พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 497


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๔๙๗

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๑


    อ.กุลวิไล ดูเหมือนว่าในชีวิตประจำวัน การไม่รู้ธรรมที่กำลังปรากฏมีมาก เพราะฉะนั้นหลับมากกว่าตื่น เราฟังธรรมในขณะนี้เอง สภาพธรรมเล็กน้อยเท่านั้น แต่เราก็ไม่สามารถเข้าถึงตัวจริงของธรรมได้ แล้วความหลงลืมสติก็มาก

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นพระคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัญญาคุณที่สามารถจะปลุกคนที่หลับให้ตื่น

    อ.กุลวิไล ก็ยังหลับอยู่ในสังสารวัฏฏ์ ถ้าไม่ได้ยินได้ฟังพระธรรม

    ท่านอาจารย์ ทีละเล็กทีละน้อย แล้วก็รู้ความจริง ตื่นขึ้นมานิดหนึ่งก็หลับต่อไปอีก ตื่นขึ้นมาอีกก็หลับต่อไปอีก ก็ปลุกไปเรื่อยๆ จนกว่าจะตื่นบ่อยๆ

    อ.กุลวิไล เพราะฉะนั้น ขาดการฟังพระธรรมไม่ได้เลย เพราะว่าตราบใดที่ไม่ได้ยินได้ฟังพระธรรม จะเป็นผู้หลับในสังสารวัฏฏ์ตลอดกาล

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้เห็นอะไร ใครเห็น มีใครเห็นหรือเปล่า หรือว่าเป็นธรรม

    ผู้ฟัง เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ ธรรมอะไรเห็น

    ผู้ฟัง จิตเห็น

    ท่านอาจารย์ จิตเห็น ไม่ใช่สัญญา เพราะจิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ขณะเห็นเดี๋ยวนี้ ลักษณะของสัญญาเจตสิกปรากฏหรือเปล่า กำลังเห็น สัญญาเจตสิกปรากฏหรือเปล่า ไม่ปรากฏแม้มี แต่ว่าสัญญาจำแล้ว เพราะการเกิดดับของสภาพธรรมเร็วสุดที่จะประมาณได้ เพราะฉะนั้น สัญญาเจตสิกที่เกิดกับจิตก็เกิดกับจิต และดับอย่างรวดเร็ว แม้แต่สิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนี้ ตามความเป็นจริง คือ รูปทุกรูปที่เป็นสภาวะรูป จะมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ ไม่ต้องไปคิดเลยว่า รวดเร็วขนาดไหน ประมาณไม่ได้เลย แต่สัญญาก็จำ จำ จำทุกอารมณ์ที่จิตรู้ จนกระทั่งเป็นนิมิต สัณฐาน ก็เพราะสัญญาจำ ทำให้สามารถที่จะรู้ได้ เหมือนกับว่า ทันทีที่เห็นก็รู้ว่า สิ่งนั้นเป็นอะไร แต่ถ้าสิ่งนั้นไม่มีสัณฐานเพราะเกิดจากการที่รูปนั้นเกิดดับสืบต่อเร็วจนปรากฏเป็นนิมิต รูปร่างสัณฐานต่างๆ สัญญาก็ทำหน้าที่ของสัญญา ใครก็ทำหน้าที่นั้นไม่ได้เลย ไม่ต้องไปคิดว่า จะไปทำสัญญา หรือสัญญาทำ หรืออะไรทั้งสิ้น กำลังเป็นไปอย่างนี้อยู่แล้วอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ขณะที่รู้ว่าเป็นอะไร นั่นคือสัญญาเจตสิก

    เสียง ได้ยินคำว่า “เสียง” รู้เลยว่า หมายความถึงอะไร เพราะสัญญาจำ จนกระทั่งไม่ต้องคิดเลย ทันทีที่ได้ยินคำว่า “เสียง” ก็เหมือนรู้ความหมายเลยว่า หมายความว่าอะไร ไม่ว่าจะเป็นทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แม้เรื่องราวต่างๆ สัญญาก็เกิดขึ้นทำหน้าที่จำ ถ้าไม่จำ จะคิดถึงคำนี้ได้ไหม แม้แต่นึกคิดคำว่า สาวัตถี พระวิหารเชตวัน ก็ต้องมีสัญญาที่จำทั้งนั้น ถ้าสัญญาไม่จำ จะคิดอย่างนี้ก็ไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้น แม้สัญญาเจตสิกมีจริง แต่ว่าปัญญาก็อบรมจนกระทั่งสามารถที่จะรู้ว่าขณะหนึ่งขณะใดก็ตามมีสัญญา สภาพจำ ในขณะที่เกิดคิด จะรู้ถึงสภาพที่จำได้ในขณะนั้นว่า เป็นลักษณะที่จำคำที่คิด มิฉะนั้นก็จะไม่มีคำนั้นที่คิดได้เลย

