พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 942


    ตอนที่ ๙๔๒

    ณ มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๕๗


    ท่านอาจารย์ บางทีก็เป็นคำถามให้เขาคิดว่า ขณะที่โกรธเกิดไม่อยากให้โกรธ หรือว่าควรเข้าใจโกรธว่าไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นก็แล้วแต่การไตร่ตรอง ซึ่งทั้งหมดก็ตามเหตุตามปัจจัย ขณะนี้กำลังพูดถึงธรรมใช่ไหม ไม่ได้พูดถึงใครเลยจริงหรือเปล่า ไม่ลืม

    ผู้ฟัง จากการศึกษาในขั้นปริยัติ ในชีวิตจริงที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ก็มีเห็น แต่ว่ากลายเป็นเรื่องราว เป็นท่านอาจารย์ เป็นดอกไม้สวยงาม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นคิดนึกเป็นธรรมหรือไม่

    ผู้ฟัง เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ เรากำลังพูดเรื่องธรรมซึ่งหลากหลายมาก ไม่ได้มีแต่เฉพาะเห็น แม้คิดซึ่งไม่เคยรู้ว่าเป็นสิ่งที่มีจริง คิดเฉพาะเรื่องที่เคยเห็นบ้าง ได้ยินบ้าง รู้สึกเช่นนั้นบ้าง รู้สึกเช่นนี้บ้าง แม้แต่คิดก็เลือกไม่ได้ บังคับไม่ได้ว่าจะให้คิดเรื่องอะไร เพราะเหตุว่าคิดก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย จึงเป็นธรรมซึ่งไม่ใช่เรา จิตเกิดดับสืบต่อ ได้ฟังแล้วก็ไม่ได้ฟัง คิดแล้วก็ไม่ได้คิด มากมายหลายเรื่อง จนขณะนี้แม้คิดแต่ละคำก็เป็นธรรม บังคับไม่ให้คิดเช่นนี้ก็ไม่ได้

    เพราะฉะนั้นเวลาที่ศึกษาธรรมก็เพื่อเข้าใจธรรมทุกขณะที่มีจริงๆ ที่ละเอียดมาก ขณะนี้เรากำลังพูดเรื่องธรรม เพื่อให้เข้าใจธรรม เพราะฉะนั้นแต่ละคำก็ควรจะได้ไตร่ตรองว่าจะเข้าใจขึ้น เมื่อได้เข้าใจความจริงว่าฟังมาก็ไม่ใช่คุณประทีป เข้าใจก็ไม่ใช่คุณประทีป เข้าใจบ้าง และไม่เข้าใจบ้างก็ไม่ใช่คุณประทีป ทั้งหมดเป็นธรรม

    ผู้ฟัง เรียนถามเกี่ยวกับเรื่องในขณะที่หลงลืมสติ

    ท่านอาจารย์ ขณะที่หลงลืมสติเป็นธรรมหรือไม่ หรือเป็นคุณประทีป

    ผู้ฟัง ในขณะหลงลืมสติ ตัวสติเป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ หลงลืมสติหมายความว่าอะไร หลงลืมสติคือสติไม่เกิด เพราะฉะนั้นในพระไตรปิฎกจะมีคำว่า "หลงลืมสติ" ซึ่งหมายความว่า ขณะนั้นสติไม่เกิด

    ผู้ฟัง ถ้าสติเกิดก็จะรู้ลักษณะของเห็นกับสิ่งที่ถูกเห็น

    ท่านอาจารย์ ยัง ขณะที่ฟังเข้าใจเมื่อใดขณะนั้นมีสติเกิดร่วมด้วย แต่ขณะที่ไม่รู้ตัว ฟุ้งซ่าน คิดเรื่องอื่น และคำที่ได้ฟังก็ไม่ได้ฟังด้วยความตั้งใจที่จะเข้าใจในเสียง และคำ เพื่อไม่ให้พยัญชนะคลาดเคลื่อน ขณะนั้นไม่ได้เป็นเช่นนั้นจึงไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้นการที่ไม่เข้าใจมาจากการที่ว่าไม่ได้ตั้งใจฟัง ไม่รู้สึกตัว และก็ฟุ้งซ่าน เพราะฉะนั้นเสียง และคำที่ได้ยินจึงคลาดเคลื่อนด้วยพยัญชนะ คือแม้แต่คำว่าธรรมก็ต้องเป็นธรรม เรากำลังพูดถึงธรรม และให้เข้าใจตามความเป็นจริงว่า ทุกอย่างไม่ว่าเราจะพูดถึงเรื่องอะไร ความจริงที่ควรศึกษาควรรู้ยิ่งไม่ควรข้ามไป ก็คือว่าเป็นธรรมแต่ละหนึ่ง แม้แต่สติกับหลงลืมสติ ถ้าใช้คำว่าสติคือขณะที่จิตขณะนั้นประกอบด้วยเจตสิกที่ดีงามเป็นโสภณ ซึ่งต้องมีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย นี่คือธรรมทั้งหมด แต่ละคำที่เคยพูด แต่ละคำที่เคยคิด ความจริงก็คือว่าขณะใดก็ตามที่สภาพธรรมฝ่ายดีไม่เกิด เช่น สติไม่เกิดขณะนั้นก็ไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง

