พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 913


    ตอนที่ ๙๑๓

    ณ มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๗


    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์บรรยายว่า บางครั้งคนส่วนใหญ่ชอบพูดเรื่องไม่ดีของคนอื่น แม้ไม่ได้ถูกถาม แล้วก็ถ้าถูกถาม ก็จะพูดอย่างกว้างขวาง พูดมาก จะมีอีกสองนัยเกี่ยวกับว่าความดีของตัวเองที่ถูกถาม ถ้าเป็นสัตบุรุษก็จะไม่พูดมาก กลุ่มพวกนี้คือเป็นรายละเอียดของการพูดเพ้อเจ้อ ใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ทั้งหมดก็คือมาจากจิต แล้วแต่ว่าจิตขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล เพราะฉะนั้นไม่ว่าเรื่องใดๆ ทั้งสิ้น ถ้าขณะนั้นเป็นเรื่องซึ่งไม่ใช่เกิดเพราะกุศลจิต ก็เป็นเรื่องอื่น แต่ว่าเรื่องอื่นก็ยังแบ่งได้อีก ว่า เป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ที่สมควรไหม หรือเป็นเรื่องที่ไม่สมควร และไม่เป็นประโยชน์ เพราะฉะนั้น คำพูดใดที่ไม่สมควร และไม่เป็นประโยชน์ คำพูดนั้นคือเพ้อเจ้อ ภาษาบาลีก็ใช้คำว่า "สัมผัปปลาปวาจา" เพราะเกิดจากอกุศลจิต และไม่ใช่คำที่สมควรที่จะเป็นประโยชน์ด้วย

    ผู้ฟัง ซึ่งละได้ยากที่สุดในจำนวนวจีทุจริตทั้งหมด

    ท่านอาจารย์ เป็นเรื่องที่เราไม่ได้มุ่งไปที่จะละ แต่ต้องเข้าใจก่อน เพราะว่าธรรมคือสภาพที่มีจริงๆ ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไปเร็วมาก ไม่สามารถที่จะรู้แต่ละหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นเพราะปัจจัยแล้วก็ดับ จนกว่าจะได้ฟังพระธรรม แม้ฟังแล้วก็ยังยากที่จะวิเคราะห์ หรือว่าพิจารณาว่าคำไหนเป็นคำที่เพ้อเจ้อหรือไม่ เวลาที่ท่านพระสารีบุตรพบกับท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านทักทายปราศรัยกันหรือไม่

    ผู้ฟัง ทักทาย

    ท่านอาจารย์ เพ้อเจ้อหรือไม่

    ผู้ฟัง ท่านเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็จะไม่เพ้อเจ้อ

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าเป็นจิตที่เกิดจากกิริยาจิตที่ไม่มีกิเลสใดๆ เลยทั้งสิ้น แต่ทักทายเพื่ออะไร เพื่อที่จะได้รู้ด้วยความเมตตาด้วยความเป็นมิตรว่าสบายดีหรือ หรือมีอะไรที่ท่านสามารถที่จะสงเคราะห์อนุเคราะห์กันได้ ฉันใด คนที่ไม่ใช่พระอรหันต์ก็มีคำสนทนาปราศรัยระลึกถึงกันได้ แต่ว่าขณะนั้น ต้องเป็นผู้ที่ตรงว่าเป็นประโยชน์จริงๆ หรือว่าเป็นคำที่ไร้สาระ เพราะฉะนั้น ทั้งหมดก็อยู่ที่ว่าเราไม่ใช่คนที่จะต้องไปตัดสินว่า คำนี้เป็นคำชนิดไหนไร้สาระ หรือไม่ไร้สาระ แต่ตามความจริงก็คือสามารถที่จะเข้าใจในสภาพธรรมซึ่งไม่ใช่เรา แม้ว่าจะเป็นคนดีสักเท่าใด แต่ก็ไม่มีความเข้าใจว่าขณะนี้เป็นสิ่งที่ไม่ใช่เรา ขณะนั้นเหมือนไม่ได้ฟังพระธรรม เพราะเหตุว่าทรงแสดงไว้ว่าสิ่งที่มีจริง ไม่ใช่ของใคร ไม่ใช่ใคร เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้น เราฟังธรรมวันนี้ ก็คือเพื่อที่จะให้เริ่มค่อยๆ เข้าใจขึ้น แม้ทีละเล็กทีละน้อยในสิ่งที่มีจริงๆ ว่าเป็นธรรม คือสิ่งที่มีจริงซึ่งไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นในขณะที่พูด เห็นไหม ก็ต้องมีจิต แล้วก็มีสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาด้วย เห็นคนที่เรากำลังพูดด้วย ทั้งหมดเป็นธรรมซึ่งเกิดดับสืบต่อเหมือนไม่มีอะไรดับไปเลย เพราะฉะนั้น ก็ยังคงเป็นเรา แล้วก็เป็นเรื่องนั้นเรื่องนี้ จนกว่าความเข้าใจธรรมจะเพิ่มขึ้น