    นี่เป็นความละเอียดของธรรม ซึ่งถ้าไม่ใช่ปัญญาจริงๆ ไม่สามารถที่จะละอนุสัยกิเลส ซึ่งสะสมติดอยู่ในจิตอย่างแน่น แล้วก็ลึกด้วย เพราะฉะนั้น จะต้องอบรมปัญญาจนกระทั่งเข้าใจจริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏในชีวิตประจำวัน เพราะว่าเกิดตามเหตุตามปัจจัยทั้งหมด ไม่มีใครสามารถที่จะบันดาลให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิด โดยที่ไม่ได้สะสมมา โดยที่ไม่มีปัจจัยที่จะเป็นอย่างนี้

    เพราะฉะนั้น ธรรมจึงเป็นเรื่องที่ละเอียด แล้วเป็นเรื่องของปัญญาที่เมื่อสะสมแล้ว จะรู้ความต่างของขณะที่หลับกับขณะที่ตื่น

    ตื่นแล้วเห็นอะไรมากมาย ปัญญาก็ตื่นขึ้นรู้ความจริงของสภาพธรรมมากมาย จนกระทั่งละความที่เคยยึดถือว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้ แต่ต้องเป็นปัญญา มิฉะนั้นจะละได้อย่างไร การที่จำมานานแสนนาน แสนโกฏิกัปป์นับไม่ถ้วน โดยที่ไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมแต่ละอย่าง โดยเข้าใจว่า เป็นอัตตา เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นอัตตสัญญา จนกระทั่งค่อยๆ เริ่มอนัตตสัญญา

    ในขั้นการฟัง เป็นแต่เพียงปัจจัยที่จะทำให้เข้าถึงหรือรู้ความจริงของสภาพธรรมซึ่งเกิดแล้วก็ดับไป แล้วก็รู้ว่า ขณะใดก็ตาม สภาพธรรมที่เหมือนเห็น เหมือนแข็ง เหมือนเป็นกลิ่น เหมือนเป็นเสียงต่างๆ ไม่ได้ปรากฏด้วยดีเท่ากับขณะที่สติสัมปชัญญะเกิด

    นี่เป็นความต่างกันมาก เพราะเหตุว่าสภาพธรรมเกิดแล้วดับแล้ว เมื่อสักครู่นี้ ใครรู้บ้าง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ไม่ใช่ไม่มี มีแล้ว จิตรู้แล้ว ดับไปแล้ว แต่ว่าขณะใดที่สติสัมปชัญญะเกิด สภาพนั้นปรากฏด้วยดีกับสติสัมปชัญญะ อย่างลักษณะของแข็ง แข็งทั้งวันที่ผ่านมา ไม่ได้ปรากฏด้วยดีเลย นิดเดียว หมดไปแล้ว หมดไปแล้ว หมดไปแล้ว จนกระทั่งเดี๋ยวนี้ก็มีแล้วก็หมดไปแล้วด้วย ก็ไม่ได้ปรากฏความเป็นสภาพธรรมที่แข็งด้วยดี แต่ขณะใดที่สติสัมปชัญญะเกิด ขณะนั้นรู้ ลักษณะนี้เท่านั้นแข็ง ไม่ต้องพูดเลย บอกใคร บรรยายสักเท่าไร ก็ไม่เหมือนกับที่แข็งนั้นกำลังปรากฏ

    นี่แสดงให้เห็นความเจริญขึ้นของปัญญาที่สามารถรู้ความจริง แล้วค่อยๆ ละความติดข้อง ด้วยเหตุนี้จึงสามารถที่จะเข้าถึงความหมายของอริยสัจ ๔ พระธรรมที่ทรงแสดงเพื่อละ สภาพธรรมจึงจะปรากฏตามความเป็นจริงได้ เพราะความรู้ จึงสามารถละได้ แต่ถ้าไม่มีความรู้เลย อะไรจะไปละ ก็เป็นไปไม่ได้

