั่งอ่านเรื่องของบุคคลนั้นว่าฟังเรื่องอะไร เขาทำอะไรมา ตรัสว่าอะไร แต่ทุกคำเพื่อประโยชน์ของผู้ที่มีโอกาสได้เฝ้าได้ฟังพระธรรม แม้ว่าจะไม่ใช่จากพระโอษฐ์ แต่ก็จากคำที่ได้ตรัสไว้แล้ว แล้วก็มีผู้ที่รักษาคำนั้น จนกระทั่งทำให้เรามีโอกาสได้ยินได้ฟัง แม้ว่าพระผู้มีพระภาคปรินิพพานแล้วถึง ๒,๕๐๐ กว่าปี

    แต่อย่างไรก็ตาม ให้ทราบว่าความถูกต้องเป็นความถูกต้อง ความดีเป็นความดี กุศลเป็นกุศล อกุศลเป็นอกุศล เปลี่ยนไม่ได้เลย เพราะเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยแล้วดับไป เพราะฉะนั้นถ้าพูดถึงความไม่โกรธ หรือความเป็นมิตร หรือความหวังดี ทุกคนต้องการใช่ไหม ต้องการเพื่อนที่ดี แต่ในขณะเดียวกันเป็นคนดี เพื่อที่จะได้เป็นเพื่อนที่ดีของทุกคน ไม่ใช่เพียงหวังว่าจะอยากคบคนดี แล้วจะไปหาคนดีที่ไหน ถ้าตนเองไม่ดี ใช่ไหม ถ้าทุกคนแต่ละคนไม่ดี

    เพราะฉะนั้นทั้งหมดเรื่องเมตตาก็คือว่า ให้มีเมตตาที่ว่าเมตตาตนเอง ไม่ใช่ว่าให้เราอีกคนหนึ่งมาเมตตาเรา แต่หมายความว่าเตือนว่าเรานั่นเองที่เคยเข้าใจว่าเป็นเรา มีเมตตาหรือไม่ ถ้าคิดเช่นนี้เหมือนจะตอบปัญหาของคุณปริญญาได้ใช่ไหม เพราะว่าเรานั่นเองมีเมตตาหรือไม่ และเมตตาไม่ได้จำกัดบุคคลเลย เพราะเหตุว่าใครไม่มีอกุศล ใครไม่เคยทุจริต แล้วทุกคนมีการกระทำเพราะอกุศล ตราบใดที่อกุศลยังไม่ได้ดับไป

    เพราะฉะนั้นเมตตาที่แท้จริงอย่างที่พระผู้มีพระภาคทรงบำเพ็ญพระบารมี ก็คือว่าหวังให้ทุกคนได้พ้นจากกิเลส จนกระทั่งดับกิเลสได้หมดสิ้น เพราะฉะนั้นขณะที่กำลังจะโกรธคนที่ทำชั่วหรือทุจริต หรือคอร์รัปชั่น หรืออะไรก็ตามแต่ ขณะนั้นจิตเป็นอะไร

    ผู้ฟัง จิตเป็นอกุศล

    ท่านอาจารย์ ดีไหม

    ผู้ฟัง ไม่ดี

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นรู้แล้วใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่ครับ

    ท่านอาจารย์ พระธรรมทั้งหมดเพื่อบุคคลที่ฟังจะได้ไตร่ตรอง แล้วก็มีสภาพของความเห็นถูกคือปัญญา สามารถรู้ว่าอะไรดีอะไรชั่ว แต่ความเมตตาต้องมีประโยชน์ในทางที่ไม่เป็นโทษ เมตตาคนชั่วให้ทำชั่วต่อไปหรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ครับ