    ผู้ฟัง ถ้าเช่นนั้นตลอดเวลานี่ก็สติไม่เกิดเลย

    ท่านอาจารย์ ก็คิดเองหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ครับ

    ท่านอาจารย์ หรือรู้ว่าสติไม่เกิดเพราะอะไร เพราะไม่เข้าใจคำที่ได้ฟัง เพราะฉะนั้นขณะนั้นไม่ใช่สภาพธรรมที่ดี เป็นอกุศล สติเป็นกุศล ขณะใดที่สติเกิดต้องเป็นกุศล เพราะฉะนั้นขณะใดที่ไม่เข้าใจขณะนั้นเพราะสติไม่เกิด คำธรรมดาด้วย เห็นกับสิ่งที่ถูกเห็น สิ่งที่ถูกเห็นไม่ใช่เห็น และเห็นก็ไม่ใช่สิ่งที่ถูกเห็นในขณะนี้ที่กำลังเห็น แค่นี้เพื่อละการที่เคยไม่รู้ว่าเห็นไม่ใช่เรา เห็นเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ถ้าฟังดีๆ ก็จะเข้าใจได้ว่ากล่าวถึงสิ่งที่มีจริงซึ่งไม่เคยรู้มาก่อน แล้วก็ยึดถือว่าเป็นเราเห็น

    นี่คือผู้ที่ไม่ได้รู้จักว่าเห็นเกิดเป็นเห็น ไม่เป็นอย่างอื่นเพราะเหตุปัจจัย และสิ่งที่ปรากฏทางตามีใช่ไหม แต่ก่อนนี้เคยใช้คำว่าสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ทางตาหรือเปล่า หรือไม่เคยพูดคำนี้เลย พูดแต่ว่าเห็นคน เห็นดอกไม้ เห็นโต๊ะ เห็นเก้าอี้ แต่ความจริงอะไรถูกต้อง เห็นสิ่งที่สามารถปรากฏให้เห็นได้เท่านั้น เสียงไม่ได้ปรากฏให้เห็น กลิ่นไม่ได้ปรากฏให้เห็น โกรธไม่ได้ปรากฏทางตาให้เห็น เพราะฉะนั้นทางตาเกิดขึ้นมีเห็นเมื่อใด ต้องมีเพียงสิ่งเดียวคือสิ่งที่มีจริงนั้น สามารถปรากฏให้เห็นได้ว่ามีจริงๆ

    นี่คือฟังด้วยความเข้าใจ ด้วยความไตร่ตรอง เพราะฉะนั้นสามารถที่จะเข้าใจว่า ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็นเมื่อเห็นเกิดขึ้น หลับตาถ้าขณะใดที่ไม่มีการเห็น จะไม่มีสิ่งที่กำลังปรากฏเช่นนี้เลย เพราะฉะนั้นคนตาบอดไม่มีเห็น เพราะฉะนั้นสิ่งที่กำลังปรากฏกับคนตาดี ไม่ปรากฏกับคนตาบอดเลย แต่สิ่งที่ปรากฏได้ทางตาให้เห็นได้มีจริงๆ นี่คือการที่จะเข้าใจว่าสิ่งที่มีจริงกับสิ่งที่เราเข้าใจว่า สิ่งนั้นเป็นคนเป็นสัตว์ต้องไม่ใช่ในขณะเดียวกัน เพราะว่าสภาพธรรมคือจิตเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่แล้วก็ดับไป เราใช้คำว่าจักขุวิญญาณ หรือเราใช้คำว่าเห็นซึ่งหมายความถึงธาตุรู้ซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธาน เพราะกำลังเห็นจริงๆ จะปฏิเสธว่าเห็นไม่มีไม่ได้

