พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 488


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๔๘๘

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๑


    อ.วิชัย ความรู้ความเข้าใจ เป็นความมั่นคงในเรื่องของสิ่งที่เข้าใจแล้วว่า เป็นอย่างอื่นไม่ได้ คือ ต้องมีการฟัง ไตร่ตรอง พิจารณา ซึ่งต่างจากการฟังครั้งแรกๆ ก็เข้าใจอย่างนี้ แต่เมื่อปัญญาเจริญขึ้น มีความมั่นคงที่จะรู้ถึงความเป็นอนัตตาที่ต้องเป็นอย่างนี้ มีความต่างกันกับเพียงแค่กล่าวว่า ต้องฟัง ต้องพิจารณา ต้องไตร่ตรอง

    ท่านอาจารย์ แล้วก็รู้ความต่างกันด้วยว่า ขณะที่ฟัง กำลังเข้าใจเรื่องราวของสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่ขณะที่มีความเข้าใจยิ่งขึ้นโดยที่สติสัมปชัญญะเกิด นี่คือการเจริญขึ้นของปัญญา แม้เพียงทีละเล็กทีละน้อย เพราะเหตุว่าเมื่อสติสัมปชัญญะเกิดโดยความเป็นอนัตตา นี่แน่นอน สภาพธรรมก็เหมือนเดิม ไม่มีใครสามารถไปทำสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดให้เกิดได้ แม้สติ

    ขณะใดที่สติเกิด ขณะนั้นก็รู้ได้ว่า ลักษณะของสติกำลังรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ซึ่งก่อนนั้นไม่ใช่การรู้โดยสติ ปัญญาก็จะเริ่มเข้าใจขณะที่มีสติเพราะเกิดขึ้น และกำลังรู้ลักษณะของสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏตามปกติ กับขณะที่หลงลืมสติเป็นปกติ โดยไม่มีใครจงใจ ไม่มีใครบังคับ

    นั่นคือการเริ่มที่จะเข้าใจขึ้นอีกว่า แม้แต่สติสัมปชัญญะก็เป็นอนัตตา ไม่มีใครที่สามารถบังคับบัญชาได้ และเมื่อสติสัมปชัญญะเกิด กำลังรู้ลักษณะหนึ่งลักษณะใดที่เป็นปกติในขณะนี้เอง แต่ละขณะ คือในขณะนี้ ขณะนี้ ไม่ใช่ขณะอื่น ต้องเป็นขณะที่กำลังปรากฏ ปัญญาก็จะรู้ตามความเป็นจริงว่า ยังไม่ได้มีความเห็นถูกแจ้งชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่สติเกิด แต่ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิด ที่จะให้รู้ในลักษณะนั้นยิ่งขึ้น เป็นไปไม่ได้

    ด้วยเหตุนี้จึงรู้ได้ว่า ปัญญาขั้นฟัง แม้มีสติในขณะที่เข้าใจ ก็ไม่ใช่การศึกษาที่เป็นศีลสิกขา จิตสิกขา ปัญญาสิกขา พร้อมทั้ง ๓ ในขณะที่กำลังมีลักษณะของสภาพธรรมที่สติกำลังรู้ แล้วปัญญาก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    แม้แต่การค่อยๆ เข้าใจขึ้น ปัญญาต้องเป็นปัญญา คือ รู้ตามความเป็นจริง ไม่ใช่แม้ขณะที่เริ่มเข้าใจ ก็ไม่รู้ว่า กำลังเริ่มเข้าใจ ถ้าเป็นในลักษณะนั้นก็ไม่ใช่ปัญญาแน่นอน แต่ในขณะนี้เอง ถ้าจะมีการรู้ลักษณะของสภาพธรรมโดยสติเกิด ขณะนั้นก็มีปัญญาที่รู้ว่า ขณะนั้นไม่ใช่ขณะที่สติสัมปชัญญะไม่เกิด เพราะถึงสติสัมปชัญญะไม่เกิด