    ท่านอาจารย์ อย่างนั้นไม่เมตตาใช่ไหม เพราะฉะนั้นเมื่อผู้หนึ่งผู้ใดทำทุจริต ต้องมีผลแน่นอนใช่ไหม เวลาที่ใครก็ตามได้รับผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว ทุกคนสงสารเหลือเกิน พูดกันไม่รู้ว่ากี่วัน น่าสงสารเช่นนั้นเช่นนี้ แต่ลืมเหตุว่าก่อนที่เราจะสงสารเขา เขาทำสิ่งที่ไม่มีใครชอบ ใช่ไหม เพราะเหตุว่าได้กระทำกรรมที่ไม่ดีมาแล้ว แต่ตอนนั้นชังเขา เกลียดเขา โกรธเขา แต่เมื่อเขาได้รับผล ก็สงสารเขา ทำไมเป็นเช่นนี้ นี่ก็แสดงให้เห็นว่าเราไม่ได้เข้าใจธรรมตรงในเหตุ และผล แต่ถ้าเราเป็นคนที่เข้าใจคนอื่น มีความกรุณาสงสาร ไม่ว่าใครจะเดือดร้อนเพราะผลของกรรม หรือแม้ขณะที่คนนั้นกำลังทำกรรม ก็น่าสงสาร เพราะเหตุว่าเขาจะต้องได้รับผลของกรรมแน่นอน

    เพราะฉะนั้นจิตที่ดีที่เป็นมิตร ไม่เป็นภัยกับใครตั้งแต่ตนเอง มีความหวังดีว่าจะช่วยเขาอย่างไร แต่ไม่ใช่ช่วยในทางที่ผิด ให้เขาประพฤติผิดยิ่งขึ้น ไม่ใช่อย่างนั้น เพราะฉะนั้นจะเห็นผลของกรรมได้ ตั้งแต่มีกฎหมาย สำหรับใคร ไม่ใช่สำหรับคนดี ไม่ใช่สำหรับคนถูก ต้องสำหรับคนที่ทำผิดแล้ว เพื่ออะไร ถ้าคนที่รู้ตามความเป็นจริงว่าการลงโทษตามกฎหมายไม่ใช่เพราะความเกลียดชัง ไม่ใช่เพราะความโกรธ แต่ว่าการกระทำใดๆ ที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อบุคคลอื่น และตัวเอง และมีหนทางใดที่จะทำให้ไม่กระทำเช่นนั้น หรือว่าไม่กระทำสิ่งที่เคยกระทำมาก่อน ต้องมีการสำนึก ถ้าไม่รู้ว่าเป็นคนชั่ว จะละชั่วได้ไหม

    ผู้ฟัง ละไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นถ้าคุณปริญญารู้ว่าตัวเองไม่ดีก่อน จึงสามารถที่จะละความไม่ดีได้ แต่ถ้ามีความคิดว่าเราดี ก็เหมือนกับว่าไม่ต้องทำอะไรอีกแล้ว เพราะดีแล้วใช่ไหม เพราะฉะนั้นเมื่อผู้ใดประพฤติผิด เหตุได้กระทำแล้ว ผลต้องมีแน่ และอย่างที่ได้ทราบว่าธรรมทั้งหมดไม่พ้นจากจิตเจตสิกรูป จะไปเอาอย่างอื่นมาได้ไหม นิพพานไม่ต้องกล่าวถึง ชีวิตประจำวันไม่ว่าจะเรื่องราวเหตุการณ์ใดๆ ก็คือจิต เจตสิก รูป ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นเหตุคืออะไร คืออกุศลจิต ซึ่งประกอบด้วยอกุศลเจตสิก ได้กระทำกรรมแล้ว ต้องมีผลแน่นอน และผลนั้นจะพ้นจากจิตเจตสิกไม่ได้ เพราะว่าธรรมก็มีแค่จิตเจตสิกรูป

