พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 918


    ตอนที่ ๙๑๘

    ณ มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๗


    ท่านอาจารย์ กำลังเดินเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล

    อ.วิชัย ถ้าเดินมาฟังธรรมก็เป็นกุศลได้

    ท่านอาจารย์ ขณะใด

    อ.วิชัย ก็ต้องละเอียดแต่ละขณะจิต

    ท่านอาจารย์ ต้องเป็นอย่างนั้น มิฉะนั้นจะไม่เข้าใจว่าไม่ใช่เรา กำลังจัดดอกไม้ เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ดอกไม้นี้สวย แล้วก็จัดกันมาแล้วถึงได้สวยเช่นนี้ ตอนนั้นก็ยังคงเป็นแต่ละดอกแต่ละใบ เพราะฉะนั้นขณะที่กำลังจัดดอกไม้เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล

    อ.วิชัย ก็จิตแต่ละขณะ บางครั้งอาจจะพบดอกที่ไม่ดี ก็อาจจะไม่พอใจก็ได้

    ท่านอาจารย์ ส่วนใหญ่เป็นเช่นนั้น กุศลเกิดน้อยหลังจากนั้นก็เป็นอกุศล ตามความเป็นจริง กำลังฟังธรรมเดี๋ยวนี้เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ที่แน่นอนคือขณะที่เข้าใจ ขณะที่มีศรัทธาฟังสิ่งซึ่งยังไม่ได้เข้าใจ แต่ฟังด้วยความศรัทธาผ่องใสที่ฟังเพื่อต้องการจะเข้าใจ ขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล

    อ.วิชัย ก็เป็นกุศล

    ท่านอาจารย์ เร็วมาก แล้วก็เป็นอกุศลได้ เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่าไม่ใช่เราฟังธรรมตลอดชีวิต เพื่อถึงการเข้าใจยิ่งขึ้นว่าไม่ใช่เรา มิฉะนั้นแล้วสภาพธรรมปรากฏจะละความเป็นเราได้อย่างไร ในเมื่อไม่เข้าใจเลย เหมือนเดี๋ยวนี้ใช่ไหม แต่ถ้ามีความเข้าใจมั่นคงขึ้นมากขึ้น ไม่ว่าสภาพธรรมใดปรากฏสามารถที่จะเข้าใจได้ เพราะได้ค่อยๆ เข้าใจมาแล้ว

    อ.วิชัย ดังนั้นการเป็นผู้ที่มั่นคงที่ว่ากล่าวถึงเรื่องการเชื่อกรรม และผลของกรรม ถ้าไม่มีความเข้าใจในเรื่องของสภาพธรรมเลย ก็เหมือนกับว่าเลื่อนลอย ไม่มีสภาวะที่จะให้เข้าใจจริงๆ ว่าอะไรเป็นกรรม อะไรเป็นผลของกรรม

    ท่านอาจารย์ เพราะไม่รู้ว่าขณะใดเป็นกรรม ขณะใดเป็นผลของกรรม

    อ.วิชัย ก็จะคิดเป็นเรื่องราวเป็นบุคคลต่างๆ

    ท่านอาจารย์ หากบอกว่ารู้เรื่องกรรม แล้วเห็นเดี๋ยวนี้เป็นอะไร แต่ถ้ารู้เรื่องกรรมต้องเข้าใจเรื่องกรรม แล้วก็จะมีคำตอบ จนถึงที่สุดได้ เพราะรู้ และเข้าใจ ไม่ใช่เพียงฟังเหมือนรู้เหมือนเข้าใจ แต่ยังไม่ได้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังมีเดี๋ยวนี้

    อ.วิชัย การเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่มีเดี๋ยวนี้ แต่ว่าถ้าเริ่มเป็นผู้ที่ฟัง

    ท่านอาจารย์ ก็ตั้งต้นตั้งแต่ปริยัติ ฟังพระพุทธพจน์ กล่าวถึงอะไร กล่าวถึงสิ่งที่มีเดี๋ยวนี้ จนกว่าจะรอบรู้ทั้งหมดสอดคล้องกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ตาม คือเป็นธรรมทั้งหมด

    อ.วิชัย เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะฟังเรื่องใด แม้แต่เรื่องของจิตก็ตาม แม้เรื่องของกรรมก็ตาม ต้องรู้ถึงว่าอะไรคือกรรมจริงๆ