    ก็เห็น ก็ได้ยิน ก็คิดนึก แล้วก็หมดไปอย่างรวดเร็ว แต่เวลาที่สติสัมปชัญญะเกิด แสดงไว้ว่า อารมณ์ปรากฏด้วยดี เพราะสติเป็นสภาพที่ระลึกรู้ ใช้คำว่า “ระลึก” หรือใช้คำว่า “ตามรู้” ก็คือว่า ไม่ได้ไปรู้อื่นจากสภาพธรรมที่เกิดแล้วปรากฏ ตามอะไร ตามสิ่งที่มีแล้วในขณะนั้น ไม่ใช่ไปสู่สิ่งอื่น ด้วยเหตุนี้ถ้าเข้าใจธรรมก็สามารถที่จะเข้าใจพยัญชนะหลากหลายในพระไตรปิฎกได้ ไม่ว่าจะทรงแสดงว่า สติเป็นสภาพที่ระลึก ก็ไม่ใช่เป็นการระลึกอย่างที่เราเคยเข้าใจว่า ระลึก คือนึกเรื่องนั้นเรื่องนี้ แล้วก็ระลึกยาวๆ ระลึกถึงอดีตบ้าง อะไรบ้าง แต่ระลึกขณะนั้นก็คือไม่ใช่สภาพที่ลืมว่า เป็นธรรม ขณะที่สิ่งนั้นกำลังปรากฏ

    ถ้าเป็นปัญญา ที่จะกล่าวว่า ไม่รู้ เป็นไปไม่ได้ แล้วรู้ตรงตามความเป็นจริงด้วยว่า ขณะนั้นเป็นสติที่เพิ่งเกิด และกำลังรู้ลักษณะของสภาพธรรม โดยที่ปัญญายังไม่ได้รู้ชัด และรู้ด้วยว่า ขณะใดที่สติสัมปชัญญะไม่เกิด ไม่สามารถรู้ชัด เข้าใจถูกต้องในลักษณะนั้นได้โดยการประจักษ์แจ้ง

    อ.วิชัย โดยลักษณะของสติเป็นสภาพที่ระลึกได้ แต่เมื่อ มีการเกิดขึ้นพร้อมกันของสภาพธรรมหลายๆ อย่าง ที่อาจารย์กล่าวว่า สติไม่หลงลืมธรรม หมายความว่า ต้องมีปัญญาเข้าใจในลักษณะนั้นด้วยหรือไม่

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ถ้าไม่มีปริยัติ จะไม่มีปฏิบัติ ถ้าไม่มีการฟังให้เข้าใจว่า ขณะนี้เป็นธรรม สติสัมปชัญญะจะเกิดได้อย่างไร จะไปรู้อะไร พระธรรม คือทั้งปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ และต้องเกิดตามลำดับด้วย

    อ.วิชัย เรื่องความรู้ความเข้าใจ หมายถึง เป็นผู้นำให้เข้าใจหนทางอบรมเจริญความรู้ที่ยิ่งขึ้นไปอีก

    ท่านอาจารย์ ที่เราศึกษาไปสูตรหนึ่ง เรื่อง ฉันทะเป็นมูล ชีวิตประจำวันของทุกคนต่างๆ กันไปตามฉันทะ ความพอใจที่ได้สะสมมา บางคนชอบช่วยเหลือคนอื่น บางคนชอบสอน แล้วแต่อัธยาศัย วันนี้ใครไปไหน ใครคิดทำอะไร จะพ้นจากฉันทะที่เป็นมูลที่จะให้เกิดขึ้นเป็นไปอย่างนั้นได้หรือไม่

    นี่คือการทบทวนพระสูตรที่กล่าวถึงแล้ว ลืมไปหรือยังก็ไม่ทราบ แต่ก็ฟังแล้วฟังอีกได้ เพราะธรรมก็เป็นจริง ต่างคนที่เราบอกว่า นานาฉันทะ นานาจิตตัง เหมือนกันไม่ได้เลย บางคนชอบเรียนวิชาดนตรี บางคนชอบทำอาหาร นี่ก็ตามฉันทะที่เป็นมูลที่ทำให้ชีวิตเป็นไปในวันหนึ่งๆ แต่ไม่ว่าจะสะสมมาอย่างไร กำลังนอนหลับสนิท จะมีการสืบต่อเป็นไปของการสะสมนั้นๆ ได้หรือไม่

