พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 523


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๒๓

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๒


    ท่านอาจารย์ ขณะใดที่ไม่เข้าใจ ขณะนั้นจริง และไม่ใช่เราด้วย แต่เป็นอวิชชา แต่เมื่อได้ฟังธรรมเริ่มเข้าใจ ทีละเล็กทีละน้อย แต่ว่าถ้าไม่สามารถรู้ และเข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เพียงเข้าใจเรื่องราวของสิ่งที่กำลังปรากฏเท่านั้น ขณะนั้นก็เป็นปัญญาระดับหนึ่ง ไม่ใช่ปัญญาที่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ถ้าไม่มีการฟังเรื่องราว และเข้าใจว่า ขณะนี้เป็นธรรม ก็ไม่มีปัจจัยที่จะรู้ลักษณะของสิ่งที่เป็นอย่างนั้นในขณะที่ได้ฟัง

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าเรามีความรู้เพียงขั้นฟัง แล้วก็จะสามารถไปประจักษ์หรือรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรม เพราะขณะนี้สภาพธรรมเป็นอย่างนี้ แต่อวิชชากำลังไม่รู้สิ่งที่ปรากฏ จนกว่าความน่าอัศจรรย์ของปัญญา คือ สิ่งใดก็ตามที่อวิชชาไม่สามารถจะรู้ได้ ปัญญาเริ่มเข้าใจถูก เห็นถูก จนกระทั่งสามารถประจักษ์ความจริงของสภาพธรรมได้ คุณนีน่าคิดเป็นคำตลอดเวลาหรือเปล่า

    คุณนีน่า ไม่ตลอดเวลา

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้คิดเป็นคำตลอดเวลา ก็มีสิ่งที่กำลังปรากฏ

    คุณนีน่า อาจจะคิดเร็วๆ ไม่มีคำ

    ท่านอาจารย์ คิดอะไร คิดเร็วๆ ไม่มีคำ

    คุณนีน่า คิดธรรม

    ท่านอาจารย์ คิดธรรมอะไร

    คุณนีน่า ความโกรธ เป็นห่วง หรือความโลภ

    ท่านอาจารย์ แต่จิตเกิดดับเร็วกว่านั้นมาก มากจนกระทั่งทันทีที่เห็น หลังจากรูปที่ปรากฏทางตาดับ ซึ่งขณะนี้ไม่ได้ปรากฏว่าดับ จิตคิดถึงรูปร่างสัณฐาน ยังไม่มีชื่อ แต่เห็นเป็นรูปร่างสัณฐาน เห็นนิมิตของสภาพธรรม ซึ่งเกิดดับสืบต่อเร็วมากจนปรากฏเป็นรูปร่างสัณฐาน

    เพราะฉะนั้น ความไม่รู้มากมายจนกระทั่งไม่รู้ว่า ที่เห็นเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้ว เพราะว่าจิตเกิดดับสืบต่ออย่างเร็วจนปรากฏเป็นนิมิตสัณฐาน แล้วเริ่มตั้งแต่เด็ก ไม่รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร ค่อยๆ จำจนกระทั่งสามารถที่จะรู้ได้ว่า สิ่งนั้นเป็นอะไร เพราะฉะนั้น พอจำแล้วก็ไม่ต้องไปพยายามอะไรอีก เพราะเหตุว่า พอปรากฏก็จำได้ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่การจะรู้ถึงจิต เจตสิกซึ่งเกิดดับสืบต่ออย่างเร็ว ต้องอาศัยความเข้าใจจากการฟังทีละเล็กทีละน้อย