    เพราะฉะนั้น เราทราบว่าการพูดมีหลายลักษณะใช่ไหม พูดจริง พูดคำที่เป็นประโยชน์ พูดคำที่น่าฟัง หรือว่าพูดคำที่ไม่มีประโยชน์เลย เพราะฉะนั้นการที่มีการได้เข้าใจความจริง ก็จะทำให้เราเริ่มรู้ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ควรพูด และสิ่งใดไม่เป็นประโยชน์ นั่งเฉยๆ เกิดมาก็ไม่พูด แล้วจะรู้เรื่องได้อย่างไร ใช่ไหม เพราะฉะนั้นในพระวินัยก็ยังต้องมีบอกเรื่องของการพูดด้วย ว่าไม่ใช่ประพฤติอย่างโค ไม่พูดใช่ไหม เพราะฉะนั้น เมื่อภิกษุอยู่ด้วยกันจะเป็นอย่างไร ทั้งหมดต้องด้วยปัญญา ไม่ใช่ด้วยความไม่รู้ นึกเอาเองว่าคงจะดีก็จะทำอย่างนั้น เพราะฉะนั้น บางคนก็ปิดปากเงียบสนิทไม่พูดเลย แล้วจะเข้าใจอะไรได้ นี่ก็เป็นเรื่องของความละเอียด เพราะฉะนั้นทั้งหมดขึ้นอยู่กับปัญญา

    อ.อรรณพ อาจารย์วิชัยจะกล่าวบื้องต้นในความเข้าใจสภาพธรรมที่เป็นพื้นฐานของตัวธรรมที่เกี่ยวกับกรรม กิเลส วิบาก ว่าคืออะไร

    อ.วิชัย เริ่มต้นทุกครั้ง ก็ให้รู้จักธรรมว่าสิ่งที่มีจริงๆ ที่เกิดขึ้น ก็ไม่ใช่เพียงอย่างเดียวใช่ไหม ก็มีหลากหลาย แต่ที่จะรู้ได้ก็ต้องเป็นผู้ที่มีปัญญา และผู้ที่มีปัญญาสูงสุดคือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่จะแสดงถึงว่า กรรมคืออะไร กิเลสธรรมที่เศร้าหมองคืออะไร วิบากธรรมที่เป็นผลอันสุกงอมแล้ว อะไร ซึ่งธรรมเหล่านี้เมื่อเกิดก็ต้องมีปัจจัยที่จะให้ธรรมเหล่านี้เกิดขึ้นเป็นไป

    กรรมได้แก่ เจตนา ความจงใจ ความขวนขวายในการที่จะกระทำกิจ โดยสภาพของเจตนาขณะนี้ก็เกิดแล้ว แต่การเพียงฟังธรรมก็เพียงเข้าใจเท่านั้น เพราะเหตุว่าเจตนาแม้ขณะนี้ก็ไม่ปรากฎ บางท่านอาจจะพิจารณาได้ มีความตั้งใจ มีการจงใจที่จะกระทำกุศล ไม่ว่าจะเป็นทานกุศล หรือการมาฟังพระธรรมก็ต้องมีเจตนาเจตสิก แต่ว่าเจตนาเกิดแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว แต่ว่าการเกิดขึ้นของเจตนาไม่ใช่มีเฉพาะเจตนาที่เกิดขึ้น เพราะเจตนาเป็นธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งก็ทรงแสดงลักษณะเอาไว้ว่าเป็นลักษณะที่จงใจ ดังนั้น เมื่อเจตนาเกิด เกิดแล้วก็มีธรรมที่เกิดร่วมกับเจตนา และต้องมีจิตด้วย โดยฐานะที่จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ ธรรมที่เป็นธาตุรู้สภาพรู้ขณะนี้เกิดขึ้น เมื่อเกิดขึ้นการเกิดขึ้นของจิต มีธรรมที่เกิดร่วมกันกับจิตนั้น เจตนาเจตสิกเป็นธรรมอย่างหนึ่งที่เกิดร่วมกันกับจิตในขณะนั้น นอกจากเจตนาแล้วก็ยังมีธรรมอย่างอื่นอีก มีเวทนาความรู้สึก มีสัญญาความจำ ซึ่งก็ต้องเป็นรายละเอียดต่อไป