    ด้วยเหตุนี้มรรคมีองค์ ๘ ก็เป็นหนทางเดียวจริงๆ ที่ทำให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ถ้าเป็นอย่างอื่นก็ไม่ใช่หนทาง เพราะพระผู้มีพระภาคตรัส และความจริงก็คือว่า ทางเดียวคือสภาพธรรมปรากฏ และปัญญาสามารถที่จะรู้ลักษณะนั้น ด้วยความเข้าใจที่สะสมจนมั่นคงที่จะเกิด และระลึกขณะใด ขณะนั้นปัญญาก็รู้ว่า ต่างกับขณะที่สติสัมปชัญญะไม่ได้เกิด

    ผู้ฟัง ศึกษาธรรมทำไมจะไม่รู้ว่า นี่เป็นรูปธรรม นี่เป็นนามธรรม เรื่องกรรมก็รู้หมด จำได้หมดเรื่องกรรม พูดได้หมด ขอท่านอาจารย์ช่วยเกื้อกูลกระผมเท่าที่สามารถทำได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ทราบว่า คุณประทีปอยากจะรู้ว่า ก๋วยเตี๋ยวเป็นวิบาก หรือว่าจะรู้ว่า วิบากคืออะไร

    ผู้ฟัง จากความเข้าใจคิดว่า เรื่องราวทั้งหมดเป็นวิบาก แล้วเป็นผลของกรรม

    ท่านอาจารย์ ได้ยินคำว่า “วิบาก” แล้วก็ได้ยินคำว่า “กรรม” กรรมเป็นเหตุ เมื่อมีเหตุ

    ก็ต้องมีผล วิบากเป็นผลของกรรม เท่านี้พอใช่ไหม แค่นี้ก่อน ทีละน้อยๆ

    ผู้ฟัง คิดว่า พอ พอเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น รูปจะเป็นวิบากได้หรือไม่

    ผู้ฟัง รูปไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็จะมีความมั่นคงขึ้น ละเอียดขึ้นว่า ถ้าใช้คำว่า “วิบาก” เมื่อไร ต้องหมายความถึง นามธรรมเท่านั้น ถูกต้องหรือไม่

    ผู้ฟัง ถูกต้อง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ศึกษาเพื่อเข้าใจเรื่องกรรม และวิบาก ไม่ได้เข้าใจเรื่องอื่นว่า ก๋วยเตี๋ยวเป็นวิบาก ไปที่ร้านนี้ไม่เจอ ไม่ใช่ แต่จะเข้าใจธรรมที่เป็นวิบากคือนามธรรม และธรรมที่เป็นเหตุกรรมก็เป็นนามธรรมด้วย และเมื่อกรรมเป็นเหตุ เป็นนามธรรม เป็นสภาพรู้ ผลของกรรมก็คือว่า เป็นปัจจัยให้เกิดจิตซึ่งเป็นผล ต้องเป็นธาตุรู้ด้วย ถึงจะเป็นวิบาก

    เวลาที่ทำกรรมแล้ว ก็รู้ว่า กรรม ได้แก่ ความจงใจ ความตั้งใจ ซึ่งภาษาบาลี ใช้คำว่า “เจตนา” เป็นสิ่งที่มีจริง แต่ไม่ใช่จิต เป็นเจตสิก จริงๆ แล้วเจตนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกประเภท แต่เวลาที่เรากล่าวถึงกุศลเจตนา อกุศลเจตนาซึ่งเป็นเหตุให้เกิดกุศลวิบาก อกุศลวิบาก จะไม่กล่าวถึงจิต เจตสิกที่เป็นวิบาก จะไม่ได้กล่าวถึงเจตนาที่เป็นวิบากเลย หรือเจตนาที่เป็นกิริยา จะกล่าวเฉพาะกุศลเจตนา เป็นปัจจัยให้เกิดกุศลวิบาก เมื่อได้กระทำกรรมนั้นแล้ว อกุศลเจตนาเมื่อได้กระทำกรรมสำเร็จลง ก็เป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลวิบาก อันนี้เข้าใจว่า ไม่ใช่คุณประทีป ไม่ใช่ร้านก๋วยเตี๋ยว หรือร้านขนม หรือร้านอาหารใดๆ เลย แต่เป็นจิต เหตุเป็นจิต วิบากก็เป็นจิต เจตสิก