    อ.วิชัย ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ จึงมีวิถีแรกเป็นแดนเกิด ที่จะให้สิ่งต่างๆ ที่สะสมมาสามารถเกิดขึ้นเป็นไป ถ้านอนหลับสนิท ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึกเลย ก็ไม่รู้อะไรทั้งสิ้น หลับสนิท เป็นใครอยู่ที่ไหน ก็ไม่รู้ แม้ว่าสะสมมา อะไรเป็นแดนเกิด วิถีจิตแรกซึ่งไม่ใช่ภวังค์ เป็นแดนเกิดที่จะให้สิ่งที่สะสมมาเป็นไป แต่ต้องโดยผัสสะเป็นสมุทัย

    นี่คือการทรงแสดงธรรมโดยละเอียด เพราะที่จะกล่าวถึงปัญญา ก่อนที่จะมีปัญญาเจริญขึ้นได้ ก็จะต้องมีการสะสมมา และชีวิตตามความเป็นจริงก็เป็นอย่างนี้เอง เวลานี้เห็น เพราะอะไร ผัสสะกระทบสิ่งที่ปรากฏทางตา มีความเป็นไปทางตามากมายหรือไม่ คนนี้อยู่ตรงนี้ กำลังนั่งอย่างนี้ กำลังทำอะไรอย่างนี้ เดี๋ยวคนนี้ลุกไป ก็เป็นเรื่องของสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ก็จะเห็นได้ว่า ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งเป็น วิถีปฏิปาทกมนสิการ คือ ปัญจทวาราวัชชนะ และเป็นอารัมมณปฏิปาทกมนสิการ คือสภาพของเจตสิกซึ่งใส่ใจในสิ่งที่ปรากฏเป็นอารมณ์ แล้วก็ชวนปฏิปาทกมนสิการ จะเป็นกุศลหรืออกุศล บังคับไม่ได้เลย เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ขณะที่นอนหลับสนิท วิถีจิตไม่เกิด ไม่มีการแสดงออกของการสะสมของฉันทะ แต่พอถึงเวลาที่มีการเห็น การได้ยิน เหล่านี้ เพราะมนสิการ ซึ่งหมายความถึง วิถีจิตแรกเป็นแดนเกิดของธรรมทั้งหลาย ที่จะทำให้แม้กุศลจิต และอกุศลจิตก็เกิด

    แต่ทั้งหมดนี้ประชุมลงที่เวทนา ความรู้สึก ทุกคนสำคัญมาก เจ็บเหลือเกิน คิดดูว่าอะไรประมวลมา สุขเหลือเกิน อะไรประมวลมา ธรรมที่เกิดในขณะนั้นทั้งหมดประชุมลงที่เวทนา ความรู้สึกในขณะนั้น ทำให้มีความรู้สึกสบาย หรือทุกข์ หรือดีใจ หรือเสียใจ ทั้งหมดต้องมีเจตสิกอื่นๆ ซึ่งเกิดร่วมกันขณะนั้น แล้วก็ประชุมลงที่ความรู้สึก ต่อไปเป็นอะไร คุณกุลวิไลจำได้ใช่ไหม

    อ.กุลวิไล ไม่แน่ใจว่า สมาธิเป็นประมุขหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ สมาธิ คือสภาพที่มีอารมณ์เดียว ตั้งมั่นในอารมณ์หนึ่ง จิต ๑ ขณะจะรู้อารมณ์ ๒ อย่างไม่ได้ เพราะ เอกัคคตาเจตสิกตั้งมั่นในอารมณ์เดียว ที่จิตกำลังรู้ ในขณะนั้นต่อไปก็จะรู้ว่า เวลาที่มีความตั้งมั่นด้วยสติ และปัญญา ลักษณะของความตั้งมั่นนั้น มีกำลังที่จะปรากฏให้เห็นว่า มีอารมณ์หนึ่ง ไม่ใช่ไปรู้อารมณ์อื่น หรือไปรู้แจ้งในอารมณ์อื่น ก็ไม่ได้ แต่ลักษณะของสมาธิจะปรากฏให้เห็นถึงความตั้งมั่นพร้อมด้วยสติ และปัญญาในขณะนั้น ต่อไปคือ