    ขณะที่เป็นเจตนา คือ ความจงใจ ซึ่งเจตนาเมื่อเกิดแล้วก็คือกระทำกับกุศลกรรมก็คือกุศลเจตนาที่เกิดขึ้น หรืออกุศลกรรมก็ได้แก่อกุศลเจตนาที่เกิดขึ้น ขณะนี้เป็นกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม ฟังธรรม เข้าใจ ฟังแล้ว ไม่ได้เดือดร้อนใจใช่ไหม ต่างกับขณะที่เป็นอกุศล เช่น ขณะที่จงใจที่จะฆ่าที่เป็นปาณาติบาต หรืออทินนาทาน ลักทรัพย์ ขณะนั้นเป็นไปมีเจตนาจริงๆ แต่เป็นไปกับอกุศลจิต เจตนาก็เป็นอกุศลเจตนาด้วย ในขณะนั้นก็ต่างกัน

    ดังนั้นแต่ละขณะ เจตนาก็เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย แต่เจตนาที่จะให้ผลได้ในภายหลัง ก็ทรงแสดงไว้ว่าเป็นกุศลเจตนาหรืออกุศลเจตนาที่มีการกระทำประพฤติทุจริตต่างๆ ซึ่งเจตนานั้นสามารถจะมีกำลัง ไม่ว่าจะเป็นกุศลเจตนาก็ตาม หรืออกุศลเจตนาก็ตาม ให้ผลได้ในภายหลัง ดังนั้นเราคิดว่าบุคคลนั้นกระทำทุจริตต่างๆ เช่น ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม กล่าววจีทุจริตที่มีโทษต่างๆ บุคคลแม้กระทำลงไปแล้วแม้ตัวเราเองกระทำกรรมนั้นไปแล้ว กรรมนั้นสามารถที่จะให้ผลได้ในภายหลัง แต่ขึ้นอยู่กับกาละ และโอกาสว่ากรรมนั้นจะถึงกาลที่จะให้ผลเมื่อใด ที่กล่าววมานี้ก็คือเป็นเรื่องของเจตนาที่เป็นกรรม

    ส่วนกิเลสคือธรรมที่เศร้าหมอง ก็พอที่จะพิจารณาได้ วันๆ หนึ่งมีอะไรที่เกิดที่เป็นเหตุให้เศร้าหมองบ้าง โลภะความติดข้องเศร้าหมองหรือไม่ในขณะนั้น โทสะหรือโมหะ ธรรมเหล่านี้เป็นธรรมที่เป็นมูลของอกุศล เป็นมูลราก ส่วนวิบากเป็นนามธรรมเราคงทราบว่ากรรมเมื่อให้ผลเป็นได้ทั้งนามธรรม และรูปธรรม แต่วิบากเป็นนามธรรมที่เป็นผลของกรรม ขณะนี้มีวิบากหรือไม่ มี "เห็น" เป็นชาติวิบากเป็นผลของกรรม "ได้ยิน" ก็เป็นชาติวิบากเป็นผลของกรรม ดังนั้นวิบากจริงๆ ไม่ใช่เพียงเท่านี้ แต่มีวิบากตั้งแต่มาสู่ความเป็นบุคคลนี้เลย เกิดเป็นมนุษย์ ขณะที่เกิดต้องมีธรรมที่เกิดใช่ไหม ดังนั้น ธรรมที่เกิดขณะแรกเป็นจิตที่เป็นผลของกรรมซึ่งเป็นชาติวิบาก ไม่ใช่เฉพาะจิตอย่างเดียว แต่มีรูปด้ว ยซึ่งเป็นผลของกรรม แต่รูปนั้นไม่เป็นวิบาก เฉพาะนามธรรมที่เป็นจิต และเจตสิก เท่านั้นที่เป็นวิบาก เป็นผลของกรรม