    ท่านอาจารย์ ต้องรู้ธรรม ไม่ใช่เรา กรรมก็เป็นธรรม แต่ธรรมนี้มีหลากหลายมาก และธรรมอะไรเป็นกรรม เพราะฉะนั้นก็จะไม่พูดคำที่ไม่รู้จัก เมื่อได้เข้าใจแล้ว

    อ.วิชัย ได้มีการสนทนาเรื่องของมารด้วย ถ้าพูดถึงเรื่องของมารประการหนึ่งก็คืออภิสังขารมาร ทำไมจึงกล่าวว่าอภิสังขารมารคือเจตนา

    อ.อรรณพ ทำไมถึงได้เกิดมาเป็นบุคคลในชาติหนึ่ง หลากหลาย เป็นมนุษย์ก็มี เป็นสัตว์เดรัจฉานก็มี รูปร่างแตกต่างกัน อัตภาพหลากหลาย เพราะอะไรเป็นปัจจัยที่มีกำลังขณะนั้น พื้นฐานที่เข้าใจ ก็คือ จิตเจตสิก ซึ่งที่ได้สนทนามาก็ได้รู้ว่า กรรมไม่ใช่เรื่องเลื่อนลอย หรือเข้าใจแบบผิวเผิน แต่กรรมก็คือเจตนาเจตสิก ซึ่งกรรมป็นเจตนาเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกขณะทุกดวงก็ในความหมายหนึ่ง เพราะจิตที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะหลับจะตื่นจะเกิดจะตายอะไรก็แล้วแต่ จิตในขณะนั้นต้องมีสภาพที่จงใจในการรู้อารมณ์นั้น แต่ก็ต้องมีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วยอยู่ แต่ถ้าเราจะพูดถึงเจตนาที่เป็นกุศลเจตนา และอกุศลเจตนาซึ่งเป็นกุศล อกุศล หรือถ้าล่วงทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนก็เป็นอกุศลกรรมบถ หรือสำเร็จเป็นกุศลกรรมที่เป็นกุศลกรรมบถ เจตนานั้นก็จะสามารถปรุงแต่งอย่างยิ่ง ซึ่งใช้คำว่าอภิสังขาร เจตนาที่เป็นกุศล และเจตนาที่สำเร็จเป็นกรรมบถแล้ว หรืออกุศลเจตนาที่สำเร็จเป็นกรรมบถแล้ว คือเป็นบุญเป็นบาปที่สำเร็จเป็นกรรมบถ สามารถที่จะให้ผลให้เป็นปฏิสนธิในขณะนี้ได้ ในขณะที่เกิดในแต่ละชาติก็ได้

    เพราะฉะนั้นกรรมจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีการเกิดขึ้นในภพชาติต่างๆ และหลังจากที่เกิดมาก็ยังได้รับผลของกรรม เพราะฉะนั้นในบรรดาสภาพธรรมที่ปรุงแต่งจิต คือสังขารขันธ์ คือกองหรือส่วนที่ปรุงแต่งจิต เจตสิกมีทั้งหมด ๕๒ ประเภท เวทนาเจตสิกเป็นเวทนาขันธ์คือเป็นส่วนของความรู้สึก ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกทุกข์กาย ทุกข์ใจ สุขกาย สุขใจ หรือเฉยๆ ก็เป็นส่วน หรือเป็นกอง หรือเป็นขันธ์ของความรู้สึก ก็เรียกว่าเวทนาขันธ์ คือส่วนความรู้สึกอย่างหนึ่งซึ่งมีความสำคัญ และสัญญาเจตสิกคือเจตสิกซึ่งเป็นสภาพที่จำในอารมณ์ เพราะมีความจำจึงมีปัจจัยให้มีความตรึกนึกคิดถึงสิ่งที่จำไว้

