พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 949


    ตอนที่ ๙๔๙

    ณ มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๗


    ท่านอาจารย์ วันนี้เข้าใจเพียงแค่เป็นสิ่งที่เพียงปรากฏให้เห็นได้ อีกหลายๆ วันก็เข้าใจเพิ่มขึ้น ชินหูแต่ยังไม่ชินกับลักษณะที่เป็นเช่นนั้น เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่าทั้งหมดของโลกที่เมื่อเกิดมาแล้ว ทันทีที่เกิดยังไม่รู้เลยว่าเป็นดอกไม้ ยังไม่รู้ว่าเป็นอะไร แต่พอเห็นบ่อยๆ ความจำเริ่มชิน ยังไม่ต้องเรียกชื่อก็สามารถที่จะรู้ได้ว่าใครเป็นใคร หรือว่าอะไรเป็นอะไร แต่โดยความเป็นเราเพราะสัญญาความจำจำไว้ เพราะฉะนั้นหลังจากที่ฟังธรรมแล้ว สัญญาใหม่คืออนัตตสัญญายังไม่ได้เริ่ม จนกว่าการฟังจะมีความมั่นคงรู้ว่าขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏ ที่เป็นเช่นนั้นคือปรากฏให้เห็นได้ ค่อยๆ สะสมความเข้าใจ ไม่ใช่ให้ไปทำอย่างอื่นเลย

    เพราะฉะนั้นใครก็ตามจะไปทำวิปัสสนา จะมีหลักสูตรพระโสดาบัน จะมีอะไรก็ตามแต่ ไม่เข้าใจธรรม และไม่รู้จักพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย เพราะว่าความจริงก็คือว่ามีสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วใครสามารถทำให้เกิดความเห็นที่ถูกต้องได้ทีละเล็กทีละน้อยมาก กว่าจะไปละอัตตสัญญาซึ่งหนาแน่นมาก จนค่อยๆ เบาบางลง ก็คือหนทางเดียว ฟังแล้วเข้าใจขึ้นเข้าใจขึ้น โดยรู้ว่าขณะใดที่เข้าใจถูก ขณะนั้นก็เป็นความเห็นถูกเพียงเล็กน้อย ซึ่งยังไม่มากพอที่จะเห็นทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทั่วถึงในวันหนึ่งๆ ตามปกติ ไม่ต้องทำอะไรเลย

    อ.คำปั่น ก็สำคัญที่ความเข้าใจจริงๆ ก็สืบเนื่องจากการสนทนาธรรมว่าจริงๆ แล้ว จุดประสงค์ที่ถูกต้องในการศึกษาพระธรรมนั้นคืออะไร นี่คือจุดที่ควรที่จะได้ตั้งต้นจริงๆ เพราะว่าเป็นการค่อยๆ สะสมความเข้าใจไปทีละเล็กทีละน้อย

    ท่านอาจารย์ เป็นมงคลหรือไม่

    อ.คำปั่น เป็นมงคล

    ท่านอาจารย์ อัตตสัมมาปณิธิ ตั้งตนไว้ชอบ เห็นไหม กว่าเราจะเข้าถึงความเป็นมงคลจริงๆ ว่านำความสุขความเจริญในธรรมมาให้ ต้องมีความเข้าใจว่าตั้งตนไว้ชอบคือฟังเพื่อเข้าใจ เพื่อละความไม่รู้ เพราะฉะนั้นถ้าจะคิดถึง ไม่คบคนพาล มงคลแล้ว แต่ไม่พอใช่ไหม คบบัณฑิตจึงสามารถที่จะมีความเห็นถูกความเข้าใจถูกเพิ่มขึ้น แล้วต่อจากนั้นบูชาคนที่ควรบูชา ใครเป็นคนแสดงความจริงนี้ จากกี่ชาติที่เกิดแล้วเกิดเล่า จะได้ยินได้ฟังกี่ครั้ง ไม่ได้คิดเองเลย แต่ต้องเป็นผู้ที่ได้ตรัสรู้ความจริง และทรงแสดงความจริง เพราะฉะนั้นก็คือบูชาผู้ที่ควรบูชา บูชาที่นี่ไม่ใช่ไหว้กราบ แล้วไม่รู้อะไร นำดอกไม้ธูปเทียนไปบูชาแล้วไม่รู้อะไร ไม่ใช่เลย เพราะนั่นไม่ใช่การที่จะดำรงพระศาสนา พระศาสนาไม่ได้ตั้งอยู่ด้วยดอกไม้ธูปเทียนเครื่องสักการะ แต่ต้องด้วยนิรามิสบูชา การบูชาที่ไม่ใช่อามิส แต่ว่าบูชาด้วยความเข้าใจถูกด้วยความเคารพอย่างยิ่งในแต่ละคำ ซึ่งมีโอกาสที่จะได้ฟังแล้วเข้าใจขึ้นในแต่ละชาติ