    ผู้ฟัง ถ้าเข้าใจเรื่องผลของกรรม และเรื่องวิบาก ต้องเข้าใจละเอียดลึกถึงอย่างนี้เลยหรือ

    ท่านอาจารย์ ถ้าเราไม่ศึกษาให้เข้าใจโดยละเอียดแล้ว เราจะเข้าใจอะไรได้ ศึกษา คือ เข้าใจจริงๆ ไม่ใช่ผิวเผิน ถ้าผิวเผิน ก็ไม่เข้าใจ

    ผู้ฟัง พอสนทนากันเล็กน้อย ก็บอกว่า ท่านอาจารย์กล่าวมาทั้งหมดเป็นลักษณะของรูปธรรม และนามธรรม ยังไม่รู้ตรงลักษณะนั้นเลย แต่เดี๋ยวนี้เองมีร้านก๋วยเตี๋ยวมีอาหารอร่อย มาตั้ง ๒ – ๓ ครั้งแล้วไม่เจอ มาครั้งนี้เจอ เป็นผลของกรรม

    ท่านอาจารย์ นั่นคือไม่ได้ศึกษาเรื่องกรรม และผลของกรรม ไปศึกษาเรื่องร้านก๋วยเตี๋ยว ใช่ไหม ถ้าคุณประทีปสนใจเรื่องกรรม และผลของกรรม ก็รู้ว่าเป็นนามธรรม กรรม ได้แก่เจตนา เป็นกุศลหรืออกุศลก็ตามแต่ เมื่อกระทำกรรมสำเร็จลงไปแล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิดจิต เจตสิก ซึ่งเป็นวิบาก เป็นผลของกรรม

    เราใช้คำนี้ผิวเผินมาก เมื่อมีกรรมซึ่งเป็นเหตุ ก็ต้องมีผล คือ วิบากเท่านั้น แต่ไม่รู้ว่า เมื่อไรเป็นผลของกรรม ก็แสดงว่า เราเพียงพูดเรื่องเหตุซึ่งจะให้เกิดผล แต่ไม่รู้ว่า ผลที่เกิดเพราะกรรมนั้นคือขณะไหน เพราะฉะนั้น ขณะนี้เห็นสิ่งที่ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง เลือกได้หรือไม่

    ผู้ฟัง เลือกไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ทำไมบางคนเห็นดี สิ่งที่น่าพอใจ บางคนเห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ

    ผู้ฟัง เพราะว่าผลจากกุศลกรรมบ้าง และอกุศลกรรมบ้าง

    ท่านอาจารย์ อย่างนี้ก็ถูกต้อง

    ผู้ฟัง ฟังอย่างนี้แล้ว มันจะแรงมากไหมที่ผมจะว่าตัวเอง

    ท่านอาจารย์ ไม่มีคุณประทีป มีวิบาก ขณะเห็นเป็นวิบาก ขณะได้ยินเป็นวิบาก ขณะได้กลิ่นเป็นวิบาก ขณะลิ้มรสเป็นวิบาก ขณะที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสเป็นวิบาก เป็นผลของกรรม เท่านี้ แต่ชอบหรือไม่ชอบ ไม่ใช่ผลของกรรมแล้ว

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้น ทุกครั้งที่คิดว่า ตัวเองเข้าใจเรื่องผลของกรรม

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นเป็นอะไร

    ผู้ฟัง ก็เป็นเรื่องราวที่คิด

    ท่านอาจารย์ เป็นอะไร เป็นธรรมใช่ไหม ขณะที่คิดอย่างนั้น คิดอย่างนั้นเป็นอะไร

    ผู้ฟัง ตัวคิดเป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ เป็นนามธรรมหรือรูปธรรม

    ผู้ฟัง เป็นนามธรรม

    ท่านอาจารย์ เป็นวิบากหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ถ้าคิดอย่างนั้นก็ไม่ใช่วิบาก

    ท่านอาจารย์ นี่ก็เข้าใจได้แล้วว่า เห็นขณะใดเป็นวิบากทั้งนั้นเลย เมื่อไรก็ตาม ไม่ว่าเห็นอะไรก็ตาม ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แต่หลังจากนั้นไม่ใช่วิบาก เป็นการสะสมที่จะทำให้เป็นกุศลจิตที่คิด หรือเป็นอกุศลจิตที่คิด