    เพราะฉะนั้นส่วนของความจำไม่ว่าจะจำแบบกุศล จำแบบอกุศล จำดี จำไม่ดี อะไรก็แล้วแต่ ก็เป็นส่วนของความจำ เป็นสัญญาขันธ์ ส่วนเจตสิกที่เหลือทั้งหมด ๕๐ ดวง เป็นเจตสิกที่ปรุงแต่งจิต เป็นส่วนที่ปรุงแต่งจิต จึงใช้คำว่าสังขารขันธ์ สังขารคือปรุงแต่ง ขันธ์คือกองหรือส่วน ฉะนั้นเจตสิก ๕๐ ดวง ปรุงแต่ง แต่ในบรรดาเจตสิก ๕๐ ดวง เจตนาเจตสิกที่เป็นกุศลเจตนาหรืออกุศลเจตนาที่สำเร็จครบองค์เป็นกรรมบถ สามารถที่จะเกิดแล้วดับไปจริง แต่สะสมกรรมนั้นที่ทำสำเร็จแล้วด้วยกุศลเจตนาอกุศลเจตนานั้นไว้ในจิต พร้อมที่จะให้ผล ใกล้ตาย กรรมเริ่มที่จะทำให้จิตใกล้ตายนั้นจะเศร้าหมองหรือผ่องใสก็ด้วยกรรมที่ได้กระทำแล้วในอดีตทั้งในชาตินี้ และอดีตชาติก่อนๆ ว่าแล้วแต่กรรมใดจะมีกำลังที่จะเป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิเกิดในภพภูมิต่างๆ เพราะฉะนั้นเจตนาเจตสิกที่เป็นกุศลเจตนา และอกุศลเจตนา จึงเป็นสภาพที่ปรุงแต่งอย่างยิ่งเป็นอภิสังขาร ทำไมอภิสังขารมารจึงเป็นมาร เพราะปรุงแต่งให้เกิดชาติภพ ยังไม่สิ้นสุด เพราะมารแปลว่าสภาพที่เกิดแล้วต้องดับต้องตาย เพราะฉะนั้นยังไม่พ้นไป ก็เพราะมีกุศลเจตนา และอกุศลเจตนา ซึ่งเป็นสภาพที่ปรุงแต่งอย่างยิ่ง ก็เป็นมารอีกอย่างหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ ฟังธรรมต้องละเอียด แล้วก็ต้องตรงเมื่อเป็นสิ่งที่จริงเปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นแต่ละคำที่ได้ยินแล้ว ก็ต้องพิจารณาว่าสอดคล้องกับคำหลังๆ หรือไม่ เช่นที่กล่าวว่าจิตไม่ใช่เจตสิก จิตเป็นใหญ่เป็นประธาน ทุกคำต้องรู้ความต่างของจิตกับเจตสิก แต่จิตจะเกิดไม่ได้ถ้าไม่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ก็ทำให้ต้องคิดว่าแล้ว เจตสิกเกิดได้ไหมถ้าไม่มีจิต นั่นคือการที่เราจะเข้าใจสิ่งที่เราได้ยิน สองสามคำ แต่มั่นคงเพราะคิด และไตร่ตรอง

    เพราะฉะนั้นที่แน่นอนขณะนี้ก็คือว่าจิตไม่ใช่เจตสิก จิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ นี่คือลักษณะของจิต แต่เจตสิกต่างกันเป็น ๕๒ ประเภท ทุกคำเปลี่ยนไม่ได้เลย ในบรรดาเจตสิกที่เกิดกับจิตทั้งหมด ๕๒ ประเภท มีเจตสิกหนึ่งซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงใช้คำว่าเจตนาเจตสิก หมายความถึงสภาพที่จงใจ โดยทั่วไปที่พอจะรู้ได้ มีธรรมมากมาย แต่ว่าเราจะรู้ได้ไหม ผัสสเจตสิก มนสิการเจตสิก ชีวิตินทริยเจตสิกไม่ใช่สิ่งที่พอจะรู้ได้ แต่ว่าสำหรับความจงใจความตั้งใจ พอจะรู้ได้ไหม นั่นคือสภาพของเจตสิกหนึ่งซึ่งพอจะรู้ได้เมื่อเกิดขึ้น กระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ที่กล่าวว่ากระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็คือว่าเว้นขณะที่เห็น ขณะที่ได้ยิน ขณะที่ได้กลิ่น ขณะที่ลิ้มรส ขณะที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เพื่อให้รู้จริงๆ ว่าความหลากหลายของเจตนาต่างกัน ในขณะที่ไม่ใช่เห็น ไม่ใช่ได้ยินเหล่านี้ เจตนาที่เกิดกับจิตอื่นๆ นี่กล่าวโดยย่อ ไม่จำแนกว่าเป็นวิบากจิตกิริยาจิตอะไร ที่พอจะรู้ได้ก็คือว่าเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต เพราะกุศลเจตนาหรืออกุศลเจตนา ซึ่งเป็นสภาพที่จงใจที่จะเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล อย่างนี้พอจะทราบว่าเจตนาเจตสิกต้องเกิดกับจิตทุกประเภทไม่เว้น แต่เพราะเหตุว่าจิตหลากหลายมาก เมื่อเจตนาเกิดกับกุศลจิต เจตนานั้นเป็นกุศล หรือจะกล่าวว่าเมื่อกุศลเจตนาเกิด จิตก็เป็นกุศล เมื่อเจตนาเป็นอกุศลเกิด จิตก็เป็นอกุศล เพราะฉะนั้นเมื่อเจตนาซึ่งเป็นวิบากจิตเกิดปรุงแต่งจิตที่เกิดพร้อมกัน ทั้งหมดก็เป็นวิบาก เจตนาก็เป็นวิบาก จิตก็เป็นวิบาก เพราะฉะนั้นเจตนาที่เป็นวิบาก พอจะรู้ได้ไหม ไม่ใช่วิบากจิต เจตนาที่เป็นวิบากพอจะรู้ได้ไหม