    เวลาดูโทรทัศน์ จอกว้างหรือจอแคบ กว้างแค่ไหน ที่นี่ก็มีโทรทัศน์ กว้างแค่นี้ จะกว้างอย่างไรก็คงไม่เท่าโลกนี้แน่ แต่ก็มีคนในโทรทัศน์ได้อย่างไร ขยายจอโทรทัศน์ให้กว้างจนกระทั่งถึงเป็นอย่างนี้เดี๋ยวนี้ มีคนได้อย่างไร แล้วมีจริงๆ หรือเปล่า หรือมีสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น หลังจากที่ปรากฏแล้วคิด หลังจากเห็นแล้วคิด หลังจากได้ยินแล้วคิด ได้กลิ่นแล้วคิด ใจเป็นที่รวมของทุกอย่าง ซึ่งเกิดแล้วดับแล้ว แต่ประมวลความจำ สัญญาเจตสิกซึ่งจำ จนกระทั่งเป็นสัญญาวิปลาส ไม่ได้รู้ตามความเป็นจริง แต่เห็นเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่ตลอดเวลา

    เพราะฉะนั้น ไม่ว่าในขณะไหน จะนอกจอในจอ ก็เป็นสิ่งที่ปรากฏแล้วคิด เวลาอ่านหนังสือ ไม่มีจอ แต่ก็อ่านเห็น แล้วก็คิด เวลาได้ยินแล้วก็ไม่มีจอ แต่ได้ยินแล้วคิด เพราะฉะนั้น เวลานี้ก็คือมีความไม่รู้ความจริงว่า ไม่ว่าจะเป็นเมื่อไร ขณะไหนก็ตาม จิตต้องเกิดขึ้น จึงรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ คือ เห็น และหลังจากนั้นก็มีจิตที่เกิดขึ้น แล้วก็จำ แล้วก็คิดเรื่องราวต่างๆ วนเวียนอยู่ในสังสารวัฏ ไม่มีทางที่จะพ้นจากสังสารวัฏซึ่งได้ศึกษาจากพระสูตรเมื่อวานนี้ ถ้าเข้าใจธรรมก็จะนำไปสู่วิมุตติ การหลุดพ้นจากความไม่รู้ และความติดข้องในสิ่งที่ปรากฏทั้งหมด

    ผู้ฟัง เมื่อสักครู่ท่านอาจารย์กล่าวว่า กุศลช่วยทำให้เข้าใจ รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ อยากจะถามว่า กุศลนั้นคล้ายกับเป็นการสะสมความเข้าใจหรือไม่

    ท่านอาจารย์ เมื่อวานนี้เริ่มต้นด้วยฟังเรื่องบาป แล้วละบาป ไม่มีใครสามารถจะละบาปได้ โดยไม่รู้ความจริงของบาป ได้ยินเพียงแค่ชื่อบาป แล้วก็คิดที่จะละบาป โดยที่ไม่เข้าใจบาป เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เวลาที่ถามว่า วันนี้ดีกว่าเมื่อวานนี้หรือเปล่า ขอความกรุณาตอบด้วยเฉพาะตัวเลย

    ผู้ฟัง วันนี้โลภะตั้งแต่เข้าปากซอยมาแล้ว

    ท่านอาจารย์ แสดงว่าเมื่อวานนี้ ก็มีโลภะตั้งแต่เดินเข้ามา แล้ววันนี้ก็มีโลภะอีก เพราะฉะนั้น อกุศลเพิ่มขึ้น วันนี้ถ้ากล่าวถึงอกุศล วันนี้ไม่ได้ดีกว่าวันก่อน เพราะว่ามากขึ้นอีก เพราะฉะนั้น เวลาที่ฟังธรรมแล้ว มีอะไรที่ดีขึ้น วันนี้ดีกว่าเมื่อวานนี้บ้างไหม

    ผู้ฟัง แต่วันนี้ยังไม่หมดวันเลย

    ท่านอาจารย์ แต่เมื่อวานนี้หมดแล้ว เพราะฉะนั้น ชั่วขณะที่ฟังเมื่อสักครู่นี้ ดีกว่าเมื่อวานนี้หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ถ้าเข้ามานั่งในนี้ดีกว่า