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นผมก็รู้สึกเลยว่า ที่คิดว่ารู้จักผลของกรรม และวิบาก ความจริงไม่รู้เรื่องอะไรเลย

    ท่านอาจารย์ ต้องรู้จริงๆ ว่า วิบาก คือขณะไหน เมื่อไร และเป็นอะไร

    ผู้ฟัง ที่ผ่านมาที่ผมคิดว่า เป็นผลของกรรม และวิบาก คือ ขณะนั้นก็ไม่ใช่รู้เรื่องธรรมอะไรเลย เป็นเรื่องคิดเอง เข้าใจเอง ฟังธรรมแล้วก็เข้าใจเอง

    ท่านอาจารย์ ถ้าอย่างนั้นถามเดี๋ยวนี้เลย เดี๋ยวนี้กำลังเห็น เป็นอะไร

    ผู้ฟัง เป็นนามธรรม เป็นวิบาก

    ท่านอาจารย์ เป็นผลของกรรม ถ้าไม่มีกรรมที่ทำให้เห็น จะมีเห็นไหม

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ แล้วเวลาได้ยิน เป็นอะไร

    ผู้ฟัง ได้ยินเป็นผลของกรรม

    ท่านอาจารย์ เป็นวิบาก ถ้าไม่มีเหตุที่จะให้ได้ยิน ได้ยินก็เกิดไม่ได้ ก็มีทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ขณะเห็น ขณะได้ยิน ขณะได้กลิ่น ขณะลิ้มรส ขณะรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสเท่านั้นที่เป็นวิบาก

    อ.วิชัย เมื่อสักครู่ท่านอาจารย์ได้กล่าวถึง อัตตสัญญา และอนัตตสัญญา เข้าใจว่า สัญญาเกิดกับจิตทุกดวง แต่การเป็นอัตตสัญญา หมายความว่า เป็นไปพร้อมความไม่รู้ คือ อกุศลจิต

    ท่านอาจารย์ เพราะอัตตสัญญาที่เป็นความเห็นผิดก็ต้องเกิดกับโลภมูลจิต

    อ.วิชัย กล่าวถึงอนัตตสัญญา หมายความถึง ขณะที่สติปัฏฐานเริ่มเกิดขึ้น มีลักษณะของสภาพธรรมปรากฏ สัญญาก็รู้ คือจำหมายในลักษณะนั้น ความเป็นอนัตตสัญญาเป็นไปพร้อมกับปัญญา เพราะสัญญามีลักษณะจำอย่างเดียว แต่ปัญญารู้โดยความเป็นอนัตตา ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ แต่ขณะที่สภาพธรรมปรากฏแล้วสติเพิ่งเกิด จะรู้อย่างนั้นไหม

    อ.วิชัย ยังไม่ถึงการประจักษ์แจ้ง แต่ขณะนั้นก็ไม่ใช่อัตตาอยู่แล้ว

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นสภาพธรรมเกิดเพราะเหตุปัจจัย ทำให้มีการรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ นานไหม มากไหม พอไหมที่จะรู้ในความไม่ใช่ตัวตน หรือว่าต้องซ้ำแล้วซ้ำอีก หรือว่าเพียงแต่รู้ว่า เป็นธรรม กว่าจะชินกับลักษณะที่ไม่ใช่สภาพรู้ ต่างกับเวลาที่สติสัมปชัญญะระลึกรู้สภาพรู้ จึงจะเห็นความต่างกัน โดยที่ไม่ใช่ตัวหนังสือที่เราไปจำไว้

    แต่เพราะสภาพความเป็นจริงของลักษณะนั้นเอง ที่แสดงความเป็นสิ่งที่เราบัญญัติใช้คำว่า รูป แต่ไม่ต้องบัญญัติเลย อย่างแข็งอย่างนี้ มีแข็งกำลังปรากฏ ยังไม่สามารถที่จะรู้ความต่างของแข็งกับสภาพที่รู้แข็ง แม้ว่าแข็งปรากฏ เพราะมีสภาพรู้แข็ง แต่ว่าที่จะรู้ในแข็ง หรือในสิ่งที่ปรากฏทางตา ต้องชินกับลักษณะซึ่งปรากฏ แล้วค่อยๆ เข้าใจในคำที่เราใช้ว่า “รูปธรรม” เพราะเหตุว่าไม่ใช่สภาพรู้