    เพราะฉะนั้นจะเห็นได้จากการที่ไม่คบคนพาล ไม่ตื่นเต้นจะมีหลักสูตรโสดาบันหรือมีอะไรก็ตามแต่ แต่ว่าไม่รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วจะมีประโยชน์อะไร กับเทียบถึงคำแต่ละคำที่สามารถที่จะทำให้เข้าใจสิ่งที่กำลังมี ค่อยๆ เข้าถึงความจริงได้จนรู้ว่าผู้นั้นเป็นผู้ที่ควรแก่การบูชา นี่ก็ยังไม่ถึงการตั้งตนไว้ชอบ แต่ต้องหมายความว่าตามลำดับจริงๆ ตั้งแต่เกิดมาแล้วก็มีมิตรสหาย แต่ว่ามิตรที่ดีก็คือผู้ที่สามารถที่จะทำให้ได้ฟังคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว โดยการเว้นคำที่ไม่จริงคำของคนอื่น เพราะฉะนั้นถ้าเป็นเช่นนี้จริงๆ ไม่ฟังคำของใคร เพราะว่าไม่ใช่ผู้ที่ควรบูชา แต่ฟังคำของผู้ที่ควรบูชาคือคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจากผู้ที่เป็นกัลยาณมิตร ไม่ใช่พาลแต่ต้องเป็นบัณฑิต

    อ.คำปั่น เพราะฉะนั้นจะหาความจริงได้จากที่ใด ก็ได้จากผู้ที่ทรงตรัสรู้ความจริงก็คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฟังคำของคนอื่นไม่ทำให้เข้าใจความจริง แต่ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำให้มีความเข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริง

    กราบเรียนอาจารย์อรรณพได้สนทนาเพิ่มเติมที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวเมื่อสักครู่นี้ว่า กล่าวถึงการบูชาที่เป็นการบูชาที่จะสามารถดำรงรักษาไว้ซึ่งพระพุทธศาสนา ที่เรียกว่าธรรมบูชา เพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้น

    อ.อรรณพ ถ้าไม่มีปัญญาก็บูชาไม่ได้ ต่อให้เขาซื้อดอกไม้ให้ ซื้อข้าวของเครื่องต่างๆ ให้ บูชาอย่างไร ในเมื่อไม่มีความเข้าใจ แล้วก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่กำลังบูชามีพระคุณอันประเสริฐอย่างไร เพราะฉะนั้นพุทธศาสนาเริ่มจากปัญญาในทุกๆ ขั้นเลย เช่น เพราะไม่รู้ก็เลยคบพาลแน่นอน เพราะไม่รู้แยกไม่ออกว่าอะไรเป็นพาลธรรม อะไรเป็นธรรมที่เป็นธรรมที่ดี เพราะฉะนั้นก็คบคนไม่ดี คบพาลธรรมไปเพราะความไม่รู้ แต่เพราะความรู้จึงแยกได้ว่าอะไรเป็นพาล ข้อธรรมคำสอนแบบใดที่เป็นของบัณฑิตผู้ประเสริฐ