    อ.กุลวิไล สติเป็นอธิบดี

    ท่านอาจารย์ เห็นหรือไม่ สติเป็นใหญ่ในภาษาไทย แต่ภาษาบาลี ก็ใช้คำว่า เป็นอธิบดี จริงหรือไม่ ในทางฝ่ายกุศลเท่านั้น เพราะสติจะไม่เกิดกับอกุศลเลย ถ้าเพียงสติไม่เกิดระลึกเป็นไปในกุศล กุศลใดๆ จะเป็นไปได้ไหม ความเป็นใหญ่ของสติตั้งแต่ขั้นฟัง หรือขั้นทาน ขั้นศีล ขั้นอบรมความสงบของจิต เวลาที่อกุศลจิตเกิด โทสะ หรือโลภะ ก็ยังมีสติที่จะระลึกได้รู้ว่า ขณะนั้นเป็นสิ่งที่เป็นอกุศล แต่การที่จะรู้ว่า สิ่งนั้นเป็นอะไร ไม่ใช่หน้าที่ของสติ แต่เป็นหน้าที่ของปัญญา ปัญญาจึงเหนือธรรมใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเหตุว่าสามารถที่จะมีความเห็นถูก เข้าใจถูกในสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ซึ่งยากที่จะเข้าใจ ฟังมานานเท่าไร กี่ภพ กี่ชาติในสังสารวัฏฏ์ เริ่มเข้าใจขึ้นเหมือนจับด้ามมีด จนกว่าจะเป็นผู้ที่รู้ว่า ทันทีที่ได้ฟังก็สามารถเห็นถูก เข้าใจถูกตามความเป็นจริงของสิ่งที่ปรากฏได้ เพราะว่าได้สะสมมา

    ทั้งหมดเพื่ออะไร ที่เป็นแก่นจริงๆ เป็นสาระจริงๆ ของการที่จะเกิดในสังสารวัฏฏ์ เพราะว่าเกิดไป จะเป็นใครก็ตาม ชั่ว ๑ ชาติแล้วก็หมด ชาติก่อนเป็นใคร ชาติหน้าเป็นใคร ชาติก่อนๆ โน้นเป็นใคร และชาติข้างหน้าอีกนับไม่ถ้วน ถ้าไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม จะเป็นอะไร ก็ไม่รู้ได้ สาระที่แท้จริงคืออะไร คุณกุลวิไล

    อ.กุลวิไล การที่จะรู้ธรรมตามความเป็นจริง

    ท่านอาจารย์ คืออะไร

    อ.กุลวิไล ปัญญา

    ท่านอาจารย์ แล้วสาระที่เหนือกว่านั้นอีก เพราะเมื่อสักครู่นี้ ปัญญาเป็นใหญ่ เป็นใหญ่เพื่ออะไรที่เป็นสาระ วิมุติ การพ้นจากอกุศล ไม่อยากพ้น หรือว่าเมื่อไรจะพ้น หรือทำอย่างไรจะพ้น หรือพ้นแล้วดีหรือไม่ ก็แล้วแต่ฉันทะ แต่จริงๆ แล้วคือว่า การฟังธรรมก็จะทำให้มีความเห็นถูก แล้วจะเห็นคุณประโยชน์ของปัญญา

    อ.กุลวิไล ตั้งแต่องค์ธรรมแรก คือ ฉันทะ เพราะฉันทะเป็นมูลแห่งธรรมทั้งปวง ก็แล้วแต่ว่าจะสะสมธรรมที่เป็นฝ่ายดีหรือฝ่ายไม่ดี