    อ.วิชัย รู้ได้ยาก แต่รู้จักจิตว่าเห็นขณะนี้ก็เป็นผลของกรรม

    ท่านอาจารย์ ถึงจิตก็รู้ได้ยากว่าขณะนี้เป็นกุศลวิบากหรืออกุศลวิบาก เพราะฉะนั้นธรรมก็เป็นเรื่องละเอียด แต่ไม่เปลี่ยน ถ้ากล่าวว่าเจตนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกประเภทก็ต้องเข้าใจว่าไม่เว้น แต่ขณะใดเป็นกุศลเจตนาหรือเป็นอกุศลเจตนาแยกแล้วใช่ไหม เฉพาะที่เกิดกับกุศลจิต และเกิดกับอกุศลจิต ที่เกิดกับวิบากจิต จะเป็นกุศลเจตนาอกุศลเจตนาไม่ได้ แต่ก็เป็นเจตนา แต่ว่าเป็นวิบากเช่นเดียวกับจิต และเจตสิก ถ้าเราฟังไปไตร่ตรองไปช้าๆ ละเอียด และก็ไม่เปลี่ยน เราก็จะเข้าใจได้ เพราะฉะนั้นขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ เจตนาเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล "เห็น" เป็นอะไร

    อ.วิชัย เป็นวิบาก

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่กุศลอกุศล แต่เวลาที่เราฆ่าสัตว์ เบียดเบียนคนอื่น ขณะนั้นมีเจตนาไหมที่จะทำอย่างนั้น เจตนานั้นเป็นวิบากหรือไม่ จิตเห็นเป็นอะไร

    ผู้ฟัง จิตเห็นเป็นวิบาก

    ท่านอาจารย์ ฆ่าสัตว์หรือไม่ เบียดเบียนคนอื่นหรือไม่ เมื่อเกิดขึ้นเห็นแล้วดับ เพราะต้องเห็น เพราะถึงเวลาที่ต้องเห็น ถึงเวลาที่กรรมทำให้เกิดจิต และเจตสิก ซึ่งเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว คือทำให้ต้องเห็น ขณะที่ได้ยินไม่อยากได้ยินเสียงนั้น แต่ถึงเวลาที่กรรมที่ได้กระทำแล้วจะให้ผลก็เป็นปัจจัยให้ได้ยิน พร้อมกับเจตนาคือ เจตสิกซึ่งต้องเกิดกับจิตทุกดวงก็เกิด เพราะฉะนั้นเจตนาที่เป็นวิบากจะรู้ได้ไหม เดี๋ยวนี้มี รู้ได้ไหมเจตนาที่เป็นวิบาก ฟังเข้าใจ แต่รู้คำที่ได้ฟัง เป็นอีกเรื่องหนึ่งใช่ไหม