    อ.อรรณพ กราบเรียนท่านอาจารย์ครับ ในชีวิตประจำวันของเรา แต่ละภพแต่ละชาติหรือในชาติปัจจุบัน เป็นไปด้วยกิเลส กรรม วิบากอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เข้าใจว่าเราพูดเรื่องฟังธรรมไม่เข้าใจเพราะมีเครื่องกั้นใช่ไหม เพราะฉะนั้นต้องไม่ลืม กำลังพูดถึงการฟังธรรมซึ่งทำให้ไม่สามารถจะเข้าใจได้เพราะมีเครื่องกั้น แสดงความเป็นอนัตตาแล้วว่าไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา ไม่มีใครอยากไม่เข้าใจ แต่ทำไมทั้งๆ ที่ฟังธรรมแล้วไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้นถ้าไม่เข้าใจจริงๆ เราก็จะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ แต่การที่เราจะเข้าใจขึ้นในเหตุผล แม้แต่ขณะนี้กำลังฟังธรรม เพราะฉะนั้นแต่ละคนเป็นคนตรง เข้าใจไหม ที่ได้ยินมาแล้ว ถ้าเข้าใจมีเครื่องกั้น หรือไม่ เข้าใจทุกคำหรือไม่ เข้าใจทั้งหมดหรือไม่ เพราะอะไร เห็นไหม ในเมื่อ มีความจงใจมีเจตนา มีความตั้งใจ มีกุศลจิตที่จะได้ฟังสิ่งซึ่งเป็นความจริงซึ่งไม่เข้าใจ แต่ครั้นมาแล้วได้ฟังแล้วไม่เข้าใจเพราะอะไร ถ้าไม่เข้าใจอย่างนี้ก็จะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ แต่ถ้ามีความเข้าใจเราก็สามารถที่จะรู้เหตุที่ทำให้ไม่เข้าใจ กรรมทำให้เราเกิดมาต่างๆ กัน มีโอกาสได้ฟังธรรม มีโสตปสาท แล้วก็มีเสียง ซึ่งทำให้สามารถจะรู้ความหมายนั้นๆ แล้วก็เข้าใจสิ่งที่กำลังมี นี่แสดงให้เห็นว่าเป็นผลของกรรมดีไหม ไม่ได้ไปฟังเสียงอื่น แต่ก็ยังได้ยินเสียงซึ่งสามารถที่จะทำให้เข้าใจสิ่งที่กำลังมีจริงๆ ในขณะนี้ได้ แต่เพียงไม่มีโสตปสาท มีความตั้งใจอยากจะได้เข้าใจก็ไม่รู้ เพราะเหตุว่าไม่ได้ยินเลย

    เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่าทุกท่านที่กำลังได้ฟังธรรม เป็นกุศลที่ทำให้วิบากผลของการที่จะได้ยินได้ฟังธรรมเกิดขึ้นในขณะนี้ เพราะฉะนั้นกรรมไม่ได้เป็นเครื่องกั้น เพราะเป็นกรรมดีที่ทำให้มีโอกาสได้ยินได้ฟังธรรม มีวิบากที่ดีด้วยคือยังมีโสตปสาทเกิดดับ ยังเกิดอยู่ดับอยู่ตามเหตุตามปัจจัยที่จะประจวบหรือกระทบกับเสียง ซึ่งกระทบกับโสตปสาทในขณะนี้เป็นจริงอย่างนั้น ฟังธรรมเพื่อให้เข้าใจธรรมว่าเป็นธรรม แม้ในขณะที่กำลังฟัง นี่คือให้เข้าใจใช่ไหม ฟังให้เข้าใจว่าไม่ใช่เรา แต่ว่าเป็นธรรม เพราะฉะนั้นต้องไม่ลืมเลย ฟังธรรมเพื่อเข้าใจสิ่งที่มีจริงซึ่งเป็นธรรม เพราะฉะนั้นแม้แต่เพียงที่จะพูดว่า ขณะนี้มีโสตปสาทรูป มีหูซึ่งได้กระทบกับเสียงเป็นปัจจัยให้จิตได้ยินซึ่งเป็นผลของกุศลกรรมเกิดขึ้น จิตที่ได้ยินเป็นวิบาก ถ้ากุศลกรรมไม่มีไม่มีทางที่จะได้ยินเสียง ที่จะทำให้รู้ว่าสิ่งนั้นหมายความถึงสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า มีกุศลกรรมที่ทำให้ได้ยินได้ฟังเสียงซึ่งสามารถที่จะทำให้เข้าใจสิ่งที่กำลังมีจริงในขณะนี้ แล้วก็เข้าใจหรือไม่ ก็ยังต้องมีเหตุอื่นด้วยใช่ไหม แม้ว่ามีโสตปสาท แล้วก็มีเสียงให้รู้ว่าไม่ใช่เรา แต่ว่าเป็นชั่วขณะที่เกิดขึ้นได้ยิน