    ท่านอาจารย์ ทั้งหมดเลยในชีวิต ทุกวัน ทุกขณะ ตามฉันทะที่ได้สะสมมาทั้งนั้น ขณะนี้ปฏิบัติตามธรรม ที่พระผู้มีพระภาคสอนหรือเปล่า คือ การฟังธรรม อบรมปัญญาให้มีความเห็นถูกต้อง เพื่อที่จะเป็นสังขารขันธ์ให้ประพฤติปฏิบัติตามได้ยิ่งขึ้น โดยที่ไม่มีใครสามารถไปบังคับบัญชาได้

    ก็ไม่พ้นจากการที่จะให้ทุกคนรู้ว่า ธรรม คือขณะนี้ เดี๋ยวนี้ เพราะว่าไม่ว่าจะฟังเรื่องอะไรก็ตาม เป็นสิ่งที่มีจริงๆ เกิดขึ้นปรากฏให้รู้ความจริงนั้นๆ ได้ และเรามักจะลืม เพราะการสะสมความเข้าใจว่า ขณะนี้เป็นธรรม ไม่มากพอที่จะระลึกได้ เพราะเคยชินกับการเข้าใจว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดนานแสนนาน โดยเฉพาะก็คือ เป็นเรา เป็นตัวตน เป็นของเรา ซึ่งความจริงก็คือ เป็นธรรม ในขณะนี้ก็คือธรรม ฟังทุกครั้ง เพื่อที่จะให้รู้ว่า ขณะนี้ เดี๋ยวนี้

    ถ้าจะใช้คำว่า กำลังอยู่กับธรรมก็ได้ ไม่ใช่อยู่กับใครเลย แต่อยู่กับธรรมที่กำลังปรากฏ ทางตาก็เป็นธรรมอย่างหนึ่ง เคยรู้จักหรือไม่ อยู่กันมานานมากเลย เกิดมาก็มีเห็น อยู่กับสิ่งที่ปรากฏมานานแสนนาน ไม่เคยรู้จักเห็นกับสิ่งที่ปรากฏทางตาว่า แท้ที่จริงสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาก็เป็นเพียงธรรม ซึ่งใครก็ไม่สามารถที่จะบันดาลให้เกิดขึ้นได้ แต่ขณะนี้ จิตเป็นธาตุที่น่าอัศจรรย์ สามารถเห็นสิ่งที่ปรากฏให้เพียงเห็น ก็เป็นความจริงชั่ว ๑ ขณะเท่านั้นเองในสังสารวัฏฏ์

    ผู้ฟัง สมมติฟังแล้วยังไม่มีปัญญาเพียงพอ การระลึกสภาพธรรมเหมือนเป็นตัวตนที่ไประลึก

    ท่านอาจารย์ ฟังแล้วยังไม่มีความเข้าใจเพียงพอ หยุดแค่ประโยคนี้ จะไประลึกได้อย่างไร ในเมื่อความเข้าใจยังไม่เพียงพอ การฟังธรรมเพื่อให้มีความเข้าใจที่มั่นคงว่า เป็นธรรมซึ่งไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาได้ เดี๋ยวนี้มีสิ่งที่ปรากฏเกิดแล้ว ไม่มีใครไปทำให้เกิดขึ้น แต่มีลักษณะที่ต่างๆ กันไป ธรรมแต่ละอย่างมีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่าง อย่างสีสันวัณณะที่กำลังปรากฏ ก็เป็นลักษณะของธรรมอย่างหนึ่ง มีจริงๆ แต่เคยไปยึดถือว่าเป็นนั่น เป็นนี่ เป็นเรา เป็นเขา โดยไม่ได้รู้ว่า แท้ที่จริงแล้วสิ่งที่ปรากฏทางตา ถ้าไม่มีจักขุปสาทรูปซึ่งกรรมเป็นปัจจัย แล้วไม่ถึงกาลที่จิตเห็นจะเกิดขึ้นเห็น สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาขณะนี้ก็ปรากฏไม่ได้เลย