    อ.วิชัย เพียงเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเข้าใจว่าในขณะใดก็ตามที่จิตเกิดต้องมีเจตนาเจตสิก และที่พอจะรู้ได้ ใช้คำว่าพอจะรู้ได้คือเจตนาที่เกิดกับกุศลจิต และอกุศลจิต ที่กล่าวว่าดีชั่ว คนดีคนชั่วเพราะว่ากุศลเจตนาเกิดหรือว่าอกุศลเจตนาเกิด เพราะฉะนั้นเจตนาที่เป็นวิบากแม้เดี๋ยวนี้ ใครรู้ เจตนาที่เป็นกิริยาที่เกิดกับกิริยาจิตแม้เดี๋ยวนี้ก่อนจิตเห็นก็เป็นกริยา ใครรู้ ก็ไม่มีการที่จะรู้ได้ ด้วยเหตุนี้การฟังธรรมเพื่อเข้าใจ และก็รู้กำลังของตนเองว่าสามารถจะเข้าใจได้เพียงใด ละเอียดเพียงใด มากน้อยเพียงใด เพิ่มขึ้นเพียงใด หรือว่าสิ่งใดซึ่งไม่สามารถจะรู้ได้ ก็รู้ไม่ได้

    อ.วิชัย ถ้าเพียงพอใจนี้จะให้ผลได้ไหม หรือว่าบางครั้งอาจจะคิดว่าขณะนี้ก็เป็นกุศลหรืออกุศลแล้ว แต่ว่าผลที่จะเกิดจากความแม้เพียงพอใจเท่านั้นจะมีไหม

    ท่านอาจารย์ สภาพธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งเกิดแล้วแม้ดับไป ถ้าเป็นกุศลหรืออกุศลก็สะสมอยู่ในจิต เพราะฉะนั้นจิตสะสมกรรม สะสมกิเลส สะสมวิบาก เพราะว่าเวลาที่โลภะเกิดขึ้น ขณะนั้นใครรู้ว่ามีเจตนา ยังไม่ได้ไปซื้อไปหาไปหยิบไปขโมยอะไร แต่ว่าเกิดพอใจแล้ว มีเจตนาเกิดร่วมด้วย ดับไปแล้วสะสมอยู่ในจิต สภาพธรรมทั้งหมดที่เกิดรวมกัน เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยเป็นที่อาศัยที่มีกำลังตามปกติ ไม่ผิดปกติ ค่อยๆ สะสมไปอยู่ในจิต เพราะฉะนั้น คุณวิชัยชอบสีอะไร

    อ.วิชัย สีขาว

    ท่านอาจารย์ เห็นหรือไม่ สีมีตั้งหลายสีแล้วบอกว่าชอบสีขาว ถ้าไม่เคยชอบ ครั้งหนึ่งดับไปแล้ว สะสมความชอบนั้นไว้อีก เห็นสีขาวอีกก็ชอบอีก เพราะฉะนั้นก็เป็นการสะสมที่เป็นปกติของการที่เกิดมาแล้ว คุ้นเคยพอใจในสิ่งใดก็สะสมอยู่ในจิตไม่หายไปไหน สำหรับกุศล และอกุศลทั้งหมดเมื่อเกิดแล้วดับไปแล้ว สะสมสืบต่ออยู่ในจิต แล้วแต่ว่าจะเป็นเพียงอุปนิสสย อุปนิสัย หรือว่าเป็นปัจจัยให้กระทำกรรม แต่ถ้าไม่มีอุปนิสัยไม่กระทำกรรม

    เพราะฉะนั้นโลภะเป็นกิเลส เมื่อมีแล้วเป็นเหตุให้เกิดกรรม คือการกระทำด้วยกำลังของโลภะ เมื่อกิเลสมีกำลังถึงกับกระทำกรรมที่เป็นอกุศลกรรม หรือถ้าเป็นฝ่ายกุศลก็เป็นกุศลกรรม แล้วดับไป กรรมนั้น แรงของกรรม กำลังของกรรม สามารถจะทำให้สิ่งที่เป็นผลของกรรมเกิดขึ้นทั้งนามธรรม และรูปธรรม ทำให้รูปธรรมเกิดได้ จักขุปสาทเกิดเพราะกรรม

    เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมยิ่งละเอียดก็คือให้เข้าใจว่าไม่ใช่เรา ที่สำคัญที่สุดฟังแล้วเข้าใจสิ่งที่ได้ฟัง ถ้าเกิดยังไม่ชัดเจนก็มีปัจจัยที่จะทำให้เกิดคิดไตร่ตรองด้วยตัวเอง จนกระทั่งเป็นความเข้าใจขึ้น แต่ต้องไม่เผินเพราะเหตุว่าธรรมละเอียดมาก อาจจะทำให้เข้าใจเองผิดๆ โดยที่คิดว่าฟังแล้ว

    อ.วิชัย คำว่าอุปนิสสยหรือว่าอุปนิสัย บางครั้งได้ยินคำว่าอุปนิสัยบุคคลนั้นมีอุปนิสัยอย่างนั้นอย่างนี้แสดงว่า แต่ละขณะ ขณะนี้ถ้าเป็นกุศล เช่นฟังธรรมก็สะสมกุศลที่เป็นไปในการฟังให้มีความยินดีที่จะฟังธรรม หรือว่าถ้าเป็นอกุศลก็สะสมด้วยใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ อุปนิสสยโคจร โคจรอีกชื่อหนึ่งของอารัมมณหรืออารมณ์ คุ้นเคยกับอารมณ์ใดคิดถึงอารมณ์นั้น เราคุ้นเคยกับธรรมน้อยมาก ถ้าตราบใดที่ยังไม่คิดถึงธรรมบ่อยๆ เราคิดถึงเรื่องอื่นมากกว่า แต่ถ้าคุ้นเคยกับธรรมเริ่มคิดถึงธรรมเริ่มไตร่ตรอง ก็แสดงว่าธรรมที่ได้ฟังเป็นอารมณ์ที่คุ้นเคยที่จะทำให้มีการระลึกถึงเป็นอุปนิสสย เป็นที่อาศัยที่มีกำลังที่จะให้จิตเกิดขึ้นนึกถึง

    อ.วิชัย กุศลก็ตามหรืออกุศลตามที่เกิดแล้ว ไม่ใช่ว่าเกิดแล้วก็ดับโดยที่ไม่มีอะไรต่อไป แต่ว่ายังสะสมยังเป็นที่อาศัยที่มีกำลังให้จิตหลังๆ เกิดด้วย

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าจิตขณะต่อไปเกิดจากจิตที่ดับไปแล้ว เพราะฉะนั้นทุกอย่างที่มีอยู่ที่ในจิตที่ดับไปแล้วไปไหน หายไปได้อย่างไร ก็ต้องติดตามสืบต่อในจิตขณะต่อไป เพราะฉะนั้นที่ทรงแสดงไว้ "ทานุปนิสัย อุปนิสัยในการให้บ่อยๆ " "สีลุปนิสัย เว้นทุจริตทางกายทางวาจาเป็นปกติ" "ภาวนุปนิสัย อุปนิสัยในการอบรมเจริญปัญญาความเห็นที่ถูกต้อง"

    เพราะฉะนั้นแต่ละคนก็พอที่จะรู้อุปนิสัยของตนเอง และของบุคคลอื่นพอสมควร อย่างบางคนให้ทานง่าย เด็กขายพวงมาลัยผ่านมาก็เรียกซื้อ ๑ พวง วันนั้นอาจจะมีสักกี่พวงก็ได้ก็แล้วแต่ทานุปนิสัย แต่ว่ากายวาจาเป็นอย่างไร บางคนใจดี แต่วาจาไม่ดี ก็อุปนิสัยต่างกันตามการสะสม บางคนกายวาจาดีแต่ไม่ค่อยให้ ก็ได้ใช่ไหม หรือว่าบางคนก็ชอบสนทนาธรรม ฟังธรรมต้องการที่จะเข้าใจธรรม ก็แล้วแต่การสะสมมา ให้ทราบว่าเป็นธาตุ ธาตุแต่ละหนึ่งซึ่งไม่ใช่เรา จิตหนึ่งจะไปปะปนกับจิตอื่นไม่ได้ พอจิตนี้ดับเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อ ตามกำลังของจิตที่ดับไปแล้ว ไม่ใช่ไปเอาจิตอื่นมาสืบต่อ หรือไม่ใช่ว่าไปสืบต่อจากจิตอื่น แต่ต้องเฉพาะจิตที่ดับไปนั่นเอง เมื่อดับไปก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อทันที