    เคยได้ยินคำว่า ณ กาลครั้งหนึ่งใช่ไหม เดี๋ยวนี้เป็น ณ กาลครั้งหนึ่ง แต่ว่าหนึ่งขณะที่เกิดขึ้นเป็น ณ กาลครั้งหนึ่ง ละเอียดกว่านั้น เพราะเหตุว่าเรารู้สึกเหมือนกับว่า ณ กาลครั้งหนึ่ง อีก ๒,๐๐๐ ปีแน่นอน นี่คือ ณ กาลครั้งหนึ่งในสังสารวัฏ มีโอกาสจะได้ฟังพระธรรม แต่ถ้ามีความเข้าใจจริงๆ ในความละเอียดในความลึกซึ้งขึ้นอีกของธรรม ชั่วขณะที่ได้ยินเป็น ณ กาลครั้งหนึ่ง เพราะฉะนั้น ณ กาลครั้งหนึ่ง ละเอียดมาก ถ้าขณะนี้ไม่ได้ยินก็ไม่ใช่กาลของการได้ยินที่จะเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง แต่ว่าในขณะใดก็ตามที่มีการได้ยินเสียงกระทบทั้งสองอย่าง ก็เป็นชั่ว ณ กาลครั้งหนึ่ง เพราะฉะนั้น วันนี้หรือตลอดเวลาก็มีแต่เพียง ณ กาลครั้งหนึ่ง ซึ่งสภาพธรรมเกิดขึ้นเป็นอย่างนี้แล้วก็ดับไป เข้าใจไหม เห็นไหม ฟังธรรมเพื่อเข้าใจสิ่งที่ได้ฟัง ก็รู้ว่าไม่มีเครื่องกั้นคือกรรมไม่ได้กั้น มีโสตปสาท มีเสียงกระทบ มีการได้ยินแล้วยังมีการสะสมที่เคยฟังมาแล้ว ทำให้สามารถจะเข้าใจว่าขณะนี้ไม่มีใครเลย เริ่มรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ได้ยิน ในขณะได้ยินไม่มีอะไรเลย นอกจากธาตุที่กำลังมีเสียง ขณะนั้นกำลังรู้เสียง เราไม่มี แขนขาไม่มี ตัวตนไม่มีเลย เพราะฉะนั้น กว่าเราจะเข้าใจอย่างนี้ได้ เราก็ต้องรู้ว่าจากการที่เคยได้เข้าใจมาแล้วในอดีต ฟังมาแล้วในอดีต มีโอกาสที่กรรมไม่ได้กั้น มีเจตนา มีความศรัทธาที่เกิดขึ้นเพราะเคยได้ฟังแล้ว ทำให้สามารถได้ยินได้ฟังเพราะเป็นผลของกุศลกรรม และการสะสมที่ผ่านมาแล้วก็ยังทำให้สามารถเข้าใจในสิ่งที่ได้ฟังเพิ่มขึ้น เพื่อที่วันหนึ่งจะรู้จริงๆ ว่าขณะนั้นไม่มีอะไร ตรงกับที่ทรงแสดงไว้ว่า ไม่มีอะไรเลยนอกจากธรรมที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับ นี่คือไม่มีเครื่องกั้น แต่ขณะไหนที่ไม่เข้าใจก็มีใช่ไหม กำลังฟังไม่ใช่เข้าใจไปตลอดหมด รู้ไหมว่าอะไรเป็นเครื่องกั้น จึงได้ทรงแสดงให้รู้ว่าแม้ในขณะที่ได้ยินได้ฟังธรรมแล้วก็ยังไม่เข้าใจ เพราะอะไร ตอบได้ไหมว่าเพราะอะไร