    เพราะฉะนั้นก็ไม่คบกับพาล เพราะฉะนั้นยอดของพาลคือคนที่พาลที่สุดเลยก็คือผู้มีความเห็นผิด เพราะฉะนั้นปัญญาก็รู้ว่าความเห็นผิดเป็นเช่นนี้ ก็ไม่เสพความเห็นผิดด้วยปัญญาที่รู้ว่าความเห็นผิดนั้นเป็นความเห็นผิดจริงๆ ไม่ใช่ถูกลวง ความเห็นผิดลวงเหมือนเป็นความเห็นถูก เพราะฉะนั้นผู้ที่เขาสนใจในคำสอนที่ผิด เขาก็สำคัญว่าคำสอนนั้นถูก เพราะฉะนั้นความเห็นผิดย่อมลวงเหมือนกับเป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อขาดปัญญาขาดความรู้ความเข้าใจตั้งแต่ขั้นต้น แต่ความเข้าใจขั้นต้นจะเป็นปัจจัยให้เจริญต่อไปในขั้นต่อไป เพราะฉะนั้นก็เลยมีมงคลข้อต่อไปว่าคบบัณฑิต คบธรรมที่เป็นธรรมที่ดีงาม ธรรมที่เป็นประโยชน์ก็ต้องด้วยปัญญา ถ้าความไม่รู้เราก็ไม่สามารถที่จะเป็นเช่นนั้นได้ และเมื่อมีการที่คบบัณฑิต เสพธรรมที่เป็นธรรมที่ดีงามต่างๆ เป็นไปเพื่อการละคลายดับกิเลส ก็มีความเข้าใจ เมื่อมีความเข้าใจก็ย่อมที่จะมีความเป็นไปของกายวาจา และใจ ที่จะน้อมเคารพในสิ่งที่ดีงามหรือบุคคลที่ประเสริฐสูงสุดก็คือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    เพราะฉะนั้นบูชา ที่ท่านอาจารย์ใช้คำว่าบูชาที่ไม่มีอามิส นิรามิสบูชา ก็คือด้วยความเข้าใจ ไม่ใช่ด้วยความติดข้อง ถ้ามีปัญญาแยกแยะได้ว่าอะไรเป็นพาลธรรม อะไรเป็นธรรมของบัณฑิต เสพคุ้นธรรมที่ดีงามเพิ่มขึ้น ก็ต้องบูชาบุคคลที่ควรบูชา หรือบูชาธรรมที่ควรบูชา ก็คือบูชาพระรัตนตรัยด้วยปัญญาที่เจริญขึ้นจากการที่ได้รับประโยชน์ เพราะฉะนั้นมงคลคาถาแรก ๓ ข้อ ก็เป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ ที่จะทำให้เจริญในมงคลข้อต่อๆ ไปด้วย

    อ.วิชัย มงคลสูตรทรงแสดงที่พระวิหารเชตวัน คือก่อนหน้านั้นก็จะมีประชาชนเป็นอันมากที่ต่างก็หาข้อสรุปไม่ได้ว่า อย่างไรเป็นมงคล บางท่านก็เห็นเป็นมงคล บางท่านก็ได้ยินเป็นมงคล บางท่านก็ว่าการดมกลิ่น การลิ้มรส การสัมผัสอะไรต่างๆ เป็นมงคล แต่ก็หาข้อสรุปไม่ได้ถึง ๑๒ ปี แต่ภายหลังเทวบุตรก็มาทูลถามพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงมงคล ๓๘ ประการ ซึ่งในมงคลต่อไปก็จะกล่าวถึงการอยู่ในประเทศที่สมควร การกระทำบุญไว้ในปางก่อน และก็การตั้งตนไว้ชอบ การที่กล่าวถึง เช่น การกระทำบุญไว้ในปางก่อน ดูเหมือนว่าจะเป็นส่วนอดีตแล้ว ไม่ทราบว่าจะกล่าวถึงในส่วนอดีตแล้วจะกระทำอย่างไร ในเมื่อเป็นส่วนอดีตไปแล้ว