    อ.วิชัย ถ้าในส่วนที่เป็นอนิจจสัญญา หรือทุกขสัญญา ขณะที่แม้ประจักษ์แจ้งโดยความเป็นอนัตตา แต่ว่าโดยการหมายรู้โดยความเป็นทุกข์กับอนิจจัง

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่า สัญญาต้องสัญญาที่จำลักษณะของอารมณ์ เวลานี้เรากำลังพูดถึงความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นอนัตตาโดยตลอด เพราะเหตุว่าเห็น แล้วก็ได้ยิน แล้วก็คิดนึก จะคิดอะไรก็ไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจมาก่อนว่า จะคิดอย่างนั้น บางทีนั่งๆ อยู่ คิดถึงเรื่องเมื่อ ๑๐ ปีก่อน ก็เป็นไปได้ ก็ย่อมแสดงถึงความเป็นอนัตตาชัดเจน แต่ปัญญาไม่ได้รู้เลยว่า ขณะนั้นเป็นอนัตตา ทั้งๆ ที่ความคิดก็เกิดแล้วดับแล้ว จริงๆ ความคิดก็ต้องเป็นอนัตตา แต่ปัญญาไม่รู้

    ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวันซึ่งเป็นอนัตตา เราเพียงฟัง แต่ว่าลักษณะที่เป็นอนัตตายังไม่ได้ปรากฏกับสติ และสัมปชัญญะที่เป็นปัญญา ที่กำลังเข้าใจถูก เห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรม เพราะเวลานี้ มีเห็น มีได้ยิน แล้วก็มีคิดนึก โดยที่ไม่รู้ลักษณะเฉพาะอย่าง

    เพราะฉะนั้น จะกล่าวว่า เรารู้ความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมเฉพาะแต่ละอย่างยังไม่ได้ เพียงแต่เริ่มฟัง และเริ่มเข้าใจความต่างกันของพยัญชนะที่ว่า อัตตา กับ อนัตตา ทั้งๆ ที่สภาพธรรมเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้น เวลาจะใช้คำว่า อนัตตสัญญา จริงๆ ต้องหมายความถึง อนัตตสัญญา ในลักษณะที่เป็นอนัตตาของสภาพธรรมหนึ่ง ทีละหนึ่ง อันนั้นจึงจะเริ่มเป็นอนัตตสัญญา

    แต่ก่อนอื่นเพียงฟัง แล้วมีความเข้าใจขึ้น เป็นปัจจัยให้เกิดการรู้ลักษณะ แต่ขณะที่รู้ลักษณะ ความเป็นอนัตตายังไม่มี เพราะเหตุว่าเพียงเริ่มที่จะรู้ว่า ลักษณะนั้นมี และเป็นธรรม จนกว่าลักษณะนั้นจะปรากฏในความเป็นอนัตตา อย่างเวลานี้บอกว่า เสียงเป็นอนัตตา คุณวิชัยเข้าใจได้

    อ.วิชัย ในขั้นการฟัง

    ท่านอาจารย์ แต่ยังไม่ใช่ขณะที่เสียงปรากฏในความเป็นธรรมที่เป็นอนัตตา เหมือนกับขณะนี้สิ่งที่ปรากฏทางตา ถ้าเทียบกับเสียงก็ไม่ต่างกันเลย แต่เหมือนทุกคนว่าต่าง เพราะเหตุว่าเสียงไม่มี แล้วมี แล้วหามีไม่ สั้นมาก แต่ว่าการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เป็นสอง ไม่เป็นอย่างอื่น เปลี่ยนไม่ได้ สภาวรูปทุกรูปมีอายุเท่ากัน คือ ๑๗ ขณะของจิต เพราะฉะนั้น ลองคิดถึงลักษณะของเสียง ซึ่งไม่มี แล้วมี แล้วหามีไม่ เร็วแค่ไหน สิ่งที่ปรากฏทางตาก็ต้องเร็วอย่างนั้น

    เพราะฉะนั้น ยังคงไม่ต่าง เพราะเหตุว่ายังไม่ได้ปรากฏ ว่าจริงๆ แล้วก็คือเสมอกัน เพราะอะไร เพราะว่าไม่ได้มีการรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตาแล้วละ มีแต่การรู้ว่า สิ่งนั้นเป็นอะไรทันที แล้วก่อนที่สิ่งนั้นเป็นอะไร ก็มีอวิชชาเกิดแล้วด้วย