    อ.อรรณพ เครื่องกั้นคือกรรม

    ท่านอาจารย์ กรรมเป็นเครื่องกั้น ใครรู้กรรมในอดีตบ้าง

    อ.อรรณพ ไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ เคยฆ่าพ่อฆ่าแม่มาหรือไม่

    อ.อรรณพ ในอดีต

    ท่านอาจารย์ แน่นอน

    อ.อรรณพ พระโมคคัลลานะยังเคยเลย

    ท่านอาจารย์ เราไม่สามารถที่จะรู้กรรมใช่ไหม ว่าได้กระทำกรรมที่เป็นเครื่องกั้น หรือไม่ เพราะฉะนั้น คำนี้ไม่ได้หมายความว่าไม่ทำให้เข้าใจธรรม แต่หมายความว่าไม่สามารถบรรลุถึงการรู้แจ้งอริยสัจธรรม เพราะฉะนั้นต้องละเอียดมากที่จะฟังว่าในอดีตใครเคยทำอะไรมาแล้ว ใครจะรู้ในแสนโกฏิกัปป์ ฆ่าพระอรหันต์ ฆ่ามารดาบิดา ทำโลหิตของพระผู้มีพระภาคให้ห้อ หรืออะไรก็แล้วแต่ นั่นคือกรรม คือการกระทำจากธาตุซึ่งเป็นเจตนาซึ่งเกิดขึ้นเป็นไป ไม่มีสัตว์ไม่มีบุคคลไม่มีตัวตน แม้ฟังเรื่อยอย่างนี้ก็ต้องรู้ว่าเป็นเรื่องของธรรมทั้งหมดที่เกิดแล้วในอดีต ไม่สามารถที่จะ เปลี่ยนแปลงให้เป็นอย่างอื่นได้เพราะว่าการกระทำนั้นได้สำเร็จลงไป แต่ว่าในขณะนี้มีโอกาสได้ฟัง เพราะฉะนั้นไม่บรรลุเพราะอะไร ยังไม่ถึงบรรลุ ยังไม่ถึงการรู้แจ้งสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แม้เพียงเข้าใจ ฟังเข้าใจ หรือไม่เข้าใจก็ต้องมีเหตุด้วย

    อ.อรรณพ "ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ แม้ฟังสัทธรรมอยู่ ก็เป็นผู้ไม่ควรเพื่อก้าวลงสู่ความแน่นอน ความเป็นชอบในกุศลธรรมทั้งหลาย ธรรม ๖ ประการเป็นไฉน"

    ท่านอาจารย์ เห็นไหม ว่าเป็นเครื่องกั้นไม่ให้ก้าวลงสู่การที่จะรู้อริยสัจธรรมอย่างแน่นอน ก็ฟังได้ เช่น พระเจ้าอาชาตศัตรูก็ฟังได้ แต่ชาตินั้นไม่บรรลุ แม้แต่การฟัง พระเจ้าอชาตศัตรูฟังนานแล้วสองพันห้าร้อยกว่าปี เราอยู่ที่ไหน เคยฟังมาบ้าง อย่างไร ก็นานแล้ว เกิดอีก เพราะว่าไม่ได้กล่าวถึงว่าเป็นใคร อยู่ที่ไหน อย่างไร ความเข้าใจมีได้ แต่สามารถจะบรรลุธรรมคือรู้แจ้งอริยสัจธรรมถึงความหยั่งลงอย่างแน่นอนที่จะเป็นผู้รู้แจ้งได้ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

    เพราะฉะนั้น แม้แต่การที่ว่ายังไม่ถึงตอนนั้น เพียงแค่ฟัง เพียงแค่ฟังเดี๋ยวนี้เข้าใจหรือไม่เข้าใจต้องเป็นผู้ตรง ธรรมถ้าไม่ตรงไม่ได้สาระ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมตรงอย่างนั้น ถ้าไม่ตรงต่อธรรมก็จะไม่สามารถเข้าใจความจริงของธรรมได้ เพราะฉะนั้นถ้าขณะนี้ไม่เข้าใจ หรือฟังแล้วไม่เข้าใจก็ควรจะรู้ด้วยว่าเพราะอะไร ดังนั้น ถ้าไม่เข้าใจก็ไม่มีการรู้แจ้งอริยสัจธรรมแน่นอน