    ท่านอาจารย์ อดีตไปแล้ว แน่นอนแม้แต่ขณะเมื่อสักครู่นี้ก็เป็นอดีตไปแล้ว แต่ทุกอย่างต้องมีปัจจัยใช่ไหม ไม่ใช่สามารถจะเกิดขึ้นได้ลอยๆ เพราะฉะนั้นแม้แต่แต่ละท่านที่ได้มานั่งอยู่ ณ ที่นี้ ได้ฟังพระธรรม ได้นมัสการพระบรมสารีริกธาตุ มาได้อย่าง ไร อยู่ดีๆ ก็มาเลยหรือ เพราะฉะนั้นทั้งหมดก็แสดงถึงเหตุ และผลว่า เพราะเกิดในประเทศที่สมควร ที่เกิดมีมาก ถ้าเราคิดถึงประเทศต่างๆ ของโลกนี้ หรือถึงสวรรค์ หรือถึงอบายภูมิก็ตามแต่ ถ้าคิดถึงว่าที่เกิดของจิตไม่ต้องคิดถึงมนุษย์ ไม่ต้องคิดถึงสวรรค์ ไม่ต้องคิดถึงอะไรเลย แต่จิตที่เกิดแต่ละหนึ่งขณะมีที่เกิด และที่เกิดในโลกนี้ของจิตที่เกิดดับสืบต่อ ก็คือสมควรเพราะมีพระธรรมที่สามารถที่จะได้ยินได้ฟัง ถ้าเกิดในประเทศที่ไม่มีพระธรรม ก็ไม่มีโอกาสได้ยินได้ฟัง แต่ถึงกระนั้นบุญที่ได้ทำไว้แต่ปางก่อน หลายคนไม่ได้เกิดในประเทศนี้ แต่ก็มีโอกาสได้ยินได้ฟังพระธรรม

    เพราะฉะนั้นถ้าคิดถึงบุญที่ทำไว้แต่ปางก่อน ถึงจะอยู่ที่ใดก็เป็นเหตุให้ได้อยู่ในประเทศที่สมควร คือขณะที่มีการฟังพระธรรม และมีการเข้าใจพระธรรม ไม่คิดถึงสถานที่ แต่คิดถึงว่าการที่ได้มีโอกาสได้ฟัง การที่ได้เกิดในที่ที่มีการเห็น มีการได้ยินต่างๆ เหล่านี้ ก็เพราะบุญที่ได้ทำไว้แต่ปางก่อน เพราะฉะนั้นบุญพามาแน่นอนใช่ไหม เพราะฉะนั้นที่สำคัญที่สุดคืออัตตสัมมาปณิธิ สารพัดที่ได้นำมาสู่แล้ว แต่ถ้าไม่ตั้งจิตไว้ชอบ ขณะนั้นก็สิ่งที่สะสมมาก็ไม่เจริญขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าจะพูดถึงจริงๆ ถ้าคิดว่ากิเลสมาก เมื่อใดจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม นั่นเป็นการบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือเปล่าที่คิดเช่นนั้น หรือว่าขณะนี้กิเลสมาก พระธรรมก็ยากเหลือเกิน ศึกษากว่าจะเข้าใจได้ แล้วก็จะทำอย่างไร ถามถึงแต่วิธีว่าจะทำอย่างไร ขณะนั้นไม่ใช่อัตตสัมมาปณิธิ แม้ว่าจะเกิดในประเทศที่สมควรเพราะบุญที่ได้ทำไว้แต่ปางก่อน ทำให้มีโอกาสได้ยินได้ฟังพระธรรม แต่เพราะไม่แยบคาย ไม่ได้สะสมมาพอที่จะเห็นความลึกซึ้งอย่างยิ่งของพระธรรม