    เพราะฉะนั้น จะไปรู้ความจริงของการเกิดดับของสิ่งที่ปรากฏทางตา ซึ่งมีอายุเท่ากับรูปทุกรูปที่เป็นสภาวรูปไม่ได้ อนัตตสัญญาก็ยังไม่ได้ปรากฏในอารมณ์ที่มีจริงๆ ที่สติสัมปชัญญะเห็นความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมนั้น

    อ.วิชัย ดังนั้นในส่วนที่เป็นทุกขสัญญา หรืออนิจจสัญญา ก็ตามสติสัมปชัญญะที่ประจักษ์แจ้งในลักษณะนั้นของสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ เป็นวิปัสสนาญาณแต่ละขั้น

    ผู้ฟัง ถามอาจารย์วิชัย ชวนะมีทั้งกุศล และอกุศลเกิดที่ชวนะ และกิริยาจิตของพระอรหันต์ด้วย คำถามก็คือ ในขณะซึ่งพระอรหันต์ยิ้มแย้มเป็นหสิตุปปาทะจิต เกิดที่ชวนะหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ขอประทานโทษนิดหนึ่ง คือ คุณวิชัยจะตอบเลย หรือจะถามก่อนว่า ชวนะคืออะไร

    อ.วิชัย ชวนะเป็นกิจของจิต ก็คือ จิตใดก็ตามที่ทำชวนกิจ แล้วเรียกชื่อจิตนั้นตามกิจว่า ชวนจิต โดยสภาพของจิตที่ทำกิจชวนะ ก็มีหลายประเภท ทั้งกุศล อกุศล และกิริยาจิตของพระอรหันต์ จิตใดก็ตามที่ทำกิจชวนะแล้วเรียกชื่อจิตนั้นตามกิจว่า เป็นชวนจิต

    ดังนั้นในส่วนของการยิ้มแย้ม ก็หมายความว่า จิตนั้นประกอบด้วยโสมนัสเวทนา ถ้าเป็นจิตของพระอรหันต์ ก็หมายความว่า โดยสภาพที่ท่านทำอาการแย้มยิ้ม หมายความว่า เป็นหสิตุปปาทะจิต คือ ประกอบด้วยโสมนัสเวทนาทำชวนกิจในขณะนั้น ก็ได้เช่นเดียวกัน หรือว่าเป็นมหากิริยาจิตที่ประกอบด้วยโสมนัสเวทนาก็ได้ เช่นเดียวกัน ที่ทำอาการยิ้มแย้ม

    ผู้ฟัง ในขณะที่เกิด เกิดชวนะทางปัญจทวารหรือมโนทวาร

    อ.วิชัย จิตเกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็ว ทั้งที่เป็นชวนกิจ เกิดทั้งปัญจทวารก็ได้ ทั้งมโนทวารก็ได้ แต่ถ้าพูดถึงโดยกำลังของชวนจิต ที่ทำอาการแย้มยิ้ม ทางมโนทวารมีกำลังมากกว่า

    ท่านอาจารย์ การศึกษาธรรมเพื่อเข้าใจ ถ้าฟังแล้วยังไม่แจ่มแจ้ง หรือยังไม่เข้าใจ ก็ควรจะได้เข้าใจขึ้นพร้อมๆ กันไป ไม่อย่างนั้นการฟังวันนี้ก็เหมือนกับต้องไปต่อวันหลังอีก ใช่ไหม เพราะว่ายังไม่ชัดเจน แต่ถ้าเข้าใจแล้วก็ผ่านไปได้

    ผู้ฟัง เพื่อนผมสงสัยว่า ปัญจทวารคืออะไร

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นเรื่องที่จะต้องฟังโดยละเอียด แต่ข้อสำคัญก็คือไม่ทราบจะเสียเวลาสำหรับผู้ที่เคยฟังมาแล้วหรือเปล่า แต่ถ้ามีจิตเมตตาอนุเคราะห์ ก็ควรฟังไปด้วย ทบทวนไปด้วย

    อ.กุลวิไล ที่จริงเป็นประโยชน์มาก ดิฉันได้คุยกับสหายธรรมที่มาใหม่เมื่อวานนี้เอง บอกว่า เคยมาวันอาทิตย์ แล้วยากมาก ไม่ค่อยเข้าใจตอนเช้า


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 170
    14 ม.ค. 2567