    ท่านอาจารย์ ที่ดีกว่าก็คือ ความเข้าใจธรรม ก็ยังไม่พอ ก็เลยย้อนถามไปถึงว่า เมื่อเข้าใจธรรมแล้ว ดีขึ้นแล้ว เข้าใจดีกว่าเมื่อวานนี้ การกระทำทางกาย ทางวาจา ทางใจ ดีขึ้นอีกหรือเปล่า เห็นไหม จะไม่เห็นการปรุงแต่งของสังขารขันธ์ คือ ปัญญา ไม่ใช่เราจะเป็นคนดีได้ทันที กาย วาจาของเราสะสมมานานมาก เพราะฉะนั้น การที่จากอกุศล ที่ใช้คำเมื่อสักครู่นี้ ที่ใช้คำว่ากุศล ก็คงหมายความถึงตรงนี้ จากที่เคยสะสมเป็นอกุศลมาบ่อยๆ ก็จะมีปัจจัย คือ การเข้าใจธรรมเท่านั้น ที่สามารถเห็นความจริงของธรรม

    เมื่อเห็นความจริงแล้ว เห็นบาปเป็นบาป ไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้น ก็มีศรัทธาที่จะมีความเข้าใจเพื่อละบาป โดยไม่ใช่เรา แต่เป็นความเข้าใจธรรมเมื่อเพิ่มขึ้น เราก็จะเห็นสังขารขันธ์ที่ปรุงแต่ง จากกุศลที่ไม่เคยเกิดก็เกิด ความไม่อดทน ทุกคนมี มากๆ เลยสำหรับบางคน สังเกตได้เลย ร้อน ร้อนไป บ่นแล้ว หวานไป เย็นไป คือมีเรื่องที่จะบ่นได้เพราะไม่พอใจถึงกำลังที่เอ่ยเป็นวาจา

    เพราะฉะนั้น สังขารขันธ์ที่เข้าใจธรรม เริ่มที่จะอดทน เห็นหรือไม่ ความอดทนมีไหม ร้อนก็ร้อน หวานก็หวาน เย็นก็เย็น จะใช้คำว่า ลำบากก็ลำบาก ยากก็ยาก ทุกข์ก็ทุกข์ อะไรก็ตามแต่ มีความอดทนที่จะไม่ถึงกับกาย วาจาเป็นอกุศลหรือเปล่า

    นี่คือการปรุงแต่งของสังขารขันธ์ ซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะบังคับบัญชาได้ คิดได้ อยากจะเป็นคนดี อยากจะเว้นอย่างโน้นอย่างนี้ อยากจะให้อภัย เมื่อวานนี้ไม่ให้อภัย วันนี้เหมือนเดิม คือไม่ให้อภัย หรือว่าไม่ให้อภัยเป็นบาป เป็นอกุศล ทำความเดือดร้อน มีลักษณะเหมือนลูกศรที่เบียดเบียนตนเองให้เจ็บ ให้ลำบาก

    เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีเลยก็คงจะดี และวิธีไม่มี ถ้าคนที่สะสมมาแล้วก็ไม่ยากเลย ตั้งต้นใหม่ทุกขณะ สิ่งที่แล้วไปแล้ว ผ่านไปแล้วก็หมดไปแล้ว ทำไมไม่ฟังธรรมเพื่อเห็นธรรมตามความเป็นจริงว่า บาปเป็นสิ่งที่ควรรู้แล้วละ ไม่ใช่บาปที่อื่นเลย ของตัวเองทั้งหมด จะไปละบาปของคนอื่นก็คงไม่ได้ เพราะฉะนั้น การฟังธรรม ผลที่จะปรากฏคือ ชีวิตประจำวัน

    ผู้ฟัง แล้วถ้าร้อน แล้วเราไม่บ่นว่าร้อน ถือว่าเป็นขันติได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ถือ ถือทำไม ทำไมจะต้องถือ เป็นก็เป็น ถ้าเป็นแล้วเปลี่ยนให้เป็นอย่างอื่นได้ไหม นี่คือไม่ได้เข้าใจธรรม มีเราอยากจะเป็นอย่างนั้น อยากจะอดทนเพิ่มขึ้น ก็เลยถือเอาว่าเราอดทนแล้วใช่ไหม ธรรมไม่ใช่ให้ฟังแล้วถามว่าใช่ไหม เมื่อไรที่ใช่ไหม ก็คือไม่ได้เข้าใจธรรม แต่ถ้าพูดเรื่องจิต จะไปถามคนอื่นเรื่องจิตของตัวเองได้ไหม หรือว่าจิตคืออะไร จิตขณะนี้ทำอะไร เกิดแล้วดับไปเพราะปัจจัยอะไร นี่คือการเข้าใจจิต แต่ไม่ใช่ไปถามคนอื่นว่า จิตขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล

    ทั้งหมดของธรรมเพื่อเข้าใจ เรื่องถือนี่ ไม่ต้องถืออีกต่อไป เพราะว่าไปถือทำไม ไปถืออกุศลว่าเป็นกุศล ไปถือโน่นถือนี่ โดยที่ไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม แต่ถ้ารู้ความจริง คือ เป็นธรรม ซึ่งเปลี่ยนไม่ได้ ใครจะถือเพราะไม่เข้าใจก็เรื่องของคนนั้นที่จะถืออย่างนั้น

    คุณนีน่า เรื่องนามธรรม และรูปธรรม ยังไม่เข้าใจดี แต่วันนี้อาจารย์บอกว่า ไม่ต้องไปพยายาม เพราะอาจจะพยายามนิดเดียว และละเอียดมาก ต้องรู้ ต้องเข้าใจก่อนว่าเป็นธรรมเท่านั้น จะไม่ใช่นามธรรม และรูปธรรม

    ท่านอาจารย์ คุณนีน่าบอกว่า ไม่ต้องพยายามใช่ไหม

    คุณนีน่า ละเอียดมาก อาจจะพยายามนิดเดียว และไม่ได้สังเกตเลย

    ท่านอาจารย์ เอาทีละคำ ไม่ต้องพยายาม เพราะอะไร รู้จักพยายามหรือยังว่า เป็นธรรม ยังไม่รู้จักพยายามเลย แต่มีความเป็นเราจะพยายาม โดยที่ไม่รู้ว่า แท้ที่จริงแล้วพยายามเป็นอะไร มีแน่นอน เป็นจิต หรือเป็นเจตสิก ถ้าเป็นเจตสิกก็เป็นเจตสิกอะไร เพราะว่าไม่ใช่ผัสสเจตสิก ไม่ใช่เวทนาเจตสิก นี่เป็นเหตุที่เราเรียนธรรม แล้วต้องเข้าใจธรรม ไม่ใช่เรียนจำ แล้วพยายาม ซึ่งไม่เข้าใจเลยว่าเป็นเจตสิก

    มีเจตสิก ๕๒ ประเภท โดยเฉพาะของเจตสิกนั้นๆ ที่ยังไม่กล่าวถึงว่า เกิดกับจิตอะไร ประกอบด้วยปัญญา หรือไม่ประกอบด้วยปัญญา ซึ่งละเอียด และกว้างมากออกไปอีก เพราะฉะนั้น ถ้าศึกษาเรื่องของธรรม ซึ่งเป็นเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพที่เราใช้คำว่า เพียร หรือประคองค้ำจุนสภาพธรรมที่มีในขณะนั้นให้ตั้งอยู่ ดำรงอยู่ หรือเราเรียกว่า เป็นความพยายาม ขณะนี้มีหรือเปล่า เกิดหรือยัง ถ้ามีแล้ว แค่ไหนก็คือแค่นั้น ใครจะไปพยายามได้ นอกจากเข้าใจให้ถูกต้อง

    เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรม เพื่อเข้าใจชีวิตประจำวันจริงๆ เป็นธรรมทั้งหมดแล้วไม่เคยรู้ แม้แต่ความพยายาม ถ้าเราบอกว่า จะพยายาม พยายามเกิดหรือยัง ขณะที่บอกว่า “จะพยายาม” เกิดแล้ว ดับแล้ว แล้วใครจะ แม้แต่จะ ไปพยายาม ก็มีวิริยะเกิดแล้วกับจิตนั้น ไม่มีทางที่ใครจะไปทำธรรมใดๆ ให้เกิดขึ้นได้เลย จนกระทั่งมีความเข้าใจว่า ขณะนี้เป็นธรรมที่ฟังเพื่อเข้าใจความจริงของธรรม จนกว่าจะค่อยๆ เข้าใจขึ้น กำลังฟังมีความพยายามด้วยหรือเปล่า