    แม้แต่คำว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราเป็นใคร เพียงเท่านี้ทำให้เกิดอัตตสัมมาปณิธิได้ที่จะไม่คิดเอง ไม่ใช่ว่าฟังพระธรรมคำสองคำ แล้วก็ต่อเติมแต่งด้วยความคิดของตนเอง แต่ด้วยความเคารพอย่างยิ่งที่ไม่ลืมคำนั้น แม้แต่ธรรมไม่ใช่เราเป็นอนัตตาไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยที่จะต้องเป็นเช่นนั้น แล้วก็ดับไปแล้วก็ไม่กลับมาอีก เพราะฉะนั้นตั้งตนไว้ชอบก็คือว่าเมื่อฟังแล้ว มีความเข้าใจ และมีความเห็นถูกที่รู้ความลึกซึ้งของพระธรรม เพราะฉะนั้นก็ไม่หวังไม่เร่งไม่รีบ เพราะเหตุว่ากิเลส คิดดู แสนโกฏกัปด้วยความไม่รู้ด้วยความเป็นตัวตน แล้วจะให้หมดไปด้วยเพียงความคิดว่าทำอย่างไร นั่นคือไม่ได้ตั้งตนไว้ชอบ

    ด้วยเหตุนี้ก่อนที่มงคลอื่นจะนำมาซึ่งความเจริญยิ่งขึ้น ก็ต้องรู้ว่าต้องมีการตั้งตนไว้ชอบคือเห็นความลึกซึ้งอย่างยิ่ง แล้วรู้ว่าปัญญาเท่านั้นที่จะละไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นตราบใดที่ยังไม่มีปัญญาไม่สามารถที่จะละอกุศลใดๆ ได้เลย ด้วยเหตุนี้เป็นเหตุให้ถึงมงคลข้อต่อไป จำได้ใช่ไหม

    อ.วิชัย ความเป็นพหูสูต

    ท่านอาจารย์ พาหุสัจจะ การตั้งตนไว้ชอบไม่ให้ทำอย่างอื่นเลย นอกจากเป็นผู้ที่ฟัง ฟังพระธรรมด้วยความเคารพอย่างยิ่ง ฟังมากเท่าใดก็ยังไม่พอ ตราบใดที่ยังไม่เห็นว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นแต่ละคนห้ามความคิดไม่ได้เลย แม้แต่ความคิดที่อยากจะสงเคราะห์คนอื่น ช่วยเหลือคนอื่นทำทุกอย่างที่จะให้เขาได้เข้าใจธรรมได้สนใจธรรม แต่ถ้าเข้าใจจริงๆ ธรรมเป็นธรรม ธาตุไฟเป็นธาตุไฟ ธาตุดินเป็นธาตุดิน ธาตุได้ยินเป็นธาตุได้ยิน ธาตุคิดนึกเป็นธาตุคิดนึก ปรุงแต่งจากหนึ่งขณะโดยธรรมคือเจตสิกซึ่งเป็นสังขารขันธ์ แต่ละขณะผ่านไปไม่กลับมาอีกแล้วไม่ซ้ำอีก

    เพราะฉะนั้นแต่ละหนึ่งขณะก็ไปอยู่เรื่อยๆ ด้วยความต่างจากขณะก่อนๆ ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นถ้าขาดความเป็นพาหุสัจจะ ความเจริญย่อมไม่มี กำลังเป็นหรือเปล่า อัตตสัมมาปณิธิ มาเพื่อฟังให้เข้าใจพระธรรมเท่านั้น เพื่อละความไม่รู้ แล้วเกิดมาจะฟังธรรมอย่างเดียวหรือเปล่า เพราะฉะนั้นยังมีมงคลต่อไปอีก สิปปะคือการฟังในสิ่งที่เป็นประโยชน์ และเกิดความเข้าใจ และความสามารถที่เนื่องจากการฟัง เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นคนที่มีความรู้ความสามารถ แม้ในเรื่องอื่น เช่น ท่านมหาโมคคัลลานะ ท่านก็มีความรู้ความสามารถในเรื่องการก่อสร้าง โลหะปราสาทของวิสาขามิคารมารดาก็ต้องอาศัยท่าน หรือแม้แต่กุฎีของพระภิกษุทั้งหลาย ก็จะมีพระภิกษุที่ท่านมีความรู้มีความสามารถที่จะช่วยกันกระทำกิจในการที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป

    เพราะฉะนั้นในฐานะของฆราวาสก็เป็นประโยชน์ ถ้าจะมีสิปปะหรือศิลปะในภาษาไทย คือความรู้ความสามารถซึ่งใช้ประโยชน์ได้แน่นอน เช่น การไปนมัสการสังเวชนียสถานที่อินเดีย มีคุณหมอไปหลายท่านเป็นประโยชน์ไหม ผู้คนก็ป่วยไข้ได้เจ็บแทบจะกล่าวได้ว่าเปิดคลีนิกประจำวัน แล้วถ้าไม่มีเช่นนั้น เราสามารถที่จะได้มีชีวิตที่สะดวกสบายไหม เพราะฉะนั้นวิชาการทั้งหลายที่เป็นประโยชน์ มีประโยชน์แน่นอน แล้วก็ยังสามารถที่จะเกื้อกูลสงเคราะห์คนอื่นด้วย ด้วยเหตุนี้นอกจากการเป็นผู้ที่ฟังพระธรรมแล้ว อย่างอื่นที่เป็นประโยชน์ก็ฟังแล้วก็เป็นประโยชน์ แล้วก็สามารถที่จะทำประโยชน์ในทางกุศลได้ด้วย เป็นมงคลหรือไม่

    เพราะฉะนั้นนอกจากพาหุสัจจะก็ยังมีสิปปะ แต่ถ้าเป็นไปเพื่อเหตุอื่นไม่เจริญ เพราะฉะนั้นมีวินัยที่ได้ศึกษาดีแล้ว วินัยคือการกำจัดกิเลส ทั้งหมดลืมไม่ได้เลย เกิดมาแต่ละภพแต่ละชาติเพิ่มกิเลสสะสมกิเลส ถ้าไม่มีการละคลายกิเลสเลย ด้วยเหตุนี้ไม่ว่าจะเป็นใครมีความรู้มีความสามารถอย่างไร ก็ไม่ลืม บุญที่ได้ทำแล้วเป็นโอกาสให้เกิดมาได้ยินได้ฟังพระธรรม แต่ต้องตั้งจิตไว้ชอบว่าเพื่อที่จะละกิเลสด้วย ด้วยเหตุนี้แม้จะเป็นผู้ที่ฟังมาก หรือมีความรู้ทางด้านอื่นที่สามารถที่จะช่วยเหลือคนอื่นได้ ก็ไม่ลืมที่จะขจัดละคลายกิเลสด้วย วินัยคือการกำจัดสิ่งที่ไม่ดี ตามที่ได้ศึกษาดีแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าศึกษาไม่ดีมีแต่การเพิ่มกิเลส แต่ว่าถ้าศึกษาดีแล้วก็เป็นการทั้งหมดชีวิตที่จะมีอยู่ต่อไป เพื่อความเข้าใจธรรม เพื่อที่จะได้ขัดเกลากิเลส ก็เป็นมงคลใช่ไหม