    เพราะฉะนั้นจิต เจตสิก ซึ่งเป็นเหตุไม่ดีที่ทำไว้ เป็นปัจจัยที่จะให้ผลคือให้จิต เจตสิกรูป ซึ่งเป็นผลของกรรมที่เป็นอกุศลนั้นเกิดขึ้น ใครก็ยับยั้งมือที่มองไม่เห็นไม่ได้เพราะได้กระทำกรรมแล้ว เพราะฉะนั้นกรรมนั่นเองที่สามารถที่จะทำให้ผลคือจิต เจตสิก รูป ได้แก่ จิตตั้งแต่ขณะแรกที่เกิด และต่อมาเกิดแล้ว ต้องเห็น ต้องได้ยิน ต้องได้กลิ่น ต้องลิ้มรส ต้องรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสเหล่านี้ ไม่ให้เกิดไม่ได้เลย แต่ทุกคนก็ไม่รู้ ได้แต่พูดว่ากรรม และผลของกรรม แต่ความละเอียดก็คือว่า ต้องเข้าใจว่าขณะนี้ที่กำลังเห็น ทุกคนรู้ใช่ไหมจากการศึกษา เป็นผลของกรรม

    เพราะฉะนั้นฉันใดเดี๋ยวนี้ที่ทุกคนกำลังฟังธรรมแล้วเข้าใจ นี่คือกุศลกรรมที่จะทำให้ผล คือปฏิสนธิ และจิตเห็นได้ยินข้างหน้าที่จะเกิดขึ้นเป็นไปในทางฝ่ายที่ไม่ทำร้ายเบียดเบียน เพราะเหตุว่าเป็นผลของกุศล แต่ต้องไม่ลืมกิเลส กิเลสยังไม่ได้ดับเลย เพราะฉะนั้นกิเลสที่สะสมไว้ที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งแม้ดับไปแล้ว ก็สะสมในจิตขณะต่อๆ ไป สองแสนหรือกี่โกฏิกัปป์มาแล้วก็ตาม จิตนั้นๆ ที่เป็นกุศล และอกุศลดับไปแล้ว แต่สะสมทุกอย่างไว้ในจิต ทำให้แต่ละบุคคลต่างกันไปมาก แล้วก็จิตเก่าสองแสนกัปนั้น หรือสี่อสงไขยแสนกัปก็ตามแต่ ไม่ได้กลับมาอีกเลยสักขณะเดียว แต่เจตสิกซึ่งเป็นสังขารขันธ์ เฉพาะสภาพของเจตสิก ๕๐ ซึ่งไม่ใช่เวทนาความรู้สึก และไม่ใช่สัญญาความจำ ไม่มีใครรู้ว่าขณะนี้กำลังทำงาน เกิดขึ้นปรุงแต่ง แม้แต่คำที่ได้ฟัง และเจตสิกเหล่านั้นก็เกิดขึ้น กำลังพิจารณาไตร่ตรองตามการสะสม ที่จะมีความเข้าใจมากน้อยจากสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย

    เพราะฉะนั้นนอกจากกรรม นอกจากกิเลส ก็เป็นเหตุให้เกิดกรรม กรรมก็เป็นเหตุให้เกิดวิบาก แล้วกิเลสก็ยังไม่ได้ดับ เพราะฉะนั้นหลังเห็นแล้วช่วยไม่ได้เลย กิเลสที่สะสมมาทำให้อกุศลจิตเกิดพร้อมกับอกุศลเจตสิก หรือกุศลจิตเกิดเพราะมีกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย ไม่มีใครไปบังคับบัญชาเลย แล้วจะเมตตาใคร หรือว่าจะโกรธใคร หรือว่าจะพยาบาทใคร แต่ว่าบุคคลใดก็ตามที่ได้ทำกรรมไว้แล้ว ต้องมีผลแน่นอน ไม่ว่าในชาตินั้นเอง หรือในชาติหน้าต่อๆ ไป