    ฟัง ไม่ใช่ให้เราไปอยากให้สติเกิด คอยให้สติเกิด หรือหวังให้สติเกิด แต่ฟังให้เข้าใจขึ้นๆ แล้วรู้ได้ว่า ในขณะที่ฟัง ขณะที่เข้าใจจากการศึกษา มีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วยในขณะที่เข้าใจ แต่เป็นสติขั้นฟังเข้าใจเรื่องของสิ่งที่ปรากฏ ถ้ามีความเข้าใจที่มั่นคงขึ้น กำลังรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏได้ นั่นคือสติ ไม่ใช่ให้เราไปคิดชื่อสติ ทำสติ ทำอย่างไรสติจะเกิด นั่นคือขาดความเข้าใจ ข้ามความเข้าใจ ไม่คิดว่า ภาวนา คือการอบรมเจริญความเข้าใจถูก ความเห็นถูก ในสิ่งที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง ได้มาฟังธรรม ขณะฟัง ตั้งใจฟัง ก็จะเข้าใจขึ้นทีละเล็กทีละน้อย แต่ว่าจันทร์ถึงศุกร์ทำงาน ก็ไม่ได้มีความคิดนึกหรือระลึกถึงสภาพธรรมเลย

    ท่านอาจารย์ แค่นี้ก่อน แล้วคนอื่น พิเศษคนเดียว หรือเหมือนกันหมด ทุกคนเป็นอย่างนี้ เพราะว่าเป็นธรรม สะสมอะไรมามาก ได้ยินได้ฟังเรื่องอะไร แต่ละคนคิดเรื่องที่ได้ยินได้ฟัง คนนี้ได้ยินเรื่องหนึ่ง อีกคนหนึ่งก็ได้ยินอีกเรื่องหนึ่ง คนที่ได้ยินเรื่องไหน ก็คิดเรื่องนั้น ถูกต้องหรือไม่

    ชีวิตของใครจะเป็นอย่างไร ทำงานอะไร อยู่ที่ไหน หรือแม้ไม่ได้ทำงานอะไร ก็มีเห็น มีได้ยิน มีได้กลิ่น มีลิ้มรส มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส มีการคิดนึก ให้ทราบว่า เป็นธรรมที่เกิดแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว

    นี่คือการเห็นพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ได้ทรงแสดงวิธีฟังอย่างไร แล้วไปปฏิบัติอย่างไร แล้วก็ไม่รู้อะไร ไม่ใช่อย่างนั้นเลย นั่นไม่ใช่หนทาง หนทางคือ รู้ว่าไม่รู้ เพราะไม่รู้จึงเกิดมา เกิดมาแล้วก็ไม่รู้ ทั้งเห็น ก็ไม่รู้ ได้ยินก็ไม่รู้ คิดนึกก็ไม่รู้ ไม่รู้มานานแสนนาน จนกว่าจะได้ฟังพระธรรม เริ่มเข้าใจถูกขึ้น ทีละเล็กทีละน้อย เริ่มรู้ความจริง จะเดือดร้อนทำไม ไม่เดือดร้อน เพราะไม่มีตัวเราที่หนัก อยากนั่นอยากนี่

    ผู้ฟัง ที่กราบเรียนถามท่านอาจารย์ เพราะว่า ถ้าไม่ระลึก หมายถึงว่าอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เมื่อสติไม่เกิด ไม่ใช่มีใครไประลึก ใครทำหน้าที่ของสติไม่ได้เลย ถ้าโกรธไม่เกิด ใครทำหน้าที่ของโกรธได้หรือไม่ ไม่ได้ ถ้าริษยาไม่เกิด ใครทำหน้าที่ริษยาได้ไหม ไม่ได้ ถ้าสติไม่เกิด จะมีการระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่มี แต่หลงลืมสติอยู่ตลอดเวลา

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร

    ผู้ฟัง เพราะไม่มีเหตุปัจจัยที่ให้สติเกิด ก็คือไม่เกิด

    ท่านอาจารย์ ก็จบแล้ว เพราะไม่มีเหตุปัจจัย เหตุปัจจัยที่จะให้สติเกิดคืออะไร ถ้าไม่เจอ สติก็ไม่เกิด ถ้าไม่รู้ สติก็เกิดไม่ได้ถ้าไม่เข้าใจ จะให้สติเกิดมาทำไม ถ้าไม่เข้าใจ