    อ.อรรณพ มีข้อความว่า "ธรรม ๖ ประการ เป็นผู้ประกอบด้วยความเป็นผู้มีกรรมเป็นเครื่องกั้น ๑ " ในอรรถกถาหมายถึง อนันตริยกรรมทั้ง ๕ ประการ เป็นกรรมที่เป็นเครื่องกั้นไม่ให้แม้ฟังสัทธรรมอยู่ ก็ไม่สามารถที่จะก้าวลงสู่ความแน่นอน หรือความเป็นชอบในกุศลธรรมทั้งหลายได้ นี่เป็นประการแรกในเรื่องของกรรม กั้นไม่ให้มีการบรรลุนั่นเอง ก็เป็นที่น่ากลัวว่า เช่น พระเจ้าอชาตศัตรู สะสมทั้งส่วนดีมาด้วย และน่าจะสะสมมาก็ไม่น้อยเลย ถึงขนาดที่สามารถที่จะบรรลุเป็นพระโสดาบันได้ แต่เนื่องจากกิเลสอกุศลแล้วก็มีปัจจัย

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น อย่าทำ เท่านั้นเอง ฟังธรรมเพื่ออะไร เพื่อเข้าใจสาระของการที่ทรงแสดง ไม่ใช่ว่าเราจะไปคิดถึงว่าแล้วพระเจ้าอชาตศัตรูคิดอย่างไร ทำอะไรไว้มาก หรืออะไร แต่แสดงให้เห็นว่าจริงๆ ก็คือว่าถ้าเข้าใจแล้วก็อย่าทำ

    อ.อรรณพ อนันตริยกรรม ยังมีอีก ๒ ประการ คือ ฆ่าพ่อฆ่าแม่

    ท่านอาจารย์ ห้ามก็ไม่ได้เพราะไม่รู้ ไม่ฟังไม่เข้าใจก็ฆ่า แต่ถ้ารู้ และเข้าใจ ต้องรู้ว่าฆ่าเพราะอะไร เพราะไม่รู้ จะห้ามใครไม่ให้ฆ่าได้ไหม เมื่อเขาไม่รู้ แต่จะไม่ฆ่าต่อเมื่อรู้

    อ.อรรณพ จะรู้ได้ก็คือต้องอาศัยพระธรรม ที่ได้ฟังที่ได้เป็นประโยชน์

    ท่านอาจารย์ ฟังพระธรมเพื่อเข้าใจ ต้องไม่ลืม

    อ.อรรณพ "ข้อที่ ๒ ประกอบด้วยความเป็นผู้มีกิเลสเป็นเครื่องกั้น"

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าพ้นแล้วจากกรรมที่เป็นเครื่องกั้น แล้วก็กำลังได้ฟังด้วย แล้วทำไมไม่เข้าใจ เพราะอะไร ฟังแล้ว กำลังฟัง คิดเรื่องอื่น กิเลสหรือเปล่า ที่พาไปให้คิดเรื่องอื่น แทนที่จะข้อนี้ว่าอย่างนี้เรื่องนี้ความจริงเป็นอย่างนี้ ก็ไตร่ตรองให้เข้าใจในสิ่งที่ได้ฟังด้วยความมั่นคงว่าเป็นธรรม ไม่ว่าจะฟังเรื่องอะไรก็ตาม เรื่องอนันตริยกรรม เรื่องวิบาก เรื่องอะไรทั้งหมด ก็คือให้เข้าใจให้ถูกต้องว่าเป็นธรรม แต่ไม่ได้ฟังอย่างนี้ ฟังแล้วกิเลสก็พาไป คิดเรื่องนั้นคิดเรื่องนี้ ทำไมเป็นอย่างนี้ ทำไมเป็นอย่างนั้น แล้วจะเข้าใจสิ่งที่กำลังได้ยินหรือเปล่า

    เพราะฉะนั้นให้ทราบว่า ขณะใดก็ตามที่ฟัง กำลังฟังแล้วไม่เข้าใจ รู้ได้เลย ไม่ใช่กรรมเป็นเครื่องกั้น ไม่ใช่วิบากเป็นเครื่องกั้น แต่กิเลสนั่นเองเป็นเครื่องกั้น ฟังแล้วถามว่าแล้วเมื่อใดจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม อะไรเป็นเครื่องกั้น


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 194
    21 ก.พ. 2567

    ซีดีแนะนำ