    อ.คำปั่น มงคลในหมวดนี้ยังมีอีกหนึ่งข้อ คือในเรื่องของวาจาสุภาษิต จะมีความเกี่ยวเนื่องหรือว่าเกื้อกูลเพิ่มขึ้นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ทุกวันนี้พูดด้วยปัญญาหรือไม่ พูดด้วยกุศลหรือไม่ ถึงไม่ใช่ปัญญาแต่ด้วยกุศลหรือไม่ เพราะฉะนั้นคนเราเกิดมาแล้ว พูดแน่ๆ แต่บางคนพูดน้อยก็ถูกติใช่ไหม พูดมากก็ถูกติ อย่างไรจะพูดได้พอดีๆ ไม่มีใครถูกติ แม้แต่การกล่าวธรรมก็กล่าวมาก แต่ท่านกล่าวว่าเมื่อเป็นประโยชน์ หรือเพื่อประโยชน์ ไม่ชื่อว่ากล่าวมากที่ไร้ประโยชน์ แต่ถ้าไร้ประโยชน์แล้วกล่าวมากเป็นอย่างไร ก็ไม่ใช่วาจาสุภาษิต เพราะฉะนั้นใครกล่าว ใครฟังคนอื่นกล่าว แม้แต่คนฟังก็ยังรู้เลย คนพูดขณะนั้นจิตเป็นอย่างไร เสียงแข็งๆ สั่งแรงๆ หรืออะไรก็ได้ กับคำที่พูดดีเห็นใจ กล่าวด้วยความเข้าใจ มีวาจาที่อ่อนโยน มีความเป็นมิตร ขณะนั้นก็เพราะจิตที่ต่างกัน แล้วจะไปขัดเกลากิเลสกันเมื่อใด มุ่งหน้าแต่จะไปละอกุศล ประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรม แต่สิ่งที่มีอยู่ทั้งหมดไม่ได้ถูกขัดเกลาไปเลย มิฉะนั้นพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงมงคล ๓๘ และพระธรรมทั้งหมดเกื้อกูลอุปการะทุกคำให้รู้ว่าการละกิเลสไม่ใช่ประมาทไม่ใช่ไม่เห็นว่าสำคัญ เพียงแต่มาฟังธรรมก็พอแล้ว ไม่จริง แต่ว่าการที่จะรู้ว่ามีความเข้าใจธรรมมากน้อยเพียงใด ก็คือชีวิตประจำวัน

    เมื่อชีวิตประจำวันเป็นอย่างไร ดีขึ้นทั้งกายทั้งวาจาเพราะใจมีความเข้าใจธรรมขึ้น ก็แสดงว่าทั้งหมดปัญญานำไปในกิจทั้งปวง แม้แต่การที่จะพูด คน ๒ คนพูดเรื่องเดียวกัน พูดสิ่งเดียวกัน แต่คำพูดต่างกันได้ตามจิตในขณะนั้น ซึ่งขณะที่ขัดเกลากิเลสก็จะเป็นมิตรกับคนที่เราพูดด้วยไม่ว่าเขาเป็นใคร เพราะฉะนั้นคำพูดจากมิตรจะต่างกับคำพูดที่ไม่ได้คำนึงถึงคนฟังเลยใช่ไหม เพราะฉะนั้นแม้แต่จะมีความสามารถ มีการฟังธรรม แล้วก็คิดที่จะขัดเกลากิเลส แต่ก็ต้องไม่ลืมด้วยว่าแม้แต่วาจาขณะใดขณะนั้นขัดเกลากิเลสได้ ถ้ามีปัญญาเห็นกิเลสไม่ยากเลยใช่ไหม

    อ.คำปั่น ที่อินเดียท่านอาจารย์ได้สนทนาที่โรงแรมโมริยะ เมืองเวสาลี มีประโยคหนึ่งที่ถ้าได้ไตร่ตรองตาม ก็เข้าใจได้เลยว่า เป็นคำเตือนที่ดีมากเลยสำหรับคนที่พูดวาจาที่อาจจะใช้คำที่รุนแรงกระทบกระทั่งผู้อื่น ท่านอาจารย์ก็พูดเหมือนกับว่าก็ลองเปลี่ยนจากคนพูดมาเป็นคนฟังดู จะรู้สึกอย่างไร คนอื่นเป็นอย่างไร ตนเองก็เป็นเช่นนั้น เพราะฉะนั้นพระธรรมทุกส่วนก็เป็นเครื่องเกื้อกูลที่ดีในชีวิตประจำวันจริงๆ

    อ.วิชัย พระธรรมคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่ใช่เพียงแต่ทรงแสดงเรื่องของสัจจะ แม้มงคลต่อไปที่กล่าวถึงการบำรุงบิดามารดา การดูแลบุตรภริยา การงานที่ไม่อากูล ก็เหมือนกับเป็นปกติในชีวิตประจำวันที่ให้เห็นถึงกุศล เช่น การบำรุงบิดามารดาเช่นนี้