    เพราะฉะนั้นเห็นขณะนี้มีจริง สิ่งที่ปรากฏให้เห็นมีจริง ไม่มีเรา นี่คือฟังดีๆ ตั้งใจฟังก็สามารถที่จะเข้าใจได้

    ผู้ฟัง ตามที่ท่านอาจารย์วิชัยเรียนสนทนากับท่านอาจารย์ว่า ในการเริ่มต้นที่บอกว่า ไม่มีเรา ไม่มีคน ไม่มีดอกไม้ ไม่มีอะไร แล้วท่านอาจารย์ก็บอกว่า แล้วจะเริ่มต้นอย่างไรให้เหมือนกับคือความยึดติดความอุปทานความเข้าใจว่า มีเราด้วยตัณหามานะทิฏฐิ เมื่อเรียนไปก็จะรู้ว่าสะสมความเป็นเราไว้หนาเหนียวแน่นนานมาก พอมาเริ่มต้นว่าไม่มีเรา ก็จึงดูเหมือนว่าจะสวนกระแสแบบชนิดที่ว่าตกใจมาก ยากที่จะเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ แต่ไม่ได้บอกว่าไม่มีเราเฉยๆ เราไม่ได้ตั้งต้นเช่นนั้น ตั้งต้นว่าเดี๋ยวนี้มีอะไร

    ผู้ฟัง มีเห็น

    ท่านอาจารย์ ที่มีจริงๆ ถ้าไม่เคยฟังธรรมเลยจะตอบยาก เช่นที่คุณคำปั่นบอกว่ามีคนใช่ไหม แต่เมื่อได้ฟังต้องรู้ พระธรรมซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ต้องไม่เหมือนคำของคนอื่นแน่นอน เพราะว่าเกิดจากพระปัญญาที่สามารถที่จะรู้ความจริงที่มีจริงๆ โดยละเอียดยิ่ง เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคตรัสว่าเห็นอะไร ต้องเห็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ เดี๋ยวนี้กำลังปรากฏให้เห็นได้ ชั่วขณะที่เห็นเกิดขึ้นเห็นไม่ได้คิด เห็นไม่ได้ทำอย่างอื่นเลย นอกจากขณะใดก็ตามเกิดเห็นแล้วดับไป เพราะว่าเห็นไม่ใช่ขณะที่คิด เห็นไม่ใช่ขณะที่ได้ยิน เพราะฉะนั้นในบรรดาทุกขณะของชีวิต เห็นเป็นอย่างหนึ่งที่มีจริง นี่คือให้รู้ว่าสิ่งนั้นมีจริง เกิดตามเหตุตามปัจจัยไม่อยู่ในอำนาจของใคร อยากเห็นแต่ตาบอดก็ไม่เห็น ไม่อยากจะเห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจเลยสักนิดเดียว แต่เห็นแล้วเพราะกรรมเป็นปัจจัย ที่ทำให้จิตขณะนั้นเกิดโดยไม่มีใครไปบังคับเห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ

    เพราะฉะนั้นทุกขณะก็เป็นชีวิตจริงๆ ซึ่งไม่เคยฟัง ไม่เคยเข้าใจมาก่อน เพราะฉะนั้นธรรมคือสิ่งที่มีจริง เรียนให้รู้ให้เข้าใจถูกต้องว่า สิ่งที่มีจริงตั้งแต่เกิดจนตายซึ่งไม่นานเลย อีกไม่นานก็ตายแล้ว แต่ก่อนจะตายได้มีความเข้าใจที่ถูกต้องว่าตลอดชีวิตมามีอะไรบ้าง สิ่งนั้นเที่ยงหรือเปล่า ยังมีอยู่หรือเปล่า เมื่อวานนี้หมดไปแล้วกลับมาได้ไหม วันนี้ขณะนี้ก็กำลังหมดไปๆ ใกล้ที่จะถึงวันพรุ่งนี้ เพราะฉะนั้นพรุ่งนี้ก็ไม่ใช่วันนี้ สิ่งที่มีเดี๋ยวนี้ไม่ใช่สิ่งที่จะมีในวันพรุ่งนี้ แล้วก็ไม่ใช่สิ่งที่มีแล้ววันก่อน จริงหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ถ้าไตร่ตรองตามก็จริง ท่านอาจารย์ก็ได้ยกตัวอย่าง เรื่องเห็น ถ้าศึกษาก็ทราบว่าเห็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ แต่ในข้อเท็จจริงเนื่องจากจิตเกิดดับเร็วมาก ก็จะคิดไปเลยว่าเห็นเป็นอะไร เช่น อาจารย์คำปั่นบอกว่าถ้าไม่ศึกษาก็คือว่าเห็นคนเห็นดอกไม้ แต่ในข้อเท็จจริงถึงแม้ศึกษาแล้ว ฟังว่าเห็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ และก็รู้ว่าเป็นอะไรเพราะคิด แต่เนื่องจากปัญญาที่รู้เห็นว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ เห็นไม่ได้เห็นคน แต่เห็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ ปัญญาในขั้นนั้นยังไม่เกิด ก็จะต้องรู้ว่าเป็นคน เป็นดอกไม้ เป็นอะไร ในตรงนี้เหมือนกับว่าก็จะมีประโยคที่ท่านอาจารย์ถามคุณประทีปว่า เวลาพูด พูดด้วยความเข้าใจว่าเห็น เห็นมีจริงขณะนี้หรือว่าพูดด้วยความไม่เข้าใจ ในตรงนี้เหมือนกับยากที่จะรู้ว่า แล้วเป็นพูดเรื่องเห็นด้วยความเข้าใจ หรือว่าด้วยการจำแล้วพูดตาม

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้มีสิ่งที่มีจริงๆ เกิดดับ จำหรือเข้าใจ หรือประจักษ์แจ้ง

    ผู้ฟัง ก็จำด้วยความเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นถ้ามีความเข้าใจมั่นคงเพิ่มขึ้นว่า เห็นเกิดแล้วดับแน่นอน สามารถที่จะค่อยๆ เข้าใจขึ้นจนสามารถรู้จริงๆ ว่าเห็นเกิดขึ้นแล้วดับได้ไหม

    ผู้ฟัง ถ้าปัญญา เติบโตก็ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นขณะนี้คือปัญญา คือความเห็นถูกความเข้าใจถูก เริ่มจากการฟัง และไตร่ตรอง แล้วเป็นผู้ตรงว่าเข้าใจสิ่งที่ได้ฟังเพียงใด

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นในการที่จะฟังเข้าใจว่า ทั้งๆ ที่เหมือนว่ามาบอกว่าไม่มีคนก็เป็นเรื่องที่แปลกใจใช่ไหม ก็เห็นเมื่อใดก็เป็นคน ก็ต้องสะสมมาว่าที่จะเข้าใจว่าเป็นธรรมจริงๆ

    ท่านอาจารย์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสสอนเหมือนคนอื่นไหม

    ผู้ฟัง เนื่องจากท่านอบรมปัญญามาแล้ว ปัญญาท่านเป็นเลิศมากก็เป็นไปไม่ได้ที่จะสอนเหมือนคนอื่นสอน

    ท่านอาจารย์ ก็ตรงกับที่คุณอรวรรณกล่าวเมื่อสักครู่นี้ใช่ไหม

    ผู้ฟัง การจะเรียนอะไรก็แล้วแต่ ก็คือถ้าไม่ใช่เพื่อเข้าใจสิ่งที่กำลังมี กำลังปรากฏ ก็ไม่ใช่เป็นวาจาสัจจะ ซึ่งเมื่อวานนี้ที่ได้ศึกษาพระสูตร ที่กล่าวว่า อุบาสกหมายถึงผู้ที่มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง พระรัตนตรัยก็หมายถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ซึ่งอุบาสกที่สามารถปฏิบัติตนเพื่อประโยชน์ตนได้ จะมีธรรม ๘ ประการ คือ ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ศีล จาคะ ใคร่เพื่อที่จะเห็นพระภิกษุ ฟังธรรม ทรงจำธรรม พิจารณาอรรถของธรรม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม

    ขอเรียนสนทนาเรื่องทรงจำธรรม ว่าการจำเพราะว่าท่อง กับจำเพราะเข้าใจ ตรงนี้ผู้ศึกษาถ้าไม่สามารถจำเพราะความเข้าใจ ก็จะยุ่งยากสับสน แล้วก็ลืม แล้วถ้าเรียนมากๆ เช่น เรียนเรื่องจิต มีกี่ประเภท วิถีจิตเป็นอย่างไร รายละเอียดของสิ่งเหล่านี้มากมาย ถ้าสามารถศึกษาหรือว่าทรงจำด้วยความเข้าใจ ก็จะพอที่จะเข้าใจได้ แต่ถ้าศึกษาแบบจำก็จะได้หน้าลืมหลังแล้วก็ไม่เข้าใจ เรียนขอความกรุณาท่านอาจารย์ว่าเหมือนกับในพวกเราที่ศึกษาจะเป็นอย่างไรที่ไม่ใช่ทรงจำเพราะท่อง หรือว่าทรงจำด้วยความเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นไม่ลืม ฟังเพื่อเข้าใจจริงๆ และอันดับแรกข้อแรกของอุบาสกอุบาสิกาคือมีศรัทธา

    ผู้ฟัง นี้เป็นการปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน แล้วถ้าเป็นการชักชวนผู้อื่นก็จะเป็นประโยชน์ผู้อื่นด้วย เพราะฉะนั้นถึงแม้จะมีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง ท่านอาจารย์ก็บอกว่าการที่จะกล่าวว่ามีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งได้ ก็ต้องรู้ก่อนว่าพระรัตนตรัยคืออะไร จะรู้ได้อย่างไรก็ต้องศึกษา เช่น บอกว่ามีพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง แต่ไม่ได้รู้ว่าพระพุทธเจ้าเป็นใคร สอนอะไร ก็เป็นการกล่าวคำที่ไม่รู้จักตั้งแต่เกิดจนตาย แต่ถ้าศึกษาก็สามารถกล่าวด้วยความเข้าใจได้

    ท่านอาจารย์ ใน ๘ ประการ ข้อที่ ๑ คือศรัทธาใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่ เพราะฉะนั้นก็ต้องเริ่มด้วยมีศรัทธาที่จะฟังให้เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ศรัทธาว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้สิ่งที่คนอื่นไม่สามารถจะรู้ได้เลย ถ้าไม่ได้บำเพ็ญบารมีมาที่จะถึงความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็จะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ เพราะพระธรรมลึกซึ้งโดยอรรถ และโดยปฏิเวธ แม้แต่คำ และความหมายของแต่ละคำก็ต้องเข้าใจจริงๆ ว่า ไม่ได้เพียงคำ แต่ว่าความจริงของสภาพธรรมที่กล่าวโดยคำนั้นเป็นเช่นนั้น เช่น จิตมีจริง เดี๋ยวนี้ถ้าไม่ศึกษาก็ตอบไม่ได้ แล้วจิตอยู่ไหน พอศึกษาแล้วตอบได้ แต่เข้าใจถึงขั้นใดที่ตอบได้ เข้าใจแล้วก็จำด้วย เล็กๆ น้อยๆ นิดๆ หน่อยๆ ใช่ไหม แต่ยังไม่สามารถที่จะเข้าใจลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตนของธาตุที่เกิดขึ้นรู้ คือเห็นแล้วดับ

    เพราะฉะนั้นอาศัยศรัทธา เป็นสิ่งที่มีจริงในสังสารวัฎซึ่งไม่เคยรู้มาก่อน แต่สามารถที่จะเริ่มค่อยๆ เข้าใจขึ้น จนกระทั่งสามารถที่จะประจักษ์แจ้งได้ ด้วยพระมหากรุณา ถ้าได้เข้าใจพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณที่ทรงแสดงพระธรรมถึง ๔๕ พรรษา ทุกคำมีค่า ไม่เช่นนั้นทุกคำไม่มีความหมายเลย ๔๕ พรรษา พระไตรปิฎก ก็ไม่มีความหมายอะไร ถ้าไม่ได้เข้าใจ

    เพราะฉะนั้นผู้ที่เห็นประโยชน์จึงมีศรัทธาที่รู้ค่าว่า จากโลกนี้ไปแล้วจะได้ยินได้ฟังอีกหรือเปล่า จะเข้าใจขึ้นบ้างอีกหรือเปล่า ถ้าไม่ได้เข้าใจตั้งแต่ขณะนี้ ค่อยๆ เข้าใจขึ้น นี่อาศัยศรัทธาทั้งหมดที่เห็นประโยชน์จริงๆ แล้วทำไมถึงมีศรัทธา

    ผู้ฟัง เพราะฟังเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ เพราะรู้ว่าเป็นสิ่งที่จริง ไม่มีใครต้องการสิ่งที่ไม่จริง ของเทียม ของลวงใช่ไหม เพราะฉะนั้นถ้ารู้ว่าเป็นคำจริง สามารถที่จะพิสูจน์ได้เข้าใจได้ จึงเกิดศรัทธาที่จะให้เข้าใจขึ้นอีก