    เพราะฉะนั้นคนที่ทำทุจริตกรรมในชาตินี้ เหมือนยังไม่ได้มีผลเกิดขึ้นเลย ใช่ไหม แต่การที่ต้องมีกฎหมาย หรือมีสิ่งที่จะทำให้เขาได้สำนึก เพราะเหตุว่าเราจะไม่ทำคนดีแน่ใช่ไหม แต่คนที่ประพฤติผิดเพื่อเขาจะได้ไม่ทำอีกต่อไป ถูกต้องไหม เป็นความหวังดีหรือไม่ หรือว่าเราโกรธ จะต้องไปให้เขาติดคุกเร็วๆ นานๆ ไปทรมาน ไปตอกตะปู ไปทำอะไรต่างๆ กรรมกรที่เราอ่านในพระไตรปิฏก ไม่ใช่เช่นนั้น แต่ต้องเป็นเหตุ และเป็นผลว่าผู้ใดก็ตามที่ได้ทำกรรมแล้วต้องรับผลของกรรม

    เพราะฉะนั้นเต็มใจจะรับผลของกรรมไหม คนที่ทำผิดแล้ว เต็มใจที่จะรับผลของกรรมที่ได้ทำไหม ถ้าเป็นผู้ที่รู้สำนึก ก็ต้องรู้ว่าอย่างไรๆ ต้องได้รับผลของกรรมแน่ และผลของกรรมในชาตินี้ก็มี ในชาติต่อๆ ไปก็ยังมีด้วย ไม่ใช่มีแต่เฉพาะชาตินี้ เพราะฉะนั้นรับผลของกรรมในชาตินี้ก่อนเล็กน้อย ก็ยังดีกว่าผลของกรรมหนักอีกมากในชาติต่อๆ ไป เกิดในนรก หรือว่าเป็นเปรต หรือว่าเป็นสัตว์เดรัจฉาน หรือแม้เป็นมนุษย์แล้วก็ถูกทรมาน ไม่มีใครทำให้ กรรมก็ทำให้เป็นโรคภัยต่างๆ ได้ เพราะฉะนั้นตกเขาไม่มีใครไปทำ ตกบันไดก็ไม่มีใครไปทำ เพราะว่ามีกรรมที่ได้ทำแล้วนั่นเองที่ทำให้สิ่งต่างๆ เหล่านั้นเกิดขึ้น มั่นใจได้ทุกอย่างที่เกิดขณะนี้มีเหตุปัจจัยอย่างละเอียดมาก ที่จะทำให้ต่างๆ กันไปทั้งจิตที่เป็นกุศล จิตที่เป็นอกุศล และจิตที่เป็นวิบากคือผลของกุศล และอกุศล และจิตที่เป็นกิริยา ทั้งหมดที่เกิดต้องมีเหตุปัจจัย

    เพราะฉะนั้นเหตุปัจจัยที่ทำให้มีความประพฤติชั่วเป็นทุจริต ได้เกิดแล้วกระทำแล้ว แก้ไม่ได้ ใครจะมาแก้กรรมไม่ได้ เพราะว่ากรรมนั้นต้องให้ผล ช้าหรือเร็ว มากหรือน้อย เวลาที่คนป่วยไข้ คุณปริญญาสงสารเห็นใจช่วยเหลือหรือไม่ เขากำลังเจ็บปวดทรมานเพราะโรคภัยต่างๆ สงสารไหม และก็มีจิตเมตตาคิดจะช่วยไหม