    ท่านอาจารย์ ความเป็นผู้ละเอียดด้วยความเข้าใจธรรมจะเพิ่มขึ้น อยู่บ้านมีใครบ้าง ถ้ามารดาบิดายังอยู่ หรือปู่ย่าตายายใช่ไหม พี่น้องทั้งหมดก็เป็นคนที่อยู่ร่วมกัน กุศลจิตเกิดได้มากเมื่อมีความเข้าใจที่ถูกต้อง เช่น การบำรุงมารดา ๑ การบำรุงบิดา ๑ การสงเคราะห์บุตรภรรยาใช้คำที่ต่างกัน เห็นความละเอียดหรือไม่ บำรุงมารดาบิดาท่านมีอายุมากกว่าเรา ท่านเลี้ยงดูมา ตอนเป็นเด็กคิดออกไหมว่า ตั้งแต่เริ่มเกิดใครดูแลอย่างละเอียดซึ่งยากที่คนอื่นจะทำให้ได้ เพราะฉะนั้นคุณของมารดาบิดาเทียบได้กับพระอรหันต์ของลูก ไม่ใช่ของคนอื่น เพราะว่าทำทุกอย่างให้ลูก ขณะนั้นถ้าไม่ได้ศึกษาธรรมด้วยความรัก หรือเมื่อได้ศึกษาธรรมแล้ว ยากที่จะรู้ว่าขณะใดเป็นความรัก ขณะใดเป็นเมตตา ขณะใดเป็นอกุศล ขณะใดเป็นกุศล แต่ปัญญาตรง ปัญญาไม่หลง ปัญญาไม่เข้าใจผิด ปัญญาเห็นตามความเป็นจริงว่ากุศลเป็นกุศล และอกุศลเป็นอกุศล แต่ถ้าเป็นเราก็จะมีความลำเอียงเพราะความไม่รู้ แต่ว่าตามความเป็นจริง พระธรรมจะอุปการะเกื้อกูล ขจัดอกุศลทุกประการอย่างละเอียดยิ่ง

    เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่าบุตรคนใดก็ตาม ที่พอมีครอบครัวแล้วก็จะคิดถึงครอบครัวของตนมากกว่ามารดาบิดาซึ่งเคยเลี้ยงดูมา แต่พระธรรมก็ได้เตือนว่า ผู้ที่มีปัญญา ผู้ที่ควรบำรุงคือมารดาบิดา

    อ.คำปั่น ก็เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรมอย่างแท้จริง เพราะว่าอกุศลธรรมนั้นมีมาก ถ้าไม่อาศัยพระธรรมที่จะคอยอุปการะเกื้อกูล จะขัดเกลาอกุศลธรรมได้อย่างไร ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ ก็คงจะได้สนทนาศึกษาต่อไป เพราะว่าการศึกษาพระธรรมก็คงจะไม่ใช่เพียงแค่วันนี้ชาตินี้เท่านั้น แต่ต้องสะสมศึกษาต่อไปอีก เป็นระยะเวลาที่ยาวนานทีเดียว ซึ่งมีพระธรรมบทหนึ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสกับอุบาสกท่านหนึ่ง ซึ่งสอดคล้องกันหมดเลย พระธรรมคำสอนไม่ว่าจะยกส่วนใดขึ้นมา ก็เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลทั้งหมดเลย

    ซึ่งข้อความก็มีอยู่ว่า "ธรรมดาบัณฑิตทั้งหลาย ทำกุศลอยู่คราวละน้อยคราวละน้อยทุกๆ ขณะ ย่อมนำมลทินคืออกุศลของตนออกโดยลำดับทีเดียว" นี่ก็แสดงถึงความเป็นจริง เพราะว่าอกุศลมีมาก สิ่งที่จะขัดเกลาอกุศลได้ก็ต้องด้วยคุณความดี ด้วยกุศลธรรมทั้งหลาย

    กราบเรียนอาจารย์ธิดารัตน์ได้สนทนาเพิ่มเติมถึงความเป็นจริงของธรรมที่มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ระหว่างธรรมที่เป็นกุศลธรรมกับธรรมที่เป็นอกุศลธรรม


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 194
    25 เม.ย. 2567

    ซีดีแนะนำ