    ผู้ฟัง ฟังธรรมจากท่านอาจารย์ พฤติกรรมเปลี่ยนก็หมายถึง ไม่อยากจะคลุกคลี หรือการเข้าสังคมที่ลดลง แล้วก็มีความรู้สึกไม่ชอบกับสิ่งที่เคยชอบ

    ท่านอาจารย์ ฝืนทำหรือว่าเป็นปกติ

    ผู้ฟัง เป็นพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ความเห็นถูกกับความเห็นผิดเหมือนมีเส้นบางๆ ที่ยากมากที่จะหลงผิดได้ง่ายๆ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นความเข้าใจยังไม่พอ ศึกษาขึ้น เข้าใจขึ้น ละเอียดขึ้น ก็จะรู้ความจริงว่าอกุศลเป็นอกุศล กุศลเป็นกุศล และอกุศลมีมาก แล้วก็ละเอียดด้วย เพราะฉะนั้นจะตามไปตลอด เช่น โลภะ เพราะไม่รู้ เวลาที่มีคนบอกว่าขณะเห็นก็เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด หารู้ไม่ว่ากว่าจะเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด จิตเกิดดับเท่าใด เพราะว่ากว่าจะรวมกันเป็นหนึ่ง ที่มีสีสันต่างกัน เช่น กลีบดอกไม้แต่ละกลีบ ไม่เหมือนกันแล้วใช่ไหม กว่าจะรวมกันเป็นหนึ่งซึ่งจะทำให้สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นสีต่างๆ ได้ จิตเกิดดับเท่าใด

    เพราะฉะนั้นยังมีอีกมากที่เราไม่ได้รู้ความจริงเลย จึงต้องอาศัยกาลเวลา และเป็นผู้ตรงว่าความรู้ความเข้าใจเข้าใจอะไร เพียงใด เพราะอะไร แม้แต่คำที่เราอาจจะได้ยินในพระสูตร อยู่คนเดียวบ้าง หรืออะไรบ้าง สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้เข้าใจลึกซึ้ง ก็อาจจะมีความรู้สึกบางครั้งบางคราว ไม่ใช่ตลอดไป ที่เบื่อคนหรือเบื่อคนโน้น เบื่อคนนี้ก็แล้วแต่ ไม่อยากจะไปตรงโน้นตรงนี้อีกก็แล้วแต่ แต่ว่าตราบใดที่ยังมีกิเลสใครจะรู้ว่าวันใดจะเป็นเหมือนเดิม หรืออาจจะยิ่งกว่าเดิมก็ได้ เพราะฉะนั้นเป็นผู้ที่ไม่ประมาทจริงๆ ต้องเข้าใจว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรม เพราะฉะนั้นก็จะมีคำหลายคำที่ทรงแสดงในพระไตรปิฎก ๔๕ พรรษา อุปการะให้ประคับประคองชีวิตไปในทางที่ถูกต้องในทางที่ดี แม้แต่ศรัทธา คนที่เคยมีศรัทธาแล้วก็หายไปเลย ไม่รู้ศรัทธาไปไหนกลายเป็นอีกคนหนึ่งซึ่งไม่มีศรัทธา ก็ปรากฏให้เห็นได้ เพราะเหตุว่าขณะนั้นยังไม่ใช่ศรัทธาที่มั่นคงถึงความเป็นพระอริยบุคคล เพราะฉะนั้นจะเห็นศรัทธาที่ไม่หวั่นไหวในพระโสดาบัน แต่สำหรับคนที่ยังไม่ถึงระดับนั้น เดี๋ยวจิตก็รู้บ้าง ไม่รู้บ้าง เข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง ทั้งๆ ที่แสดงความเป็นอนัตตาทุกขณะทุกประเภททุกธรรม ปัญญาไม่ถึงระดับที่สามารถที่จะเห็นถูกต้อง แล้วละการยึดถือว่าเป็นเรา

    เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่เป็นสิ่งที่ละเอียด แล้วก็ต้องเป็นผู้ที่ตรง โลภะจะตามไปตลอดไม่ว่าขณะใด อุปมาเหมือนอากาศธาตุซึ่งแทรกอยู่ทุกกลาป เพราะฉะนั้นที่จะดับโลภะซึ่งมากมายมหาศาลต้องตามลำดับ ไม่ใช่ว่าเราเบื่อเราไม่ชอบแล้ว เรายังมีเหตุที่จะให้ติดข้องในสิ่งที่เราพอใจอยู่ ไม่สิ่งนั้นก็สิ่งนี้ เพราะฉะนั้นผู้ที่เห็นจริงๆ ว่าดับหมายความถึงไม่เกิดอีกเลย เป็นเรื่องยากเพียงใด เพราะเหตุว่าจะละโลภะความติดข้องในสิ่งที่มีจริงๆ ที่ปรากฏให้เห็นทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง ละได้อย่างไรถ้าไม่รู้ความจริง เพราะไม่รู้จึงติดข้อง

    ด้วยเหตุนี้ที่จะดับกิเลสหมด จึงต้องละโลภะที่เกิดร่วมกับความเห็นผิด ที่ยึดถือสิ่งที่ปรากฏเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง และเป็นเรา ลึกไหม ไม่ว่าขณะใดเหมือนเที่ยงตลอดเวลา เหมือนเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดตลอดเวลา แล้วจะให้เกิดปัญญาที่สามารถที่จะละจริงๆ ดับจริงๆ ว่า สิ่งนั้นไม่ได้เป็นเช่นที่เห็นเลย เป็นแต่เพียงสิ่งที่เกิดดับเร็วสุดที่จะประมาณได้ แล้วจะรู้ได้อย่างไร ถ้าไม่ค่อยๆ รู้ลักษณะของสภาพธรรมทีละหนึ่งจริงๆ ว่าขณะนี้ถ้าจะเข้าใจเห็น ต้องขณะที่เริ่มรู้ว่าเห็นไม่ใช่เรา และกำลังเห็น เพราะฉะนั้นทั้งๆ ที่กำลังเห็น ก็คิดเรื่องอื่นก็แสดงว่าแล้วเมื่อใดจะรู้จักเห็นจริงๆ

    เพราะฉะนั้นกว่าจะฟังแล้วก็เริ่มเข้าใจเห็นที่กำลังเห็น ต้องอาศัยพระธรรมที่ทรงแสดงมากถึง ๔๕ พรรษา โดยประการทั้งปวง ที่จะทำให้ขณะนั้นเป็น "อุปนิสสยโคจร" "โคจร" เป็นอีกคำหนึ่งของอารมณ์ "นิสสย" เป็นที่อาศัยซึ่งทำให้คุ้นเคยจนกระทั่งไม่ไปสู่อารมณ์อื่น เพราะเหตุว่าจิตต้องแล้วแต่อารมณ์ด้วย จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่ผัสสเจตสิกกระทบ จะไปเที่ยวรู้อารมณ์ตามใจชอบไม่ได้เลย นี่แสดงให้เห็นความเป็นปัจจัยอย่างละเอียดยิ่งของธรรมทั้งหมดแต่ละหนึ่ง ซึ่งยังจะต้องมีความเข้าใจอีกมาก และก็เป็นผู้ตรงด้วยว่ายังคงมีความยินดีติดข้องในอะไร แม้จะกล่าวว่าอยากอยู่คนเดียว จริงไหม

    ผู้ฟัง อุปนิสสยโคจรแล้วหมายถึง สิ่งเหล่านี้ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ หมายความถึงจิตจะเกิดขึ้นมีอารมณ์ใด เลือกไม่ได้ เพราะฉะนั้นส่วนใหญ่ก็จะเป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยสะสมมามาก ถ้าไม่เคยฟังธรรมเลย เราสนใจเรื่องอะไร เราก็คิดเรื่องนั้นใช่ไหม แล้วแต่ว่าจะเป็นนักวิศวกร หรือเป็นสถาปนิก หรือเป็นคนที่ทำอาหารเก่ง หรืออะไรก็แล้วแต่ เล่นกีฬาอะไรก็ได้ ทุกอย่างก็ตามการสะสมที่จิตคล้อยไปสู่อารมณ์นั้น เพราะสะสมมาจนมีกำลังที่จะให้จิตน้อมไปสู่อารมณ์นั้นบ่อยๆ เพราะฉะนั้นถ้าไม่เคยฟังธรรมเลย แล้วก็ไม่สนใจเลย จะให้เข้าใจธรรม ให้สนใจธรรมก็ยาก


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 194
    31 มี.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