    ผู้ฟัง แล้วเหตุปัจจัยที่จะให้สติเกิด เท่าที่มาฟังก็หมายถึงเข้าใจขั้นฟัง เป็นสัญญาที่มั่นคง สติขั้นระลึก ขั้นฟัง ก็จะจำได้เสมอ ไม่หวั่นไหวว่า ทุกอย่างเป็นธรรม ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตนจริงๆ ตรงนี้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ สัญญาจำคำ หรือสัญญาเริ่มจำ ขณะนี้เป็นธรรมที่ปรากฏ ลักษณะนี้เองเป็นธรรม ถ้าจะเข้าใจธรรม เข้าใจลักษณะที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่เข้าใจสิ่งที่ไม่ปรากฏ เมื่อไม่ปรากฏแล้วจะไปเข้าใจได้อย่างไร กับสิ่งที่กำลังปรากฏเพราะไม่เข้าใจพอที่จะรู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ เข้าใจแค่นี้จะรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏหรือไม่ หรือฟังเพื่อเข้าใจขึ้น แล้วรู้ว่าเป็นธรรม แล้วรู้ว่าเป็นอนัตตา

    เข้าใจขึ้นๆ ไม่ต้องไปคอยว่า เมื่อไรจะรู้ลักษณะ เพราะมีลักษณะกำลังปรากฏ ไม่ใช่ไม่มี อยู่ที่รู้ กับไม่รู้เท่านั้นเอง ใครจะบอกว่า ไม่มีลักษณะใดปรากฏ ได้หรือไม่ ปรากฏแล้วไม่รู้ ดับไปแล้ว ปรากฏแล้วไม่รู้ แล้วก็ดับไปแล้ว จริงหรือเปล่า หรือพูดผิด ความเข้าใจมั่นคงอยู่ตรงนี้หรือเปล่า หรือไปทำความมั่นคงที่ไหน แล้วไปพูดเรื่องสัญญา จำ ก็เข้าใจว่า ที่บอกว่า ขณะนี้เป็นธรรม ทุกอย่างเป็นธรรม นั่นคือจำที่มั่นคง แต่ไม่มีลักษณะที่ปรากฏที่จะเข้าใจว่า เป็นธรรม เพราะเพียงแต่จำชื่อ ทั้งๆ ที่ขณะนี้เป็นลักษณะของธรรมแต่ละอย่าง

    กว่าจะถึงความเข้าใจ คิดถึงพระมหากรุณาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตั้งแต่ครั้งเป็นพระโพธิสัตว์ ถ้าสิ่งนี้เข้าใจได้ง่ายๆ จะต้องทรงบำเพ็ญพระบารมีทั้งสิบครบถ้วน พร้อมที่จะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เราทำอะไรหรือเปล่า วันนี้โลภะเท่าไร แล้วโทสะก็มีเท่าไร แล้วก็จะไปรู้แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วยังเต็มไปด้วยอกุศล ไม่คิดแม้จะละ เพียงแต่คิดว่า เมื่อไรเราจะรู้ ทั้งๆ ที่ไม่ได้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ผู้ตรง คือ เข้าใจความหมายของคำว่า “อบรม” อบรมอะไร ทำไมจึงต้องอบรม รู้เลยไม่ได้หรือ ก็จะเห็นว่าเป็นไปไม่ได้เลย ที่จะเป็นตัวเราจะไปรู้เลย โดยไม่มีการอบรมความรู้ความเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ จนกว่าจะ ละความต้องการ ความต้องการที่ต้องละขั้นแรกคือที่เกิดร่วมกับการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา เป็นตัวตน เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ข้ามตรงนี้ แล้วไปพยายามตรงอื่น แล้วจะสำเร็จได้หรือไม่ ในเมื่อไม่มีความเข้าใจเพิ่มขึ้น


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 170
    14 ม.ค. 2567