    คุณนีน่า อาจจะไม่พยายาม เพราะว่า

    ท่านอาจารย์ ไม่พยายาม คือคุณนีน่าไม่พยายาม แต่วิริยเจตสิกเกิดแล้ว

    คุณนีน่า วิริยะที่เป็นกุศลหรืออกุศล ไม่แน่ใจ

    ท่านอาจารย์ อย่างไรก็แล้วแต่ ไม่เกี่ยว ต้องเข้าใจว่า ไม่ว่าจะเป็นกุศลหรืออกุศลใครก็เปลี่ยนลักษณะของวิริยะให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้ เพราะฉะนั้น แม้วิริยะเกิดแล้ว ดับแล้ว ก็ไม่รู้ความจริง คิดว่าจะมีเราพยายาม เดี๋ยวนี้วิริยเจตสิกกำลังเกิดหรือเปล่า ไม่เกิดกับจิตบางประเภท ซึ่งยากที่จะรู้ได้ เพราะว่าจิตเกิดดับสลับสืบต่อกันเร็วมาก

    คุณนีน่า แต่เรื่องนามธรรม และรูปธรรมยังไม่ต้องกลัว เป็นธรรมเท่านั้น ต้องรู้ว่าเป็นธรรมก่อนใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ มีแข็งปรากฏไหม

    คุณนีน่า ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ขณะที่แข็งปรากฏ ต้องเรียกอะไรหรือเปล่า

    คุณนีน่า ไม่ต้องเรียก ไม่จำเป็นต้องเรียก

    ท่านอาจารย์ ต้องอธิบายแข็งไหม ในเมื่อแข็งกำลังปรากฏ ต้องอธิบายว่าแข็งคืออย่างไร มีลักษณะอย่างไรหรือเปล่า ในขณะที่แข็งกำลังปรากฏ

    คุณนีน่า ไม่ต้องอธิบาย

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้อง เวลาที่แข็งกำลังปรากฏ มีการรู้แข็ง แน่นอน แข็งจึงปรากฏ เพราะฉะนั้น มีแข็งกำลังปรากฏ แล้วก็มีสภาพที่รู้แข็งด้วย ไม่ต้องเรียกชื่อ แต่ก็มีทั้ง ๒ อย่าง

    คุณนีน่า นามธรรมที่รู้แข็ง รู้แข็งปรากฏ แต่นามธรรมที่รู้แข็งลืม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ที่คุณนีน่าบอกว่า ยังไม่รู้นาม และรูป เพราะว่าเรานึกถึงชื่อนาม และรูป การศึกษาธรรม ถ้าตั้งต้นด้วยชื่อ จะไม่รู้จักตัวจริงของธรรม แต่ถ้ารู้ธรรม คือ สิ่งที่มีลักษณะแต่ละอย่าง ที่กำลังปรากฏแต่ละทาง ถ้าเข้าใจอย่างนี้ แข็งปรากฏ ไม่ต้องเรียกชื่อ และสภาพที่รู้แข็งมี ที่กำลังรู้แข็ง เห็นไหม กำลังรู้ลักษณะที่แข็งก็มี ไม่ต้องเรียกชื่อ ถ้าคุณนีน่าเห็นความต่างกันของแข็งกับสภาพที่กำลังรู้แข็ง ไม่ต้องเรียกชื่อทั้ง ๒ อย่าง แต่ถ้าเรียกชื่อ เรียกว่าแข็งเป็นรูปธรรม เพราะเหตุว่าไม่ใช่สภาพรู้ ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย

    เพราะฉะนั้น กำลังมีแข็ง ซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ แล้วก็มีสภาพที่กำลังรู้แข็งในขณะที่แข็งปรากฏ ก็เป็นสภาพรู้ คือ ศึกษา หรือเข้าใจ หรือเรียนรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ลักษณะไม่ใช่ชื่อ เพราะฉะนั้น แข็งไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา คุณนีน่าก็รู้ได้ว่า สิ่งที่ปรากฏหลากหลาย สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ใช่แข็ง และเวลาที่แข็งปรากฏก็ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา

    เพราะฉะนั้น ก็เข้าใจตัวธรรมที่มีจริง ที่กำลังปรากฏแต่ละทาง แล้วก็รู้ด้วยว่า สภาพที่ไม่รู้ก็ไม่รู้ทั้งนั้นแหละ เสียงก็ไม่รู้อะไร แข็งก็ไม่รู้อะไร สิ่งที่ปรากฏทางตาก็ไม่รู้อะไร รวมเรียกสิ่งที่ไม่ใช่สภาพรู้ทั้งหมด รวมกันเป็นรูปธรรม แต่ละลักษณะเป็นรูปธรรม จะกล่าวว่า ไม่รู้นาม รู้รูปได้ไหม แต่ยังไม่ได้เข้าใจว่า ไม่ใช่เรา อย่างแข็ง ทุกคนก็กระทบแข็ง จะกล่าวว่าไม่เคยกระทบแข็ง เป็นไปไม่ได้ แต่ไม่รู้ว่า แข็งเป็นธรรม ซึ่งไม่ใช่โต๊ะ ไม่ใช่เก้าอี้ ไม่ใช่เรา

    เพราะฉะนั้น ความไม่รู้ และยึดถือสภาพที่ปรากฏต่างหาก ที่ปัญญาค่อยๆ เข้าใจขึ้นทีละเล็กทีละน้อย และค่อยๆ ละการที่เคยไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ขั้นการฟัง ขณะนี้มีนามธรรมไหม ขั้นฟัง ต้องมี ถ้าไม่มี อะไรก็ปรากฏไม่ได้เลยทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น การฟังคือเพื่อไม่ให้ลืม ว่าขณะนี้มีสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งตั้งแต่เกิดจนตายก็ต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ทางตาเห็น ทางหูได้ยิน ทางจมูกได้กลิ่น ทางลิ้นลิ้มรส ทางกายรู้เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว ทางใจก็คิดนึก จำ โกรธ เสียใจ ก็เป็นลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง ค่อยๆ เข้าใจ เพื่อรู้ว่า กว่าจะรู้ความจริง ปัญญาต้องเข้าใจขึ้น

    คุณนีน่า แต่รู้ว่า มีอวิชชามาก และทุกครั้งที่มาเมืองไทย รู้ว่ามีอวิชชา และไม่เข้าใจ แต่ไม่เป็นไร เพราะว่าวันนี้ดีกว่าเมื่อวานนี้ เพราะรู้ว่ามีอวิชชา

    ท่านอาจารย์ คุณนีน่าเป็นผู้สะสมกาย วาจา ใจที่ดี แต่ขณะนั้นก็ยังไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นกุศลที่เป็นขั้นทาน หรือศีลระดับอื่น แม้แต่ความสงบของจิต ซึ่งบุคคลในครั้งพุทธกาล เป็นผู้ที่มีปัญญามาก สามารถเห็นโทษของอกุศลซึ่งเกิดเพราะสะสมมา ถึงเวลาเกิด เกิดเลย เห็น หลังจากที่จักขุวิญญาณดับ สัมปฏิจฉันนะดับ สันตีรณะดับ โวฏฐัพพนะดับ เร็วแค่ไหน จิตที่เกิดต่อจากจิตเห็น อกุศลเกิดได้ทันที

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นผู้ที่ไม่ประมาทเลย ที่จะรู้ว่า อกุศลมากอย่างนี้ ก็เหมือนคนนั่งเรือแล้วเรือรั่ว อย่างเมื่อวานนี้ แต่ก็มีโอกาสได้ฟังแล้วเข้าใจสะสมไป พร้อมกันนั้นความเข้าใจนั้นก็จะทำให้กุศลทุกประการเจริญขึ้น คนที่ไม่ได้ฟังธรรมเลย เป็นคนดีมีมาก แต่ไม่มีความเข้าใจธรรม สามารถจะสงบจิต ไม่หวั่นไหว ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ถึงอัปปนาสมาธิ แนบแน่นในอารมณ์ เดียวที่เป็นรูป จนถึงแนบแน่นในอารมณ์ที่ไม่ใช่รูป ซึ่งต้องเป็นปัญญาที่สามารถที่จะเห็นโทษของรูป จึงจะรู้ว่า รูปก็ยังใกล้กับสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย

    เพราะฉะนั้น มีความชำนาญที่สามารถที่จะละรูปซึ่งเป็นอารมณ์ ถึงอรูปฌาน แต่ทั้งหมดเมื่อไม่เข้าใจธรรม ไม่ใช่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะว่าคำสอนทั้งหมด พุทธพจน์ทุกคำเป็นธรรมเตชะ หรือธรรมเดช สามารถทำให้คนที่ไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม สามารถที่จะเข้าใจถูก เห็นถูกในสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ก็ต้องเป็นความเข้าใจทีละเล็กทีละน้อย ไม่สามารถเหมือนกับผู้ที่อบรมมามาก จนกระทั่งพอได้ยินก็ละความเป็นตัวตน จากสิ่งที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ก็จะพิสูจน์ได้ว่า การฟังธรรมเพื่อละความเป็นตัวตน เพราะฉะนั้น ถ้ายังไม่มีปัญญา ก็คือยังเห็นว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด จนกว่าปัญญาเพิ่มขึ้น สติสัมปชัญญะรู้ลักษณะของสภาพธรรมทีละลักษณะ จนกระทั่งมีกำลัง จึงเริ่มเห็นการคลายความไม่รู้ จากที่เคยมากมาย ค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องของความเข้าใจ แต่ไม่ใช่เป็นเรื่องที่อยากจะมีสติสัมปชัญญะ เป็นสติปัฏฐาน ทำอย่างไรจะมี ไปนั่งอยู่คนเดียว หรือไปอ่านหนังสือทั้งวันอย่างนั้น เพื่อให้สติสัมปชัญญะเกิด ไม่มีทางเป็นไปได้เลย เพราะว่าสภาพธรรมที่ปรากฏแสดงถึงความเข้าใจ ว่าสะสมมาที่จะเข้าใจถูกต้องหรือเปล่า

    คุณนีน่า ความรู้สึกละเอียดที่เป็นตัวตนที่กำลังฟังธรรม ศึกษาธรรม ฟังเทป ทุกอย่างเดี๋ยวนี้ พยายามเข้าใจเป็นตัวตน มีความรู้สึกตัวตน แต่อาจจะไม่สังเกตว่าเป็นตัวตน อาจจะเป็นมิจฉามรรค โดยไม่สังเกตเลย

    ผู้ฟัง คือ คุณนีน่าสนใจตั้งแต่เมื่อวาน ดิฉันจะถามตั้งแต่เมื่อวานแล้ว ก็ไม่มีเวลา เมื่อวานนี้เราพูดถึงวิมุตติ คุณนีน่าก็พูดขึ้นมาว่า กว่าจะถึงวิมุตติ รู้หรือยัง นามธรรมต่างกับรูปธรรมอย่างไร อันนี้ควรจะเริ่มต้น เพราะฉะนั้น คำถามที่จะเรียนถามท่านอาจารย์ ก็คือการฟังเพื่อให้ปัญญาเกิด รู้ความต่างกันของนามรูป ก็อยากจะขอประเด็นว่า การรู้นามรูปโดยไม่ใช่เรารู้ มีลักษณะเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ โดยไม่ใช่เรา นี่ยากใช่ไหม เพราะยังมีเราอยู่ ถ้าฟังธรรมแล้วค่อยๆ เข้าใจขึ้นว่า ไม่ใช่เรา ก็จะเป็นทางให้สัมมาสติเกิด ส่วนใหญ่พอฟังแล้ว เมื่อไรจะรู้ความต่างกันของสติสัมปชัญญะกับความรู้ขั้นฟัง


    Tag  นีน่า  
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 170
    15 ม.ค. 2567