    อ.วิชัย การสะสม แม้ขณะนี้ ฟังอาจจะยังไม่ค่อยเข้าใจ แต่ว่าเริ่มความเข้าใจขึ้นบ้างเล็กๆ น้อยๆ ก็จะเป็นการสะสม ฉะนั้นถ้าบุคคลได้พิจารณาก่อนจะมาฟังธรรม เห็นถึงความต่างกับที่เริ่มสะสมการฟังมา ซึ่งแต่ละท่านก็มีระยะเวลาต่างๆ กัน ดังนั้นการสะสมทีละเล็กทีละน้อย ไม่ใช่เฉพาะทางฝ่ายของกุศลเท่านั้น อกุศลที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันก็สะสมเหมือนกัน

    ผู้ฟัง การสะสมแล้วแต่บางคนก็ให้ง่ายก็คือทานุปนิสัย บางคนก็กายวาจาดี บางคนก็ชอบอบรมฟังธรรม กำลังศึกษาบารมีในชีวิตประจำวัน ในการที่จะอบรมเจริญปัญญาหรือว่ากุศล เพื่อที่จะให้พ้นทุกข์ ให้มีปัญญารู้ความจริง คือไม่สามารถเลือกสะสมอย่างใดอย่างหนึ่ง เดิมสะสมอะไรมา แต่ถ้าจะเพื่อให้รู้ความจริง จะต้องอบรมทุกอย่างคือทั้งทาน ศีล และภาวนา

    ท่านอาจารย์ ถ้ากล่าวถึงกุศลประเภทอื่นก็รวมอยู่ในภาวนา เพราะเหตุว่าทานได้กล่าวถึงแล้ว คือการสละสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่บุคคลอื่น เพราะว่าการสละไม่ง่าย ใช่ไหม ไม่ใช่ว่าจะสละหมด ก็ไม่ได้ใช่ไหม บ่อยมากก็ไม่ได้ ก็แล้วแต่ว่าสะสมมาที่จะสะสมต่อไป ตามอุปนิสัยที่ได้สะสมมา ถึงศีลกายวาจาก็เหมือนกัน ที่ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน วาจาสำคัญ คำพูดแต่ละคำก็ทำให้คนอื่นสบายใจหรือเสียใจได้ เพราะฉะนั้นเห็นประโยชน์ว่า ควรจะทำร้ายคนอื่นหรือควรที่จะทำให้คนอื่นไม่เดือดร้อนเพราะเรา ก็เป็นเรื่องของศีลซึ่งสังเกตได้ นอกจากนั้นกุศลอื่นทั้งหมดเป็นการอบรม เช่น เมตตา ไม่ใช่ว่ามีทานุปนิสัย มีสีลุปนิสัย แล้วอย่างอื่นไม่ต้องมี แต่แท้ที่จริงที่สำคัญที่สุดคือใจ โอกาสของทานก็ไม่ใช่ตลอดเวลา โอกาสของศีลก็ไม่ใช่ตลอดเวลาแต่จิตเป็นอกุศลบ่อยๆ โกรธบ่อยๆ โลภบ่อยๆ มานะสำคัญตนบ่อยๆ ริษยาบ่อยๆ ก็สารพัดที่จะเป็นอกุศลใช่ไหม ยึดถือว่าเจ็บนี้เป็นเรา แล้วเป็นอย่างไร

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ก็กล่าวว่าเหม็นเน่าดำอะไรประมาณนี้

    ท่านอาจารย์ ใช่ไหมหรือว่าของคนอื่นก็เป็นอย่างนั้น ของเราไม่ใช่ นี่ก็แสดงให้เห็นความเป็นปุถุชน ผู้หนาด้วยกิเลส เพราะฉะนั้นจากการฟัง ก็จะรู้ว่าไม่ดีเมื่อใดบ้าง เวลาที่ไม่เมตตา ให้อภัยได้ไหม ยังเก็บไว้ จนตาย แล้วชาติหน้าจะเป็นอย่างไร ต่อไปก็เป็นคนเช่นนั้น ก็เป็นสิ่งซึ่งละเอียดมาก แล้วแต่ละคนก็จะรู้จักตัวเอง ถ้าเป็นคนที่ตรง ก็จะรู้ว่าขณะนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ดี


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 194
    21 ก.พ. 2567

    ซีดีแนะนำ