    ผู้ฟัง มีจิตเมตตาที่จะช่วย

    ท่านอาจารย์ คือช่วยคนที่ได้ทำกรรมแล้ว เพราะฉะนั้นเราไม่ควรจะไปพอใจที่จะให้ใครก็ตามเดือดร้อน รู้ว่าอย่างไรๆ เขาต้องเดือดร้อนแน่ เพราะฉะนั้นหนทางที่ดีที่สุด ช่วยให้เขาสำนึก และช่วยให้เขาเกิดกุศล เท่าที่สามารถจะกระทำได้ มีความเป็นมิตรมีความหวังดีต่อทุกคนซึ่งยังมีกิเลส และก็ไม่รู้ว่าวันใดจะทำทุจริตกรรม พอใจไหม คนที่คอร์รัปชั่นหรือทำทุจริตต่างๆ แล้วก็กำลังฟังเรื่องนี้ เพราะว่าประโยชน์อยู่ที่ตัวเองทุกคนที่ได้ฟังที่จะเป็นคนดีพร้อมที่จะช่วย ไม่ว่าใครจะทำกรรมหนักสักเท่าใดก็ตาม ถ้ามีโอกาสที่จะอภัย ไม่โกรธ แต่ไม่ได้หมายความว่าพลอยร่วมการกระทำทุจริตนั้นด้วย หรือไม่ใช่พลอยเห็นดีเห็นงามตามกันไป แต่ว่าต้องแก้ไขได้อย่างไร ด้วยจิตใจที่เป็นมิตร ขณะนั้นก็สบายใจใช่ไหมว่าเราไม่ได้เป็นศัตรูกับใคร และทุกคนต้องการมิตรแน่นอน แต่ว่าต้องดูด้วยว่าสามารถจะเป็นมิตรกับเขาได้หรือไม่ ถ้าไม่สามารถคือเขาเป็นคนพาล ก็ไม่เข้าไปหาด้วยกาย ไม่คิดถึงแม้ด้วยใจ เพราะไม่มีประโยชน์ เพราะว่าบางคนอาจจะมีปัญหา แล้วคนที่ทำผิดทำชั่วทุจริตคอร์รัปชั่นเหล่านั้นสมควรที่จะถูกลงโทษไหม ก็ช่างคิดกันต่อไป สมควรเพราะเหตุว่ามิฉะนั้นเขาจะรู้ได้อย่างไรว่าเขาทำผิด ไม่มีทางที่เขาจะรู้ แต่ถ้าเขาได้ถูกการกระทำซึ่งสมควรแก่เหตุที่ได้ทำคือการลงโทษ ไม่ใช่ว่าด้วยความพยาบาทอาฆาต แต่ว่าให้เขาเข้าใจให้ถูกต้อง นี่เป็นผลของการกระทำ

    เพราะฉะนั้นโทษเพื่อป้องกันไม่ให้เขาทำต่อไป และก็ให้เขาเกิดความเห็นที่ถูกต้องเข้าใจที่ถูกต้อง และสำนึกว่าอะไรถูกอะไรผิด ใช่ไหม และอะไรควรไม่ควร เช่นนี้ก็จะทำให้เขาได้ค่อยๆ เป็นคนดีขึ้น แต่ต้องลงโทษแน่นอนตามกฎหมาย เพราะว่าคนอื่นจะได้ไม่ต้องเดือดร้อนเพราะเขา และตัวเขาเองก็จะได้ไม่ต้องทำกรรมต่อไป ที่จะทำให้ทั้งตัวเอง และคนอื่นเดือดร้อน เพราะฉะนั้นไม่ใช่สิ่งที่เราทำด้วยความหวังร้ายแต่ต้องตามเหตุตามผล และด้วยความหวังดี

    อ.อรรณพ นัยนี้ดีมากว่าลงโทษด้วยเมตตา เพราะว่าธรรมก็เป็นความถูกความตรงด้วยเมตตาได้ในทุกเหตุการณ์ ไม่ใช่ว่าถ้าเมตตาแล้วก็ต้องปล่อยไป ใครจะเป็นเช่นไรก็ปล่อยไป ก็ถูกลวง ว่าการทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย ก็ลวงเหมือนคนมีอุเบกขา

    ท่านอาจารย์ แล้วลองคิดดู ถ้าไม่มีกฎหมายที่จะลงโทษผู้กระทำผิดเลย เป็นเช่นไรวันนี้ หรือทุกๆ วัน หรือต่อไปที่จะเกิดขึ้น อยู่อย่างเป็นทุกข์แน่ๆ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 194
    26 ก.พ. 2567

    ซีดีแนะนำ